Sunday, 20 April 2025
CyberSecurity

10 ชาติอาเซียน ร่วมหารือ 'ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์' ตั้ง 'ASEAN CERT' รับมือกับภัยร้ายจากโลกออนไลน์

วันที่ (20 ตุลาคม 2565) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ครั้งที่ 7 (The 7th ASEAN Ministerial Conference on Cybersecurity : AMCC) และการประชุม AMCC วาระพิเศษ ร่วมกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ณ ประเทศ สิงคโปร์ โดยมี นางโจเซฟิน ทีโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสื่อสารและสารสนเทศของสาธารณรัฐสิงคโปร์ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม และมีรัฐมนตรี/ผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงปลอดภัยทางสารสนเทศจากประเทศอาเซียน และเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วม รวมทั้งประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลีย แคนาดา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สหพันธรัฐรัสเซีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป 

โดย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมไทย เปิดเผยว่า ทุกวันนี้ต้องยอมรับ ว่าเรื่องปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือภัยไซเบอร์ เป็นปัญหา ระดับชาติ ในโลกไร้พรมแดน ดังนั้น การผนึกกำลังร่วมกัน เป็นสิ่งที่สำคัญ ทางสมาชิกอาเซียนมีความเห็นตรงกัน ที่จะจัดตั้งศูนย์ไซเบอร์ ที่ชื่อว่า ศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre) หรือ ASEAN CERT เพื่อรับมือกับภัยไซเบอร์ พร้อมการจัดตั้งศูนย์พัฒนาบุคลากรให้ความรู้ ฝึกอบรม ภาคประชาชน ให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์  

ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม ได้ร่วมแบ่งปันเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อจัดการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ เช่นเดียวกับ ประเด็นระดับโลกอื่น ๆ การปกป้องพื้นที่ไซเบอร์ต้องการความร่วมมือระหว่างรัฐ 

‘ชัยวุฒิ’ จี้ ตร.ล่าแก๊งแอปฯ ดูดเงิน หลังผู้ประกาศดังสูญเงินนับล้าน ลั่น!! จะพยายามทำให้ดีที่สุด ย้ำความสำคัญ ‘ไซเบอร์ซีเคียวริตี้’

‘ชัยวุฒิ’ จี้ ตำรวจเร่งติดตามแก๊งแอปฯ ดูดเงินมาดำเนินคดี หลังผู้ประกาศข่าวดังสูญเงินนับล้าน รับจะพยายามทำให้ดีที่สุด ย้ำ ไทยมี กม.อายัดบัญชี้ม้าแล้ว ยอมรับเป็นห่วงด้วยสังคมให้สิทธิสูง ไซเบอร์ซีเคียวริตี้จึงสำคัญ มั่นใจ สูญญากาศก่อนจัดตั้งรัฐบาลไม่กระทบแก้ปัญหา

(12 ส.ค. 66) ที่ท้องสนามหลวง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการดำเนินการช่วยเหลือ เหยื่อ ถูกหลอกลวงทางออนไลน์ กรณีผู้ประกาศข่าวดังสูญเงินกว่า 1 ล้านบาท ว่า ต้องยอมรับว่าคดีหลอกลวงทางออนไลน์มีเยอะจริงๆ ซึ่งช่องทางสื่อสารออนไลน์มีหลายช่องทาง ขอแจ้งเตือนประชาชนเป็นเคสตัวอย่าง ว่าอย่าไปพูดคุยที่หลอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ “ไม่มีหรอก ไม่มีใครโทรหาหรอก” แต่ส่วนที่เกิดความผิดพลาดไปแล้ว ต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งสืบพาคนร้ายกลุ่มนี้มาดำเนินคดี และพยายามดำเนินการดึงเงินคืนมาให้ได้มากที่สุด

