Monday, 21 April 2025
GenZ

ผลสำรวจชี้!! Gen Z เจอแรงกดดันในชีวิตการทำงานสูงกว่าคน Gen อื่น เพราะเทคโนโลยีทำให้ ‘งาน’ กับ ‘ชีวิตส่วนตัว’ แยกจากกันไม่ออก

Gen Z เจอแรงกดดันใน ‘ชีวิตการทำงาน’ สูงกว่าคนเจนอื่นๆ เพราะเทคโนโลยีทำให้ ‘งาน’ กับ ‘ชีวิตส่วนตัว’ แยกจากกันไม่ออก

(24 ก.พ. 67) คนที่เกิดมาในยุคดิจิทัลอย่าง ‘Gen Z’ พวกเขากำลังเจอความท้าทายในชีวิตการทำงานที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนๆ โดยก่อนหน้านี้มีรายงานการสำรวจจาก Deloitte ในปี 2023 ที่สำรวจเกี่ยวกับวัยทำงาน ‘Gen Z’ จำนวน 14,483 คนใน 44 ประเทศ พบว่า 46% ของชาว Gen Z เผชิญกับความวิตกกังวลและความเครียดอย่างต่อเนื่องในที่ทำงาน

นอกจากนี้ มากกว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างยังรายงานด้วยว่า พวกเขารู้สึกเหนื่อยล้า ระดับพลังงานต่ำ และจิตใจหลุดออกจากงาน โดยสาเหตุหลักมาจากสภาพแวดล้อมเชิงลบหรือโดยถากถางดูถูกในที่ทำงาน

ด้าน แคธลีน ไพค์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และเป็นซีอีโอของบริษัท One Mind at Work (ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพจิตในที่ทำงาน) แสดงความคิดเห็นว่า กลุ่มวัยทำงาน Gen Z กำลังเผชิญกับแรงกดดันมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ เนื่องจากเติบโตมาโลกที่เทคโนโลยีเข้ามาทำลายขอบเขตระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว

เมื่อเปรียบเทียบการทำงานของคนรุ่นนี้กับคนรุ่นก่อนๆ พบว่า คนรุ่นก่อนไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันที่เกิดจากเทคโนโลยีแบบเดียวกันในช่วงเริ่มต้นอาชีพของพวกเขา

“สำหรับผู้บริหารรุ่นซีเนียร์ในตอนนี้ หากย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีที่แล้วจะพบว่า เวลาไปทำงานในแต่ละวัน พวกเขาจะขับรถไปทำงานโดยไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มี FedEx ในช่วงที่คนรุ่นก่อนๆ เริ่มต้นชีวิตทำงาน มันเป็นโลกที่แตกต่างไปจากยุคนี้อย่างสิ้นเชิง” เธอกล่าว

ศาสตราจารย์ไพค์ อธิบายต่อว่า ในอดีตไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้ในทันทีเหมือนยุคนี้ และเมื่อวัยทำงานรุ่นก่อนๆ กลับบ้าน พวกเขาก็ตัดขาดจากงานอย่างแท้จริง (ไม่สามารถเข้าถึงงานได้ตลอดเวลาเหมือนยุคนี้) มันเป็นเหมือนโครงสร้างมหภาคตามธรรมชาติที่ทำให้เกิดการหยุดทำงานตามเวลา ตามระบบนาฬิกาชีวิตจำนวนมากและระเหยไปจนหมด

ในขณะที่เมื่อมองกลับมาในยุคนี้ จะเห็นว่าเทคโนโลยีเป็นผู้ร้ายที่อยู่เบื้องหลังการดิ้นรนต่อสู้ในชีวิตการทำงานของคนรุ่น Gen Z ส่งผลให้คนรุ่นนี้พยายามสร้างความแตกต่างระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

สิ่งที่พบเห็นมากขึ้นในสังคมการทำงานก็คือ Gen Z กำลังพยายามวางขอบเขตชีวิตส่วนตัวให้กลับคืนมา มันเป็นความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างคนแต่ละรุ่น คนทำงานรุ่นใหม่จำนวนมากหันไปหาเทรนด์การทำงานแบบอื่นๆ เช่น 

- เทรนด์การทำงานแบบ Act your Wage คือ การทำงานตามค่าจ้างที่ได้รับ ไม่ทำอะไรเกินตัว
- เทรนด์การทำงานแบบ Quiet Quitting คือ การทำงานไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยไม่ทุ่มเททำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ เพื่อเยียวยาตนเองไม่ให้เบิร์นเอาท์
- เทรนด์การทำงานแบบ Lazy girl jobs คือ การทำงานที่สามารถจัดตารางงานเองได้ งานไม่ทำให้ชีวิตส่วนตัวยุ่งเหยิงเกินไป หรือเป็นงานที่สามารถปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตนเองได้ มักเป็นงานที่มีระดับความเครียดต่ำแต่ก็มีผลตอบแทนที่น่าดึงดูดใจ

โดยสรุปก็คือ เน้นหางานหรือรูปแบบการทำงานให้ยุ่งน้อยที่สุด เพื่อรักษางานของตนไว้แต่ขณะเดียวกันก็พยายามหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟในการทำงาน

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ไพค์ชี้ชวนให้คิดว่า การที่ Gen Z หลายคนเผชิญกับภาวะความเครียด วิตกกังวล และความกดดันต่างๆ ในที่ทำงานนั้น บางครั้งอารมณ์เหล่านั้นก็เป็นอารมณ์ปกติ ไม่ใช่อาการเจ็บป่วยทางจิตใจเสมอไป การเผชิญกับความเครียดเนื่องจากเดดไลน์ที่ต้องส่งงาน ความรู้สึกเศร้า ความผิดหวัง หรือวิตกกังวลเป็นครั้งคราว ถือเป็นเรื่องปกติของชีวิต

อีกทั้งการรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวลในการทำงาน อาจเป็นตัวบ่งชี้ที่มีประโยชน์ที่จะช่วยให้คุณทำงานให้สำเร็จได้อย่างดีด้วยซ้ำ 

ท้ายที่สุด ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา สรุปว่า ชาว Gen Z ที่อยากประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน ต้องยอมรับความเครียดและความกังวลที่เกิดจากงานบ้าง “เราต้องเผชิญหน้ากับความล้มเหลวทันทีแล้วลองใหม่อีกครั้ง” นั่นจะทำให้เราเติบโตจากความผิดพลาด รวมถึงการเรียนรู้ทักษะอื่นๆ เพิ่มเติม การขอความช่วยเหลือ และรู้วิธีการผลักดันขีดความสามารถของตนเอง ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตในชีวิตการทำงานทั้งนั้น 

วิกฤต Gen Z จีน 'หางานยาก-งานรายได้ต่ำ-มีไม่กี่คนที่จะได้งาน' สุดท้ายหันมาใช้ชีวิตแบบ 'ถ่างผิง' เรียบง่าย ไร้ความทะเยอทะยาน

Gen Z หรือ Generation Z หมายถึงเด็กที่เกิดในช่วงปลายทศวรรษ 1990 จนถึงกลางทศวรรษ 2010 ดูจากอายุอานามแล้ว เป็นคนรุ่นที่กำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทในองค์กรต่าง ๆ

