ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2429 รัฐบาลสยามได้อนุมัติสัมปทานแก่ กอมปานีรถไฟ หรือ บริษัทรถไฟปากน้ำ บริหารงานโดยพระยาชลยุทธโยธินทร์ (อองเดร ดู เปลซี เดอ ริเชอลิเออ) ชาวเดนมาร์ก และพระนิเทศชลธี (แอลเฟรด ยอนลอบเตอด เยฟอานีเอช) ได้รับสัมปทานตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2429
บริษัทชาวเดนมาร์กสร้างทางรถไฟสายแรก ขึ้นในประเทศไทย ระหว่าง กรุงเทพฯ - สมุทรปราการ ระยะทาง 21 กิโลเมตร เพราะเล็งเห็นว่าทางรถไฟสายนี้จะอำนวยคุณประโยชน์ทางเศรษฐกิจและด้านยุทธศาสตร์ แม้ว่าบริษัทชาวเดนมาร์กจะได้รับอนุมัติสัมปทาน แต่บริษัทก็ยังไม่สามารถดำเนินก่อสร้างได้เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยืมทุนทรัพย์ไปสมทบด้วยส่วนหนึ่ง นับเป็นพระปรีชาสามารถลึกซึ้งที่รัฐสนับสนุนยอมให้เป็นครั้งแรกในโครงการอุตสาหกรรมขนส่งที่เอกชนลงทุน
จากนั้น วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินแซะดินเป็นปฐมฤกษ์สร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ-สมุทรปราการ
และในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดบริการ และเสด็จขึ้นประทับโดยสารขบวนรถไฟพระที่นั่ง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ในพิธีเปิดการเดินรถครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัส ปรากฏความตอนหนึ่งว่า
"...เรามีความยินดีที่ได้รับหน้าที่อันเป็นที่พึงใจ คือจะได้เป็นผู้เปิดรถไฟสายนี้ ซึ่งเป็นที่ชอบใจและปรารถนามาช้านานแล้วนั้น ได้สำเร็จสมดังประสงค์ลงในครั้งนี้ เพราะเหตุว่าเป็นรถไฟสายแรกที่จะได้เปิดในบ้านเมืองเรา แล้วยังจะมีสายอื่นต่อ ๆ ไปอีกจำนวนมากในเร็ว ๆ นี้ เราหวังว่าจะเป็นการเจริญแก่ราชการและการค้าขายในบ้านเมืองเรายิ่งนัก..."
รถไฟสายปากน้ำ จากกรุงเทพฯ – สมุทรปราการ ระยะทาง 21 กิโลเมตร โดยรัฐบาลได้อนุมัติสัมปทานก่อสร้างและดำเนินกิจการโดย บริษัทรถไฟปากน้ำ ของชาวเดนมาร์ก มีสัญญาสัมปทาน 50 ปี เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2434 แล้วเสร็จในปี 2436 ค่ารถไฟในสมัยนั้น ไปกลับ 1 บาท มี 10 สถานี สถานีละ 1 เฟื้อง สถานีต้นทางคือสถานีหัวลำโพง รถจะหยุดรับส่งคนโดยสารที่ ศาลาแดง บ้านกล้วย พระโขนง บางนา สำโรง ศีรษะจระเข้ (หัวตะเข้) บ้านนางเกรง มหาวง แล้วก็ถึงปากน้ำสมุทรปราการ สิ้นอายุสัมปทานเมื่อเวลาเที่ยงคืน วันที่ 12 กันยายน 2479 รัฐบาลได้รับซื้อทรัพย์สินไว้มอบให้กรมรถไฟจัดการเดินรถ
ต่อมา รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้สั่งเลิกกิจการรถไฟสายนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2503 จึงสร้างอนุสรณ์แห่งทางรถไฟสายแรกของไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย ตกลงจัดทำหมุดหลักฐานเป็นแท่งคอนกรีต ติดแผ่นโลหะจารึกข้อความติดตั้งไว้ในบริเวณถนนพระรามที่ 4 หน้าสถานีกรุงเทพอันเป็นจุดปลายทางตันของสถานีหัวลำโพง-ปากน้ำ