Sunday, 27 April 2025
OPPO

ย้อนตัวอย่างบริษัทดัง หวังใช้โซเชียลพลิกวิกฤต แต่กลยุทธ์ทำพิษ จากวิกฤตเป็นวิบัติ

(13 ม.ค. 68) ในยุคดิจิทัลที่โซเชียลมีเดียถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสาร สร้างแคมเปญการตลาด เพื่อโปรโมตแบรนด์ อีกทั้งรับมือกับ Crisis Management เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ที่ทำให้ชื่อเสียงของแบรนด์ตกต่ำลง การรับมือของบริษัทในยุคโซเชียลมีเดียสามารถพลิกสถานการณ์ได้ทั้งในทางบวกและลบ ล่าสุด OPPO บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำถูกวิจารณ์อย่างหนักจากกรณีแอปเงินกู้ที่เกี่ยวข้องกับการแอบเก็บข้อมูลส่วนบุคคลผู้ใช้ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ในวงกว้าง ท่ามกลางกระแสดราม่า กลับมีการผุดแฮชแท็ก #OPPOFighting จากพนักงานและกลุ่มผู้สนับสนุนแชร์กันมากมายบนโซเชียลมีเดีย

การกระทำเหล่านี้มักจะทำคำถามบนเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างความภักดีที่แท้จริงของพนักงานกับแคมเปญที่พยายามสร้างเพื่อฟื้นภาพลักษณ์องค์กร ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกันนี้เคยเกิดขึ้นกับแบรดน์ขนาดใหญ่หลายแบรนด์ทั่วโลกมากแล้ว

หนึ่งในตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุดคือกรณีของ Volkswagen ในช่วงที่มีเรื่องอื้อฉาว Dieselgate ในปี 2015 เมื่อบริษัทถูกจับได้ว่าติดตั้งซอฟต์แวร์ในรถดีเซลเพื่อโกงการทดสอบการปล่อยมลพิษ ทำให้รถผ่านการตรวจสอบตามกฎระเบียบได้ในขณะที่ปล่อยมลพิษที่เป็นอันตรายเกินขีดจำกัดทางกฎหมาย เมื่อกลายเป็นประเด็นได้มีบรรดาพนักงานและกลุ่มผู้ภักดีต่อแบรนด์Volkswagen บางคนก็ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อปกป้องบริษัท ภายใต้แฮชแท็กอย่าง #VW และ #DieselgateIsNotWhatYouThink โพสต์เหล่านี้พยายามลดความรุนแรงของปัญหาโดยเน้นที่ประวัติการสร้างสรรค์นวัตกรรมและความพยายามด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทแทน อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์จำนวนไม่น้อยโต้แย้งว่าโพสต์เหล่านี้ดูเหมือนเป็นความพยายามประชาสัมพันธ์เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากเรื่องอื้อฉาวมากกว่าการสนับสนุนพนักงานอย่างแท้จริง

ในทำนองเดียวกัน ในเหตุการณ์ของ United Airlines เมื่อปี 2017 ที่ผู้โดยสารรายหนึ่งถูกฉุดลากด้วยความรุนแรง ออกจากเที่ยวบินที่ระบบผิดพลาดจองตั๋วเกิน ส่งผลให้เกิดกระแสสังคมวิพากวิจารณ์สายการบินอย่างรุนแรง การจัดการสถานการณ์ที่ผิดพลาดของสายการบินทำให้เกิดการประณามอย่างกว้างขวาง โดยหลายคนตั้งคำถามถึงแนวทางการบริการลูกค้า อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว พนักงานของ United บางคนได้โพสต์ข้อความเพื่อปกป้องสายการบินโดยใช้แฮชแท็กเช่น #UnitedWeStand ข้อความเหล่านี้ซึ่งมักจะเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของบริษัทต่อความปลอดภัยและการบริการลูกค้า ดูเหมือนจะขัดกับการรับรู้เชิงลบของสาธารณชน แม้ว่าพนักงานบางคนอาจโพสต์ข้อความด้วยความภักดีหรือความเชื่อส่วนตัวในค่านิยมของสายการบิน แต่บางคนก็สงสัยว่าโพสต์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการตอบสนองประชาสัมพันธ์ที่จัดเตรียมขึ้นอย่างกว้างๆ