ทว่า ปัจจุบัน Gen Z ในจีน ได้พากันหันหลังให้กับชีวิตในบริษัทใหญ่ ๆ เหมือนคนรุ่นพ่อแม่ และปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่สนใจอาชีพการงานที่มั่นคง ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่ผันผวนอย่างหนัก

ปัจจุบัน จีนมี Gen Z ราว 280 ล้านคน ผลการสำรวจทัศนคติของ Gen Z เมื่อเทียบกับคนในช่วงอายุอื่นพบว่า Gen Z ถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่ ‘มองโลกแง่ร้ายมากที่สุด’

มหกรรมการหางานครั้งล่าสุดในกรุงปักกิ่งตอกย้ำสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เพราะตำแหน่งที่เปิดรับมีแต่งานที่ใช้ทักษะต่ำ เช่น การเป็นผู้ช่วยขายประกัน หรือไม่ก็ผู้ช่วยขายอุปกรณ์ทางการแพทย์

หากพูดถึงเงินเดือนคาดหวังในมหกรรมการหางานดังกล่าวแล้ว ค่าเฉลี่ยสำหรับพนักงานใหม่ได้ปรับลดลงใน 38 เมืองสำคัญ ถือว่าเป็นการปรับลดครั้งที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016

หนุ่มปริญญาโทวัย 25 ที่เรียนจบสาขาวิศวกรรมซอฟท์แวร์จากเยอรมนีคนหนึ่งเชื่อว่า ผู้ที่มีความสามารถจริง ๆ จะต้องหางานได้ เขาเชื่อว่า ‘อนาคตของโลกอยู่ที่จีน’

แต่พอกลับมาถึงจีนจริง ๆ เขาเริ่มไม่มั่นใจเมื่อเจอบรรยากาศเศรษฐกิจบ้านเกิดแม้ทักษะ และองค์ความรู้ที่เขามีจะเป็นที่ต้องการอย่างมาก แต่ในความเป็นจริง มีคนที่จบจากยุโรป และเรียนมาในสาขาเดียวกันจำนวนมาก

‘งานจึงไม่ได้หาง่ายอย่างที่คิด’ เขากล่าว

เพื่อนหลายคนของเขา จึงตั้งเป้าไปที่งานราชการแทน หลังมองว่างานบริษัทเอกชนนั้น ‘อนาคตมืดมน’ ทำให้ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หนุ่มสาวชาวจีนเข้าสมัครสอบคัดเลือกรับราชการมากเป็นประวัติการณ์ คือสูงกว่า 3 ล้านคน

เขากล่าวว่า “เด็กนับล้านต่างมองหางานแน่นอน มีไม่กี่คนที่จะได้งาน และคนโชคดีที่ได้งาน ก็เป็นงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับสาขาที่จบ”

หญิงสาวชาวจีนอีกคนที่จบจากมหาวิทยาลัยในประเทศ มีความมุ่งมั่นกับการหางาน และหาอะไรทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้งานที่ต้องการ เช่น การเป็นไกด์นำเที่ยวในอุทยานแพนด้า นครเฉิงตู หรือเป็นพนักงานขายเครื่องดื่ม และฝึกงานในโรงเรียนอนุบาลก็เคยมาแล้ว

“งานพวกนี้ไม่ค่อยมีอนาคตนัก” เธอกล่าว “งานทักษะต่ำ แน่นอนเงินเดือนย่อมต่ำ ที่สำคัญถูกแทนที่ง่ายมากหากคุณหยุดงานแค่ครึ่งวัน รุ่งขึ้นก็จะมีคนใหม่มาทำแทน เมื่อเป็นแบบนี้ เด็กส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะกลับไปอยู่บ้านกับพ่อแม่ หรือที่เรียกว่าประกอบอาชีพลูกเต็มเวลา”

ปัจจุบัน เธอเป็นพนักงานขายหนังสือและอุปกรณ์การศึกษา แม้จะไม่ใช่งานในฝัน แต่เธอมองว่ายังดีกว่าไม่มีอะไรทำ และคิดในแง่บวกว่าเป็นการสั่งสมประสบการณ์

ในทางกลับกัน ครอบครัวของเธอเป็นกังวลมาก เนื่องจากเธอเป็นลูกหลานคนแรกของครอบครัวที่จบมหาวิทยาลัย พ่อของเธอภูมิใจมากถึงขนาดจัดเลี้ยงโต๊ะจีนกว่า 30 โต๊ะในวันรับปริญญา

“พ่อแม่คาดหวังว่าหลังจากที่พวกเขาส่งเสียฉันเรียนหนังสือ อย่างน้อยฉันจะหางานได้ พวกเขาคาดหวังให้ฉันมีชีวิตที่ดี แต่ฉันยืนยันว่าจะเดินไปตามทางของตัวเอง และในความเร็วที่ฉันกำหนดเอง”

เธอตั้งเป้าหมาย ว่าต้องไปให้ไกลกว่านี้ และหวังว่าวันหนึ่งจะไปเรียนภาษาอังกฤษที่ออสเตรเลีย เธอเชื่อว่าช่วงชีวิต Gen Z แบบเธอง่ายกว่าคนรุ่นพ่อแม่มาก เพราะตอนนั้น จีนจนกว่านี้มาก ความฝันต่าง ๆ ก็ดูห่างไกลจากความเป็นจริงแบบฟ้ากับเหว

“ยังมีเวลาอีกมากสำหรับพวกเราเพื่อไปถึงจุดหมาย เราไม่ได้สนใจหรือทุ่มชีวิตไปกับการหาเงินเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อน เรามองไปที่วิธีการที่จะทำให้ฝันเป็นจริงยังไงมากกว่า”

เช่นเดียวกับหญิงสาวอีกคนที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัยในประเทศมาหมาด ๆ เธอตั้งเป้าจะทำงานในบริษัทแฟชั่นยักษ์ใหญ่ แต่หลังจากได้เข้าไปสัมผัสการทำงานจริงราว ๆ 2 ปี ความกดดัน และความสัมพันธ์ที่เลวร้ายกับหัวหน้างาน ทำให้เธอตัดสินใจลาออก และหันมาประกอบอาชีพ ‘ช่างสัก’

เธอและเพื่อนชาว Gen Z นับล้านคนกำลังรู้สึกไม่พอใจกับโอกาสในการทำงานมากขึ้นเรื่อย ๆ Gen Z ในจีนจึงพากันหันมาใช้ชีวิตแบบ ‘นอนราบ’ หรือ Lying Flat (ภาษาจีนเรียกว่า ‘ถ่างผิง’) ซึ่งหมายถึง การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ไร้ความทะเยอทะยาน ทำงานเท่าที่จำเป็น และเอาเวลาว่างไปทำกิจกรรมที่ตนสนใจ

ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจีนพยายามผลักดันตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิด COVID-19

อย่างไรก็ตาม การสำรวจเมื่อเดือนมิถุนายนปี ค.ศ. 2023 พบว่า อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวทั่วประเทศเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่เกือบ 22%

สอดคล้องกับข้อมูลจากสถาบันอุดมศึกษาที่ชี้ว่า ผู้ที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ยอมทำงานที่ต่ำกว่าวุฒิ เพื่อให้มีรายได้ประทังชีวิตไปวันวัน

สาวช่างสักบอกว่า ตอนนี้เธอมีความสุขมาก และเชื่อว่า การเดินออกมาจากบริษัทใหญ่ ไม่เพียงหลีกหนี ‘แรงกดดันที่ไม่จบ’ เท่านั้น แต่ยังเป็นการค้นพบตัวเองที่คุ้มค่ามาก

เมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าผู้จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ในเชิงกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ ‘กินของขม’ ซึ่งเป็นวลีภาษาจีนที่ใช้อธิบายความหมายของ ‘ความอดทนในช่วงเวลาที่ยากลำบาก’

ทั้งนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ออกมากระตุ้นเป็นระยะ ให้เด็กจบใหม่เลิกคิดว่าพวกเขาดีเกินกว่าจะใช้แรงงาน โดยบอกให้พวกเขา ‘พับแขนเสื้อขึ้น’ เพื่อไปทำงานที่ใช้แรง และให้ ‘กลืนความขมขื่น’

ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายสำหรับการกำหนดนโยบายของผู้นำจีน คือการทำให้กลุ่มคน Gen Z รู้สึกสงบลง ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าที่สุดในรอบเกือบครึ่งศตวรรษ

ขณะที่เศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัว และตลาดแรงงานยังอยู่ในภาวะที่อึดอัด Gen Z เหล่านี้ต้องรับมือกับความท้าทายมากมาย อาทิ ความไม่เท่าเทียมทางสังคม การควบคุมทางการเมืองที่เข้มงวด และแนวโน้มทางเศรษฐกิจของจีนที่ยังดูไร้ความหวัง

วัยรุ่น Gen Z สหรัฐฯ กำลังเผชิญวิกฤต 'หนี้ท่วม' เคราะซ้ำ!! รายได้ต่ำกว่าคนวัยเดียวกันเมื่อ 10 ปีก่อน

(13 พ.ค. 67) เพจ 'ทันโลกกับ Trader KP' เผย!! วัยรุ่น Gen Z ในอเมริกากำลังเผชิญวิกฤต #หนี้ท่วม

โดยเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว หลังหักลบอัตราเงินเฟ้อแล้ว...วัยรุ่นในสมัยนี้เป็นหนี้สูงกว่าเดิมมาก ดังนึ้...

- หนี้ผ่อนบ้าน +44%
- หนี้บัตรเครดิต +26%
- หนี้ผ่อนรถยนต์ +4%

และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น รายได้เฉลี่ยของคนสหรัฐฯ วัย 20 ต้น ๆ อยู่ที่ $45,493 ต่อปี ต่ำกว่าคนรุ่น Millennial ในวัยเดียวกันเมื่อ 10 ปีที่แล้ว (ซึ่งอยู่ที่ $51,852) ถึง $6,350

ผลสำรวจกลุ่ม 'GenZ-GenY' เมินตำแหน่งงาน Manager มากขึ้น เหตุ!! 'งาน-ความกดดัน' ที่ต้องแบกมีมากกว่าค่าจ้างที่ได้เพิ่มขึ้นมา

(7 มิ.ย. 67) ผลสำรวจจาก CoderPad และ Visier เผยไปในทางเดียวกันว่า คน Gen Z และ Gen Y จำนวนมากไม่สนใจที่จะรับตำแหน่ง Manager ซึ่งเป็นงานระดับบริหารและจัดการ เพราะพวกเขาพบว่างานเหล่านี้ไม่คุ้มกับภาระงานและความเครียดที่เพิ่มขึ้น

โดยไม่กี่ปีที่ผ่านมาพบว่า ตำแหน่งงานด้านบริหารจัดการได้สูญเสียความน่าดึงดูดใจกับกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ เนื่องจากลักษณะงานที่ทำให้ต้องแบกรับเรื่องต่าง ๆ ถูกคาดหวังให้แก้ปัญหาและผลสำรวจพบว่ากลุ่มคนทำงานด้านบริหารจัดการ ต้องต่อสู้กับความโดดเดี่ยวหลังจากรับบทบาทการทำงานที่รู้สึกว่าถูกตัดขาดจากทีม

การสำรวจจากแพลตฟอร์มสัมภาษณ์งาน CoderPad พบว่า 36% ของคนทำงานด้านเทคโนโลยีไม่ต้องการความรับผิดชอบด้านการบริหารจัดการ เพราะ Gen Z และ Y ให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานมากกว่าคนรุ่นก่อน ๆ สำหรับพวกเขาชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และความกดดันที่มาพร้อมกับงานบริหารจัดการมีมากกว่าค่าจ้างที่ได้เพิ่มขึ้นมา

ขณะที่ Visier แพลตฟอร์มการวิเคราะห์ด้านทรัพยากรบุคคลของสหรัฐอเมริการะบุว่า มีเพียง 38% ของผู้ถูกสำรวจที่สนใจจะเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลในองค์กรปัจจุบันของพวกเขา โดยผู้เข้าร่วมสำรวจมองว่าการย้ายงานมาฝั่งบริหารจัดการ หมายถึงการทำงานที่ยาวนานขึ้นและต้องรับมือกับภาระงานที่เพิ่มขึ้น 

ผู้เข้าร่วมบางคนกล่าวว่าพวกเขาพอใจกับบทบาทในปัจจุบัน และมองว่าตำแหน่งงานด้านการบริหารจัดการจะดึงพวกเขาออกจากการได้ทำสิ่งที่รัก

'โซเชียล' ตะลึง!! ชาวเมียนมาจบวิศวะ ภาษาดี เรียกเงินน้อย ใช้ 'ค่ะ' ถูกต้อง ชี้!! เจอคนแบบนี้เยอะ อาจทำเด็กไทยอยู่ยาก แต่ประเทศไทยจะอยู่ได้

(21 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเพจ 'รักภาษาไทย อย่าใช้ผิด' ได้โพสต์ข้อความชวนคิด กรณีชาวเมียนมาท่านหนึ่งที่มีโปรไฟล์ดีโพสต์สมัครงาน จนเกิดการแชร์เป็นไวรัล ระบุว่า...

“ คนพม่าจบวิศวะ พัฒนาความรู้และมีประสบการณ์การทำงาน ใช้คำว่า ‘ค่ะ’ ถูก พูดภาษาอังกฤษได้ เรียกเงินเดือน 12,000 บาท เด็กไทยอยู่ยากแล้วค่ะ ”

นอกจากนี้ทางเพจ ยังได้โพสต์ตอีกว่า “ เล่านิด: ด้วยสภาพความไม่เรียบร้อยในบ้านเขา จึงทำให้หลายคนออกนอกประเทศ และเข้ามาหางานในไทย ”

“ ตอนนี้ครูต่างชาติสัญชาติพม่ามากพอๆ กับฟิลิปปินส์ ”

“ ถ้าคุณคนนี้สอนหนังสือได้ ยิ่งถ้าเป็นวิชาหลัก เช่น Science, Math เขาได้งานแน่นอนค่ะ ”

เกี่ยวกับเรื่องนี้ โลกโซเชียลก็ออกมาให้ความเห็นกันเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่มองว่า Gen Z ของไทย อาจจะลำบากในการหางานต่อจากนี้ เพราะไม่สนใจความรู้วิชาการ วัน ๆ หนึ่งท่องแต่โซเชียล เสพแต่คอนเทนต์บันเทิง แถมมีเปราะบางทางจิตใจ ส่วนทางกายงานหนักไม่เอา เบาไม่สู้ สนใจแต่ความงาม อยากได้คู่ชีวิตที่สวย / หล่อ รวย มองเงินคือพระเจ้า แต่ไม่มีคุณสมบัติที่จะสร้างความมั่งคั่งได้ แถมยังไปวัดเพื่อขอหวยและขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ร่ำรวยลูกค้า

ขณะที่บางคอมเมนต์ ก็มองว่า ถ้ามีต่างชาติคุณสมบัติแบบนี้เยอะ ๆ ก็ควรให้สัญชาติไปเลย คนมีความรู้ความสามารถแบบนี้ ต้องดึงมาเป็นคนไทย

ด้าน คุณเฉลิมพร ตันติกาญจนากุล ผู้ดำเนินรายการด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ก็ได้แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า " เด็กไทยอาจอยู่ยาก แต่ถ้าเปิดใจรับแบบนี้เยอะ ๆ ประเทศไทยจะอยู่ได้ "

ขณะที่ เพจ 'สานต่อเจตนารมณ์ อาจารย์สมเกียรติ โอสถสภา' ก็ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นด้วยเช่นกัน ว่า...