ซึ่งวันนี้เรามีกฎหมายเรื่องของการอายัดบัญชีม้าแล้ว ก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด แต่สุดท้ายด้วยระบบการเงินที่คล่องตัว และการสื่อสารที่เป็นระบบเปิดกว้าง ในสังคมไทยเราที่ให้สิทธิเสรีภาพสูงก็เป็นห่วงประชาชนจริงๆ ว่าจะโดนหลอกแบบนี้ ทั้งนี้ ขอฝากสื่อมวลชนช่วยเตือนพี่น้องประชาชนว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใด ทุกกรมทุกกระทรวง โทรหาประชาชนเพื่อหลอก เพราะไม่ได้ว่างขนาดนั้น

เมื่อถามว่า ส่วนช่วงสุญญากาศก่อนการจัดตั้งรัฐบาล จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการใช่หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เรื่องของคดี การแก้ไขปัญหาปราบปรามออนไลน์ เป็นเรื่องของตำรวจอยู่แล้ว ซึ่งทำงานร่วมกับธนาคาร, DSI, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีคณะทำงานและติดตามเรื่องนี้ตลอด มีการรับแจ้งความออนไลน์และระบบติดตามหลังบ้านอยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญคือเรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เพราะแอปฯ ดูดเงินคือการแฮกเข้ามาในมือถือ แต่เราก็ต้องเข้าไปกดลิงค์ก่อน แต่วิธีที่ดีที่สุดระบบจะต้องบล็อกได้ ต้องมีการป้องกัน ซึ่งธนาคารและหน่วยที่เกี่ยวข้องพยายามอัพเดทระบบอยู่ตลอดเวลา ก่อนที่จะย้ำว่าเรื่องที่สำคัญที่สุดคือเรื่องไซเบอร์ ซีเคียวริตี้

‘นร.ม.6’ คิดสั้น หลังเครียด ถูกหลอกซื้อ ‘ไอโฟน 13’ แบบผ่อนดาวน์ ด้าน ‘แม่เด็ก’ ใจสลาย เผย สิ้นเดือนนี้กำลังจะซื้อไอโฟนให้ลูกอยู่แล้ว

(17 ต.ค. 66) เกิดเหตุนักเรียนสาวชั้น ม.6 ตัดสินใจ ผูกคอตายในครั้งนี้ เนื่องจากเกิดอาการเครียด เพราะถูกแก๊งคอลเซนเตอร์หลอกลวง ให้โอนเงินค่าซื้อโทรศัพท์ไอโฟน เป็นเงินเกือบ 2 หมื่นบาท แต่สุดท้ายไม่ได้โทรศัพท์ จึงตัดสินฆ่าตัวตาย โดยเหตุการณ์เศร้าสลดดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรเกาะทวด ได้รับแจ้งเหตุเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 66 ที่ผ่านมาว่า มีนักเรียนหญิงผูกคอตาย ภายในบ้านหลังหนึ่ง พื้นที่ตำบลเกาะทวด อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช หลังรับแจ้งจึงเดินทางไปตรวจสอบ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กู้ภัยฯ และแพทย์เวร

ที่เกิดเหตุ พบร่างของ นางสาวอาทิยา ช่วยคง หรือ ‘น้องพลอย’ อายุ 19 ปี นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.นครศรีธรรมราช ใช้เชือกไนลอนส์ สำหรับเรียนวิชาลูกเสือเนตรนารี ผูกคอตายกับขื่อห้องนอนในบ้านพัก จากการสอบสวนในเบื้องต้น ทราบว่า สาเหตุที่ น.ส.อาทิยา หรือ ‘น้องพลอย’ ตัดสินใจปลิดชีพตัวเองในครั้งนี้ เนื่องจากเกิดจากความเครียด เพราะถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงให้ผ่อนโทรศัพท์มือถือ ‘ไอโฟน13’ ทางระบบออนไลน์

