Monday, 21 April 2025
EEC

‘รองโฆษกรัฐบาล’ ชี้!! ‘ญี่ปุ่น - จีน - ฮ่องกง’ แห่ลงทุน EEC เผย!! 10 เดือน เพิ่มขึ้น 128% มูลค่ากว่า 4.5 หมื่นล้านบาท

(24 พ.ย. 67) น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง รายงานผลการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ว่า ช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวน 251 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้น 128% มีมูลค่าการลงทุน 45,739 ล้านบาท คิดเป็น 28% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้น 146% 

นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนอันดับ 1 จากญี่ปุ่น 86 ราย ลงทุน 16,184 ล้านบาท ,จีน 59 ราย ลงทุน 8,030 ล้านบาท ,ฮ่องกง 18 ราย ลงทุน 5,219 ล้านบาท และประเทศอื่น 88 ราย ลงทุน 16,306 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการวิศวกรรม ธุรกิจบริการออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ ธุรกิจบริการติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษาและฝึกอบรมเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และระบบการทำงาน ธุรกิจบริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า 

น.ส. ศศิกานต์ กล่าวว่า สำหรับการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวน 786 ราย ประกอบด้วย 1. การลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 181 ราย 2. การขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 605 ราย เงินลงทุนรวม 161,169 ล้านบาท เกิดการจ้างงานคนไทย 3,037 คน โดย นักลงทุนชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก 1.ญี่ปุ่น 211 ราย สัดส่วน 27% ลงทุน 91,700 ล้านบาท 2.สิงคโปร์ 110 ราย สัดส่วน 14% ลงทุน 14,779 ล้านบาท 3.จีน 103 ราย สัดส่วน 13% ลงทุน 13,806 ล้านบาท 4.สหรัฐฯ 103 ราย สัดส่วน 13% ลงทุน 4,552 ล้านบาท และ 5.ฮ่องกง 57 ราย สัดส่วน 7% ลงทุน 14,461 ล้านบาท

สกพอ. MOU กระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ผนึกกำลังส่งเสริมการลงทุนด้านเศรษฐกิจดิจิทัล สู่พื้นที่อีอีซี

เมื่อวันที่ (6 ก.พ.68) ณ North Hall มหาศาลาประชาชน สาธารณรัฐประชาชนจีน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ นายหลี่ เฉียง (H.E. Mr. Li Qiang) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการส่งเสริมด้านการลงทุนสาขาเศรษฐกิจดิจิทัล ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กับ กระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี และนายหวัง เหวินเทา (Mr. Wang Wentao) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ซึ่งมีผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐทั้งจากประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าร่วมงาน

ในการลงนาม MOU ครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี และถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านดิจิทัล ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตลอดจนยกระดับมาตรฐานด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของทั้งสองฝ่าย และเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาระบบการชำระเงินที่มีประสิทธิภาพ ระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ คลังสินค้าอัจฉริยะ การแสดงสินค้าทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things หรือ IoT) และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนอย่างเต็มที่ ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2561 – เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจจีน ให้ความสนใจในการลงทุนเป็นอย่างมาก โดยมีมูลค่าการลงทุนสูงในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มูลค่ารวม 289,951 ล้านบาท ทำให้ความร่วมมือดังกล่าวเน้นย้ำการสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มผู้ประกอบการเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี

EEC จับมือ HSBC ดึง FDI 5 แสนล้านบาท ปั้นไทยสู่ศูนย์กลาง 5 อุตสาหกรรมอนาคต

(27 ก.พ.68) ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และนายจอร์โจ กัมบา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและหัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคาร HSBC ประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อเสริมศักยภาพการลงทุนในพื้นที่ EEC และยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมมูลค่าสูงระดับโลก

ข้อตกลงนี้มีเป้าหมายเพื่อดึงดูดนักลงทุนระดับนานาชาติ โดยอาศัยเครือข่ายของ HSBC ที่ครอบคลุม 58 ประเทศและเขตดินแดน เชื่อมโยงโอกาสการลงทุนจากจีน ยุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง อินเดีย ไต้หวัน และญี่ปุ่น พร้อมสนับสนุนโซลูชันทางการเงินและคำปรึกษาครบวงจร เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการลงทุนใน EEC

ความร่วมมือนี้ตั้งเป้าดึงดูดเม็ดเงินลงทุนรวม 5 แสนล้านบาทภายใน 5 ปี โดยเน้น 5 อุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมดิจิทัล, อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ, อุตสาหกรรมสีเขียว BCG และภาคอุตสาหกรรมบริการ

ดร.จุฬา กล่าวว่า "EEC เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ความร่วมมือกับ HSBC ซึ่งมีเครือข่ายและความเชี่ยวชาญระดับโลก จะช่วยเชื่อมโยง EEC เข้ากับองค์กรชั้นนำระดับนานาชาติ กระตุ้นการลงทุนที่มีมูลค่าสูง และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในพื้นที่และชุมชน"

HSBC หนุนโรดโชว์ ดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก

HSBC จะสนับสนุนกิจกรรมโรดโชว์ในปี 2568 เพื่อประชาสัมพันธ์โอกาสการลงทุนใน EEC ไปยังจีน สิงคโปร์ ยุโรป ไต้หวัน และญี่ปุ่น ตอกย้ำบทบาทของ EEC ในฐานะจุดหมายสำคัญของการลงทุนระดับโลก

นายจอร์โจ กัมบา ระบุว่า "ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยเฉพาะใน EEC ซึ่งคิดเป็น 78% ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงทั้งหมดในปีที่ผ่านมา ความร่วมมือนี้จะช่วยเร่งการเติบโตของอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ และเชื่อมโยงประเทศไทยเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างแข็งแกร่ง"

ข้อมูลจาก HSBC ชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจจากจีนสนใจขยายการลงทุนในอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งมีเม็ดเงินลงทุนสะสมในไทยตั้งแต่ปี 2561 จนถึงไตรมาส 3 ปี 2567 สูงถึง 2.75 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ยังได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่มั่นคงและเศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตเร็วเป็นอันดับสองในอาเซียน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top