Wednesday, 23 April 2025
FED

‘เยเลน’ รับคิดผิดปัญหาเงินเฟ้อสหรัฐฯ เหตุไม่เข้าใจสถานการณ์อย่างถ่องแท้

“ฉันคิดผิดเกี่ยวกับเส้นทางเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นว่าไม่เป็นปัญหาระยะยาว แต่สุดท้ายก็เกิดความสั่นสะเทือนอย่างไม่คาดคิดและเกิดขึ้นอย่างมากต่อเศรษฐกิจ ซึ่งได้เพิ่มราคาพลังงานและอาหาร และปัญหาคอขวดของอุปทานที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเราอย่างเลวร้าย ซึ่งตอนนั้นฉันไม่เข้าใจมันอย่างถ่องแท้” คำกล่าวในการให้สัมภาษณ์ที่ออกอากาศเมื่อวันอังคารที่ CNN จากปากขุนคลังของสหรัฐอเมริกาอย่าง ‘เจเน็ต เยลเลน’ (Janet Yellen) ที่ยอมรับแบบง่ายๆ

เยลเลน ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบัน 3 ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ คือ โควิดสายพันธุ์ใหม่, การ ล็อกดาวน์ของจีน และภาวะสงครามในยูเครน แต่เธอก็ไม่ได้กล่าวโทษว่า การพิมพ์เงินของสหรัฐฯ ทำให้เกิดเงินเฟ้อแต่อย่างใด

ส่วนทางฝั่ง โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ก็ได้ออกมากล่าวว่า เขายังมั่นใจในตัวของ Jerome Powell ในฐานะประธาน FED ขณะเดียวกันกับที่ด้าน เยลเลน ก็กล่าวว่า เธอจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการทำงานของ FED

FED เรียกประชุมด่วน!! สหรัฐฯ หารือป้องกันวิกฤต Bank Run  หวั่น!! หากมีธนาคารอื่นล้มตาม SVB

(12 มี.ค.66) World Maker เผยว่า ท่ามกลางวิกฤตศรัทธาและวิกฤตสภาพคล่องของธนาคาร SVB ซึ่งส่อแว่วจะลุกลามต่อไปยังธนาคารอื่น ๆ ที่มีปัญหาคล้ายกันนี้ ล่าสุดสหรัฐฯ ได้เริ่มหารือถึงการจัดตั้งกองทุนหนุนเงินฝากแล้ว ! ขณะที่ FED เตรียมเรียกประชุมด่วนทันทีวันจันทร์นี้ (13) เพื่อหาทาง Take Action สำหรับวิกฤตที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่ธนาคารหลายแห่งจะล้มตามมาอีก 

ปัญหาสำคัญสุดคือเรื่องของความเชื่อมั่น เพราะถ้าไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้ มีแนวโน้มว่าผู้บริโภคจะแห่ถอนเงินออกไปมากกว่าเดิมและยิ่งทำให้ปัญหา Bank Run รุนแรง เพราะแม้ว่าธนาคารบางแห่งจะยังไม่เกิดวิกฤต แต่ถ้ามีการแห่ถอนจนขาดสภาพคล่องเมื่อไหร่ก็จะกลายเป็น Bank Run ทันที ! เพราะกลุ่มธนาคารขาดทุนค้างพอร์ตรวมกันกว่า -21.5 ล้านล้านบาทหรือ -6.2 แสนล้านดอลลาร์ตอนนี้ !

ทำให้ตอนนี้ FDIC และ FED ต้องเริ่มชั่งน้ำหนักเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโดยด่วน โดยไม่ปล่อยให้ตลาดคาดเดากันเองต่อไป เพราะยิ่งปล่อยผ่านไปเฉย ๆ จะยิ่งทำให้ Panic มากขึ้น แม้ว่าจะยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดในตอนนี้ว่ามาตรการป้องกันต่าง ๆ จะออกมาในรูปแบบใดบ้าง

แต่นักลงทุนบางส่วนก็คาดการณ์ว่า FED จะไม่ขึ้นดอกเบี้ย +0.5% ในครั้งนี้ เพราะจะยิ่งทำให้ตลาดตึงเครียดเข้าไปอีก เพราะแค่ตอนนี้ก็ลามไปมากกว่า SVB แล้ว ยกตัวอย่างเช่น First Republic และ PacWest ที่หุ้นร่วงตาม SVB มาเพียงแค่ 1 วันเท่านั้น ซึ่งที่น่าห่วงไม่แพ้กันก็คือตลาดอสังหาฯ เพราะถ้าเกิดมีการล้มเป็นโดมิโน่เกิดขึ้น จะทำให้ราคาอสังหาฯ ที่สูงลิ่วในตอนนี้มีความเสี่ยงสูงมากที่จะร่วงลงมาอย่างมีนัยสำคัญ

