Saturday, 26 April 2025
OceanGate

เรือดำน้ำ Titan สูญหายระหว่างชมซาก ‘ไททานิค’ จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่มีวี่แววของเรือลำดังกล่าว

ปฏิบัติการค้นหา ‘เรือดำน้ำ Titan’ หลังสูญหายระหว่างเที่ยวชมซาก ‘ไททานิค’ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระบุว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่มีวี่แววของเรือลำดังกล่าว

(20 มิ.ย. 66) ทีมค้นหาของสหรัฐฯ และแคนาดากำลังแข่งกับเวลาเพื่อค้นหาเรือดำน้ำของนักท่องเที่ยวที่หายไประหว่างการดำลงไปที่ ‘ซากเรือไททานิค’ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ข้อมูลจาก BBC รายงานว่า ปฏิบัติการกู้ภัยยังคงดำเนินต่อไปในคืนกลางมหาสมุทรแอตแลนติก แต่จนถึงตอนนี้ (13.00 น.) ตามเวลาไทย ยังไม่มีวี่แววของเรือลำดังกล่าว

เรือลำที่สูญหาย คือ ‘เรือดำน้ำ Titan’ ของบริษัทเอกชน OceanGate Expeditions ข้อมูลเฉพาะระบุว่า สามารถดำได้ลึกลงไปถึง 4,000 เมตร มีการออกแบบให้มีอุปกรณ์ยังชีพ (life support) กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินสำหรับ 5 คน นาน 96 ชั่วโมง หรือ 4 วัน เจ้าหน้าที่คาดว่า มีออกซิเจนฉุกเฉินสำหรับคนบนเรืออยู่ที่ 70-96 ชั่วโมง

บริษัททัวร์ OceanGate กล่าวว่ากำลังสำรวจทางเลือกทั้งหมดเพื่อให้ลูกเรือกลับมาอย่างปลอดภัย และหน่วยงานรัฐบาลได้เข้าร่วมปฏิบัติการช่วยเหลือ นี่คือสิ่งที่เรารู้จนถึงตอนนี้ 

>> ความพยายามล่าสุดในการกู้ภัย

ผู้นำปฏิบัติการค้นหาระบุในทวิตเตอร์ว่า ลูกเรือ 5 คน จมอยู่ใต้น้ำในเช้าวันอาทิตย์ และลูกเรือขาดการติดต่อประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที หลังการดำลงของเรือ โดยคาดว่า เรือดำน้ำไททันอยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 900 ไมล์ (1,450 กม.) ในขณะนั้น

พลเรือตรี จอห์น เมาเกอร์ ของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า การดำเนินการค้นหาในพื้นที่ห่างไกลแบบนี้ถือเป็นความท้าทาย

หน่วยยามฝั่งได้ส่งเครื่องบิน C-130 Hercules จำนวน 2 ลำเพื่อค้นหา โดยมีเครื่องบิน C-130 ของแคนาดาและเครื่องบิน P8 ที่ติดตั้งระบบโซนาร์ใต้น้ำเข้าร่วมด้วย

ขณะที่พลเรือตรีเมาเกอร์กล่าวว่า ต้องการความเชี่ยวชาญเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือเรือ หากพบเรือจมอยู่ใต้น้ำ และกำลังยื่นมือขอความช่วยเหลือ รวมทั้งกองทัพเรือสหรัฐฯ

>> มีใครอยู่บนเรือ?
.
ตามรายงานระบุว่า ใน 5 คนที่อยู่บนเรือดำน้ำไททัน มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ได้รับการยืนยัน คือ ฮามิช ฮาร์ดิง นักธุรกิจและนักสำรวจมหาเศรษฐีชาวอังกฤษวัย 59 ปี

นายฮาร์ดิงประกาศครั้งแรกว่าเข้าร่วมทีมเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว และกล่าวว่า ลูกเรือประกอบด้วย นักสำรวจสองสามคน ซึ่งบางคนเคยดำน้ำในเรือ RMS Titanic มาแล้วกว่า 30 ครั้งตั้งแต่ทศวรรษ 1980

เขาเป็นประธานของ Action Aviation ซึ่งเป็นบริษัทระหว่างประเทศ ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการขายและการดำเนินงานในอุตสาหกรรมการบินเชิงธุรกิจ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

>> ลูกเรือชม Titanic ต้องจ่ายเท่าไร?