" สาวเมียนมาอายุ 27 ปี จบวิศวะเครื่องกล มีใบเซอร์บริหารโครงการ ภาษาอังกฤษดีมาก ทำ CV มาอย่างดี เรียกเงินเดือน 12,000 เท่านั้น ไม่สนชื่อตำแหน่ง ที่สำคัญ ใช้ ‘ค่ะ’ ได้อย่างถูกต้อง ดูทรงแล้ว Gen Z ไทย คงต้องไปเน้นหาสามีต่างชาติรายได้สูงที่ยังมีชีวิตอยู่แล้วครับ 555 "

‘กมลา แฮร์ริส’ ขึ้นแท่นเจ้าแม่มีม 2024 หลังเปลี่ยน ‘มุกแป้ก’ กลายเป็น ‘ปัง’ พร้อมกวาดคะแนนเสียงชาว Gen Z ที่แม้แต่ ‘ไบเดน-ทรัมป์’ ก็ทำไม่ได้

‘กมลา แฮร์ริส’ กลายเป็นจุดสนใจของสื่ออเมริกันทันทีที่ ‘โจ ไบเดน’ ยอมถอนตัวออกจากสนามเลือกตั้งผู้นำสหรัฐ เพื่อดัน กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีคู่หูของเขาขึ้นชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ในสมัยหน้า 

แม้ แฮร์ริส อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดของพรรคเดโมแครต แต่เธอมีฐานเสียงสนับสนุนอย่างหนาแน่น โดยเฉพาะ ‘กลุ่มสตรี’ และ ‘คนผิวสี’ ที่สร้างปรากฏการณ์ยอดบริจาค 81 ล้านเหรียญเข้าพรรคได้ภายใน 24 ชั่วโมง และยังทำให้คนในพรรคที่เคยเสียงแตกกลับมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อีกครั้ง ด้วยจุดประสงค์เดียวกัน คือ เอาชนะ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ให้ได้ 

และล่าสุด…ดูเหมือนว่าความนิยมของแฮร์ริส จะพุ่งสูงยิ่งขึ้นในกลุ่มวัยรุ่น Gen Z ทั้ง ๆ ที่เธอยังไม่ทันได้เริ่มออกหาเสียงในฐานะแคนดิเดตเบอร์ 1 ของพรรคอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ 

เมื่อคลิปบางช่วงที่ตัดมาจากสุนทรพจน์ของเธอ ที่เคยกล่าวไว้ที่ทำเนียบขาวตั้งแต่ปี 2023 กลายเป็นไวรัลไปทั่ว โดยเธอได้ยกคำพูดของแม่มาเล่าให้ฟังว่า "ฉันไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเธอ หนุ่ม-สาวทั้งหลาย พวกเธอคิดว่าเพิ่งตกลงมาจากต้นมะพร้าวหรือไง"

และทำให้มุกต้นมะพร้าวที่เคยแป้กของเธอ กลายเป็นมุกปังไปทั่วโลกออนไลน์ ที่มีทั้งชาว X ชาว Tiktok ออกมาปล่อยมุกต้นมะพร้าวกันอย่างพร้อมเพรียงกัน ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่า ‘ต้นมะพร้าว’ ของ กมลา แฮร์ริส หมายถึงอะไร

ยิ่งพรรคคู่แข่งอย่าง ‘รีพับลิกัน’ พยายามโจมตีแฮร์ริส เรื่องมุกตลกฝืด ๆ ของเธอ ก็ยิ่งทำให้กระแสคลิปของเธอดังยิ่งขึ้นไปอีก จนสื่อมวลชนยกตำแหน่ง ‘เจ้าแม่มีม 2024’ ให้แก่ กมลา แฮร์ริส โดยพร้อมเพรียง

ข้อดีของกระแสมีมมุกแป้กของแฮร์ริสนั้น ทำให้เธอสามารถจับฐานเสียงกลุ่ม Gen Z ที่เป็น Young Voter ได้อย่างเหนียวแน่น ซึ่งเป็นกลุ่มฐานเสียงที่ทั้งไบเดน และ ทรัมป์ เจาะไม่ถึง 

จากความเห็นบางส่วนของกลุ่ม Gen Z ที่ชื่นชอบ กมลา แฮร์ริส มองว่า เธอเป็นคนเข้าถึงง่าย มีความเป็นปุถุชนสูง ไม่ถือตัวที่จะปล่อยมุกตลก 5 บาท 10 บาท แม้ส่วนใหญ่จะเป็นมุกฝืด ๆ เพื่อเข้าถึงผู้ฟังทุกกลุ่ม ซึ่งต่างจากผู้นำคนอื่น ๆ ที่มักกล่าวสุนทรพจน์ที่ร่างขึ้นอย่างสวยหรู แต่ห่างไกลผู้ฟัง

และตอนนี้ คนรุ่นใหม่มีเกณฑ์ในการเลือกผู้นำของพวกเขาที่แตกต่างจากคนรุ่นเก่า ๆ อย่างชัดเจน เน้นกระแสออร่าความเป็นเซเลป คนดังก่อน ค่อยพิจารณานโยบายทีหลัง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะหลายปีที่ผ่านมาชาวอเมริกันไม่ได้เห็นความแตกต่างของการทำหน้าที่รัฐบาลของพรรคการเมืองมากนัก เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงขอเลือกคนที่ถูกใจตัวเองดีกว่า 

ไม่แน่ว่า…การเลือกตั้งผู้นำครั้งนี้ของสหรัฐ อาจตัดสินกันที่กระแสมีมก็เป็นได้ 

เรื่อง : ยีนส์ อรุณรัตน์

นายจ้างไม่ปลื้มพนักงาน GenZ ‘ไม่พร้อมทำงาน-สื่อสารแย่’ แต่ยังมีมุมเด่น ‘เก่งดิจิทัล-อยากเป็นเจ้าของกิจการ-กล้าคิดกล้าพูด’

หนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยในโลกการทำงานสมัยนี้คือ วัยทำงานชาว Gen Z มักถูกโดนเหยียดอายุในที่ทำงาน นายจ้างบางบริษัทสะท้อนว่า การทำงานกับพนักงานรุ่นนี้ช่างยากเย็น และในที่สุดพวกเขาก็เลิกจ้างพนักงาน Gen Z ที่เพิ่งเรียนจบใหม่ หลังพวกเขาทำงานได้ไม่กี่เดือน

