Saturday, 26 April 2025
NationalGeographic

‘เจมส์ คาเมรอน’ เฉลยปริศนา ที่คนทั้งโลกสงสัยมา 25 ปี ภายใต้การทดลอง ที่ทำให้ 'แจ็ค' ต้องตายแบบไม่คาใจ

ผ่านมาถึง 25 ปีแล้ว สำหรับภาพยนตร์เรื่อง ‘ไททานิค’ สุดยอดผลงานอีกเรื่องหนึ่งที่คนทั้งโลกไม่เคยลืม จาก เจมส์ คาเมรอน ผู้กำกับชื่อดัง 

เชื่อว่าหลายคนที่มีโอกาสได้ดูหรือได้ย้อนกลับไปดูคงจะขัดใจไม่น้อยกับฉากเหตุการณ์ท้ายเรื่องที่ พระเอก แจ็ค ดอว์สัน (ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ) กับนางเอก โรส เดวิท บูเคเตอร์ (เคต วินสเล็ต) ลอยคออยู่ในทะเล แล้วก็เจอประตูไม้บานหนึ่ง โดย แจ็ค ดัน โรส ขึ้นไปก่อน เมื่อ โรส นอนบนประตูสำเร็จ แจ็ค ก็พยายามปีนตามขึ้นไป แต่ประตูเริ่มเอนเอียงและกระดกจน โรส เกือบตก แจ็ค เลยยอมอยู่ในน้ำ แต่ก็พยายามเกาะให้ตัวเหนือน้ำมากที่สุด แต่น่าเสียดายที่ไม่นานเขาก็แข็งตายต่อหน้าคนรัก

ฉากนี้ นำมาสูประเด็นถกเถียงจากแฟนภาพยนตร์ทั่วโลกที่ตั้งข้อสังเกตกันว่า หากช่วยกันให้ขึ้นไปอยู่บนบานประตูพร้อมกันทั้งสองคน ทั้ง แจ็ค และ โรส  อาจจะมีชีวิตรอดด้วยกันทั้งคู่ก็ได้

เชื่อว่า 'เจมส์ คาเมรอน' ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘ไททานิค’ ก็คงจะรับรู้ถึงสิ่งที่แฟนภาพยนตร์คาใจ

เพราะในที่สุดเขาและทีมงานก็ได้โพสต์คลิปจำลองเหตุการณ์ของหนังออกมาเป็นวิดีโอตัวอย่างสั้น ๆ ความยาว 58 วินาที เพื่ออธิบายถึงโอกาสในการรอดชีวิตของ แจ็ค ที่ถูกหลายคนตั้งคำถาม ซึ่งโดยสรุปก็คือ เจมส์ คาเมรอน พยายามอธิบายว่า ยังไง แจ็ค ดอว์สัน ก็ไม่มีทางรอดชีวิตจากสถานการณ์ดังกล่าวได้ (ตามบท)

โดยในห้องส่งของช่อง National Geographic ที่ถ่ายทำถ่ายทอดเหตุการณ์จำลองโดยให้นักแสดงชายหญิงสองคนแต่งตัวคล้ายกับ แจ็ค – โรส พวกเขานั้นมีส่วนสูงและน้ำหนักใกล้เคียงตัวละคร นักแสดงสองคนถูกจับแช่ในสระน้ำที่มีอุณหภูมิเย็นเฉียบเท่าๆ กับทะเลในภาพยนตร์เรื่องไททานิค ซึ่งสิ่งที่เห็นคือ นักแสดงชายหญิงสองคนมีอาการหนาวสั่น และแทบไม่มีเรี่ยวแรง