บริษัท โอเชียนเกต เอ็กส์เพดิชันส์ คิดค่าใช้จ่ายเพื่อชมซากเรือไททานิค ซึ่งอยู่ใต้พื้นผิว 3,800 เมตร (12,500 ฟุต) ที่ด้านล่างของมหาสมุทรแอตแลนติก ทริป 8 วัน คนละ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 8.7 ล้านบาท

มีรายงานว่าการดำลงไปที่ซากเรือทั้งหมดรวมถึงการลงและขึ้นนั้นใช้เวลา 8 ชั่วโมง การเดินทางแต่ละครั้งกินเวลา 8 วัน ตามข้อมูลของ โอเชียนเกต และการดำน้ำแต่ละครั้งมีเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงการศึกษาการสลายตัวของซากเรือด้วย ซึ่งการดำน้ำครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2564 ตามเว็บไซต์ของบริษัท 

>> เรารู้อะไรเกี่ยวกับเรือดำน้ำไททันบ้าง?

เรือไททันเป็นเรือดำน้ำขนาด 5 คน มีน้ำหนัก 10,432 กิโลกรัม สามารถดำลงใต้ทะเลลึกสุด 13,100 ฟุต และมีอากาศสำหรับการดำรงชีพของผู้โดยสาร 5 คน นาน 96 ชั่วโมง

นอกจากการพาไปยังซากเรือไททานิคแล้ว ยังใช้สำหรับการสำรวจและตรวจสอบสถานที่ การวิจัยและการรวบรวมข้อมูล การผลิตภาพยนตร์และสื่อ และการทดสอบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในทะเลลึก

จุดที่ดำลงไปอยู่ใต้ทะเลลึก 3,800 เมตร ใต้พื้นมหาสมุทรแอตแลนติก ห่างจากชายฝั่งรัฐนิวฟันด์แลนด์ของแคนาดา ราว 600 กิโลเมตร เป็นจุดที่เรือไททานิคจมสู่ใต้ทะเล
 

เปิดปูม ‘ไททัน’ มีคนเตือนเรื่องความปลอดภัย แต่สุดท้าย ตัวคนเตือนกลับโดน ‘ไล่ออก’

สื่อต่างประเทศเผยเรือดำน้ำ ‘ไททัน’ ของบริษัท OceanGate ซึ่งสูญหายระหว่างพาผู้บริหารและนักท่องเที่ยวลงไปสำรวจซากเรือไททานิคเมื่อวันอาทิตย์ (18 มิ.ย.) เคยถูกเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนเรื่องความปลอดภัยตั้งแต่ปี 2018 ก่อนที่คนเตือนจะถูก ‘ไล่ออก’

เรือดำน้ำไททันซึ่งมีซีอีโอของ OceanGate เป็นกัปตันผู้ควบคุมเรือ พร้อมผู้โดยสารอีก 4 คน ซึ่งได้แก่ เฮมิช ฮาร์ดิง (Hamish Harding) มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ พอล-อองรี นาร์เจอเลต (Paul-Henri Nargeolet) นักดำน้ำมืออาชีพฝรั่งเศส และ 2 พ่อลูกมหาเศรษฐีปากีสถาน คาดว่าจะยังเหลือออกซิเจนเพียงพอจนถึงเวลา 10.00 GMT วันนี้ (22 มิ.ย.) หรือประมาณ 17.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย

เรือดำน้ำไททันความยาว 6.7 เมตร ของบริษัท OceanGate ซึ่งมีฐานในเมืองเอเวอเร็ตต์ รัฐวอชิงตัน ถูกส่งลงไปใต้ทะเลลึกครั้งแรกเมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2018 โดยดำลงไปถึงระดับความลึก 4,000 เมตร ตามข้อมูลของเว็บไซต์บริษัท และเคยดำลงไปยังซากเรือไททานิคบนพื้นมหาสมุทรแอตแลนติกที่ความลึก 3,800 เมตร ครั้งแรกในปี 2021

