Sunday, 20 April 2025
ICC

หลายประเทศเท่าทัน เริ่มถอนตัวจากศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) หลังอำนาจออก 'หมายเรียก-หมายจับ' ละเมิดอธิปไตยของชาติผู้ร่วมภาคี

(20 ก.ค. 66) ผู้ใช้งานติ๊กต็อกชื่อ ‘factnotfeeling’ ได้โพสต์วิดีโอเกี่ยวกับการลงนาม ICC หรือ ศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่พรรคก้าวไกลมีนโยบายจะเข้าร่วมหากได้เป็นรัฐบาล โดยอ้างอิงจากคำพูดของ ‘หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล’ ที่ระบุว่า…

“หลังจากที่มีการกวาดต้อนให้หลาย ๆ ประเทศไปลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้ ให้เป็นภาคีต่อธรรมนูญกรุงโรม ในที่สุดแล้วหลาย ๆ ประเทศ เขาค่อยค่อยทยอยถอนตัวออกมา เพราะว่าเขาเริ่มตื่นรู้ แล้วเขาเริ่มตระหนักแล้วว่าในที่สุดแล้วอํานาจในการออกหมายเรียกและอํานาจในการออกหมายจับจากศาลอาญาระหว่างประเทศหรือ ICC มันเป็นขั้นตอนซึ่งเกิดขึ้นโดยที่เป็นการ ‘ละเมิดอํานาจอธิปไตย’ ของประเทศซึ่งไปเป็นภาคี 

ประเทศไทยพลาดมากที่ไปลงนามในปี 2543 แต่ยังไม่พลาดท่าถึงขั้น ‘ให้สัตยาบัน’ เอาจริง ๆ เรื่องนี้ไทยต้องอยู่ห่าง ๆ เลย ถ้ามันดีนักดีหนาอินเดียกับจีน เขาจะไม่เอาตั้งแต่แรกเหรอ ถ้าดีนักดีหนา ทําไมอเมริกา อิสราเอล รัสเซีย ฟิลิปปินส์ เขารู้เขาก็ถอย เขาถอนตัวหมด 

เขารู้ว่าถึงเวลามันเป็นศาลที่ให้มีการเดินเรื่องเพื่อออกหมายจับ-หมายเรียกได้ ถ้าคุณต้องการให้ประเทศใดประเทศหนึ่งไปลงนามเป็นภาคีต่อกระบวนการยุติธรรม แล้วกระบวนการยุติธรรมนั้นจะอยู่เหนือกระบวนการยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศ เสร็จแล้วกระบวนการยุติธรรมนั้น จะสามารถดําเนินคดีกับบุคคลซึ่งไม่สามารถถูกดําเนินคดีในประเทศซึ่งไปลงนามเป็นภาคีได้ 

เจตนารมณ์ของการไปลงนามคืออะไร?? มันร้ายแรงนะ เรื่องนี้คือเรื่องคอขาดบาดตาย ทําไม่ได้นะ อย่าไปคิดว่ากลไกระหว่างประเทศ มันเป็นกลไกบริสุทธิ์ผุดผ่อง กลเกมและกลไกระหว่างประเทศ มันเต็มไปด้วยการเมืองระดับโลก”

‘ส.ว.สมชาย’ ชี้!! ‘พิธา’ อธิบายเรื่อง ICC ไม่กระจ่าง

เมื่อวันที่ 13 ก.ค.66 นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปรายในรัฐสภาเกี่ยวกับเรื่อง ‘ICC’ หรือ 1 ในนโยบายที่พรรคก้าวไกลใช้หาเสียง และจะทำหากได้จัดตั้งรัฐบาล โดยระบุว่า…

"เรื่อง ICC ถามว่าทำไมประเทศไทยลงนามให้สัตยาบรรณไม่ได้ พิธาอธิบายไม่หมดที่ว่า ประเทศที่มีระบบแบบเดียวกับเราก็เข้าร่วมมากมาย ต้องชี้แจงว่าเหตุที่กัมพูชาเข้าร่วม เพราะ ICC จัดการเรื่องเขมรแดง ญี่ปุ่นเข้าร่วมเพราะแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนสหรัฐอเมริกา, รัสเซีย, จีน, อินเดีย ไม่เข้าร่วม ICC ดังนั้นต้องบอกประชาชนให้หมด"