โดยตำรวจ สภ.เกาะทวด ได้ทำการสอบปากคำพยาน 3 ปาก ที่เป็นเพื่อนสนิท และน้าสาวของผู้ตาย ซึ่งพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน พบว่า น.ส.อาทิยา หรือ ‘น้องพลอย’ ผู้ตายได้ติดต่อผ่อนซื้อโทรศัพท์ยี่ไอโฟน 13 ทางเฟซบุ๊กกับร้าน ‘hannah shop mobile’ ซึ่งตั้งอยู่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยถูกทางร้านดังกล่าวหลอกให้ นส.อาทิยา โอนเงินดาวน์ค่าผ่อนโทรศัพท์ไอโฟนให้  โดยให้โอนเข้าบัญชีชื่อ น.ส.ดอกแก้ว แก้วเจิม ธนาคาร CIMB บัญชี 7013721050 ซึ่งเป็นบัญชีม้า จำนวน 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 18,500 บาท  ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ฯ พบหลักฐานเป็นแชตข้อความหลายข้อความ และสลิปการโอนเงินดาวน์ไปให้กับร้านขายโทรศัพท์ดังกล่าว ในโทรศัพท์มือถือของ น.ส.อาทิยา หลายข้อความด้วยกัน

ปรากฏว่า หลังจากที่ น.ส.อาทิยา หรือ ‘น้องพลอย’ โอนเงินดาวน์เพื่อผ่อนซื้อโทรศัพท์ไปให้แล้ว กลับไม่ได้สินค้า ทำให้ น.ส.อาทิยา พยายามทวงถามสินค้าอยู่หลายครั้ง โดยมีหลักฐานเป็นแชตข้อความในโทรศัพท์มือถือของ น.ส.อาทิยา หลายข้อความด้วยกัน ซึ่งเป็นการโต้ตอบกับทางร้าน แต่เมื่อเห็นนานผิดปกติ น.ส.อาทิยา จึงแชททวงถาม และขอเงินดาวน์คืน แต่กลับถูกทางร้านดังกล่าวแชตข้อความกลับมา พร้อมกับให้โอนเงินค่าประกันเพิ่มอีก 2,000 บาท

กระทั่ง น.ส.อาทิยา หลงเชื่อ จึงได้โอนไปให้อีก 2,000 บาท แต่ทางร้านกลับเงียบหายไป และไม่โอนเงินคืนกลับมา ทำให้ น.ส.อาทิยา รู้ตัวว่าถูกหลอก จึงพยายามแชททวงเงินคืนหลายครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผล ทำให้ น.ส.อาทิยา เกิดความเครียดอย่างหนัก เพราะเงินส่วนหนึ่งที่โอนไป เป็นเงินที่หยิบยืมจากเพื่อนสนิท 2 คน และที่สำคัญกลัวถูกแม่ตำหนิ

จนกระทั่งเวลา 15.10 น. ของวันที่ 15 ต.ค. 66 น.ส.อาทิยา ได้แชตสุดท้ายกับเพื่อนสนิทคนหนึ่ง ซึ่งได้ระบุว่า ตนเองถูกร้านขายโทรศัพท์มือถือหลอก และถูกโกงเงินไปแล้ว ประกอบกับกลัวแม่จะตำหนิ จากนั้น น.ส.อาทิยา ก็เงียบหายไป ก่อนที่เพื่อนสนิทเห็นท่าไม่ดี จึงรีบโทรศัพท์แจ้งญาติเข้าไปดูในห้องนอน แต่ประตูถูกล็อกจากด้านในอย่างหนาแน่น จนทางญาติต้องพังประตูเข้าไป และพบ น.ส.อาทิยา หรือน้องพลอย ผูกคอเสียชีวิตไปแล้ว ท่ามกลางความเสียใจของพ่อแม่ และบรรดาญาติๆ และเพื่อนๆ ที่เกิดเหตุการณ์เศร้าในครั้งนี้ 