วิกฤตการล้มของ SVB นั้นถือว่าเป็นการล้มของธนาคารที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลก และถือเป็นธนาคารจริง ๆ แห่งแรกที่มีการล้มในรอบกว่า 10 ปี ซึ่งไม่ใช่น่าใหม่ด้วย แต่เป็นธนาคารที่มีประวัติและประสบการณ์มานานราว 40 ปีแล้ว เพราะ SVB ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1983 ดังนั้นแรงสั่นสะเทือนจึงมากกว่าวิกฤต Crypto และธนาคาร SilverGate ที่ล้มไปก่อนหน้านี้

SVB ได้รับการลงนามสนับสนุนจาก VC และสถาบันการลงทุนร่วมกว่า 100 แห่ง เนื่องจาก VC และบิรษัทเทคฯ ต่าง ๆ นั้นถือว่ามีผลประโยชน์โดยตรงกับธุรกิจของ SVB จึงน่าสนใจว่าจะมีใครเข้ามาอุ้มหรือจะปล่อยให้ล้มไปเฉย ๆ กันแน่ ? ตอนนี้ยังไม่มีอะไรชัดเจน แต่คาดว่าในวันจันทร์นี้จะมีความคืบหน้าออกมาเพิ่มเติมอีกแน่นอน

ทั้งนี้ ไม่ได้แปลว่าผลกระทบต่าง ๆ จะจบลงในเร็ว ๆ นี้ เพราะว่ายังมีเหตุการณ์อีกมากมายที่รอจะเกิดขึ้น ! แต่สำหรับคำถามที่ว่าจะรุนแรงเหมือนวิกฤตการเงินโลกหรือไม่นั้น เราก็คงต้องติดตามดูกันต่อไป โดยที่ไม่ควรจะประมาทหรือ Panic มากเกินไปว่ามันจะเบาหรือจะแรง

สำหรับผลกระทบต่อตลาดหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงนั้น คงจะเห็นภาพชัดขึ้นในวันจันทร์นี้ ว่าหุ้นจะร่วงหรือไม่ ? เรื่องของค่าเงินจะเป็นอย่างไร ? รวมไปถึงทองคำและ Crypto ซึ่งในช่วงนี้อาจมีความเคลื่อนไหวที่รุนแรงและผันผวนมากกว่าเดิมได้ เพราะถือเป็นช่วงเวลาที่ฝุ่นกำลังตลบอยู่

นั่นทำให้ Trader และนักลงทุนจำนวนไม่น้อยเข้าสู่โหมด Risk-off (ลดการรับความเสี่ยง) แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นข้อการันตีหรือเป็นการรับประกันว่าตลาดกำลังจะร่วงลงอย่างรุนแรง เพราะอย่างที่ World Maker ย้ำเสมอว่าตลาดนี้ไม่มีอะไรแน่นอน 100%

ปธ. FED ย้ำ!! เพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่หมัด แม้ต้องขึ้นดอกเบี้ยให้สูงขึ้นอีก ก็จะทำ!!

(23 มี.ค.66) World Maker เผย Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ย้ำว่าถ้า FED จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยให้สูงขึ้นอีกเขาก็จะทำ !!! เพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่หมัด !

⚠️ ถือเป็นที่ชัดเจนมาก ๆ ว่าเป้าหมายหลักของ FED คือการควบคุม #เงินเฟ้อ ! แม้ Powell จะกล่าวว่าเขาสอดส่องดูแลเศรษฐกิจอยู่ แต่ยังไม่เห็นภัยคุกคามระดับร้ายแรงที่จะทำให้ตลาดทรุดหนักจน FED ต้องหยุดขึ้นดอกเบี้ยกะทันหัน !

ทั้งนี้ เขากล่าวว่า FED ยังไม่ได้ตัดสินใจไปถึงการประชุมรอบหน้าว่าจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ ? แต่ก็ได้กล่าวว่า “การลดดอกเบี้ยยังไม่ใช่ Base Case ของ FED ในตอนนี้”

และคณะกรรมการ #FOMC ก็ยังไม่ได้พูดถึงการประชุมเรื่องยกเลิก QT ด้วย แม้ว่าจะต้องอัดฉีดสภาพคล่องฉุกเฉินไปให้ธนาคารเล็ก ๆ แต่มันเป็นคนละเรื่องกับการ QT เพื่อดึงเงินออกจากระบบ ! ดังนั้น FED จะยังเทขายตราสารหนี้และ MBS ต่อไปอีกสักระยะเป็นอย่างน้อย !

