Tuesday, 22 April 2025
Greenland

ทรัมป์ปลุกประเด็นเดือด! ฟื้นไอเดียครอบครอง 'กรีนแลนด์' ย้ำเพื่อความมั่นคงโลก

(23 ธ.ค.67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวผ่านแพลตฟอร์มโซเชียล Truth Social โดยยืนยันถึงการฟื้นแนวคิดการเป็นเจ้าของพื้นที่กรีนแลนด์ ซึ่งทรัมป์มองว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง

"เพื่อความมั่นคงและส่งเสริมเสรีภาพทั่วโลก สหรัฐอเมริกาเห็นว่าการเป็นเจ้าของและควบคุมพื้นที่กรีนแลนด์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง" 

ทรัมป์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เขาได้เสนอชื่อนาย เคน ฮาวเวอรี อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสวีเดนและนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำเดนมาร์กคนใหม่ โดยทรัมป์เชื่อมั่นว่าฮาวเวอรีจะ "ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในการเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของสหรัฐฯ"   

ย้อนไปในปี 2019 สื่อหลายแห่งรายงานว่าทรัมป์มีความสนใจที่จะซื้อกรีนแลนด์ ซึ่งต่อมาเขาเองยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่าเป็นความสนใจเชิงยุทธศาสตร์ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกรีนแลนด์ย้ำว่ากรีนแลนด์ไม่ใช่สินค้าที่จะขายได้ ขณะที่รัฐบาลเดนมาร์กแสดงความหวังว่าทรัมป์กำลังพูดเล่น และเรียกแนวคิดการขายกรีนแลนด์ว่า 'ไร้สาระ'

สำหรับกรีนแลนด์ปัจจุบันถือเป็นดินแดนอาณานิคมของเดนมาร์กถึงปี 1953 แม้ว่าจะยังเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเดนมาร์ก แต่ในปี 2009 กรีนแลนด์ได้รับสิทธิ์ปกครองตนเองและสามารถตัดสินใจเรื่องนโยบายภายในประเทศได้อย่างอิสระ

'ทรัมป์' ส่งลูกชายเยือนกรีนแลนด์ เชื่อหวังฮุบน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ

(8 ม.ค.68) โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ บุตรชายของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ เดินทางเยือนกรุงนุก เมืองหลวงของกรีนแลนด์ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา หนึ่งวันหลังจากบิดาของเขากล่าวย้ำถึงความสนใจในเกาะกึ่งปกครองตนเองแห่งนี้ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของเดนมาร์ก

รายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์ส ระบุว่า ทรัมป์ จูเนียร์ ใช้เครื่องบินส่วนตัวเดินทางไปยังกรุงนุก โดยใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ราว 4-5 ชั่วโมงโดยไม่มีการเข้าพบเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นแต่อย่างใด เกาะแห่งนี้มีประชากรราว 57,000 คน และเป็นจุดหมายที่เขาเผยว่าตั้งใจจะเยี่ยมชมตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา

ทรัมป์ จูเนียร์ โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์ม X พร้อมวิดีโอจากห้องนักบิน ขณะเครื่องบินกำลังลงจอดบนดินแดนที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะว่า “กรีนแลนด์กำลังร้อน... แต่หนาวมาก!” เขาเสริมว่า การเดินทางครั้งนี้เป็นการมาเยือนในฐานะนักท่องเที่ยว และพ่อของเขาก็ฝากคำทักทายมายังชาวกรีนแลนด์ด้วย

ความสนใจของทรัมป์ต่อกรีนแลนด์สร้างความฮือฮา เนื่องจากเขาเคยกล่าวไว้ว่า การที่สหรัฐเข้าควบคุมเกาะแห่งนี้เป็นสิ่งที่ “จำเป็นอย่างยิ่ง” พร้อมโพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดียว่า “ทำให้กรีนแลนด์ยิ่งใหญ่อีกครั้ง!” แนวคิดดังกล่าวถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศที่ไม่ยึดติดกับกรอบทางการทูตแบบดั้งเดิม

ด้านนายกฯ เมตต์ เฟรเดอริกสัน ของเดนมาร์ก ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่า เธอไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้กับพันธมิตรใกล้ชิดอย่างสหรัฐ และย้ำว่า “กรีนแลนด์ไม่ได้มีไว้ขาย” 

นายกฯ มิวต์ เอเกเด ของกรีนแลนด์เองก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า อนาคตของกรีนแลนด์ขึ้นอยู่กับชาวกรีนแลนด์ และการแสดงความคิดเห็นจากต่างชาติไม่ควรทำให้ดินแดนแห่งนี้เปลี่ยนทิศทางการพัฒนาของตัวเอง

กรีนแลนด์ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของกองทัพสหรัฐ และยังเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แร่ธาตุ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในปัจจุบันยังคงพึ่งพาการประมงและการสนับสนุนจากเดนมาร์กเป็นหลัก

สมาชิกสภาจากกรีนแลนด์ อาจา เคมนิตซ์ กล่าวชัดเจนว่า เธอไม่ต้องการให้เกาะแห่งนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความทะเยอทะยานทางการเมืองของทรัมป์ พร้อมย้ำถึงความสำคัญของการปกป้องดินแดนนี้จากอิทธิพลภายนอก

การเดินทางของทรัมป์ จูเนียร์ แม้จะถูกระบุว่าเป็นเพียงการเยือนส่วนตัว แต่ก็ยิ่งทำให้กรีนแลนด์กลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกจับตามองอย่างใกล้ชิด ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงในเวทีการเมืองโลก

นักวิชาการชี้แผนยึดกรีนแลนด์-คลองปานามา โอกาสทองจีนได้แต้มต่อครองใจนานาชาติ

(9 ม.ค. 68) ว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ดูเหมือนต้องการขยายอิทธิพลของสหรัฐฯ ด้วยการออกมาเผยความต้องกรของตนในการควบคุมกรีนแลนด์ ปานามา และแคนาดา ซึ่งถือเป็นแนวคิดการปรับแผนที่ของซีกโลกตะวันตกแบบใหม่อย่างแท้จริง

ชอว์น นาริน ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซนต์โธมัสในแคนาดากล่าวกับ Sputnik  

"กรณีของกรีนแลนด์กลาวว่า กรีนแลนด์เป็นความหลงใหลที่แปลกประหลาดของเขาในอดีต ผมคิดว่าสำหรับเขา กรีนแลนด์เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติล้วน ๆ" นารินอธิบาย โดยชี้ว่าความหมกมุ่นนี้อาจเกี่ยวข้องกับการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีนในเรื่องแร่หายากและเส้นทางลอจิสติกส์ที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ 

นารินชี้ว่า แม้สหรัฐจะครอบครองกรีนแลนด์ได้จริง เพื่อหวังควบคุมห่วงโซอุปทาน แต่ก็ไม่สามารถแซงหน้าจีนในด้านนี้ได้ ในฐานะที่จีนเป็นชาติที่ควบคุมห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการแปรรูปทั้งหมด โดยเฉพาะในด้านทรัพยากรธรรมชาติที่ทรัมป์หวังได้จากกรีนแลนด์
 
ขณะที่คลองปานามา ทรัมป์เคยอ้างเหตุผลในการทวงคืนคลองปานามา โดยว่าพื้นที่แห่งนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของจีน ทำให้เก็บค่าผ่านทางอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งชอว์น นาริน กล่าวว่า "ไร้สาระสิ้นดี" นารินตอบโต้ "มันไม่มีความแตกต่างอะไรเลยต่อสหรัฐฯ ว่าจะควบคุมคลองนี้หรือไม่ ไม่มีใครพยายามขัดขวางการเดินเรือของอเมริกาผ่านคลองนี้"  

ขณะที่ประเด็นแคนาดาจากการที่ทรัมป์ต้องการให้แคนาดา กลายเป็นมลรัฐที่ 51 ของสหรัฐ พร้อมกับการขู่เรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม ได้สร้างความกังวลให้ชาวแคนาดา นารินกล่าวว่าคำพูดดังกล่าวเป็นเรื่อง "ไร้สาระ" และเปรียบเสมือนการขู่กรรโชก  

"คุณไม่ต้องการให้คนที่ไม่มีเสถียรภาพและคาดเดาไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจ เพราะมันสร้างความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองในความสัมพันธ์ที่ควรจะเป็นผู้ใหญ่" เขาเน้นย้ำ  

ในขณะที่ทรัมป์มองว่าจีนเป็นคู่แข่งสำคัญระดับโลกของสหรัฐฯ และพยายามโดดเดี่ยวจีน นารินชี้ว่า กลยุทธ์ในการเปลี่ยนแผนที่โลกเหล่านี้อาจผลักดันให้ประเทศอื่น ๆ เข้าใกล้ปักกิ่งมากขึ้น  

"จีนมีความน่าเชื่อถือและคาดการณ์ได้มากกว่าทรัมป์" เขากล่าว "นโยบายของปักกิ่งตรงไปตรงมา จีนละเมิดกฎหมายนานาชาติน้อยกว่าสหรัฐฯ หลีกเลี่ยงการแทรกแซง และใช้วิธีการทางเศรษฐกิจในการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศอื่น ๆ พร้อมเน้นย้ำถึงผลประโยชน์ร่วมกันเสมอ"  

รัสเซียซัดทรัมป์เล็งฮุบกรีนแลนด์ แต่ยังมองเป็นแค่ 'วาทกรรม' ไร้จริงจัง

(10 ม.ค.68) นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน เผยว่ารัสเซียกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ แสดงความสนใจในเขตปกครองตนเองกรีนแลนด์ของเดนมาร์ก โดยระบุว่าเรื่องนี้ยังคงอยู่ในระดับวาทกรรม แต่รัสเซียย้ำความมุ่งมั่นในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่ พร้อมเรียกร้องให้รับฟังเสียงของชาวกรีนแลนด์  

เปสคอฟยังกล่าวว่า รัสเซียมีบทบาทในภูมิภาคอาร์กติกมาอย่างยาวนาน และยืนยันว่าจะยังคงอยู่ต่อไป  

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีเมตเต เฟรเดอริกเซน ผู้นำเดนมาร์ก ได้เรียกประชุมแกนนำพรรคการเมืองและสมาชิกรัฐสภาจากกรีนแลนด์ เพื่อหารือเกี่ยวกับท่าทีของทรัมป์ แม้มีรายงานการติดต่อไปยังทรัมป์ แต่รัฐบาลเดนมาร์กยืนยันว่าไม่มีการสนทนาโดยตรงระหว่างเฟรเดอริกเซนกับว่าที่ผู้นำสหรัฐ  

ทั้งนี้ สหรัฐมีฐานทัพถาวรในกรีนแลนด์ตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น และทรัมป์เคยแสดงความต้องการครอบครองกรีนแลนด์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2562 แต่ก็ถูกปฏิเสธโดยรัฐบาลเดนมาร์กอย่างชัดเจน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top