Tuesday, 22 April 2025
ESG

‘กรีนสปอต-DHL’ เปิดตัวรถขนส่งไฟฟ้า 18 ล้อ เดินหน้าโลจิสติกส์พลังงานสะอาด เป็นครั้งแรก

(26 ม.ค.67) นายสตีฟ วอล์กเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีเอชแอล ซัพพลายเชน กลุ่มธุรกิจประเทศไทย กล่าวว่า นับเป็นก้าวสำคัญสำหรับความมุ่งมั่นของทั้งสองบริษัทสู่การสร้างสรรค์อนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน รถขนส่งพลังงานไฟฟ้าที่เราเปิดตัวครั้งนี้ สามารถวิ่งได้ในระยะทางสูงสุดถึง 350 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ซึ่งใช้เวลาชาร์จพลังงานเต็มประสิทธิภาพประมาณ 2 ชั่วโมง โดยคาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ประมาณ 60 ตันต่อปี

การเปิดตัวรถขนส่งพลังงานไฟฟ้านี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในการขนส่งสินค้าของกรีนสปอต เพื่อให้มั่นใจว่าการขนส่งสินค้าทั้งภายในและภายนอกบริษัทจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเส้นทางการขนส่งสินค้าจะครอบคลุมตั้งแต่การขนส่งวัตถุดิบจากโรงงานผลิตขวดไปยังโรงงานกรีนสปอต หนองแค และรังสิต และขนส่งสินค้าจากโรงงานทั้งสองแห่งไปยังคลังสินค้าคลองหลวง หลังจากนั้น สินค้าจะถูกขนส่งไปยังผู้บริโภคผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ อาทิ บิ๊กซี โลตัส และ 7-11

สำหรับรถขนส่งพลังงานไฟฟ้านี้จะถูกบริหารจัดการโดยศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการด้านการขนส่งของดีเอชแอล มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากมายมาใช้ อาทิ Paragon Route Optimization System, Transport Management System, Telematics และ DHL’s MySupplyChain digital platform

นายสตีฟ กล่าวต่อว่า เรากำลังเดินหน้าอย่างมั่นคงสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้วยพลังงานสะอาดและยั่งยืนในทุกขั้นตอน ความร่วมมือของเรากับกรีนสปอตในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมของทั้งสองบริษัทที่มีร่วมกัน

โดยเฉพาะความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ต่อแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน การเปิดตัวรถขนส่งพลังงานไฟฟ้าของเราถือเป็นเครื่องพิสูจน์อันเด่นชัดถึงความทุ่มเทอย่างต่อเนื่องในเรื่องนี้ และด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย จะช่วยให้เราสามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านการวางแผนเส้นทางการเดินรถที่มีประสิทธิภาพและการส่งมอบสินค้าอย่างปลอดภัย โดยลูกค้าสามารถตรวจสอบสถานะของสินค้าได้ในทุกขั้นตอนการทำงาน

>> กรีนสปอต ลดขยะ-ลดใช้พลังงาน

ด้านนายโชติ โสภณพนิช ประธานกรรมการ บริษัท กรีนสปอต จำกัด กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานของเราจะมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัยด้านอาหาร และมีคุณค่าทางโภชนาการเป็นหลักเสมอ การเปิดตัวรถขนส่งพลังงานไฟฟ้าเพื่อขนส่งเครื่องดื่มของเราในครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นไปอีกก้าวต่อการปฏิบัติงานที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือกับดีเอชแอล ซัพพลายเชน ประเทศไทย ตอกย้ำถึงความทุ่มเทของเราในการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เราจะยังคงมุ่งมั่นนำโซลูชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในกระบวนการต่าง ๆ ของซัพพลายเชนอย่างต่อเนื่องต่อไป

ความมุ่งมั่นของกรีนสปอตในด้านความยั่งยืน ยังครอบคลุมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร ลดการสร้างขยะให้น้อยที่สุด และลดอัตราการใช้พลังงาน ด้วยความพยายามอันเต็มเปี่ยมและจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม บริษัทได้กำหนดเป้าหมายที่จะสร้างเสริมสุขภาวะและยกระดับคุณภาพชีวิตของทั้งผู้บริโภคและชุมชนในวงกว้าง นโยบายนี้สะท้อนผ่านการให้ความสำคัญต่อแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน การส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ และการมีส่วนร่วมในการสร้างประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

>> ดีแอชแอลเดินหน้าโลจิสติกส์ยั่งยืน

ปัจจุบัน ดีเอชแอล ซัพพลายเชน ประเทศไทย มีการนำรถขนส่งพลังงานไฟฟ้ามาใช้จำนวนมากและมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่องในปี 2567 และปีต่อ ๆ ไป การนำรถขนส่งพลังงานไฟฟ้ามาใช้ขนส่งสินค้าอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับนโยบายการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Transport Policy) ซึ่งเป็นแผนงานเชิงกลยุทธ์ในการใช้โซลูชั่นการขนส่งที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามแผนงานความยั่งยืนของกลุ่มบริษัท

นโยบายนี้ยังทำหน้าที่เป็นแบบแผนในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรถขนส่งโดยใช้ทางเลือกต่าง ๆ เพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น อาทิ การนำน้ำมันพืชที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจน (hydrotreated vegetable oil) ก๊าซชีวภาพ พลังงานไฟฟ้า หรือเครื่องยนต์ไฮโดรเจน มาใช้ เป็นต้น ซึ่งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มนี้ ดีเอชแอล ซัพพลายเชน ตั้งเป้าที่จะปรับเปลี่ยนรถขนส่งประมาณ 2,000 คัน ทั่วโลกไปใช้พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้นในอนาคต 

‘CPF’ ชูนวัตกรรม ‘โปรไบโอติกส์’ ในอาหารสัตว์ ส่งมอบ ‘หมู-ไก่-เป็ด-กุ้ง’ คุณภาพสู่ผู้บริโภค