“ยังมีทางเดินไปสู่ Soft Landing” Powell กล่าว พร้อมเสริมว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าวิกฤต BankRun จะส่งผลกระทบต่อการทำ Soft Landing ของ FED

นอกจากนี้ยังย้ำอีกว่า “มันมีราคาที่ต้องจ่าย” เพื่อให้เงินเฟ้อระยะยาวลดลงสู่ 2% อีกครั้ง และยังพูดถึงสถานการณ์ของ Credit Suisse ว่าเป็นเรื่องที่จบลงค่อนข้างดี แม้ตลาดจะมีความกังวลว่ามันจะเลวร้าย

ส่วนในเรื่องของการคุ้มครองเงินฝากผู้บริโภค #Powell กล่าวว่า นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่า “เรามีเครื่องมือในการปกป้องผู้ฝากเงิน โดยเฉพาะเมื่อมีภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจหรือระบบการเงิน” และแน่นอนว่าหน่วยงานกำกับดูแลจะใช้เครื่องมือเหล่านั้น

📌 นี่เป็นไปตามหลัก #เศรษฐศาสตร์เคนส์ ที่ World Maker เคยอธิบายเอาไว้ ว่าหลักสำคัญคือการก้าวเข้ามาช่วยเหลือบริษัทอย่างไม่ต้องลังเลและไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะการทำเช่นนี้จะช่วยลดผลกระทบได้อย่างมาก กลับกัน หากปล่อยไว้ก็จะยิ่งลุกลามเสียหายหนักเกินกว่าที่ควรจะเป็น !

หุ้นกลุ่ม Big Bank ใน Wall Street ติดลบเกือบยกแผงอีกครั้งในตอนนี้ ขระที่หุ้นเทคโนโลยีตัวใหญ่ ๆ ส่วนมากยังดีดเขียวสดใส ส่วนราคา #ทองคำ แกว่งตัวไปมาระหว่าง 1950-1970 $/Oz ขณะที่ #Bitcoin ร่วง -2% หลุดมา 27,500 ดอลลาร์อีกครั้ง

‘พงษ์ภาณุ’ มอง!! แม้ FED แก้ปัญหาเร็ว แต่ยังไม่จบ เมื่อระเบิดเวลาจากอัตราดอกเบี้ย ยังรอซ้ำดาบสอง

(26 มี.ค.66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น และอดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ให้มุมมองถึงผลกระทบต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ต่อภาคธนาคาร ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 66 ระบุว่า…

แม้เราจะมองเห็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างรวดเร็วของ Fed ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะกับการแก้ปัญหาแบบเร่งด่วนที่เกิดขึ้น จาก ‘Bank Run’ ด้วยการเข้ามาค้ำประกันเงินฝาก ให้แบงก์เอาพันธบัตรไปวางค้ำและปล่อยกู้ในมูลค่าเต็มของราคาพันธบัตรนั้นๆ แต่จริงๆ แล้วปัญหามันยังไม่จบ ผมคิดว่า มันยังมีความเสี่ยงด้าน ‘Credit risk’ เป็นส่วนใหญ่ซ่อนอยู่ เช่น ความเสี่ยงของผู้กู้ที่อาจจะไม่สามารถชำระคืนได้ 

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘Interest Rate Risk’ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่สถาบันการเงินปล่อยกู้ไม่หมดเอย หรืออีกส่วนหนึ่งก็นำไปลงทุนในหลักทรัพย์เอย โดยเฉพาะอย่างหลังกับหลักทรัพย์ ที่เวลาเจอดอกเบี้ยขึ้นเมื่อไร ราคาทรัพย์มันมักจะตกลงตาม โดยเฉพาะกับกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีรายได้คงที่ แบบ ‘Fixed Income Securities’ (ตราสารหนี้) ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ที่ออกโดยรัฐบาลหรือองค์กรเอกชน ที่จ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดไว้ตามกำหนดเวลา และชำระคืนเงินต้นเมื่อครบอายุของหลักทรัพย์

