Wednesday, 23 April 2025
PataniColonialTerritory

'ดร.ปิติ' หวั่น!! Patani Colonial Territory ล้างสมองเด็ก จี้!! ฝ่ายความมั่นคงควรสอบ 'มูลนิธิคณะก้าวหน้า'

ไม่นานมานี้ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า...

เห็นการประชาสัมพันธ์บอร์ดเกม Patani Colonial Territory ที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะก้าวหน้า แล้วค่อนข้างห่วงกังวล โดยเฉพาะประเด็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

อาทิ ภาพการ์ดในเกมที่นำมาประชาสัมพันธ์ยังมีการทำซ้ำในประเด็นอ่อนไหว เรื่อง 'เอ็นร้อยหวาย' ที่ปัจจุบันในวงวิชาการยอมรับว่าเป็น 'เรื่องเสริมแต่งเพิ่มในภายหลัง' ที่ไม่เป็นความจริง แต่เป็นเรื่องราวที่สร้างขึ้นเพื่อสร้างความเกลียดชัง 'รัฐสยาม'

แต่ในเกมยังเอาเรื่องราวสร้างความหวาดกลัวนี้มาใช้ในการประชาสัมพันธ์

ผมไม่เห็นด้วยในการใช้ข้อมูลประวัติศาสตร์ที่ outdate มาสร้างความสุ่มเสี่ยงประเด็น Misinformation/Disinformation ในพื้นที่อ่อนไหวทางความมั่นคง ผ่านสื่อที่เข้าถึงเยาวชนที่อาจจะยังไม่รู้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

เรื่องนี้ ฝ่ายความมั่นคงควรนำมาพิจารณาครับ

สามารถอ่านข้อค้นพบทางประวัติศาสตร์ได้จากบทความนี้

https://so05.tci-thaijo.org/index.php/rusamelae/article/download/127668/96233/

จากการตรวจสอบเพจเฟซบุ๊ก Urban Creature พบข้อความระบุว่า...

Patani Colonial​ Territory บอร์ดเกมที่ชวนทุกคนตามรอยประวัติศาสตร์ที่หายไปของปาตานี

Patani (ปาตานี) คือพื้นที่ที่ครอบคลุมจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ผู้คนที่อาศัยส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูและมุสลิม อาณาจักรปาตานีเคยรุ่งเรืองเมื่อสี่ร้อยปีก่อนจะถูกสยามยึดครองในช่วงต้นของยุครัตนโกสินทร์ และแบ่งพื้นที่สืบต่อมาเป็นจังหวัดต่างๆ ของภาคใต้เช่นปัจจุบัน

‘Patani Colonial​ Territory’ คือบอร์ดเกมที่เป็นผลผลิตจากกลุ่ม ‘Chachiluk​ (จะจีลุ)’ ร่วมกับสำนักพิมพ์ KOPI และได้รับทุนสนับสนุนโดย Common School มูลนิธิคณะก้าวหน้า โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งต่อประวัติศาสตร์ของอาณาจักรนี้ไม่ให้หายไป

กลุ่มจะจีลุเล่าถึงที่มาของชื่อกลุ่มว่ามาจากการละเล่นพื้นบ้านของเด็กๆ ในพื้นที่ปาตานี โดยเหตุผลที่ใช้ชื่อนี้เพราะอยากทำหน้าที่เป็นตัวแทนความสนุกสนาน และหวังเป็นสื่อในการเชื่อมต่อผู้คนให้ได้รับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ รวมถึงนำเสนอเรื่องราวของปาตานีผ่านความสนุกในโลกของบอร์ดเกมที่จะชวนผู้เล่นมาประลองไหวพริบและกระตุ้นเตือนความทรงจำ ​ท้าทายให้ทุกคนได้ลองร้อยเรียงลำดับเหตุการณ์​การผนวก​รวมปาตานีเข้ากับสยาม โดยเกมนี้จะใช้จำนวนผู้เล่น 3 - 5 คน กับระยะเวลาเล่นราว 15 - 30 นาที

ในบอร์ดเกมหนึ่งชุดนั้นประกอบด้วย...

