(27 ม.ค. 68) เว็บไซต์ Fahad X ได้เผยแพร่ไฟล์เอกสารพาวเวอร์พอยต์ เมื่อปี 2007 ที่เป็นความลับของบริษัท Nokia โดยข้อมูลดังกล่าวถูกเปิดเผยจากเอกสารภายในของ Nokia ซึ่งจัดเก็บอยู่ในโครงการ Nokia Design Archive ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัย Aalto ประเทศฟินแลนด์
ข้อมูลในไฟล์ดังกล่าวเป็นการหารือภายในของพนักงาน Nokia ที่มองการเปิดตัว iPhone 2G ที่เปิดตัวเมื่อปี 2007 โดยไฟล์ดังกล่าวเป็นการนำเสนอของพนักงาน Nokia เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ปี 2007 ในรูปแบบของสไลด์ โดยพนักงาน Nokia ทั้งหมด 9 คน นำเสนอผู้บริหารระดับสูงว่า “iPhone” คือภัยคุกคามของ Nokia
สไลด์ดังกล่าวมีทั้งหมด 22 หน้า โดยเนื้อหาในสไลด์ชี้ว่า “iPhone” ของ Apple ซึ่งเปิดตัวในปีเดียวกันนั้น เป็นภัยคุกคามที่อาจส่งผลกระทบต่อ Nokia
หัวข้อสไลด์เริ่มต้นด้วยข้อความว่า “Apple เพิ่งเปิดตัว iPhone” โดยยืนยันว่า Apple สามารถใช้ชื่อ "iPhone" ได้หลังการเจรจากับ Cisco ซึ่งก่อนหน้านี้มีข้อพิพาทเรื่องสิทธิในชื่อดังกล่าว
ในขณะนั้น Nokia ครองส่วนแบ่งตลาดมือถือโลกกว่า 50% และมีความมั่นใจในว่ายังคงสามารถรั้งตำแหน่งผู้นำตลาดได้ จนกระทั่ง 'สตีฟ จ็อบส์' ผู้ร่วมก่อตั้ง Apple ได้ประกาศเป้าหมายไว้ในงานเปิดตัว iPhone ว่า Apple ขอเพียง 1% ของตลาดมือถือ หรือยอดขาย 10 ล้านเครื่องในปี 2008 เท่านั้น แม้ผู้บริหาร Nokia จะยังไม่เห็นถึงความร้ายแรงของ iPhone ในทันที แต่ทีมงาน Nokia กลับมองเห็นจุดเด่นหลายประการที่อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่
จุดเด่นของ iPhone ที่พนักงาน Nokia ในเวลานั้น นำเสอนต่อผู้บริหารมีหลายประเด็น อาทิ UI แบบจอสัมผัส ที่ไม่มีคีย์บอร์ดหรือปุ่มกดตัวเลข ซึ่งเป็นจุดเด่นใหม่ที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ของ Nokia
การเจาะตลาดไฮเอนด์ ที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน ทำให้ iPhone กลายเป็นสินค้า "ที่ต้องมี" และอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลิตภัณฑ์ตระกูล N-Series ของ Nokia และภาพลักษณ์ที่น่าดึงดูด ซึ่งช่วยให้ iPhone สร้างความนิยมในกลุ่มผู้ใช้งานอย่างรวดเร็ว
เอกสารนี้ยังพูดถึงฟีเจอร์เด่นของ iPhone เช่น การใช้งานเบราว์เซอร์ที่ง่ายขึ้น, ฟังก์ชันการสไลด์เพื่อปลดล็อกหน้าจอ, แอปพลิเคชันรูปภาพที่ออกแบบมาให้ใช้งานสะดวก และความสามารถในการเชื่อมต่อกับ iPod เพื่อฟังเพลงทุกที่ทุกเวลา
แม้ Nokia จะมีมุมมองที่รอบคอบต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาด แต่ท้ายที่สุด iPhone กลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในอุตสาหกรรมสมาร์ตโฟน ซึ่ง Nokia เองไม่สามารถปรับตัวได้ทัน
เอกสารนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงบทเรียนสำคัญในประวัติศาสตร์เทคโนโลยี และเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการมองเห็นโอกาสและความท้าทาย แต่ยังขาดการลงมือปรับตัวอย่างทันท่วงที