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ คือ สมมติว่าเราไปซื้อพันธบัตรรัฐฯ ไว้ 1 หมื่นบาท แล้วภายในระยะเวลา 5-10 ปี เขาก็จะคืนมาให้ 11,000 บาท โดยเงื่อนไขในพันธบัตรจะเขียนว่า รัฐบาลจะจ่ายดอกเบี้ย เป็นจำนวน 5 บาท ทุกวันที่นั้น วันที่นี้ และเมื่อครบกำหนด ก็จะชำระคืนเงินต้น ซึ่งจำนวนเงิน 5 บาทนี้ แม้ดอกเบี้ยจะขึ้นเร็ว-ขึ้นแรงแค่ไหน รีเทิร์นมันก็จะถูกฟิกซ์ไว้อยู่ดี

สรุปผลแถลงการณ์ 13 เรื่อง จาก FED ยัน!! 'แบงก์-เศรษฐกิจสหรัฐฯ' ยังแข็งแกร่ง

(4 พ.ค. 66) จบไปแล้วสำหรับแถลงการณ์ของ Jerome Powell ประธาน FED ในค่ำคืนนี้ ! โดย FED ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย +0.25% และเรื่องที่ Powell เน้นย้ำ ซึ่ง World Maker ได้สรุปสาระสำคัญไว้ 13 เรื่อง ดังนี้...

1. ปัจจัยต่าง ๆ มีการปรับตัวดีขึ้น (รวมถึงในด้านของเงินเฟ้อ) แต่ FED จะติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดต่อไป และขณะเดียวกันจะดำเนินนโยบายอย่างรัดกุมพอเหมาะ เพื่อรักษาเสถียรภาพให้ระบบธนาคารไปด้วย

2. FED ย้ำว่าตลาดแรงงานและอัตราว่างงานยังคงต่ำมาก (ต่ำสุดในรอบราว 50 ปี) และเงินเฟ้อโดยรวมยังสูงกว่าเป้าหมาย 2% อยู่มาก แม้ว่าจะเริ่มชะลอตัวลงแล้วก็ตาม ดังนั้นแรงกดดันยังคงมีอยู่ในการควบคุมเงินเฟ้อ และยังมีหนทางอีกยาวไกลสำหรับการน้ำเงินเฟ้อกลับสู่ 2% นอกจากนี้ยังมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะ 'เติบโตเล็กน้อย-ปานกลาง' แต่ไม่ใช่ Recession รุนแรง

3. FED ยังมีจุดยืนที่แข็งแกร่งสำหรับการนำเงินเฟ้อกลับสู้ 2% ให้ได้ ดังนั้นอาจมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจในบาง Sectors ต่อไป เช่น อสังหาฯ ขณะที่วิกฤต Bank Run ทำให้สหรัฐฯ ต้องเข้มงวดในแง่ของสินเชื่อมากขึ้น

4. การตัดสินใจนโยบายในอนาคตจะยังขึ้นอยู่กับข้อมูลทางเศรษฐกิจโดยมีเป้าหลักคือนำเงินเฟ้อกลับสู่ 2% และ FED พร้อมที่จะดำเนินนโยบายเข้มงวดเพิ่มเติมหากจำเป็น

5. มีการถามเรื่องของเพดานหนี้สหรัฐฯ ซึ่ง FED กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลเป็นหลัก (ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของ FED) แต่โดยภาพรวมแล้ว Powell มองว่าสถานการณ์ต่าง ๆ อยู่ในจุดที่ยังควบคุมได้ และเราไม่ได้อยู่ในจุดที่จะพูดถึงเรื่องของการผิดชำระหนี้ของสหรัฐฯ (ดูเหมือน Powell ค่อนข้างมั่นใจว่าสหรัฐฯ จะไม่ยอมผิดชำระหนี้)

6. วิกฤต Bank Run ที่เกิดขึ้นเช่น SVB, Signature, First Republic ถูกมองว่าไม่ใช่ภัยคุกคามระดับหายนะเหมือนที่หลายคนคาดเอาไว้ ยังไม่ใช่สถานการณ์ฉุกเฉินรุนแรงที่จะต้องกังวลมากเกินไป (แต่ก็ไม่ใช่ความเสี่ยงที่จะละเลยได้โดยไม่คำนึงถึง) แต่โดยภาพรวมแล้วสถานะของธนาคารต่าง ๆ ดีขึ้นมากจากแรง Panic ในช่วงเริ่มต้นของวิกฤต ยังมีความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นในองค์รวมใหญ่ ๆ

'อ.พงษ์ภาณุ' เชื่อ!! Fed เตรียมลดดอกเบี้ย ส่งผลดี 'ยุโรป-ไทย' แนะ!! แบงก์ชาติไทย ลดดอกเบี้ยได้ทันที 0.50 โดยไม่ต้องรอ