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรมหลายคน รวมถึงอดีตพนักงานคนหนึ่งได้เคยแสดงความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของเรือดำน้ำไททัน เนื่องจาก OceanGate เลือกที่จะไม่ขอการรับรองจากหน่วยงานตรวจสอบความปลอดภัยที่ได้รับความเชื่อถือ เช่น American Bureau of Shipping ซึ่งเป็นสมาคมจำแนกประเภทการเดินเรือของอเมริกา หรือบริษัท DNV ของทางยุโรป

วิล โคห์เนน (Will Kohnen) ประธานคณะกรรมการสอบทานด้านยานดำน้ำของ Marine Technology Society ระบุในจดหมายลงวันที่ 27 มี.ค. ปี 2018 ที่ส่งไปถึง สต็อกตัน รัช ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ OceanGate ซึ่งเป็นผู้ควบคุมเรือดำน้ำที่สูญหาย โดยเขาได้ย้ำเตือนความกังวลของคนในแวดวงอุตสาหกรรมเรื่องที่ OceanGate ไม่ได้นำเรือไททันผ่านกระบวนการรับรองด้านการออกแบบ การผลิต และการทดสอบกับหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ

ก่อนหน้านั้น เดวิด ล็อคริดจ์ (David Lochridge) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการทางทะเลของ OceanGate ได้ส่งรายงานด้านวิศวกรรมไปยังผู้บริหารของบริษัท ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการวิจัยและพัฒนายานดำน้ำลำนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของวัสดุที่ใช้ผลิตลำตัวเรือ (hull) และการที่บริษัทไม่ได้ดำเนินการทดสอบอย่างเข้มข้นว่าตัวเรือจะสามารถทนต่อแรงดันมหาศาลใต้ทะเลลึกได้หรือไม่

OceanGate ได้เรียกประชุมในวันถัดมาเพื่อหารือข้อกังวลของ ล็อคริดจ์ ซึ่งในตอนท้ายเจ้าตัวยืนยันว่ารับไม่ได้กับการออกแบบยานดำน้ำของทางบริษัท และจะไม่เซ็นอนุญาตให้ส่งคนลงไปกับเรือลำนี้จนกว่าจะมีการทดสอบเพิ่มเติม

จุดยืนของ ล็อคริดจ์ ทำให้เขาถูก OceanGate ไล่ออกในเวลาต่อมา นอกจากนี้ทางบริษัทยังได้ยื่นฟ้องเอาผิดกับเขาในปีเดียวกัน ฐานนำข้อมูลลับภายในบริษัทไปหารือกับบุคคลภายนอกอย่างน้อย 2 คน

ล็อคริดจ์ ได้ยื่นฟ้องกลับในเดือน ส.ค. ปี 2018 โดยปฏิเสธข้อกล่าวหาของ OceanGate และอ้างว่าบริษัทแห่งนี้พยายามข่มขู่ “ผู้เปิดเผยความจริง (whistleblowers) ไม่ให้ออกมาแฉปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้โดยสารที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่”

ขณะเดียวกัน เดวิด พ็อก (David Pogue) ผู้สื่อข่าว CBS ซึ่งเคยมีประสบการณ์ร่วมทดสอบเรือดำน้ำไททัน ก็ออกมาทวีตข้อความเมื่อวันอังคาร (20) ว่า ยานลำนี้เคย “ขาดการติดต่อ” กับเรือแม่หลายชั่วโมงระหว่างที่ดำลงไปใต้ทะเลเมื่อปี 2022 และสิ่งที่ลูกเรือทำในตอนนั้นก็คือการ ‘ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต’ เพื่อไม่ให้นักข่าวแชร์ข้อผิดพลาดนี้ออกไป

“พวกเขายังสามารถส่งข้อความสั้นๆ ไปยังเรือดำน้ำได้ แต่ไม่รู้ว่ามันอยู่ในตำแหน่งไหน” พ็อก ระบุ

“สถานการณ์ตอนนั้นทั้งเงียบและตึงเครียด พวกเขาตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อไม่ให้เราสามารถทวีตข้อมูลออกไปได้”

อ้างอิง : รอยเตอร์, Insider
 

‘บริษัทเรือดำน้ำ’ ที่พาชมซาก ‘เรือไททานิก’ เปิดมากว่า 14 ปี โกยรายได้ต่อปี 344 ล้านบาท

