Sunday, 20 April 2025
Politics

เปิดหน้าชกหนัก หลังรัฐหละหลวมจนโควิด-19 คัมแบ็ค โดย ‘พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์’ ออกมาซัดรัฐบาล ผ่านเฟซบุ๊ก หลังเคยเขียนบทความเตือนรัฐไปแล้วกว่า 8 เดือน เรื่องแรงงานต่างชาติ แต่รัฐยังละเลยจนโควิด-19 กลับมาลุกลาม

หลังจากโควิด-19 กลับมาอีกรอบ ทำให้ ‘พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์’ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้ออกมาแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับเรื่องที่ตนนั้นพยายามพูดมาตลอด 8 เดือน ในเรื่องของแรงงานต่างชาติ โดยนายพิจารณ์ ได้ระบุว่า

“ก่อนหน้านี้เคยโพสต์และสื่อสารผ่านสื่อมวลชนถึงความเสี่ยงของกลุ่มชุมชนแรงงานต่างชาติในพื้นที่สมุทรสาคร โดยเปรียบเทียบกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ที่รัฐควรเข้าไปมีบทบาท ‘เชิงรุก’ ในการตรวจและค้นหาผู้ติดโรค เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยมีข้อเสนอ 6 ข้อ อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อที่ล่าสุดอยู่ที่เกือบ 700 ราย สะท้อนถึงความละหลวม ปล่อยปะละเลยของรัฐมาโดยตลอด

“โควิดกระจอก คำกล่าวของผู้ใหญ่ในรัฐบาลท่านหนึ่ง ที่ได้ตอกย้ำและแสดงให้เห็นถึงความละเลยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ความลุแก่อำนาจของผู้นำรัฐบาลกับการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินต่อเนื่องอย่างยาวนาน ซึ่งดูจะสวนทางกับการป้องกันการลักลอบเข้าเมืองตามแนวชายแดน และในท้ายที่สุด อาจจะไม่สามารถหยุดยั้งความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดรอบใหม่นี้ได้

“ความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ผ่านมา เป็นชัยชนะด้วยประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ แต่ที่สำคัญอย่างยิ่ง ชัยชนะที่ผ่านมาเป็น ความเสียสละของพี่น้องประชาชน ที่ต้องแลกมาด้วยการถูกให้ออกจากงาน การถูกลดเวลาการทำงาน และการหยุดกิจการของผู้ประกอบการหลายราย หาใช่ความสำเร็จในการจัดการสถานการณ์ของรัฐบาล

ในการป้องกันและแก้ปัญหาระยะยาว รอบนี้คงต้องถามดัง ๆ ถึงหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อหา ‘ผู้รับผิดชอบ’ ต่อความล้มเหลวในการดูแลและป้องกันการลักลอบเข้าเมืองตามแนวชายแดน ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

นอกจากนี้ พิจารณ์ ยังได้เขียนบทความเพื่อเตือนรัฐบาล ด้วยการยกกรณีของสิงค์โปร์เป็นตัวอย่าง ซึ่งบทความนี้ได้ระบุถึงสถานการณ์โควิด-19 ของสิงค์โปร์ ที่กำลังควบคุมได้แต่ กลับต้องมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากแรงงานต่างชาติที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างแออัด หากมีผู้ติดเชื้อเพียงคนเดียวในกลุ่มก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคมีมากขึ้น ทำให้เห็นว่าแรงงานต่างชาติเป็นกลุ่มที่รัฐไม่ควรมองข้าม ขณะเดียวกันเมื่อหันกลับมามองแรงงานต่างชาติในไทยก็พบว่า การรับมือของบ้านเรานั้นไม่ได้ต่างจากสิงค์โปร์

พิจารณ์ยังได้ระบุว่า “จากการไปเยี่ยมประชาชนในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีแรงงานต่างชาติมากถึง 2 แสนกว่าราย หรือเกือบเท่าจำนวนแรงงานต่างชาติในประเทศสิงคโปร์ ภายในชุมชน 43 แห่งในจังหวัด ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ที่มีความแออัดและเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในลักษณะเดียวกับประเทศสิงคโปร์ นอกจากนั้นยังพบว่า แรงงานต่างด้าวบางส่วนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย ดังนั้นรัฐบาลจึงควรมีแนวทางและมาตราการที่ชัดเจนในการดูแลคนกลุ่มนี้ ภายใต้หลักคิดสำคัญในการกำหนดมาตรการคคือ (1) การช่วยเหลือดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนที่บุคคลหนึ่งควรได้รับ (2) ในฐานะฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน และ (3) บทพื้นฐานการควบคุมและป้องกันจุดเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค”

จากการระบาดที่เกิดขึ้นนายพิจารณ์ จึงมีข้อเสนอเชิงมาตรการต่อเรื่องดังกล่าวอีก 6 ข้อ ได้แก่

