Tuesday, 22 April 2025
OpenAI

เปิดเหตุผลที่ ChatGPT สั่นสะเทือนโลก AI และอาจทำให้หลายอาชีพในโลกไร้ความหมาย

หลังจากที่ Bill Gates ประกาศให้โลกรู้ ChatGPT และการเข้ามาของ AI รอบนี้ถือว่าสำคัญพอๆ กับการกำเนิดของ 'คอมพิวเตอร์' และ 'อินเตอร์เน็ต' และยังกล่าวอีกว่า AI จะเปลี่ยนแปลงโลกครั้งใหญ่อีกครั้ง 

ไม่นานหลังจากนั้น Microsoft เริ่มนำ ChatGPT เชื่อมต่อกับหลายบริการ เช่น ซอฟต์แวร์นัดหมายอย่าง 'ทีมส์' (Teams)

ไม่เพียงเท่านั้น วงการอื่นๆ ก็เริ่มเข้าไปหยิบเจ้า ChatGPT มามีส่วนร่วมกับงานของตนมากขึ้น เช่น ผู้พิพากษาโคลอมเบียเริ่มใช้ ChatGPT ช่วยตัดสินคดีเกี่ยวกับสิทธิด้านการรักษาพยาบาลของเด็กออทิสติก เนื่องจากมีความซับซ้อนจึงนำ AI มาช่วยตัดสินใจ 

ขณะที่สภาคองเกรสของสหรัฐฯ ก็เริ่มใช้ ChatGPT เสนอร่างกฏหมายบางส่วนกันแล้วด้วย

คำถาม คือ เจ้า AI ที่เรียกว่า ChatGPT นี้ มันจะไปได้สุดแค่ไหน เพราะ ณ ตอนนี้ความฉลาดของมันเริ่มเข้ามา 'แทนที่' มนุษย์ในหลายเรื่องสำคัญๆ

มันสามารถตอบคำถามได้แทบทุกอย่าง มันสามารถเขียนโค้ดโปรแกรม สามารถเขียนบทความ เขียนเนื้อเพลง สร้างสคริปต์นำเสนอสินค้า สร้างสูตรทำอาหาร และอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งยังพูดคุยและแสดงอารมณ์ได้อย่างเป็นธรรมชาติอีกด้วย 

ไม่นานมานี้ Techsauce ได้นำเสนอบทความที่กำลังแสดงให้เห็นว่า ChatGPT กำลังสั่นสะเทือนโลก AI โดย เบิร์น เอลเลียต รองประธานฝ่ายวิจัย การ์ทเนอร์ อิงค์ ได้ให้ข้อมูลที่ควรต้องตระหนักไว้ว่า...

หลังจาก OpenAI บริษัทวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เปิดตัว ChatGPT แพลตฟอร์มสนทนา AI รูปแบบใหม่อย่างเป็นทางการนั้น จากข้อมูลของบริษัทฯ ได้ระบุว่ารูปแบบการสนทนาที่จัดทำโดยแพลตฟอร์มนี้ ทำให้ ChatGPT สามารถ “ตอบคำถามได้ครอบคลุม ยอมรับข้อผิดพลาด พร้อมนำเสนอข้อมูลใหม่ๆ เพื่อปรับเปลี่ยนข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และปฏิเสธคำร้องขอที่ไม่สมเหตุสมผล”

นับตั้งแต่ ChatGPT เปิดให้บริการ บนโลกโซเชียลมีเดีย ก็เริ่มมีการถกเถียงกันถึงความเป็นไปได้ในการนำนวัตกรรมนี้มาปรับใช้ รวมถึงอันตรายที่อาจตามมา 

นั่นก็เพราะมันมีความสามารถในการวิเคราะห์หาข้อผิดพลาดของโค้ด (Debug Code) ไปจนถึงศักยภาพในการเขียนเรียงความสำหรับนักศึกษา

