กต. ยัน ‘เกาะกูด’ ของคนไทย ป้อง MOU44 ไม่จำเป็ฯต้องยกเลิก พร้อมเเจงยิบ 5 ประเด็นร้อน
(4 พ.ย. 67) กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดการบรรยายสรุปสถานการณ์เรื่อง เรื่องพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping ClaimsArea: OCA) ระหว่างไทย-กัมพูชา โดยนายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ นางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เพื่อคลี่คลายข้อสงสัยของสาธารณะ
อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ อธิบายประเภทของเขตทางทะเลและกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ปี ค.ศ. 1982 และชี้แจงที่มาของพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (OCA) ระหว่างไทย-กัมพูชา ขนาดประมาณ 26,000 ตร.กม. เกิดจากการประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทยของทั้งสองประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายได้ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน
อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ชี้แจงว่า MOU 2544 นี้เป็นข้อตกลงที่กำหนดกรอบและกลไกการเจรจาร่วมกัน ไม่ได้หมายถึงการยอมรับการอ้างสิทธิของอีกฝ่าย โดยทั้งสองประเทศต้องดำเนินการเจรจาต่อไป MOU 2544 กำหนดให้เจรจาทั้งเรื่องการแบ่งเขตทางทะเลและการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน โดยใช้หลักกฎหมายระหว่างประเทศและประโยชน์ร่วมกัน กลไกหลักคือ คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านความมั่นคง กฎหมาย และพลังงาน ซึ่งได้มีการประชุมไปแล้วในปี 2544 และ 2545 นอกจากนี้ยังมีคณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Sub-JTC) และคณะทำงานร่วมเกี่ยวกับการกำหนดเขตทางทะเลและการพัฒนาร่วม
แนวทางในการแก้ปัญหา OCA ที่ทั้งไทยและกัมพูชาเห็นพ้องต้องกัน มีดังนี้ (1) ข้อตกลงต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนทั้งสองประเทศ (2) ต้องนำเรื่องให้รัฐสภาของทั้งสองประเทศพิจารณาอนุมัติ และ (3) ข้อตกลงต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ปัจจุบัน กระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการ JTC ฝ่ายไทย และเมื่อทั้งสองฝ่ายแต่งตั้งคณะกรรมการ JTC แล้ว ไทยจะเสนอกรอบการเจรจาให้รัฐบาลเห็นชอบ จากนั้นจะทาบทามการเจรจากับฝ่ายกัมพูชาต่อไป รวมถึงการแต่งตั้งกลไกย่อยต่าง ๆ
กระทรวงการต่างประเทศยืนยันการเจรจาเรื่อง OCA บนพื้นฐานของกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อผลประโยชน์ของชาติ เช่นเดียวกับที่เคยปฏิบัติกับประเทศอื่น
ในช่วงการตอบคำถามสื่อ อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ได้ตอบคำถาม 5 ข้อดังนี้:
1. เกี่ยวกับคำถามที่ว่า MOU 2544 จะทำให้ไทยเสียเกาะกูดหรือไม่ อธิบดีชี้แจงว่า เกาะกูดเป็นของไทยตามสนธิสัญญากรุงสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ซึ่งยืนยันสิทธิอธิปไตยเหนือเกาะกูดอย่างชัดเจน
2. MOU 2544 ขัดกับพระบรมราชโองการการประกาศเขตไหล่ทวีปหรือไม่ อธิบดีระบุว่า การดำเนินการตาม MOU 2544 สอดคล้องกับพระบรมราชโองการ โดยอิงตามอนุสัญญาเจนิวา ค.ศ. 1958 อย่างไรก็ตาม สิทธิเหนือทรัพยากรใต้ท้องทะเลขึ้นกับการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน
3. MOU 2544 เป็นการยอมรับเส้นของกัมพูชาหรือไม่ อธิบดียืนยันว่าแต่ละฝ่ายมีสิทธิ์เคลมพื้นที่ของตนเองภายในประเทศ ไม่มีผลผูกพันระหว่างประเทศ MOU ไม่ได้บังคับให้ยอมรับเส้นของกัมพูชา
4. การยกเลิก MOU 2544 ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ มาจากการเจรจาชายแดนที่ไม่คืบหน้าในช่วงความตึงเครียดปี 2552 แต่ในปี 2557 กระทรวงเห็นว่า MOU 2544 มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย และทุกรัฐบาลที่เข้ามารับช่วงต่อยอมรับว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการสร้างความโปร่งใสในการเจรจา
5. เกี่ยวกับการสร้างเขื่อนของกัมพูชาในพื้นที่ OCA อธิบดีระบุว่าการสร้างเขื่อนนี้ถูกประท้วงถึงสามครั้ง ตั้งแต่ปี 2541 2544 และปี 2564 เนื่องจากการก่อสร้างบางส่วนรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ที่ไทยอ้างสิทธิ ซึ่งผลของการประท้วงทำให้หยุดการก่อสร้างของเอกชน "เราก็ต้องแสดงสิทธิเหนืออธิปไตย และเรื่องดังกล่าวอยู่ในการติดตามของกองทัพเรือ และสมช. อย่างใกล้ชิด" อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ กล่าว