เมื่อวานนี้ (29 ม.ค. 67) กระบวนการเลี้ยงที่ใช้นวัตกรรมโปรไบโอติกส์ (Probiotics) ผสมในอาหารสัตว์ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์เนื้อหมู ไก่ เป็ด กุ้ง ตอบโจทย์ดีต่อสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ล่าสุด พัฒนานวัตกรรมอาหารสำหรับจุลินทรีย์ในไบโอแก๊ส เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าในฟาร์มสุกร ช่วยบำบัดน้ำเสีย ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ดร.ไพรัตน์ ศรีชนะ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักวิชาการอาหารสัตว์บก ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ ใส่ใจและให้ความสำคัญกับกระบวนการเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตอาหารสัตว์ที่เรามุ่งมั่นวิจัยและพัฒนา นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ ภายใต้หลักคิดอาหารที่ส่งเสริมให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรงตามธรรมชาติ ส่งผลให้เนื้อสัตว์มีคุณภาพดี พร้อมส่งมอบสู่ผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามหลักสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ตอบโจทย์การผลิตอาหารปลอดภัยและยั่งยืน

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับหลักโภชนาการแม่นยำ ด้วยการพัฒนาสูตรอาหารสัตว์ที่ตรงกับความต้องการของสัตว์ในแต่ละช่วงวัย ควบคู่กับกระบวนการเลี้ยงตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) เลี้ยงในโรงเรือนระบบปิดที่มีการป้องกันโรค ทำให้สัตว์มีความเป็นอยู่สุขสบายในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จึงทำให้สัตว์ไม่ป่วยและไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ส่งผลทำให้ได้เนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพดี ปลอดสารตกค้าง ลดการปลดปล่อยสารอาหารส่วนเกินสู่สิ่งแวดล้อม อาทิ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส เป็นต้น

นอกจากนั้น ซีพีเอฟ ได้คิดค้น วิจัยและพัฒนานวัตกรรมโปรไบโอติกส์ ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ชนิดดีที่ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์ ทำให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง สามารถต่อต้านเชื้อก่อโรคได้ดี โดยคัดเลือกจากฐานข้อมูลจุลินทรีย์ในห้องปฏิบัติการ จนได้โปรไบโอติกส์ที่ดีที่สุดเพียง 10 สายพันธุ์ ผสมในอาหารสัตว์ ทั้งหมู ไก่ เป็ด ได้เป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้ แบรนด์ CP อาทิ ผลิตภัณฑ์เนื้อหมู ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ ผลิตภัณฑ์เนื้อเป็ด และผลิตภัณฑ์กุ้ง CP Pacific ซึ่งผลิตภัณฑ์กุ้งมาจากกระบวนการเพาะเลี้ยงตามหลัก 3 สะอาด คือ ลูกกุ้งสะอาด น้ำสะอาด บ่อสะอาด ใส่ใจทุกขั้นตอน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กลุ่มผลิตภัณฑ์รักษ์โลก เน้นการเลี้ยงด้วยอาหารนวัตกรรมจากธรรมชาติ 100 % อาทิ หมูชีวา (Cheeva Pork) จากแบรนด์ U FARM เนื้อหมูที่อุดมด้วย โอเมก้า 3 มาจากการเลี้ยงสุกรด้วย Super Food เช่น Flax Seed น้ำมันปลา สาหร่ายทะเลลึก ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล ปลอดสาร  ปลอดภัย ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยง ได้รับการรับรองมาตรฐานโดย NSF สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต ช่วยลดไนโตรเจนในมูลสุกร 20-30 % ผลิตภัณฑ์ไก่เบญจา (Benja Chicken) มาจากการเลี้ยงไก่ด้วย ข้าวกล้อง Flax Seed ทำให้เนื้อไก่มีโอเมก้า 3 กลิ่นหอม เนื้อนุ่มและฉ่ำได้รับการรับรองมาตรฐานโดย NSF เช่นกัน  ผลิตภัณฑ์เป็ดจักรพรรดิ (Chakkraphat Duck) แบรนด์ U FARM มาจากเป็ดที่ถูกคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดี เลี้ยงด้วยอาหารจากธัญพืชที่อุดมด้วยโอเมก้า 3 ทำให้เป็ดเนื้อนุ่มฉ่ำกว่าเนื้อเป็ดทั่วไป  

นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังให้ความสำคัญสูงสุดในการส่งมอบเนื้อสัตว์คุณภาพ เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคแล้ว บริษัทฯ ยังตระหนักถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมโดยได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ในบ่อไบโอแก๊ส ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย เพิ่มผลผลิตแก๊สมีเทนเพิ่มความเข้มข้นแก๊สมีเทนสำหรับใช้ในการปั่นไฟฟ้า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และทำให้คุณภาพน้ำเสียจากการบำบัดดีขึ้น โดยในปี 2566 นำไปใช้ในฟาร์มสุกรแล้วรวม 70 แห่ง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปั่นไฟ ลดค่าใช้จ่ายในการใช้ไฟฟ้าในฟาร์ม และในอนาคตวางแผนวิจัยและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อนำไปใช้ในฟาร์มของซีพีเอฟและฟาร์มภายนอก

'รมว.ปุ้ย' สั่งการ 'ดีพร้อม' เดินหน้าผนึกกำลัง 'โตโยต้า' ดึงระบบ 'ไคเซ็น' ช่วย 'ต่อยอด-เสริมแกร่ง' ธุรกิจชุมชน

(30 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ 'ดีพร้อม' เดินหน้าผนึกกำลังความร่วมมือ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ต่อยอดการพัฒนาและยกระดับการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ธุรกิจชุมชนครอบคลุมทุกมิติในรูปแบบ Big Brother 'พี่ช่วยน้อง' ผ่านโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ พร้อมดึงระบบการผลิตแบบโตโยต้าและโตโยต้าคาราคุริไคเซ็นมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของธุรกิจชุมชน หวังลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างรายได้ให้ธุรกิจชุมชนอย่างยั่งยืน และต่อยอดธุรกิจชุมชนสู่เกษตรอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คาดว่าสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท

รมว.พิมพ์ภัทรา เผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน เพราะหากฐานรากแข็งแกร่งก็จะสามารถผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ประกอบกับปัจจุบันโลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมก็เปลี่ยน มีกติกาใหม่ที่เข้ามาบังคับ กีดกัน ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญสำหรับยุคอุตสาหกรรมในตอนนี้ และส่วนที่ควรให้ความสำคัญ คือ...

