Monday, 20 May 2024
Lite

‘สื่อเกาหลี’ เผยข้อมูลใหม่ ‘YG’ ทุ่ม 2,700 ลบ. หวังยื้อ ‘ลิซ่า’ ต่อสัญญา สุดท้ายไม่เป็นผล 'ลิซ่า' ตอบปฏิเสธ ก่อนร่วมงานกับ RCA Records

เมื่อวานนี้ (8 พ.ค.67) ที่ผ่านมาสื่อเกาหลีอย่าง Money Today ได้มีการรายงานบทความเกี่ยวกับการฟ้องร้องสิทธิ์เครื่องหมายการค้าของวงการไอดอลที่ตอนนี้มีบางวงในบางค่ายเจอปัญหาในการใช้ชื่อไม่ได้ หนึ่งในนั้นก็คือวงบอยแบนด์อย่าง Shinhwa

แต่ที่น่าสนใจก็คือในบทความดังกล่าวได้มีการเผยถึงข้อมูลด้วยว่าในปี 2023 ที่ทางค่ายวายจี เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ได้มีความพยายามจะทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะต่อสัญญากับสาว ๆ วง ‘แบล็กพิ้งค์’ นั้น ทางค่ายวายจีฯ เองได้มีการเสนอเงินเป็นจำนวนถึง 2,700 ล้านบาทให้กับ ‘ลิซ่า ลลิษา มโนบาล’ ด้วย

โดยตัวเลขดังกล่าวก็ต้องบอกว่ามากกว่าข่าวที่ทางจีนเสนอให้นักร้องหญิง ซึ่งอยู่ที่ 2,600 ล้านบาท

แต่ก็อย่างที่ทราบกันดีว่าสุดท้ายลิซ่าก็ปัดที่จะเซ็นสัญญาในนามบุคคล แต่ยอมเซ็นสัญญาร่วมกับเพื่อน ๆ ในนามของ ‘แบล็กพิ้งค์’ ก่อนที่เธอและบริษัท Lloud Co. ของเธอจะไปเซ็นสัญญาในรูปแบบพาร์ทเนอร์ชิปกับทางค่าย RCA Records ของอเมริกาด้วยมูลค่าสัญญาเกือบ 6,000 ล้านบาท

15 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 วันคล้ายวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ‘ในหลวง ร.4’ กษัตริย์ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย

วันนี้ในอดีต 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เมื่อครั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 พระราชวงศ์และเสนาบดีมีมติเห็นชอบให้ถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ จึงได้ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ไปเฝ้าเจ้าฟ้ามงกุฎ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร แต่พระองค์ตรัสว่า ถ้าจะถวายพระราชสมบัติแก่พระองค์จะต้องอัญเชิญสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นครองราชย์ด้วย เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นผู้ที่มีพระชะตาแรง ต้องได้เป็นพระมหากษัตริย์

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น พระองค์ได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า ‘พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ และมีพระนามตามจารึกในพระสุบรรณบัฏว่า…

"พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎสุทธิ สมมุติเทพยพงศวงศาดิศรกษัตริย์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธิเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวราชรามวรังกูร สุจริตมูลสุสาธิตอุกฤษฐวิบูลย บุรพาดูลยกฤษฎาภินิหารสุภาธิการรังสฤษดิ ธัญญลักษณ วิจิตรโสภาคสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนตบาทบงกชยุคคล ประสิทธิสรรพสุภผลอุดม บรมสุขุมาลยมหาบุรุษยรัตน ศึกษาพิพัฒนสรรพโกศล สุวิสุทธิวิมลศุภศีลสมาจารย์ เพ็ชรญาณประภาไพโรจน์ อเนกโกฏิสาธุ คุณวิบุลยสันดาน ทิพยเทพวตาร ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์เอกอัครมหาบุรุษ สุตพุทธมหากระวี ตรีปิฎกาทิโกศล วิมลปรีชามหาอุดมบัณฑิต สุนทรวิจิตรปฏิภาณ บริบูรณ์คุณสาร สัสยามาทิโลกยดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพพิเศษ สิรินธรมหาชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิษิต สรรพทศทิศวิชิตวิไชย สกลมไหศวรินมหาสยามินทร มเหศวรมหินทร มหาราชาวโรดม บรมนารถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิอัครนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการสกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร ปรเมนทรธรรมมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "

