Tuesday, 22 April 2025
DIPROM

‘รมว.ปุ้ย’ ส่ง ‘ดีพร้อม’ เร่งเดินหน้าผุดงานแฟร์ ปลุก ศก.ไทยทั่วประเทศ หลังงานแฟร์นครศรีฯ ตอบรับดี-คนแห่เที่ยวนับแสน รายได้สะพัดกว่า 340 ลบ.

(27 ธ.ค. 66) กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ (DIPROM) เดินหน้าต่อเนื่อง จัดงานแฟร์ ปักหมุด 5 ภาค หวังกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วประเทศ หลังกระแสตอบรับ ‘อุตสาหกรรมแฟร์ เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช-ชอป ชิม เที่ยวเพลิน เดินหลาด’ ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากกลุ่มเป้าหมาย และประชาชนในพื้นที่เข้าชมงานตลอด 5 วัน อย่างล้นหลาม เผยยอดผู้เข้าชมงานกว่า 1 แสนคน โดยเฉพาะผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ให้ความสนใจเข้ารับบริการโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ กว่า 5,600 คน และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 340 ล้านบาท

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ เป็นหน่วยงานหลักในการเดินหน้าจัดงาน ‘อุตสาหกรรมแฟร์เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช’ ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2566 ณ ลานอเนกประสงค์ ตลาดเสาร์อาทิตย์ ถนนพัฒนาการคูขวาง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยผนึกกำลังระดมสุดยอดผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง หน่วยงานพันธมิตรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน และหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยี สินค้าและบริการที่ทันสมัย ภายใต้แนวคิด ‘การส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้’ (Southern Industrial Fair) เพื่อแสดงศักยภาพของผู้ประกอบการไทยและกระตุ้นเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่ จากการออกร้านของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม เอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนกว่า 300 ร้านค้า

รวมถึงเป็นการมอบของขวัญปีใหม่ส่งท้ายปีและช่วยลดค่าครองชีพ ให้กับประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง ตลอดจนช่วยพัฒนาพี่น้องประชาชนชาวใต้สู่การเป็นผู้ประกอบการ พร้อมสร้างความเข้มแข็งในชุมชน อันจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย

สำหรับผลการจัดงานอุตสาหกรรมแฟร์เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช ที่ผ่านมา รวมจำนวน 5 วัน ได้รับการตอบรับจากผู้เข้าชมงานเป็นอย่างดี โดยมียอดผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 1 แสนคน ยอดผู้เข้าร่วมฟังการสัมมนาเพิ่มองค์ความรู้ จำนวนกว่า 3,000 ราย ขณะที่ยอดขายภายในงาน ซึ่งเน้นการนำสินค้ามาทดสอบตลาดของผู้ประกอบการ ที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับศักยภาพการประกอบการสู่ยุค ‘Now Normal’ มียอดการจำหน่ายรวมทั้งสิ้นกว่า 8 ล้านบาท ยอดรับบริการขอสินเชื่อภายในงาน รวมจำนวนทั้งสิ้น 212 ล้านบาท

ยอดผู้ขอรับบริการคำปรึกษาแนะนำโครงการ/กิจกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 2,520 ราย แบ่งเป็น โซนสุขสันต์วันทำธุรกิจ Happiness & Business จำนวน 600 ราย โซนดีพร้อมดิจิทัลสร้างฝันให้ธุรกิจเป็นจริง จำนวน 640 ราย โซน AGRO Solution จำนวน 260 ราย โซนสร้างสรรค์เติมฝันให้ดีพร้อม จำนวน 40 ราย โซนขยายธุรกิจด้วยสถาบันการเงิน จำนวน 15 ราย และยอดขอรับบริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องฟรี จำนวนทั้งสิ้น 965 คัน

นอกจากนี้ ยังมีการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการ (Business Matching) จำนวน 60 คู่ ก่อให้เกิดมูลค่ามากกว่า 120 ล้านบาท โดยสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้กว่า 340 ล้านบาท