เศรษฐกิจฐานราก หรือ ชุมชน โดยเทรนด์การอุปโภคบริโภคของคนเปลี่ยน การปรับตัวให้อยู่รอดในปัจจุบันจำเป็นต้องใช้อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ (S-Curve) เข้ามาช่วยพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจชุมชนให้สามารถเติบโตและมีขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและยกระดับอาชีพชุมชนสู่การผลิตที่มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น อันจะทำให้ชุมชนเปลี่ยนไปสู่ภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งในอนาคต 

โดย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากมาโดยตลอด จึงสั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เดินหน้าผนึกกำลังความร่วมมือกับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง

ด้าน นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง ดีพร้อม และบริษัท โตโยต้าฯ ในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม ภายใต้นโยบาย RESHAPE THE FUTURE: โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการสามารถปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงมีศักยภาพในการแสวงหาโอกาสและผลประโยชน์จากความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ด้วยการมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการขยายเครือข่ายความร่วมมือ หรือ DIPROM Connection ด้วยการบูรณาการกับองค์กรภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ 

นอกจากนี้ ยังสร้างเครือข่ายในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ผ่านการเชื่อมโยงกับ Big Brother ตลอดจนการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการและการถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรม อันจะเป็นการเพิ่มการเข้าถึงโอกาสของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยผ่านโครงการ/กิจกรรมต่างๆ อาทิ กิจกรรมพัฒนาสถานประกอบการด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติ ผ่านกลไกความร่วมมือต่าง ๆ การพัฒนาและส่งเสริมให้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต้นทุนต่ำ หรือ Low Cost Technology ในสถานประกอบการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและลดต้นทุนด้านต่างๆ 

รวมถึงการถ่ายทอดความรู้เชิงขั้นตอนให้กับผู้ประกอบการชุมชนผ่านกิจกรรมโตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการชุมชน อาทิ ทักษะการบริหารจัดการ การตลาด การเงิน การบัญชี การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ระบบโลจิสติกส์ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การผลิตผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน ตลอดจนส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเข้าถึงองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตต่างๆ ที่จะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดปัญหาการผลิตต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ด้าน นายนันทวัฒน์ ศรีวรัตน์อัชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จํากัด กล่าวว่า บริษัท โตโยต้าฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ขยายผลต่อยอดความร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยทางโตโยต้าเองได้ดำเนินโครงการ 'โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์' มากว่า 10 ปีแล้ว และได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือธุรกิจชุมชนในลักษณะของการเป็น 'พี่เลี้ยงทางธุรกิจ' ด้วยการร่วมศึกษาถึงปัญหาต่างๆ พร้อมนำองค์ความรู้และปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของโตโยต้า ได้แก่ วิถีโตโยต้า ระบบการผลิตแบบโตโยต้า และหลักการ ไคเซ็น (Kaizen) เข้าไปถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของธุรกิจชุมชนต่างๆ สามารถลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างผลกำไรจนเป็นผลสำเร็จทั้งสิ้น 32 ธุรกิจทั่วประเทศ พร้อมทั้งได้มีการเปิด 'ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์' 6 แห่งครอบคลุมพื้นที่ครบทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 

นอกจากนี้ โตโยต้าฯ ยังได้มีการขยายผลเพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจ โดยมีความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนใน 'โครงการ Big Brother พี่ช่วยน้อง' ซึ่งความร่วมมือกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือในรูปแบบการดำเนินงานผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมในจังหวัดกรุงเทพฯ, นครราชสีมา, ชลบุรี รวมถึงโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่อง 

โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการต่อยอดการยกระดับในการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อช่วยปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจชุมชนไทยให้ครอบคลุมในทุกมิติของการดำเนินงานอย่างครบวงจรควบคู่ไปกับการส่งเสริมแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนผ่านองค์ความรู้ด้านการผลิตที่เป็นจุดเด่นของโตโยต้า อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาศักยภาพการขับเคลื่อนธุรกิจของตนเองได้อย่างครบวงจร เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของภาครัฐสู่อุตสาหกรรม 4.0 และช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในกลไกสำคัญการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและสร้างเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจของประเทศต่อไป

"การลงนามความร่วมมือกับ บริษัท โตโยต้าฯ ในครั้งนี้ ดีพร้อมเชื่อมั่นว่า ผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนจะสามารถนำองค์ความรู้ ทักษะการประกอบการในทุกๆ มิติ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่ได้รับไปประยุกต์ปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจในแต่ละพื้นที่ของชุมชน โดยการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เกษตรอุตสาหกรรม เช่น ระบบลำเลียงกล้วย เครื่องทุ่นแรงลากอวน และเครื่องจักรในการเพิ่มมูลค่ามูลวัว เป็นต้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ด้วยการดึงอัตลักษณ์ชุมชนผนวกกับความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ บริการ และเชื่อมโยงไปสู่เชิงพาณิชย์ อันจะเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดและขยายไปสู่ตลาดสากล รวมถึงการพัฒนาและยกระดับธุรกิจชุมชนให้เชื่อมโยงไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในรูปแบบการท่องเที่ยวแบบชุมชน ส่งผลให้เกิดการสร้างรายได้ให้ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตได้อย่างยั่งยืน โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,000 ล้านบาท" นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย

‘ซีพีเอฟ’ รับบท ‘ตลาดรับซื้อ’ หนุน 5,500 เกษตรกรรายย่อย ป้องกันตลาดผันผวน ตัดวงจรเสี่ยงด้านราคาให้แก่เกษตรกร

(31 ม.ค. 67) นายสมพร เจิมพงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่ ธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ ได้มุ่งยกระดับการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศมากกว่า 5,500 ราย ในรูปแบบ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการเลี้ยงสัตว์ที่ดี ภายใต้การบริหารจัดการด้านการเลี้ยงสัตว์ที่มีมาตรฐาน ด้วยการนำขีดความสามารถของบริษัทฯ มาถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการเลี้ยงแก่เกษตรกร ที่สำคัญเกษตรกรต้องมีตลาดรองรับผลผลิต บริษัทฯ จึงทำหน้าที่เป็นตลาดรับซื้อผลผลิตคืนจากเกษตรกร เพื่อให้มีอาชีพที่ไร้ความเสี่ยงด้านราคาและการตลาด และมีหลักประกันรายได้ที่มั่นคง โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาที่ราคาสุกรผันผวนมาก จากการเข้ามาของขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรเถื่อน หากแต่เกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงสุกรกับซีพีเอฟ ไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากมีการทำสัญญาตกลงราคากันไว้ล่วงหน้า และบริษัทฯ รับซื้อผลผลิตของเกษตรกรไว้ทั้งหมด

“นอกจากการส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยได้รับทั้งความรู้ด้านการเลี้ยงสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้เกษตรกรสามารถดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ เกษตรกรไม่ได้รับความเสี่ยงตลาดผันผวน โดยสินค้าที่ซีพีเอฟผลิตส่งจำหน่ายในตลาดและห้างโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ ก็มาจากเกษตรกรรายย่อยที่บริษัทฯ รับความเสี่ยงโดยตรง และยังมีเกษตรกรรายกลางอีกร่วม 500 ราย ที่ซีพีเอฟ เข้าไปช่วยสนับสนุนองค์ความรู้ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในอาหาร เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในห่วงโซ่คุณค่าเติบโตไปด้วยกัน” นายสมพร กล่าว

ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ปี 2518 ที่ซีพีเอฟนำระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมแบบครบวงจร เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แบบพันธสัญญาแก่เกษตรกรรายย่อย ภายใต้หลักคิด ‘เกษตรกรคือคู่ชีวิต’ ร่วมสนับสนุนความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยของไทย มีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน พึ่งพาตนเองอย่างเข้มแข็ง มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับชุมชนและประเทศ ควบคู่กับการผลิตเนื้อสัตว์ที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันผลิตและส่งมอบสินค้าอาหารคุณภาพมาตรฐานสูง สร้างความมั่นคงด้านอาหารให้คนไทย 

‘ล็อกซเล่ย์’ ผนึก ‘AEL’ เปลี่ยน ‘เศษอาหาร’ เป็นพลังงาน หวังลดการสูญเสียทรัพยากร - ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

(31 ม.ค.67) นายพิเศษ ดิศวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดูแลฝ่ายธุรกิจสิ่งแวดล้อม บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) และ มร.จู๊ด เชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท AEL (International Holdings) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านนวัตกรรมเปลี่ยนเศษอาหารเป็นพลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และกากอาหารสัตว์ เพื่อขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างยั่งยืน

โดยมี นายภัทร พจน์พานิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจเน็ตเวิร์คโซลูชั่นส์ บมจ.ล็อกซเล่ย์ และ มร.สตีฟ ชวง ประธานสมาพันธ์อุตสาหกรรมฮ่องกง (FHKI) ให้เกียรติเป็นสักขีพยานภายในงาน ‘Thai-Hong Kong Business Forum’ จัดโดยสมาพันธ์อุตสาหกรรมฮ่องกง (FHKI) และสมาคมการค้าไทย-ฮ่องกง (THKTA) ณ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท

นายพิเศษ เผยว่า บริษัทมองว่าขยะอาหาร (Food Waste) จากแหล่งต่างๆ อาทิ ฟู้ดคอร์ท ศูนย์อาหาร ร้านอาหารขนาดใหญ่ มีจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน หากถูกนำไปกำจัดอย่างไม่เหมาะสม ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และเพื่อไม่ให้ขยะอาหารถูกทิ้งอย่างสูญเปล่า จึงนำมาสู่การผนึกความร่วมมือระหว่าง ล็อกซเล่ย์ และ AEL ในการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมเปลี่ยนเศษอาหารเป็นพลังงานชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และกากอาหารสัตว์ เพื่อช่วยลดการสูญเสียทรัพยากร ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และชุมชนอย่างยั่งยืน

'กนอ.' พิสูจน์ชัด 'นโยบายธงขาวดาวเขียว' เป็นไปตามเป้า หลังคว้ารัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมฯ ปี 66 

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) คว้ารางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้านการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 ตอกย้ำความสำเร็จในการยกระดับให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

(1 ก.พ.67) นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. คว้ารางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้านการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ภายใต้แนวคิด 'รัฐวิสาหกิจสร้างสรรค์พลังไทยสู่สากล ENHANCING THAINESS TOWARDS GLOBAL OPPORTUNITIES' โดยมีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล 

โดยรางวัลที่ได้รับครั้งนี้ เป็นเครื่องสะท้อนความสำเร็จและความมุ่งมั่นของ กนอ. ในการให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยภายในนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้ภาคประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและกำกับดูแลการประกอบกิจการและการบริหารจัดการโรงงานบนพื้นฐานของความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ผ่านการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจประเมินโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีชุมชนโดยรอบนิคมฯ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการดังกล่าวด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนที่อยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม 

รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้านการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 ที่ กนอ. ได้รับเป็นผลมาจากการดำเนินโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม (ธงขาวดาวเขียว หรือ Green Star Award) มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2550 โดยเริ่มที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ก่อนที่จะขยายการดำเนินโครงการไปยังนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ และดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องทุกปีจนถึงปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมยกระดับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยอย่างมีมาตรฐาน โปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมทั้งมอบใบประกาศเกียรติคุณและมอบธงที่มีสัญลักษณ์ดาวสีเขียวให้แก่โรงงานที่มีผลการประเมินการบริหารจัดการและการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมตามหลักธรรมาภิบาลอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม นอกจากนี้ โรงงานที่รักษามาตรฐานการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยมต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ปี ยังได้รับมอบประกาศเกียรติคุณและมอบธงธรรมาภิบาลยอดเยี่ยม (Gold Star Award) ด้วย

"ผมรู้สึกภาคภูมิใจแทนพนักงาน กนอ. ทุกคน เพราะรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ด้านการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เราได้รับในวันนี้ สะท้อนให้เห็นว่า โครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่ กนอ. มุ่งมั่นดำเนินงาน เพื่อการอยู่ร่วมกันกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะชุมชนรอบนิคมฯ ด้วยความจริงใจมาอย่างต่อเนื่องถึง 17 ปี เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมของประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ สคร. และเชื่อมั่นว่าชาว กนอ. จะดำรงไว้ซึ่งความเป็นผู้นำในมาตรฐานเพื่อความยั่งยืนต่อไป" นายวีริศ กล่าวปิดท้าย

‘BIG-BGC’ ผนึกกำลัง ดันนวัตกรรม Climate Technology ลดคาร์บอนในกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ ‘แก้ว-พลาสติก’

(1 ก.พ. 67) นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือบีไอจี (BIG) เปิดเผยว่า บริษัทได้ดำเนินการร่วมกับบริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC เพื่อร่วมขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมจาก Climate Technology ในการตรวจสอบและช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ในกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วและพลาสติกของบีจีซี โดยจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน และตอบรับเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ของบีจีซีในปี 2593

“การดำเนินดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญของทั้งสองบริษัทที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ซึ่งบริษัทฯ ถือเป็นพันธกิจสำคัญในการดำเนินธุรกิจและสานพลังขับเคลื่อนนวัตกรรมที่จะเกิดมูลค่า (Value)”

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า บริษัทตระหนักถึงการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน จึงมีการพัฒนา Carbon Accounting Platform เพื่อมอนิเตอร์การใช้และลดการปลดปล่อยคาร์บอนฯ ในกระบวนการผลิตเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น สามารถนำไปวางแผนการลดการปลดปล่อยคาร์บอนฯ จากกระบวนการผลิตโดยอาศัยความชำนาญของบีไอจีมาช่วยสนับสนุนพันธมิตรทางธุรกิจ

นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BGC กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นการต่อยอดการใช้ Carbon Accounting Platform ไปสู่อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์ครบวงจร และร่วมผลักดันในพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

นอกจากนี้ ยังร่วมมือกันศึกษาการนำเชื้อเพลิงไฮโดรเจนซึ่งเป็นหนึ่งใน Climate Technology มาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในเตาหลอมแก้วเป็นครั้งแรก ซึ่งจะช่วยให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงนำเชื้อเพลิงไฮโดรเจนมาประยุกต์ใช้กับรถโฟล์คลิฟท์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนและนำมาทดลองใช้ในโรงงาน โดยตั้งเป้าในการร่วมขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่บีไอจีและบีจีซีต่างให้ความสำคัญร่วมกัน และมีส่วนช่วยตอบเป้าหมายในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของทั้งสองบริษัท อีกทั้งช่วยยกระดับและแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่ายในการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนที่สามารถนำไปใช้จริงโดยภาคอุตสาหกรรม

‘รมว.ปุ้ย’ รับมอบอุปกรณ์ซ่อมบ้านจาก SCG มูลค่า 1 ลบ. เร่งนำส่ง ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 3 จังหวัดภาคใต้

(2 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท เอสซีจี (SCG) นำโดยนายวิโรจน์ รัตนชัยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจ เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่ง และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจ เอสซีจี ดิสทริบิวชั่น และนายสุรชัย นิ่มละออ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรันโซลูชั่น และคณะ ได้มอบวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้าน ผ่าน ‘โครงการอุตสาหกรรมรวมใจช่วยพี่น้องชาวไทย’ ของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำไปช่วยเหลือ เยียวยา ลดภาระ และแสดงความห่วงใย พร้อมส่งกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยใน 3 จังหวัดภาคใต้คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ให้ก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้อย่างเร็วที่สุด 

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชน ผ่านโครงการ ‘อุตสาหกรรมรวมใจช่วยพี่น้องชาวไทย’ มาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดทุกภูมิภาคจัดหามาตรการความช่วยเหลือให้อย่างรวดเร็ว พร้อมส่งมอบ ‘ถุงยิ้มพิมพ์ใจ MIND ไม่ทิ้งกัน’ ซึ่งเป็นถุงยังชีพที่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ร่วมมือร่วมใจกันจัดทำขึ้น เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยในการก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบาก 

“ในครั้งนี้ได้รับความร่วมมืออันดีจากเอสซีจี ในการร่วมส่งมอบอุปกรณ์ก่อสร้างสำหรับซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย อาทิ ปูน กระเบื้อง ซึ่งเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประสบภัย การสนับสนุนครั้งนี้เป็นการเยียวยาความเดือดร้อนอย่างตรงจุด และเป็นประโยชน์แก่ผู้รับมอบอย่างยิ่ง ต้องขอขอบคุณทางเอสซีจีและภาคเอกชนต่าง ๆ ที่ให้ความร่วมมือและร่วมส่งกำลังใจประชาชนเป็นอย่างดีเสมอ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม จะนำส่งสิ่งของให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบต่อไป” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว 