จากการสำรวจล่าสุดของ Intelligent แพลตฟอร์มช่วยเหลือด้านการทำงานอย่างมืออาชีพให้คนรุ่นใหม่ เปิดเผยความเห็น 6 ใน 10 ของนายจ้างกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า พวกเขาตัดสินใจไล่พนักงานกลุ่ม Gen Z ออกจากงาน ทั้งที่เพิ่งจ้างมาใหม่เมื่อต้นปีนี้ 

นอกจากนี้ 1 ใน 6 ของนายจ้างกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า พวกเขาลังเลที่จะจ้างงานเด็กจบใหม่ ขณะที่เจ้านาย 1 ใน 7 ยอมรับว่าพวกเขาอาจหลีกเลี่ยงไม่จ้างงานเด็กรุ่น Gen Z ที่จบใหม่ในปีหน้า (ผลสำรวจข้างต้นทำการสำรวจผู้บริหารบริษัทต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาเกือบ 1,000 คน) 

นายจ้างไม่ปลื้ม Gen Z เพราะ “ไม่พร้อมทำงาน และไม่เป็นมืออาชีพ” 
รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุถึงเหตุผลที่นายจ้างไม่พอใจพนักงานรุ่น Gen Z เป็นเพราะพวกเขามองว่า วัยทำงานรุ่นใหม่ในปัจจุบันขาดแรงจูงใจหรือความคิดริเริ่ม โดย 50% ของผู้บริหารองค์กรชี้ว่า สาเหตุนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้พนักงานรุ่นใหม่ไม่ประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ยังมองว่าคนรุ่น Gen Z ขาดความเป็นมืออาชีพ ไม่มีระเบียบ และมีทักษะการสื่อสารที่ไม่ดี การมาทำงานและประชุมสายบ่อยครั้ง ไม่สวมเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับที่ทำงาน และการใช้ภาษาที่เหมาะสมกับสถานที่ทำงานฯลฯ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบการการทำงานจนนายจ้างตัดสินใจไล่พนักงานกลุ่มนี้ออกจากงาน 

อีกทั้ง 50% ของผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) กลุ่มตัวอย่าง ก็สะท้อนความเห็นว่า เด็กจบใหม่รุ่น Gen Z ไม่พร้อมสำหรับโลกของการทำงาน และอีกจำนวนหนึ่ง (20%) บอกว่า วัยทำงานรุ่นใหม่ไม่สามารถรับมือกับปริมาณงานได้ สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมหาวิทยาลัยไม่ได้เตรียมเด็กให้พร้อมก้าวเข้าสู่โลกการทำงาน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเริ่มมีมหาวิทยาลัยบางแห่งมองเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และได้เร่งแก้ไขด้วยการสอนให้นักศึกษาเตรียมพร้อมสู่การเป็นพนักงาน ตัวอย่างเช่นมหาวิทยาลัย Michigan State ได้เปิดคอร์สสอนนักศึกษาเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับบทสนทนาในการสร้างเครือข่ายด้านอาชีพการงาน รวมไปถึงวิธีการมองหาสัญญาณภาวะเบื่อหน่ายหมดไฟ และสัญญาณของการมองหาหางานใหม่ เป็นต้น

หาก Gen Z อยากมีโอกาสได้งานมากขึ้น ต้องปรับทัศนคติใหม่
นาย ฮุย เหงียน (Huy Nguyen) ที่ปรึกษาหลักด้านการศึกษาและการพัฒนาอาชีพของ Intelligent มีคำแนะนำให้วัยทำงานชาว Gen Z ที่เพิ่งจบใหม่ว่า ลองสังเกตและเรียนรู้วิธีการพูดคุย หรือการมีส่วนร่วมในการทำงานของพนักงานรุ่นพี่ ในที่ทำงาน เพื่อทำความเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรในบริษัทที่พวกเขาอยากร่วมงานด้วย แล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม อีกทั้งควรให้ความสำคัญในการฝึกทักษะด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

“จงริเริ่มถามคำถามที่สร้างสรรค์ ขอคำติชม และนำไปใช้ในที่ทำงาน เพื่อแสดงให้หัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานเห็นถึงแรงจูงใจที่อยากจะเติบโตในอาชีพการงานของคุณ อีกทั้งควรฝึกการมีทัศนคติเชิงบวก การปฏิบัติตามกำหนดเวลา และอาสาทำงานในโครงการต่างๆ แม้จะอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบโดยตรงของคุณก็ตาม สิ่งนี้จะช่วยให้คุณโดดเด่นและแข็งแกร่งในโลกการทำงาน” เหงียน กล่าวเสริม 
.
ผู้นำองค์กรบางคนยืนกรานว่าทัศนคติเชิงบวกในการทำงาน จะช่วยส่งเสริมอาชีพของคนงานรุ่นใหม่ได้มากกว่าการจบปริญญาตรี

ตามความเห็นของ แอนดี้ แจสซี (Andy Jassy) ซีอีโอคนล่าสุดของ Amazon เขามองว่า ความสำเร็จของหนุ่มสาวในช่วงวัย 20 ปีจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับทัศนคติของคุณ เนื่องจากผู้บริหารหรือผู้จัดการในองค์กรส่วนใหญ่ มักชอบทำงานกับคนที่มีทัศนคติเชิงบวกมากกว่า ขณะที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ซีอีโอของบริษัท Meta สะท้อนมุมมองว่า พรสวรรค์ในการทำงานและบุคลิกภาพที่เหมาะสม ทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่า 

การไล่พนักงาน Gen Z ออก อาจเป็นเรื่องผิดพลาด! 
แม้นายจ้างบางส่วนอยากเลิกจ้างวัยทำงานชาว Gen Z แต่ในอีกมุมหนึ่ง การทำอย่างนั้นอาจเป็นเรื่องผิดพลาด โดย จอย เทย์เลอร์ (Joy Taylor) กรรมการผู้จัดการของบริษัทที่ปรึกษา Alliant อธิบายเรื่องนี้ผ่าน Newsweek ว่า นายจ้างยุคนี้จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับคนรุ่น Gen Z หากไล่พวกเขาออก “นั่นจะเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่” การดูแลเวิร์กโฟลว์ระหว่างพนักงานทุกรุ่นในองค์กรให้ราบรื่นนั้น มีความสำคัญต่อการรับมือความท้าทายทางธุรกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2025 ตั้งแต่การวางแผนการสืบทอดตำแหน่ง ไปจนถึงการปรับแนวทางวัฒนธรรมองค์กร 

“ไม่ว่านายจ้างจะชอบหรือไม่ก็ตาม คนรุ่น Gen Z กำลังนำมุมมองแบบ Blue Ocean มาสู่วัฒนธรรมการทำงานยุคใหม่ และการต่อต้านความเปลี่ยนแปลงนี้ แทนที่จะยอมรับและปรับตัว ถือเป็นการทำร้ายบริษัทอย่างมาก ส่งผลให้ผู้นำกลุ่ม Gen X หรือ Baby Boomers จำนวนมากไม่สามารถจัดตั้งองค์กรให้ประสบความสำเร็จและมีความยืดหยุ่นในระยะยาวได้ อีกทั้งยังพลาดโอกาสในการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของคนรุ่นใหม่” เทย์เลอร์กล่าว

เทย์เลอร์ บอกอีกว่า วัยทำงานรุ่น Gen Z มีพรสวรรค์บางอย่างที่นายจ้างสามารถเรียนรู้ได้ เช่น ความรู้ด้านดิจิทัล จิตวิญญาณของผู้ประกอบการ และความกล้าคิดกล้าพูด