สำหรับเรื่อง ‘ICC’ หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล ได้อธิบายไว้แล้ว สามารถตามอ่านได้ที่ https://thestatestimes.com/post/2023072013

‘รัสเซีย’ ยกระดับเอาคืน!! ขู่ขึ้นบัญชีดำหมายหัว ‘ปธ.ศาลโลก’ ปม ‘ไอซีซี’ ออกหมายจับ ‘ปูติน’ ฐานก่ออาชญากรรมสงคราม

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 66 ‘รัสเซีย’ ได้เปิดเผยว่าได้ใส่ชื่อ ‘ปิโอเตอร์ ฮอฟมันสกี’ (udge Piotr Hofmański) ประธานศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ในบัญชีต้องการตัว ความเคลื่อนไหวตอบโต้กรณีที่ศาลแห่งนี้ออกหมายจับ ‘ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน’ ตามข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงคราม

‘ฮอฟมันสกี ปิโอเตอร์ โจเซฟ’ ชาวโปแลนด์ เป็นที่ต้องการตัวภายใต้มาตรการหนึ่งของประมวลกฎหมายอาญาแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ตามประกาศฉบับหนึ่งที่ปรากฏในฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม กระทรวงมหาดไทยรัสเซียไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับคำกล่าวหาที่มีต่อ ฮอฟมันสกี

เมื่อเดือนมีนาคม ศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่มีสำนักงานใหญ่ในเมืองเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ออกหมายจับ ‘ปูติน’ ฐานก่ออาชญากรรมสงคราม ตามข้อกล่าวหาบังคับเนรเทศเด็กๆ ชาวยูเครนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนี้ ศาลอาญาระหว่างประเทศยังออกหมายจับ ‘มาเรีย ลโววา-เลโบวา’ คณะกรรมาธิการด้านสิทธิเด็กประจำทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย ในข้อหาเดียวกัน

รัฐบาลเคียฟกล่าวอ้างว่า เด็กยูเครนหลายหมื่นคนถูกนำตัวไปรัสเซียนับตั้งแต่เริ่มการสู้รบ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว โดยมีข้อมูลว่าเด็กจำนวนมากถูกส่งไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ และบ้านอุปถัมภ์ ภายใต้ความพยายามล้างสมองเด็กเหล่านั้นให้ฝักใฝ่สหพันธรัฐรัสเซีย

ก่อนหน้านี้ รัสเซียเคยออกหมายจับ ‘คาริม ข่าน’ อัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศและผู้พิพากษาหลายคน

มอสโกตอบโต้ว่า ไอซีซีไม่มีอำนาจหรือความชอบธรรมในการออกหมายจับ เพราะว่ารัสเซียไม่ได้เป็นสมาชิกและไม่เคยให้การรับรองธรรมนูญกรุงโรมปี 1998 ที่จัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศแห่งนี้

ในเดือนกันยายน ศาลอาญาระหว่างประเทศเปิดทำการสำนักงานสนามแห่งหนึ่งในยูเครน ส่วนหนึ่งในพยายามหาทางลงโทษกองกำลังรัสเซีย ต่อปฏิบัติการรุกรานยูเครนที่ได้รับการหนุนหลังจากตะวันตก

‘สหรัฐฯ’ จ่อโหวตร่างกม.คว่ำบาตร 'ศาลอาญาโลก' โต้หมายจับ 'เนทันยาฮู' ไม่หวั่น!! แม้ลบหลู่ระเบียบระหว่างประเทศที่ สหรัฐฯมีส่วนช่วยสร้างขึ้นมา