หลังเกิดเหตุ พ.ต.ท.สวัสดิ์ นิยมเดช สว.สภ.เกาะทวด อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ไม่ได้นิ่งนอนใจได้ทำการสืบสวนสอบสวน ทำการตรวจสอบโทรศัพท์มือถือของผู้ตาย และเรียกพยานเพื่อนสนิทของผู้ตาย และญาติสนิทมาสอบปากคำเบื้องต้น พบว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้หลอกให้เหยื่อ โอนเงินค่าดาวน์โทรศัพท์ไอโฟน 13 แต่ถูกโกงทำให้ น.ส.อาทิยา เกิดความเครียด และกลัวแม่ตำหนิเลยตัดสินใจผูกคอตายดังกล่าว นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังได้มีการสอบสวนขยายผล พร้อมกับแจ้งอายัดบัญชีม้าดังกล่าวอีกด้วย

พร้อมทั้ง ตรวจสอบร้านขายโทรศัพท์ดังกล่าว ที่ระบุว่าอยู่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เบื้องต้นพบว่า ร้านขายโทรศัพท์ดังกล่าว ไม่มีอยู่จริง เป็นการสร้างโปรไฟล์ขึ้นมา เพื่อหลอกลวงลูกค้า ซึ่งตำรวจ สภ.เกาะทวด ได้ประสานตำรวจไซเบอร์ เพื่อดำเนินการตรวจสอบทะเบียนราษฎร์ และประวัติอาชญากรรมของ น.ส.ดอกแก้ว เจ้าของบัญชีม้า พร้อมทั้งประสานตำรวจไซเบอร์ ให้ช่วยเหลือในการทำคดี เพื่อติดตามจับกุมแก๊งคนร้ายออนไลน์แก๊งนี้ต่อไปแล้ว

ล่าสุดเช้าวันนี้ (17 ต.ค. 66) ทีมข่าวได้เดินทางไปยัง ต.เกาะทวด อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นบ้านที่เกิดเหตุ และใช้เป็นสถานที่จัดงานศพของ น.ส.อาทิยาหรือน้องพลอย บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยความโศกเศร้า มีญาติและเพื่อนบ้าน มาช่วยจัดงานศพกันอย่างเนืองแน่น

ทั้งนี้ จากการสอบถาม นางบุญเยือน อ่อนแก้ว หรือ ‘แม่แป๋ว’ อายุ 47 ปี มารดาของ น.ส.อาทิยา หรือ ‘น้องพลอย’ เปิดเผยทั้งน้ำตาว่า ไม่คาดคิดว่าครอบครัวของตนเองจะมาเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับลูก ที่ผ่านเคยดูแต่ข่าวว่า มีเด็กนักเรียนฆ่าตัวตาย เพราะความเครียดที่ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน แต่ไม่คาดคิดว่า เหตุการณ์แบบนี้จะมาเกิดขึ้นซ้ำกับลูกสาวของตนเอง จึงอยากเตือนใจให้พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคน ได้เฝ้าดูแลลูกๆ ในเรื่องนี้ให้ดี

สำหรับมูลเหตุเริ่มจาก น้องพลอย ลูกสาว เคยบ่นว่า อยากได้โทรศัพท์ไอโฟน 13 เพื่อนำไปใช้เรียนในชั้นมหาวิทยาลัยต่อในปีหน้า แต่มีปัญหาคือโทรศัพท์มีราคาแพงมาก ซึ่งตนก็ปลอบใจลูกสาว ว่าเดี๋ยวรอให้ถึงสิ้นเดือน แม่จะซื้อไอโฟน 13 ให้ แต่นึกไม่ถึงเลยว่า ลูกสาวได้แอบไปสั่งซื้อ และผ่อนโทรศัพท์ไอโฟน 13 ทางออนไลน์เสียก่อน โดยพบหลักฐานข้อความแชตจำนวนมากที่ติดต่อกับทางร้านขายโทรศัพท์ปลายทาง และยังมีการหยิบยืมเงินจากเพื่อนสนิท เพื่อนำมาเป็นค่าเงินดาวน์ ในการซื้อโทรศัพท์ จนเมื่อลูกสาวรู้ว่าตัวเองถูกโกง จึงทำให้เกิดอาการเครียด และก่อเหตุผูกคอตายดังกล่าว