พร้อมกันนี้ พระองค์ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมีพระราชพิธีบวรราชาภิเษกและทรงรับพระบวรราชโองการ ให้พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนในฝ่ายสมณศักดิ์นั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส โดยมหาสมณุตมาภิเษกขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช เป็นต้น

ทั้งนี้ พระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านที่มีต่อการสร้างสรรค์ชาติไทยสามารถสรุปได้ดังนี้…

>> 1. ด้านวรรณคดีศาสนา
1.1 พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ทำนุบำรุงเป็นอย่างดี พระราชนิพนธ์ส่วนใหญ่เป็นประเภทร้อยแก้ว บทพระราชนิพนธ์ที่สำคัญ ได้แก่
1.1.1 มนุมพระบรมราโชบาย 4 หมวด คือ หมวดวรรณคดี โบราณคดี ธรรมคดี และตำรา
1.1.2 ตำนานเรื่อง พระแก้วมรกต เรื่องปฐมวงศ์
1.1.3 ทรงริเริ่มให้มีการค้นคว้าศิลาจาลึกในประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก คือ จารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง และจารึกหลักที่ 4 ของพระยาลิไทย

>> 2. ด้านวิทยาศาสตร์ 
2.1. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักดาราศาสตร์ไทย ทรงการคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างแม่นยำ ในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2411 ล่วงหน้า 2 ปี และได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมเชิญทูตฝรั่งเศสและสิงคโปร์ทอดพระเนตรสุริยุปราคาครั้งนั้น นอกจากนี้ พระปรีชาสามารถของพระองค์ในด้านวิทยาศาสตร์นั้น ยังทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสัตววิทยาสมาคมแห่งสหราชาอาณาจักรอีกด้วย
2.2. วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2525 รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสุลานนท์ ประกาศยกย่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น ‘พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย’ และอนุมัติให้วันที่ 18 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ

>> 3.ด้านดาราศาสตร์
3.1. ทรงเป็นนักโหราศาสตร์อีกด้วย ทรงแต่งตำราทางโหราศาสตร์ที่เรียกว่า ‘เศษพระจอมเกล้า’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตำราที่ได้รับการยอมรับว่าแม่นยำและทรงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติว่าทรงเป็น ‘พระบิดาแห่งโหราศาสตร์ไทย’

‘รัฐบาล’ เล็งดัน NBT เป็นโทรทัศน์ซอฟต์พาวเวอร์ อาจปรับผังรายการ เพื่อให้มีความทันสมัยมากขึ้น

(9 พ.ค. 67) น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงโครงการโทรทัศน์ซอฟต์พาวเวอร์ ว่า จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อรองรับการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ เมื่อเราต้องการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ รัฐบาลก็จำเป็นต้องมีที่ปล่อยของสื่อสารกับประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โดยที่เล็งไว้คือสถานีโทรทัศน์ที่รัฐบาลกำกับดูแล เช่น ช่อง NBT ซึ่งต้องหารือในรายละเอียดอีกครั้ง และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ที่มีอยู่ 11 คณะ ว่าคณะไหน สาขาไหน มีศักยภาพ ต้องดึงขึ้นมาก่อนหรือไม่อย่างไร ยืนยันว่าเป็นการปรับผังรายการเท่านั้น ไม่ได้ตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้นมาใหม่ จะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรามีอยู่ เพื่อประโยชน์กับพี่น้องประชาชน และเป็นประโยชน์ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล

