Wednesday, 23 April 2025
drwinaidahlan

ผลวิจัยเผย!! ดื่มกาแฟวันละ 1-3 ถ้วย​ ช่วยเพิ่มอายุขัย ปลอดภัย!! ​แถมไม่ก่อปัญหา​ 'โรคหัวใจ-หลอดเลือด'

ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ผอ.ศวฮ.) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Dr.Winai Dahlan’ นำเสนอหัวข้อ​'ประโยชน์ของกาแฟต่อสุขภาพของหัวใจ'​

ระบุว่า…

นักวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุขโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านโภชนาการชอบทำงานวิจัยในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ ติดตามผลโดยเก็บข้อมูลด้านสุขภาพกันไปนานๆ เรียกงานวิจัยลักษณะนี้ว่า Cohort study ผลการศึกษาจากงานวิจัยประเภทนี้เมื่อทำการเปรียบเทียบกันภายในกลุ่มค่อนข้างแม่นยำถูกต้อง เชื่อถือได้ค่อนข้างสูง เราลองไปดูงานวิจัยว่าด้วยผลของการดื่มกาแฟกันดูดีกว่า จะได้รู้ว่าควรจะดื่มกาแฟกันต่อหรือเลิกดื่มกันดี

นายแพทย์ปีเตอร์ คิสตเลอร์ (Peter M. Kistler) ศาสตราจารย์และหัวหน้าฝ่ายวิจัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรงพยาบาล Alfred และสถาบัน Baker Heart ในเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ทำงานวิจัยในประชากรออสเตรเลียวัยผู้ใหญ่ทั้งหญิงและชายในเมืองเมลเบิร์น จำนวนกว่าครึ่งล้านคน ติดตามศึกษากันนานกว่าสิบปี แบ่งประชากรเป็นกลุ่มๆนำผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบกันเป็นเรื่องๆ

ในงานวิจัยที่นำเสนอครั้งนี้เป็นการศึกษาผลของการดื่มกาแฟกับอุบัติการณ์เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด แบ่งการศึกษาเป็นสองส่วนโดยส่วนแรกติดตามศึกษาประชากรจำนวน 382,535 คน ส่วนที่สองเจาะลึกเข้าไปในกลุ่มที่มีปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือด​ ซึ่งมีประชากรจำนวน 34,279 คน ผลงานการวิเคราะห์ที่ได้นำเสนอเป็นเบื้องต้นในการประชุมวิชาการของ American College of Cardiology เดือนมีนาคม ค..2022

บทสรุปของงานวิจัยพบว่าการดื่มกาแฟวันละ 1-3 ถ้วยมีความปลอดภัยไม่ก่อปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังช่วยให้จังหวะการเต้นของหัวใจเป็นปกติ จะว่ากาแฟเป็นคล้ายอาหารเสริมสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดก็ไม่ผิด

ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อตัดปัจจัยอื่นๆ​ ออกไปยังพบอีกว่าการดื่มกาแฟช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดลงอย่างมีนัยสำคัญ ช่วยให้อายุขัยยืนยาวขึ้นว่ากันอย่างนั้น

ผลการวิเคราะห์ทำให้ทีมวิจัยแนะนำให้คนทั่วไปดื่มกาแฟทุกวันวันละ 1-3 ถ้วย หากจะดื่มมากกว่านั้น ทีมวิจัยไม่ยืนยันว่าจะให้ประโยชน์ต่อสุขภาพของหัวใจได้หรือไม่

‘ดร.วินัย’ เผย!! การอดอาหารทางศาสนา มีผลประโยชน์ต่อสุขภาพค่อนข้างดี

ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ผอ.ศวฮ.) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Dr.Winai Dahlan’ เกี่ยวกับการถืออดอาหารทางศาสนากับประโยชน์ต่อสุขภาพ ว่า…

การอดอาหารในทางศาสนา นอกจากจะปฏิบัติกันเป็นปกติในบรรดาผู้นับถือศาสนาอิสลามที่ทำกันทุกเดือนรอมฎอนที่เรียกกันว่า “การถือศีลอด” โดยอดอาหาร 28 - 30 วัน ไม่บริโภคอาหารและเครื่องดื่มในช่วงเวลากลางวัน ยังมีการถืออดอาหารในศาสนาอื่นเช่นเดียวกัน อย่างเช่น ชาวคริสต์นิกายกรีกออร์โธดอกซ์ที่เคร่งในศาสนาถือศีลอดอาหารที่เรียกว่า “ถืออดอาหาร” รวม 180 - 200 วันในแต่ละปี โดยการถืออดอาหารหลักๆ ได้แก่ การอดอาหาร 40 วันก่อนคริสต์มาส ที่เรียกว่า Nativity fast อดอาหาร 48 วันก่อนเทศกาลอีสเตอร์ที่เรียกว่า Lent การอดอาหาร 15 วันในเดือนสิงหาคมที่เรียกว่า Assumption

'รศ.ดร.วินัย' วิเคราะห์!! เหตุผลที่ 'ซาอุฯ' ยังไม่ถูกนับเป็นประเทศพัฒนา ภายใต้ห้วงเวลาสั่นคลอนอนาคต หากทรัพยากรน้ำมันหมดไป

(16 ธ.ค.66) รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) ได้โพสต์ข้อความในหัวข้อ 'ซาอุดีอาระเบีย' ระบุว่า...

