Monday, 21 April 2025
HARRIS

โลกระทึก 7 Swing States ทรัมป์ คะแนนนำ แฮร์ริส 4 ต่อ 2 รัฐ

(6 พ.ย. 67) ยังสูสีพร้อมพลิกกลับได้เสมอ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ขณะนี้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาปิดหีบไปแล้วส่วนใหญ่ที่ 41 รัฐจากทั้งหมด 50 รัฐ โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่รัฐสวิงสเตต (Swing States) ซึ่งจากผลคะแนนตอนนี้โดนัลด์ ทรัมป์" แทบจะสูสีกันแบบคนละครึ่งกับ "คามาลา แฮร์ริส"

ทรัมป์มีคะแนนนำใน 4 รัฐ คือ จอร์เจีย, มินเนโซตา, นอร์ทแคโรไลนา และวิสคอนซิน 

ส่วนแฮร์ริสมีคะแนนนำในรัฐ 2 รัฐ คือ มิชิแกน และเพนซิลเวเนีย 

ก่อนหน้านี้ด้านสำนักข่าว NBC เผยผลสำรวจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวสหรัฐช่วงระหว่างวันที่ 30 ต.ค. ถึง 2 พ.ย. โดยพบว่าจากผลสำรวจทั้งนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกกัน และนางกมลา แฮร์ริส ผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครต มีคะแนนผลสำรวจที่สูสีเท่ากับ ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ของนักวิเคราะห์หลายฝ่ายที่เชื่อว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2024 นี้ผู้สมัครทั้งสองจะต้องอาศัยการชิงชัยในพื้นที่รัฐสวิงสเตท (Swing States) ที่จะเป็นตัวตัดสินว่าใครจะก้าวสู่ทำเนียบขาว

สำหรับรัฐสวิงสเตทที่จะเป็นตัวชี้ขาดของทั้งสองฝ่ายประกอบด้วย รัฐเนวาดา, รัฐแอริโซนา, รัฐวิสคอนซิน, รัฐมิชิแกน, รัฐเพนซิลเวเนีย, รัฐนอร์ทแคโรไลนา, และรัฐจอร์เจีย

สำหรับผลโพลสำรวจผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในแต่ละรัฐสวิงสเตทพบว่า ทั้งกมลา แฮร์ริสและนายโดนัลด์ ทรัมป์มีคะแนนเสียงสูสีในสวิงสเตททั้ง 7 รัฐ โดยผลสำรวจล่าสุดแสดงให้เห็นว่า รองประธานาธิบดีแฮร์ริสมีคะแนนนำเพียงเล็กน้อยในรัฐเนวาดา นอร์ทแคโรไลนา และวิสคอนซิน ส่วนอดีตประธานาธิบดีทรัมป์มีคะแนนนำเพียงเล็กน้อยในรัฐแอริโซนา ขณะที่ทั้งคู่มีคะแนนสูสีกันในรัฐมิชิแกน จอร์เจีย และเพนซิลเวเนีย

รัฐเพนซิลเวเนีย
เพนซิลเวเนียเคยเป็นรัฐที่เดโมแครตวางใจได้ แต่ปัจจุบันเดโมแครตไม่สามารถยึดฐานเสียงในรัฐคีย์สโตนได้อีกต่อไป ทรัมป์จากพรรครีพับลิกันเคยชนะเสียงข้างมากในรัฐนี้ ซึ่งมีประชากร 13 ล้านคน ด้วยคะแนนนำ 0.7% ในปี 2016 จากนั้นไบเดนก็สามารถเอาชนะในรัฐนี้ได้ด้วยคะแนนนำ 1.2% ในปี 2020

รัฐแอริโซนา
โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะในรัฐแอริโซนาในปี 2016 ด้วยคะแนนเกือบ 4 เปอร์เซ็นต์ แต่แพ้รัฐนี้ให้กับโจ ไบเดนในปี 2020 ด้วยคะแนนน้อยกว่าครึ่งเปอร์เซ็นต์ การสำรวจความคิดเห็นในปีนี้พบว่าทรัมป์และกมลา แฮร์ริสมีคะแนนเท่ากัน

รัฐวิสคอนซิน
วิสคอนซินเป็นรัฐที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดระหว่างพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน โดยโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งที่นั่นในปี 2016 ด้วยคะแนนน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนโจ ไบเดนชนะการเลือกตั้งที่นั่นในปี 2020 ด้วยคะแนนน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน

รัฐจอร์เจีย
โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะในรัฐจอร์เจียในปี 2016 ด้วยคะแนนประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่แพ้ให้กับโจ ไบเดนในปี 2020 ด้วยคะแนนน้อยกว่า 12,000 คะแนน การแข่งขันในปีนี้เป็นการเสี่ยงดวง โดยทรัมป์และแฮร์ริสมีคะแนนเท่ากันในการสำรวจความคิดเห็น

รัฐมิชิแกน
โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งในรัฐมิชิแกนในปี 2016 สร้างความประหลาดใจให้กับพรรคเดโมแครตในรัฐที่พรรครีพับลิกันไม่เคยชนะเลยตั้งแต่ปี 1988 โจ ไบเดนชนะในรัฐนั้นในปี 2020 โดยเอาชนะทรัมป์ไป 3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อกมลา แฮร์ริสและทรัมป์มีคะแนนเท่ากันในทางสถิติ จึงเป็นการเสี่ยงดวงก่อนวันเลือกตั้ง

รัฐเนวาดา 
พรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเนวาดาใน 2 ครั้งล่าสุด แต่ผลสำรวจและแนวโน้มการลงคะแนนในรัฐทำให้รัฐนี้กลายเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจสำหรับโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อพยายามเปลี่ยนรัฐให้หันมาสนใจเขา กมลา แฮร์ริสและทรัมป์มีคะแนนเท่ากัน และรัฐนี้ถือเป็นรัฐที่ “เสี่ยงดวง”

รัฐนอร์ทแคโรไลนา
รัฐนอร์ทแคโรไลนาไม่ได้ลงคะแนนให้พรรคเดโมแครตเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2008 แต่ทีมหาเสียงของกมลา แฮร์ริสตั้งเป้าว่ารัฐนี้จะเป็นรัฐที่เธอสามารถชนะได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากประชากรผิวดำจำนวนมาก โดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งในรัฐนี้ในปี 2016 ด้วยคะแนน 3 เปอร์เซ็นต์ และในปี 2020 ด้วยคะแนน 1 เปอร์เซ็นต์

'ทรัมป์' ลั่นสร้างยุคทองของอเมริกา ประกาศชัยชนะเหนือแฮร์ริส คว้าเก้าอี้ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47

(6 พ.ย.67) โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเวทีประกาศชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลังผลการนับคะแนนเบื้องต้นชี้ว่า เขาในฐานะผู้สมัครจากพรรครีพับลิกกันมีคะแนนนำนางกมลา แฮร์ริส คู่แข่งจากพรรคเดโมแครตแบบทิ้งห่างกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยนายทรัมป์ได้กวาดคะแนนเสียงในรัฐสำคัญทั้ง จอร์เจีย เพนซิลเวเนีย นอร์ทแคโรไลนา เซาท์แคโรไลนา และฟลอริด้า ได้ทั้งหมด ทำให้คามาลา แฮร์ริส แคนดิเดตพรรคเดโมแครตเหลือโอกาสน้อยลงทุกทีในการคว้าชัยชนะ เนื่องจากขณะนี้ทรัมป์มีคะแนนนำในสะวิงสเตตอีก 3 รัฐที่เหลือ ขณะที่คะแนนรวมขณะนี้อยู่ที่ 195 ต่อ 266 เรียกได้ว่าทรัมป์ใกล้คว้าชัยเต็มทีที่ต้องการคะแนน 270 เสียง

ในการขึ้นเวทีอ้างชัยชนะ นายทรัมป์กล่าวกับบรรดาผู้สนับสนุนเขาที่มารวมตัวกันที่ศูนย์ประชุมปาล์มบีช เคาน์ตี้ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ ในรัฐฟลอริดา ว่า

“ผมขอขอบคุณประชาชนชาวอเมริกันสำหรับเกียรติอันยิ่งใหญ่ที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 และประธานาธิบดีคนที่ 45 ของท่าน” ทรัมป์กล่าวต่อผู้สนับสนุนที่ศูนย์ประชุมในเวสต์ปาล์มบีช รัฐฟลอริดา โดยมีครอบครัวและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทีมหาเสียงของเขายืนเคียงข้าง

“เราจะช่วยเยียวยาประเทศของเรา … เราจะแก้ไขทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับประเทศของเรา” ทรัมป์กล่าว และเสริมว่า “เราสร้างประวัติศาสตร์ในค่ำคืนนี้เพื่อเหตุผลบางอย่าง … นี่จะเป็นยุคทองของอเมริกาอย่างแท้จริง”