1.) การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันตนเองแก่แรงงานต่างชาติในภาษาที่หลากหลาย

2.) การสร้างเครือข่ายนายจ้างในการติดตามดูแลสุขภาพของลูกจ้างต่างชาติ

3.) การสนับสนุนเรื่องอาหารและความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่แรงงานต่างชาติที่ตกงานและไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้

4.) การสนับสนุนด้านสถานที่สำหรับแรงงานที่มีความจำเป็นในการกักตัวเอง

5.) การดำเนินมาตรการเชิงรุกในการสุ่มตรวจหาเชื้อภายในชุมชนที่มีแรงงานต่างชาติอาศัยจำนวนมาก

6.) การกำหนดมาตรการฉุกเฉินสำหรับการตรวจโรคและดูแลรักษาแรงงานต่างชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการของประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเข้าระบบการรักษาและลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อโรค

ข้อเสนอข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่รัฐบาลควรให้ความสนใจคนทุกกลุ่ม ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามมากขึ้นในอนาคต

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน ( 21 ธันวาคม พ.ศ.2563 )

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 382 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 5,289 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมยอดผู้เสียชีวิต 60 ราย รักษาหายเพิ่ม 12 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 4,053 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,176 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 382 รายเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้า State Quarantine จาก

สหราชอาณาจักร 1 ราย สหรัฐอเมริกา 3 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย ยูเครน 1 ราย คูเวต 1 ราย ซูดาน 1 ราย

ติดเชื้อภายในประเทศจาก อยุทธยา 1ราย นครปฐม 2 ราย สมุทรปราการ 3 ราย สมุทรสาคร 5 ราย กทม. 2 ราย ตาก 1 ราย ผู้ติดเชื้อในประเทศ อยู่ระหว่างการสอบสวนจำนวน 19 ราย และ ผู้ติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว จำนวน 516 ราย และติดเชื้อในแรงงานต่างชาติ 360 ราย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้

ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 152 ราย รักษาหายแล้ว 149 ราย เสียชีวิต 3 ราย

ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 363 ราย รักษาหายแล้ว 345 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 6.65 แสน ราย รักษาหายแล้ว 5.42 แสน เสียชีวิต 19,880 ราย

ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 36 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 93,309 ราย รักษาหายแล้ว 77,309 ราย เสียชีวิต 437 ราย

ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.16 แสน ราย รักษาหายแล้ว 95,387 ราย เสียชีวิต 2,443 ราย

ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 4.6 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.29 แสน ราย เสียชีวิต 8,947ราย

ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 58,422 ราย รักษาหายแล้ว 58,279 ราย เสียชีวิต 29 ราย

ประเทศเวียดนาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1,413 ราย รักษาหายแล้ว1,269 ราย เสียชีวิต 35 ราย

ที่ผ่านมาสังคมไทยเกิดความแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรงในช่วงเสื้อเหลือง-เสื้อแดง หรือในช่วงระบอบทักษิณเป็นใหญ่ แต่ดูเหมือนผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งนี้ กำลังจะทำให้ไทยกลับมาเป็นหนึ่งเดียว

เหตุผลเพราะการเลือกตั้งนายก อบจ.ที่คณะก้าวหน้าของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล ไม่ได้เลยสักคนเดียว (0-42)

ตรงนี้มีนัยยะสำคัญมากๆ เมื่อคำนึงถึงความแตกแยกทางความคิดที่กลุ่มและพรรคของธนาธร ได้ปลุกปั่นล้างสมองคนไทยรุ่นใหม่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาให้ ‘ชังเจ้าและชังชาติ’ จนสำแดงตัวออกมาบนท้องถนนเป็นม็อบคณะราษฎรที่ชู ‘ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์’ เพื่อลิดรอนพระราชอำนาจ (=ล้มเจ้า)

แต่หลังจากผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ที่ออกมา มันชัดเจนมากเหลือเกินว่า สังคมไทยไม่เอาพวกชังเจ้า-พวกล้มเจ้าอย่างเด็ดขาด โดยที่ไม่มีความเห็นต่างหรือแตกแยกในเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย

ทั้งนี้ ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย ได้เผยเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ว่า “แปลกแต่จริง ที่การก้าวข้ามความแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรงในสังคมไทย มันดันออกมาในรูปของการก้าวข้าม ‘พวกคนบ้ากลุ่มหนึ่ง’ (ทั้งพวกหน้าฉากและพวกหลังฉาก) ที่ออกมาชูธงล้มเจ้าแบบเย้ยฟ้าท้าดิน อย่างพร้อมเพรียงกัน

“ความพร้อมใจของคนไทยทั้งประเทศนี้แหละ มันมีศักยภาพสูงมากที่จะกลายเป็นพลังสร้างสรรค์เพื่อฝ่าฟันวิกฤตต่างๅที่กระหน่ำประเทศนี้ในตอนนี้หรือหลังจากนี้ได้...