ขณะที่มีรูปแบบการใช้งานโมเดลพื้นฐานมากมาย เช่น GPT ในโดเมนต่างๆ ประกอบด้วย Computer Vision, Software Engineering และงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Research and Development) เช่น มีการใช้แบบจำลองพื้นฐานสร้างรูปภาพขึ้นจากข้อความ และตรวจสอบโค้ดจากภาษาธรรมชาติ (Natural Language) รวมถึงการทำ Smart Contracts หรือแม้แต่ในด้านการดูแลสุขภาพ (Healthcare) เช่น การสร้างยารักษาโรคใหม่ๆ และการถอดรหัสลำดับจีโนมเพื่อจำแนกโรค

>> นี่คือข้อกังวลด้านจริยธรรม

แม้โมเดลแบบจำลองพื้นฐาน AI เช่น GPT ได้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้าน AI จากประโยชน์เฉพาะตัวที่มอบให้ อาทิ การช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาสร้างโมเดลแบบจำลองเฉพาะโดเมน แต่นั่นก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงและข้อกังวลด้านจริยธรรม ซึ่งประกอบด้วย...

Complexity: โมเดลจำลองขนาดใหญ่ต้องใช้พารามิเตอร์นับพันล้านหรืออาจมากถึงล้านล้าน โดยโมเดลจำลองเหล่านี้มีขนาดใหญ่เกินไปที่องค์กรจะนำมาทดสอบใช้งาน เนื่องจากต้องใช้ทรัพยากรการประมวลผลที่จำเป็นจำนวนมาก อาจทำให้มีราคาแพงและไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Concentration of power: โมเดลจำลองเหล่านี้ส่วนใหญ่สร้างขึ้นโดยบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุด ด้วยการลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาจำนวนมหาศาล และมีความสามารถด้าน AI เป็นสำคัญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการกระจุกตัวของอำนาจในหน่วยงานขนาดใหญ่ไม่กี่แห่ง อาจสร้างความไม่สมดุลในอนาคต

Potential misuse: โมเดลจำลองพื้นฐานช่วยลดต้นทุนในการสร้างเนื้อหา ซึ่งหมายความว่าการสร้าง Deepfake ที่ใกล้เคียงกับต้นฉบับจะง่ายขึ้น รวมถึงทุก ๆ อย่าง ตั้งแต่การเลียนแบบเสียงและวิดีโอไปจนถึงผลงานศิลปะปลอม ตลอดจนการโจมตีแบบกำหนดเป้าหมาย ซึ่งข้อกังวลด้านจริยธรรมร้ายแรงที่เกี่ยวข้องอาจทำให้เสียชื่อเสียงหรือสร้างความขัดแย้งทางการเมืองได้

Black-box nature: โมเดลจำลองเหล่านี้ยังต้องการการทดสอบอย่างถี่ถ้วนและสามารถมอบผลลัพธ์ที่ไม่น่าพอใจ เนื่องจากการทดสอบในลักษณะกล่องดำ (Black-box nature) ที่ไม่คำนึงถึงคำสั่งภายในซอฟต์แวร์ และคลุมเครือว่าฐานข้อมูลที่ตอบสนองนั้นเท็จจริงเพียงใด อาจนำเสนอผลลัพธ์ที่เอนเอียงได้จากข้อมูลที่กำหนดไว้ โดยกระบวนการทำให้ข้อมูลตรงกันของแบบจำลองดังกล่าวสามารถนำไปสู่ความล้มเหลวได้ หากคลาดเคลื่อนเพียงจุดเดียว

Intellectual property: โมเดลแบบจำลองถูกทดสอบกับคลังข้อมูลของชิ้นงานที่สร้างขึ้น และยังไม่ชัดเจนว่าจะมีกฎหมายบังคับอย่างไรสำหรับการนำเนื้อหานี้กลับมาใช้ใหม่ และหากเนื้อหานั้นมาจากทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น 

จากที่ว่ามา...เบิร์น เอลเลียต จึงมองว่าการใช้ ChatGPT จึงควรมีแนวทางการใช้โมเดลพื้นฐาน AI อย่างมีจริยธรรม ดังนี้...