ในระหว่างที่นายทรัมป์กล่าวปราศรัย เขายังได้กล่าวยกย่องนายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก เจ้าของเทสลา และสเปซเอ็กซ์ ที่ทุ่มเงินราว 120 ล้านดอลลาร์ในการสนับสนุนการหาเสียงของนายทรัมป์ โดยนายทรัมป์กล่าวว่า เขาจะแต่งตั้งนายทรัมป์ให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการด้านประสิทธิภาพของรัฐบาล

Foxnews สื่อสายอนุรักษนิยมถือเป็นสื่อแรกที่ออกมาประกาศว่าทรัมป์เป็นผู้คว้าชัยและจะกลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 47 และเป็นบุคคลที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยที่ 2 ที่ไม่ต่อเนื่องกัน

ด้านสำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) รายงานว่า ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่าแฮร์ริสจะกล่าวสุนทรพจน์ต่อผู้สนับสนุนของเธอในคืนวันอังคารที่มหาวิทยาลัยฮาเวิร์ดในวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งเธอเป็นศิษย์เก่า แต่แฮร์ริสเลือกตัดสินใจที่จะไม่กล่าวสุนทรพจน์ในวันดังกล่าว และจะเลื่อนไปกล่าวสุนทรพจน์ในวันพุธแทนเพื่อรอความชัดเจนของผลคะแนน

รัสเซียชูไอเดีย 'รีเซ็ตการทูต' ฟื้นสัมพันธ์สหรัฐฯ หลังทรัมป์ชนะ

(6 พ.ย. 67) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นาย Kirill Dmitriev ผู้บริหารกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของรัสเซีย ซึ่งใกล้ชิดทำเนียบเครมลินกล่าว ว่า โอกาสใหม่ๆ ในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างมอสโกและวอชิงตันได้เปิดขึ้นแล้ว หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ โดยความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติบั่นทอนลงอย่างมากในรอบ 4 ปีนับตั้งแต่สงครามขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ปะทุขึ้นในปี 2022 ทำให้ความสัมพันธ์ของวอชิงตันกับมอสโกย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาในปี 1962

Dmitriev กล่าวว่า ชัยชนะของทรัมป์และพรรครีพับลิกันทั้งในทำเนียบขาวและวุฒิสภาสะท้อนว่าคนอเมริกันทั่วไปเบื่อหน่ายกับการโกหก ความไร้ความสามารถ และความอาฆาตพยาบาทที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนของรัฐบาลไบเดน

Dmitriev  อดีตนายธนาคารโกลด์แมนแซคส์ ซึ่งเคยมีสายสัมพันธ์กับทีมงานของทรัมป์ยังกล่าวอีกว่า “นี่เปิดโอกาสใหม่ๆ สำหรับการรีเซตความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและสหรัฐฯ” 

ทั้งนี้ ในปี 2009 ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในขณะนั้น เคยเสนอแนวคิดการ "รีเซ็ต" ความสัมพันธ์กับมอสโก แต่เนื่องจากข้อผิดพลาดในการแปลที่ชัดเจน ประกอบกับสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะประเด็นการผนวกดินแดนไครเมีย ทำให้การรีเซ็ตความสัมพันธ์ระหว่างประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน และบารัค โอบามา ก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร

ผู้นำนานาชาติร่วมยินดี 'โดนัลด์ ทรัมป์' คัมแบ็คปธน.สหรัฐ

(6 พ.ย. 67) ภายหลังที่โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน ประกาศชัยชนะในศึกการเลือกตั้งเหนือนางกมลา แฮร์ริส ผู้ท้าชิงจากพรรคแดโมแครต ซึ่งนับเป็นการหวนคืนกลับทำเนียบขาวอีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่ในรอบ 4 ปี

บรรดาผู้นำจากหลากหลายประเทศเริ่มส่งข้อความแสดงความยินดีแก่นายทรัมป์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในหลายแพลตฟอร์ม อาทิ

โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน โพสต์ข้อความบน X ว่า "ย้อนกลับไปเดือนกันยายน ตอนที่ผมพบกับประธานาธิบดีทรัมป์ เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างยูเครนและสหรัฐ  แผนแห่งชัยชนะ และวิธียุติการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

ผมชื่นชมความมุ่งมั่นของประธานาธิบดีทรัมป์ต่อแนวทางสันติภาพด้วยความแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นหลักการนำสันติภาพอันแท้จริงมาสู่ยูเครน เรามองเห็นยุคสมัยแห่งความเข้มแข็งภายใต้ภาวะผู้นำอันเด็ดขาดของประธานาธิบดีทรัมป์ และยูเครนยังคงพึ่งพาการสนับสนุนทวิภาคีอันเข้มแข็งจากสหรัฐต่อไป
เราทั้งสองชาติยังคงสนใจที่จะพัฒนาผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจร่วมกัน ยูเครนในฐาน

