Tuesday, 22 April 2025
Germany

ข่าวดี!! เมื่อรัฐ Hessen พร้อมให้การสนับสนุนและบรรจุภาษาไทยเข้าสู่หลักสูตร

ไม่นานมานี้ ทางเพจ ‘พ่อบ้านเยอรมัน’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า...

เป็นผลดีอย่างมากสำหรับผู้ปกครองที่อยู่ในรัฐ Hessen โดยจากที่พ่อบ้านได้พูดคุยโดยตรงกับทาง กลุ่มครูและแม่คนไทยในรัฐ Hessen โดยคุณครูเบญ พบว่า…

“ภาษาไทยจะกลายเป็นอีกหนึ่งภาษาที่เด็กๆ จะได้เรียนและบรรจุในหลักสูตรของรัฐ ในส่วนของหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาแม่หรือภาษาถิ่นกำเนิด (Herkunftssprache)”

โดยโครงการนี้ได้ถูกผลักดันจนได้รับการยอมรับและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมัน น้องๆ ที่เข้าเรียนหลักสูตรนี้ จะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และน้องๆ นักเรียนในหลักสูตรภาษาไทยนี้ จะถูกนำไปบันทึกในสมุดพก และตัดเกรดตามหลักสูตรปกติเลยทีเดียว

สำหรับนักเรียนที่มีสิทธิสมัครนั้น จะเป็นนักเรียนที่อยู่ในระดับ Klasse 1-10 ในรัฐ Hessen ซึ่งทางเพจพ่อบ้านเยอรมันมองว่า หลักสูตรนี้จะช่วยให้…

>> น้องๆ ได้พัฒนาความสามารถทางด้านภาษาต่างประเทศเพิ่มเติม

>> น้องๆ จะสามารถเข้าใจในภาษา, วัฒนธรรม, แนวความคิดของระหว่างสองประเทศมากยิ่งขึ้น และแน่นอนว่าจะสามารถใช้ภาษาพูดคุยกับครอบครัวของพ่อหรือแม่ที่เมืองไทยได้อีกด้วย

>> เป็นการเพิ่มโอกาสในอนาคตของน้องๆ เพราะประเทศไทยกับเยอรมนีนั้น มีความสัมพันธ์ทางด้านการค้า, ด้านการทำธุรกิจ หรือมีหน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานระหว่างสองประเทศเป็นจำนวนมาก 

>> และแน่นอนว่าภาษาไทยนั้นได้ถูกบรรจุในหลักสูตรปกติ ดังนั้นน้องๆ ก็มีโอกาสที่จะได้รับคะแนนที่ดีและมีเกรดเฉลี่ยที่สูงขึ้นด้วยน้า

‘เยอรมัน’ ขาดแคลน ‘ครู’ อย่างหนัก จนต้องลดคลาส ทำ นร.เกรดร่วง หลังคนหนุ่ม-สาวหันเมินอาชีพนี้ เหตุค่าตอบแทนต่ำ สวนทางภาระงาน

‘นักการศึกษาเยอรมัน’ จี้!! รัฐบาลแก้ปัญหาขาดแคลนครูอย่างหนักทั่วประเทศด่วน โดยชี้ข้อมูลจากผลสอบวิชาคณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์ และการอ่านของนักเรียนระดับเกรด 9 ในเยอรมันร่วงลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดครูในโรงเรียน

‘รีเบคก้า’ ครูโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในฮัมบูร์ก ผู้มีประสบการณ์สอนในวิชาภาษาอังกฤษ และ ประวัติศาสตร์มานานกว่า 30 ปี เปิดเผยข้อมูลผ่านสื่อเยอรมันว่า โดยทั่วไปแล้ว วิชาภาษาเยอรมัน, อังกฤษ และ คณิตศาสตร์ ถือเป็นวิชาหลักที่ต้องเน้นเป็นอันดับแรก แต่เมื่อครูขาดแคลน ทำให้โรงเรียนจำเป็นต้องงดคลาสวิชาอื่นๆ เพื่อเทครูมาสอนวิชาหลักก่อน ซึ่งหลายครั้งที่ชั้นเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของเธอต้องถูกยกเลิกไปเป็นเดือนก็มี

โดย ครูรีเบคก้า เล่าว่า ปัญหาการขาดแคลนครูมีมานานแล้ว แม้ว่าทางโรงเรียนพยายามประกาศรับสมัครครูมาตลอด แต่ก็ยังได้จำนวนครูมาไม่พอ และยังทำให้ครูที่ยังเหลืออยู่ต้องแบกรับภาระการสอนที่เพิ่มมากขึ้นจนป่วยจากการทำงานหนัก

