Tuesday, 22 April 2025
FTA

‘พาณิชย์’ ลุยเชียงใหม่ สร้างโอกาสผู้ประกอบการไทย ดันส่งออกสินค้า BCG ด้วย FTA

(30 พ.ย. 67) นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสุชาติ ชมกลิ่น) ให้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ภายใต้โครงการ “เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG สู่ตลาดการค้าเสรี” (โครงการ BCG) โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจัดขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ เพื่ออบรมผู้ประกอบการเรื่องความตกลงการค้าเสรี (FTA) และการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวได้รับเสียงตอบรับที่ดี โดยกรมได้นำผู้ประกอบการเดินทางไปจับคู่ธุรกิจกับคู่ค้าในตลาดต่างประเทศ และพัฒนาให้เป็นผู้ส่งออกที่สามารถใช้ประโยชน์จาก FTA อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม อาทิ บริษัท ลีฟ ครีเอชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้า BCG กระเป๋าจากใบไม้ ดำเนินธุรกิจสีเขียว และนำใบตองตึงที่มีในพื้นที่ มาใช้นวัตกรรมโดยเคลือบยางพารา ผลิตเป็นแผ่นหนังทดแทนหนังสัตว์ อีกทั้งใช้ประโยชน์จาก FTA ส่งออกไปประเทศต่างๆ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

สำหรับกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน และสนับสนุนผู้ประกอบการในการปรับตัวไปสู่ความยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) รวมทั้งยังส่งเสริมผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่รัฐบาลใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าใน 3 มิติ คือ 1. เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) คือ การนำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดด้านทรัพยากรชีวภาพและผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า 2. เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คือ การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุด เน้นการลดปริมาณของเสียให้น้อยลงหรือเท่ากับศูนย์ และ 3. เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) คือ การพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน

นายนันทพงษ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้พบหารือกับผู้ประกอบการสินค้า 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) อาหารและเครื่องดื่ม อาทิ น้ำผักสำเร็จรูป ผักและผลไม้แปรรูป กาแฟ ชาอู่หลง เครื่องดื่มจากเมล็ดโกโก้ ขิงหยอง และกล้วยอบกรอบ 2) ของใช้และของตกแต่งบ้าน อาทิ เครื่องเคลือบศิลาดล และเฟอร์นิเจอร์จากไม้ และ 3) เสื้อผ้าและเครื่องประดับ อาทิ ผ้าทอ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย และผ้าลินิน ซึ่งเป็นสินค้าในจังหวัดเชียงใหม่ และมาจากจังหวัดอื่นๆ ที่มาเข้าร่วมงานทั้งลำพูน ลำปาง พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และสุโขทัย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเพื่อนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมายกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าสร้างจุดเด่นและเพิ่มความหลากหลายของสินค้า ดังนั้น จึงมั่นใจว่าสินค้า BCG ในครั้งนี้มีศักยภาพพร้อมแข่งขันได้ในตลาดโลก

“กระทรวงพาณิชย์จะพัฒนาผู้ประกอบการ BCG ให้เป็นผู้ส่งออก โดยใช้มิสเตอร์ลีฟโมเดล ผลิตสินค้าที่คำนึงเรื่องการรักษ์สิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคเรื่องความคุ้มค่าและการพัฒนาสู่ความยั่งยืน พร้อมกันนี้กระทรวงพาณิชย์มุ่งช่วยผู้ประกอบการเรื่องการขยายช่องทางตลาดเพิ่มเติม ผลักดันการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่ไทยจัดทำไว้ 15 ฉบับกับ 19 ประเทศ และเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการใช้ FTA ฉบับใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อนำสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกาหลีใต้ และแคนาดา เป็นต้น” นายนันทพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

‘สุชาติ’ เผย!! 'อาเซียน - แคนาดา’ เร่งขับเคลื่อนเจรจา FTA ตั้งเป้า!! ปิดดีล ขยายโอกาสทางการค้า ภายในปี 2568

(18 ม.ค. 68) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แคนาดาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการเจรจาความตกลงการค้าเสรี อาเซียน-แคนาดา (ACAFTA TNC) รอบที่ 11 ระหว่างวันที่ 15-17 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ณ กรุงเทพฯ เพื่อขับเคลื่อนการเจรจาในประเด็นต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่จะสรุปผลการเจรจาอย่างมีนัยสำคัญภายในปี 2568 สำหรับการประชุม ACAFTA TNC ในรอบนี้ยังได้มีการจัดการประชุมของคณะทำงานเจรจาอีก 7 กลุ่ม ได้แก่ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า แนวปฏิบัติที่ดีด้านการออกกฎ การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา และกฎหมายและสถาบันควบคู่ไปด้วย  

"ไทยพร้อมสนับสนุน FTA อาเซียน-แคนาดา ให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2568 ซึ่งจะเป็น FTA แรกของไทยกับประเทศในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคธุรกิจ รวมถึงขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนที่เชื่อมโยงทั้งสองภูมิภาคให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน แคนาดาก็ให้ความสำคัญกับการสรุปผลการเจรจา ACAFTA โดยเร็ว เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญระหว่างสองฝ่าย โดยเฉพาะการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มพูนโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน" นายสุชาติ กล่าว 

ด้านนางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการประชุมครั้งนี้ว่า ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการติดตามความคืบหน้าการเจรจาของคณะทำงานภายใต้ ACAFTA ทั้ง 19 กลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังมีความล่าช้าและไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งรวมถึงเรื่องการค้าสินค้าที่จะต้องเร่งเจรจารูปแบบการลดภาษี (modality) ระหว่างประเทศสมาชิก การค้าบริการและการลงทุนที่จะต้องเร่งสรุปเรื่องโครงสร้างของข้อบทและรูปแบบการเปิดตลาด และเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งอาเซียนจะต้องพิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับกฎถิ่นกำเนิดสินค้าแบบเฉพาะ (Product Specific Rule: PSR) ที่แคนาดาเสนอมาทั้งหมด 5,612 รายการ รวมทั้งเรื่องการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืนที่อาเซียนจะต้องเร่งสรุปร่างข้อเสนอของอาเซียนให้แคนาดาพิจารณาเพื่อจัดทำร่างข้อบทร่วมในการเจรจาต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ให้แนวทางขับเคลื่อนการเจรจากับคณะทำงานกลุ่มต่างๆ อาทิ เร่งหาข้อสรุปในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นที่คล้ายคลึงกัน สำหรับประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นที่แตกต่างกันมาก ให้เน้นการหารืออย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันและแสดงความยืดหยุ่นเพื่อหาแนวทางที่ยอมรับร่วมกันได้ และหยิบยกประเด็นที่ติดขัดให้คณะกรรมการ TNC ให้แนวทางแก้ไข พร้อมทั้งผลักดันให้มีการประชุมทั้งในรูปแบบออนไลน์ และ in-person เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาได้ทันตามเป้าที่กำหนดไว้ 

สำหรับในปี 2566 การค้ารวมของไทยและแคนาดา มีมูลค่า 2,933.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 10.41 โดยไทยส่งออกไปยังแคนาดา มูลค่า 1,903.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 10.07 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขณะที่ไทยนำเข้าจากแคนาดา มูลค่า 1,030.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 11.03 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ

ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือน (ม.ค. –พ.ย.) ของปี 2567 การค้ารวมของไทยและแคนาดา มีมูลค่า 2,955.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออก 1,946.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการนำเข้า 1,008.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้า 937.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top