Tuesday, 22 April 2025
Econbiz

‘ดร.กอบศักดิ์’ เผย!! ‘จีน-สหรัฐฯ’ ทำสงครามการค้า ผู้ประกอบการ ต้องเตรียมพร้อม ชี้!! ไทยมีโอกาสเข้าไปแทนที่ เปิดตลาดใหม่ ระบายสินค้า เมื่อยักษ์ใหญ่ไม่คุยกัน

(12 เม.ย. 68) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีใจความว่า...

ในช่วงต่อไป ถ้าไม่มีใครยอมใคร

สินค้าจีนที่ส่งไปสหรัฐ และสินค้าสหรัฐที่ส่งไปจีน คงต้องหาตลาดใหม่ให้ตนเอง
สินค้าเหล่านี้ กำลังจะมาที่ไทยและประเทศอื่นๆ

เราคงต้องเตรียมการรับมือ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในไทย
สินค้าเหล่านี้ประกอบด้วย 

จากจีน - Smartphones, Laptops, Batteries, Toys, Telecom Equipment

จากสหรัฐ - Soybeans, Aircraft and engines, IC, Pharmaceuticals, Petroleum

มูลค่าไม่น้อย โดยเฉพาะสินค้าจากจีน 438.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี และสินค้าจากสหรัฐฯ 143.5 พันล้าน สรอ. ต่อปี 

ประเทศใกล้ๆ อย่างไทย น่าจะเป็นเป้าหมายในการระบายสินค้าที่ดี

ส่วนผู้ส่งออก เมื่อเขาไม่ค้าขายกัน ไม่คุยกัน 

รายชื่อสินค้าเหล่านี้ เป็นเป้าหมายให้เราเข้าไปแทนที่ครับ

อย่าลืมว่า "ในวิกฤตมีโอกาสเสมอ" 

เป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ

‘ผู้ว่าฯ ธปท.’ ส่งหนังสือถึง ‘รมว.คลัง’ หลังเงินเฟ้อ หลุดกรอบ เผย!! มาจากเหตุปัจจัย ด้าน ‘อุปทานพลังงาน-อาหารสด’

(12 เม.ย. 68) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีข้อตกลงร่วมกัน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2568 รวมถึงระบุให้ กนง. มีจดหมายเปิดผนึกหากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย นั้น

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เผยแพร่โดยกระทรวงพาณิชย์ของเดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ 1.3% ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ถึงเดือนมกราคม 2568) อยู่ที่ 0.6% ซึ่งต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินในปัจจุบัน ดังนั้น กนง. จึงขอเรียนชี้แจงรายละเอียด ดังนี้ 1.การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น2.สาเหตุที่เงินเฟ้ออยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายและแนวโน้มในระยะข้างหน้า และ 3.นัยของอัตราเงินเฟ้อต่ำกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ

1.การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเพื่อแบบยืดหยุ่น

การดำเนินนโยบายการเงินมีพันธกิจหลักในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน (macro-financial stability) ผ่านการรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพ โดยเสถียรภาพราคา หมายถึง ภาวะที่เงินเฟ้อต่ำและไม่ผันผวน ซึ่งไม่สร้างอุปสรรคหรือเป็นภาระต่อการวางแผนบริโภคและลงทุนของประชาชนโดยที่เงินเพื่อระยะปานกลางยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

ทั้งนี้ การดูแลเสถียรภาพด้านราคา ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexble Inflation Targeting: FIT) โดยมีกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบช่วง (range target) ที่ 1-3% หมายความว่านโยบายการเงินจะมุ่งดูแลให้อัตราเงินเฟ้อไประยะปานกลางเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายและไม่จำเป็นต้องอยู่ที่ค่าใดค่าหนึ่งตลอดเวลา โดยอัตราเงินเฟ้ออาจผันผวนออกนอกกรอบในระยะสั้นได้

กรอบเป้าหมายเงินเพื่อแบบยืดหยุ่นเหมาะสมกับการดูเสถียรภาพราคาในบริบทเศรษฐกิจไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจขนาดเล็กและเปิด พึ่งพาการนำเข้าพลังงาน และมีสัดส่วนของการบริโภคอาหารที่สูง ทำให้เงินเฟ้อไทยมักผันผวนทั้งจากปัจจัยต่างประเทศและปัจจัยด้านอุปทานในประเทศ อาทิ ราคาน้ำมันโลกหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ นโยบายการเงินจะมีบทบาทจำกัดในการตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงของราคาที่เป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทาน (supply shock) โดยนโยบายการเงินจะมีบทบาทมากกว่าในการดูแลเงินเฟ้อที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการในวงกว้างที่สะท้อนอุปสงค์ที่สูงหรือต่ำกว่าศักยภาพเศรษฐกิจ (demand shock) หรือการคาดการณ์เงินเฟ้อที่หลุดลอยและอาจนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อที่สูงหรือต่ำยืดเยื้อจนกระทบเสถียรภาพด้านราคาได้

ทั้งนี้ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ยืดหยุ่นแบบ range target และกำหนดเป้าหมายเป็นเงินเฟ้อระยะปานกลาง เอื้อให้นโยบายการเงินสามารถมองข้ามความผันผวนระยะสั้น และไม่จำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายบ่อยหรือแรงเกินไป ซึ่งอาจสร้างความผันผวนและส่งผลลบต่อเศรษฐกิจและระบบการเงิน

กรอบ FIT มีความยืดหยุ่นส่งผลให้นโยบายการเงินสามารถดูแลเสถียรภาพด้านราคาควบดูไปกับการรักษา macro-financial stability การที่นโยบายการเงินสามารถรักษาเงินเฟ้อในระยะปานกลางให้อยู่ในระดับต่ำและไม่ผันผวน ทำให้การกำหนดกลยุทธ์นโยบายการเงินสามารถหันมาดูแลเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สอดรับกับแนวนโยบายแห่งรัฐที่ต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน รวมถึงดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินควบคู่กันไปได้ด้วย

ทั้งนี้ ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จำเป็นต้องคำนึงถึงและชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงด้านต่างๆ ต่อ macro-financial stability ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยล่าสุดนโยบายการเงินให้น้ำหนักกับการดูแลความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ โดยในการประชุม กนง.เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากประเมินว่า