วันที่ (23 มิ.ย. 66) บริษัทโอเชียนเกต ก่อตั้งเมื่อปี 2552 โดย ‘สต็อกตัน รัช’ อดีตนักบินสู่นักประกอบเรือดำน้ำมือฉมัง เขามีเรือดำน้ำที่สร้างขึ้นเองหลายลำ โดยเขาดูแลด้านการเงินและวิศวกรรมของบริษัท โดย ‘โอเชียนเกต’ ให้บริการเรือดำน้ำแบบมีคนขับสำหรับเพื่ออุตสาหกรรม การวิจัย การสำรวจใต้ทะเลลึก และการบันทึกสื่อและภาพยนตร์ใต้น้ำ บริษัทมีเรือดำน้ำ ให้บริการ 3 รุ่น ได้แก่

1.) TITAN ระดับความลึก 4,000 เมตร (13,123 ฟุต) วัสดุทำจากคาร์บอนไฟเบอร์และไทเทเนียม สามารถเข้าถึงมหาสมุทรเกือบ50% ของโลกได้ ไททันเป็นเรือดำน้ำเพียงลำเดียวในโลกที่สามารถบรรทุกผู้โดยสารถึง 5 คนไปที่ความลึกเหล่านี้ได้

2.) Cyclops 1 ระดับความลึก 500 เมตร (1,640 ฟุต) Cyclops 1 เป็นเรือดำน้ำลำแรกของรุ่น Cyclops เป็นเรือดำน้ำต้นแบบ สู่การสร้างรุ่น Titan ทั้งซอฟต์แวร์เทคโนโลยี และอุปกรณ์ เปิดตัวครั้งแรกในปี 2558 ถูกไปใช้ในภารกิจต่าง ๆ มากมายในมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรแอตแลนติก รวมถึงอ่าวเม็กซิโก

3.) Antipodes ระดับความลึก 305 เมตร (1,000 ฟุต) เดินทางในระดับน้ำที่ตื้น มีโดมอะคริลิกครึ่งวงกลมสองโดมให้มุมมองที่ไม่มีเด่นชัด และเป็นเรือที่เหมาะสำหรับการทำงานเป็นทีมร่วมกัน

ซึ่งการดำเนินธุรกิจของ ‘โอเชียนเกต’ มีดังนี้

ปี 2552-2554 - บริษัทซื้อเรือดำน้ำรุ่น Antipodes, ยานพาหนะหุ่นยนต์สองลำ, เรือสนับสนุนต่าง ๆ และอุปกรณ์สนับสนุนหลายชิ้น  

ปี 2555 - ได้รับเรือดำน้ำลำที่ 2 และสร้างขึ้นมาใหม่เป็น Cyclops 1 เพื่อทำหน้าที่เป็นต้นแบบสำหรับเรือไททัน

กิจการดำเนินไปอย่างราบรื่น และประสบความสำเร็จในการสำรวจมากกว่า 14 ครั้ง จากการดำน้ำมากกว่า 200 ครั้งทั้งในมหาสมุทรแปซิฟิก แอตแลนติก และอ่าวเม็กซิโก 

ปี 2561 - ‘เดวิด ลอชริดจ์’ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการทางทะเลของบริษัท โอเชียนเกต (OceanGate) ถูกไล่ออกจากบริษัทหลังจากทำรายงานด้านความปลอดภัยของเรือดำน้ำไททัน

ปี 2563 - ‘สต็อคตัน’ ซีอีโอ ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า เรือไททันแสดงอาการล้าจากการหมุน (Cyclic Fatigue) ในการทดสอบที่ระดับความลึก 4,000 เมตร ทำให้ขีดความสามารถถูกลดลงเหลือ 3,000 เมตร

ต่อมาทางบริษัทได้ปรับปรุงตัวเรือ และยกเลิกการใช้ตัวถังที่เป็นคาร์บอนไฟเบอร์ไป 

ปี 2565 บริษัทได้เริ่มกลับมาให้บริการเรือดำน้ำครั้งแรก โดย 1 ในบริการเด่น คือ ทัวร์ชมเรือไททานิก

ซึ่งการเดินทางแต่ละครั้งใช้เวลาเดินทาง 8 วัน มีค่าใช้จ่ายต่อหัวราว 250,000 ดอลลาร์ หรือราว 8.7 ล้านบาท

