Monday, 21 April 2025
DonaldTrump

ทรัมป์ผุดไอเดียขายกรีนการ์ดใบละ 168 ล้านบาท ลดหนี้ชาติ-ดึงหัวกะทิเข้าประเทศ

(26 ก.พ. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศแผนการขาย "บัตรทอง" หรือ Gold Card มูลค่า 5 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 168 ล้านบาท) ซึ่งจะมอบสิทธิ์ให้แก่ชาวต่างชาติได้รับ "กรีนการ์ด" พร้อมกับเส้นทางสู่ความเป็นพลเมืองสหรัฐฯ ภายในช่วงการแถลงข่าวเมื่อวันอังคาร (25 ก.พ.) โดยคาดว่าจะมีการจำหน่ายบัตรจำนวน 1 ล้านใบ

ทรัมป์กล่าวว่า โครงการนี้มีเป้าหมายช่วยลดหนี้สินของสหรัฐฯ อย่างรวดเร็ว โดยจะมุ่งเน้นที่กลุ่มผู้มีความสามารถและผู้มีทรัพย์สินจากทั่วโลก โดยเฉพาะคนที่มีความสามารถพิเศษในด้านต่างๆ หรือผู้ที่สามารถสร้างงานและมีส่วนช่วยเศรษฐกิจของประเทศ "มันจะเป็นการสร้างโอกาสให้กับคนที่มีความมั่งคั่งและพรสวรรค์ รวมถึงสร้างรายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้นและโอกาสในการจ้างงาน" เขากล่าว

ในระหว่างการแถลงข่าว นายโฮเวิร์ด ลุตนิค รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้กล่าวเสริมว่า โครงการนี้จะเป็นการแทนที่โครงการวีซ่า EB-5 ซึ่งเคยใช้ให้กรีนการ์ดกับนักลงทุนบางราย โดยการซื้อบัตรทอง 5 ล้านดอลลาร์จะต้องผ่านการตรวจสอบตามกฎหมาย เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติและมีส่วนในการพัฒนาประเทศ

ทั้งนี้ ทรัมป์คาดว่าผู้ที่มีฐานะดีจากทั่วโลก เช่น กลุ่มนักลงทุนจากรัสเซียและผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีจากอินเดีย จะให้ความสนใจในการซื้อบัตรนี้ "บริษัทใหญ่ๆ อย่างแอปเปิลหรือบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ก็สามารถซื้อบัตรทองเพื่อดึงคนเก่งเข้ามาทำงานในอเมริกา" เขากล่าว

ประธานาธิบดีทรัมป์ย้ำว่าโครงการนี้จะช่วยเพิ่มรายได้ภาษีและสร้างงานให้กับประชาชนสหรัฐฯ "เมื่อผู้ซื้อบัตรทองเข้ามาทำงานในอเมริกา พวกเขาจะจ่ายภาษีเต็มเพดาน เหมือนกับพลเมืองทั่วไป" ทรัมป์กล่าว

นอกจากนี้ โครงการนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากทนายความของรัฐบาล และมีความพร้อมในการเปิดตัวภายในสองสัปดาห์ข้างหน้า ขณะที่ทรัมป์หวังว่าจะสามารถขายบัตรได้ถึง 1 ล้านใบ ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่รัฐบาลถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ หากมีการขายจำนวนมากขึ้นก็จะช่วยลดหนี้สาธารณะของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทรัมป์ เผยชื่อ 5 สกุลเงินดิจิทัล เพิ่มลงคลังสำรองคริปโต สหรัฐฯ

(3 มี.ค. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศรายชื่อ 5 สกุลเงินดิจิทัลที่จะถูกเพิ่มลงในกองทุนสำรองเชิงยุทธศาสตร์ด้านสกุลเงินดิจิทัล สหรัฐฯ ซึ่งประกอบด้วย บิตคอยน์ (BTC), อีเธอเรียม (ETH), XRP, Solana (SOL) และ ADA ของคาร์ดาโน