1.แนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และมีความเสี่ยงสูงขึ้น 2.ความเสี่ยงเสถียรภาพระบบการเงินปรับลดลง สะท้อนจากการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ที่ดำเนินต่อเนื่อง ขณะที่ภาวะการเงินมีแนวโน้มตึงตัวขึ้น และสินเชื่อชะลอตัวลง และ 3.เสถียรภาพด้านราคาที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยแนวโน้มเงินเฟ้อทรงตัวอยู่ใกล้เคียงขอบล่างของกรอบเป้าหมาย ในขณะที่เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะยาวยังยึดเหนี่ยวได้ดี

การใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายควบคู่ไปกับการใช้เครื่องมือเชิงนโยบายอื่น (integrated policy) เข้ามาช่วยตอบโจทย์อย่างตรงจุดจะช่วยให้การดำเนินนโยบายการเงินมีประสิทธิผลและไม่สร้างผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ทั้งนี้ กนง. ตระหนักว่าในภาวะปัจจุบันบางภาคส่วนของเศรษฐกิจยังมีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข โดยภาคครัวเรือนมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง และธุรกิจ SMEs มีปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อจากความเสี่ยงด้านเครดิต กนง.จึงสนับสนุนการดูแลกลุ่มเปราะบางและการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจ เพื่อช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและการขยายตัวของเศรษฐกิจ

อาทิ การสนับสนุนนโยบายของ ธปท. ที่ผลักดันให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงมาตรการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง ตลอดจนโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และ ธปท. เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs

2.สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อใน 12 เดือนที่ผ่านมาต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย และแนวโน้มในระยะข้างหน้า

อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาต่ำกว่ากรอบเป้าหมายจากปัจจัยด้านอุปทานในหมวดพลังงานและอาหารสด โดยในหมวดพลังงานเป็นผลจากการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ประกอบกับมาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐที่มีต่อเนื่อง อาทิ มาตรการลดราคาน้ำมันผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและการลดภาษีสรรพสามิต รวมทั้งมาตรการลดค่าไฟฟ้า ทำให้ราคาหมวดพลังงานขยายตัวเพียง 1.0%

อย่างไรก็ดี หากไม่รวมผลของมาตรการดังกล่าว ราคาหมวดพลังงานจะขยายตัว 4.9% และทำให้ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.1% สำหรับราคาหมวดอาหารสดขยายตัวในระดับต่ำที่ 0.4% โดยเป็นผลจากปริมาณสุกรที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาผักที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากจากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ แรงกดดันด้านต้นทุนที่ขยายตัวต่ำนี้ทำให้การส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการอื่นๆ อยู่ในระดับต่ำด้วย ทำให้ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.6%

อย่างไรก็ดี ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทยอยปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.ผลของฐานราคาพลังงานในปีก่อนที่อยู่ระดับต่ำตามราคาน้ำมันในตลาดโลกและมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ และ 2.แรงกดดันด้านอุปทานที่ทำให้ราคาหมวดอาหารสดอยู่ในระดับต่ำมีแนวโน้มคลี่คลาย ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย

ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวใกล้ขอบล่างของกรอบเป้าหมายและมีโอกาสที่จะต่ำกว่ากรอบเป้าหมายในบางช่วง โดยอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำนั้นมาจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก รวมถึงปัจจัยเฉพาะ อาทิ การแข่งขันจากสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีน

3.นัยของอัตราเงินเฟ้อต่ำกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ

กนง.ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อไทยที่ต่ำในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงแนวโน้มในระยะข้างหน้าไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจาก

1.อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพด้านราคา โดยอัตราเงินเฟ้อถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ อาทิ ราคาน้ำมันโลกและมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ รวมทั้งสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อปัจจุบันได้กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายแล้ว

ขณะที่เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ใน 5 ปีข้างหน้าทั้งจากผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจของ Asia Pacific Consensus Economics ณ เดือนตุลาคม 2567 และข้อมูลตลาดการเงิน ณ เดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ 1.8% ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นว่านโยบายการเงินจะดูแลเสถียรภาพราคาในระยะปานกลางได้ดี

2.อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำไม่ได้เป็นสัญญาณของภาวะเงินฝืด เนื่องจากราคาสินค้าและบริการไม่ได้ปรับลดลงในวงกว้าง โดยราคาสินค้าและบริการกว่า 3 ใน 4 ของตะกร้าเงินเฟ้อยังเพิ่มขึ้นหรือไม่เปลี่ยนแปลง ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมายังขยายตัวได้ที่ 4.4% ในปี 2567 จึงไม่ได้สะท้อนปัญหาด้านอุปสงค์

3.อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันและการลงทุน โดยปัจจัยที่ทำให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่ำไม่ได้มาจากอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ แต่มาจากการที่ภาคเอกชนขาดแรงจูงใจให้ขยายกำลังการผลิต โดยภาคการผลิตถูกกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและการแข่งขันสินค้าจากสินค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปิโตรเคมี ยางและพลาสติก และรถยนต์ EVเป็นต้น

ในขณะเดียวกันแนวโน้มเงินเฟ้อที่ต่ำและไม่ผันผวนมีส่วนช่วยให้ต้นทุนการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ของทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ในระดับต่ำ และช่วยรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ประกอบการผ่านต้นทุนการผลิตที่ไม่เร่งสูงขึ้นและผ่านอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง (real exchange rate)

นอกจากนี้ เงินเฟ้อที่ต่ำในช่วงที่ผ่านมายังมีส่วนช่วยบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนหลังจากที่ราคาสินค้าหลายรายการเพิ่มสูงขึ้นมากตั้งแต่หลังวิกฤตโควิด โดยราคาพลังงานและอาหารที่จำเป็นต่อการครองชีพของประชาชน อาทิ เนื้อสัตว์ น้ำมันพืช และน้ำมันเชื้อเพลิง ยังอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดถึงประมาณ 20%

ในระยะต่อไป กนง. จะประเมินนัยของเงินเฟ้อต่อเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแลให้อัตราเงินเฟ้อไม่สูงหรือต่ำจนเกินไปจนกระทบต่อเศรษฐกิจและสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมในการแข่งขันและลงทุน โดยจะติดตามพัฒนาการของปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อ ได้แก่ แนวโน้มราคาพลังงานที่อาจต่ำลงจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่ำกว่าราคา และความผันผวนของสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาอาหารสด

ตามข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กนง. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 หากใน 6 เดือนข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา หรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า ยังคงเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้ง เพื่อเป็นการสื่อสารและสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลเสถียรภาพด้านราคาให้แก่สาธารณชนเป็นการทั่วไป

'อดีตรัฐมนตรีอลงกรณ์' วิเคราะห์โอกาสในวิกฤติของไทยภายใต้สถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ ไทยแลนด์เขียนบทวิเคราะห์โพสต์ในเฟสบุ้คเรื่องโอกาสและภัยคุกคามจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนโดยแบ่งเป็นยุคทรัมป์1.0และ2.0ด้วยมุมมองของผู้มีประสบการณ์เจรจากับสหรัฐและจีนรวมทั้งเข้าร่วมการประชุมAPECและอาเซียน+3+6โดยเคยดำรงตำแหน่งอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ปฏิบัติราชการรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและยังติดตามความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจ-การเมืองระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องจึงนำมาเสนอเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนต่อไปโดยมีเนื้อหาตอนที่ 1 ดังนี้

สงครามการค้าสหรัฐกับจีนยุคทรัมป์ 1.0-2.0 :โอกาสในวิกฤตของไทย (1)
โดย นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ ไทยแลนด์
13 เมษายน 2025

ก่อนจะวิเคราะห์ถึงปัญหาและโอกาสในวิกฤตของไทยในสงครามภาษีการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนและประเทศต่างๆในปี 2025 ควรจะต้องทราบถึงสงครามครั้งแรกในยุคทรัมป์ 1.0 เมื่อ 7 ปีที่แล้วเป็นการปูพื้นฐานความเข้าใจก่อนที่จะวิเคราะห์โอกาสในวิกฤติที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายทรัมป์ 2.0

เปิดศึกเทรดวอร์(Trade War)

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ.และจีนที่เริ่มขึ้นในปี 2018 ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ 1.0 สร้างความตึงเครียดทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างสองมหาอำนาจ โดยมีเหตุการณ์และผลกระทบสำคัญดังนี้
1.การเริ่มต้นมาตรการภาษี (มีนาคม 2018) สหรัฐฯ ใช้ มาตรา 301ของกฎหมายการค้า เพื่อลงโทษจีนในประเด็นการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาและบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี  

ทั้งยังประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องจักร ในขณะที่จีนตอบโต้ด้วยภาษีสินค้าสหรัฐฯ เช่น ถั่วเหลือง เนื้อสุกร และรถยนต์

2. การขยายวงภาษี (2018-2019) ทั้งสองฝ่ายทยอยเพิ่มภาษีสินค้ากว่า 3.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของจีนถึง 25% ในปี 2019 ส่วนจีนตอบโต้ด้วยการลดการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ

3.เปิดศึกเทควอร์(Tech War) สหรัฐฯเปิดสงครามเทคโนโลยี(Tech War)กับจีน(2019-2020) สหรัฐฯ ประกาศแบน Huawei และ ZTE จากตลาดสหรัฐฯ รวมถึงจำกัดการเข้าถึงชิปเซมิคอนดักเตอร์ ทำให้จีนเร่งพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศ เช่น ชิป 5G

เจรจาหย่าศึกดีลแรก

ข้อตกลงระยะที่หนึ่ง (Phase One Deal มกราคม 2020) จีนตกลงซื้อสินค้าสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน 2 ปี สหรัฐฯ ยกเลิกภาษีบางส่วน แต่ยังคงภาษีส่วนใหญ่ไว้

ผลกระทบของคลื่นสงคราม

1. ผลกระทบต่อสหรัฐฯ ผู้บริโภคและธุรกิจ ต้นทุนสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า เกษตรกร สูญเสียตลาดส่งออกถั่วเหลืองและเนื้อสุกรหลักในจีน อุตสาหกรรมบางส่วน ได้รับการปกป้อง เช่น เหล็ก แต่บริษัทที่พึ่งห่วงโซ่อุปทานจีนเสียหาย  

2. ผลกระทบต่อจีน เศรษฐกิจชะลอตัว การส่งออกลดลง เร่งการพึ่งพาตลาดในประเทศ  
การย้ายฐานการผลิต บริษัทต่างชาติกระจายความเสี่ยงไปยังเวียดนาม อินเดีย เม็กซิโก  
เร่งพัฒนานวัตกรรม ลงทุนสูงในเทคโนโลยีหลัก (Semiconductor, AI) เพื่อลดพึ่งพาต่างชาติ  

3. ผลกระทบระดับโลก

องค์การการค้าโลก (WTO) คาดการณ์การค้าโลกลดลง 0.5% ในปี 2019 ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก หลายบริษัทปรับโครงสร้างการผลิตใหม่  

4. ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้าสะท้อนการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและอำนาจระหว่างสหรัฐฯ-จีน  ได้ส่งผลต่อประเด็นอื่น เช่น ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ สถานะของไต้หวัน  

ไทยกับผลกระทบ ประโยชน์ 2 ทาง

จากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนครั้งแรก (2018–2020) ทำให้ไทยได้รับประโยชน์หลายด้านจากการปรับตัวของห่วงโซ่อุปทานโลกและการแสวงหาทางเลือกใหม่ของนักลงทุน 
1. การขยายตัวของการลงทุนตรงจากต่างชาติ (FDI) บริษัทที่ย้ายฐานการผลิตจากจีน  หลายบริษัทข้ามชาติเลือกไทยเป็นฐานผลิตแทนจีนเพื่อเลี่ยงภาษีสหรัฐฯ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น ฮาร์ดดิสก์ ชิปเซมิคอนดักเตอร์) และยานยนต์ ข้อมูลจาก BOIระบุว่าในปี 2019 การลงทุนต่างชาติในไทยเพิ่มขึ้น 68%จากปีก่อนโดยจีนและญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนหลัก  