เมื่อวานนี้ (3 มิ.ย. 67) เว็บไซต์ The Hill รายงานว่า คณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ผ่านร่างรับตัวกฎหมาย ด้วยคะแนน 9-3 โดยมีวัตถุประสงค์ในการคว่ำบาตร เจ้าหน้าที่ของศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ไอซีซี เป็นการตอบสนองต่อ อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ คาริม เอ. เอ. คาน กับข้อกล่าวหาและความพยายามในการออกหมายจับต่อ นายกรัฐมนตรี นายเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล และ ผู้นำของกลุ่มฮามาส ยายาห์ ซินวา ในฐานะอาชญากรสงคราม

อย่างไรก็ตาม การตอบสนองของทำเนียบขาวก่อนหน้านี้นั้น ไม่ได้สนับสนุนตัวร่างกฎหมาย คารีน ฌอง-ปิแอร์ โฆษกของทำเนียบขาว ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อจุดยืนของทำเนียบขาวว่า แม้ว่าจะสนับสนุนการตอบโต้ข้อกล่าวหาที่เสนอโดยไอซีซี แต่ไม่ได้สนับสนุนการคว่ำบาตรต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ

"เราปฏิเสธคำร้องของอัยการไอซีซี ในการออกหมายจับผู้นำอิสราเอล แต่การจะคว่ำบาตรไอซีซีนั้น เราไม่เชื่อว่าเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพหรือเหมาะสม" คารีน กล่าว

นอกจากนี้มีรายงานว่าฝ่ายบริหารในทำเนียบขาว คัดค้านร่างกฎหมายนี้อย่างมาก และมีความเป็นไปได้สูงว่า หากตัวร่างสามารถผ่านสองสภาไปได้จนถึง ประธานาธิบดี โจ ไบเดน มีความเป็นได้สูงว่าประธานาธิบดีไบเดนจะใช้อำนาจวีโต้ของตัวเอง ในการหยุดตัวกฎหมายเอาไว้

ถึงอย่างนั้น มาตรการอื่นที่เป็นตัวเลือกตอบโต้ของสหรัฐฯ ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัด เนื่องด้วยสหรัฐฯ ไม่เคยลงสัตยาบันยอมรับอำนาจและหลักการของศาลอาญาระหว่างประเทศมาตั้งแต่ต้น ด้วยเหตุนี้ในทางปฏิบัติแล้ว สหรัฐฯ ไม่เคยอยู่ในอำนาจตุลาการของศาลอาญาระหว่างประเทศ ในขณะเดียวกันรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ก็ไม่ได้มอบเงินทุนสนับสนุนในการปฏิบัติงานของศาลอาญาโลก

โดยรายละเอียดของตัวร่างกฎหมาย ถูกนำเสนอโดยสมาชิกสภาคองเกรส จากรัฐเท็กซัสสังกัด พรรครีพับลิกัน ชิป รอย ด้วยการสนับสนุนจากสมาชิกคองเกรสคนอื่นๆ มากกว่า 60 คน โดยในด้านของรายละเอียดตัวกฎหมายประกอบด้วยมาตรการต่างๆ อย่าง การกีดกันการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินในสหรัฐฯ หรือ การเพิกถอนวีซ่าเข้าประเทศสหรัฐฯ และ มาตรการอื่นๆ โดยมีเป้าหมายเป็นเจ้าหน้าที่ของศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่ทำการสืบสวน หรือ จับกุม พลเมืองในเขตอำนาจของสหรัฐฯ รวมไปถึงพันธมิตรของสหรัฐฯ

มีรายงานว่า มีการคาดการณ์และคาดหวังว่าตัวร่างกฎหมายจะผ่านการโหวตไปในสภาคองเกรสไปอย่างง่ายได้ ด้วยที่พรรครีพับลิกันครอบครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีเสียงสนับสนุนของสมาชิกสภาคองเกรสอีกจำนวนหนึ่ง จากพรรคเดโมแครต ที่แสดงจุดยืนอย่างแข็งกร้าวในการสนับสนุนอิสราเอลในสงครามกับฮามาส แต่ว่าจุดยืนของประธานาธิบดี โจ ไบเดน อาจจะมีอิทธิพลต่อ สมาชิกสภาคองเกรสของพรรคเดโมแครตในการตัดสินใจ