อย่างไรก็ตาม เทย์เลอร์ มีข้อแนะนำถึงบริษัทต่าง ๆ ว่า การเรียนรู้ที่จะชื่นชมพรสวรรค์และความสามารถพิเศษเฉพาะตัวของคนทุกเจเนอเรชัน จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ ธุรกิจที่สามารถใช้ประโยชน์จากพรสวรรค์ที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้ได้ จะเป็นผู้ชนะของสนามธุรกิจในที่สุด

‘ปราชญ์ สามสี’ วิเคราะห์ Gen Z ชี้มั่นใจในตัวเองจนล้นเกิน ไม่เข้าใจสภาพความเป็นจริง ขาดภูมิคุ้มกันรับมือกับความล้มเหลว

(6 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ‘ปราชญ์ สามสี’ ได้ทำการวิเคราะห์ลักษณะนิสัย และแนวทางการใช้ชีวิตของ Gen Z ว่า 

Gen Z: The Lost Generation

ในยุคที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็วและเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน Gen Z เติบโตขึ้นมาเป็นเจเนอเรชันที่เชื่อมต่อกับโลกดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ พวกเขาสามารถเข้าถึงข้อมูลทุกอย่างได้เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส และมีความสามารถในการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งนี้กลับทำให้พวกเขาหลงทางในโลกแห่งความเป็นจริง

Gen Z มักถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง แต่บางครั้งความเชื่อมั่นนี้ก็กลายเป็นดาบสองคม พวกเขาเห็นความสามารถของตัวเองเหมือนมองในกระจก มองเห็นความเป็นตัวตนที่สะท้อนกลับมาหาตนเอง แต่ละเลยความจริงที่โลกภายนอกนั้นเต็มไปด้วยความซับซ้อนและอุปสรรค เมื่อพวกเขาต้องเผชิญกับความล้มเหลวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การขาดการเตรียมพร้อมในการเผชิญหน้ากับความล้มเหลวนี้ทำให้พวกเขาดูเหมือนไม่มีมาตรการรับมืออย่างเพียงพอ

ในบทความนี้ เราจะสำรวจลึกลงไปในพฤติกรรมและลักษณะเฉพาะของ Gen Z เพื่อทำความเข้าใจว่าพวกเขาเป็น "เจนที่ล้มเหลว" จริงหรือเป็นเพียงกลุ่มคนที่ยังต้องการเวลาในการปรับตัวให้เข้ากับโลกใบใหม่นี้ ที่ไม่ได้ง่ายเหมือนที่พวกเขาเคยเชื่อ

>>>ลักษณะเฉพาะของเด็ก Gen Z ที่สะท้อนแนวคิดและวิถีชีวิต

1. ปฏิเสธการวัดผลด้วยเกรด
เด็ก Gen Z ไม่ต้องการระบบการวัดผลด้วยเกรด พวกเขาเชื่อว่าการเรียนรู้ควรเน้นไปที่การพัฒนาทักษะ ความรู้ และความเข้าใจมากกว่าการประเมินผลด้วยตัวเลขหรือการแบ่งแยกด้วยเกรด

แม้จะมีจุดประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงการกดดัน แต่การปฏิเสธการวัดผลอาจทำให้ขาดเกณฑ์มาตรฐานในการประเมินความสามารถ ทำให้ยากต่อการพัฒนาตนเองหรือการเตรียมตัวสำหรับการทำงานในโลกความเป็นจริง ที่ยังคงใช้การประเมินผลงานเป็นตัววัดความสามารถ

2. เรียนเฉพาะสิ่งที่ตนเองสนใจ
พวกเขามักเลือกเรียนเฉพาะสิ่งที่ตรงกับความสนใจของตนเอง และหลีกเลี่ยงการเรียนในวิชาที่ไม่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายในชีวิตของพวกเขา การเรียนรู้แบบนี้ทำให้พวกเขาสามารถพัฒนาความรู้ในด้านที่ตนถนัด

อย่างไรก็ตาม การมุ่งเรียนเฉพาะสิ่งที่สนใจอาจจำกัดความรู้รอบด้าน ทำให้ขาดทักษะที่จำเป็นในชีวิตประจำวันหรือในสายงานที่ไม่ได้ตรงกับความชอบทั้งหมด นอกจากนี้ยังทำให้พวกเขาอาจขาดความยืดหยุ่นในการปรับตัวกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ต้องการความรู้ที่หลากหลาย

3. ไม่ชอบการแข่งขันและเน้นความเท่าเทียม
Gen Z ไม่ชอบการแข่งขันที่ต้องมีผู้แพ้และผู้ชนะ พวกเขาเน้นให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ตัวอย่างเช่น ในการแข่งขันวิ่งมาราธอน พวกเขาต้องการให้ทุกคนได้รับเหรียญรางวัลไม่ว่าจะเข้าเส้นชัยที่อันดับใดก็ตาม

การไม่ชอบการแข่งขันอาจลดทอนแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง เพราะการไม่มีผู้แพ้และผู้ชนะอาจทำให้ผู้คนขาดความทะเยอทะยานและการฝึกความอดทนเมื่อเผชิญกับความล้มเหลว นอกจากนี้ยังอาจนำไปสู่การลดทอนคุณค่าของความสำเร็จที่แท้จริง

4. สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ
เด็ก Gen Z เชื่อมั่นในความเท่าเทียมทางเพศ และเรียกร้องให้ทุกเพศมีสิทธิ์และเสรีภาพในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในชีวิตของตนเอง พวกเขาเห็นความสำคัญของการมีห้องน้ำแยกตามเพศทางเลือก เพื่อให้ทุกเพศมีความสะดวกและสบายใจในการใช้ชีวิต

แม้การสนับสนุนความเท่าเทียมเป็นสิ่งที่ดี แต่หากเน้นย้ำมากเกินไปในบางกรณีอาจสร้างความซับซ้อนและปัญหาในการจัดการกับความหลากหลายที่มากเกินความจำเป็นในสังคม เช่นงานเอกสารเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลประชากรเกิดความซับซ้อน

5. ทุกคนมีเหตุผลของตัวเองแม้ว่ามันจะไร้สาระแค่ไหนก็ตาม
เด็ก Gen Z มองว่าทุกการกระทำมีเหตุผลเบื้องหลังเสมอ และไม่มีการกระทำใดที่ถือว่าผิดหากสามารถอธิบายเหตุผลได้ แม้ว่าเหตุผลนั้นอาจไม่ตรงกับค่านิยมหลักของสังคมก็ตาม พวกเขาเชื่อในความหลากหลายทางความคิดและให้ความสำคัญกับการเข้าใจมุมมองของผู้อื่นมากกว่าการตัดสินแบบเด็ดขาด

การที่เด็ก Gen Z เชื่อว่าทุกการกระทำมีเหตุผลที่อธิบายได้ อาจทำให้พวกเขาหลุดจากการรับผิดชอบในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง พวกเขาอาจใช้เหตุผลเพื่อแก้ตัวหรือหลีกเลี่ยงการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้ขาดการเรียนรู้จากความผิดพลาดและการพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น

6.Gen Z มักไม่นิยมการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ใหญ่ โดยเชื่อถือในภูมิปัญญาหรือประสบการณ์ของคนรุ่นก่อนเป็นข้อมูลตกสมัย