“จงมุ่งไปในทิศทางนี้ร่วมกันเถิด”

สุดท้ายแล้ว สูตรสร้างความแตกแยกของสังคมไทย ที่บ่มเพาะกันมาตั้งแต่สมัย ‘เหลือง-แดง’ ดูจะมาจบสิ้นเพียงเพราะหมากเพี้ยนๆ ของธนาธร เสียแล้วกระมัง…


ที่มา: ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย

ทยอยกระหน่ำอย่างต่อเนื่อง กรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ล่าสุด 'ทองแดง เบ็ญจะปัก' ส.ส.สมุทรสาคร พรรคก้าวไกล แนะใช้ ‘สิงคโปร์ โมเดล’ แก้ปัญหา พร้อมจี้รัฐหามาตรการเยียวยาผลกระทบล็อคดาวน์

นายทองแดง เบ็ญจะปัก ส.ส.จังหวัดสมุทรสาคร เขต 1 พรรคก้าวไกล สะท้อนปัญหาการจัดการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมเสนอแนวการแก้ไขและการเยียวยาพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการล็อคดาวน์จังหวัดสมุทรสาคร

นายทองแดง กล่าวว่า ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อในจังหวัดสมุทรสาครแล้วหลายร้อยคนและมีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอัตราเร่ง จึงสร้างความกังวลให้กับประชาชนอย่างสูงเพราะเพิ่งฟื้นตัวจากผลกระทบที่ผ่านมาระลอกแรก หากเศรษฐกิจฟุบอีกการสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาคงไม่สามารถมทำได้ง่าย เว้นแต่ครั้งนี้จะมีแนวทางบริหารจัดการที่ดีขึ้นกว่าเดิมและเป็นการจัดการปัญหาอย่างเข้าใจ

ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่พบว่าเป็นแรงงานต่างชาติที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในหอพักค่อนข้างคับแคบและแออัด การแพร่ระบาดจึงสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายและขยายได้เป็นวงกว้างโจทย์ การยับยั้งการระบาดในกลุ่มแรงงานต่างชาติ จึงต้องเป็นการบริหารจัดการคนหมู่มากในพื้นที่ปิด โดยเราสามารถถอดบทเรียนจากประเทศสิงคโปร์ที่เคยประสบปัญหาเดียวกันและประสบความสำเร็จในการควบคุมได้ค่อนข้างดี

"ในระยะเร่งด่วน รัฐต้องสร้างแรงจูงใจในการให้แรงงานต่างชาติไม่ว่าจะเข้ามาโดยถูกหรือผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบการตรวจและรักษาเพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อโรค นอกจากนี้ต้องมีการมาตรการในการตรวจโรคที่ดี เพราะขณะนี้ระหว่างรอตรวจพบว่ายังมีการกระจุกตัวจนอาจกลายเป็นจุดแพร่กระจายเชื้อต่อไปอีก มาตรการทางสาธารสุขในการรอตรวจจึงต้องเคร่งครัด มีระยะห่าง

และไม่ควรปล่อยให้พี่น้องแรงงานต่างชาติหรือประชาชนในพื้นที่ ออกไปตรวจรักษากันเองแบบเฮโลกันไปเพราะความตระหนก แต่รัฐควรมีระบบที่ทำให้เกิดการจำกัดวงเพื่อให้สามารถควบคุมโรคได้ ไม่ใช่กลายเป็นว่าไปรับเชื้อหรือไปแพร่เชื้อ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค"

สิ่งที่รัฐจำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน คือสร้างการรับรู้ของประชาชนทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ ไม่สร้างแพะรับบาป เพราะไม่มีใครอยากที่จะป่วยเป็นโรค ต้องไม่สร้างความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติ รวมทั้งต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าจะมีระบบการดูแลประชาชน

หากมีการล็อคดาวน์เข้มงวดขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ให้ประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่สมุทรสาครแห่กักตุนสินค้าอุปโภคบริโภคหน้ากาก เจลล้างมือจนกลายเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์เข้าไปอีกเหมือนที่เคยเกิดมาแล้ว

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องเน้นย้ำเวลานี้คือ ต้องทำความเข้าใจตรงกันด้วยสติว่าเราจะร่วมกันฟันฝ่าสถานการณ์ความยากลำบากครั้งนี้ไปด้วยกันอีกครั้ง โดยทางจังหวัดต้องเตรียมสายด่วน Hotline หรือบริการแชทตอบคำถาม เพื่อสื่อสารให้ประชาชนรับรู้ช่องทางเหล่านี้ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างชาติ

ควรมีระบบการวินิจฉัยโรคทางไกลผ่านแอพพลิเคชั่น เพื่อประเมินคัดกรองตัวเองเบื้องต้น ลดการเสี่ยงเข้ามากระจุกตัวกันภายนอกที่พักอาศัย นอกจากนี้ ต้องรู้ข้อปฏิบัติเมื่อติดเชื้อ เช่นวิธีการสำรวจอาการตนเองหรือวิธีการกักตนเองที่บ้านเมื่อติดเชื้อแต่ไม่มีอาการรุนแรง

รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการรักษาพยาบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลจะต้องไม่ปล่อยให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องโดดเดี่ยวหรือต้องออกไปขอรับบริจาคเองจากประชาชนดังที่เริ่มมีข่าวลือกันแล้วในพื้นที่

พร้อมเสนอว่า การจัดการแรงงานต่างชาติ ต้องเริ่มจากการยอมรับว่าพวกเขาคือกลไกสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ต้องมีการบริหารจัดการให้เข้ามาอยู่ในระบบมีคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่ไม่แตกต่างจากแรงงานในประเทศ

โดยยึดถือหลักสิทธิมนุษยชน ต้องมีการพูดคุยและหารือกันอย่างจริงจังจากหลายภาคส่วนทั้งมาตรการระยะสั้น กลางและยาว เพื่อสามารถจัดการปัญหานี้ให้ได้อย่างยั่งยืนต่อไปแม้ว่าจะไม่มีสถานการณ์โควิดแล้วก็ตาม

‘จับกัง1’ - สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกประกาศ ขอความร่วมมือห้ามแรงงานต่างชาติเข้า-ออก พื้นที่เสี่ยงโควิดพร้อมมอบหมายผู้ว่าฯ สั่งการสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ

Check List สถานประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตราการ เพื่อให้แรงงานต่างชาติทำงานโดยปลอดเชื้อ

สุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เรียกผู้บริหารระดับสูงสังกัดกระทรวงแรงงาน ประชุมเร่งด่วนกรณีการแพร่ระบาดของโควิด - 19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ทั้งได้ออกประกาศกระทรวงแรงงาน เพื่อขอความร่วมมือนายจ้าง/สถานประกอบการทุกแห่งดำเนินการได้แก่

- ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในทุกกรณี ทั้งเข้าไปหรือออกจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) หากฝ่าฝืนจะมีความผิดและได้รับโทษตามมาตรา 51 แห่งพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และมาตรา 18 แห่งพรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558

- จัดให้มีมาตรการเฝ้าระวังและตรวจสอบคัดกรองโรค ได้แก่ วัดอุณหภูมิและสังเกตลักษณะอาการบ่งชี้ หากพบอาการผิดปกติต้องหยุดงานและแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อดำเนินการตามาตรการควบคุมโรคทันที จัดให้มีเจลแอลกอฮอล์เพื่อใช้ในการล้างมือ หรือจัดสถานที่สำหรับล้างมือภายในสถานที่ทำงาน ณ บริเวณทางเข้า - ออก และห้องสุขา ควบคุมให้แรงงานต่างด้าวสวมหน้ากากอนามัยและถุงมือขณะปฏิบัติงานรวมทั้งเว้นระยะห่างในการปฏิบัติงาน 1 – 2 เมตร ตลอดจนทำความสะอาดสิ่งของและอุปกรณ์ที่ใช้งานเป็นประจำ และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่แรงงานต่างด้าวให้ทราบวิธีการป้องกันโรคโควิด-19 เบื้องต้นด้วยตนเอง รวมทั้งการระงับการให้บริการศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2563 จนถึงวันที่ 3 มกราคม 2564

นอกจากนี้ยังได้สั่งให้มีการดำเนินการตามมาตราการ 7 ข้อ ในส่วนของสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1- 10 ดังนี้

1.) สำรวจตรวจสอบ (Check List) แรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการให้สามารถทำงานได้โดยไม่ให้มีการติดเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการที่กรมควบคุมโรคกำหนด

2.) ตรวจสอบคัดกรองวัดอุณหภูมิร่างกายของประชาชนที่มารับบริการ หากพบมีอุณหภูมิร่างกายผิดปกติหรือพบลักษณะอาการผิดปกติอื่นๆ ให้ผู้รับบริการนั้น ๆ รีบติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

3.) จัดหาแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ หรือจัดสถานที่สำหรับล้างมือภายในสถานที่ทำงาน อาทิ บริเวณประตูเข้า-ออก โต๊ะทำงาน หรือห้องสุขา

4.) เพิ่มความตระหนักให้กับบุคลากร เจ้าหน้าที่ และพนักงานทำความสะอาด โดยให้ความสำคัญกับการป้องกันตนเอง การสวมหน้ากากอนามัยและถุงมือขณะปฏิบัติงาน การทำความสะอาดสิ่งของที่ใช้งานบ่อย อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำงาน รวมถึงดูแลให้ผู้ใช้บริการทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ใช้บริการ

5.) ประชาสัมพันธ์วิธีป้องกันโรคโควิด-19 เบื้องต้นด้วยตนเองให้ประชาชนตลอดจนแรงงานต่างด้าวได้รับทราบ โดยกรมการจัดหางานได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์แนวทางดังกล่าว เป็น 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาลาว ภาษาเมียนมา ภาษากัมพูชา

