Saturday, 3 May 2025
Nike

‘ไนกี้’ ยื่นฟ้อง 2 คู่แข่ง ‘นิวบาลานซ์-สเก็ตเชอร์ส’ เหตุละเมิดสิทธิบัตรผลิตรองเท้าแบบ Flyknit

เมื่อวานนี้ (7 พ.ย.66) สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า ไนกี้ (Nike) บริษัทสินค้าเสื้อผ้าและรองเท้ากีฬาชื่อดังยื่นฟ้องสองแบรนด์รองเท้าดัง นิวบาลานซ์ (New Balance) และ สเก็ตเชอร์ส (Skechers) โดยกล่าวหาว่า นิวบาลานซ์ และสเก็ตเชอร์ ละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยีการผลิตรองเท้าของตน ในส่วนการผลิตส่วนบน (upper) ของรองเท้าสนีกเกอร์ 

การฟ้องร้องนี้ของไนกี้ระบุว่า รองเท้านิวบาลานซ์และรองเท้าสเก็ตเชอร์สหลายรุ่นได้ใช้เทคโนโลยี ‘ฟลายนิต’ (Flyknit) ของไนกี้ซึ่งได้รับการจดสิทธิบัตรสำหรับการผลิตทั้งรองเท้าวิ่ง รองเท้าฟุตบอล และรองเท้าบาสเก็ตบอล

กรณีการฟ้องร้องนิวบาลานซ์ ไนกี้ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐบาลกลางในรัฐแมสซาชูเซตส์โดยกล่าวหาว่า รองเท้าจาก เฟรช โฟม (Fresh Foam), ฟูเอลเซล (FuelCell) และไลน์การผลิตอื่น ๆ ของนิวบาลานซ์ละเมิดสิทธิ์ในสิทธิบัตรของไนกี้

ส่วนกรณีสเก็ตเชอร์ส ไนกี้ได้ฟ้องร้องต่อศาลในลอสแอนเจลิสโดยกล่าวหาว่ารองเท้าสเก็ตเชอร์ส รุ่น อัลตรา เฟล็กซ์ (Ultra Flex) และ ไกลด์ สเต็ป (Glide Step) ละเมิดสิทธิบัตรของตน

ไนกี้ได้ร้องขอให้ศาลเรียกค่าเสียหายโดยไม่ระบุจำนวนเงิน และขอให้ศาลออกคำสั่งห้ามนิวบาลานซ์และสเก็ตเชอร์สละเมิดสิทธิบัตรอย่างถาวร

ฝั่งนิวบาลานซ์กล่าวในแถลงการณ์ว่า “เคารพในสิทธิ์แห่งทรัพย์สินทางปัญญาของคู่แข่งอย่างเต็มที่ แต่ไนกี้ไม่ได้เป็นเจ้าของสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการออกแบบและผลิตรองเท้าโดยวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมที่ใช้ในอุตสาหกรรมนี้มานานหลายทศวรรษ”

ส่วน ไนกี้และสเก็ตเชอร์สยังไม่ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็นของรอยเตอร์ที่สอบถามไปในวันที่ 6 พฤศจิกายน

ก่อนหน้านี้ ไนกี้ได้ฟ้องร้องอาดิดาส (Adidas) พูม่า (Puma) และลูลูเลมอน (Lululemon) ในข้อหาละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยีในตระกูลฟลายนิตเช่นกัน ซึ่งกรณีอาดิดาสและพูม่าได้ยุติคดีความแล้ว ส่วนคดีของลูลูเลมอนยังคงดำเนินอยู่ตามขั้นตอนของกฎหมาย 

ทั้งนี้ สำหรับเทคโนโลยีฟลายนิต ซึ่งไนกี้เรียกว่า ‘Nike Flyknit’ มีคำอธิบายในเว็บไซต์ของไนกี้ ประเทศไทยว่า Nike Flyknit คือ วัสดุที่ประกอบด้วยเกลียวเส้นด้ายที่แข็งแรงแต่มีน้ำหนักเบาที่ทอออกมาเป็นส่วนบนแบบชิ้นเดียว ซึ่งช่วยให้เท้าของนักกีฬากระชับเข้ากับพื้นรองเท้า 