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'Fed เตรียมลดดอกเบี้ย เปิดทาง ธปท. ลดดอกเบี้ยไทย' เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

การประชุม Fed เมื่อวัน 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ส่งสัญญาณการยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างชัดเจน และเตรียมพร้อมที่จะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2024 ถึงประมาณ 0.75% ส่งผลให้ดัชนีตลาดนิวยอร์กทะยานสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ วงจรดอกขาขึ้นรอบที่ผ่านมาที่ได้เริ่มต้นเมื่อเดือนมีนาคม 2022 ถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วและรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์นโยบายการเงิน

ความจริงแล้ว อาจจะเร็วไปสักนิดที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะเริ่มลดดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีความร้อนแรงอยู่มาก แม้ว่าเงินเฟ้อจะลดลงค่อนข้างรวดเร็ว การลดดอกเบี้ยเร็วเกินไปอาจไปกระตุกเงินเฟ้อให้ผงกหัวขึ้นมาได้ แต่การส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยครั้งนี้น่าจะเป็นผลดีและลดแรงกดดันต่อประเทศที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอกว่า เช่น ยุโรป และรวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจถดถอยจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา

ขณะนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะเริ่มลดดอกเบี้ย หลังจาก ธปท. โดย กนง.ตัดสินใจผิดพลาดในการประชุมที่ผ่านมาอย่างน้อย 2 ครั้ง ที่ได้มีการประกาศขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ทั้ง ๆ ที่อัตราเงินเฟ้อติดลบ 

ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องรอให้ Fed ลดดอกเบี้ยก่อนแล้วค่อยทำตาม ธนาคารกลางประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ รวมทั้งจีน ได้เริ่มลดดอกเบี้ยแล้ว ธปท. จึงควรเลิกดื้อรั้นไม่มีเหตุผลและประกาศลดดอกเบี้ยทันทีอย่างน้อย 0.50% ก่อนที่จะสายเกินไปเหมือนกับการขึ้นดอกเบี้ยล่าช้าเมื่อปีก่อน หากผิดพลาดอีกคราวนี้คนไทยคงไม่ยกโทษให้แน่นอน

การผ่อนคลายนโยบายการเงิน ที่จะดำเนินการไปพร้อมๆ กับมาตรการกระตุ้นทางการคลัง (Fiscal Stimulus) จะช่วยหยุดเศรษฐกิจขาลงของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาคครัวเรือนจะมีภาระหนี้ลดลงและกลับมาจับจ่ายใช้สอย ภาคธุรกิจหลังจากหยุดการผลิตและลดสินค้าคงคลังมาสักระยะก็จะกลับมาลงทุนและผลิตใหม่ ส่วนภาครัฐจะสามารถจัดงบประมาณที่ประหยัดได้จากภาระหนี้ที่ลดลงมาใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้เพิ่มขึ้น

กองทุนรวม ESG ซึ่งเป็นการลงทุนที่ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้และรัฐบาลได้ผลักดันให้ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจให้กับประชาชนเพื่อออมเงินระยะยาว โดยผ่านกลไกกองทุนรวมที่จะเข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะตราสารทุนและตราสารหนี้ของบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านการประเมินตามมาตรฐาน ESG แม้ว่าจะหักลดหย่อนได้เพียง 100,000 บาท แต่ก็ออกมาในจังหวะเวลาที่เหมาะสมและน่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

อำนาจละมุนหรือ Soft Power กำลังเป็นวาระแห่งชาติ การท่องเที่ยวและการกีฬาเป็นองค์ประกอบสำคัญของ อำนาจละมุน แม้ว่าการท่องเที่ยวในปีนี้อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ปี 2567 เชื่อว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาสู่ระดับเดิมก่อนเกิดโควิด ทั้งนี้จะต้องมีการปรับปรุงด้าน Supply อย่างขนานใหญ่ ในเรื่องความปลอดภัย ความสะดวก ความสะอาด รวมทั้งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่เป็น Man-made Attractions ซึ่งขาดการพัฒนามานาน ไม่ว่าจะเป็น Theme Park, Casino หรือสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และอาจใช้รูปแบบการร่วมทุนกับเอกชนในลักษณะ PPP เพื่ออาศัยความสามารถด้านการบริหารจัดการของธุรกิจเอกชน 

ส่วนด้านการกีฬานั้น ต้องปรับทัศนคติต่อการกีฬาให้มีลักษณะเชิงพาณิชย์มากขึ้น ปัจจุบันกีฬายังอาศัยเงินงบประมาณภาครัฐเป็นหลัก หากสามารถเปิดให้ทุนเอกชนเข้ามาพัฒนากีฬาในเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยเฉพาะกีฬาฟุตบอล มวยไทย และกอล์ฟ เชื่อว่าการกีฬาจะกลายเป็น Soft Power ที่สำคัญและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้มากขึ้น