ปัญหานี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่โรงเรียนของครูรีเบคก้า แต่เป็นปัญหาของโรงเรียนทั่วเยอรมัน จนหลายโรงเรียนต้องลดทอนหลักสูตรให้สั้นลง บางโรงเรียนเปิดการสอนได้แค่ 4 วันต่อสัปดาห์ ที่ไม่ใช่เหตุผลเรื่อง Work life balance แต่เพราะไม่มีครูมาสอน

สื่อเยอรมันชี้ว่า โรงเรียนในเยอรมันอาจขาดแคลนครูหลายหมื่นตำแหน่ง และเนื่องจากการกำหนดรูปแบบหลักสูตร และสวัสดิการครู อยู่ในอำนาจของรัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละ 16 แคว้น ที่มีความแตกต่างหลากหลาย ก็ยิ่งทำให้การจัดการหาผู้สอนมีความยากขึ้นไปอีก

ด้านรัฐมนตรีศึกษาธิการของรัฐบาลกลาง และหน่วยงานของแต่ละแคว้น พยายามหาแนวทางร่วมกันในการแก้ปัญหา ซึ่งได้ประเมินว่าทั่วประเทศน่าจะขาดแคลนครูอยู่ประมาณ 14,000 ตำแหน่ง

แต่ทว่า นักเศรษฐศาสตร์, นักวิชาการด้านการศึกษา และ กลุ่มสหภาพแรงงานครูออกมาค้านว่ารัฐบาลประเมินตัวเลขต่ำเกินไป ไม่สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจริงทั้งในปัจจุบัน และ อนาคต

หากประเมินจากตัวเลขนักเรียนในโรงเรียนของปีนี้ (2023) ที่มีอยู่ประมาณ 830,000 คน บางส่วนมาจากกลุ่มชาวต่างชาติที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในเยอรมันมากขึ้น จึงคาดการณ์ได้ว่าอัตราเด็กเกิดใหม่ในเยอรมันน่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอีก 20 ปีข้างหน้า ในขณะที่เยอรมัน จำนวนครูกลับลดลงเรื่อยๆ ทุกปี หากรัฐบาลไม่เร่งแก้ป้ญหาในวันนี้ คาดว่าในปี 2035 เยอรมันอาจขาดแคลนครูมากกว่า 56,000 ตำแหน่ง

ในขณะที่เยอรมันกำหนดให้ครูต้องจบวุฒิขั้นต่ำปริญญาตรีที่ตรงสาย แต่เพราะปัญหาการขาดแคลนครู ทำให้รัฐบาลเยอรมันอนุโลมให้ผู้ที่จบสาขาอื่นๆ ที่เข้าอบรมหลักสูตรด้านการสอนฉบับเร่งรัดสามารถบรรจุเป็นครูได้ แต่ก็เหมือนเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกที่คัน เนื่องจากผลสำรวจพบว่า หนุ่มสาวรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจอาชีพครูกันแล้ว

เหตุผลเพราะว่า อาชีพครูในความคิดของหนุ่ม-สาวยุคนี้ถูกมองว่าเป็นงานหนัก ค่าตอบแทนน้อย รับผิดชอบสูง มีชั่วโมงการทำงานยาวนาน แม้รัฐบาลจะกำหนดให้ครูมีชั่วโมงการสอนเฉลี่ย 25 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ส่วนใหญ่มักพบว่าสอนเกินเกณฑ์มาตรฐานไปไกลมาก ถึง 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มิหนำซ้ำ หน่วยงานด้านการศึกษาของรัฐเสนอแนะให้เพิ่มชั่วโมงการเรียนของนักเรียน ยืดอายุวัยเกษียณของครู เพิ่มจำนวนนักเรียนในชั้น และคาดหวังเทคนิคการสอนที่หลากหลาย

ด้วยอุปสรรคหลายปัจจัยจนปวดใจ เลยทำให้เยอรมันหาครูมาสอนได้ยาก และครูหลายคนเลือกที่จะรับงานสอนแบบ Part-time มากกว่าทำงานแบบประจำเต็มเวลา เพราะมีความยืดหยุ่นในชั่วโมงการสอนได้มากกว่า

ร่ายยาวมาถึงตรงนี้ เราจึงเข้าใจ และเห็นภาพของวิกฤติครูในเยอรมัน และปัญหาที่ครูสาวรีเบคก้ากำลังเผชิญอยู่ ว่าทำไมครูในเยอรมันถึงขาดแคลน และต้องทำงานหนัก ทำไมบางโรงเรียนในเยอรมันถึงไม่สามารถเปิดสอนได้เต็ม 5 วันต่อสัปดาห์ และต้องตัดวิชาเสริม เน้นสอนแต่วิชาหลัก จนส่งผลเสียต่อผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนโดยรวมของนักเรียนเยอรมันไปในที่สุด

