Wednesday, 3 July 2024
GoldenVisa

‘อินโดฯ’ เสนอ ‘Golden Visa’ ไม่ต้องยื่นใบพำนักชั่วคราว หวังดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ทั้งสถาบัน-รายย่อยเข้าประเทศ

เมื่อไม่นานนี้ ประเทศอินโดนีเซีย ประกาศโครงการ ‘Golden Visa’ เพื่อดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติทั้งประเภทบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลพำนักเป็นระยะเวลา 5 - 10 ปีโดยไม่จำเป็นต้องยื่นขอใบอนุญาตพำนักชั่วคราวอีกต่อไป

▪️ เงื่อนไขสำหรับนักลงทุนประเภทบุคคลธรรมดา ที่ประสงค์ขอรับวีซ่าพำนักเป็นระยะเวลา 5 ปี ต้องมีการตั้งบริษัทในอินโดนีเซียด้วยวงเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกรณีพำนักระยะเวลา 10 ปี ต้องมีการลงทุนอยู่ที่ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป

▪ ในกรณีที่ไม่ต้องการจัดตั้งบริษัทใด ๆ ในประเทศอินโดนีเซีย มีเงื่อนไขต้องลงทุนในกองทุนที่สามารถใช้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลวงเงินตั้งแต่ 350,000-700,000 ดอลลาร์สหรัฐ

▪️ นักลงทุนประเภทนิติบุคคลกำหนดต้องลงทุน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยผู้อำนวยการและคณะกรรมการจะได้รับวีซ่าพำนักเป็นระยะเวลา 5 ปี และวีซ่าพำนักเป็นระยะเวลา 10 ปี จะต้องลงทุนเพิ่ม 2 เท่า หรือ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

▪️ ล่าสุดประกาศ นักลงทุนต่างประเทศที่ได้รับสิทธิ Golden Visa เป็นคนแรกของอินโดนีเซีย คือ ‘Sam Altman’ ซึ่งเป็น CEO ของบริษัท Open AI เจ้าพ่อธุรกิจ Chat Bot เจ้าของแพลตฟอร์ม ChatGPT

▪️ ประเทศอื่น ๆ ที่มีโครงการ Golden Visa ในลักษณะเดียวกันนี้ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนและบรรดาผู้ประกอบการให้เข้าไปลงทุนและพำนักอาศัยอยู่ในประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ และสเปน 

ออสเตรเลียสั่งโละ 'Golden Visa' ให้เศรษฐีต่างชาติ เพราะสุดท้าย ไม่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศเลย

รัฐบาลออสเตรเลียตัดใจยกเลิก 'Golden Visa' หรือ 'วีซ่าทองคำ' สำหรับมหาเศรษฐี ที่หอบเงินก้อนโตมาลงทุนเพื่อแลกสิทธิ์พำนักถาวรในออสเตรเลีย หลังข้อมูลชี้ว่า นักลงทุนกลุ่มนี้แทบไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประเทศอย่างที่เคยหวังไว้

สำหรับ 'วีซ่าทองคำ' เป็นแคมเปญดึงดูดมหาเศรษฐีต่างประเทศให้รายใหญ่ ให้โยกเงินก้อนโตของตนมาฝาก หรือลงทุน ซื้อทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์ในประเทศ เป็นช่องทางกระตุ้นเศรษฐกิจที่หลายประเทศนิยมใช้ โดยให้สิทธิวีซ่าในการพำนัก หรือย้ายถิ่นฐานถาวร

ซึ่งทางออสเตรเลีย ก็ได้เปิดวีซ่าทองคำ สำหรับนักลงทุนต่างชาติเป็นครั้งแรกในปี 2012 ภายใต้โครงการ 'นวัตกรรมธุรกิจ และ การลงทุน' ซึ่งมีการแบ่งวีซ่าประเภทนี้ออกเป็น 2 หมวด สำหรับ 'นักธุรกิจด้านนวัตกรรม' และ 'นักลงทุน' โดยกำหนดเงื่อนไขเงินที่ต้องใช้ลงทุนในออสเตรเลียมากกว่า 5 ล้านเหรียญออสเตรเลียขึ้นไป (ประมาณ 117.5 ล้านบาท) และตั้งเป้าว่าจะได้เศรษฐีมาช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ หรือลงทุนในธุรกิจด้านนวัตกรรมให้ขยายตัวมากขึ้น