ส่วนกรณีได้รับมอบงานให้กำกับดูแลบริษัท อสมท.จำกัด (มหาชน) และกรมประชาสัมพันธ์ มีนโยบายขับเคลื่อนอย่างไร น.ส.จิราพร กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเชิญหน่วยงานมาหารือ อยากให้เป็นสื่อฯ สะท้อนนโยบายของรัฐบาล ขณะเดียวกันอยากให้สื่อสารนโยบายของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นสื่อที่สะท้อนเสียงของประชาชน

ส่วนจะปรับเปลี่ยน 2 สถานีโทรทัศน์ดังกล่าวให้มีความเป็นคนรุ่นใหม่หรือไม่ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องคุยรายละเอียดที่มีค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม หากช่อง NBT สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับซอฟต์พาวเวอร์ได้ จะมีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งจากการพูดคุยกับคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ มีสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีที่ให้ความสนใจอยากจะทำคอนเทนต์เกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งรัฐบาลยินดีที่จะให้คอนเทนต์ เพราะเป็นหนึ่งในนโยบายเรือธงของรัฐบาล และมีหลายภาคส่วน เช่น ภาคเอกชนที่อยากร่วมมือด้วย

ส่วนจะจ้างงานใหม่หรือไม่นั้น น.ส.จิราพร กล่าวว่า เป็นการให้ภาพใหญ่ในทิศทางการทำงาน ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างมีระเบียบที่หน่วยงานต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ส่วนงบประมาณดำเนินโครงการนี้กำลังหารือรายละเอียดอยู่ อย่างไรก็ตาม ต้องดูงบประมาณเก่าว่า ส่วนที่ได้รับมาได้ใช้จ่ายไปในส่วนใดบ้าง หรือจะต้องหาความร่วมมือกับภาคเอกชนเพิ่มเติมหรือไม่ ต้องดูก่อน

17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 ‘ในหลวง ร.9’ เสด็จฯ เปิด ‘เขื่อนภูมิพล’ เขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกในประเทศไทย

‘เขื่อนภูมิพล’ เป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งขนาดใหญ่ สร้างปิดกั้นลำน้ำปิงที่บริเวณเขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก เดิมเรียก ‘เขื่อนยันฮี’ ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระปรมาภิไธยให้เป็นชื่อเขื่อน และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2504 โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างตัวเขื่อน ระบบส่งไฟฟ้า อาคารโรงไฟฟ้า และองค์ประกอบต่าง ๆ

ทั้งนี้ เขื่อนภูมิพล ถือเป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกในประเทศไทย รองรับน้ำได้สูงสุด 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งนอกจากจะใช้ระบายไปเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค ตลอดจนคมนาคมขนส่งแล้ว ยังใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 นอกจากจะช่วยหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรกว่า 10 ล้านไร่ ส่งเสริมอาชีพประมงเป็นมูลค่ากว่า 400 ล้านบาทต่อปี ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 64,000 ล้านหน่วย ยังเป็นเขื่อนที่ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัย และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้แก่ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย

16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ‘หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ’ ละสังขาร สิ้นตำนาน เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด

วันนี้เมื่อ 9 ปีก่อน ซึ่งตรงกับวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 คือวันที่หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ แห่งวัดบ้านไร่ ด่านขุนทด ได้ละสังขารจากโลกนี้ไป เหลือไว้แต่คำสอนอมตะ ให้จารึกจดจำและปฏิบัติไปตลอดกาล

พระเทพวิทยาคม นามเดิม คูณ ฉัตร์พลกรัง หรือที่รู้จักในนาม หลวงพ่อคูณ พระเกจิอาจารย์ดัง อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11 และอดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ที่ลูกศิษย์ยกย่องเป็น ‘เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด’