ปีนี้ 2023 หรือ พ.ศ. 2566 นับถึงเดือนธันวาคม ผมเดินทางมาราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (KSA) ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 หากนับรวมครั้งอื่นๆ ผมมีโอกาสเยี่ยมเยียน KSA มากกว่าสิบครั้งแล้ว แต่บอกตามตรงว่ายังรู้จักประเทศนี้ไม่ลึกซึ้งสักเท่าไหร่ รู้แต่ว่าประเทศนี้ระยะหลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จุดหมายเป็นเช่นเดียวกับประเทศไทยนั่นคือการก้าวขึ้นสู่ความเป็นประเทศพัฒนาแล้ว (Developed country) ซึ่งหมายถึงเวลานี้ KSA ที่แม้มีรายได้ต่อหัวประชากรต่อปีสูงถึง 21,069 USD มากกว่าที่กำหนดไว้สำหรับประเทศพัฒนาแล้วซึ่งอยู่ที่ 12,500 USD ทว่ายังไม่นับเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น

ความเป็นประเทศพัฒนาแล้วไม่ได้นับกันแค่รายได้ต่อหัวประชากรต่อปี แต่นับแหล่งรายได้จากอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี, การศึกษา, สาธารณสุข โครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ทั่วถึง ความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาระหว่างเมืองและชนบท รวมถึงด้านเศรษฐกิจของประชากรที่ไม่กว้างมากนัก นับกันหลากหลายเช่นนี้ KSA จึงยังไม่ใช่ประเทศพัฒนาเนื่องจากรายได้ 85% มาจากการค้าน้ำมัน รายได้จากแหล่งอื่นยังไม่หลากหลาย ประเทศในตะวันออกกลางที่อาจนับเป็นประเทศพัฒนาแล้วมีเพียงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือ UAE ที่ประสบความสำเร็จจากการพัฒนาแหล่งรายได้ด้านอื่นๆ นอกเหนือจากน้ำมัน

เพราะ KSA ยังไม่ใช่ประเทศพัฒนาแล้ว จึงทำให้ประเทศนี้เร่งพัฒนาเศรษฐกิจสาขาต่างๆ เป็นการใหญ่กำหนดวิชั่น Saudi 2030 ผลักดันประเทศให้ก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ขจัดความเหลื่อมล้ำของประชากร เร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเห็นได้จากการให้สิทธิด้านการศึกษา การประกอบอาชีพของสตรีที่มีมากขึ้น ต้องไม่ลืมว่าสตรีคือครึ่งหนึ่งของทรัพยากรมนุษย์ที่ประเทศมีอยู่ การที่ UAE ได้รับการจัดเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม OECD ในปี 2023 ช่วยกระตุ้นให้ KSA เร่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตนเองมากขึ้นเพื่อตาม UAE ให้ทัน ประเทศอย่าง UAE พัฒนาโครงการอวกาศสำเร็จไปแล้ว มีเงินอย่างเดียวจึงไม่ช่วย ต้องใช้สมองและสองมือ ทั้ง work & wisdom เน้นกันอย่างนั้น โดยไม่สูญเสียเอกลักษณ์ของประเทศทั้งด้านศาสนาและวัฒนธรรม

การบ้านใหญ่ของ KSA คือประเทศจะดำรงอยู่อย่างไรให้มาตรฐานการดำรงชีวิตของประชากรไม่สั่นคลอนในอนาคตที่ทรัพยากรน้ำมันหมดไปแล้ว การพัฒนาอุตสาหกรรม ธุรกิจ การค้า เพื่อโอกาสใหม่ๆ ของประเทศจึงต้องเร่งทำ สำคัญคือการพัฒนานวัตกรรม (innovation) การสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ขึ้นในสังคม KSA กำลังมองโอกาสทางด้านนี้ และมหาวิทยาลัยคือ แหล่งสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นต้นน้ำของการพัฒนาทุกๆด้าน เป็นเหตุผลที่ทางกระทรวงการศึกษาของ KSA ส่งคนระดับรัฐมนตรีและทีมงานจากหลายมหาวิทยาลัยไปเยี่ยมเยียนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล (ศวฮ.) เมื่อเร็วๆ นี้เพื่อโอกาสในการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ผมและทีม ศวฮ.ต้องเดินทางมาเยือน KSA


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top