ตัวอย่างเช่นบริษัทจีนเช่น BYD (รถยนต์ไฟฟ้า) และ Haier (เครื่องใช้ไฟฟ้า) ขยายการผลิตในไทย  
2. การเติบโตของการส่งออก 2 เด้ง สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าไทยแทนจีน
สินค้าไทยที่ได้ประโยชน์ เช่น ฮาร์ดดิสก์ (ครองส่วนแบ่งตลาดโลก 40%) ยางพารา ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป จีนเพิ่มนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยหลังจีนลดซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ไทยส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ยางพารา น้ำตาลและผลไม้ เช่น ทุเรียนเพิ่มขึ้น  

การส่งออกไทยไปสหรัฐฯ เติบโต 4.5%ในปี 2019 ส่วนการส่งออกไปจีนเพิ่ม7%

3. การเป็นศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานใหม่ฐานผลิตในภูมิภาคอาเซียน 
ไทยถูกมองเป็น "China +1" ของนักลงต่างประเทศ ช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาการผลิตในประเทศเดียว การลงทุนใน EEC (ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก)เช่นโครงการรถไฟความเร็วสูง และนิคมอุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น EECdดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีและโลจิสติกส์  

4. ประโยชน์ต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเป้าหมาย
1.เกษตรกรรม
จีนเพิ่มการซื้อยางพารา มันสำปะหลัง และน้ำตาลจากไทยเพื่อทดแทนการนำเข้าจากสหรัฐฯ  
2.อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
การลงทุนจากจีนและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ไทยเป็นฐานส่งออกไปอาเซียนและตลาดอื่น  

5. การเสริมบทบาททางการค้าในภูมิภาค
1.ความเป็นกลางทางการเมือง
ไทยได้ประโยชน์จากการเป็นพันธมิตรทั้งสหรัฐฯ และจีน ส่งเสริมการเป็น "ฮับการค้า" ในอาเซียน  
2.ข้อตกลงการค้า
ไทยใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) เพื่อส่งออกสินค้าไปจีนโดยได้ภาษีพิเศษ  

6. ผลกระทบทางอ้อม
1.ค่าเงินบาทที่อ่อนตัว
ช่วงสงครามการค้า ค่าเงินบาทอ่อนค่าสัมพัทธ์กับดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งเสริมการส่งออก  
2.การจ้างงาน
อุตสาหกรรมที่ขยายตัวช่วยดูดซับแรงงาน โดยเฉพาะในเขต EEC  

สรุป
สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ไม่เพียงส่งผลทางเศรษฐกิจโดยตรง แต่ยังเปลี่ยนโฉมภูมิทัศน์การค้าโลก กระตุ้นให้ประเทศต่างๆ ปรับกลยุทธ์การค้าและลดการพึ่งพาซัพพลายเชนจากแหล่งเดียว ขณะเดียวกัน ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและอิทธิพลระหว่างสองมหาอำนาจที่ยังคงดำเนินต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนยังส่งผลให้ไทยได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต การขยายการส่งออก และการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย แม้จะเผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่ไทยสามารถใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและเสริมตำแหน่งทางการค้าในภูมิภาคได้อย่างมีนัยสำคัญ.

:เกี่ยวกับผู้เขียน
นายอลงกรณ์ พลบุตร
ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ ไทยแลนด์
ประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์
ประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมต
อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ปฏิบัติราชการรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน
อดีต ส.ส.6สมัย

‘วินท์ สุธีรชัย‘ ชี้ สัญญารับซื้อไฟสีเขียวบางส่วนทำก่อน ’พีระพันธุ์‘ คุมพลังงาน เชื่อมั่น ปัญหาพลังงานจะถูกแก้ไขอย่างเต็มที่ตามกฎหมายให้อำนาจ

(18 เม.ย. 68) จากกรณีที่นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน จึงตั้งกระทู้ถามสดถึงแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวน 5,200 เมกะวัตต์ ที่กำลังจะเซ็นสัญญาเร็วๆ นี้ ว่าเหตุใดจึงไม่ยกเลิกโครงการเหมือนกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบสองจำนวน 3,600 เมกะวัตต์ที่ถูกเบรกโครงการไว้ เนื่องจากมองว่ามีปัญหาเรื่องความโปร่งใสและไม่คุ้มค่าเหมือน ๆ กัน  

ล่าสุดนายวินท์ สุธีรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ สตีล จำกัด (มหาชน) และกรรมการปรับปรุงและยกร่างกฎหมาย กระทรวงพลังงาน ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าว ว่า นั่งฟังที่ พี่ตุ๋ย (ท่าน พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) ตอบกระทู้สดในสภาเรื่องเกี่ยวกับสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด เข้าใจได้ว่า: 

กฎหมายที่เกี่ยวกับประชาชน (เช่น กฎหมายอาญา) และ กฎหมายที่เกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐ (เช่น กฎหมายมหาชน) จะมีความแตกต่างกัน โดยกฎหมายที่เกี่ยวกับประชาชนจะระบุสิ่งที่ห้ามทำ เช่น ทิ้งขยะผิดกฎหมาย ดังนั้นอะไรที่ไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับประชาชน ประชาชนสามารถทำได้ แต่กฎหมายที่เกี่ยวกับหน่วยงานรัฐ หากไม่ได้ให้อำนาจไว้ หน่วยงานรัฐไม่สามารถใช้อำนาจเกินที่กฎหมายระบุไว้ได้เพราะถือว่ามีความผิด 

ดังนั้นการที่กฎหมายให้อำนาจองค์กรอิสระในการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาด แต่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในการกำกับพลังงานไฟฟ้าไว้เพียงน้อยนิด จึงทำให้การแก้ปัญหาพลังงานไฟฟ้าเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก (อาจจะเป็นเพราะในอดีตเคยมีแผนจะทำให้ กฟผ. กฟภ. และ กฟน. กลายเป็นเอกชนและเข้าตลาดหลักทรัพย์ จึงมีการลดอำนาจการกำกับพลังงานไฟฟ้าของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลง) 

อย่างไรก็ดี พี่ตุ๋ย รู้ถึงความน่าสงสัยในการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาดที่เกิดขึ้นโดยการเซ็นสัญญาจากองค์กรอิสระซึ่งเกิดก่อนท่านจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และได้พยายามแก้ปัญหาอย่างเต็มที่เท่าที่ทำได้ตามที่กฎหมายมอบอำนาจไว้ให้: 