1. เริ่มต้นจากการใช้งานการประมวลผลภาษาตามธรรมชาติ (Natural Language Processing - NLP) เช่น การจัดหมวดหมู่ การสรุป และการสร้างข้อความในสถานการณ์ที่ไม่ได้เจอตัวลูกค้า และเลือกงานที่มีความเฉพาะ โดยโมเดลจำลองที่ได้รับการฝึกฝนมาแล้วจะสามารถลดต้นทุนการปรับแต่งและการทดสอบที่มีราคาแพง หรือใช้ในกรณีที่ต้องการตรวจสอบผลลัพธ์โดยมนุษย์

2. ใช้สร้างเอกสารเชิงกลยุทธ์ที่สรุปประโยชน์ ความเสี่ยง โอกาส และแผนงานการปรับใช้โมเดลจำลองพื้นฐาน AI เช่น GPT ซึ่งจะช่วยพิจารณาว่าได้ประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงหรือไม่ กรณีที่นำมาใช้งานเฉพาะ

3. ใช้ APIs บนคลาวด์สำหรับสร้างรูปแบบจำลองและเลือกแบบจำลองที่มีขนาดเล็กที่สุด เพื่อให้มีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพตรงตามความต้องการเพื่อลดความซับซ้อนในการดำเนินงาน ลดการใช้พลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุนรวมสำหรับการเป็นเจ้าของ 

4. จัดลำดับความสำคัญของผู้จำหน่ายที่ส่งเสริมการปรับใช้โมเดลอย่างมีความรับผิดชอบโดยการเผยแพร่แนวทางการใช้งาน การบังคับใช้ รวมถึงบันทึกช่องโหว่และจุดอ่อนที่ทราบ พร้อมเปิดเผยพฤติกรรมที่เป็นอันตรายและสถานการณ์การใช้งานในทางที่ผิดแบบเชิงรุก

‘อัลท์แมน’ ผู้ก่อตั้ง ChatGPT โดนปลดพ้นเก้าอี้ซีอีโอ เหตุ ‘ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในฐานะผู้นำองค์กร’

แซม อัลท์แมน (Sam Altman) ซีอีโอของ OpenAI บริษัทผู้พัฒนา ChatGPT ถูกคณะกรรมการปลดออกจากตำแหน่งแบบฟ้าผ่า หลังจากบอร์ดแจ้งเหตุผลไม่ได้สื่อสารอย่างตรงไปตรงมาเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในความรับผิดชอบงาน

เมื่อวานนี้ (17 พ.ย. 66) บริษัท OpenAI ออกแถลงการณ์ระบุว่า คณะกรรมการบริหารของ บริษัท OpenAI ได้ประกาศในวันนี้ว่า แซม อัลท์แมน (Sam Altman) ลาออกจากตำแหน่งซีอีโอบริษัท OpenAI และลาออกจากคณะกรรมการบริหาร โดยคณะกรรมการได้แต่งตั้งให้ มิรา มูราติ (Mira Murati) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของบริษัท ดำรงตำแหน่งซีอีโอชั่วคราว โดยมีผลทันที

แถลงการณ์ ระบุอีกว่า การพิจารณาอัลท์แมนออกจากตำแหน่ง เป็นไปตามกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการ ซึ่งสรุปได้ว่า "เขาไม่ได้สื่อสารอย่างตรงไปตรงมากับคณะกรรมการอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในความรับผิดชอบต่องาน"

ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการ จึงไม่มีความมั่นใจในความสามารถในการเป็นผู้นำของ OpenAI อีกต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อแถลงการณ์บริษัทเผยแพร่ออกไปได้สร้างความสั่นสะเทือนวงการ AI อย่างมาก รวมถึงสร้างความประหลาดใจให้คนภายในบริษัท เพราะก่อนหน้าในช่วงเช้าวันเดียวกันอัลท์แมนยังคงส่งอีเมลถึงพนักงาน

สำหรับประวัติ แซม อัลท์แมน เกิด 22 เมษายน ค.ศ. 1985 ที่รัฐ Missouri สหรัฐอเมริกา เขาสนใจคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีตั้งแต่ยังเด็ก โดยในปี 2003 เข้าสมัครเรียนปริญญาตรีด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่ Stanford มหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐ แต่เรียนได้ปีเดียวก็ลาออกเพื่อมาทุ่มให้กับแอปพลิเคชัน Loopt ที่ร่วมกับเพื่อนผ่านบริษัท Y Combinator

ปี 2012 แซม อัลท์แมน ทำเงินได้ถึง 43.4 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท จากการขาย Loopt ให้บริษัทการเงิน Green Dot