อีกหนึ่งกรณีที่เป็นที่รู้จักกันดีเกิดขึ้นกับ Nike ในปี 2018 เมื่อบริษัทเปิดตัวแคมเปญโฆษณาที่มีโคลิน แคเปอร์นิค อดีตผู้เล่น NFL เป็นพรีเซ็นเตอร์ แคเปอร์นิคกลายเป็นบุคคลที่ก่อให้เกิดความข้อถกเถียงในโซเชียลอเมริกัน จากกรณีที่เขาคุกเข่าระหว่างเพลงชาติเพื่อประท้วงความอยุติธรรมทางเชื้อชาติและสีผิว การตัดสินใจของ Nike ที่จะให้เขามีส่วนร่วมในแคมเปญทำให้เกิดทั้งการสนับสนุนและการต่อต้าน ในขณะที่ลูกค้าบางส่วนขู่ว่าจะคว่ำบาตรแบรนด์ พนักงานของ Nike จำนวนมากก็ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อปกป้องจุดยืนของบริษัท โดยโพสต์ภายใต้แฮชแท็กเช่น #Nike และ #JustDoIt ความแตกต่างในกรณีนี้คือพนักงานของ Nike ดูเหมือนจะแสดงการสนับสนุนแบรนด์ที่พวกเขาเชื่อมั่นอย่างแท้จริงมากกว่า # ที่เกิดขึ้นจากแคมเปญประชาสัมพันธ์

นอกจากนี้ยังมีกรณีของ Amazon เผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์ในปี 2018 เกี่ยวกับสภาพการทำงานในคลังสินค้า โดยพนักงานอธิบายถึงชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานที่มาพร้อมค่าตอบแทนไม่สมเหตุสมผลท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว พนักงานของ Amazon บางส่วนได้ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อตอบโต้รายงานเชิงลบ โดยใช้แฮชแท็กเช่น #AmazonWorks โพสต์เหล่านี้เน้นย้ำถึงค่าจ้าง สวัสดิการ และด้านบวกอื่นๆ ของบริษัทในการทำงานที่ Amazon แม้ว่าโพสต์เหล่านี้อาจจริงใจ แต่โซเชียลส่วนใหญ่กลับมีข้อสงสัยเช่นกันว่าทีมประชาสัมพันธ์ของ Amazon สนับสนุนให้ส่งข้อความดังกล่าวเพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์ของบริษัท

ทั้งนี้ ไม่ว่าโพสต์ติด # เหล่านั้นจะถูกทำขึ้นด้วยความจริงใจขอพนักงานในการสนับสนุนองค์กร หรือเป็นแคมเปญเพื่อการฟื้นภาพลักษณ์ก็ตาม แต่สิ่งสำคัญคือการดำเนินงานตอบสนองต่อข้อสงสัยของสาธารณะอย่างโปร่งใสและเจตนาที่จริงใจมากกว่า

OPPO-Realme ยอมรับไม่ได้ขออนุญาต ธปท. ปมติดตั้ง “แอปเงินกู้” อ้างเพิ่มความสะดวกระบบแตะจ่ายอัตโนมัติ

OPPO-Realme เผย “แอปเงินกู้” ถูกติดตั้งในเครื่องตั้งแต่โรงงาน เพิ่มความสะดวกในการใช้งานระบบแตะจ่ายอัตโนมัติ (NFC) ไม่ได้ขออนุญาต ธปท.