1. แก้ปัญหาระยะสั้น ได้ระงับการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาด 2,100 เมกะวัตต์ ที่ัยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญา ผ่านการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)  

2. แก้ปัญหาระยะกลาง ทางกฤษฎีกามีความเห็นไม่ให้ระงับการจัดซื้อจัดจ้างพลังงานสะอาด 5,203 เมกะวัตต์ เนื่องจากในส่วนที่ไม่ใช่ชีวมวลเซ็นต์สัญญาเสร็จสิ้นไปแล้ว 83 สัญญา เหลือเพียง 19 สัญญา ที่ยังไม่ได้เซ็น ดังนั้น รมว.พลังงาน จึงต้องหาทางระงับสัญญาด้วยวิธีอื่นโดยใช้วิธีตรวจสอบหาข้อผิดกฎหมายในสัญญาซึ่งจะทำให้สัญญาทั้งหมด ทั้งที่เซ็นไปแล้วและยังไม่ได้เซ็นเป็นโมฆะไปตามกฎหมาย 

3. แก้ปัญหาระยะยาว ปัญหาหลักๆ อยู่ที่กฎหมายซึ่งเขียนในช่วงที่มีแผนจะนำ สามการไฟฟ้า(กฟผ. กฟภ. และ กฟน.) เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์กลายเป็นเอกชน ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องมีการแก้กฎหมายใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบันที่ หน่วยงานต่างๆยังเป็นของรัฐไทย เพื่อให้รัฐบาลสามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าจากธุรกิจของเอกชนกลายมาเป็นความมั่นคงของรัฐไทยและให้ประชาชนมีพลังงานในราคาต่ำที่สุดใช้ ไม่ใช่เพื่อให้เอกชนไม่กี่รายสร้างกำไรให้กับตนเอง 

ขอเป็นกำลังใจให้พี่ตุ๋ยในการทลายทุนผูกขาดพลังงานไฟฟ้า(ซึ่งทำให้ท่านถูกโจมตีจากทุกทิศทาง) และเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าจากธุรกิจเอกชนให้กลับมาเป็นความมั่นคงของรัฐไทยและประชาชนให้ได้นะครับ 

‘ทีดีอาร์ไอ’ หนุนแนวคิด ‘พีระพันธุ์’ ปฏิรูปกองทุนน้ำมันฯ สู่ระบบ SPR ยกเลิกอุดหนุน แก้ปัญหาน้ำมันแพงอย่างยั่งยืน

(18 เม.ย. 68) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ออกโรงสนับสนุนนโยบายของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ผลักดันแนวคิดเปลี่ยนระบบสำรองน้ำมันจากรูปแบบการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มาเป็นการจัดเก็บน้ำมันจริงในรูปแบบ "คลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์" หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve)

ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการนโยบายพลังงาน ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า ระบบ SPR มีข้อได้เปรียบเหนือกว่ากองทุนน้ำมันฯ แบบเดิมที่ใช้กลไกการอุดหนุนราคาน้ำมัน เพราะช่วยให้รัฐบาลบริหารจัดการราคาขายปลีกน้ำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอิงต้นทุนจริง ไม่ต้องแทรกแซงหรือใช้งบประมาณจำนวนมากเหมือนในอดีต ทั้งยังสามารถรับมือกับวิกฤตพลังงานจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น สงครามหรือภัยธรรมชาติ

“วัตถุประสงค์หลัก คือ รองรับวิกฤตด้านพลังงานจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น สงคราม การปิดเส้นทางขนส่ง หรือภัยธรรมชาติ เพื่อให้ประเทศมีน้ำมันเพียงพอในภาวะฉุกเฉิน”

จากข้อมูลปี 2567 พบว่าคลังน้ำมันของไทยมีความจุรวม 16,545 ล้านลิตร แบ่งเป็นน้ำมันดิบ 7,500 ล้านลิตร และน้ำมันสำเร็จรูป 9,000 ล้านลิตร ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการสำรองในระดับ 90 วันตามมาตรฐานของระบบ SPR ที่ต้องการสำรอง 14,000 ล้านลิตร (น้ำมันดิบ 12,000 ล้านลิตร และน้ำมันสำเร็จรูป 2,000 ล้านลิตร)

ทั้งนี้ ทีดีอาร์ไอแนะให้รัฐเริ่มต้นจากการสำรองน้ำมันขั้นต่ำ 30 วัน และค่อย ๆ ขยับเพิ่มเป็น 60-90 วัน เพื่อไม่ให้เกิดภาระต้นทุนสูงเกินไปกับภาคเอกชน และสามารถทยอยปรับโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างเหมาะสม

“ภาครัฐควรจัดทำแผนเป็นลำดับขั้น เริ่มจากการตั้งเป้าสำรองขั้นต่ำที่ 30 วันของปริมาณการใช้น้ำมันต่อวันในประเทศ และขยายเป็น 60-90 วัน ในระยะกลางและระยะยาว”

แนวทางสำคัญในการสร้าง SPR คือการเปลี่ยนการเก็บค่าภาคหลวงจากเงินสดเป็นน้ำมันจริง โดยอาศัยกฎหมายปิโตรเลียมที่เปิดช่องให้ผู้รับสัมปทานสามารถชำระค่าภาคหลวงเป็นน้ำมันได้ ซึ่งหากจัดเก็บในอัตรา 12.5% จากปริมาณส่งออกปิโตรเลียมเฉลี่ย 19 ล้านลิตรต่อวัน จะได้น้ำมันสำรองราว 2.4 ล้านลิตรต่อวัน

อีกทางเลือกคือการนำส่วนอุดหนุนที่เคยเก็บเข้ากองทุนน้ำมันฯ และภาษีบางส่วน มาใช้จัดซื้อและบริหารน้ำมันสำรอง โดยให้เอกชนเป็นผู้รับภาระแทนรัฐ ซึ่งต้องมีการชดเชยที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันขยับขึ้นมากในระยะยาว

นายพีระพันธุ์ ระบุว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้จัดทำร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบ SPR เสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าหากดำเนินการได้สำเร็จ จะเป็นการวางรากฐานสำคัญในการบริหารจัดการน้ำมันของประเทศอย่างมีเสถียรภาพ และลดความผันผวนของราคาน้ำมันในอนาคต