ปี 2014 แซม อัลท์แมน เลื่อนจากหุ้นส่วนขึ้นเป็นประธาน Y Combinator และยังเคยรักษาการ CEO ให้ Reddit ช่วงสั้น ๆ ทำให้รู้จักคนดังในแวดวงเทคโนโลยีจำนวนมากรวมทั้ง Elon musk นำไปสู่การก่อตั้ง OpenAI ศูนย์วิจัยด้าน AI ขึ้นในปี 2015

โดย Microsoft ให้ความสนใจและให้เงินสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและสามารถเปิดตัวแชตบอต ChatGPT ซึ่งสร้างความฮือฮาไปทั่วโลก

รักษาการซีอีโอ ‘ChatGPT’ จ่อพา ‘อัลท์แมน’ กลับมาอีกครั้ง หลังเผชิญความกดดันหลายฝ่าย เหตุไม่ปลื้ม!! ที่มีมติปลดออก

(20 พ.ย. 66) สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า นางสาวมิร่า มูราติ (Mira Murati) ซีอีโอชั่วคราวของ OpenAI ผู้พัฒนาแชตบอตพลิกโลกเทคโนโลยีอย่าง ‘ChatGPT’ วางแผนที่จะพา ‘นายแซม อัลท์แมน’ (Sam Altman) ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตซีอีโอกลับมาดำรงตำแหน่งในบริษัทอีกครั้ง

หลังจากคณะกรรมการของ OpenAI มีมติปลดนายอัลต์แมนในเช้าวันที่ 18 พ.ย.66 ตามเวลาไทย ก็มีเสียงคัดค้านตามมาจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะผู้บริหารและนักลงทุนของ OpenAI ที่พยายามหาทางคืนสถานะซีอีโอให้กับนายอัลต์แมน

และการที่นายอัลต์แมนต้องลงจากตำแหน่งซีอีโอของ OpenAI ก็ทำให้เกิดเหตุการณ์ตามมามากมาย เช่น นายเกร็ก บร็อกแมน (Greg  Brockman) ผู้ร่วมก่อตั้ง OpenAI ประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งในบริษัท รวมถึงพนักงานระดับสูงอีกหลายคนก็ตัดสินใจลาออกตาม

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า คณะกรรมการของ OpenAI กำลังหารือในประเด็นที่จะให้นายอัลต์แมนกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง แต่มีเงื่อนไขคือต้องเปลี่ยนแปลงแนวทางการบริหารจัดการ และถอดถอนคณะกรรมการชุดเดิมทั้งหมด โดยผู้บริหารและนักลงทุนของ OpenAI ได้ขีดเส้นตายให้คณะกรรมการรับข้อเสนอภายใน 17.00 น. ของวันที่ 19 พ.ย.66 ตามเวลาท้องถิ่นในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา

รายงานข่าวระบุว่า นางสาวมูราติได้ตัดสินใจท่ามกลางความกดดันจากผู้บริหารและนักลงทุนของ OpenAI ที่ไม่พอใจกับมติการปลดนายอัลต์แมน รวมถึงคณะกรรมการที่เหลือยังคงพยายามทาบทามและสรรหาบุคคลที่จะขึ้นมาเป็นซีอีโอคนใหม่อยู่

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ปมปัญหาสำคัญที่ทำให้นายอัลต์แมนต้องลงจากตำแหน่งมาจากการที่นายอัลต์แมนพยายามผลักดันให้ OpenAI เติบโตในเชิงพาณิชย์และเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งขัดกับวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งบริษัทที่จะเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและพัฒนา AI เพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ

ความแตกต่างของเป้าหมายในการบริหารงานน่าจะทำให้คณะกรรมการเกิดความกังวลเรื่องความปลอดภัยในการใช้งาน AI ที่อาจจะกระทบกับความเป็นอยู่ของมนุษย์ และนำไปสู่การตัดสินใจในมติดังกล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดปัจจุบันของ OpenAI ประกอบไปด้วยนายอิลยา สุตสกีเวอร์ (Ilya Sutskever) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ OpenAI, นายอดัม ดีแอนเจโล (Adam D’Angelo) ซีอีโอ Quora, นางทาช่า แมคคอลีย์ (Tasha McCauley) ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี และนางสาวเฮเลน โทเนอร์ (Helen Toner) จาก Georgetown Center for Security and Emerging Technology

