ภาษีคือภาษี ความผิดคือความผิด เสียงสะท้อนถึง…พี่ชาย ‘ดร. พอล แชมเบอร์ส’ ปมขอให้สหรัฐฯ กดดันไทย
(22 เม.ย. 68) จากกรณีที่ คิท แชมเบอร์ส (Kit Chambers) พี่ชายของ ดร. พอล แชมเบอร์ส (Dr. Paul Chambers) นักวิชาการชาวอเมริกันซึ่งกำลังเผชิญคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฯ ในประเทศไทย ได้เผยแพร่บทความผ่าน The Oklahoman สื่อท้องถิ่นของรัฐโอคลาโฮมา เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ระงับการเจรจาการค้าด้านภาษีกับไทยจนกว่า “น้องชายของเขาจะได้กลับบ้าน”
ในบทความดังกล่าว คิท แชมเบอร์ส กล่าวหาว่าการกักขังน้องชายของตนนั้น “ไม่เป็นธรรม” และยืนกรานว่านี่ไม่ใช่ปัญหาทางการค้า แต่คือ “เรื่องสิทธิมนุษยชน”
ล่าสุด “ปราชญ์ สามสี” ได้ออกมาโพสต์แสดงความเห็นถึงกรณีนี้ว่า
คำถามคือ — แล้วการกระทำผิดกฎหมายในประเทศหนึ่ง สามารถกลายเป็น "ของต่อรอง" ได้จริงหรือ?
ถ้าคนไทยสักคนเดินทางไปสหรัฐฯ แล้วไปละเมิดกฎหมายของอเมริกา เช่น ละเมิดสัญลักษณ์ทางการเมือง ข่มขู่บุคคลสาธารณะ หรือทำผิดทางไซเบอร์ ประเทศไทยควรจะ "ขู่ขึ้นภาษีสินค้าอเมริกัน" เพื่อให้สหรัฐฯ ยอมปล่อยตัวกลับบ้านหรือไม่?
การใช้ข้อเรียกร้องทางอารมณ์ มาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของรัฐอื่น นอกจากจะบ่อนทำลายหลักนิติธรรมแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในอธิปไตยของแต่ละประเทศอย่างร้ายแรง
ไทยไม่ได้กักขังพอลเพราะเขาเป็นอเมริกัน แต่เพราะเขาทำผิดกฎหมายไทย และกระบวนการที่เกิดขึ้น ก็อยู่ภายใต้สิทธิในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ไม่ต่างจากประชาชนไทยทั่วไป
การเจรจาภาษีควรเดินหน้าอย่างอิสระ เพราะเศรษฐกิจคือผลประโยชน์ของคนทั้งชาติ ไม่ใช่เวทีต่อรองเพื่อปล่อยตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง อย่าเอาน้ำหนักของ “สายเลือด” ไปทับถม “หลักนิติธรรม” ที่ประเทศอื่นพยายามรักษาไว้ด้วยความยากลำบาก
โลกจะอยู่ไม่ได้ หากอำนาจทางการค้าใหญ่กว่าหลักแห่งความยุติธรรม