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวด้วยว่า สำหรับวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านที่เอสซีจีร่วมบริจาค มีดังนี้ ปูนซีเมนต์ ตราเสือ 4,000 ถุง ปูนซีเมนต์ ปอร์ตแลนด์ 1,000 ถุง กระเบื้องปูพื้น 5,500 แผ่น โดยมูลค่ารวมของวัสดุอุปกรณ์ที่ทางเอสซีจี นำมามอบให้ในครั้งนี้ มูลค่ารวมทั้งสิ้นจำนวน 1 ล้านบาท โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งดำเนินการนำวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านดังกล่าว ไปมอบให้กับผู้ประสบภัยอุทกภัยในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส โดยเร็วที่สุด

‘ท็อป’ ยก ‘ดิจิทัล-กรีน’ เสียงสะท้อนหลักจากเวทีดาวอส หาก ‘ไทย’ ไม่อยากตกขบวน ต้องพัฒนา ‘คน-กลยุทธ์’ ด่วน

ไม่นานมานี้ ‘ท็อป’ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ผู้เป็นมันสมองหลักของ ‘Bitkub’ ได้เปิดเผยผ่านรายการ Deep talk ว่า หลังจากได้เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum 2024 หรือ การประชุมสภาเศรษฐกิจโลก เป็นปีที่ 3 เมื่อวันที่ 15-19 ม.ค.67 ที่ผ่านมา ณ กรุงดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ภายใต้แนวคิด ‘Rebuilding Trust’ หรือการฟื้นคืนความเชื่อมั่นให้กลับมา หลังจากที่เศรษฐกิจทั่วโลกเผชิญกับการชะงักงันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดของโลกที่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการเติบโตของจีดีพีของโลกแล้ว

ท็อป เผยว่า โจทย์สำคัญต่อจากนี้ คือ โลกจะทำยังไงให้ ‘ความเชื่อใจ’ กลับมาได้ โดยหากอ้างถึงคำกล่าวของ ‘หลี่ เฉียง’ นายกรัฐมนตรีจีน จะเห็นถึง 6 โซลูชัน ที่เรียกว่า ‘ทรัสต์ระดับโลก’ ด้วยการกลับมาเริ่มต้นผ่าน...

1.ผู้นำโลกต้องพูดคุยกันมากกว่านี้ เพื่อแชร์มายเซ็ตในการขับเคลื่อนโลกไปด้วยกัน

2.แต่ละประเทศไม่ควรออกนโยบายระดับมหภาคระดับประเทศที่ขัดแข้งขัดขา เพราะโลกเราเชื่อมโยงกันมากกว่าที่เราคิด ซึ่งควรต้องคำนึงถึงว่า จะออกกฎเกณฑ์อย่างไรให้ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

3.สร้างความแข็งแกร่งให้กับซัพพลายเชนทั่วโลก เพื่อทำให้เทรดดิ้งพาร์ตเนอร์ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน

4.ภาคพลังงานต้องถูกเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบการผลิต ให้เป็น ‘สีเขียว’ โดยด่วนและต้องทำให้กรีนฮับที่ตอนนี้กระจุกตัวอยู่ในยุโรปกระจายตัวไปยังภูมิภาคอื่นด้วย เพื่อผลักดันให้ทุกคนเปลี่ยนแปลงไปสู่กรีนซัพพลายเชนอย่างราบรื่นที่สุด

5.โลกกำลังเข้าสู่การปฏิวัติทางเทคโนโลยี ‘ดิจิทัล’ หรือ 4th Industrial Revolution ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จะทำยังไงให้ไม่เกิดการแย่งชิงและร่วมกันคิดค้นเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งผลิตบุคลากรที่มีความสามารถเข้าสู่ตลาด

สุดท้ายคือ 6.สร้างความเท่าเทียมระหว่างความสัมพันธ์ระหว่าง Global North รวมทั้งกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และ Global South ซึ่งประกอบด้วย แอฟริกา, อเมริกาใต้ ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ซึ่งเกิดความไม่เท่าเทียม จาก Climate Tech เทคโนโลยีที่ควบคุมหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกระจุกตัวอยู่ใน Global North รวมไปถึงตัวเลขการลงทุนทิ้งห่าง แล้วจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้อย่างไรในเมื่อโลกที่แตกเป็นเศษส่วนและกำลังเกิดการเปลี่ยนผ่านกันอย่างมหาศาล

ท็อป กล่าวอีกว่า ผู้นำทุกคนในเวทีดาวอสเห็นตรงกันว่า ในปี 2567 จะเป็นปีที่โลกจะเข้าสู่จุด ‘สมดุล’ มากขึ้น เริ่มจากตัวเลขเงินเฟ้อเริ่มลดลงในทุกประเทศทั่วโลก ตามด้วยการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นในโลก ทั้งการกระจายขั้วอำนาจ และ ‘เทรดแพทเทิร์น’ ที่จะเปลี่ยนกฎของโลกธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิง

ท็อป กล่าวต่อว่า ในปีที่ผ่านมาธีมของ ‘ดิจิทัล เซอร์วิส’ และ ‘กรีน’ มีการเติบโตอย่างเร็ว ยิ่ง ‘กรีน’ ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในภาคพลังงานนั้นเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 300% ในปีที่ผ่านมา ดังนั้น สัดส่วนของจีดีพีจะมีโอกาสเติบโตนับต่อจากนี้ มาจากการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ และการซื้อขายผ่านเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘กรีนโปรเจกต์’ จะทำให้เกิดกฎใหม่ของโลกธุรกิจ ที่เข้ามาบีบเค้นให้บริษัทที่ไม่คำนึงถึง ‘ธุรกิจสีเขียว’ ให้ไม่สามารถส่งออกหรือนำเข้า ธนาคารไม่ปล่อยกู้ หรือถึงขั้นโดนแซงก์ชัน ทำให้เม็ดเงินกลุ่มเก่าเข้าสู่กลุ่มใหม่ และสร้างกำไรให้กับธุรกิจที่ใส่ใจเรื่องกรีนมากขึ้น ซึ่งจะสามารถเรียกเม็ดเงินลงทุนจากกลุ่มสถาบันเข้ามาลงทุนมากขึ้น เพราะโลกที่กำลังเคลื่อนที่ไปสู่การเปลี่ยนแปลงของเรื่อง ‘กรีนซัพพลายเชน’ นั้น ต้องขับเคลื่อนด้วยเงินลงทุนจากกลุ่มสถาบันที่ต้องอาศัยเงินทุนสูงถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ทุกปี ไปจนถึงปี 2050 ซึ่งคิดเป็น 5% ของจีดีพีโลกเพื่อให้โลกบรรลุเป้าหมายร่วมกัน