‘OpenAI’ วางแผนเปิดตัวแชตบอต ‘Strawberry’ โดดเด่น ‘คิดเป็นเหตุเป็นผล’ แตกต่างจาก AI ตัวอื่น

(11 ก.ย. 67) ดิ อินฟอร์เมชัน (The Information) เว็บไซต์ข่าวด้านเทคโนโลยีรายงานว่า โอเพนเอไอ (OpenAI) วางแผนที่จะเปิดตัว ‘สตรอว์เบอร์รี’ (Strawberry) ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เน้นการใช้เหตุผล ภายในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า

รายงานดังกล่าวระบุว่า ‘สตรอว์เบอร์รี’ (Strawberry) จะแตกต่างจาก AI การสนทนาอื่น ๆ ตรงที่สามารถ ‘คิดก่อนตอบ’ แทนที่จะตอบคำถามในทันที โดยจะเน้นการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล สำหรับคำถามด้านคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์

และจากข้อมูลที่มีในตอนนี้ ระบุได้ว่า ‘สตรอว์เบอร์รี’ (Strawberry) ยังรองรับเฉพาะข้อความตัวหนังสือ และให้คำตอบเป็นตัวหนังสือเท่านั้น จึงยังไม่ใช่โมเดล AI แบบสื่อผสมผสาน (Multimodal)

อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัดว่าผู้ใช้งานจะได้ใช้ ‘สตรอว์เบอร์รี’ (Strawberry) ในรูปแบบใด และต้องจ่ายเงินเพิ่มหรือไม่ ส่วนทางด้าน OpenAI ก็ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อรายงานข่าวนี้

อีลอน มัสก์หน้าแตก ทุ่มซื้อ ChatGPT ถูกปัดตก อัลท์แมนเจ้าของ Open AI สวนกลับ ขอซื้อทวิตเตอร์แทน

(11 ก.พ. 68) กลุ่มนักลงทุนที่นำโดยอีลอน มัสก์ได้ยื่นข้อเสนอเข้าซื้อองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ควบคุม OpenAI ด้วยมูลค่าสูงถึง 97.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.32 ล้านล้านบาท) โดยมาร์ก โทเบอรอฟฟ์ ทนายความของมัสก์ ยืนยันว่าข้อเสนอดังกล่าวได้ถูกส่งไปยังคณะกรรมการบริหารของ OpenAI แล้ว

แหล่งข่าวระบุว่าหากการซื้อกิจการสำเร็จ ทีมของมัสก์มีแผนจะเปลี่ยนทิศทางของ OpenAI ให้กลับมาเป็นแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์แบบโอเพนซอร์สอีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ มัสก์ได้แสดงความคิดเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ OpenAI ควรกลับไปสู่แนวทางโอเพนซอร์สที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัย

มัสก์เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง OpenAI ร่วมกับแซม อัลท์แมน และทีมงานในปี 2015 ก่อนจะถอนตัวออกจากองค์กรในปี 2018

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2024 ทีมกฎหมายของมัสก์ได้ยื่นคำร้องขอคำสั่งห้ามชั่วคราวเพื่อเปลี่ยนสถานะของ OpenAI จากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร โดยมี xAI บริษัทปัญญาประดิษฐ์ของมัสก์เข้าไปมีบทบาทในการดำเนินการครั้งนี้ ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าหากข้อตกลงการซื้อกิจการเป็นผลสำเร็จ อาจมีการควบรวมระหว่าง OpenAI และ xAI

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้รับการตอบรับที่ดีจากแซม อัลท์แมน ซีอีโอของ OpenAI ซึ่งได้โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์ม X (Twitter) เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ว่า “เราสามารถซื้อทวิตเตอร์ในราคา 9.74 พันล้านดอลลาร์ หากคุณต้องการ” ซึ่งถูกมองว่าเป็นการตอบโต้ข้อเสนอของมัสก์อย่างมีนัยสำคัญ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top