(13 ม.ค. 68) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดย นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เชิญ 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท โพสเซฟี่ กรุ๊ป จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ OPPO และ บริษัท โปรทา จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ Realme เข้าชี้แจงปมแอปเงินกู้ที่ในตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือ ซึ่งโดยมีผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Office of the Personal Data Protection Commission – PDPC) และตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เข้าร่วมรับฟัง

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยภายหลังการหารือกับ OPPO และ Realme ว่า วันนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาด้วย ได้แก่ กสทช.ตรวจอุปกรณ์โทรศัพท์ว่าคลื่นความถี่ที่แพร่สัญญาออกมาจากตัวเครื่องเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ และกำลังไฟในเครื่องปลอดภัยต่อประชาชนหรือไม่ ในส่วนของแอปพลิเคชัน กำลังพูดคุยกับ สคส. และ สกมช. ว่ามาตรฐานของการใช้แอปฯ ใครควรจะเป็นผู้ดูแล ซึ่งในวันนี้ได้ข้อมูลไปเป็นข้อมูลส่วนบุคคลจากแอปฯ Fineasy ซึ่งทางคณะกรรมการสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคส่วนบุคคลได้ขอให้ OPPO และ Realme ส่งข้อมูลภายในวันที่ 16 ม.ค.68 ว่าข้อมูลที่ได้ไปมีทั้งหมดเท่าใด และนำไปใช้อย่างไรบ้าง และ OPPO และ Realme ยืนยันว่าในโทรศัพท์รุ่นถัดไปจะไม่มีการติดตั้งแอปฯ ดังกล่าวแล้ว

มาตรการระยะเร่งด่วนที่ทำได้ทันที เครื่องใหม่ที่จำหน่ายในท้องตลาด ถ้ามีแอปฯ Fineasy หรือสินเชื่อมีสุข จะงดจำหน่ายทั้งหมด ถ้าพบว่ายังมีการจำหน่าย เจ้าของข้อมูลมีสิทธิ์จะที่จะแจ้งให้ลบทิ้ง ถือว่าเป็นการเก็บรวบรวมใช้หรือเปิดเผยผิดวัตถุประสงค์โทรศัพท์มือถือ เพราะโทรศัพท์มือถือไม่มีมีวัตถุประสงค์กู้เงินหรืออะไรต่างๆ และสามารถร้องเรียนมาที่คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 3 ล้านบาท

สำหรับการเรียกชี้แจงข้อมูลภายในวันที่ 16 มกราคม 2568 นั้น สืบเนื่องจากการดำเนินการตามมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในการจำหน่ายโทรศัพท์อาจจะมีข้อบกพร่อง คือ

1. ในการจำหน่ายโทรศัพท์ถือว่าเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลลูกค้า ดังนั้นหน้าที่แรกจะต้องขอความยินยอมในการที่จะดูรายละเอียดในโทรศัพท์ให้ลูกค้าทราบ ทาง กสทช.จึงแจ้งให้ OPPO-Realme ได้ชี้แจงว่าที่ผ่านมาได้ทำหรือไม่ อย่างไร

2. เมื่อลูกค้านำโทรศัพท์ไปใช้แล้ว เห็นว่ามีแอปพลิเคชันหรืออะไรที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ก็มีสิทธิ์ที่จะแจ้งให้ลบหรือทำลายได้ ในประเด็นนี้ในการประชุมได้ข้อสรุปว่าทาง OPPO-Realme จะจัดทำช่องทางที่ให้ลูกค้าใช้สิทธิ์เข้ามาได้เลย โดยกำหนดระยะเวลาไว้ไม่เกิน 1 เดือน ทาง กสทช. เห็นว่านานเกินไป จึงให้บริษัททั้งสองกลับไปทบทวนว่าสามารถดำเนินการได้เมื่อใด

3. เครื่องยังไม่ได้จำหน่ายแต่มีแอปฯนี้ติดตั้งแล้ว ทาง กสทช.แจ้งให้ทั้งสองบริษัททราบแล้วว่าถ้าจำหน่ายไปถือว่าผิดวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวมใช้หรือเปิดเผยข้อมูล ซึ่งเจ้าของข้อมูลมีสิทธิ์ที่จะแจ้งให้ลบ ซึ่งทางด้านทั้งสองบริษัทแจ้งว่าจะไม่มีการจำหน่าย เพราะหากมีการจำหน่ายจะไม่สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

4. ไม่แน่ใจว่าการเก็บรวบรวมใช้หรือเปิดเผยข้อมูลผ่านแอปฯ ที่ดำเนินการไปแล้ว เกิดความเสี่ยงหรือผลกระทบอะไรบ้าง ให้ทั้งสองบริษัทรายงานข้อมูลโดยละเอียดทั้ง 2 แอปฯ