ที่เป็นหนึ่งในกองกำลังทหารที่แข็งแกร่งที่สุดของยุโรป ให้คำมั่นว่าจะรักษาความสงบสุขและความมั่นคงในยุโรป ชุมชนพันธมิตรลุ่มสมุทรแอตแลนติกต่อไป หากยังมีการสนับสนุนจากพันธมิตร"

เบนจามิน เนทันยาฮู  นายกรัฐมนตรีอิสราเอล โพสต์บนแพลตฟอร์ม X ว่า “ถึง โดนัลด์ และเมลาเนีย ทรัมป์ ขอแสดงความยินดีกับการหวนคืนทำเนียบขาวครั้งยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับอเมริกาและคำมั่นสัญญาอันทรงพลังต่อพันธมิตรอันยิ่งใหญ่ระหว่างอิสราเอลและอเมริกา ”

นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย โพสต์ข้อความบน X แสดงยินดีกับทรัมป์ว่า “ขอแสดงความยินดีอย่างสุดหัวใจเพื่อนของผม @realDonaldTrump สำหรับชัยชนะการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของคุณ”

เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ส่งสารแสดงความยินดีมีใจความว่า "ขอแสดงความยินดีกับชัยชนะอันยิ่งใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ของทรัมป์ ผู้ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี ผมรอคอยที่จะได้ร่วมทำงานกับคุณไปอีกหลายปีต่อจากนี้

ในฐานะพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุด เราเคียงบ่าเคียงไหล่กันเพื่อปกป้องคุณค่าที่เรายึดถือร่วมกัน ทั้งเสรีภาพ ประชาธิปไตย และกิจการสำคัญต่างๆ ผมรู้ว่าสหราชอาณาจักรและสหรัฐจะยังคงเจริญไมตรีของทั้งสองฟากฝั่งของแอตแลนติกต่อไปอีกหลายปีจากนี้”

เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส โพสต์ว่า “ขอแสดงความยินดีกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมที่จะทำงานร่วมกันเหมือนอย่างที่รู้ดีว่าจะทำอย่างไรในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ด้วยความเชื่อมั่นของคุณกับผม ด้วยความเคารพและความทะเยอทะยาน เพื่อสันติภาพและเจริญมากขึ้น”

จอร์เจีย เมโลนี นายกรัฐมนตรีหญิงของอิตาลี ระบุผ่านโพสต์ว่า ขอแสดงความยินดีกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อิตาลีและสหรัฐฯถือเป็นพันธมิตรที่มั่นคง มันเป็นสายสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งฉันมั่นใจว่าเราจะยิ่งแข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปอีก

ดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัสเซียโพสต์ทางบัญชีเทเลแกรมว่า “ทรัมป์ มีคุณสมบัติหนึ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับเรา เขาเป็นนักธุรกิจโดยแก่นแท้ เขาไม่ชอบใช้จ่ายเงินให้กับพวกคนสอพลอ พันธมิตรสอพลอ โครงการการกุศลที่ไม่ดี และพวกองค์กรระหว่างประเทศที่โลภมาก”

ทั้งนี้ นายทรัมป์ วัย 78 ปี เคยกล่าวให้คำมั่นในหลายครั้งว่า เขาจะยุติสงครามในยูเครนอย่างรวดเร็วหากได้รับการเลือกตั้ง แม้ว่าเขาจะไม่ได้อธิบายว่าเขาจะทำได้อย่างไรก็ตาม

เปิดปัจจัย คามาลา แฮร์ริส พ่ายแพ้ แม้แต่ผู้ใช้แรงงานยังโหวตทรัมป์

(7 พ.ย.67) นางคามาลา แฮร์ริส ได้ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้หลังทราบผลการเลือกตั้ง ต่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ โดยกล่าวกับผู้สนับสนุนว่า จะต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง และเผยว่าก่อนหน้านี้ได้ต่อสายถึงโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน พร้อมแสดงความจำนงว่าร่วมมือถ่ายโอนอำนาจการบริหารประเทศ พร้อมกับโจ ไบเดน ผู้นำคนปัจจุบัน

