Wednesday, 23 April 2025
PCB

IWRM ลงนามขายน้ำให้นิคม TFD รองรับกลุ่มอุตสาหกรรม PCB มูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาท

PCB พร้อม...น้ำพร้อม!!  บริษัท เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (JCK) ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม TFD ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายน้ำเพื่ออุตสาหกรรม กับ บริษัท อินดัสเตรียล วอเตอร์ รีซอร์ส แมนเนจเม้นท์ จำกัด (IWRM) ผู้ให้บริการน้ำแก่นิคมอุตสาหกรรม TFD 2 และส่วนขยาย เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพทางด้านน้ำ และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้น้ำของนิคมฯ ในระยะยาว

นายธนวัฒน์ สันตินรนนท์ กรรมการ IWRM เปิดเผยว่า การลงนามในสัญญาซื้อขายน้ำเพื่ออุตสาหกรรมครั้งนี้ เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำของกลุ่มอุตสาหกรรม PCB ในพื้นที่นิคมTFD 2 และส่วนขยาย ปริมาณสูงสุด 20,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือประมาณ 7.3 ล้าน ลูกบาศก์เมตรต่อปี  โดยมีระยเวลาของสัญญา 25 ปี มูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเริ่มส่งน้ำให้แก่นิคมฯ ภายในไตรมาสแรกของปี 2568

นิคมอุตสาหกรรม TFD 2 มีเนื้อที่กว่า 1,000 ไร่ ปัจจุบันพื้นที่ได้รับการจัดสรรหมดเป็นที่เรียบร้อย และมีแผนจะขยายพื้นที่เพิ่มเติมอีกไม่น้อยกว่า 800 ไร่ โดยลูกค้าส่วนใหญ่ของนิคมฯ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในอนาคต (New S-curve) ซึ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)  

BOI เปิดยอดลงทุน รง.แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ นับแสนล้าน หนุน! สร้างงานให้คนไทย ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง

(16 ต.ค. 67) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังจากการเข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) ของบริษัท เวล เทค อิเล็คทรอนิกส์ จำกัด ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่า

ตามที่ได้มีคลื่นการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิต PCB ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด ได้เข้ามาลงทุนครั้งใหญ่ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2566 โดยบริษัท เวล เทค อิเล็คทรอนิกส์ หนึ่งในบริษัทรายใหม่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Welgao Electronics ผู้ผลิต PCB ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจากประเทศจีน เป็นรายแรกที่เริ่มเดินเครื่องผลิตในประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากได้ก่อสร้างโรงงานที่มีพื้นที่กว่า 64,000 ตารางเมตร รวมทั้งติดตั้งเครื่องจักรในเวลาไม่ถึง 1 ปี

โรงงานของบริษัท เวล เทค อิเล็คทรอนิกส์ มีเงินลงทุนในเฟสแรกกว่า 2,500 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์หลักจะเป็นแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ High-Density Interconnect (HDI) ชนิดหลายชั้น (Multilayer PCB) ซึ่งในเฟสแรกสามารถสร้างวงจรซ้อนกันได้สูงสุดถึง 30 ชั้น และบริษัทกำลังเตรียมแผนขยายโรงงานในเฟส 2 ในพื้นที่ติดกัน ซึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่าเฟสแรกหลายเท่า และจะเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต PCB ไปถึงระดับ 50 ชั้น โดย Multilayer PCB จะใช้สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความซับซ้อนสูงหรือมีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก เช่น Data Server และ Power Supply ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า (EV), Data Center และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยี AI โดยบริษัทจะจำหน่ายในประเทศร้อยละ 40 ให้กับลูกค้าในกลุ่ม EV และอิเล็กทรอนิกส์ และส่งออกร้อยละ 60 ไปยังประเทศต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจะใช้วัตถุดิบในประเทศกว่าร้อยละ 50

สาเหตุสำคัญที่กลุ่มเวล เทค ได้ตัดสินใจขยายการลงทุนในไทย เพื่อเป็นฐานผลิตสำคัญแห่งแรก
นอกประเทศจีน เนื่องจากมองเห็นศักยภาพและความพร้อมของไทย ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ และบุคลากรที่มีคุณภาพในการรองรับกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 

โดยโรงงานผลิต PCB แห่งนี้ จะเป็น Smart Factory ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำสมัยที่สุด ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยี AI และระบบอัจฉริยะในการผลิตทุกขั้นตอน รวมทั้งการใช้หุ่นยนต์ AGV ในการเคลื่อนย้ายสินค้า โดยจะมีการจ้างงานบุคลากรไทยในเฟสแรกกว่า 500 คน ส่วนใหญ่เป็นวิศวกรและช่างเทคนิค ขณะที่มีผู้บริหารชาวจีนไม่เกิน 10 คนเท่านั้น 

นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะใช้นักวิจัยไทยกว่า 40 คน มาร่วมพัฒนาเทคโนโลยีใน 5 สาขา ได้แก่ การพัฒนาวัสดุขั้นสูง ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการผลิต การจัดการสิ่งแวดล้อม การพัฒนาซอฟต์แวร์และ AI อีกทั้งจะมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทย 4 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และพระนครศรีอยุธยา ในการจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรด้าน PCB ด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงเวลา 1 ปีกว่าที่ผ่านมา (ปี 2566 - กันยายน 2567) มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม PCB จำนวน 95 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 162,000 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งการขยายการลงทุนของผู้ผลิตรายเดิม เช่น Mektec, KCE และการลงทุนใหม่โดยบริษัทผู้ผลิต PCB ระดับโลก โดยเฉพาะจากจีนและไต้หวันที่เข้ามาลงทุนจำนวนมาก เช่น Unimicron, Compeq, WUS, Gold Circuit, Chin Poon, Dynamic Electronics, Apex Circuit, Unitech เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงาน จะแล้วเสร็จพร้อมทยอยเปิดสายการผลิตตั้งแต่ปลายปี 2567 เป็นต้นไป

บีโอไอ จับมือสมาคม PCB ไต้หวัน ดึงลงทุนครั้งใหญ่ เผย 3 ปี คลื่นลงทุน PCB เข้าไทยกว่า 2 แสนล้านบาท

(6 มี.ค. 68) สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไต้หวัน (TPCA) นำสมาชิกกว่า 60 ราย เดินทางเยือนไทย พร้อมจับมือบีโอไอ และสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย (THPCA) ร่วมจัดสัมมนาใหญ่ 'TPCA Thailand PCB Forum 2025' เตรียมพร้อมรองรับคลื่นลงทุนอุตสาหกรรม PCB ครั้งใหญ่ รับกระแส AI บูม เผย 3 ปี เงินลงทุนเข้าไทยกว่า 2 แสนล้านบาท เร่งสร้างเครือข่ายภาครัฐ - เอกชน เตรียมบุคลากรรองรับอุตสาหกรรม ยกระดับไทยฐานผลิต PCB ชั้นนำของโลก

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ท่ามกลางกระแสการลงทุนในประเทศไทยของกลุ่มอุตสาหกรรมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไต้หวัน (Taiwan Printed Circuit Association: TPCA) ได้จัดทัพนำสมาชิกซึ่งเป็นผู้ผลิต PCB ชั้นนำ 

พร้อมทั้งกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดซัพพลายเชนกว่า 60 ราย เดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อศึกษาลู่ทางการลงทุน โดยได้ร่วมกับบีโอไอ และสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย (Thailand Printed Circuit Association: THPCA) จัดงาน 'TPCA Thailand PCB Forum 2025' ที่โรงแรมอวานี สุขุมวิท กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2568 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลการลงทุน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรม PCB ในประเทศไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง รวมทั้งความร่วมมือในการเตรียมพร้อมด้านสาธารณูปโภคและบุคลากรทักษะสูง โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้นกว่า 200 ราย

แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ถือเป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด และเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานในการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า โทรคมนาคม อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ คอมพิวเตอร์ ระบบดิจิทัล ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2565 - 2567) มีผู้ผลิต PCB และ PCBA

รวมทั้งผู้ผลิตวัตถุดิบสำคัญ เช่น Copper Clad Laminate และ Prepreg ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอจำนวนกว่า 130 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 202,000 ล้านบาท ส่งผลให้ประเทศไทยขึ้นมาเป็นผู้ผลิต PCB อันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน และติดอันดับ Top 5 ของโลก โดยมีผู้ผลิตรายใหญ่จากไต้หวันที่ได้รับการส่งเสริม เช่น ZDT, Unimicron, Compeq, WUS, Gold Circuit, Unitech, Dynamic เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้จะผลิต PCB ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง ทั้ง High-Density Interconnect PCB, Flexible PCB และ Multilayer PCB ที่ใช้กับผลิตภัณฑ์ AI และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงต่าง ๆ โดยผู้ผลิต PCB ส่วนใหญ่ตั้งโรงงานอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา และสมุทรปราการ และโรงงานส่วนใหญ่จะเริ่มเดินสายการผลิตในปีนี้

“ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของโลก ผู้ผลิตจำนวนมากตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิต PCB ทั้งจากจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และญี่ปุ่น 

เพราะมองเห็นจุดแข็งของไทยที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน นิคมอุตสาหกรรม ระบบไฟฟ้าที่เสถียร ศักยภาพด้านพลังงานสะอาด ซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง บุคลากรที่มีคุณภาพ รวมถึงมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ส่งผลให้ไทยเป็นจุดหมายสำคัญของการลงทุนผลิตและส่งออก PCB ไปยังตลาดโลก” นายนฤตม์ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top