6.) หากเจ้าหน้าที่พบว่าตนเองมีอาการป่วย ให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้าน

7.) ติดตามและตรวจสอบสถานการณ์ปัจจุบันที่เว็บไซต์กรมควบคุมโรค

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาเปิดเผยถึงการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ยันมีรูรั่ว ไม่ปฏิบัติตามมาตราการ ทุกคนมีส่วนร่วม ขู่ ‘ล็อคดาวน์’ วอนคนไทยช่วยกันหวังสถานการณ์คลี่คลายใน 7 วัน ย้ำหากพบแรงงานผิดกฎหมายสั่งปิดทันที

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เผยถึงการแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ว่า ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ตนไม่เคยหยุดคิด ไม่เคยหยุดติดตามสถานการณ์ อีกทั้งยังยืนยันทางรัฐยังคงปฏิตามมาตรการอย่างครบถ้วน เพียงแต่ต้องหาข้อมูลให้มากขึ้นจากภาคเอกชน ที่รับแรงงานต่างด้าวที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

“เดิมผมคิดว่าแรงงานต่างด้าวในประเทศค่อนข้างจะปลอดภัย ที่ผ่านมาการแพร่ระบาดควบคุมได้ แสดงว่ามีรูรั่วตรงนี้ รั่วจากใคร จากที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ‘ฉะนั้นเราโทษใครไม่ได้ พวกเราทุกคนมีส่วนร่วมทั้งสิ้น’ รัฐบาลมีมาตรการ สาธารณสุขก็มีตรวจติดตาม แต่แน่นอนต้องมีการเล็ดลอด ซึ่งตรงนี้จะทำอย่างไร ดังนั้นสังคมต้องช่วยกัน ถ้ายังทำอย่างนี้กันอยู่มาตรการจะต้องนำไปสู่ล็อกดาวน์แน่นอนต่อไปในอนาคตถ้ามีปัญหา แต่เรายังเดินไม่ถึงจุดนั้น”

“เมื่อช่วงเช้าตนได้ฟังรายงานสรุปจากสาธารณสุข ชี้แจงว่ายังสามารถควบคุมได้อยู่ มีการเตรียมมาตรการไว้ในเรื่องการดูแลรักษา ใครที่สงสัยหรือเข้าไปในพื้นที่ต้องไปพบแพทย์หรือสาธารณสุขจังหวัดเพื่อตรวจหาเชื้อ จะได้ปลอดภัยและไม่เป็นพาหะนำเชื้อไปติดคนอื่น วันนี้ในพื้นที่ก็ได้ล็อกดาวน์ไปแล้ว

นายกฯ กล่าวต่อว่า “ตนขอดูสถานการณ์ในวันนี้ (21ธ.ค.) และจะดูอีก 7 วันข้างหน้าว่าจะมีอะไรขึ้น จากนั้นจะตามมาสู่ช่วงปีใหม่ว่าจะทำอย่างไรกันดี วันนี้ยังไม่ได้พูดไปตรงนั้น ก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนกแล้วกัน หวังอย่างยิ่งว่าภายใน 7 วันทุกอย่างจะคลี่คลายลง วันนี้ตรวจสอบยังไงมันต้องพบมากขึ้น เพราะตรวจสอบในพื้นที่คนงานต่างๆ เหล่านี้ นี่คือปัญหาของเรา มีการเล็ดลอด

"คนเหล่านี้ลักลอบหนีกลับไป แล้วกลับเข้ามาใหม่ คนไทยต้องช่วยกันดูแล เจ้าหน้าที่ก็มีจำนวนเท่าที่มี เพิ่มเติมไปก็ได้เท่านี้ คนที่จะรู้จริงๆ คือคนในพื้นที่ เจ้าของโรงงาน วันนี้ผมได้กำหนดมาตรการไปแล้ว จะต้องมีมาตรการติดตามตัวแรงงานทุกคน ถ้าเจอแรงงานผิดกฎหมายจะต้องปิดโรงงานคนทำผิดกฎหมายก็ขยันทำกันจริง” ลุงตู่กล่าว

ลุงตู่ยังกล่าวอีกว่า “ได้ให้ตรวจสอบและมีการรายงานจากหน่วยที่เกี่ยวข้อง จับกุมได้แต่มันก็มีเล็ดลอด กลางคืนมีการลาดตะเวน แต่ระยะทางชายแดน 2,500 กว่ากิโลเมตรเจ้าหน้าที่ทำเต็มที่แล้ว ช่องทางที่เคยออกมาก็ไปเปิดช่องทางใหม่ เพราะมันไม่มีรั้ว เป็นพื้นที่ป่าเขา คนที่จะรู้คือชุมชน ท้องถิ่น ต้องมาบอกเจ้าหน้าที่บ้าง ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่แล้วให้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างเดียว ถ้าไปบอกเจ้าหน้าที่ว่ามีตรงไหนลักลอบ เขาก็จะไปทันที ทำไมไม่ช่วยกันแบบนี้ มาโยนกันไปกันมา ตนไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบ ต้องรับผิดชอบด้วยกันสิ มันจะได้ทำสำเร็จทุกเรื่อง”