เจมส์ คาเมรอน กล่าวอีกด้วยว่า ก่อนที่จะลงในมหาสมุทร แจ็ค เหนื่อยกับทั้งการวิ่งและการต่อสู้บนเรือมาประมาณหนึ่งแล้ว การลงไปในน้ำทะเลที่มีความหนาวระดับติดลบ แล้วต้องว่ายน้ำที่รอบข้างเต็มไปด้วยนํ้าแข็ง ถือเป็นเรื่องเสี่ยงตายมาก ส่วน โรส มีโอกาสรอดมากกว่าเพราะเธอมีเสื้อชูชีพ ไม่ต้องเปลืองแรงว่ายนํ้า

นอกจากนี้ยังมีการจำลองว่า ถ้า แจ็ค กับ โรส ขึ้นไปอยู่บนบานประตูพร้อมกันจะเป็นอย่างไร ซึ่งผลก็คือประตูรับนํ้าหนักไม่ไหว และค่อยๆ จมลง ข้อถกเถียงเรื่อง ประตูใหญ่พอสำหรับสองคน จึงถูกปัดตกไปทันที เพราะถึงแม้ประตูจะกว้างก็จริง แต่รับน้ำหนักมากไม่ได้

ยิ่งไปกว่านั้น การสลับกันขึ้นไปอยู่บนบานประตู ก็เสี่ยงที่จะทำให้ประตูพลิก หรือทั้งคู่อาจจะหมดแรงในการปีนขึ้นบานประตูไป เนื่องจากในคลิปดังกล่าว แค่นักแสดงชายช่วยนักแสดงหญิงให้ขึ้นไปอยู่บนบานประตูก็ยากเย็นและมีความทุลักทุเลพอสมควร อีกทั้งการอยู่ในอุณหภูมิที่เย็นแล้วสลับไปอยู่ในน้ำที่เย็นเฉียบ (-2.2 องศาเซลเซียส) อาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทันจนช็อกได้

ดังนั้นเมื่อ โรส ขึ้นไปนอนบนบานประตูได้ และแจ็คเกาะประตูไว้ คือวิธีการที่ดีที่สุดแล้วในการรักษาชีวิต มันเป็นช่วงเวลาที่ทั้งสองคนได้ใช้พลังงานไปหมดแล้ว แทบจะไม่สามารถขยับตัวได้อีก ท่ามกลางสภาพอากาศเย็นเฉียบ ซึ่งอันที่จริงแล้ว การรอดชีวิตของ โรส ก็นับเป็นเรื่องปาฏิหาริย์อย่างมากด้วย

แน่นอนว่าเมื่อคลิปนี้ถูกเผยแพร่ออกมา ก็มีกระแสตอบรับที่ดีมาก ตัววิดีโอมียอดการรับชมมากกว่า 10 ล้านวิว และมีผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก 

แฟนๆ THE STATES TIMES มีความคิดเห็นกันอย่างไรกันบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้ และหากตัดประเด็นฉากจบทิ้งไป พวกคุณชอบฉากไหนในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นพิเศษ หรือประโยคเด็ดในเรื่องที่คุณยังประทับใจไม่ลืม สามารถเข้ามาพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ที่ช่องแสดงความคิดเห็นข้างล่างนี้

แต่ส่วนตัวแล้ว ชื่นชอบช่วงนี้ “I figure life’s giff and I don’t intend on wasting it.”

“ชีวิตก็คือ ของขวัญ ผมไม่ต้องการเสียมันไปเปล่า ๆ”

(แจ็คกล่าวกับบรรดาผู้สูงศักดิ์ ในงานเลี้ยงที่ชั้นหนึ่งของเรือไททานิค)

National Geographic ชี้!! ความเป็นไปได้ 'เครื่องวาร์ป' การไปไหนก็ได้ที่ไม่มีแค่ในนิยาย แต่อาจสร้างมันได้จริง

(9 พ.ค.67) National Geographic เผยบทความในหัวข้อ 'เครื่องวาร์ป ไปไหนก็ได้ จะไม่มีแค่ในนิยาย เราอาจสร้างมันได้จริง!' ระบุว่า…