รู้จัก FOMC การประชุมของ FED ที่ผู้กุมนโยบายการเงินทั่วโลกต่างจับตา เพราะทุกทีท่า ล้วนกระทบเสถียรภาพทาง ศก. 'ระดับชาติ-ระดับโลก'

ถ้าใครติดตามข่าวการลงทุนอยู่เรื่อย ๆ ก็คงสังเกตได้ว่า ช่วงไหนที่มีข่าวการประชุม FOMC หรือการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee - FOMC) ตลาดสินทรัพย์ทุกประเภทก็มักจะมีความผันผวน โดยนักลงทุนบางส่วนก็มีการขายสินทรัพย์ออกมาเพื่อลดความเสี่ยงลง เพื่อรอดูผลของการประชุมเสมอ

การประชุมนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญของระบบธนาคารกลางของสหรัฐฯ ซึ่งคณะกรรมการนี้ประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งหมด 12 คน ได้แก่ สมาชิก 7 คนจากคณะกรรมการผู้ว่าการของธนาคารกลางสหรัฐฯ, 1 คนเป็นผู้ว่าการธนาคารกลาง New York และอีก 4 คนจะหมุนเวียนกันมาจากผู้ว่าการธนาคารกลางอีก 11 เขตที่เหลือในแต่ละปีค่ะ

โดยวัตถุประสงค์หลักของ FOMC คือ การดูแลและกำหนดนโยบายการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค, ทบทวนสภาพเศรษฐกิจและการเงิน, ประเมินความเสี่ยงต่อเป้าหมายระยะยาว และหารือเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินที่เหมาะสม เช่น ราคาที่มีเสถียรภาพ, ระดับอัตราการจ้างงานสูงสุด และอัตราดอกเบี้ย ซึ่งคณะกรรมการนี้จะประชุมกัน 8 ครั้งต่อปี เพื่อหารือและตัดสินใจในมาตรการและนโยบายต่าง ๆ ร่วมกัน

โดยหัวข้อสำคัญ ๆ ที่มักจะถูกพูดถึง คือ...

1. อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม: ในการประชุมจะมีการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างธนาคารกลาง ซึ่งมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และการจ้างงาน

2. ตัวชี้วัดเศรษฐกิจต่าง ๆ: จะมีการนำเอาตัวเลขที่ใช้การชี้วัดเช่น การเติบโตของ GDP อัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ และการใช้จ่ายของผู้บริโภคมาพิจารณา 

ส่วนหัวข้อสำคัญรองลงมาจะเป็น...

3. สภาพตลาดการเงิน: การประเมินสภาพในตลาดการเงินและผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วไป

4. พัฒนาการเศรษฐกิจทั่วโลก: การพิจารณาสภาพเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

เมื่อพิจารณาหัวข้อดังกล่าวแล้ว ก็จะนำมาซึ่งการกำหนดนโยบายการเงิน โดยการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในการประชุม FOMC นั้น จะมีผลโดยตรงต่อทิศทางของนโยบายการเงินของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างธนาคารกลาง ซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอัตราดอกเบี้ยนี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และอัตราการจ้างงานต่อไป

ไม่เพียงเท่านี้ ผลกระทบต่อการตัดสินใจดังกล่าว จะส่งผลต่อตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และตลาดการเงินทั้งในสหรัฐฯ เองและทั่วโลก รวมไปถึงการเคลื่อนย้ายของแหล่งเงินทุนทั่วโลกอีกด้วย

ดังนั้น ผลการประชุมนี้ จึงถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดโดยตลาดและผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก ภายใต้บทบาทสำคัญของ FOMC ที่จะส่งผลต่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งในระดับชาติและระดับโลก 

อ้อ!! แล้วนอกจากการประชุมของธนาคารสหรัฐฯ แล้ว ในโลกก็ยังมีการประชุมธนาคารประเทศอื่น ๆ ที่สำคัญระดับโลกอีกด้วย อย่างเช่น การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE), การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ขณะที่ไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ก็จะมีการประชุมเพื่อกำหนดกรอบนโยบายและสร้างเสถียรภาพทางการเงินเช่นเดียวกัน