'เยอรมนี' ชาติยอดนิยมในยุโรป นักศึกษา 'อินเดีย-จีน' แห่ไปเรียนมากสุด

(13 พ.ย. 67) เยอรมนีพบจำนวนนักศึกษาต่างชาติเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ โดยในภาคการศึกษาฤดูหนาวปี 2023-2024 มีนักศึกษาต่างชาติกว่า 380,000 คนลงทะเบียนเรียน เพิ่มขึ้น 3% จากปีที่ผ่านมา ตามข้อมูลของ DAAD (German Academic Exchange Service) นักศึกษาต่างชาติเหล่านี้คิดเป็นเกือบ 13% ของนักศึกษาทั้งหมดในเยอรมนี

นักเรียนจากอินเดียมีจำนวนมากที่สุด โดยมีนักเรียนลงทะเบียนประมาณ 49,000 คน รองลงมาคือจีน (38,700 คน) ตุรกี (18,100 คน) ออสเตรีย (15,400 คน) และอิหร่าน (15,200 คน) ขณะที่ซีเรีย ซึ่งเคยอยู่ในห้าอันดับแรก ปัจจุบันมีนักเรียนประมาณ 13,400 คนหล่นอยู่ในอันดับที่หก

นักศึกษาต่างชาติส่วนใหญ่อยู่ในรัฐนอร์ทไรน์-เวสต์ฟาเลีย (78,500 คน) รองลงมาคือบาวาเรีย (61,400 คน) และเบอร์ลิน (40,800 คน)

ศาสตราจารย์ Monika Jungbauer-Gans ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์ศูนย์วิจัยอุดมศึกษาและการศึกษาวิทยาศาสตร์เยอรมัน กล่าวว่า จำนวนผู้ลงทะเบียนนักศึกษาต่างชาติในเยอรมนีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 15 ปี นับเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความน่าดึงดูดของมหาวิทยาลัยในเยอรมนี โดยเฉพาะหลักสูตรปริญญาโทที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ “เพื่อเพิ่มจำนวนการลงทะเบียน เราจำเป็นต้องยกระดับการสนับสนุนนักศึกษาในทุกระดับการศึกษา” เธอกล่าวในแถลงการณ์ของ DAAD

ปัจจุบัน หลักสูตรวิชาการในเยอรมนีราว 10% ใช้การสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ซึ่งช่วยหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับหลักสูตรภาษาอังกฤษที่เพิ่มขึ้นจนเกิดข้อจำกัดในบางประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ ตามรายงานของ The PIE News

การสำรวจจาก Study in Germany เว็บไซต์การศึกษาต่อเยอรมนี ระบุเหตุผลสำคัญสามประการที่ดึงดูดนักเรียนต่างชาติ ได้แก่ 1.การเรียนฟรี มหาวิทยาลัยของรัฐในเยอรมนีไม่มีการเก็บค่าเล่าเรียน โดยนักศึกษาชำระเพียงค่าธรรมเนียมการบริหารปีละประมาณ 150-250 ยูโร (160-268 ดอลลาร์สหรัฐ) นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรกว่า 500 หลักสูตรที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ และมหาวิทยาลัยเยอรมนี 49 แห่งติดอันดับโลกโดย Times Higher Education

2.ค่าครองชีพต่ำ นักศึกษาต่างชาติใช้ชีวิตด้วยงบประมาณเฉลี่ย 930 ยูโร (1,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกามาก 3.โอกาสทำงานหลังเรียนจบ นักศึกษาสามารถอยู่ในเยอรมนีได้นานถึง 18 เดือนเพื่อหางาน โดยผลสำรวจยังชี้ว่านักศึกษาต่างชาติ 70% ต้องการทำงานในเยอรมนีหลังเรียนจบ

Kai Sicks เลขาธิการ DAAD กล่าวถึงความสำคัญของการสนับสนุนหลักสูตรภาษาอังกฤษพร้อมกับการส่งเสริมการเรียนภาษาเยอรมันเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ “นักเรียนต่างชาติที่ประสบความสำเร็จในเยอรมนีมักจะเป็นผู้ที่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมและมหาวิทยาลัยได้ดี” เขากล่าวกับ The PIE