1) การ์ดเกม 52 ใบ โดยแบ่งออกไปเป็น 4 สี สีละ 13 ใบ
2) โทเคน 30 ชิ้น ประกอบด้วยโทเคนที่มีตัวเลข 1 - 5 สีละหนึ่งชุด และโทเคนไม่มีตัวเลข 5 สี บรรจุในถุงผ้า
3) ใบกำกับกติกาการเล่นแบบ 2 กติกา พร้อมกระดานนับคะแนนที่อยู่ในแผ่นเดียวกัน แบ่งเป็นแผ่นหน้าและหลัง

บอร์ดเกม Patani Colonial​ Territory ผลิตออกมาทั้งหมด 50 ชุด ซึ่งในช่วงเริ่มต้นนี้ทางทีมงานได้มีมติว่า จะแจกบอร์ดเกมทั้งหมดให้องค์กรต่างๆ กลุ่มนักศึกษา และกลุ่มอื่นๆ ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิ กรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง 'มูลนิธิคณะก้าวหน้า'

โดยประกาศดังกล่าวมีใจความว่า ด้วยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิคณะก้าวหน้า ต่อนายทะเบียนมูลนิธิกรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการศึกษา วิจัย ด้านสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และอื่นๆ ส่งเสริมการแปลหนังสือภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย เผยแพร่ความรู้หรือผลงานการศึกษาวิจัยด้านสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และอื่นๆ ให้แพร่หลายแก่ประชาชน ส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ดำเนินกิจกรรมค่ายศึกษาอบรมเกี่ยวกับการเสริมสร้างค่านิยมประชาธิปไตย ส่งเสริมและให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชนที่ยากไร้ ส่งเสริมและสนับสนุนการสังคมสงเคราะห์ที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้สูงอายุคนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมการกีฬาทุกประเภทส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยความเป็นกลาง และไม่ให้การสนับสนุนด้านการเงินหรือทรัพย์สินแก่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองใด

น่าห่วง!! ย้อนรอยการสอดไส้ใส่ยาพิษให้เยาวชน บิดเบือนประวัติศาสตร์ผ่านเครื่องมือตามกระแสนิยม

ย้อนรอยการสอดไส้ใส่ยาพิษให้เยาวชน

ใครจะคิดว่าเกมสำหรับเด็กมีการสอดไส้ด้วยข้อมูลเท็จ เพื่อให้เยาวชนซึมซับรับรู้ผ่านการเล่นสนุก โดยที่ไม่รู้ว่าเนื้อหาสาระของเกมคือการบิดเบือนความจริง ล่าสุดมีข่าวฮือฮาเรื่องบอร์ดเกม Patani Colonial Territory ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิคณะก้าวหน้า ประเด็นความน่าเป็นห่วงอยู่ที่การบิดเบือนข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ เพื่อให้เด็กเกิดภาพจำอันเป็นเท็จ

การบิดเบือนข้อมูลในเกม เช่น เรื่องเอ็นร้อยหวาย ที่ปัจจุบันในวงวิชาการยอมรับว่าเป็นเรื่องแต่งเพิ่มในภายหลังที่ไม่เป็นความจริง แต่สร้างขึ้นเพื่อสร้างความเกลียดชังรัฐสยาม และสถาบันหลักของชาติ เกมนี้จั่วหัวอย่างน่าสนใจว่า นี่คือบอร์ดเกมที่ชวนทุกคนตามรอยประวัติศาสตร์ที่หายไปของปาตานี เป็นผลผลิตของกลุ่ม ‘Chachiluk (จะจีลุ) ร่วมกับสำนักพิมพ์ KOPI โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก Common School มูลนิธิคณะก้าวหน้า 

บอร์ดเกม Patani Colonial Territory ผลิตออกมาทั้งหมด 50 ชุด โดยจะแจกบอร์ดเกมทั้งหมดให้องค์กรต่าง ๆ เน้นที่กลุ่มนักศึกษา เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวมาก หน่วยงานด้านความมั่นคงจึงจับตามองเป็นพิเศษ เพราะเกมนี้นำประวัติศาสตร์ที่เป็นประเด็นขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาออกแคมเปญโฆษณาเพื่อดึงเยาวชนเข้ามาเรียนรู้ข้อมูลในเกม 

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะนักการเมืองกลุ่มนี้เจาะกลุ่มเป้าหมายเยาวชนมาโดยตลอด ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องเกม หากแต่พยายามเปลี่ยนแปลงข้อมูลความจริงในทุกระดับชั้น ด้วยการบิดเบือนหรือใช้ความจริงครึ่งเดียวมาบั่นทอนกร่อนเซาะสถาบันกษัตริย์ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ในระดับการล้มล้างสถาบันอันเป็นเสาหลักของชาติ