ปัจจุบัน ‘รายได้’ บริษัทโอเชียนเกต อยู่ที่ประมาณ 9.9 ล้านดอลลาร์ต่อปี หรือ 344 ล้านบาท โดยได้รับการระดมทุนมาแล้ว 2 ครั้งทั้งหมด รวม 19.8 ล้านดอลลาร์หรือ 689 ล้านบาท

ทั้งนี้ ถ้าเทียบกับธุรกิจเรือดำน้ำด้วยกัน โอเชียนเกต ไม่ใช่ผู้นำอุตสาหกรรมกลุ่มในแง่รายได้ ข้อมูลจาก growjo.com จัดอันดับดังนี้

อันดับ 1 SAFE Boats International รายได้ 51.9 ล้านดอลาร์/ปี (1,818 ล้านบาท)
อันดับ 2 Oil Companies International Marine Forum (OCIMF) 26.2 ล้านดอลลาร์/ปี (917 ล้านบาท)
อันดับ 3 Intermarine 17.4 ล้านดอลลาร์/ปี ( 609 ล้านบาท)
อันดับ 4 OceanGate 9.9 ล้านดอลลาร์/ปี (344 ล้านบาท)
อันดับ 5 PYI 5.4 ล้านดอลลาร์/ปี (189 ล้านบาท)
 

‘ไททานิก’ บรรทุกโลงศพมัมมี่เจ้าหญิงอียิปต์ เป็นเหตุให้เรืออับปาง จมสู่มหาสมุทรแอตแลนติก

วันที่ (23 มิ.ย. 66) จากกรณีข่าวโด่งดังทั่วโลกกับเรือดำน้ำที่มีชื่อว่า ‘ไททัน’ ของ ‘บริษัทโอเชียนเกต’ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นเรือนำเที่ยวพาชมซากเรือสำราญแห่งตำนานอย่าง ‘ไททานิก’ ที่ต้องใช้เงินมหาศาลถึง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8.7 ล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 21 มิ.ย. 23) เพื่อแลกกับ 1 ที่นั่งที่แสนจะคับแคบและอึดอัด (เรือดำน้ำไททัน มีความยาวประมาณ 6.4 เมตร) ได้ขาดการติดต่อกับเรือพี่เลี้ยงที่อยู่บนผิวน้ำ ซึ่งลอยลำอยู่ห่างจากอ่าว Cape Cod รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ไปทางตะวันออกประมาณ 900 ไมล์ (1,448 กิโลเมตร) หลังพาคณะทัวร์รวม 5 คน ดำดิ่งลงสู่ใต้น้ำได้ประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที! ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 18 มิ.ย. 23

ล่าสุด นิปปอน นวนันท์ บำรุงพฤกษ์ ผู้ประกาศคนดัง ได้มาออกรายการแฉ พร้อมเล่าเรื่องราวอาถรรพ์ของ ‘ไททานิก’ โดยนิปปอน เล่าว่าในสมัยนั้น เรือไททานิก ถือว่าเป็นเรือที่ใหญ่มากคนมีเงินเท่านั้นถึงจะได้ขึ้น โดยเรือไททานิกล่มวันที่ 15 เมษายน ปี 1912 ออกจากอังกฤษเพื่อไปนิวยอร์ก ออกไปได้แค่ 3 วัน เรือล่มชนภูเขาน้ำแข็ง หายไปกว่า 70 ปี กว่าคนจะหาเจอซากใต้มหาสมุทรแอตแลนติก

ซึ่งก็ยังไม่มีใครเคยเห็นภาพเรือไททานิก ที่จมอยู่ข้างใต้ด้วย จนสุดท้ายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีบริษัทที่ทำแผนที่ใต้ทะเลลงทุนไปถ่ายสแกนภาพ 3 มิติ สรุปแล้วเรือไททานิกนั้นจมในสภาพหักครึ่งอยู่ห่างกัน 800 เมตร โดยคนสมัยนั้นเชื่อว่าอาจเป็นอาถรรถพ์เล่าลือกันว่าในเรือไททานิกมีโลงศพมัมมี่ ของเจ้าหญิงอียิปต์อยู่บนนั้น