แต่ในสภาสูงนั้นเป็นไปในทางตรงกันข้าม เนื่องด้วยที่สภาสูงของสหรัฐ อยู่ในการควบคุมของพรรคเดโมแครต ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าต่อให้ร่างกฎหมายจะผ่านสภาร่างมาได้ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าจะถูกปัดตกโดยการโหวตของสมาชิกวุฒิสภา

จิม แมคกอฟเวิร์น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคเดโมแครตจากมลรัฐแมสซาชูเซตส์ ให้ความเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า เป็นร่างกฎหมายที่แย่ โดยให้เหตุผลว่าศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นสถาบันที่สำคัญในการรักษา และ ปกป้องหลักการสิทธิมนุษยชนสากล โดยที่หลักศีลธรรม หรือ หลักการทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ไม่ควรส่งผลต่อการออกแบบนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในการเข้าไปขัดขวางศาลอาญาระหว่างประเทศในการทำหน้าที่โดยกำเนิดของตัวสถาบัน

โดยแมคกอฟเวิร์น ยังระบุด้วยว่า "ร่างกฎหมายนี้ จะเป็นการลบหลู่ระเบียบระหว่างประเทศ ซึ่งสหรัฐฯ มีส่วนช่วยสร้างมันขึ้นมา"

เรื่องนี้ยังคงต้องจับตา ตัวร่างกฎหมาย ที่จะเข้าสู่การประชุมและโหวตในสภาคองเกรส โดยคาดการณ์ว่าด่านแรกอย่าง สภาคองเกรสจะมีการโหวตภายในสัปดาห์หน้า

ICC ออกหมายจับ เนทันยาฮู – อดีตรมว.กลาโหมยิว ก่ออาชญากรรมสงคราม อิสราเอลโต้ หมายจับไร้สาระ โวยเป็นการต่อต้านชาวยิว

(22 พ.ย.67) เว็บไซต์ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ออกประกาศหมายจับกรณีอาชญากรรมสงคราม ต่อนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล และนายโยอาฟ กัลเเลนต์ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของอิสราเอล โดย ICC ระบุว่าทั้งผู้นำอิสราเอลและอดีตรัฐมนตรีกลาโหมมีส่วนใช้วิธีทำให้ผู้คนขาดแคลนอาหารเป็นยุทธวิธีการทำสงคราม ซึ่งเป็นอาชญากรรมต่อมุษยชาติ ซึ่งรวมถึงการสังหาร กดขี่ประหัตประหาร รวมทั้งพฤติกรรมอื่น ๆ ที่ปราศจากความปรานี

นอกจากหมายจับทั้งสองแล้ว ICC ยังได้ออกหมายจับมูฮัมมัด เดอิฟ หัวหน้าฝ่ายทหารของฮามาสในฉนวนกาซา ในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งรวมถึงการสังหาร จับตัวประกันและความรุนเเรงทางเพศ 

หลังการออกประกาศดังกล่าว ด้านสำนักงานของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอล ปฏิเสธการตัดสินใจของศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่ออกหมายจับตัวเขาและโยอาฟ กัลเเลนต์ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของอิสราเอล แถลงการณ์ของเนทันยาฮูระบุว่า นี่คือวันที่มืดมนที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติต่าง ๆ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรุงเฮก ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อปกป้องมนุษยชาติ กลายมาเป็นศัตรูของมนุษยชาติในวันนี้ อิสราเอลขอแสดงความรังเกียจต่อการกระทำที่ไร้สาระและเป็นเท็จของศาลอาญาระหว่างประเทศ และเรียกการกระทำดังกล่าวว่าเป็นการต่อต้านชาวยิว

ทั้งนี้ หมายจับเนทันยาฮู และกัลแลนต์ เป็นการกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติระหว่างปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในฉนวนกาซาตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม ปีที่แล้ว

วิบากกรรมของ ‘โรดรีโก ดูแตร์เต’ เผชิญหมายจับ ICC อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่ชาติตะวันตกไม่ชอบ