นอกจากนี้ เยอรมนี เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป กำลังเผชิญกับการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะถึง 7 ล้านคนภายในปี 2035 เนื่องจากประชากรสูงวัย DAAD ได้เรียกร้องให้รัฐบาล มหาวิทยาลัย และธุรกิจต่างๆ เพิ่มอัตราการคงอยู่ของบัณฑิตต่างชาติ โดยตั้งเป้ารักษาบัณฑิตไว้ประมาณ 50,000 คนต่อปีภายในปี 2030

ในปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Steffen Kaupp รองผู้อำนวยการสถาบันเกอเธ่ ฮานอย เปิดเผยว่า จำนวนนักศึกษาชาวเวียดนามในเยอรมนีเพิ่มขึ้นเกือบ 30% จากช่วงก่อนโควิด-19 โดยส่วนใหญ่สนใจการฝึกอาชีวศึกษาในสาขาการพยาบาลและการบริการ

จีนแซงเยอรมนี ผงาดเบอร์ 3 ของโลก ใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมมากสุด

(21 พ.ย.67) จีนแซงเยอรมนี ครองเบอร์ 3 ของโลกด้านความหนาแน่น ‘หุ่นยนต์อุตสาหกรรม’ รายงานจากสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (IFR) ระบุว่าจีนสร้างความก้าวหน้าอย่างมากในด้านระบบอัตโนมัติของกระบวนการผลิต โดยแซงหน้าเยอรมนีและขึ้นครองอันดับ 3 ในการจัดอันดับความหนาแน่นของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมระดับโลกในปี 2023

รายงานระบุว่าความหนาแน่นของหุ่นยนต์ของจีนอยู่ที่ 470 หน่วยต่อพนักงาน 10,000 คนในปี 2023 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 402 หน่วยในปีก่อนหน้า และตัวเลขนี้ยังเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับปี 2019

ทาคายูกิ อิโตะ ประธานสหพันธ์ฯ เผยว่าจีนลงทุนมหาศาลในเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ และการเติบโตของจีนมีความโดดเด่นอย่างมาก โดยรายงานระบุว่าจีนเพิ่งเข้ามาติดโผ 10 อันดับแรกของโลกเมื่อปี 2019

ความหนาแน่นของหุ่นยนต์ เป็นตัวบ่งชี้สำคัญของระดับการใช้ระบบอัตโนมัติในการผลิต ซึ่งเกาหลีใต้ครองอันดับหนึ่งด้วยจำนวนหุ่นยนต์ 1,012 ตัวต่อพนักงาน 10,000 คนในปี 2023 ส่วนสิงคโปร์อยู่อันดับสอง และเยอรมนีอยู่อันดับสี่ โดยมีเครื่องจักรอัตโนมัติ 429 หน่วยต่อพนักงาน 10,000 คน

พิพิธภัณฑ์เยอรมนีปลดป้ายอวยยศอีลอน มัสก์ เชื่อปมเชียร์ขวาจัด - ชูมือคล้ายสัญลักษณ์นาซี

(23 ม.ค.68) พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 'Deutsches Museum' ในนครมิวนิก ประเทศเยอรมนี ได้ปลดแผ่นป้ายที่เคยยกย่องอีลอน มัสก์ ในฐานะนักสร้างแรงบันดาลใจด้านอวกาศออกจากนิทรรศการ โดยไม่มีการระบุเหตุผลอย่างชัดเจนถึงการนำป้ายดังกล่าวออก  

โฆษกของพิพิธภัณฑ์ชี้แจงว่า “การยกย่องบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ในพื้นที่สำคัญของนิทรรศการ อาจก่อให้เกิดปัญหาได้ เนื่องจากอาจถูกมองว่าเป็นการยกย่องที่ปราศจากการวิพากษ์วิจารณ์” พร้อมเสริมว่าความสำเร็จตลอดชีวิตของบุคคลหนึ่งมักสามารถประเมินได้อย่างเหมาะสมในภายหลังเท่านั้น  

ก่อนหน้านี้ ป้ายดังกล่าวได้นำเสนออีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้ง SpaceX ควบคู่กับนักบุกเบิกด้านวิทยาศาสตร์จรวดในอดีตอย่างแม็กซ์ วาลีเออร์ และแฮร์มันน์ โอเบิร์ธ ในส่วนจัดแสดง “ผู้สร้างแรงบันดาลใจจากอดีตและปัจจุบัน”  

อย่างไรก็ตาม มัสก์ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งในประเด็นการใช้เงินหลายร้อยล้านดอลลาร์สนับสนุนการเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ และการสนับสนุนพรรคขวาจัด AfD ของเยอรมนี นอกจากนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เขายังจุดกระแสความไม่พอใจจากการแสดงท่าทางคล้ายกับการทำความเคารพแบบนาซีระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ฉลองพิธีสาบานตนของทรัมป์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top