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า “การจัดงานอุตสาหกรรมแฟร์ฯ ในครั้งนี้ ได้รับกระแสตอบรับจากผู้ประกอบการ และพี่น้องประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียงเป็นอย่างดี นอกจากเป็นของขวัญปีใหม่ส่งท้ายปีให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อช่วยลดค่าครองชีพแล้ว ยังถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางการตลาดที่ช่วยผลักดัน ฟื้นฟู และกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในเชิงพื้นที่ให้เติบโตมากขึ้น รวมทั้งสอดรับกับ 6 นโยบายสำคัญเพื่อการพัฒนา และยกระดับภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย”

“ทั้งนี้ ในปี 2567 กระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากจะเดินหน้ายกระดับศักยภาพภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องด้วยแนวทางการผลักดันอุตสาหกรรมสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้เศรษฐกิจ และสังคมยุคใหม่ รวมทั้งการพัฒนาชุมชน โดยบริบทของอุตสาหกรรมที่เน้นการมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้วางแผนเดินหน้าจัดงานแฟร์ในพื้นที่ 5 ภาค ทั่วประเทศ เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยให้กลับมาคึกคัก โดยจะดึงเอาจุดเด่นและศักยภาพของแต่ละพื้นที่มาเป็นแนวคิดของการจัดงานแฟร์ในแต่ละภาค อันจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคได้เป็นอย่างดี และคาดว่า จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 1,000 ล้านบาท” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวทิ้งท้าย

‘รมว.ปุ้ย’ ชี้!! ‘หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้’ ไปได้สวย พบ!! เอสเอ็มอี 3.2 ล้านราย สนใจติดปีกเข้าถึงแหล่งเงินทุน

(24 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึง ความคืบหน้าของ โครงการ ‘ติดปีกเอสเอ็มอี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้’ ซึ่งเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้กับเอสเอ็มอีของประเทศไทย สามารถเข้าถึงเงินทุน โดยโครงการนี้ ภายหลังได้มอบให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ เป็นหัวหอกไปดำเนินการมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มเอสเอ็มอีอย่างมาก

สำหรับกลไกในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีของโครงการนี้ เกิดขึ้นภายใต้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ / บสย. (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) และสถาบันการเงินทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือที่คุ้นหูในชื่อ เอ็กซิมแบงค์ 

“ก่อนหน้าที่จะเปิดดำเนินการโครงการนี้ ปัญหาใหญ่ของพี่น้องชาวเอสเอ็มอี คือ ‘ทุน’ การเข้าถึงทุนค่อนข้างยากและลำบากทีเดียว ทั้งกลุ่มที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ใช้แหล่งเงินทุนหรือสินเชื่อผิดประเภท จนต้องแบกรับภาระสูงเกินความจำเป็น และกลุ่มที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ที่ยิ่งเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก…

กลไกการช่วยเหลือจากกระทรวงอุตสาหกรรมในครั้งนี้ จึงถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีมีทุนไปพัฒนาธุรกิจในอุตสาหกรรมของตัวเอง มีเวลามุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น โดยเราได้นำกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ บสย.เข้าช่วยเสริมความแข็งแกร่ง ด้วยการเข้าค้ำประกันให้เอง”

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า จากข้อมูลที่ได้รับการรายงานกลับมาขณะนี้ ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน หรือ ‘บสย.F.A.Center’ พบข้อมูลเอสเอ็มอีราว 3.2 ล้านราย โดยในนั้นเป็นเอาเอ็มอีที่ขาดโอกาสและหลักประกันในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เข้าประสานงานใช้กลไกที่ถูกออกแบบนี้ค้ำประกันสินเชื่อ และอีกส่วนยังเข้าสู่กระบวนการแก้ไขหนี้ ปรับแผนธุรกิจ ปรับโครงสร้างหนี้ 