ในสมัยหนึ่งมีคนเชื่อว่าใครที่ได้ครอบครองมัมมี่อียิปต์จะหายสาปสูญไปทันที ก่อนหน้านั้นมีเศรษฐอียิปต์ได้ไปครอบครองก็หายตัวไปในทะเลทรายเฉย ๆ จนกระทั่งมีเศรษฐีซื้อไป ก็ทำให้บ้านไฟไหม้เจอแต่เคราะห์ร้าย เศรษฐีจึงให้มัมมี่กับพิพิธภัณฑ์อังกฤษ จนกระทั่งปี 1912 มีนักโบราณคดีสหรัฐฯ คนหนึ่งซึ่งไม่เชื่ออาถรรพ์ต้องการจะให้โลงมัมมี่กลับมาอยู่ที่นิวยอร์กก็เลยใส่มาบนเรือไททานิก

นอกจากนี้มดดำได้กล่าวเสริมอีกหนึ่งอาถรรพ์ที่เกิดขึ้นปี 2533 เป็นเรือประมงของประเทศนอร์เวย์ บังเอิญไปเจอผู้หญิงคนหนึ่งว่ายน้ำมาขอความช่วยเหลือ พอช่วยขึ้นมาหญิงคนนั้นบอกว่าตนอายุ 29 มาจากเรือไทนานิก ซึ่งปีที่เรือไททานิคล่มอยู่ในปี 2455 ห่างกัน 100 กว่าปี ซึ่งสิ่งที่แปลกประหลาดหลังจากพาหญิงสาวรายนี้ไปรักษาโรงพยาบาลได้ประมาณ 6 เดือน เธอก็แก่ลงอย่างรวดเร็วและเสียชีวิตไปอย่างปริศนา

ล่าสุด (23 มิ.ย. 66) บีบีซีรายงานความคืบหน้าปฏิบัติการค้นหาเรือดำน้ำไททันของบริษัทโอเชียนเกต เอ็กซ์พิดิชั่น ที่หายสาบสูญไปพร้อมลูกเรือ 5 คน ระหว่างดำดิ่งลงไปทัวร์ซากเรือไททานิก ว่าพบเศษชิ้นส่วนปริศนากระจายเต็มพื้นทะเล โดยมีชิ้นส่วนของเรือไททันรวมอยู่

การเปิดเผยล่าสุดมาจากนายเดวิด เมิร์นส์ เพื่อนของหนึ่งในผู้โดยสารบนเรือดำน้ำไททัน กล่าวว่า ชิ้นส่วนที่พบนั้นมีส่วนของขาตั้งและฝาครอบด้านหลังของเรือรวมอยู่ด้วย

ความคืบหน้านี้ต่อเนื่องจากการเปิดเผยจากหน่วยบัญชาการกลางภารกิจค้นหาโดยหน่วยยามฝั่งของสหรัฐอเมริกา ว่าผู้เชี่ยวชาญกำลังเร่งวิเคราะห์เศษชิ้นส่วนที่พบอย่างละเอียด และเตรียมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในเวลา 02.00 น. ของวันที่ 23 มิ.ย. ตามเวลาประเทศไทย

‘หน่วยยามชายฝั่งสหรัฐฯ’ กู้ซาก ‘เรือดำน้ำไททัน’ ขึ้นบกได้แล้ว เผย พบชิ้นส่วนมนุษย์ในซากเรือ เร่งตรวจสอบหาข้อเท็จจริง

วันที่ (29 มิ.ย. 66) หน่วยยามชายฝั่งของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า สามารถกู้คืนชิ้นส่วนของเรือดำน้ำไททัน ที่ประสบอุบัติเหตุระเบิดจากแรงบีบอัดใต้ท้องทะเลลึก 4 กิโลเมตร ขณะลงไปชมซากเรือไททานิกเมื่อสัปดาห์ก่อนขึ้นมาได้แล้ว และพบชิ้นส่วนที่คาดว่าจะเป็น ‘ร่างกายมนุษย์’ ในซากปรักหักพังดังกล่าว