นอกจากนี้นายกฯ ยังได้สั่งการกระทรวงสาธารณสุขแจ้งไปในทุกจังหวัด ให้ทำการสุ่มตรวจในทุกพื้นที่ที่มีแรงงานต่างชาติ

ทั้งนี้เมื่อถามถึง ปีใหม่ที่จะถึงนี้ยังไม่ยกเลิกกิจกรรมเคาท์ดาวน์ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ยัง ขอดูก่อน จะวันไหนก็วันนั้น

ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวได้ถามว่า เสาร์-อาทิตย์ ที่ผ่านมานอนไม่หลับเลยใช่หรือไม่ เพราะจากตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นลุงตู่จึงได้กล่าวว่า “มันจะหลับไหมล่ะ ดูตาตนสิ คิดไปด้วย โทรศัพท์อ่านไลน์ อ่านจนตาจะแตกอยู่แล้ว ก็สั่งการมาตลอดทุกวัน ไม่ใช่เพิ่งสั่งวันนี้ สั่งตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ก็ยังไม่หยุด เพราะให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งอยู่แล้ว”

สำหรับแฟน ๆ ร้านครัวดอกไม้ขาว สาขาสยามสแควร์วัน วันนี้คงต้องเบรกมื้ออร่อยไปก่อน เพราะทางร้านได้ทำการปิด Big Cleaning 1 วัน หลังพบไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มาใช้บริการ

ทั้งนี้ร้านครัวดอกไม้ขาว สาขาสยามสแควร์วัน ประกาศปิดให้บริการวันนี้ (22 ธันวาคม พ.ศ.2563) เพื่อทำการ Big Cleaning เนื่องจากพบผู้ป่วยโควิด-19 มาใช้บริการเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา

โดยทางร้านฯ ได้มีการออกประกาศผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ครัวดอกไม้ขาว - White Flower’ ระบุข้อความว่า...

เรียน ลูกค้าผู้มีอุปการะคุณทุกท่าน

สืบเนื่องจากข่าวที่มีผู้ป่วย COVID-19 มาใช้บริการที่ครัวดอกไม้ขาว สาขา สยามสแควร์วัน ในวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา ทางร้านรับทราบข้อมูล และได้ประสานงานกับทางอาคารสยามสแควร์วัน ซึ่งขณะนี้ เจ้าหน้าที่ของอาคารกำลังดำเนินการเข้าพ่นยาฆ่าเชื้อภายในร้านครัวดอกไม้ขาว

ร้านครัวดอกไม้ขาว สาขาสยามสแควร์วัน จะปิดให้บริการในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2563 เพื่อทำการ Big Cleaning อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ทางร้านได้พยายามติดต่อ ศูนย์บริการสาธารณสุข และ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แต่ยังไม่ทราบถึงข้อเท็จจริง ซึ่งหากทราบรายละเอียดแล้ว ทางร้านจะดำเนินการแจ้งให้ลูกค้าทุกท่านทราบ ถึงมาตรการจัดการในลำดับถัดไป

ทางร้านครัวดอกไม้ขาว ขอกราบขอบพระคุณสำหรับข้อมูล และข้อเสนอแนะที่ลูกค้าได้กรุณาติดต่อแจ้งเข้ามาให้ทางร้านได้ทราบนะคะ

ขอแสดงความนับถือ

รองนายกรัฐมนตรี "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" ยืนยันไม่มีเจ้าหน้าที่เอี่ยวลักลอบนำแรงงานเถื่อนเข้าไทย ลั่นถ้าพบคนทำผิด มีระเบียบจัดการชัด พร้อมระบุ ขณะนี้ได้ส่งทหารคุมชายแดนเพิ่มแล้ว

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงมาตรการตรวจเข้มการลักลอบเข้าเมืองตามแนวชายแดน ว่า ได้เพิ่มกำลังทหารแล้ว เราป้องกันทั้งหมด

ส่วนจะต้องล็อคดาวน์จังหวัดตามแนวชายแดนหรือไม่นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เรื่องนี้ทางพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ระบุว่า จะประเมินสถานการณ์หนึ่งสัปดาห์ จะต้องดูสถานการณ์ว่าเป็นอย่างไร ถ้ารุนแรงขึ้นก็จำเป็นต้องล็อคดาวน์ เพื่อรักษาคนส่วนใหญ่ไว้

เมื่อถามว่าประเมินสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ประเมินไม่ได้ ประชาชนต้องช่วยกัน และดูแล ส่วนมาตรการที่จะใช้ดำเนินการต้องดูตามสถานการณ์ อย่าไปคิดมาก