สำหรับการประชุม FOMC รอบที่ผ่านมามีขึ้นในวันที่ 30-31 กรกฎาคม แม้จะมีการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% แต่ผู้ว่าการธนาคารกลางอย่างนายเจอโรม พาวเวล ก็ได้แสดงท่าทีที่อ่อนโยนลง และระบุว่า ถ้าเงินเฟ้อกำลังมีทิศทางที่ชะลอตัวลง, ตลาดแรงงานลดความร้อนแรงลง 'เฟด' (FED) เอง ก็พร้อมที่จะปรับลดดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในการประชุมครั้งหน้า ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ค่ะ

'FED' ใช้ยาแรงตามคาด ลดดอกเบี้ย 0.5% ฟาก 'ตลาดหุ้นสหรัฐฯ' เด้งรับก่อนปิดลบ

(19 ก.ย. 67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลง 0.5% เมื่อวันพุธที่ 18 ก.ย. 2567 ถือเป็นการเริ่มต้นวัฏจักรของการลดดอกเบี้ยอย่าง ‘เข้มข้น’ โดยการลดดอกเบี้ยถึง ‘ครึ่งเปอร์เซ็นต์’ แทนที่การลดดอกเบี้ย 0.25% ตามปกติ เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ในตลาดส่วนใหญ่คาดการณ์เอาไว้ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของตลาดแรงงานสหรัฐ ที่ส่งสัญญาณอ่อนเเรงมาก่อนหน้านี้

ขณะที่ผลการคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐในระยะยาว (Dot Plot) แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ 10 คนจาก 19 คน "สนับสนุนให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 0.5% ในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือของปี 2024"

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 1.00% ในปี 2568 และลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในปี 2569

โดยรวมแล้ว Dot Plot บ่งชี้ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 2.00% หลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในวันนี้

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ลงมติ 11 ต่อ 1 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 4.75% - 5.0% หลังจากคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ทศวรรษมาเป็นเวลากว่า 1 ปี 

การเคลื่อนไหวที่เด็ดขาดเมื่อวันพุธเน้นย้ำถึง ‘ความกังวลที่เพิ่มมากขึ้น’ ของผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับทิศทางตลาดการจ้างงานของสหรัฐ

เฟดระบุในแถลงการณ์ว่า "คณะกรรมการมีความมั่นใจมากขึ้นว่าอัตราเงินเฟ้อจะเคลื่อนตัวไปสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน และเห็นว่าความเสี่ยงในการบรรลุเป้าหมายด้านการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สมดุล" และเสริมว่าเจ้าหน้าที่ "มีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนการจ้างงานสูงสุด" นอกเหนือจากการผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้กลับไปสู่เป้าหมาย

ทั้งนี้ เฟดลดดอกเบี้ยครั้งล่าสุดคือในปี 2563 (2020) ซึ่งลดไป 0.50% เมื่อวันที่ 3 มี.ค. และอีก 1.00% ในวันที่ 15 มี.ค. โดยถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0-0.25% ยาวต่อเนื่องจนเข้าสู่วัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2565-2566

>>หั่นคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือ 2.0% 

นอกจากการปรับลดดอกเบี้ยแล้ว เฟดได้ ‘ปรับลด’ คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2567 ลงเหลือ 2% โดยประมาณการว่าจีดีพีสหรัฐจะโตได้ระดับ 2.0% ในทุกๆ ปี ตั้งแต่ปี 2567- 2570 หลังจากก่อนหน้านี้เคยคาดการณ์ในเดือนมิ.ย.ว่า จะมีการขยายตัว 2.1%, 2.0% และ 2.0% ในปี 2567, 2568 และ 2569 ตามลำดับ 

นอกจากนี้ เฟดยังได้ปรับคาดการณ์การว่างงานในปีนี้ ‘เพิ่มขึ้น’ จาก 4.0% เป็น 4.4% 

เฟดปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราว่างงานในช่วง 4 ปีนี้ ตั้งแต่ปี 2567 - 2570 อยู่ที่ระดับ 4.4%, 4.4% และ 4.3% และ 4.2% ตามลำดับ หลังจากคาดการณ์ในเดือนมิ.ย.ว่าจะอยู่ที่ระดับ 4.0%, 4.2% และ 4.1% ในปี 2567, 2568 และ 2569 ตามลำดับ ส่วนอัตราว่างงานระยะยาวยังคงอยู่ที่ระดับ 4.2%

ขณะเดียวกัน เฟดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2567- 2570 อยู่ที่ระดับ 2.6%, 2.2%, 2.0% และ 2.0% ตามลำดับ ‘ลดลง’ หลังจากคาดการณ์ในเดือนมิ.ย.ว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.8%, 2.3% และ 2.0% ในปี 2567, 2568 และ 2569 ตามลำดับ

>>'หุ้น-ทอง' พุ่งทุบสถิติใหม่!