หน่วยยามฝั่งระบุว่า ซากเรือดำน้ำไททันที่ถูกนำขึ้นมาบนบกในวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผานมา ตามเวลาท้องถิ่น จะถูกนำกลับมายังสหรัฐฯ ต่อไป ชิ้นส่วนเหล่านี้จะกลายเป็นหลักฐานสำคัญในการสืบสวนว่าเรือดำน้ำดังกล่าวเกิดระเบิดขึ้นจากสาเหตุใด

ในแถลงการณ์ที่ออกเมื่อวันพุธที่ผ่านมา หน่วยยามฝั่งของสหรัฐฯ ระบุว่า สามารถพบซากชิ้นส่วนและหลักฐานจากพื้นทะเล ซึ่งรวมถึงสิ่งที่ถูกระบุว่าน่าจะเป็น ‘ชิ้นส่วนร่างกายมนุษย์’

‘กัปตันเจสัน นอยบาวเออร์’ ผู้บัญชาการหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ กล่าวขอบคุณ การประสานงานและความร่วมมือจากนานาประเทศ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ในการให้การสนับสนุนการกู้คืนและรักษาหลักฐานที่สำคัญนี้ ที่จมอยู่ในระยะทางและความลึกอย่างมากนอกชายฝั่ง

“หลักฐานดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ตรวจสอบจากศาลระหว่างประเทศหลายแห่ง ได้รับข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับสาเหตุของโศกนาฏกรรมครั้งนี้ ยังมีงานอีกมากที่ต้องทำ เพื่อให้เรามีความเข้าใจถึงปัจจัยที่นำไปสู่การสูญเสียของเรือดำน้ำไททัน และช่วยให้แน่ใจว่าโศกนาฏกรรมที่คล้ายกันจะไม่เกิดขึ้นอีก” นอยบาวเออร์ กล่าว

ทั้งนี้ ซากชิ้นส่วนของเรือดำน้ำไททันที่บิดเบี้ยวผิดรูปถูกนำขึ้นฝั่งยังท่าเรือเซนต์จอห์น ในรัฐนิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์ของแคนาดา จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขปริศนาการเสียชีวิตของผู้โดยสารทั้ง 5 คน บนเรือดำน้ำดังกล่าวต่อไป

 

‘เรือดำน้ำไททัน’ ระเบิด โศกนาฏกรรมใต้พื้นมหาสมุทรที่โลกต้องจดจำ

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2023 ได้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมที่สร้างความสะเทือนใจให้คนทั้งโลก ภายหลังจาก ‘เรือดำน้ำไททัน’ (Titan) หรือ เรือดำน้ำนำเที่ยวขนาดเล็ก เพื่อพาลูกเรือทัวร์ชมซากของ ‘เรือไททานิก’ ขาดการติดต่อและสูญหายไป หลังจากที่เรือดำน้ำไททันดำลงไปได้ไม่นาน จนนำไปสู่ปฏิบัติการค้นหาครั้งใหญ่ และไม่กี่วันต่อมา หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ก็ได้ออกมาแถลงข่าวยืนยันว่า พบซากชิ้นส่วนของเรือไททัน โดยคาดว่าเกิดการระเบิด เนื่องจากแรงดันน้ำมหาศาลใต้มหาสมุทร

สำหรับ ‘เรือดำน้ำไททัน’ (Titan) ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้บริการทัวร์ชมซาก ‘เรือไททานิก’ ของ บริษัท โอเชียนเกต (Oceangate) โครงสร้างมีลักษณะคล้ายท่อเหล็กขนาดใหญ่ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์และไทเทเนียม ระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 4 ตัว Innerspace 1002 Electric Thrusters รองรับภารกิจต่อเนื่อง 96 ชั่วโมง พร้อมดำน้ำลึกสูงสุด 4,000 เมตร

ซึ่งราคาค่าตั๋วเดินทางของลูกค้าที่ต้องการทัวร์ชมซากเรือไททานิก อยู่ที่ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 8.7 ล้านบาท โดยใช้เวลาเดินทางไป-กลับ ทั้งหมด 8 วัน โดย ‘เรือวิจัยโพลาร์พรินซ์’ (Polar Prince) จะขนเรือดำน้ำไททันไปยังกลางมหาสมุทรแอตแลนติก เริ่มต้นจากเมืองเซนต์จอห์น รัฐนิวฟาวด์แลนด์ แคนาดา เดินทางระยะทาง 700 กิโลเมตรไปยังซากเรือไททานิก โดยออกเดินทางตั้งแต่วันศุกร์ที่ 16 มิ.ย. 2023 พร้อมผู้โดยสาร 5 คน (รวมพลขับ) ได้แก่