หลวงพ่อคูณ ถือกําเนิดที่บ้านไร่ ม.6 ต.กุดพิมาน อ.อ่านขุนทด จ.นครราชสีมา ในครอบครัวของชาวไร่ชาวนาที่อยู่ห่างไกลความเจริญ บิดาชื่อ นายบุญ ฉัตรพลกรัง มารดาชื่อ นางทองขาว ฉัตรพลกรัง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 ต.ค. 2466 มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน บิดามารดาของหลวงพ่อคูณเสียชีวิตลงในขณะที่ลูก ๆ ยังเป็นเด็ก หลวงพ่อคูณกับน้อง ๆ จึงอยู่ในความอุปการะของน้าสาว สมัยที่หลวงพ่อคูณอยู่ในวัยเยาว์ได้เรียนหนังสือกับพระที่วัดบ้านไร่ ซึ่งเป็นสถานศึกษาแห่งเดียวในหมู่บ้าน นอกจากเรียนภาษาไทยและขอมแล้ว พระอาจารย์ยังได้สั่งสอนวิชาคาถาอาคมให้ด้วย

หลวงพ่อคูณอุปสมบท เมื่ออายุได้ 21 ปี ณ พัทธสีมาวัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2487 โดยพระครูวิจารย์ดีกิจ อดีตเจ้าคณะอําเภอด่านขุนทด เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า 'ปริสุทโธ' หลังจากที่หลวงพ่อคูณอุปสมบทเป็นพระภิกษุเรียบร้อยแล้วท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ต.สํานักตะคร้อ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา หลวงพ่อคูณได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อแดงมานานพอสมควร หลวงพ่อแดงจึงพาหลวงพ่อคูณไปฝากตัวเป็น ลูกศิษย์หลวงพ่อคง พุทธสโร ซึ่งให้การศึกษาพระธรรมควบคู่กับการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน หลังจากนั้นหลวงพ่อคูณได้ออกธุดงค์ จาริกอยู่ในเขต จ.นครราชสีมา รวมทั้งธุดงค์ไปไกลถึงประเทศลาว และกัมพูชา

หลังจากที่พิจารณาเห็นสมควรแก่การปฏิบัติแล้ว หลวงพ่อคูณจึงออกเดินทางจากกัมพูชากลับมายังประเทศไทย เดินข้ามเขตด้าน จ.สุรินทร์ สู่ จ.นครราชสีมา กลับบ้านเกิดที่บ้านไร่ จากนั้นจึงเริ่มดําเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนา โดยเริ่มสร้างอุโบสถ พ.ศ. 2496 โรงเรียน กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ รวมทั้งขุดสระน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านโดยรอบดีขึ้นด้วย

หลวงพ่อคูณเป็นพระที่มีชื่อเสียงเรื่องการสร้างวัตถุมงคล ซึ่งท่านได้สร้างวัตถุมงคลมาตั้งแต่บวชได้ 7 พรรษา โดยเริ่มทําวัตถุมงคลซึ่งเป็นตะกรุดโทน ตะกรุดทองคํา "ใครขอกูก็ให้ ไม่เลือกยากดีมีจน" เป็นคํากล่าวของท่าน

เมื่อปี 2556 หลวงพ่อคูณเคยอาพาธด้วยอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และมีอาการหลอดลมอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาจนอาการดีขึ้นก่อนจะกลับไปรักษาตัวที่วัดบ้านไร่ โดยมีคณะแพทย์เฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอาการอาพาธของหลวงพ่อคูณมีทั้งทรงตัวและแย่ลง จนกระทั่งมีอาการหมดสติเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2558

ต่อมาวันที่ 16 พ.ค. 2558 เมื่อเวลา 10.00 น. คณะแพทย์รายงานผลว่าการเฝ้าตรวจติดตามอาการอาพาธของหลวงพ่อคูณ มีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มขึ้นจากการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ทำให้เลือดออกในช่องอก ส่งผลให้ระบบการหายใจล้มเหลว ภาวะหัวใจหยุดเต้น คณะแพทย์ได้ทำการช่วยฟื้นคืนชีพ สำหรับภาวะไตไม่ทำงานได้ให้การรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ขณะนี้อาการโดยรวมทรุดลง จนกระทั่งเวลา 11.45 น. หลวงพ่อคูณ ได้มรณภาพด้วยอาการสงบ