(20 มี.ค. 68) เมื่อไม่นานมานี้ ฟิลิปปินส์กลับกลายเป็นข่าวดังทั่วโลก เมื่อ โรดรีโก ดูแตร์เต อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ช่วงปี ค.ศ.2016–2022 ถูกจับกุมตามหมายจับของ ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของผู้นำที่มีความขัดแย้งอย่างมากกับชาติตะวันตก

หมายจับนี้ออกโดยศาลอาญาระหว่างประเทศในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2025 และจับกุม ดูแตร์เต เมื่อเขากลับมาจากฮ่องกงในวันที่ 11 มีนาคม 2025 โดยข้อกล่าวหาที่ ICC ยื่นฟ้องนั้นเกี่ยวข้องกับการ ฆาตกรรม, ทรมาน และข่มขืน ที่เกิดขึ้นระหว่าง 1 พฤศจิกายน 2011 ถึง 16 มีนาคม 2019 ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ฟิลิปปินส์ถือเป็นประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของ ICC แต่หมายจับถูกส่งผ่าน INTERPOL ทำให้เขากลายเป็นผู้นำฟิลิปปินส์คนแรกที่ต้องขึ้นศาลระหว่างประเทศ

ช่วงที่ ดูแตร์เต ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาได้ริเริ่มนโยบายที่ทำให้เกิดการ ปราบปรามยาเสพติด อย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน โดยที่รัฐบาลฟิลิปปินส์อ้างว่าเป็นการจัดการกับ ผู้ค้ายาเสพติด แต่ในทางกลับกัน หลายประเทศในตะวันตกมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ซึ่งทำให้เขาต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์จากทั่วโลก

ถึงแม้จะถูกวิจารณ์หนักจากนานาชาติ แต่ คะแนนความนิยมในประเทศ ของเขาก็ยังคงสูง โดยเฉพาะในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ และจากการสนับสนุนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคน ซึ่งทำให้เขาดำรงตำแหน่งได้อย่างมั่นคง

แม้ว่า มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของฟิลิปปินส์ เคยประกาศว่า ฟิลิปปินส์จะไม่ให้ความร่วมมือในการสอบสวน ICC แต่รัฐบาลภายใต้การนำของ มาร์กอส จูเนียร์ ได้เปลี่ยนแปลงจุดยืนและตัดสินใจให้ความร่วมมือในการดำเนินคดีต่อดูแตร์เต

การจับกุม ดูแตร์เต ถือเป็นการพลิกโฉมหน้าของประวัติศาสตร์ทางการเมืองฟิลิปปินส์ เพราะเขาได้กลายเป็นผู้นำคนแรกจากเอเชียที่ถูก ศาลอาญาระหว่างประเทศ ฟ้อง โดยต้องถูกพิจารณาคดีในวันที่ 23 กันยายน 2025 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์สำคัญของการยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการสร้างความยุติธรรมในระดับสากล

พร้อททั้งส่งผลให้สะท้อนถึง การเผชิญหน้าระหว่างการเมืองภายในประเทศ และความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก ก็ยังเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า ICC มีอำนาจในการดำเนินคดีแม้แต่กับผู้นำประเทศใหญ่ในเอเชีย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออำนาจและอิทธิพลของผู้นำในอนาคต

หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่เคยถูกขับไล่จากตำแหน่งและถูกกล่าวหาว่าทุจริตอย่างมโหฬาร จนมีทรัพย์สินมหาศาลกว่า 5,000-10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ 36 ปีต่อมา ลูกชายของเขา มาร์กอส จูเนียร์ กลับได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ขณะที่ ดูแตร์เต ก็ต้องเผชิญกับวิบากกรรมที่เกิดจากนโยบายของเขาเอง

อนาคตของ โรดรีโก ดูแตร์เต ดูเหมือนจะมีหลายคำถามที่ยังไม่สามารถตอบได้ ในขณะที่เขาเผชิญกับการพิจารณาคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ และประเทศฟิลิปปินส์กำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญ

‘ศาลอาญาระหว่างประเทศ’ ตั้งขึ้นเพื่อ!! จัดการคนไม่ดี หรือ!! จัดการ ‘คนที่เป็นปรปักษ์กับชาติตะวันตก’ กันแน่

ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ International Criminal Court ที่เรารู้จักกันในชื่อย่อว่า ICC นั้น  มีเรื่องแปลกอย่างหนึ่งหากใครไปพิจารณาถึงรายชื่อผู้ที่เป็นอาชญากรในลิสต์ของ ICC จะเห็นบางสิ่งที่ตรงกันคือเกือบทั้งหมดนั้นคือ กลุ่มที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับชาติตะวันตกยกตัวอย่างเคสแรกก็คือ Joseph Kony

นายโจเซฟ โคนี คนนี้เป็นหัวหน้าของกลุ่ม Lord's Resistance Army เรียกสั้นๆ ว่า LRA เป็นกลุ่มกองโจรที่ทางตะวันตกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายในอูกานดา โคนีถูกกล่าวหาว่าจับเด็กผู้ชายมาเป็นทหาร จับเด็กผู้หญิงมาเป็นทาสบำเรอกาม จนถูกศาลอาญาระหว่างประเทศออกหมายจับ อีกทั้งในชาติตะวันตกมีการทำแคมเปญรณรงค์ในชื่อ Invisible children ในปี 2012 และมีการส่งทหารเข้าไปที่แอฟริกาเพื่อไล่ลาโคนี   แต่ที่แปลกคือ ในปี 2015 มือขวา ของโคนี ก็มามอบตัว ทำให้กองกำลังของโคนีระส่ำระสายมากๆ ซึ่งมือขวาผู้มอบตัวก็เผยว่า จริงๆ ในตอนนั้น ผู้ภักดีกับโคนีใน LRA ก็เหลือน้อยแล้วเช่นกัน ซึ่งสุดท้ายชะตากรรมของมือขวาของโคนีก็ถูกศาลโลกตัดสินคดีว่ามีความผิดไปหลายสิบกระทง (แปลกไหม….อยู่ดีๆ มาให้จับเพื่อเข้าคุก) สุดท้ายในปี 2017 ทั้งทางรัฐบาลอูกันดาและสหรัฐอเมริกาก็ประกาศร่วมกันว่าจะยกเลิกการไล่ล่า โจเซฟ โคนี เพราะตอนนั้นเขาประเมินว่ากองกำลังที่เคยยิ่งใหญ่ระดับกำลังพล 3,000 นาย หดเหลือแค่ประมาณ 100 คนเท่านั้น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นภัยความมั่นคงต่อไปและปัจจุบันมีรายงานว่า โจเซฟ โคนี สุขภาพไม่สู้ดีและกบดานอยู่ที่เมืองนาโซกา สาธารณรัฐแอฟริกากลาง ประเด็นคือถึงเขาไม่เป็นภัยต่ออูกานดาแล้วทำไมเขาไม่เป็นภัยต่อสาธารณรัฐแอฟริกากลาง เขาจึงสามารถที่จะอยู่ได้โดยปลอดภัยแม้จะมีอายุมากแล้วก็ตาม  หรือความจริงแล้วคือในขณะนั้นอูกานดามีความสัมพันธ์อะไรบางอย่างกับสหรัฐฯแล้ว นายโจเซฟ โคนีก็คือกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอูกานดาในขณะนั้น ดังนั้นจึงมีการจัดฉากให้นายโคนี คนนี้เป็นผู้ก่อการร้ายเสียเพื่อจะได้เอากองกำลังต่างชาติเข้ามาจัดการได้

ว่าแล้วเรื่องจับเด็กไปเป็นทหารก็มีเรื่องน่าแปลกนะคะ เพราะในเมียนมาเองก่อนที่จะมีข่าวการเกณฑ์ทหารของหนุ่มสาวชาวเมียนมาก็มีข่าวมาตลอดว่ากองกำลังชาติพันธุ์ออกมาจับเด็กชายเอาไปฝึกเป็นทหารของตน โดยภาพที่ออกมามีทั้งกองกำลังที่อยู่ติดชายแดนไทยและกองกำลังที่ติดชายแดนจีน แต่ที่น่าแปลกคือว่าทำไม ICC ไม่มาออกหมายจับผู้นำเหล่านี้บ้าง