ดังนั้น โครงการ ‘ติดปีกเอสเอ็มอี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้’ จึงถือเป็นอีกโครงการจากกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เข้าช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยได้อย่างตรงจุด อันจะช่วยผลักดันและต่อยอดเศรษฐกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศไทยได้อย่างดีต่อไป

‘DIPROM’ ดัน ‘Soft Power’ ผ่านบทละครเชิงสร้างสรรค์เพื่อการท่องเที่ยว มอบรางวัลนักเขียนบทไทย พร้อมผลักดัน-ต่อยอดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

เมื่อวานนี้ (14 ก.ค.67) นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ให้เป็นแม่เหล็กดึงดูดคนทั่วโลกให้เข้ามาท่องเที่ยว ทำงาน และใช้ชีวิตในประเทศไทย และทำให้ประเทศไทยกลายเป็นปลายทางของคนทั่วโลก 

ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สนับสนุนนโยบายดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยได้มอบหมายให้ ‘กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม’ หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในทุกด้านเพื่อเพิ่มพลังซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ โดยหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่สำคัญ คือ ด้านภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดซอฟต์พาวเวอร์ไทย และโปรโมตภาพลักษณ์ที่ดีสู่สายตาชาวโลก โดยจะเห็นได้จากการที่ภาพยนตร์และละครไทยหลายเรื่อง ได้รับการตอบรับที่ดี มีดาราและศิลปินไทยหลายคนสร้างชื่อเสียงในต่างประเทศ ส่งผลให้วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทยได้รับความสนใจในระดับสากล

นางดวงดาว กล่าวต่อว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ขานรับนโยบายดังกล่าว ผ่านนโยบาย ‘RESHAPE THE FUTURE: โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับ อนาคต’ ของ นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ภายใต้กลยุทธ์ในด้านการปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ (RESHAPE THE INDUSTRY) โดยการมุ่งเน้นการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ด้านการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย (Creative Economy) ด้วยการจัดกิจกรรม ‘ส่งเสริม Soft Power ผ่านบทละครเชิงสร้างสรรค์เพื่อการท่องเที่ยว’ เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเขียนบทละครให้มีความรู้ มีศักยภาพในการเขียนบทละครเชิงสร้างสรรค์ที่สามารถส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทย กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศได้ช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศไปสู่สายตาผู้ชมทั่วโลก

สำหรับการจัดกิจกรรม ‘ส่งเสริม Soft Power ผ่านบทละครเชิงสร้างสรรค์เพื่อการท่องเที่ยว’ เปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมไปเมื่อต้นปี 2567 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ผ่านเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 23 คน ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับโอกาสในการพัฒนาฝีมือเป็นนักเขียนบทละครรุ่นใหม่ โดยได้รับองค์ความรู้ด้านการเขียนบทแบบครบวงจร ทั้งในด้านการเขียนบทภาพยนตร์ ซิทคอม ละคร หรือ ซีรีส์ รวมไปถึงด้านการผลิตด้วยการปรับกระบวนการคิด ให้หยิบยกความเป็นไทยใส่ไปในบทละครได้อย่างกลมกลืนผ่านความคิดสร้างสรรค์ กลวิธีการสอดแทรกซอฟต์พาวเวอร์ไทยไว้ในบทละครได้อย่างเป็นธรรมชาติ

พร้อมให้ความรู้ในด้านทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ผลงาน โดยได้รับคำปรึกษาแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเขียนบทละครชื่อดังอย่าง คุณอ่อน เอื้องอรุณ, คุณส้วม สุขพัฒน์, คุณบอลรูม วรลักษณ์ และผู้กำกับมากฝีมือ คุณนท พูนไชยศรี ที่จะเข้ามาช่วยฝึกฝนผู้เข้าร่วมกิจกรรมนี้อย่างเข้มข้น เพื่อให้ได้บทละครที่แฝงด้วยแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สอดแทรกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวไทย ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งในด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์และการท่องเที่ยวได้มากกว่า 25 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่งผลงานการเขียนบทละครเข้าประกวด เพื่อคัดเลือกสุดยอดผลงาน โดยบทละครที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เรื่อง รักเขา เรา และเหล่าวิญญาณ ซึ่งจะถูกนำมาถ่ายทอดเป็นละครสั้นให้ได้รับชมภายในงาน 

สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลรองลงมา ได้แก่ บทละครเรื่อง รับซื้อของ (ไม่เคย) เก่า บทละครเรื่อง กุหลาบลั่นถัน และรางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ บทละครเรื่อง 1% นี้ฉันขอนะ และบทละครเรื่อง ค่าตัวตาย 

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรม Pitching กับผู้จัดมากฝีมือ ทั้ง 4 ท่าน คือ คุณเอิน ณิธิภัทร์ เอื้อวัฒนสกุล จาก บริษัทมาสเตอร์วัน วิดีโอ โปรดักชั่น จำกัด, คุณวี วีรภาพ สุภาพไพบูลย์ จากบริษัท มากกว่าฝัน จำกัด, คุณเขตต์ ฐานทัพ และคุณทักษญา ธีญานาถธนันชา จากบริษัท กองทัพ โปรดักชั่น จำกัด ซึ่งถือเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ สร้างโอกาสและต่อยอดความสำเร็จให้กับนักเขียนบทละครที่เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนบทละครได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง เพื่อก้าวไปสู่การเป็นนักเขียนบทมืออาชีพ และก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และซีรีส์ไทยต่อไปในอนาคต

‘เอกนัฏ’ สั่ง ‘ดีพร้อม’ เร่งเดินหน้าช่วยผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เยียวยาเร่งด่วน-สนับสนุนเงินทุน-แผนรับมือในอนาคต เพื่อช่วยเหลือให้ครอบคลุมทุกมิติ

(22 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งเดินหน้าช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยผ่าน 3 มาตรการ ประกอบด้วย 1) มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัย 2) มาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลด และ 3) มาตรการเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย เพื่อช่วยผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย นอกจากนี้ ยังได้เดินหน้ามาตรการช่วยเยียวยาและฟื้นฟูสถานประกอบการเร่งด่วนผ่านการจัดกิจกรรมทำความสะอาดในสถานประกอบการ (Big Cleaning) พร้อมซ่อมแซม ปรับปรุงอุปกรณ์ และเครื่องจักร รวมถึงผลักดันสถานประกอบการที่ต้องการฟื้นฟูและเยียวยาให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียนฯ กว่า 20 ล้านบาท

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ส่งผลต่อที่อยู่อาศัย และการประกอบอาชีพของประชาชนทำให้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังส่งผลต่อผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ดังกล่าวอีกด้วย ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งติดตามสถานการณ์ เพื่อช่วยเหลือและหามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งติดตามความเสียหายที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย โดยเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งเตรียมมาตรการต่าง ๆ รองรับสถานการณ์หลังน้ำลด ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูในส่วนที่ได้รับความเสียหาย ตลอดจนแผนในการป้องกันหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวอีกครั้งทั้งในระยะฉับพลัน 

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้ขานรับนโยบายเร่งด่วนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้ดำเนินการสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น พบว่าผู้ประสบอุทกภัยในหลายพื้นที่มีต้องการความช่วยเหลือ ฟื้นฟู และเยียวยาในกรณีต่าง ๆ ผ่าน 3 มาตรการ ได้แก่ 

1. มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัย ผ่าน “ถุงยิ้มพิมพ์ใจ MIND ไม่ทิ้งกัน” ของอุตสาหกรรมรวมใจ ไปยังผู้ประสบภัยด้วยสิ่งของเครื่องใช้จำเป็น ประกอบด้วย สิ่งของอุปโภค บริโภค และยารักษาโรค พร้อมเตรียมการรถบรรทุกและรถขนส่งสำหรับการบริจาคสิ่งของจากเครือข่ายดีพร้อม ทั้งผู้ประกอบการและสถาบันต่าง ๆ เพื่อส่งมอบให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย พร้อมส่งทีมวิศวกรและนายช่างเทคนิคช่วยซ่อมแซมอุปกรณ์ในเบื้องต้น รวมทั้งทำกิจกรรมทำความสะอาดในสถานประกอบการ (Big Cleaning) เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว 

2. มาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลด ผ่านการให้คำปรึกษาปัญหาธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม โดยจัดทีมผู้เชี่ยวชาญ และที่ปรึกษา เพื่อเข้าประเมินสภาพปัญหาและวางแผน การฟื้นฟูสถานประกอบการ รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรมผ่านศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม (DIPROM Business Service Center : DIPROM BSC) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว การฟื้นฟู และปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค หรือ DIPROM CENTER ในพื้นที่ส่วนภูมิภาค จัดกิจกรรมช่วยเหลือ แนะนำในการปรับปรุงซ่อมแซม ฟื้นฟูเครื่องจักร ระบบไฟฟ้า ระบบหล่อลื่น รวมทั้งดำเนินกิจกรรม Re-Layout, Re-Engineering เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้กลับมาดำเนินการได้ เช่น การให้คำปรึกษา ปรับปรุง ฟื้นฟู เพื่อให้ระบบคุณภาพ GMP/HACCP/GHP กลับมาดำเนินการได้ปกติ พร้อมยกระดับศักยภาพการประกอบอาชีพสู่ธุรกิจอุตสาหกรรม ผ่านส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพด้านการผลิต ด้านการบริการ ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ส่งเสริมให้ชุมชนเกิดรายได้ ลดรายจ่าย สามารถสร้างอาชีพใหม่ หรือนำไปประกอบอาชีพเสริมเพิ่ม ก่อให้เกิดความยั่งยืนในชุมชน พร้อมทั้งได้บูรณาการผ่านเครือข่ายดีพร้อม (DIPROM Connection) จับมือกับเครือข่ายทางการพัฒนาของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ของ SMEs เข้าสู่ช่องทางการตลาดทั้งรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์ อีกทั้ง ยังมีการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ สามารถได้รับการผ่อนผันการชำระหนี้ ได้รับการลดหย่อนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มีสิทธิกู้เงินเพิ่มเติม และการขอกู้เงินเป็นกรณีพิเศษสำหรับลูกค้ารายใหม่ โดยวางกรอบวงเงินการช่วยเหลือกว่า 20 ล้านบาท

3. มาตรการเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ผ่านการจัดทำแผนรองรับการเกิดอุทกภัย เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยจัดทำ Check list เมื่อเกิดเหตุอุทกภัย การสร้างผนังกั้นน้ำ สอนวิธีการป้องกันอุปกรณ์เครื่องจักร เป็นต้น พร้อมติดตามสถานการณ์จากสถานการณ์น้ำท่วม โดยบูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องระหว่างหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อประเมินสถานการณ์ เตือนภัย และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และทันท่วงที เพื่อรับฟังปัญหาผลกระทบแบบ Real Time พร้อมให้การช่วยเหลือเฉพาะหน้าแก่สถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว 

นายภาสกร ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่า “ดีพร้อม (DIPROM) ได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือสถานประกอบการ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยผ่าน 3 มาตรการดังกล่าว เพื่อให้ความช่วยเหลือนั้นครอบคลุมทุกมิติ และครอบคลุมทั่วประเทศ” นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย

DIPROM โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ บุกเชียงใหม่ ผุดกิจกรรมยกระดับอัตลักษณ์เซรามิกล้านนา หนุนซอฟต์พาวเวอร์ไทย