ในเรื่องเกี่ยวกับ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กลายเป็นหัวข้อใหญ่ที่ถูกพูดถึง โดย ท็อป เผยว่า ในปี 2566 คือ ปีแห่งการทดลองเล่น AI แต่ปีนี้เป็นปีของการใช้จริง และ AI จะเป็นจุดกำเนิดของจริงสำหรับ Future of Job และ Future of Growth เพราะตลอดปีที่ผ่านมาโลกของเราอยู่กับที่ ไม่มีใครเป็น Growth Engine หรือผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกรายใหม่ เว้นแต่อินเดียที่เติบโตเป็น The new winner ปีนี้จึงต้องมี Growth Engine ใหม่ที่จะปลดล็อก

ฉะนั้น ทุกเสียงในที่ประชุมดาวอส จึงมองว่า AI เป็น The most powerful of technology หรือ ที่สุดของเทคโนโลยีอันทรงพลังที่ไม่ได้มีมานานแล้วตั้งแต่ยุคอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะเข้ามาปลดล็อก Productivity ใหม่ให้กับโลก และจะเป็น The New Driver สิ่งที่ขับเคลื่อนโลกต่อไป

ในแง่ของ AI กับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้คนในอนาคตนั้น ท็อป เผยว่า การทำงานที่จะถูก Automated หรือควบคุมโดยขบวนการอัตโนมัติด้วย AI มากขึ้น ซึ่งกระทบมากที่สุดต่อคนที่ทำงานด้วย ‘สมอง’

ยกตัวอย่างกลุ่ม White-Collar Worker หรือคนที่ทำงานโดยที่ใช้มันสมองเป็นหลักนั้น น่าห่วงเพราะอีก 5 ปี ข้างหน้า 44% ของทักษะมนุษย์จะไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่ทุกงานที่ AI จะสามารถทำแทนมนุษย์ และอาจมีตำแหน่งงานใหม่ ๆ ที่ถูกรวมเข้ากับเทคโนโลยี AI

นอกจากนี้ วิวัฒนาการของ AI จะขยายวงมากขึ้น จะมีการใส่ ‘ศีลธรรม’ ลงไปใน AI เพื่อดีไซน์ให้ AI มีศีลธรรมควบคู่ไปด้วย เพราะถ้าไม่มีการป้องกันเทคโนโลยีที่กำลังพลุ่งพล่านแล้ว ความเสี่ยงจะเกิดขึ้นในแง่ของการถูกนำมาใช้ในด้านลบ จึงต้องมีการกำหนดกรอบว่าอะไรไม่ควรล้ำเส้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำทั่วโลกต้องช่วยกันกำหนดกฎเกณฑ์ของ AI

ในด้าน ‘รูปแบบการค้าใหม่’ (New Trade Pattern) ท็อป เผยว่า จะมีความน่าสนใจโดยอาเซียนเป็นจุดโฟกัส ซึ่งอาเซียนกำลังจะมี 3 สิ่งใหม่ที่น่าจะเกิดขึ้นในปี 2025 ได้แก่...

1.One Asian Strong ทำให้การหมุนเวียนเม็ดเงินผ่านระบบชำระเงินในอาเซียนเกิดขึ้นได้ง่ายโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

2.ระบบโลจิสติกส์ ที่พูดคุยเป็นภาษากฎหมายเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การนำเข้าและส่งออกของภูมิภาค ที่ปัจจุบันใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกนั้นไหลลื่น

3.ความลื่นไหลของคน ด้วย ‘One Visa’ หรือพาสพอร์ตเล่มเดียว จะทำให้ผู้คนไปได้ทั่วทั้งอาเซียน

คำถาม คือ จะทำยังไงให้อาเซียนจับมือกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน และชนะไปด้วยกันทั้งอาเซียน เพราะอย่าลืมว่า สหรัฐฯ เริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากจีนและมุ่งเป้ามาที่อาเซียนมากขึ้น ขณะที่ที่จีนก็มองเอเชียเป็น Growth Engine ใหม่ ซึ่งมิตินี้ ถือเป็นการตอกย้ำอย่างชัดเจนว่า ‘อาเซียนกำลังเข้าสู่ปีทอง’ และกำลังจะกลายเป็นขุมทรัพย์ใหม่ ภายใต้มุมมอง อาทิ เศรษฐกิจใต้น้ำที่ถูกค้นพบแค่ 16%, กลุ่มคนทำงานที่อยู่ในวัยกลางคน, การเป็นแหล่งแร่หายาก และที่สำคัญที่สุดคือ ภายในภูมิภาคไม่ทะเลาะกับใคร มีแต่ความสงบสุข

จุดนี้เองจะทำให้บทบาทของอาเซียนบนเวทีโลกเข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับ ‘ไทย’ ที่ถูกส่องแสงขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่นายกรัฐมนตรี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ทำให้ประเทศไทยกลับมามีแสงส่องสว่างบนเวทีโลก ด้วยการเรียกนักลงทุนเข้ามาในประเทศไทย ภายใต้จุดขายใหม่ จากการเป็นพื้นที่ที่มีความสามัคคี ผู้นำในกลุ่มอาเซียนสื่อสารกัน นอกเหนือจากการเป็นแค่กลุ่มประเทศแรงงานราคาถูก