ด้วยการสาธิตแบบจำลองที่ไม่เหมือนใคร เราได้แสดงให้เห็นว่าการขับเคลื่อนด้วย ‘เครื่องวาร์ป’ อาจไม่จำเป็นต้องถูกผลักไสให้เป็นเพียงแค่ในนิยายวิทยาศาสตร์ งานวิจัยใหม่ได้ให้เบาะแสบางประการว่า มนุษย์อาจสร้างเทคโนโลยี วาร์ป นี้ให้เป็นจริงได้ในอนาคต

“ทำไมเรายังไม่วาร์ป” กัปตันเคิร์กพูดอย่างร้อนใจกับ คุณซูลู ต้นหนของยานอวกาศเอนเตอร์ไพรซ์ เพื่อเดินทางด้วยความเร็วเหนือแสง ในภาพยนตร์เรื่อง สตาร์เทร็ก (Star Trek) ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิทยาศาสตร์และนักฟิสิกส์หลายคนพยายามสร้างเทคโนโลยี วาร์ป นี้ให้เป็นจริงได้

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ในปี 1994 นักฟิสิกส์เชิงทฤษฎีชื่อ มิเกล อัลคิวบิแยร์ (Miguel Alcubierre) ได้เสนอความคิดแรกของเขาไว้ในวารสาร ‘Classical and Quantum Gravity’ โดยอธิบายว่า ‘เครื่องวาร์ป’ สามารถทำงานได้อย่างไรในชีวิตจริง ซึ่งเรียกกันว่า ‘การขับเคลื่อนของอัลคิวบิแยร์’

แนวคิดของอัลคิวบิแยร์ คือการทำให้พื้นที่ราบของกาลอวกาศ (Space-Time) เกิดความบิดเบี้ยวอย่างมากจนกลายเป็นเหมือนฟองอวกาศ ทำให้ยานอวกาศดังกล่าวเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเหนือแสง แต่มีความเร่งเป็นศูนย์ หรือพูดง่าย ๆ ว่ายานดังกล่าวจะไม่ประสบกับเหตุการณ์ที่ถูกกระชากด้วยความเร่งสูง

อย่างไรก็ตาม เขาเสนอเพิ่มเติมว่าสิ่งที่จะให้พลังงานสูงกับยานอวกาศนั้นยังคงเป็นสิ่งใหม่สำหรับวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน นั่นคือ ‘พลังงานเชิงลบ’ (exotic negative energy) มันเป็นสิ่งที่ฟิสิกส์ในปัจจุบันยังไม่เข้าใจ แต่ตามทฤษฎีแล้วมันมีพลังงานที่มีความหนาแน่นสูงอย่างเหลือเชื่อ นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ๆ จึงหันไปหาแนวทางในสิ่งที่เรารู้ในตอนนี้มากขึ้น

“การศึกษาครั้งนี้จะเปลี่ยนการพูดคุยเกี่ยวกับการขับเครื่องวาร์ป” จาเร็ด ฟุคส์ (Jared Fuchs) ผู้เขียนนำแห่งมหาวิทยาลัยอลาบามา ฮันต์สวิลล์ กล่าว “ด้วยการสาธิตแบบจำลองที่ไม่เหมือนใคร เราได้แสดงให้เห็นว่าการขับเครื่องวาร์ป อาจไม่ถูกผลักไสให้อยู่ในนิยายวิทยาศาสตร์ตลอดไป”

อันที่จริงแล้วก่อนหน้านี้ในปี 2021 ทีมวิจัยอีกทีมหนึ่งที่มาจากมหาวิทยาลัยลาบามา ฮันต์สวิลล์ เช่นเดียวกันได้สร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ด้วยการแก้สมการสนามของไอน์สไตน์เพื่อกำหนดฟลักซ์ของพลังงานและโมเมนตัม ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจจะเข้าใจได้ยากสำหรับคนทั่วไป