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ DIPROM โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เชิญชวนผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจเข้าร่วมชม 'นิทรรศการแสดงผลงานกิจกรรมยกระดับอัตลักษณ์เซรามิกล้านนาด้วยทุนทางวัฒนธรรม' ภายใต้โครงการยกระดับฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ล้านนาสู่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Creative LANNA Forward) เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการผลิตเซรามิกในเชิงวัฒนธรรมล้านนา โดยผลงานที่นำมาแสดงนั้นเป็นผลจากกิจกรรม ซึ่งมีศิลปินและช่างฝีมือจากชุมชนต่างๆ ทั่วภาคเหนือของประเทศไทยเข้าร่วม โดยมีการนำเทคนิคการผลิตเซรามิกแบบดั้งเดิมมาผสมผสานกับแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่นในรูปแบบที่ร่วมสมัย โดยกำหนดจัดกิจกรรมขึ้น ในวันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2568 ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.00 น. ณ นิมมาน คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

ภายในงานจะได้พบกับกิจกรรม เสวนาวิชาการงานอัตลักษณ์เซรามิก เข้าร่วมนิทรรศการแสดงผลงาน อัตลักษณ์เซรามิกล้านนา ประกวดต้นแบบผลิตภัณฑ์เซรามิกล้านนา กิจกรรมการทำเทียนหอม กิจกรรมการเพ้นท์สีจานเซรามิก กิจกรรมสาธิตการปั้นแป้นหมุนขึ้นงานเซรามิก เป็นต้น

ทั้งนี้ นิทรรศการแสดงผลงานกิจกรรมยกระดับอัตลักษณ์เซรามิกล้านนาด้วยทุนทางวัฒนธรรม ไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะเซรามิกล้านนา แต่ยังเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปหันมาสนใจเรียนรู้และอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของชุมชนในพื้นที่ ผ่านทุนทางวัฒนธรรมที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้าน พร้อมทั้งสร้างโอกาสให้แก่ชุมชนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในท้องถิ่นอีกด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสำรองที่นั่งเข้าร่วมงานได้ที่

https://docs.google.com/forms/d/1mfWGN7dcFMdfw81Ib_ggq2NfSuUUFZCWiASqm-vb0Sc/preview  

DIPROM ชวนร่วมโครงการ Angel Fund Connect พร้อมขยายเวลาสมัครร่วมชิงทุนสนับสนุนถึง 20 ก.พ.นี้

(11 ก.พ. 68) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ขอเชิญ Startup ที่เคยเข้าร่วมโครงการ DIPROM Angel Fund และ DIPROM Startup Connect สมัครเข้าร่วม โครงการ Angel Fund Connect 2025 เพื่อเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนและตลาดให้ธุรกิจของคุณเติบโต พร้อมกับชิงเงินสนับสนุนธุรกิจมูลค่ารวมกว่า 4 ล้านบาท

สำหรับโครงการนี้ เหมาะสำหรับผู้ประกอบการประสบปัญหาขายของไม่ได้, กำไร 1 บาท หาได้ยากกว่าเดิม ต้องเตรียมพร้อมหาโอกาสตลาดใหม่ๆ รวม รวมถึงอยากต่อยอดธุรกิจแต่แหล่งเงินทุนหายากเหลือเกิน

พร้อมกันนี้ DIPROM ยังเปิดโอกาสสำหรับ Influencer / Content Creator / Marketer ที่มีไอเดีย ปัง! มีแพลตฟอร์ม พร้อม! และต้องการพาธุรกิจไปไกลกว่าเดิม สมัครเข้าร่วมโครงการ Angel Fund Connect เพื่อต่อยอดธุรกิจ และเปลี่ยนคอนเทนต์ให้เป็นทุน! พร้อมร่วมชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านบาท

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อได้ที่ กองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่  กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร.02-430-6873 ต่อ 1625 หรือ สมัครได้ที่ลิ้งค์ : https://forms.gle/PerABjPkUx2QJVph8
ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top