ขณะที่การจัดการกบข่องโหว่ที่มีการลักลอบเข้าประเทศอย่างไรนั้น รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้พยายามทำอยู่ แต่ช่องทางธรรมชาติมีระยะทางยาว ต้องป้องกันทุกอย่างโดยนำกำลังทหารเข้าไปดูแลเพิ่มมากขึ้น เมื่อถามย้ำว่ามีกระแสข่าวว่าเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องลักลอบนำแรงงานเข้ามา พล.อ.ประวิตร ย้ำว่า "ไม่มี ตอนนี้ดูแลอยู่ และสั่งการตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเข้าไปดูแลด้วย และยังไม่เห็นการทุจริตของเจ้าหน้าที่ หากมีการทุจริต ก็มีระเบียบที่จัดการแน่นอนอยู่แล้ว"

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีข่าวว่าคนที่ไม่ได้อยู่ภายในจังหวัดสมุทรสาครได้มาขอตรวจเชื้อ โควิด-19 แล้วโรงพยาบาลไม่ตรวจให้หรือบางกรณีต้องเสียค่าใช้จ่ายเองนั้น ยืนยันว่า เป็นข่าวไม่จริง

ตอนนี้คนที่เดินทางผ่านจังหวัดสมุทรสาครหรืออยู่ในจังหวัดที่มีการพบผู้ติดเชื้อ หรือมีอาการเข้าข่ายที่จะเป็น โควิด-19 ก็สามารถเข้ารับการตรวจได้ ทันที เพราะตนได้สั่งการให้โรงพยาบาล และสถานพยาบาลต่าง ๆ ทำการตรวจให้ตามสิทธิ์ ส่วนเรื่องเงินค่าตรวจนั้นทางกระทรวงสาธารณสุข จะนำไปเบิกจากสำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)เอง ขอย้ำว่ากลุ่มเสี่ยงสามารถไปตรวจได้ทันที จะได้ไม่เกิดความเข้าใจผิดกัน

"สมมติว่าเดินไปแล้วมีอาการไข้ เจ็บคอ แล้วบอกแพทย์ว่าไปหัวหินมาผ่านสมุทรสาครแวะทานข้าว เมื่อบอกอย่างนี้ก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงด้วยอยู่แล้ว แล้วทางแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัย แต่ถ้าเป็นคนปกติจะต้องมีการสัมภาษณ์กันก่อนที่จะตรวจ โดยการใช้วิธีสวอปจมูก หากเข้าข่าย ทางกระทรวงสาธารณสุขก็จะดูแลให้ในเรื่องของการตรวจเชื้อ" นายอนุทินกล่าว

ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีขอเวลาพิจารณา 7 วันเรื่องการล็อคดาวน์ปีใหม่ แต่หลังจากที่พบผู้ติดเชื้อซึ่งเป็นพ่อค้าแม่ค้ารถพุ่มพวง จะต้องพิจารณาเร็วขึ้นกว่า 7 วันหรือไม่นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า "ตอนนี้เรามีการประเมินอยู่แล้วและในเวลานี้ได้มีการตรวจเชื้อแบบเคสบายเคส โดยเข้าไปพื้นที่เสี่ยงเพื่อให้คนเหล่านั้นได้เข้ามารับการตรวจให้มากที่สุด ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในกลุ่มก้อนเดียวกันอยู่"

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังกล่าวถึงการเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) แก้ไขร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่จะมีการพิจารณาในวันนี้ ว่า พรบ. ควบคุมโรคเป็นการแก้ไขเพื่อให้เกิดการคล่องตัวมากขึ้น

เนื่องจากหลายเสียงระบุว่าบ้านเมืองเราเป็นประชาธิปไตยทำไมจึงต้องมีการประกาศใช้พรก.ฉุกเฉิน ดังนั้นจึงจะดำเนินการแก้ไขปรับปรุงพรบ. ควบคุมโรค เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับคณะกรรมการควบคุมโรคให้สามารถออกมาตรการต่าง ๆ ได้ แต่ไม่มีผลกระทบในเรื่องของการปฏิบัติติ

ซึ่งหลังปีใหม่หากสถานการณ์นิ่ง เราก็อาจจะไม่ใช้พรก. ฉุกเฉินแต่จะมาเพิ่มอำนาจในพรบ. ควบคุมโรคแทน ซึ่งวิธีปฏิบัติในพรบ.นั้นคงไม่ต้องคุยในรายละเอียดมากนักเพราะนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ดูทั้งหมดแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่าสถานการณ์จนถึงวันนี้ครม.ต้องมีมาตรการพิเศษใดเป็นมติเพื่อรับมือกับสถานการณ์วิกฤติหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า "เรายังมีศบค. อยู่จึงยังไม่จำเป็นจะต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลง"