เมื่อทั้งสองบริษัทมีการรายงานข้อมูลมาแล้ว สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะตรวจสอบ ถ้ามีประเด็นที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หากสามารถแก้ไขเยียวยาได้ จะแจ้งให้ดำเนินการทันที แต่ถ้าเป็นความผิดและมีความเสียหาย มีผู้ร้องเรียน จะรายงานต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจะพิจารณาโทษทางปกครองต่อไป

ด้านตัวแทนทั้งสองบริษัท กล่าวว่า แอปพลิเคชัน Fineasy ถูกติดตั้งมาในเครื่องตั้งแต่โรงงานก่อนผ่านการอนุมัติมาตรฐานมือถือจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้งานระบบแตะจ่ายอัตโนมัติ (NFC) และช่วยยกระดับการใช้งานของมือถือ ให้สามารถรองรับฟังก์ชันนี้ได้ดียิ่งขึ้น คล้ายกับแอปพลิเคชัน True Wallet โดยยอมรับว่าไม่ได้ขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำหรับการติดตั้งแอปฯ ดังกล่าว อย่างไรก็ตามบริษัทต้องการตรวจสอบเรื่องนี้อีกครั้ง

OPPO ขอโทษ ออกอัปเดตลบแอปเงินกู้บนมือถือแล้ว 4 รุ่น ยืนยันลบข้อมูลส่วนตัวลูกค้าทั้งหมด

(17 ม.ค.68) OPPO ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนครั้งแรก หลังเกิดเหตุการณ์การติดตั้งแอปพลิเคชัน Fineasy และ สินเชื่อความสุข ในสมาร์ทโฟน OPPO และ realme โดยไม่ได้รับการยินยอม  

โดยนายชานนท์ จิรายุกุล ประธานกรรมการอาวุโสฝ่ายบริหาร OPPO ประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทได้ดำเนินการแก้ไขโดยทันทีผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้เริ่มการอัปเดตระบบ (OTA) เพื่อลบแอปพลิเคชันดังกล่าวแล้ว ซึ่งครอบคลุมถึงรุ่น Find X8 Series, Reno13 Series, Reno12 Series และ OPPO A3 ทั้งตั้งเป้าให้มีการอัปเดตเพื่อการติดตั้งแอปฯ ดังกล่าวภายใน 27 มกราคม 2025 

นายชานนท์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้งานเก็บบนคลาวด์ได้ถูกลบอย่างสมบูรณ์แล้ว ส่วนข้อมูลที่อยู่ในอุปกรณ์ ผู้ใช้งานสามารถลบได้ด้วยตัวเองทันที  

ด้านนายธงชัย ม่วงใหม่ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของโพสเซฟี่ กรุ๊ป ได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นของ OPPO ประเทศไทยในการปฏิบัติตามกฎหมายความเป็นส่วนตัว โดยไม่เข้าถึงข้อมูลอ่อนไหวของผู้ใช้งานหากไม่ได้รับอนุญาต พร้อมเสริมว่าบริษัทได้ดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล  

นอกจากนี้ OPPO ประเทศไทยได้ชี้แจงว่า การติดตั้งแอปพลิเคชันดังกล่าวมาจากบุคคลภายนอก และยืนยันว่าไม่มีการจัดเก็บข้อมูลของผู้ใช้งาน โดยบริษัทได้เริ่มปรับปรุงมาตรการความปลอดภัย พร้อมประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต  

"เหตุการณ์นี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับเรา เราขอโทษผู้ใช้งานอย่างสุดซึ้ง และขอให้คำมั่นว่าจะไม่มีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก" นายชานนท์กล่าว  

OPPO ประเทศไทยยังแสดงความตั้งใจที่จะร่วมมือเฉพาะกับพันธมิตรที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น และจะไม่ติดตั้งแอปพลิเคชันสินเชื่อที่ไม่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานธนาคารแห่งประเทศไทยอีก  

สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ OPPO ประเทศไทยได้จัดตั้งสายด่วนที่หมายเลข 1800-019-097 เพื่อให้บริการช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top