หลังการประกาศของทรัมป์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ในวันเดียวกันเมื่อช่วงบ่าย ราคาบิตคอยน์ ซึ่งเป็นเหรียญคริปโตที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดในโลกพุ่งขึ้นกว่า 11% มาอยู่ที่ 94,164 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อีเธอเรียมก็ราคาพุ่ง 13% มาอยู่ที่ 2,516 ดอลลาร์สหรัฐ

CoinGecko บริษัทรวบรวมข้อมูลสกุลเงินคริปโตอิสระที่ใหญ่ที่สุดในโลก เผยหลังทรัมป์ประกาศดังกล่าวภายในไม่กี่ชั่วโมง ทำให้ตลาดคริปโตเคอร์เรนซี เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 10% หรือกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ด้าน เฟเดริโก โบรเคต หัวหน้าฝ่ายธุรกิจในสหรัฐฯ ของ 21Shares ซึ่งเป็นบริษัทด้านการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ระบุว่า “ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ของทรัมป์ เป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลสหรัฐฯ กำลังจะเข้ามามีบทบาทเชิงรุกในเศรษฐกิจคริปโต”

ทั้งนี้ ในวันที่ 7 มี.ค. 68 ทรัมป์เตรียมเป็นเจ้าภาพจัด การประชุมสุดยอดคริปโทครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ทำเนียบขาว วอชิงตัน ดี.ซี สหรัฐฯ โดยมีผู้เข้าร่วมเป็น ผู้ก่อตั้ง, CEO และนักลงทุนในอุตสาหกรรมคริปโต รวมถึงสมาชิกจากคณะทำงานด้านสินทรัพย์ดิจิทัลของประธานาธิบดี 

คริสเตีย ฟรีแลนด์ อดีตรองนายกฯ แนะแคนาดาจับมือพันธมิตร NATO หวังพึ่งอาวุธนิวเคลียร์รับมือการคุกคามอธิปไตยจากทรัมป์

(5 มี.ค. 68) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า นางคริสเตีย ฟรีแลนด์ อดีตรองนายกฯ แคนาดา และผู้สมัครผู้นำพรรคเสรีนิยมคนใหม่ มีแนวคิดให้แคนาดาสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหราชอาณาจักรและพันธมิตร NATO มากขึ้น เพื่อใช้อาวุธนิวเคลียร์ปกป้องประเทศจากโดนัลด์ ทรัมป์ หลังถูกมองคุกคามอธิปไตย

โดยก่อนหน้านี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยกล่าวไว้ว่า ประเทศเพื่อนบ้านที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา อย่างแคนาดาอาจเป็น ‘รัฐที่ 51’ ของแดนมะกัน อีกทั้งยังมีการขึ้นภาษีนำเข้ากับ แคนาดา และ เม็กซิโก 25% ซึ่งมีผลไปแล้วตั้งแต่วันอังคารที่ผ่านมา (4 มี.ค.)

ส่งผลให้ จัสติน ทรูโด นายกฯ แคนาดา ไม่อยู่เฉยประกาศตอบโต้ทันที ด้วยการเก็บภาษี 25% กับสินค้าสหรัฐฯ ตีเป็นมูลค่า 155 พันล้านเหรียญแคนาดา (ราว 107 พันล้านเหรียญสหรัฐ) โดยจะเริ่มเก็บภาษีร้อยละ 25 กับสินค้าจากสหรัฐฯ ในมูลค่า 30 พันล้านเหรียญแคนาดาทันที และจะเก็บภาษีกับสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 125 พันล้านเหรียญแคนาดา หลังจากนี้ 21 วัน

และครั้งหนึ่ง เจสซี่ มาร์ช ผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติแคนาดา แสดงอาการไม่พอใจเช่นเดียวกัน พร้อมกับออกมาตอบโต้ กับวาทะของทรัมป์ ที่บอกว่าแคนาดาอาจเป็น ‘รัฐที่ 51’ ของสหรัฐฯ โดยกุนซือรายนี้ระบุว่า 