-ฮามิช ฮาร์ดิง นักธุรกิจและนักสำรวจชาวอังกฤษวัย 58 ปี
-ชาห์ซาดา ดาวู้ด นักธุรกิจชาวอังกฤษวัย 48 ปี
-สุเลมาน ดาวู้ด ลูกชายของชาห์ซาดา วัย 19 ปี
-พอล-อองรี นาร์โจเลต นักสำรวจชาวฝรั่งเศสวัย 77 ปี ฉายา ‘Mr.Titanic’
-สต็อกตัน รัช ผู้บริหารของโอเชียนเกต วัย 61 ปี

แต่หลังจากที่เรือดำน้ำไททันดำลงไปได้เพียง 90 นาที โดยใช้ความเร็ว 5.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อลงสู่ความลึก 3,800 เมตร ไททันได้ขาดการติดต่อกับเรือแม่ ทั้งที่โดยปกติแล้วไททันจะต้องติดต่อกับเรือแม่ซึ่งเป็นสถานีควบคุมบนผิวน้ำทุก 15 นาที และไททันก็ไม่ได้กลับขึ้นสู่ผิวน้ำตามเวลาที่กำหนดไว้คือ 16.30 น. และนั่นคือจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ ‘เรือดำน้ำสาบสูญใต้ทะเล’ โดยหน่วยเรือยามฝั่งของสหรัฐฯ ได้รับแจ้งเหตุ ก่อนที่ปฏิบัติการค้นหากู้ภัยจะเริ่มต้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่บัดนั้น

แต่สุดท้ายปฏิบัติการค้นหากู้ภัยเรือดำน้ำไททันประสบความล้มเหลว โดยมีรายงานว่า เรือค้นหาได้ยินเสียงระเบิดจากใต้น้ำ ซึ่งคาดว่าเกิดจากการที่เรือไททันถูกบีบอัดด้วยแรงกดของน้ำทะเล เนื่องจากเรือลงไปยังความลึกที่เกินกว่าความแข็งแรงของวัสดุที่ใช้ทำตัวเรือจะทนทานได้ ต่อมา ได้มีการส่งยานสำรวจไร้คนขับลงไปตรวจสอบ สิ่งที่พบก็คือ ‘เศษซากชิ้นส่วนของเรือดำน้ำไททัน’ อันเป็นหลักฐานที่ยืนยันอย่างชัดเจนว่า ลูกเรือทั้ง 5 คนนั้นได้เสียชีวิตแล้ว

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความไม่สมบูรณ์ของเรือดำน้ำไททันก็ถูกเปิดโปงออกมาเป็นระยะ ๆ เช่น วัสดุที่ใช้ทำตัวเรือหรือเปลือกเรือ ซึ่งมีความสำคัญที่สุด เพราะจะต้องรับแรงกดของน้ำเมื่อลงสู่ความลึก เป็นวัสดุที่ไม่ได้ผ่านการทดสอบอย่างจริงจัง

ข้อบกพร่องของเรือดำน้ำไททันที่เคยถูกตรวจพบและได้รับการทักท้วง แต่ไม่ถูกแก้ไขใด ๆ ได้กลายเป็นตราบาปของโศกนาฏกรรม ตอกย้ำให้เห็นถึงความดื้อดึงของผู้มีอำนาจ เห็นแก่ผลประโยชน์ที่จะได้รับมากกว่าที่จะยึดมั่นในมาตรฐานวิชาชีพ จนนำไปสู่การสูญเสียครั้งใหญ่ที่ไม่มีอะไรสามารถย้อนคืนกลับมาได้อีก

แม้เศษชิ้นส่วนของเรือดำน้ำไททันจะถูกกู้ขึ้นมาได้แล้วบางส่วน แต่จิตวิญญาณของเรือไททัน และลูกเรือทั้ง 5 คน ได้ดำดิ่งลงสู่ห้วงมหาสมุทรแอตแลนติก และคงจะอยู่เคียงข้างซากเรือไททานิกตลอดไป

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top