‘GWM’ ดัน!! ‘ไทย’ สู่ศูนย์กลางการผลิตระดับโลก วางแผนเติบโต ในระยะยาว เพิ่มกำลังการผลิต!! ขยายตลาด เร่งส่งออก ‘อาเซียน – ลาตินอเมริกา - ออสเตรเลีย’

(19 เม.ย. 68) GWM (Thailand) ยกระดับสู่การเป็นแบรนด์รถยนต์ที่มีผลิตภัณฑ์ครอบคลุมทุกประเภทพลังงานที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานทั่วทุกมุมโลก ด้วยแนวคิด “ครอบคลุมทุกการใช้งาน (All Scenarios) ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมทุกพลังงาน (All Powertrains) สู่การตอบสนองทุกกลุ่มผู้ใช้งานอย่างแท้จริง (All Users)” 

ล่าสุด เดินหน้าขับเคลื่อนแผนการผลิตรถยนต์หลากหลายรุ่นครอบคลุมทุกประเภทพลังงานจากโรงงานอัจฉริยะ (GWM Smart Factory) ในจังหวัดระยอง เพื่อขยายการส่งออกสู่ตลาดโลก โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2568 นี้ GWM (Thailand) เตรียมเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อส่งออกไปยังกลุ่มประเทศต่าง ๆ ทั้งในอาเซียน ออสเตรเลีย และลาตินอเมริกา โดยจะส่งรถยนต์เอสยูวีระดับพรีเมียม GWM TANK 500 HEV ไปยังประเทศมาเลเซีย ในขณะที่จะยังคงส่งออกรถยนต์ GWM TANK 300 HEV สู่ประเทศอินโดนีเซีย และ GWM HAVAL H6 HEV รวมถึงเจ้าสิงโตอารมณ์ดี GWM HAVAL JOLION HEV ไปรุกตลาดในประเทศเวียดนามอย่างต่อเนื่อง 

ยิ่งไปกว่านั้น ในเดือนเมษายนนี้ GWM (Thailand) เตรียมส่งออกเจ้าเหมียวไฟฟ้า NEW GWM ORA Good Cat รถยนต์ไฟฟ้า 100% รุ่นแรกที่ผลิตในประเทศไทยสู่ตลาดโลกเป็นครั้งแรก โดยจะส่งออกไปยังประเทศบราซิล ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์อีกด้วย ก่อนหน้านี้ GWM (Thailand) ได้มีการส่งออกรถยนต์เอสยูวีไปยังประเทศอินโดนีเซียและเวียดนามมาแล้ว โดยได้ส่งออกรถยนต์รุ่น GWM TANK 300 HEV, GWM TANK 500 HEV และ GWM HAVAL H6 HEV ไปยังประเทศอินโดนีเซีย ในขณะที่ประเทศเวียดนาม ได้ส่งออกรถยนต์ทั้งหมด 2 รุ่น ได้แก่ GWM HAVAL H6 HEV และ GWM HAVAL JOLION HEV ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากประเทศดังกล่าว ทั้งหมดนี้ คือ การสะท้อนความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจของ GWM (Thailand) ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการผลิตและส่งออกรถยนต์ที่ครอบคลุมทุกพลังงานสู่ตลาดโลก สร้างงาน สร้างรายได้ และนำความภาคภูมิใจกลับมาสู่คนไทย ด้วยการผลิตรถยนต์คุณภาพที่เปี่ยมด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าที่ผลิตในประเทศไทย โดยคนไทย สู่การมอบประสบการณ์เพื่อการเดินทางที่ 'เหนือกว่า' ให้แก่ผู้ใช้งานทั่วทุกมุมโลก ผ่านกลยุทธ์ 'GWM Go With More'

เจมส์ หยาง รองประธาน GWM ตลาดต่างประเทศ กล่าวว่า “GWM และทีมงานชาวไทยทุกคนล้วนภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมสร้างการเติบโตให้แก่เศรษฐกิจประเทศไทยด้วยการผลิตและส่งออกรถยนต์ GWM หลากหลายรุ่น ครอบคลุมทุกประเภทพลังงานสู่ผู้ใช้งานทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และลาตินอเมริกา ตอกย้ำศักยภาพของประเทศไทยในฐานะที่เป็นฐานการผลิตประจำภูมิภาคอาเซียน โดยการส่งออกรถยนต์ GWM ในไตรมาส 2/2568 นี้ สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพการผลิตและมาตรฐานระดับโลกของโรงงานของเราที่จังหวัดระยอง โดยผลิตภัณฑ์ภายใต้ GWM TANK ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภคในประเทศอินโดนีเซีย ส่วน GWM HAVAL ก็ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากประเทศเวียดนาม ที่สำคัญในปีนี้จะเป็นครั้งแรกที่เราจะส่งออก NEW GWM ORA Good Cat ซึ่งถือเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจจากโรงงานผลิตขนาดใหญ่ของเรา โดยโรงงานที่จังหวัดระยองถือเป็นโรงงานการผลิตเต็มรูปแบบแห่งที่ 2 ของ GWM นอกประเทศจีน (ถัดจากประเทศรัสเซีย) ทั้งนี้ GWM จะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์ระดับโลกของ GWM เราพร้อมเติบโตไปในระยะยาวกับลูกค้ารวมถึงพาร์ทเนอร์ชาวไทย และสังคมไทยอย่างยั่งยืน”

ปัจจุบัน โรงงานอัจฉริยะของ GWM ในจังหวัดระยองสามารถรองรับกำลังการผลิตสูงสุดถึง 80,000 คันต่อปี โดย GWM (Thailand) ได้เพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับการจำหน่ายในประเทศและการส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยรถยนต์ทุกรุ่นและทุกคันที่จำหน่ายในประเทศไทยล้วนผลิตจากโรงงานในประเทศไทยโดยฝีมือคนไทยทั้งสิ้น (ยกเว้นรุ่น GWM ORA 07 ที่นำเข้าจากประเทศจีน) โดยล่าสุด ALL NEW GWM HAVAL H6 ทั้งรุ่นไฮบริด และปลั๊กอิน-ไฮบริด และ NEW GWM TANK 300 DIESEL ที่เพิ่งเปิดตัวที่งานมอเตอร์โชว์ 2025 เมื่อปลายเดือนมีนาคม ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากแฟน ๆ ชาวไทยและเริ่มส่งมอบให้กับลูกค้าชาวไทยไปแล้วนั้น ก็ผลิตจากสายการผลิตที่โรงงาน GWM จังหวัดระยองเช่นเดียวกัน โดยมีพนักงานผู้มีความเชี่ยวชาญกว่า 1,100 คน ซึ่งปฏิบัติงานภายใต้มาตรฐานการผลิตระดับสากล พร้อมทั้งใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ (Local Content) ในสัดส่วนประมาณ 45 – 50% 