แต่ทว่า ผลลัพธ์กลับไม่ได้ดังหวัง เพราะเศรษฐีจำนวนไม่น้อย ต้องการวีซ่าทองคำเพื่อได้สิทธิ์อยู่ถาวรในออสเตรเลียเท่านั้น อีกทั้งวีซ่าทองคำ ไม่ได้จำกัดอายุ หรือ ต้องมีทักษะทางภาษาอังกฤษ ดังนั้นผู้ที่มีสิทธิ์ยื่นใบสมัครจะเป็นใครก็ได้ ที่ไม่มีคดีติดตัว และมีหลักฐานเงินทุนที่มั่งคงเกิน 5 ล้านดอลลาร์ ก็สามารถสมัครวีซ่าประเภทนี้ได้ นั่นจึงทำให้วีซ่าทองคำของออสเตรเลียนิยมในหมู่มหาเศรษฐีจีน 

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า กว่า 85% ของวีซ่าทองคำ 100,000 ใบที่ออกให้ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน เป็นชาวจีน ที่หลายคนเชื่อว่าอาจเป็นเพราะตัวเลขหมวดวีซ่าทองคำออสเตรเลียใช้รหัส 888 ที่ถือเป็นเลขมงคลของชาวจีนด้วย 

แต่ทว่าผู้ที่ได้วีซ่าทองคำไปแล้ว กลับไม่ได้นำเงินมาลงทุนต่อยอดจริงๆ อย่างที่รัฐบาลออสเตรเลียคาดหวัง หลายคนแค่ต้องการย้ายเงินเก็บทั้งชีวิตมาเพื่อหาที่เกษียณ อยู่สบายๆในออสเตรเลียมากกว่า แถมยังทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศพุ่งสูงขึ้นจนพลเมืองแท้ๆ ในประเทศหลายครอบครัวไม่สามารถซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้

นอกจากนี้ วีซ่าทองคำยังถูกวิจารณ์ว่า เป็นช่องทางให้กับเจ้าหน้าที่รัฐต่างชาติ หอบเงินที่ได้จากการคอร์รัปชัน ฟอกเงิน มาซุกซ่อนไว้ในออสเตรเลีย อีกทั้งรัฐบาลปัจจุบันของออสเตรเลียที่มาจากพรรคแรงงาน มีนโยบายลดจำนวนผู้ย้ายถิ่นต่างชาติให้น้อยลงเท่ากับจำนวนก่อนยุค Covid-19 

ดังนั้น จึงมีการพิจารณายกเครื่องระเบียบ กฎเกณฑ์ การยื่นวีซ่าย้ายถิ่นฐานสำหรับชาวต่างชาติใหม่หมด และได้ตัดวีซ่าทองคำทิ้ง แต่เพิ่มสัดส่วนของวีซ่าแรงงานที่มีทักษะสูง ภาษาอังกฤษดี เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานที่ออสเตรเลียแทน

เช่นเดียวหลายชาติในยุโรป ที่เริ่มตัดสินใจยกเลิกให้ 'วีซ่าทองคำ' แก่เศรษฐีต่างชาติแล้วเช่นกัน อาทิ สหราชอาณาจักร, ไอร์แลนด์ ส่วน สเปน และ โปรตุเกส ได้เริ่มลดจำนวนการออกวีซ่าทองคำแล้ว เพื่อที่จะยกเลิกอย่างถาวรในไม่ช้า 

อันเนื่องจากรัฐบาลกลางของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปเริ่มมีทัศนคติในแง่ลบต่อโครงการวีซ่าทองคำ ที่มักถูกมองว่าเป็นการ 'ขายวีซ่า' แก่บุคคลที่อาจโดนคว่ำบาตร หรือถูกขึ้นบัญชีดำจากชาติตะวันตก  หรือเป็นช่องทางไซฟ่อนเงินทุจริตจากต่างประเทศ ดังนั้น รัฐบาลบรัสเซลส์จึงเรียกร้องให้ชาติสมาชิกมีนโยบายออกวีซ่าทองคำ เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครให้มากขึ้นอีกด้วย

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top