‘พีเค’ ขอโทษ ยอมรับผิด ลั่น!! อยากเดินหน้าจีบ ‘อดีตภรรยา’ ชี้!! คนที่ตนอยากเห็นหน้าในทุกเช้าคือ ‘โยเกิร์ต’ 

(12 พ.ค.67) กลายเป็นข่าวที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์สนั่นโลกโซเชียล กับเรื่องราวของพิธีกรหนุ่ม ‘พีเค ปิยะวัฒน์’ ที่ก่อนหน้านี้ถูกนางแบบสาวชาวเวียดนาม ‘โจลี่ เหงียน’ ออกมาแฉว่าเป็นสตอล์กเกอร์

ก่อน พีเค จะออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ขอเลิกยุ่งกับ ‘โจลี่ เหงียน’ 100 % ซึ่งที่ผ่านมาเคยคบกับ ‘โจลี่ เหงียน’ หลังจากหย่ากับ ‘โยเกิร์ต’ และฝ่ายหญิงก็เคยแนะนำตัวเองว่าเป็นแฟนกับเพื่อนๆเขา พร้อมยืนยันตัวเองไม่ใช่สตอล์กเกอร์อย่างที่ถูกอีกฝ่ายแฉ

ล่าสุดทาง ‘พีเค ปิยะวัฒน์’ ก็ได้ออกมาพูดถึงโอกาสที่จะกลับมารีเทิร์นกับ ‘โยเกิร์ต’ โดยพีเคได้เปิดใจว่า “เรายังคุยกันตลอด ยังดูแลหมาด้วยกัน ตนถามเสมอว่าจีบใหม่ได้ไหม”

ซึ่งทาง โยเกิร์ต ก็ตอบว่า “ยังไม่ใช่ตอนนี้ ถามว่าตนมีหวังไหม มันก็หวังจะได้ใช้ชีวิตด้วยกัน โยคือคนที่ตนอยากเห็นหน้าในทุกเช้า ตนยังหวังดีและรักเขาเหมือนเดิม ที่ผ่านมาตนรู้ว่าตนพลาด ตนขอโทษและยอมรับความผิดตลอดเวลา ตนยอมรับทุกๆอย่าง”

18 พฤษภาคม พ.ศ. 2463 วันเกิด ‘อิศรา อมันตกุล’ นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก แบบอย่าง ‘นักหนังสือพิมพ์’ ผู้เคร่งครัดหลักจริยธรรมของวิชาชีพ

‘อิศรา อมันตกุล’ เดิมชื่อ อิบรอฮีม อะมัน ผู้มีฉายาว่า ‘นักบุญ’ เป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คนสำคัญของประเทศไทย และเป็นนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก

โดย อิศรา อมันตกุล มักจัดหน้าและเขียนเองเป็นส่วนมาก เขามีความสามารถในการเขียนคอลัมน์และภาพประกอบได้อย่างดีพอสมควร เรื่องที่เขียนไม่ว่าเรื่องเล็กน้อย กระจุกกระจิกประการใด สำนวนโวหารมีเสน่ห์ชวนอ่านเสียทั้งสิ้น เขียนได้หลายแบบ ไม่เฉพาะนวนิยาย เรื่องสั้น เรื่องยาว สารคดีและคอลัมน์ต่าง ๆ ได้คล่องเท่ากัน

อิศรา อมันตกุล เกิดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2463 เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 10 คน ของ นาย ม.ชาเลย์ และ นางวัน เรียนชั้นประถมศึกษา โรงเรียนบำรุงวิทยา และจบมัธยมศึกษาปีที่ 8 จาก โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ร่วมกับคณะมิชชันนารี ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ประมาณ 2 ปี จึงเดินทางกลับเข้ากรุงเทพมหานคร

อิศรา อมันตกุล มีความถนัดในการใช้ภาษาอังกฤษ เป็นผู้มีคะแนนยอดเยี่ยมทางภาษาอังกฤษในระดับประเทศ ผลงานคอลัมน์การใช้ภาษาอังกฤษ ใช้นามปากกา ‘แฟรงค์ ฟรีแมน’ นอกจากงานหนังสือพิมพ์แล้ว เขานิยมเสนอความคิดทางการเมืองในรูปแบบงานประพันธ์และวรรณกรรม