สมการเหล่านี้สร้างปัญหาให้กับนักฟิสิกส์มาอย่างยาวนาน เนื่องจากความซับซ้อนทางคณิตศาสตร์ โดยพวกเขาพยายามทำให้ได้คำตอบที่เรียบง่ายที่สุดออกมา ซึ่งท้ายที่สุด คริสโตเฟอร์ เฮลเมอริช (Christopher Helmerich) และทีมงานสามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ชื่อ ‘Warp Factory’ ออกมาได้

“Warp Factory เป็นชุดเครื่องมือที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อวิเคราะห์กาลอวกาศที่เกี่ยวข้องกับเครื่องวาร์ป” เฮลเมอริช กล่าว

โปรแกรมดังกล่าวได้มอบวิธีใหม่ในการทำความเข้าใจการขับเคลื่อนของเครื่องวาร์ปที่มากขึ้น ซึ่งระบุว่าสามารถแบ่งการวาร์ปออกมาเป็นหลายคลาส โดยขึ้นอยู่กับธรรมชาติของความเครียดและความเร็วของยานอวกาศ

ทีมของ ฟุคส์ ได้นำมาต่อยอดด้วยการใช้ “การผสมผสานที่ซับซ้อนระหว่างเทคนิคระหว่างแรงโน้มถ่วงแบบดั้งเดิมและแบบใหม่ เพื่อสร้างฟองวาร์ปที่สามารถขนส่งวัตถุด้วยความเร็วสูงภายในขอบเขตของฟิสิกส์ที่เรารู้จัก” ตามคำแถลง

อย่างไรก็ดี เครื่องวาร์ป ของฟุคส์ อาจจะไม่เหมือนยานเอนเตอร์ไพร์ของสตาร์เทร็ก ที่เดินทางด้วยความเร็วเหนือแสง เนื่องจากในโลกของความเป็นจริง นักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้จักกฎทางฟิสิกส์ใด ๆ ที่สามารถทำให้วัตถุเดินทางเร็วเหนือแสง

แต่เครื่องวาร์ปของฟุคส์นั้นระบุว่า เราสามารถเดินทางด้วย ‘ความเร็วสูงแต่ต่ำกว่าระดับแสง’ ด้วยการใช้อุปกรณ์รวมสสารให้มีความเสถียร ไว้ในทิศทางที่สอดคล้องกับการกระจายเวกเตอร์ (เวกเตอร์คือทิศทาง) ที่ยานจะเคลื่อนไป การแก้ไขปัญหานี้ทำให้ยานสามารถเดินทางคล้ายการวาร์ป

สิ่งที่เราต้องทราบก็คือ นี่เป็นเพียงการจำลองทางคณิตศาสตร์ภายในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งเท่านั้น ทีมวิจัยระบุว่าต้องมีการยืนยันคณิตศาสตร์ในมุมมองอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน แต่พวกเขายอมรับว่ายังมีหนทางอีกยาวไกลในการสร้างเครื่องวาร์ปจริง ๆ แต่เรากำลังเข้าใกล้สิ่งนั้นขึ้นอีกก้าวหนึ่งแล้ว

“ในขณะที่เรายังไม่ได้เตรียมตัวสำหรับการเดินทางระหว่างดวงดาว แต่การวิจัยนี้ถือเป็นการประกาศยุคใหม่ของความเป็นไปได้” จิแอนนี มาร์ตีร์ (Gianni Martire) ซีอีโอของ Applied Physics กล่าวในแถลงการณ์เดียวกัน “เรายังคงก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มนุษยชาติเริ่มเข้าสู่ยุค วาร์ป แล้ว”

พวกเขากล่าวว่านิยายวิทยาศาสตร์จะไม่เป็นภาพลาง ๆ อีกต่อไปแต่จะได้รับการตรวจสอบทางคณิตศาสตร์อย่างจริงจัง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top