เนื่องด้วยเด็ก Gen Z เกิดมาในยุคที่เรามีเทคโนโลยีข้อมูลสนับสนุนต่างๆเข้าถึงง่าย และ พวกเขาจึงชื่นชอบการหาข้อมูลด้วยตัวเอง ซึ่งแสดงถึงความเป็นอิสระและความเชื่อมั่นในการตัดสินใจของตนเอง

อย่างไรก็ตามการไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นหรือคำแนะนำจากผู้ใหญ่ อาจทำให้พวกเขาพลาดโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์จริงที่ไม่สามารถหาได้จากการค้นคว้าทางอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว เพราะอินเตอร์เน็ตไม่ได้มีข้อมูลที่รอบด้านเท่าประสบการณ์ของผู้ใหญ่

จากการศึกษาพฤติกรรมทั้งด้านข้อดีและข้อเสียของ Gen Z จะเห็นได้ว่ามีลักษณะเฉพาะที่ทำให้พวกเขาอาจไม่สามารถทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหนึ่งในลักษณะเฉพาะนั้นคือการมองเห็นตัวเองผ่านกระจกเสมือนว่าโลกภายนอกสะท้อนแต่ความสามารถของตนเอง พวกเขามักให้ความสำคัญกับความเชื่อมั่นในตัวเองและข้อมูลที่ตนเองหามาได้ มากกว่าการรับฟังความคิดเห็นหรือคำแนะนำจากผู้อื่น

การมองโลกผ่านมุมมองที่สะท้อนความสำเร็จของตัวเองทำให้พวกเขาอาจมองข้ามความเป็นจริงของโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทายและความยากลำบาก เมื่อพวกเขาต้องเผชิญกับความล้มเหลว ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในโลกที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา พวกเขาอาจขาดการเตรียมตัวหรือมาตรการรองรับการล้มเหลวนั้น เพราะพวกเขาไม่เคยเรียนรู้จากคำเตือนหรือประสบการณ์ของผู้อื่นมาก่อน

ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่พวกเขาเผชิญความจริงของโลก ความล้มเหลวอาจเป็นบทเรียนที่ยากลำบาก และหากพวกเขาไม่มีการเตรียมความพร้อมหรือแผนรองรับความล้มเหลวนี้ อาจทำให้เกิดความสับสนและขาดการปรับตัวในช่วงเวลาสำคัญของชีวิต

>>>สภาพการเรียนรู้ของเด็ก Gen Z และผลกระทบต่อการจ้างงานอย่างไร?
การที่พฤติกรรมของ เด็ก Gen Z ที่มักซึมซับเฉพาะสิ่งที่ตนเองสนใจและละเลยสิ่งที่อยู่นอกเหนือความสนใจ ส่งผลให้พวกเขามีลักษณะการเรียนรู้ที่ขาดๆ เกินๆ ซึ่งสร้างข้อจำกัดต่อความสามารถในการทำงานในโลกแห่งความเป็นจริง แม้ว่าพวกเขาอาจมีความเชี่ยวชาญในบางด้านอย่างลึกซึ้ง แต่กลับขาดความรู้รอบด้าน ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ และการประยุกต์ใช้ความรู้ที่จำเป็นต่อการทำงานเป็นทีม

นอกจากนี้ การขาดทักษะในการสื่อสารกับกลุ่มที่มีความคิดและความสนใจต่างกัน และการขาดความอดทนต่อการเผชิญกับความท้าทาย ทำให้พวกเขาไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมการทำงานที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

ความเป็นจริงแล้วโลกใบนี้มันอยู่ยากกว่าที่คิด เด็ก GenZ จะเอาตัวไม่รอดท่ามกลางการแข่งขันที่สูง จะไม่สามารถทนได้กับความผิดหวัง จะจะอยู่ได้ยากในสภาพสังคมโลกที่เผชิญกับภัยพิบัติต่างๆที่ไม่สามารถคาดคะเนได้

ด้วยเหตุนี้ สภาพการเรียนรู้ที่ไม่สมดุลและขาดการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกด้านของ Gen Z จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้พวกเขาไม่ได้รับการจ้างงานมากเท่าที่ควรในตลาดแรงงานปัจจุบัน ซึ่งต้องการบุคลากรที่มีความยืดหยุ่น มีทักษะการทำงานร่วมกัน และสามารถเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

>>>แล้วคน Gen Zจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร?
สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็กในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Z คือการมีความเป็นตัวเองสูง ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่ส่งผลต่อการเลือกอาชีพและการดำเนินชีวิต พวกเขาเน้นไปที่การทำสิ่งที่ตนเองสนใจเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นสายงานศิลปะ การออกแบบ หรืออาชีพที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นตัวนำ ซึ่งอาชีพที่เหมาะสมสำหรับพวกเขาจึงมักจะเป็นอาชีพที่สามารถเน้นความสนใจเฉพาะตัว เช่น การเป็นผู้ประกอบการ นักออกแบบ หรือทำการตลาดออนไลน์ โดยสร้างแบรนด์ส่วนตัวที่สะท้อนตัวตนของพวกเขาเอง

การที่พวกเขามีอิสระในการตัดสินใจและสร้างสิ่งใหม่ๆ ตามความสนใจของตัวเอง ทำให้ไม่ว่าจะเป็นการเปิดร้านค้าหรือสร้างธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง พวกเขาก็สามารถลงมือทำได้โดยไม่ต้องรอคำแนะนำจากคนอื่น หากล้มก็ล้มด้วยตัวเอง แต่ด้วยความที่ขาดประสบการณ์และการวางแผนในระยะยาว โอกาสที่จะเสี่ยงล้มเหลวก็สูงตามไปด้วย เพราะพวกเขามักไม่ค่อยยอมรับฟังคำแนะนำจากผู้ใหญ่หรือผู้มีประสบการณ์มาก่อน

ดังนั้น แม้ว่าความเป็นตัวเองจะทำให้เด็กในกลุ่มนี้มีความคิดสร้างสรรค์และกล้าลงมือทำ แต่การขาดประสบการณ์และการเตรียมตัวรับมือกับความล้มเหลวอาจทำให้เส้นทางการเติบโตของพวกเขามีความเสี่ยงมากขึ้น การหาจุดสมดุลระหว่างความเป็นตัวเองกับการรับฟังคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์จะเป็นกุญแจสำคัญในการลดความเสี่ยงในอนาคต

บริษัทมอง ‘เด็กจบใหม่’ ไม่พร้อมทำงาน -ขาดทักษะที่จำเป็น ชี้ เก่งทฤษฎีอย่างเดียวไม่พอ แถมใช้ AI ทำงานยังคุ้มทุนกว่า

เมื่อไม่กี่วันก่อน มีรายงานการศึกษาวิจัยใหม่สดๆ ร้อนๆ ของ Hult International Business School และบริษัทวิจัยอิสระ Workplace Intelligence ค้นพบว่า บริษัทหลายแห่งทั่วโลกแม้กำลังเผชิญกับการขาดแคลนบุคลากรทักษะสูงอย่างมาก แต่ก็ยังคงต้องการซื้อหรือลงทุนนำ AI มาทำงาน มากกว่าจะจ้างงานเด็กจบใหม่ 