“ในฐานะคนอเมริกัน ผมอยากพูดถึงการอภิปรายเกี่ยวกับ 'รัฐที่ 51' ผมคิดว่านี่คือการดูหมิ่น แคนาดาเป็นประเทศที่เข้มแข็งและเป็นอิสระ มีรากฐานที่ลึกซึ้งในความเหมาะสม เป็นสถานที่ที่ให้ความสำคัญกับจริยธรรมและความเคารพสูง แตกต่างจากบรรยากาศที่แบ่งแยก ไม่เคารพ และมักเต็มไปด้วยความเกลียดชังในสหรัฐอเมริกา”

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอที่ให้แคนาดาใกล้ชิดอังกฤษ เพื่อใช้อาวุธนิวเคลียร์รับมือทรัมป์ ของนางคริสเตีย ฟรีแลนด์ กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง โดยนางแดเนี่ยลล์ สมิธ (Danielle Smith) นายกรัฐมนตรีรัฐแอลเบอร์ตา จากพรรคอนุรักษนิยมกล่าวว่า ‘นี่คือคำพูดที่บ้าคลั่ง เพราะสหรัฐฯ คือพันธมิตรและมิตรแท้ด้านความมั่นคงของเรา"

รัสเซีย ตอบตกลงเป็นคนกลางเจรจา ‘สหรัฐฯ-อิหร่าน’ ยุติสงครามในตะวันออกกลาง

(5 มี.ค. 68) สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า รัสเซียตกลงที่จะช่วยเหลือฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ในการเป็นคนกลางเจรจากับประเทศอิหร่านในประเด็นต่าง ๆ รวมถึงโครงการนิวเคลียร์ของเตหะราน และการสนับสนุนกลุ่มต่อต้านสหรัฐฯ ในภูมิภาค

รายงานดังกล่าวนำมาจากสื่อของรัสเซียที่หยิบยกมาตีแผ่ โดยอ้างคำพูดของ นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย (Dmitry Peskov) ที่กล่าวว่า “รัสเซียเชื่อว่าสหรัฐฯ และอิหร่านควรแก้ไขปัญหาทั้งหมดด้วยการเจรจา รัสเซียพร้อมที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือให้บรรลุเป้าหมาย”

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทรัมป์ได้กลับมาใช้ ‘การกดดันสูงสุด’ ต่ออิหร่านอีกครั้ง ซึ่งรวมถึงความพยายามที่จะลดการส่งออกน้ำมันให้เหลือศูนย์ เพื่อหยุดยั้งเตหะรานจากการได้รับอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งอิหร่านปฏิเสธเจตนาดังกล่าว โดยมีรัสเซียได้กระชับความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐอิสลามตั้งแต่เริ่มสงครามยูเครน และได้ลงนามในสนธิสัญญาความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับอิหร่านเมื่อเดือนมกราคม 

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศของอิหร่าน กล่าวว่า “เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญของปัญหาเหล่านี้ จึงเป็นไปได้ที่หลายฝ่ายจะแสดงความปรารถนาดี และความพร้อมที่จะช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ”

ผู้นำสหภาพยุโรป ขอร้อง ‘ฝรั่งเศส-อังกฤษ’ แบ่งปันนิวเคลียร์ หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มพาสหรัฐฯ ตีตัวออกห่าง EU

(5 มี.ค. 68) ผู้นำสหภาพยุโรป เรียกร้องให้ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร ขยายขอบเขตอาวุธนิวเคลียร์ให้ครอบคลุมยุโรปใช้ในการต่อกรกับรัสเซีย เนื่องจากสหรัฐฯ เริ่มไม่สนใจภูมิภาคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ 

การขยายพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ไปจนถึงสหภาพยุโรป เคยเป็นสิ่งที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในแง่ของเสถียรภาพระหว่างประเทศ ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่แบบนั้นอีกต่อไป 

โดยสหรัฐอเมริกา ถือเป็นผู้ผลิตพลังงานนิวเคลียร์รายใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ทั่วโลก