หากดูในลิสต์ต่อๆ มาจะพบว่าทุกคนในหมายจับของ ICC คือกลุ่มคนที่เป็นปรปักษ์กับชาติตะวันตกหรือปรปักษ์กับพันธมิตรของตะวันตกทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของปูตินในรัสเซีย ที่โดนหมายจับตั้งแต่ที่ 2023-24 หรือกลุ่มกบฏลิเบียรวมถึงล่าสุดคืออดีตประธานาธิบดีโรดรีโก ดูแตร์เต ที่ถูกรวบตัวที่สนามบินในกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ ในข้อหาฆ่าผู้บริสุทธิ์จากการทำสงครามยาเสพติดจนทำให้มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตจำนวนมาก น่าประหลาดนะคะที่ประเทศไทย คนที่ออกนโยบายทำสงครามยาเสพติดในประเทศไทย  ในปัจจุบันนี้ยังลอยหน้าลอยตาใช้ชีวิตสุขสบายไม่เห็นโดนคดีเหมือนดูแตร์เต้ เอย่าเลยไปขุดค้นหาข้อมูลและพบว่า การที่ดูแตร์เต้ถูกจับเพราะส่วนหนึ่งคือการดำเนินนโยบายที่เป็นกลางไม่เอียงข้างไปยังฝั่งอเมริกา  ซึ่งนั่นก็น่าจะเป็นสาเหตุที่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าคดีนี้เป็นการเช็คบิลของอเมริกาโดยใช้อำนาจของประธานาธิบดีมาร์กอสคนลูกที่ตอนนี้เป็นหมาน้อยของอเมริกาไปแล้ว

มาถึงฝั่งเมียนมาอีกครั้งถามว่าทำไม มิน อ่อง หล่าย ถึงไม่เป็นผู้โดนหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญาละ เรื่องนี้มีที่มาที่ไปง่ายมาก กล่าวคือ ในปี 2017 เมื่อเกิดวิกฤตการณ์โรฮิงญาครั้งใหญ่ ภายหลังกองกำลังติดอาวุธโรฮิงญา ในนาม ARSA (Arakan Rohingya Salvation Army) เข้าโจมตีฐานที่มั่นของตำรวจในรัฐอาระกัน จนเป็นเหตุให้มีตำรวจเสียชีวิต 12 นาย เป็นผลให้กองทัพเมียนมาเปิดฉากโจมตีเขตของชาวโรฮิงญาในรัฐอาระกันตอนเหนือ ตอบโต้กองกำลังก่อการร้ายดังกล่าว  และเช่นเดียวกับโจรใต้โมเดล เมื่อกองกำลังกองการร้ายสู้ไม่ได้ก็ใช้วิธีหนีเข้าไปแอบในชุมชน ดังจะเห็นได้ชัดภายหลังที่มีกลุ่ม PDF ซึ่งก็ใช้วิธีเดียวกันหากสู้กองทัพเมียนมาไม่ได้  แต่กองทัพเมียนมากลับเลือกที่จะเผาชุมชนนั้นเสียเพราะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากชาวบ้านในพื้นที่ และเช่นกัน ณ เวลานั้น นาง อองซาน ซูจีและพรรค NLD ที่ตอนนั้นเป็นแขนขาให้กับฝ่ายประเทศตะวันตกในเมียนมามีอำนาจ และนั่นทำให้หากจะต้องฟ้อง มิน อ่อง หล่ายในฐานะอาชญากรฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็จะต้องมีชื่อของประธานาธิบดีและนางซูจีติดเข้าไปด้วยอย่างแน่นอน ที่นี่น่าจะเป็นสาเหตุว่าทำไม มิน อ่อง หล่ายไม่โดนหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศนั่นเอง

มาถึงจุดนี้สรุปศาลนี้มีไว้เพื่อจัดการคนไม่ดี หรือ จัดการคนที่เป็นปรปักษ์กับชาติตะวันตกกันแน่….


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top