เมื่อถามถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีขอเวลาพิจารณา 7 วันเรื่องการล็อคดาวน์ปีใหม่ แต่หลังจากที่พบผู้ติดเชื้อซึ่งเป็นพ่อค้าแม่ค้ารถพุ่มพวง จะต้องพิจารณาเร็วขึ้นกว่า 7 วันหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า "ตอนนี้เรามีการประเมินอยู่แล้วและในเวลานี้ได้มีการตรวจเชื้อแบบเคสบายเคส โดยเข้าไปพื้นที่เสี่ยงเพื่อให้คนเหล่านั้นได้เข้ามารับการตรวจให้มากที่สุด ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในกลุ่มก้อนเดียวกันอยู่"

นายอนุทิน กล่าวว่า "ส่วนกรณีที่ขณะนี้มีข่าวว่าคนที่ไม่ได้อยู่ภายในจังหวัดสมุทรสาครได้มาขอตรวจเชื้อ โควิด-19 แล้วโรงพยาบาลไม่ตรวจให้หรือบางกรณีต้องเสียค่าใช้จ่ายเองนั้น เป็นข่าวไม่จริง ตอนนี้คนที่เดินทางผ่านจังหวัดสมุทรสาครหรืออยู่ในจังหวัดที่มีการพบผู้ติดเชื้อ หรือมีอาการเข้าข่ายที่จะเป็น โควิด-19 ก็สามารถเข้ารับการตรวจได้ ทันที เพราะตนได้สั่งการให้โรงพยาบาล

และสถานพยาบาลต่าง ๆ ทำการตรวจให้ตามสิทธิ์ ส่วนเรื่องเงินค่าตรวจนั้นทางกระทรวงสาธารณสุข จะนำไปเบิกจากสำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เอง ขอย้ำว่ากลุ่มเสี่ยงสามารถไปตรวจได้ทันที จะได้ไม่เกิดความเข้าใจผิดกัน"

"สมมติว่าเดินไปแล้วมีอาการไข้ เจ็บคอ แล้วบอกแพทย์ว่าไปหัวหินมาผ่านสมุทรสาครแวะทานข้าว เมื่อบอกอย่างนี้ก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงด้วยอยู่แล้ว แล้วทางแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัย แต่ถ้าเป็นคนปกติจะต้องมีการสัมภาษณ์กันก่อนที่จะตรวจ โดยการใช้วิธีสวอปจมูก หากเข้าข่าย ทางกระทรวงสาธารณสุขก็จะดูแลให้ในเรื่องของการตรวจเชื้อ" นายอนุทินกล่าว

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ออกแถลงการณ์ชี้แจง หลังพบบุคลากร ติดโควิด 1 ราย พร้อมประกาศปิดพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย - สั่งบุคลากรทำงานที่บ้านแล้ว

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (ผอ.สวทช.) ได้ออกแถลงการณ์สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เรื่อง กรณีพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่สำนักงาน

ระบุว่า เนื่องด้วย ในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2563 สวทช. โดยคณะกรรมการอำนวยการโควิด-19 สวทช. ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี กรณียืนยันการตรวจพบผู้ปฏิบัติงานในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยจำนวน 1 คน เข้ารับการรักษาตัวด้วยภาวะไข้ขึ้นสูง ณ โรงพยาบาลเอกชน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2563

โดยผลจากการตรวจสอบตามขั้นตอนทางการแพทย์ พบว่าผู้ปฏิบัติงานดังกล่าว ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งขณะนี้ ได้เข้าพักรักษาตัวตามกระบวนการในการควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ สำนักงานขอแจ้งให้ทราบถึงการดำเนินการ ดังต่อไปนี้

1.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จังหวัดปทุมธานี ได้ดำเนินการสอบสวนทางระบาดวิทยาแล้ว และได้นำส่งผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงสูง เข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด-19 ต่อไปแล้ว หากกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดได้รับผลตรวจเป็น Negative จะให้กักตัวที่ ที่พักอาศัยเพื่อสังเกตอาการเพิ่มเติมเป็นเวลา 14 วัน หรือหากผลการตรวจเป็น Positive จะส่งเข้าพักรักษาตัวตามกระบวนการในการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป พร้อมกับขยายวงการสอบสวนทางระบาดวิทยาอย่างต่อเนื่อง

2.) กรณีผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่ำ ให้กักตัวที่ ที่พักอาศัยเป็นเวลา 14 วัน เพื่อเฝ้าดูอาการอย่างต่อเนื่อง

3.) ประกาศปิดพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยเป็นระยะเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 - 24 ธันวาคม พ.ศ.2563 เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อทุกพื้นที่ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และให้บุคลากรและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดที่ปฏิบัติงานในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ปฏิบัติงานที่บ้าน (Work from Home)

อนึ่ง สำนักงานให้ความสำคัญต่อมาตรการการเฝ้าระวัง ป้องกันและการควบคุมโรค ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้สอบทานมาตรการรักษาความสะอาดและแนวปฏิบัติของ สวทช. แล้วพบว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ทั้งนี้ จะได้แจ้งความคืบหน้าให้ทราบต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top