ดังนั้น นี่อาจเป็นโอกาสที่ใหญ่มากของไทย เพียงแต่ต้องปรับทัพขบวนการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่บริษัทเล็กระดับ, SME ไปถึงบริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องมุ่งสู่ ‘กรีนซัพพลายเชน’ มากขึ้น

ท็อป สรุปตอนท้ายอีกด้วยว่า ‘ดิจิทัล’ และ ‘กรีน’ เป็น 2 คำที่ภาคธุรกิจไทยต้องเริ่มพูดถึงในทุก ๆ หมุดหมายในการดำเนินการ เพื่อคว้าเม็ดเงินลงทุนในระยะยาว ต้องสร้างความตระหนักรู้ในเรื่อง Climate Tech ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะมีบทบาทสำคัญมาก...เศรษฐกิจดิจิทัลและกรีน จะเป็นตัวชูโรง GDP ไทยในอนาคต ประเทศไทยต้องพัฒนาบุคลากรและเตรียมกลยุทธ์ใหม่ ๆ ไว้เพื่อคว้าโอกาส

‘ส.อ.ท.’ เผย ยอดจดทะเบียน ‘รถบรรทุกอีวี’ พุ่งสูง 1,020% ใน 1 ปี รับมาตรการ ‘CBAM’ หนุนลดการปล่อยคาร์บอนของสหภาพยุโรป

(4 ก.พ. 67) นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอมรับว่าปัจจุบันประชาชนนิยมซื้อรถในรูปแบบไฮบริด ถือว่าประเทศไทยได้เริมผลิตมามากว่า 10 ปีแล้ว เพราะสามารถช่วยลดมลพิษทางอากาศให้กับประเทศไทย รวมการผลิตที่ 5 หมื่นคัน

อย่างไรก็ตาม ในการผลิตถือว่าลดลง เพราะมีการนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งปี 2567 คาดว่าจะผลิตมากขึ้น หลายบริษัทที่นำเข้ามาตั้งแต่ปี 2565-2566 ที่รับสิทธิประโยชน์กับรัฐบาลจะต้องเริ่มผลิตในประเทศไทยในปีนี้

นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลเริ่มมีการผ่านวาระที่ 1 เรื่องงบประมาณรายจ่ายปี 2567 คาดว่าจะทันใช้เดือน พ.ค. 2567 จะทำให้การลงทุนดีขึ้น จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ เกิดการจ้างงาน รายได้เดีขึ้น แต่จะยังกังวลสงครามความขัดแย้งทั้งที่มีอยู่และที่จะเกิดขึ้น ซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ ที่อาจจะได้รับผลกระทบทั้งยอดขายในประเทศ และการส่งออก

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า หวังว่านโยบายฟรีวีซ่าไทยกับจีน จะทำให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากขึ้นตามเป้าหมาย 33.5 ล้านคน ซึ่งปี 2566 ที่คาดว่า 28 ล้านคน ก็ถือว่าได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ และการย้ายฐานการผลิตนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาในไทย ทำให้ซัพพลายเชนเติบโต การผลิตแบตเตอรี่จะตามเข้ามา เป็นช่วงภาวะการลงทุนตั้งแต่ปีที่แล้ว บางค่ายสามารถผลิตและส่งออกจากโรงงานในไทยแล้ว

ทั้งนี้ ความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ปัจจัยที่ส่งเสริมให้คนมาใช้อีวี คือราคาน้ำมันที่แพงขึ้น การผลิตและใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจึงมากขึ้น จะเห็นได้ว่า รถบรรทุกไฟฟ้ามีการจดทะเบียนมากขึ้น มีจำนวน 303 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 ที่ 1,065.38% ถือว่าเติบโตมาก ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) จะทำให้ยอดขายดีขึ้น เพราะต้องบรรทุกสินค้าส่งไปที่อียู เข้าสู่การลดการปล่อยคาร์บอน

สำหรับจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยประจำเดือน ธ.ค. 2566 มีทั้งสิ้น 133,621 คัน ลดลงจากเดือน ธ.ค. 2565 ที่ 5.75% เพราะผลิตขายในประเทศลดลงถึง 29.94% โดยเฉพาะรถกระบะที่ผลิตลดลงถึง 41.30% จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถกระบะ เพราะหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90.6% ของ GDP

นอกจากนี้ อีกปัจจัยมาจากรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่นำเข้ามาขายในประเทศ โดยมียอดจดทะเบียนถึง 75,690 คัน ทำให้ผลิตรถยนต์นั่งลดลง 16.24% แต่การผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกปี 2566 กลับเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 11.44% ตามยอดการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 11.30% และสูงกว่าส่งออกปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 และลดลงจากเดือน พ.ย. 2566 ที่ 18.19% เนื่องจากวันทำงานน้อยกว่า

นายสุรพงษ์ กล่าวถึงยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือน ธ.ค. 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 68,326 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย. 2566 ที่ 10.88% แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วที่ 17.48% ลดลงเพราะสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถกระบะจากภาระหนี้ครัวเรือนสูง และเพราะเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลงตามการส่งออกที่ลดลง โรงงานจึงลดกะทำงานและลดทำงานล่วงเวลา คนงานขาดรายได้ ประกอบกับค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้เหลือเงินไม่เพียงพอในการใช้จ่ายอย่างอื่นได้

ทั้งนี้ เดือน ม.ค. – ธ.ค. 2566 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 1,117,539 คัน สูงกว่ายอดส่งออกก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ปี 2562 และสูงสุดในรอบ 5 ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ในระยะเวลาเดียวกัน 11.73% เพิ่มขึ้นเพราะประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ยังมียอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้ส่งออกเพิ่มขึ้นในทุกตลาด ยกเว้นตลาดแอฟริกาที่ลดลง แยกเป็นรถยนต์สันดาปภายใน ICE 1,102,694 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 11.30 ส่งออกรถยนต์ HEV 14,845 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 56.02 มูลค่าการส่งออก 719,991.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 15.25%


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top