ผลงานด้านการประพันธ์ทั้งเรื่องสั้นและเรื่องยาวหลายชิ้นมีการนำเสนอความคิดทางการเมืองอย่างชัดเจน เช่น เขาตะโกนหานายกรัฐมนตรี, นาถยาและสถาพรผู้กลับมา และข้าจะไม่แพ้

อิศรา อมันตกุล ชอบทำงานอิสระของตนเองมากกว่าที่จะเข้าสังกัด ชีวิตหนังสือพิมพ์เริ่มต้นที่หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ ประชามิตร ร่วมกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และมาลัย ชูพินิจ และได้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์สุวัณณภูมิ ร่วมกับทองเติม เสมรสุต เป็นผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์ของสมาคมนักข่าวในครั้งนั้น), วิน บุญอธึก, สว่างวงศ์ กรีบุตร, เสนีย์ เสาวพงศ์ และวิตต์ สุทธเสถียร

ภายหลังได้ทำหนังสือพิมพ์อีกหลายแห่ง เช่น หนังสือพิมพ์บางกอกรายวัน, หนังสือพิมพ์เอกราช, หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยเบื้องหลังข่าว, หนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์

อิศรา อมันตกุล ถูกอำนาจเผด็จการยุคนั้นจับกุมไปคุมขังที่เรือนจำลาดยาว ด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นเวลา 5 ปี 10 เดือน ได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระโดยไม่มีการฟ้องร้องศาลแต่อย่างใด ภายหลังได้ทำงานที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ชีวิตการต่อสู้เป็นแบบอย่างการทำข่าวเจาะ และเขาเป็นแบบอย่างของนักหนังสือพิมพ์ผู้เคร่งครัดในหลักจริยธรรมวิชาชีพ จนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ นำชื่อมายกย่องตั้งเป็นชื่อ   ‘รางวัลอิศรา’ ให้กับผลงานข่าว ภาพข่าวยอดเยี่ยมประจำปี

“หนังสือพิมพ์ในสายตาของคนทั่วไปอาจเป็นเศษกระดาษ ซึ่งเมื่ออ่านเสร็จแล้วก็โยนทิ้งไป หรืออย่างดีก็เก็บเอาไว้ชั่งกิโลขายเจ๊ก ถึงอย่างไร ผมอยากจะกล่าวว่าหนังสือพิมพ์คือเอกสารทางประวัติศาสตร์สั้นต่อวัน สัปดาห์ต่อสัปดาห์ เดือนต่อเดือน ปีต่อปี นั่นเอง หนังสือพิมพ์วันนี้ ย่อมจะกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในวันหน้าไปอย่างแน่นอนมิพักต้องสงสัย” เป็นคำพูดของ อิศรา อมันตกุล

อิศรา อมันตกุล ถึงแก่กรรมเมื่อ 14 มีนาคม พ.ศ. 2512 ด้วยโรคมะเร็ง แต่แบบอย่างที่งดงามในความหนักแน่นต่อหลักจริยธรรม ความรักในเสรีภาพ และการต่อสู้ต่ออำนาจเผด็จการแม้แลกด้วยอิสรภาพของตนเอง เป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนร่วมวงการหนังสือพิมพ์ เสริมศรี เอกชัย (เรือใบ) เขียนถึงเขาไว้ในหนังสือวันนักข่าว 5 มีนาคม โดยชื่อบทความ อิศรา ตัวตายแต่ชื่อยัง