ซึ่งในอนาคต GWM (Thailand) ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการบริหารจัดการซัพพลายเชน รวมถึงการบริหารจัดการอะไหล่สำหรับการบริการหลังการขายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ลูกค้าทั่วทุกมุมโลกได้สามารถเข้าถึงยนตรกรรมอัจฉริยะในทุกรูปแบบพลังงานของ GWM ได้ง่ายขึ้น คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น พร้อมรับประสบการณ์การเดินทางที่เหนือกว่าในทุกด้านอย่างแท้จริง GWM (Thailand) เดินหน้าอย่างมั่นคงและต่อเนื่องในการผลิตรถยนต์ที่ครอบคลุมทุกพลังงานในหลากหลายเซกเมนต์จากหลากหลายตระกูล ครอบคลุม GWM TANK, GWM HAVAL และ GWM ORA เพื่อจำหน่ายในประเทศไทยและส่งออกสู่ตลาดโลก และจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์อย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านดีไซน์ สมรรถนะ และระบบขับเคลื่อนที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั่วโลก และส่งมอบประสบการณ์การขับขี่ที่เหนือกว่า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่เวทีระดับโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ

กลไกภาษีนำเข้า ของ 2 ชาติมหาอำนาจ ไทยจะไปในทิศทางไหน ในโค้งสุดท้าย

(19 เม.ย. 68) เศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว กำลังเผชิญกับความท้าทาย และอุปสรรคใหญ่ ที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ และปีถัดๆ ไป จากการขึ้นภาษี 36% จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแรงกระทบสำคัญ ที่กระทบทั้งภาคส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวม ข้อมูลจากภาคเอกชนชี้ว่าไทยอาจสูญเสียมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ ถึง 7-8 แสนล้านบาท ซึ่งอาจทำให้ GDP ไทยลดลงต่ำกว่า 2%

มาตรการกดดันในสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรง ของ 2 ชาติมหาอำนาจ สหรัฐอเมริกา และ จีน กำลังจะผลักให้ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องเลือกข้าง ในการดำเนินกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศ 

ปัจจุบันไทยนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท แต่ไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มียอดเกินดุลการค้า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ประชุมระหว่างหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ทั้งกระทรวงการคลัง ธปท., บีโอไอ สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา เห็นชอบร่วมกันหาแนวทางนำเข้าสินค้าที่จำเป็น เพื่อลดยอดเกินดุลการค้าให้เหมาะสม ผ่านหลายมาตรการ เช่น การนำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐเพิ่มเติมบางส่วน แทนนำเข้าจากประเทศอื่น

ทีมเศรษฐกิจ ของรัฐบาล จำเป็นต้องหามาตรการอื่นๆ มาเพิ่มเติมแบบเร่งด่วน เพราะ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่คาดหวังจะให้เกิดพายุทางเศรษฐกิจ กลายเป็นลมแผ่วๆ ที่กระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจแทบจะไม่ได้เลยในช่วงปีที่ผ่านมา มาเจออีกอุปสรรคใหญ่กับนโยบายภาษีนำเข้าของ ‘ทรัมป์’ … รัฐบาลไทย จะไปยังไงต่อ ?

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และ ประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน ได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อ ชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 อัตราเงินเพื่อทั่วไปที่เผยแพร่โดยกระทรวงพาณิชย์ของเดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ถึงเดือนมกราคม 2568) อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ซึ่งต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินในปัจจุบัน ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีข้อตกลงร่วมกัน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง

สถานการณ์ตลาดหุ้นไทย (SET) คงบอกได้ว่า ยังกู่ไม่กลับ หลังหลุด 1,200 จุด ไปต่ำกว่า 1,100 จุด ในวันที่ 8 เมษายน 2568 ที่ 1,074.59 จุด ก่อนที่จะกลับมาป้วนเปี้ยนแถว 1,130-1,150 จุด โดยหุ้นใน SET100 แดงเกือบยกแผง นักลงทุนไม่เชื่อมั่นต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มี กังวลการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ที่จะกระทบต่อการส่งออกสินค้าอีก

ข่าวการปรับ ครม.ของ ‘รัฐบาล’ โดยเฉพาะ ทีมเศรษฐกิจ เริ่มหนาหูขึ้น นอกจากจะเป็นประเด็นทางเศรษฐกิจ เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ยังดำเนินการไม่ครบทุกเฟส รวมถึงร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่ยังไม่สามารถเดินหน้าต่อได้จากแรงต้านทั้งในและนอกสภา ยังมีกระแสความเห็นต่างภายในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะท่าทีของพรรคภูมิใจไทยต่อกฎหมายคาสิโน 

จะปรับ จะเปลี่ยน ก็รีบทำ เพราะหลายๆ อย่าง เห็นได้ชัดเจนว่า ยังทำได้ไม่ดีพอ..!!