การศึกษาครั้งนี้ได้สำรวจข้อมูลจากผู้นำหรือผู้จัดการฝ่าย HR ของบริษัทต่างๆ  800 คน ขณะเดียวกันก็สำรวจเด็กจบใหม่ที่เพิ่งจะสำเร็จการศึกษาเมื่อไม่นานนี้ 800 คนเช่นกัน (อายุ 22-27 ปี) ในตำแหน่งทางธุรกิจ รวมถึงการเงินการบัญชี, การตลาด, การขาย, การจัดการ, การดำเนินงาน-โลจิสติกส์, การวิเคราะห์-ข่าวกรองทางธุรกิจ ฯลฯ 

บริษัทไม่อยากจ้างงานเด็กจบใหม่ เพราะขาดประสบการณ์-ขาดทักษะที่จำเป็น ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างฝั่งผู้นำด้าน HR มากถึง 98% บอกว่า แม้องค์กรของตนกำลังประสบปัญหาในการหาบุคลากรทักษะสูง แต่ถึงอย่างนั้น 89% ของพวกเขาก็ระบุว่า บริษัทไม่อยากการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ โดยพวกเขามีเหตุผลคือ

- เด็กจบใหม่ขาดประสบการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริง (60%)
- ขาดแนวคิดแบบ Global mindset (57%)
- ขาดทักษะการทำงานเป็นทีม (55%)
- ขาดชุดทักษะที่เหมาะสมกับงาน (51%)
- ขาดมารยาททางธุรกิจที่เหมาะสม (50%) 

โดยผู้นำด้าน HR 37% อยากนำหุ่นยนต์หรือ AI เข้ามาทำงานแทนบัณฑิตจบใหม่ ขณะที่ 45% บอกว่าอยากจ้างคนทำงานอิสระมากกว่า อีกทั้งตามรายงานดังกล่าวยังพบด้วยว่า บริษัทที่เคยรับเด็กจบใหม่เข้าทำงานในช่วงปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ (78%) เคยไล่พนักงานเหล่านั้นบางคนออกไปแล้ว

ลูกจ้างเด็กจบใหม่ ชี้ มหาวิทยาลัยไม่ได้ช่วยให้พวกเขาพร้อมสู่โลกการทำงาน ไม่ใช่แค่ฝั่งนายจ้างที่รู้สึกว่าบัณฑิตจบใหม่ยังไม่พร้อมที่จะทำงานในโลกความจริง แต่ฝั่งของเด็กจบใหม่เอง ส่วนใหญ่ก็รู้สึกว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้เตรียมพวกเขาให้พร้อมสู่โลกการทำงานเช่นกัน จากการศึกษาชิ้นเดียวกันนี้ กลุ่มตัวอย่างของผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ๆ ที่เข้าร่วมบริษัทต่างๆ ได้สำเร็จ พบว่า ประสบการณ์การทำงานนั้นมีค่าอย่างยิ่ง 

ลูกจ้างที่เป็นเด็กจบใหม่ 77% บอกว่าเวลาครึ่งปีในที่ทำงานพวกเขาเรียนรู้ได้มากกว่าการเรียนปริญญาตรีสี่ปี และ 87% ยอมรับว่านายจ้างของพวกเขาจัดให้มีการฝึกอบรมงานที่ดีกว่ามหาวิทยาลัย อีกทั้งกลุ่มตัวอย่าง 55% บอกว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้เตรียมพวกเขาให้พร้อมสำหรับงานที่พวกเขาทำอยู่ในปัจจุบันแต่อย่างใด

แดน ชอว์เบล (Dan Schawbel) หุ้นส่วนผู้จัดการของ Workplace Intelligence อธิบายเพิ่มเติมว่า การสำรวจนี้เผยให้เห็นว่าหลักสูตรวิทยาลัยแบบดั้งเดิมไม่ได้มอบสิ่งที่นักศึกษาต้องการ เพื่อช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จในโลกการทำงานยุคใหม่ ที่เทคโนโลยีก้าวหน้ารวดเร็วในปัจจุบัน ผู้นำฝ่าย HR ของบริษัทต่าง ๆ มีความต้องการบัณฑิตจบใหม่ ที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี การใช้ AI การวิเคราะห์ข้อมูล และด้านไอทีสูงถึง 97% แต่มีบัณฑิตจบใหม่มีเพียง 20% เท่านั้นที่มีทักษะเหล่านี้

เรียนแต่ทฤษฎีในมหาวิทยาลัย ไม่เพียงพอต่อการทำงานในโลกความจริง ขณะที่ มาร์ติน โบห์ม (Martin Boehm) รองประธานบริหารและคณบดีฝ่ายโครงการระดับปริญญาตรีของ Hult International Business School สะท้อนมุมมองว่า การเรียนแต่ทฤษฎีอย่างเดียวในมหาวิทยาลัย ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว ยุคนี้สถาบันต่างๆ ต้องเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาด้วยวิธีใหม่ๆ เน้นที่การสร้างทั้งทักษะและทัศนคติที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ต่อเนื่อง ถือเป็นอนาคตของการศึกษาเพื่อเตรียมเด็กให้พร้อมสู่โลกการทำงาน

ไม่เพียงเท่านั้น ที่ปรึกษาฝ่ายทรัพยากรบุคคลอย่าง 'ไบรอัน ดริสโคลล์' (Bryan Driscoll) ให้ความเห็นที่แตกต่างออกไปว่า แน่นอนว่านายจ้างยุคนี้ต้องการใช้ AI มากกว่ามนุษย์ เพราะการลงทุน AI ราคาถูกกว่าลงทุนกับมนุษย์ เพราะไม่จำเป็นต้องมีการดูแลสุขภาพหรือสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ไม่ต้องลาพักร้อน

นี่ไม่ได้เกี่ยวกับเด็กจบใหม่ที่ขาดทักษะ แต่เกี่ยวกับนายจ้างที่พยายามหลบเลี่ยงความรับผิดชอบ พวกเขาใช้เวลาหลายสิบปีในการตัดงบประมาณโครงการฝึกอบรม และโยนภาระนั้นให้พนักงาน(เรียนเองจ่ายเอง) 

เควิน ทอมป์สัน (Kevin Thompson) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ 9i Capital Group ให้ความเห็นถึงประเด็นนี้ว่า เป็นเรื่องของเศรษฐศาสตร์และประสิทธิภาพ การฝึก AI ให้ทำงานนั้นง่ายและคุ้มต้นทุนมากกว่าการฝึกมนุษย์ โดย AI จะทำงานตามที่โปรแกรมกำหนดไว้ได้อย่างแม่นยำด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า นายจ้างจำนวนมากมองเห็นคุณค่าในการใช้ประโยชน์จาก AI ในการจัดการงานพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทบาทสนับสนุนและตำแหน่งงานระดับเริ่มต้น

ทางแก้ของสถานการณ์นี้ เด็กจบใหม่ที่เริ่มหางานอาจจะต้องพึ่งพาตนเองให้มากขึ้นในแง่ของการเพิ่มสกิล พัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีให้แก่ตนเอง เช่น ลงเรียนคอร์สเสริมทักษะต่างๆ มากขึ้น (มีใบรับรองการจบหลักสูตรต่าง ๆ แนบไปกับเรซูเม่สมัครงาน) เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยความพร้อมอย่างเต็มที่ เมื่อนายจ้างและบริษัทต่างก็คาดหวังคุณค่าและทักษะในตัวพนักงานใหม่ทันทีตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top