สำหรับมูลนิธิ อิศรา อมันตกุล นั้นก่อตั้งขึ้นมาได้สำเร็จด้วยความเสียสละร่วมกันของบุคคลต่าง ๆ มากมายหลายฝ่าย โดยมีความประสงค์ต้องตรงกันอยู่ที่เป้าหมายเดียวกันคือ ปณิธานที่จะเชิดชูเกียรติคุณของคุณอิศรา อมันตกุล ไว้ให้ปรากฎ เพื่อจะได้เป็นพลังให้แก่เพื่อนนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนรุ่นหลัง และต่อมามูลนิธิอิศรา อมันตกุล ได้มอบหมายให้สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย (ต่อมายุบรวมกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2543) ดำเนินการจัดการประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล เพื่อให้รางวัลแก่ผลงานข่าว และภาพข่าวยอดเยี่ยมประจำปี โดยเริ่มต้นการประกวดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2515 และมีพิธีมอบรางวัลครั้งแรกในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2516

19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 วันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ ‘กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์’ หรือ ‘เสด็จเตี่ย’ ผู้วางรากฐานกองทัพเรือไทย-ได้รับการยกย่องเป็น ‘บิดาแห่งกองทัพเรือไทย’

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีพระนามเดิมคือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล ‘อาภากร’ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด พระองค์ทรงได้รับสมัญญานามว่า ‘องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย’

พระองค์ทรงเป็นผู้วางรากฐานการบริหารงานของกองทัพเรือ ทรงได้รับการเชิดชูในหมู่ทหารเรือเรียกขานพระองค์ว่า ‘เสด็จเตี่ย’ หรือ ‘หมอพร’ และ ‘พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย’ ต่อมาใน พ.ศ. 2536 มีประกาศกองทัพเรือขนานพระนามพระองค์ว่า ‘พระบิดาของกองทัพเรือไทย’ และใน พ.ศ. 2544 แก้ไขเป็น ‘องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย’

พระองค์ทรงประชวรด้วยโรคประจำพระองค์ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2465 ก่อนจะสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 เวลา 11 นาฬิกา 40 นาที สิริพระชันษา 42 ปี 151 วัน โดยมีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2466 ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง

ภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ได้มีการจัดสร้างศาลและพระอนุสาวรีย์พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ รวมทั้งสิ้น 217 แห่งทั่วประเทศไทย เช่น โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ฐานทัพเรือสัตหีบ โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี หรือที่พระตำหนักที่หาดทรายรี จังหวัดชุมพร

‘เข็ม ตีสิบ’ สุดทน!! หลังพูดเรื่องพีเค แต่โดนโยง ‘รถมินิ’ ในตำนาน ลั่น!! ปม ‘หนุ่ม กรรชัย’ เคลียร์นานแล้ว เป็นการซื้อรถต่อเท่านั้น

(14 พ.ค.67) อยู่ดี ๆ ก็กลับมาเป็นที่พูดถึงในโลกออนไลน์ สำหรับ ‘เข็ม กฤตธีรา อินพรวิจิตร’ หรือ ‘เข็ม ตีสิบ’ หลังจากที่ได้ออกมาพูดถึงข่าวร้อน ‘ดีเจพีเค ปิยะวัฒน์ เข็มเพชร’ ทางช่องติ๊กต็อกป้าข้างบ้าน แนะอย่าพูดเยอะ ไม่เหมาะแสดงความจริงใจแบบอธิบายเยอะ ๆ แนะนำให้อยู่นิ่ง ๆ ต่อให้ ‘โจลี่ เหงียน’ ไม่โอเค ก็ไม่ใช่หน้าที่ของสุภาพบุรุษที่ต้องแก้ตัว พูดจากคนมีประสบการณ์ ยิ่งแก้ตัว รถทัวร์จอดแล้ว จอดเลย ส่วนโยเกิร์ต (ณัฐฐชาช์ บุญประชม) ให้หนีไป

อย่างไรก็ตาม หลังคลิปดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ก็มีคนเข้ามาเมนต์ว่า เข็มก็อย่าพูดเยอะ เดี๋ยวจะเข้าตัว เพราะคนยังไม่ลืมเรื่องรถมินิในตำนาน รวมทั้งหาว่าโหน หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย งานนี้เจ้าตัวก็จัดการอธิบายแบบบจัดหนัก ระบุว่า จิตปรุงแต่งมาก เข็มไม่ได้รู้จักพี่หนุ่มคนเดียวในชีวิต เข็มมีแฟนคนอื่นที่คบกันมายาวนานก็มี ไม่ได้มีผู้ชายเข้ามาในชีวิตคนเดียว