‘กรรมการ ททท.’ ชี้!! ‘รัฐ - เอกชน’ ต้องช่วยกันสร้างความเชื่อมั่น ดึงดูด!! นักท่องเที่ยว ทั้งกลุ่ม ‘ตลาดยุโรป – จีน – มาเลเซีย – เกาหลีใต้ – ญี่ปุ่น – ไต้หวัน’ โกยเงินเข้าประเทศ

(20 เม.ย. 68) นายกิตติ พรศิวะกิจ กรรมการ ททท. ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า …

ท่องเที่ยวไทยกับโลก 2 ใบ

โลกใบแรก 
กลุ่มนักท่องเที่ยวที่ึคนไทยคุ้นเคย จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ซึ่งติด Top 10 ในปีก่อนๆ 2 เดือนนี้ ติดลบ 30-50% อาการหนัก โดนทุบซ้ำๆ ทั้งจาก เรื่องความปลอดภัย แผ่นดินไหว กำแพงภาษี และคู่แข่ง

โลกใบที่สอง 
ตลาดยุโรป ทั้ง Russia UK Germany France US ตะวันออกกลาง ไปจนถึง เอเชียกลาง (คาซัคสถาน ) เอเซียใต้ ( อินเดีย ) ปีก่อนต่างก็ทำ New High + 100% เทียบกับปี 2019 และยังบวกต่อเนื่องในปีนี้

ถ้าเรามองตัวเลขนักท่องเที่ยว Weekend แรกหลังสงกรานต์ ในวันพฤหัสบดี-เสาร์ ที่ 17-19 เม.ย. 2568
17/4 82,926 คน
18/4 94,827 คน
19/4 80,996 คน

จะเห็นว่าจำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ไวกว่าที่คาด และผลกระทบจากแผ่นดินไหว กับนักท่องเที่ยวกลุ่ม Hi-Spending และ Long Hual แทบจะไม่มีผลเลย

โจทย์ที่ทั้งรัฐและเอกชนต้องช่วยกันคือ การสร้างความเชื่อมั่นและแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนและเกาหลีใต้ ที่กำลังหันไปเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ทั้งจากเรื่องความปลอดภัย ค่าเงินเยน และงาน Expo 2025 ที่ Osaka ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ 13 เมษายน - 13 ตุลาคม 2025 ที่คาดว่าจะมีผู้เข้าเยี่ยมชมกว่า 28 ล้านคน

‘เอกนัฏ’ เดินหน้าพิจารณายกเลิกเหล็ก IF ลั่น พร้อมจัดการอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญให้สิ้นซาก

‘เอกนัฏ’ สั่งเดินหน้าพิจารณาทบทวนยกเลิกการรับรองมาตรฐานเหล็ก IF ชี้เป็นเทคโนโลยีที่ก่อมลภาวะ และควบคุมคุณภาพให้สม่ำเสมอทำได้ยาก ตัวอย่างเช่นเหล็กตกคุณภาพซิน เคอ หยวน สตีล (SKY) พร้อมเดินหน้าจัดการอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญอื่น ๆ ให้สิ้นซาก

(21 เม.ย. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เรื่องเหล็กตกคุณภาพที่ผลิตโดย บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด (SKY) ซึ่งโรงงานได้ถูกปิดไปเมื่อเดือนธันวาคม 2567 พบข้อพิรุธหลายประเด็นในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่อง “ฝุ่นแดง” ซึ่งได้มีการขยายผลไปสู่การเพิกถอนสิทธิประโยชน์ BOI  และการสืบสวนร่วมกับดีเอสไอ โดยขอหมายศาลเข้าเก็บหลักฐานเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป 

ส่วนอีกประเด็นที่มีความสำคัญต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมเหล็ก คือการทบทวนให้ยกเลิกการรับรองมาตรฐานเหล็กที่ผลิตโดยกระบวนการใช้เตาอินดักชั่น Induction Furnace (IF) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ดึงสิ่งสกปรกออกจากน้ำเหล็กได้ยาก รวมทั้งเป็นเตาแบบระบบเปิด สร้างมลภาวะฝุ่นและก๊าซพิษจากการผลิตเหล็กที่มากกว่า ถึงแม้ในทางทฤษฎีจะสามารถผลิตเหล็กที่มีคุณภาพได้ แต่ในกระบวนการผลิตจริง การควบคุมคุณภาพให้สม่ำเสมอนั้นทำได้ยาก ผู้ประกอบการจะต้องใส่ใจและเข้มงวดในการใช้วัตถุดิบคุณภาพดี มีกระบวนการปรับปรุงควบคุมคุณภาพอย่างละเอียด 

นายเอกนัฏ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยออก มาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ มอก.เหล็กข้ออ้อย มารับรอง IF ตั้งแต่ปี 2559 ผู้ผลิตอย่าง SKY ได้รับ มอก.ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งนับตั้งแต่ตนเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีฯ ได้ให้นโยบายชุดปฏิบัติการตรวจสุดซอย นำโดยนางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบ ระงับการผลิตและจำหน่าย รวมทั้งอายัดเหล็กจากหลายบริษัทที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งทั้งหมดพบว่าเป็นเหล็ก IF รวมถึงทาง SKY ด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการที่ผลิตเหล็กจากเตา IF ไม่สามารถควบคุมคุณภาพวัตถุดิบให้มีคุณภาพที่ดีได้ โดยปัจจุบันเทคโนโลยีที่ผลิตเหล็กด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า Electric Arc Furnace (EAF) ที่ใช้ไฟฟ้าในการหลอมเหล็ก จะสามารถดึงสิ่งสกปรกออกจากน้ำเหล็กได้ดีกว่าเตา IF และเป็นเตาแบบระบบปิด สร้างมลภาวะฝุ่นและก๊าซพิษน้อยกว่า ควบคุมคุณภาพได้ง่ายและสมํ่าเสมอกว่า 

สำหรับการหารือกับสมาคมผู้ผลิตเหล็กและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทราบว่าปี 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีกำลังการผลิตเหล็กด้วย EAF ถึง 4.3 ล้านตัน เพียงพอต่อความต้องการเหล็กเส้นในประเทศ 2.8 ล้านตัน จึงเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะพิจารณายกเลิกเหล็กที่ผลิตแบบ IF ซึ่งตามกฎหมาย พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หากมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือระบบเศรษฐกิจ คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) สามารถพิจารณาและมีมติ ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมสามารถออกประกาศกระทรวงปรับแก้ไขยกเลิกการรับรองมาตรฐานเหล็ก IF ได้ โดยดำเนินการตามกรอบกฎหมายต่อไป 

"ผมได้ลงนามในหนังสือ ขอให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธาน กมอ. บรรจุวาระเพื่อพิจารณาทบทวนยกเลิก IF แล้ว และจนกว่าจะยกเลิก IF ก็คงจะต้องออกสำรวจตรวจจับ เสมือนแมวจับหนู สู้แก้ปัญหาแบบถอนราก จะได้ไปจัดการอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญอื่น ๆ ให้สิ้นซากต่อไป" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top