อย่างไรก็ตามการปฏิรูปนโยบายต่างประเทศของอเมริกาอย่างสุดโต่งของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งดำเนินมายาวนาน นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางพันธมิตรที่ดูเหมือนจะห่างจากสหภาพยุโรป และเข้าใกล้รัสเซียแบบเผด็จการมากขึ้น

ส่งผลให้บรรดาผู้นำยุโรป หรือ EU กังวลว่าพวกเขาไม่สามารถฝากชีวิตไว้กับทางสหรัฐฯ ได้อีกต่อไป พวกเขาจึงกลับหันไปขอความช่วยเหลือจากฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์เพียงสองแห่งในยุโรป 

ฟรีดริช แมร์ซ ว่าที่นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า “การที่เราต้องพูดคุยกับอังกฤษและฝรั่งเศส ว่าการคุ้มครองทางนิวเคลียร์ของพวกเขาสามารถขยายมาถึงเราด้วยได้หรือไม่ เราต้องพูดคุยกันว่ามันจะเป็นอย่างไร” 

ขณะที่สำนักนักข่าว Euractiv รายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารฝรั่งเศสได้มีการเจรจาเป็นความลับกับพันธมิตรในสหภาพยุโรปเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการถอนตัวของสหรัฐฯ จากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) และสหประชาชาติ โดยก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีทรัมป์ และผู้นำคนอื่นๆ ในรัฐบาลสหรัฐฯ เคยวิพากษ์วิจารณ์ NATO หลายครั้งและมักตั้งคำถามถึงคุณค่าของการเป็นพันธมิตร

ผู้นำเบลารุส ขอยืนเคียงข้าง ทรัมป์ ซูฮกผลงานเข้าเป้า รับมือวิกฤตยูเครนได้ดี

(5 มี.ค. 68) สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก (Alexander Lukashenko) ประธานาธิบดีเบลารุส ซึ่งถือเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของรัสเซีย ได้ออกมากล่าวว่า รัสเซียและเบลารุสจะได้รับประโยชน์จากท่าทีของสหรัฐฯ ต่อประธานาธิบดียูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelensky) รวมถึงความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป (EU)

ในการให้สัมภาษณ์กับมาริโอ นาฟัล (Mario Nawfal) นักจัดรายการบนแพลตฟอร์ม X โดยลูกาเชนโกแสดงการสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงชื่นชมแนวทางการจัดการสงครามยูเครนของเขา

“เพราะรัฐบาลชุดนี้ (ของทรัมป์) ทำให้ประเด็นการยุติสงครามกลายเป็นเรื่องเร่งด่วน" ลูกาเชนโกกล่าว พร้อมเสริมว่า "มันเป็นผลดีต่อพวกเรา ที่เขา (ทรัมป์) ทำให้เซเลนสกีรู้ที่ทางของตัวเอง”

สงครามยูเครนทำให้ลูกาเชนโกได้ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียมากขึ้น โดยปูตินได้ใช้ดินแดนเบลารุสเป็นส่วนหนึ่งของการโจมตียูเครน และยังส่งอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีเข้าประจำการในเบลารุสด้วย

ลูกาเชนโกกล่าวว่าทรัมป์มีเป้าหมายเดียวคือยุติสงคราม ซึ่งเขามองว่าเป็นนโยบายที่ 'ยอดเยี่ยม'

“ผมพร้อมจะยืนเคียงข้างเขาและทำทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อยุติสงครามและทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้น” ลูกาเชนโก กล่าว

ทั้งนี้ สหรัฐฯ และ EU ได้ออกมาตรการคว่ำบาตรต่อเบลารุสหลายระลอกจากกรณีปราบปรามผู้เห็นต่างและการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายหลังการเลือกตั้งปี 2020 รวมถึงบทบาทของเบลารุสในการช่วยเหลือรัสเซียโจมตียูเครน

ลูกาเชนโกยังกล่าวอีกว่า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับ EU เป็นผลดีต่อเบลารุส “พูดตรงๆ มันเป็นผลประโยชน์ของผม และมันเป็นประโยชน์ต่อพวกเราที่สหรัฐฯ กับ EU มีความเห็นไม่ตรงกัน”