เข็มกับพี่หนุ่มเป็นเพื่อนกันแล้ว ผ่านการขอโทษกันนานแล้ว ล่าสุดที่คุยกันคือเมื่อเดือนมกราคม ปีนี้ จะเชิญมาออกรายการ แต่ใด ๆ คือคิวยังไม่ลงตัว

เรื่องรถมินิ ตอนนั้นนักข่าวสนุกสนานเมามันกับข่าวมาก ยุคนั้นประมาณปี 2008-2009 เกือบ 20 ปีแล้ว และมันยังไม่มีสมาร์ทโฟน เข็มไม่ได้ออกมาอธิบายอะไรได้แบบนี้ ส่วนพี่หนุ่มเคยออกมาพูดแล้วว่า เขาขายรถให้เข็ม ก็ไม่มีคนสนใจ เป็นการเข้าใจผิด ตอนที่เขามาจีบเข็ม เขาได้เลิกกับคุณเมย์ไปแล้วช่วงนึง มีข่าวไทยรัฐลง แต่ก็ไม่มีใครสนใจ เพราะนักข่าวต้องการความแซบ เข็มยอมรับว่าตกใจ งง แต่สุดท้ายแล้วเรื่องมันก็เงียบไป เสพข่าวสมัยก่อน รู้แค่ 5% เรื่องจริง ๆ มันมากกว่านั้น ถามว่าช็อกไหม ช็อก คนมาดักเต็มบ้าน มีคนด่า-เรียกว่าเมียน้อย

ส่วนรถมินิ เข็มซื้อต่อ และยังไม่ได้ทะเบียน เพราะมันคาราคาซังอยู่ ชื่อเจ้าของรถก็เป็นใครไม่รู้ เข็มไม่รู้จัก ก็เลยเชื่อ 100% ว่าเป็นชื่อของญาติพี่หนุ่ม แล้วญาติเขาไปต่างประเทศ เข็มไม่สามารถที่จะติดต่อได้ พอเข็มไม่ได้สมุดเล่มทะเบียนมา เข็มก็ไม่ได้โอนเงินส่วนที่เหลือไป

พี่หนุ่ม เคยพูดหมดแล้วในรายการของคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา แต่คนก็ไม่สนใจอยู่ดี เลือกจะจำอะไรแบบนี้ มันน่าเบื่อ มันบ้ง มันเชยแล้ว

21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ เสด็จเปิด ‘อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง’ หนึ่งในปราสาทหินศิลปะแบบขอมที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือ ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของประเทศไทยภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นหนึ่งในปราสาทหินในกลุ่มราชมรรคา ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 (บ้านดอนหนองแหน) ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ลงมาทางทิศใต้ประมาณ 77 กิโลเมตร โดยประกอบไปด้วยโบราณสถานสำคัญ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตรจากพื้นราบ (ประมาณ 350 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ทั้งนี้ คำว่า ‘พนมรุ้ง’ นั้น มาจากภาษาเขมร คำว่า ‘วนํรุง’ แปลว่า ‘ภูเขาใหญ่’

ทั้งนี้ อุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ ได้ดำเนินการบูรณะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 จนเสร็จสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2531 โดยมีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธาน มีงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปี ในครั้งนั้นอีกด้วย

ปัจจุบัน ปราสาทหินพนมรุ้งกำลังอยู่ในเกณฑ์กำลังพิจารณาเป็นมรดกโลก เช่นเดียวกับ ปราสาทหินในกลุ่มราชมรรคา โดยปราสาทหินพนมรุ้งเป็นหนึ่งในปราสาทหินขอมของไทยที่มีชื่อเสียงมากที่สุด และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึงเป็นภาพพื้นหลังตราสัญลักษณ์ของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดอีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top