หลายครั้งที่ปรากฎข่าวว่ามีนักการเมืองบางพรรคและบางกลุ่ม เข้าไปพูดให้นักเรียนมัธยมฟังในสถานศึกษา ส่วนมากโน้มน้าวให้เกิดประเด็นขัดแย้งเรื่องสถาบันทหารหรือสถาบันกษัตริย์ แม้กระทั่งข้อมูลพื้นฐานบางอย่าง ก็มีทีมงานบิดเบือนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขอยกตัวอย่างที่เห็นชัดตัวอย่างหนึ่ง คือโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งก่อนหน้านั้นในวิกิพีเดียระบุว่าก่อตั้งโดยหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ต่อมามีการเข้าไปเปลี่ยนชื่อผู้ก่อตั้งเตรียมอุดมศึกษาเป็นจอมพลป.พิบูลสงคราม เมื่อศิษย์เก่าเข้าไปแก้ไขให้ถูกต้อง ก็มักมีการเปลี่ยนกลับมาเป็นชื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามอยู่เสมอ

นอกจากนี้ยังมีการบิดเบือนข้อมูลทางประวัติศาสตร์หลายชิ้น เพื่อด้อยค่าสถาบันกษัตริย์ โดยใช้ชุดความคิดที่บิดเบือนข้อเท็จจริงหรือให้ความจริงแค่ครึ่งเดียวในอดีตนำมาปัดฝุ่นใหม่ เพื่อนำมาสร้างเป็นชุดความคิด ป้อนเยาวชนคนรุ่นใหม่ เช่น มีการอ้างอิงเอกสารชุดหนึ่งว่านำมาจากซีไอเอ นำมาติดแฮชแทคโจมตีในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยกล่าวหาว่าพระองค์เป็นผู้สั่งสังหารนักศึกษา

เอกสารชุดนั้นตัดมาแค่ข้อความไม่กี่บรรทัดในภาษาอังกฤษ เมื่ออ่านฉบับเต็มอย่างไม่มีอคติแล้วพบว่า รัชกาลที่ 9 ไม่มีถ้อยรับสั่งให้ฆ่านักศึกษาแต่อย่างใด แต่หมายถึงต้องการให้ระงับเหตุการณ์รุนแรงในครั้งนั้น เอกสารชุดนี้เขียนขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2517  ไม่มีอะไรเกี่ยวกับการสั่งสังหารใครเลย เป็นเพียงซีไอเอรายงานให้ประธานาธิบดีรู้สถานการณ์ และการปฏิบัติงานของหน่วยงานอเมริกันในประเทศนั้น ๆ

มีการนำชุดข้อมูลดังกล่าวกลับมาวนฉายซ้ำ ปลุกเร้าให้เยาวชนเกลียดชังสถาบันอย่างถึงที่สุด ไม่เว้นแม้รัชกาลที่ 9 ซึ่งเสด็จสวรรคตไปแล้ว ก็ถูกลากมาก่นด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย ข้อมูลชุดนี้นำมาวนหลายครั้งหลายหน พร้อมแฮชแทคประกอบว่ารัชกาลที่ 9 สั่งฆ่านักศึกษา เมื่อเยาวชนคนรุ่นใหม่เสพข้อมูลที่ถูก 'แปล' และ 'แปลง' ให้เชื่อ ก็เชื่ออย่างสนิทใจว่าทุกถ้อยคำคือความจริง จนกลายเป็นเบี้ยหมากในเกมการล้มสถาบันในที่สุด

ช่วงที่ม็อบสามนิ้วออกมาม็อบตามท้องถนน มีการว่าจ้างนักเขียนนิทานคนหนึ่ง ซึ่งมีแนวคิดสนับสนุนม็อบให้เขียนนิยายภาพสำหรับเด็ก โดยเป็นนิทานสำหรับเด็กสี่สี แต่เนื้อหาเต็มไปด้วยการสอดไส้ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเป็ดน้อย แต่เขียนเล่าเรื่องเป็ดที่ตามหาประชาธิปไตย และเติบโตมาพร้อมกับเด็ก ๆ หรือ 10 ราษฎร เป็นเรื่องเล่าถึงผู้คนบนเส้นทางประชาธิปไตย มีการวาดภาพบรรดาแกนนำม็อบให้กลายเป็นฮีโร่ แปลกที่ไม่ยักบอกว่าฮีโร่เหล่านี้กำลังเดินเข้าคุกกันทุกคน

แต่ประเด็นที่โด่งดังและชัดเจนที่สุดคือ หนังสือประวัติศาสตร์ที่บิดเบือนประวัติศาสตร์ของ ณัฐพล ใจจริง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา สองเล่มคือ 'ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ' และ 'ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี'  


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top