ภายหลังการทราบผลเลือกตั้ง สำนักข่าวรอยเตอร์ได้เผยบทความวิเคราะห์ถึงความพ่ายแพ้ของนางแฮร์ริสซึ่งถือว่าเธอทำคะแนนได้แย่กว่าที่คาดคิด โดยรอยเตอร์วิเคราะห์ว่า นางแฮร์ริสซึ่งมาจากพรรคเดโมแครตนั้นกลับไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากสหภาพแรงงานทรงอิทธิพลแห่งหนึ่งซึ่งเคยเป็นพันธมิตรของพรรคเดโมแครตมาอย่างยาวนาน กลายเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เธอพ่ายแพ้ 

ในการประชุมระหว่างแฮร์ริสกับสหภาพแรงงาน (International Brotherhood of Teamsters) ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของเดโมแครตเมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา แฮร์ริสกล่าวว่าเธอเองจะปกป้องงานของสหภาพแรงงานและความเป็นอยู่ของคนงานได้ดีกว่า โดนัลด์ ทรัมป์  

แต่สหภาพแรงงานกลับไม่เชื่อมั่นในคำพูดของเธอ แม้เธอจะแย้งว่าทรัมป์ไม่ใช่ผู้สนับสนุนชนชั้นแรงงาน ผู้นำสหภาพแรงงานจึงถามเธอว่า ตัวเธอเองและประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ช่วยเหลือคนงานเพียงพอแล้วหรือยัง ไม่กี่วันหลังจากนั้นสหภาพแรงงานทีมสเตอร์ได้ออกมาปฏิเสธที่จะสนับสนุนผู้ชิงตำแหน่งจากพรรเดโมแครต ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 28 ปี ที่สหภาพแรงงานออกมาเคลื่อนไหวไม่สนับสนุนพรรคฝ่ายซ้ายอย่างเดโมแครต

รอยเตอร์ยังวิเคราะห์ต่อว่า แคมเปญหาเสียงของทีมแฮร์ริสก็เป็นอีกปัญหาที่ทำให้เธอต้องพ่ายแพ้ เพราะเธอนอกจากผู้สมัครชิงตำแหน่งแล้วยังถือเป็นรองประธานาธิบดีที่อยู่ในรัฐบาลไบเดน ซึ่งประสบปัญหาในการเอาชนะเงินเฟ้อและการย้ายถิ่นฐาน ซึ่งเป็นประเด็นคู่ขนานที่การสำรวจความคิดเห็นแสดงให้เห็นว่าทรัมป์ได้คะแนนจากเรื่องเหล่านี้ 

“การพ่ายแพ้ของเธอเน้นย้ำถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการการเมืองของอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นคนใช้แรงงาน (Blue-collar voter) หันมาสนับสนุนพรรครีพับลิกันมากขึ้น" เมลิสสา เด็กแมน (Melissa Deckman) นักรัฐศาสตร์และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทวิจัย พับลิก รีลิเจียน รีเสิร์ช อินสทิทิวต์  ให้ความเห็นว่า แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐในยุคหลังโควิด-19 จะเติบโตค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่กลับรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เจริญก้าวหน้าขึ้นในทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ทีมหาเสียงของแฮร์ริสอธิบายได้ไม่ดีนักว่านโยบายของเธอจะช่วยเหลือชนชั้นกลางได้อย่างไร ข้อความในการหาเสียงของเธอไม่ได้สร้างความประทับใจให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากนัก

สีจิ้นผิงแสดงความยินดี โดนัลด์ ทรัมป์ กลับทำเนียบขาว

(7 พ.ย. 67) ซินหัวรายงานว่า โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่าจีนขอแสดงความยินดีกับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ

โฆษกกล่าวคำข้างต้นระหว่างตอบคำถามเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ออกมาแล้ว และโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันเป็นผู้คว้าชัยชนะ

โฆษกระบุว่าจีนเคารพการเลือกของประชาชนชาวอเมริกัน และขอแสดงความยินดีกับทรัมป์ที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ

"จีนเคารพการเลือกของประชาชนชาวอเมริกัน และขอแสดงความยินดีกับทรัมป์ที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ"

เหมาหนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ยังกล่าวว่าอีกว่านโยบายของจีนที่มีต่อสหรัฐฯ นั้นยังคงมีความสอดคล้องกัน

เหมากล่าวระหว่างการแถลงข่าวประจำวันเพื่อตอบคำถามในประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นกิจการภายในของสหรัฐฯ และ “เราเคารพในทางเลือกของประชาชนชาวอเมริกัน”

ทั้งนี้ เหมาระบุว่า “นโยบายของจีนต่อสหรัฐฯ ยังคงมีความสอดคล้องกัน” โดยชี้ว่าจีนจะยังคงมีมุมมองและจัดการความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ โดยยึดหลักการความเคารพซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top