NATO ระส่ำ สหรัฐฯ เล็งถอนกำลัง-ตัดงบฯ ปล่อยชาติยุโรปรับภาระเอง นำไปสู่การล่มสลาย

(5 มี.ค. 68) สำนักข่าว Sputnik รายงานว่า อนาคตขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO อาจเข้าสู่จุดจบในไม่ช้า หลังจากอดีตผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองกำลัง NATO พลเรือเอก เจมส์ สตาฟริดิส (James Stavridis) ออกมาเตือนว่า จุดจบของ NATO อาจอยู่แค่ไม่กี่วันข้างหน้า

ขณะที่ คัม การ์ปองติเยร์ เดอ กูร์ดอง (Come Carpentier de Gourdon) นักวิเคราะห์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ เปิดเผยว่า สหรัฐฯ ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวโน้มจะใช้ยุทธศาสตร์ค่อยๆ ลดบทบาทใน NATO โดยไม่ถอนตัวในทันที แต่จะลดงบประมาณและดึงกำลังพลจากฐานทัพในยุโรปกลับประเทศ ปล่อยให้ชาติยุโรปต้องแบกรับต้นทุนป้องกันประเทศเอง

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่วอชิงตันจะกดดันชาติสมาชิก NATO ให้เพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมขึ้นเป็น 5% ของ GDP ซึ่งอาจสร้างภาระหนักเกินรับไหว และนำไปสู่การล่มสลายของ NATO ในที่สุด

ด้าน ไมเคิล แชนนอน (Michael Shannon) คอลัมนิสต์จาก Newsmax แสดงความคิดเห็นว่า ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา NATO ดำรงอยู่ได้เพราะสหรัฐฯ แบกรับต้นทุนหลัก ขณะที่ประเทศสมาชิกกลับไม่จ่ายส่วนแบ่งอย่างเป็นธรรม พร้อมระบุว่า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ สหรัฐฯ อาจลดบทบาทลงและปล่อยให้ยุโรปเผชิญชะตากรรมเอง ซึ่งจะทำให้ NATO ค่อยๆ สลายตัวลงราวกับลูกโป่งที่รั่ว

สหรัฐฯ หยุดแบ่งปันข่าวกรอง ‘รัสเซีย’ ให้ ‘ยูเครน’ แต่ ‘ทรัมป์’ อาจหวนช่วยหากมีการเจรจาสันติภาพ

(6 มี.ค. 68) สำนักข่าว The Guardain รายงานว่า สหรัฐอเมริกาได้หยุดให้ข้อมูลข่าวกรองแก่ยูเครน หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์สั่งระงับการช่วยเหลือทางทหารเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา และนี่ถือเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ต่อยูเครนในสงครามกับรัสเซีย 

เจ้าหน้าที่ยูเครนกล่าวว่า สหรัฐฯ จะไม่ให้ข้อมูลเป้าหมายภายในรัสเซียอีกต่อไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อการโจมตีด้วยโดรนระยะไกล รวมถึงการติดตามเครื่องบินทิ้งระเบิด และขีปนาวุธของรัสเซีย

มีรายงานขัดแย้งกันว่า การระงับนี้รวมถึงข้อมูลการเคลื่อนไหวของกองทัพรัสเซียในพื้นที่ยึดครองของยูเครนหรือไม่ แหล่งข่าวรายหนึ่งบอกว่า สหรัฐฯ 'หยุดให้ข้อมูลข่าวกรองโดยสิ้นเชิง' ซึ่งส่งผล 'ร้ายแรง' ต่อความสามารถในการสู้รบกับรัสเซีย

ไมค์ วอลซ์ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว กล่าวว่า ทรัมป์อาจพิจารณากลับมาให้การช่วยเหลือ หากมีการเจรจาสันติภาพและมาตรการสร้างความเชื่อมั่นกับรัสเซีย

โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน กล่าวเมื่อวันพุธว่า มีความเคลื่อนไหวในเชิงบวกกับสหรัฐฯ และคาดว่าจะมีผลลัพธ์ในการเจรจาเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเขาพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ หลังจากการพบกับทรัมป์ และรองประธานาธิบดีเจดี แวนซ์ ซึ่งเต็มไปด้วยความตึงเครียด โดยทรัมป์ตำหนิเซเลนสกีต่อหน้าสาธารณะว่าไม่ต้องการข้อตกลงกับรัสเซีย ซึ่งต่อมา เซเลนสกีได้ส่งจดหมายขอโทษและแสดงความพร้อมในการเจรจา

ทรัมป์กล่าวถึงจดหมายดังกล่าวในการปราศรัยต่อสภาคองเกรสว่าเป็นสิ่งสำคัญ และยังเผยว่าสหรัฐฯ ได้รับสัญญาณบวกจากรัสเซียว่าพร้อมเจรจาสันติภาพ

นักวิเคราะห์ในยูเครนมองว่าข้อตกลงนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจากทำเนียบขาวยังไม่เรียกร้องเงื่อนไขใด ๆ จากรัสเซีย และดูเหมือนจะพร้อมยอมรับข้อเรียกร้องของวลาดิเมียร์ ปูติน ที่ต้องการให้ยูเครนยอมสละดินแดน ลดขนาดกองทัพ และเป็นกลางภายใต้รัฐบาลใหม่ ซึ่งการยอมอ่อนข้อจะไม่ได้ผล พร้อมกับมองว่าสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนข้างไปสนับสนุนเครมลินแล้ว

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เริ่มการเจรจาสันติภาพระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียที่ซาอุดีอาระเบีย เครมลินได้เพิ่มการโจมตีโครงข่ายพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนยูเครน ส่งโดรนถึง 267 ลำในวันครบรอบ 3 ปีของการรุกรานเต็มรูปแบบเมื่อเดือนที่แล้ว และอีก 181 ลำพร้อมขีปนาวุธเมื่อวันพุธ ทำให้ชายวัย 73 ปีเสียชีวิตในภูมิภาคโอเดสซา และบ้านเรือนเสียหาย 20 หลัง

รมว.สหรัฐฯ ประกาศพร้อมทำศึก หลังจีนกร้าวขอสู้กับ US ในสงครามทุกรูปแบบ

(6 มี.ค. 68) สำนักข่าว นิวยอร์กโพสต์ รายงานว่า นายพีท เฮกเซธ (Pete Hegseth) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์นิวส์ ในวันพุธ (5 มี.ค.) ว่าพร้อมที่จะทำสงครามกับจีน

“เราอยู่ในโลกที่อันตราย เต็มไปด้วยบรรดาประเทศที่มีพลังอำนาจและอิทธิพล ที่มีอุดมการณ์แตกต่างกันอย่างมาก พวกเขาเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมอย่างรวดเร็ว ปรับปรุงเทคโนโลยีให้มีความทันสมัย พวกเขาต้องการแทนที่สหรัฐฯ” พีท เฮกเซธ กล่าว 

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ กำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดาใหม่ 25% และเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 20%

นายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด ของแคนาดาประกาศตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์แคนาดาในอัตรา 25% โดยจะมีผลบังคับใช้ต่อไปจนกว่าทางวอชิงตันจะยกเลิกข้อจำกัดต่อแคนาดา

จีนยังประกาศการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติม 10-15% สำหรับสินค้าจากสหรัฐฯ บางชนิด เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคมเป็นต้นไป

นอกจากนี้ สถานทูตจีนประจำสหรัฐฯ ยังได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้อย่างรุนแรง หลังจากที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน โดยวอชิงตันตัดสินใจขึ้นภาษีนำเข้าจาก 10% เป็น 20% ส่งผลให้ปักกิ่งตอบโต้อย่างรุนแรง

โดยก่อนหน้านี้ หลิน เจี้ยน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้ออกมากล่าวในงานแถลงข่าว เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2568 ว่า “หากสงครามคือสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการ จะเป็นสงครามภาษี สงครามการค้า หรือสงครามประเภทอื่นๆ จีนพร้อมที่จะต่อสู้จนถึงที่สุด”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top