“รูปแบบการถักที่ต่างกันของแต่ละประเภทนั้นนำมาใช้ร่วมกันในส่วนบน Flyknit ชิ้นเดียว บริเวณหนึ่งจะมีการถักทอที่แน่นกว่าเพื่อให้มีการรองรับเท้ามากขึ้น ในส่วนอื่น ๆ ก็จะดีไซน์ให้ยืดหยุ่นมากขึ้นหรือระบายอากาศได้ดีขึ้น โดยอาศัยข้อมูลจากการศึกษาเท้ามากกว่า 40 ปีจาก Nike เป็นตัวระบุว่าควรจัดวางแต่ละรูปแบบไว้ตำแหน่งใด” 

ไนกี้บอกอีกว่า ได้แรงบันดาลใจในการพัฒนาเทคโนโลยี Nike Flyknit จากความคิดเห็นของบรรดานักวิ่ง โดยออกแบบผ้ามาเป็นพิเศษให้พอดีราวกับถุงเท้า พร้อมการรองรับและความทนทานสำหรับการเล่นกีฬา

ครั้งหนึ่ง ‘โรเจอร์ เฟเดอเรอร์’ ตำนานนักเทนนิส เคยปฏิเสธดีล Nike ก่อนกลายเป็นหุ้นส่วน On Running สร้างทรัพย์สินระดับพันล้าน

(23 เม.ย. 68) ผศ.ดร.หฤษฎ์ อินน์ทะกนก อาจารย์ผู้สอนด้านกลยุทธ์ธุรกิจ วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Dr Harit แชร์เรื่องราวของ สุดยอดนักหวดลูกสักหลาดระดับตำนานชาวสวิสฯ อย่าง โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ที่ครั้งหนึ่งเคยตัดสินใจปฏิเสธสัญญากับทาง Nike ซึ่งเป็นบริษัทรองเท้ากีฬาและเครื่องแต่งกายสัญชาติอเมริกันชื่อดังของโลก

ในปี 2018, Nike เสนอการต่อสัญญาใหม่ให้ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ในมูลค่าเพียง 5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เป็นข้อเสนอที่ต่ำกว่าความคาดหวังของเขามาก เฟเดอเรอร์ จึงตัดสินไม่ต่อสัญญา

หลังจากนั้น Uniqlo ก็เข้ามาเซ็นสัญญากับเขา ด้วยมูลค่าสูงถึง 300 ล้านเหรียญสหรัฐ (เฉพาะเรื่องเสื้อผ้า) แต่ 'สิทธิ์ในการสวมรองเท้า' ยังคงเปิดอยู่

และนั่นเอง คือช่วงเวลาที่แบรนด์สัญชาติสวิสเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า On Running ตัดสินใจก้าวเข้ามา

ในตอนนั้น On Running เป็นบริษัทที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังห่างไกลจากขนาดของ Nike หรือ Adidas แทนที่จะให้เฟเดอเรอร์เป็นแค่พรีเซนเตอร์ พวกเขาเสนอสิ่งที่ใหญ่กว่านั้น คือการเป็นเจ้าของร่วม

เฟเดอเรอร์ ตัดสินใจลงทุนใน On Running กลายเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น และยังทำงานร่วมกับทีมพัฒนาสินค้าอย่างใกล้ชิด รวมถึงการเปิดตัวไลน์รองเท้าของตัวเอง ที่ชื่อว่า 
'The Roger'

ผลลัพธ์คือ On Running เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2021 ด้วยมูลค่ากว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หุ้นที่เฟเดอเรอร์ถือไว้ตั้งแต่ต้น ทำให้เขามีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอีกหลายร้อยล้านเหรียญ มากกว่าที่เขาจะได้จากการเซ็นสัญญาพรีเซนเตอร์ทั่วไปเสียอีก

บทเรียน: การเดินออกจาก 'เงินก้อนสั้น ๆ' ในวันนี้ อาจเป็นการเปิดประตูสู่ 'ความมั่งคั่งระยะยาว' ในอนาคต

โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ไม่ได้เป็นแค่คนใส่รองเท้าแบรนด์นี้ แต่เขา กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างมันขึ้นมา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top