ด้านตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวเขียวยกแผง โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวบวกขึ้นไปถึง 300 จุดในช่วงสั้นๆ หลังการประกาศผลประชุม ก่อนจะปรับลดลงมา ณ เวลาประมาณ 01.20 น. ตามเวลาในไทย Dow Jone บวกไปกว่า 174 จุด หรือราว 0.4% แตะสถิติสูงสุดใหม่ระหว่างการซื้อขาย ส่วน S&P500 บวกราว 0.51% และ Nasdaq บวกได้ราว 0.74% ก่อนที่ทั้งสามดัชนีจะ ‘ปิดตลาดลบลงไปเล็กน้อย’

-ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปิดตลาดลดลง 103.08 จุด หรือ -0.25% ปิดที่ 41,503.10 จุด
-ดัชนี S&P500 ปิดลบ 16.32 จุด หรือ -0.29% ปิดที่ 5,618.26 จุด
-ดัชนี Nasdaq ปิดลบ 54.76 จุด หรือ -0.31% ปิดที่ 17,573.30 จุด 

ด้านสัญญาทองคำฟิวเจอร์ตลาด Comex ปิดตลาดวันพุธที่ 18 ก.ย. เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.2% ปิดที่ 2,598.60 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือเพิ่มขึ้น 6.2 ดอลลาร์จากวันก่อนหน้า ขณะที่ราคาทองสปอตทะยานไปแตะ 2,592.39 ดอลลาร์/ออนซ์ ระหว่างการซื้อขายเมื่อคืนนี้

มักส์ชู #EndtheFed หนุนทรัมป์แทรกแซง'แบงก์ชาติ' ให้ปธน.คุมธนาคารกลางสหรัฐด้วยตัวเอง

อีลอน มัสก์ ซีอีโอของ Tesla, X และ SpaceX ได้แสดงการสนับสนุนให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อความเป็นอิสระขององค์กรนี้ได้

เมื่อวันที่ (8 พ.ย.67) ที่ผ่านมา มัสก์ได้โพสต์บนแพลตฟอร์ม X โดยให้การสนับสนุนต่อข้อความของ ไมค์ ลี วุฒิสมาชิกจากรัฐยูทาห์ ที่กล่าวว่า “องค์กรสำคัญต่าง ๆ ควรอยู่ภายใต้การควบคุมของประธานาธิบดี เพื่อสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็เป็นหนึ่งในหลาย ๆ ตัวอย่างที่เบี่ยงเบนไปจากแนวทางนี้” พร้อมติดแฮชแท็ก #EndTheFed เพื่อเสนอให้ยกเลิกหรือปรับปรุงการทำงานของธนาคารกลาง

ด้าน เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed เคยกล่าวเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ว่าตนจะไม่ลาออกจากตำแหน่งแม้ทรัมป์จะเรียกร้อง ซึ่งเป็นท่าทีชัดเจนที่อาจสร้างแรงกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประธาน Fed กับประธานาธิบดีที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่

การเผชิญหน้าครั้งนี้อาจเป็นประเด็นใหญ่ของทรัมป์ในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของเขา หากย้อนกลับไปในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรก ทรัมป์ได้แต่งตั้งพาวเวลล์เป็นประธาน Fed ในปี 2018 ทรัมป์และพาวเวลมีความเห็นไม่ตรงกันในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการผ่อนปรนค่าเงินดอลลาร์

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่าความเป็นอิสระของธนาคารกลางเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินนโยบายการเงินที่ปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งช่วยคงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือในการควบคุมเงินเฟ้อ แม้ว่า Fed อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมนี้ แต่หากเศรษฐกิจยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ก็มีความเป็นไปได้ที่นโยบายการลดอัตราดอกเบี้ยอาจถูกชะลอ

ก่อนหน้านี้ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2024 ทรัมป์มักกล่าวถึงความต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของ Fed หากเขากลับมาชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง โดยเขากล่าวเมื่อเดือนสิงหาคมว่า “ผมเชื่อว่าประธานาธิบดีควรมีบทบาทในการกำหนดทิศทาง ผมเองก็มีประสบการณ์ในการสร้างผลกำไรและความสำเร็จ และผมคิดว่าผมมีวิจารณญาณที่ดีกว่าในบางเรื่องมากกว่าธนาคารกลาง”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top