“หากลูกสาวแม่ มาบอกแม่ก่อน ว่าไปแอบผ่อนโทรศัพท์แล้วถูกโกง ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อย่างแน่นอน และแม่ขอยืนยันว่า จะไม่ตำหนิลูกสาวอย่างแน่นอน เพราะรักลูกสาวคนนี้มาก และสิ้นเดือนนี้แม่ก็จะซื้อโทรศัพท์ไอโฟน 13 ให้ลูกสาว ซึ่งเพื่อนสนิทของลูกได้บอกกับแม่ว่า ลูกสาวเคยมาพูดเป็นลางสังหรณ์ให้เพื่อนสนิทฟังว่า หากถูกโกงซื้อไอโฟน 13 แล้ว จะฆ่าตัวตาย แม่จะเสียใจหรือไม่ เพื่อนสนิทได้พูดห้ามและปลอบใจ พร้อมกับแนะนำให้ไปแจ้งความกับตำรวจ” บุญเยือน กล่าว

นางบุญเยือน กล่าวอีกว่า อยากฝากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการจับกุม และปราบปรามแก๊งคอลเซนเตอร์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องระบบออนไลน์ ที่จะต้องทำงานให้มากกว่านี้ สาเหตุที่ลูกสาวตัดสินใจฆ่าตัวตายในครั้งนี้ ตนนึกไม่ถึงเลย ว่าลูกจะคิดสั้นฆ่าตัวตาย หากตนรู้เรื่องก่อนหน้านี้ จะไม่ตำหนิลูกสาวเลย เพราะเข้าใจในตัวลูกสาวดีว่า ลูกสาวต้องการโทรศัพท์ไอโฟน 13 ไปใช้เรียนหนังสือในมหาลัยต่อไป ตนและญาติเศร้า และเสียใจมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อยากให้ตำรวจเร่งติดตามตัวคนร้ายแก๊งนี้มาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็ว และไม่อยากให้เป็นเยี่ยงอย่างไปทำกับคนอื่นอีกต่อไป

ความปลอดภัยไซเบอร์ไทย พัฒนาก้าวกระโดด ‘ประเสริฐ’ เผยผลการจัดอันดับ Global Cybersecurity Index 2024 โดย ITU ไทยขึ้นอันดับ 7 ของโลกด้าน Cyber Security จาก 194 ประเทศ  พุ่งจากอันดับ 44 ในการจัดอันดับครั้งที่ผ่านมา

เมื่อวานนี้ (19 ก.ย.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานแถลงข่าวความสำเร็จการพัฒนาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งผลการจัดอันดับ Global Cybersecurity Index 2024 (GCI) โดย International Telecommunication Union (ITU) ในปี 2024 ซึ่งประเทศไทยก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 7 จากผลการประเมินของ 194 ประเทศทั่วโลก ว่า จากนโยบายการดำเนินงานของกระทรวง ภายใต้แผนงาน ‘The Growth Engine of Thailand’ หรือเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศจะให้ความสำคัญใน 3 ด้าน ประกอบด้วย 

1. การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) 
2. การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Safety & Security) และ 3. การเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ (Human Capital) และความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะพัฒนารัฐบาลให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล และนโยบายรัฐบาลประการที่ห้าที่รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่น ควบคู่กับการเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ 

โดยการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดอันดับด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือ GCI ในปี 2024 ประเทศไทยได้คะแนนอยู่ที่ 99.22 คะแนน เป็นอันดับที่ 7 ของโลกจากจำนวน 194 ประเทศ ซึ่งก้าวกระโดดจากลำดับที่ 44 ในการจัดลำดับในครั้งที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่ประเทศชั้นนำใน Tier 1 ซึ่งหมายถึงการเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็น role models ด้านไซเบอร์ของโลก จากรายงาน Global Cybersecurity Index (GCI) 2024 ของ ITU ที่วัดผลสัมฤทธิ์ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศต่าง ๆ ผ่าน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านกฎหมาย (Legal) ด้านเทคนิค (Technical) ด้านหน่วยงาน/นโยบาย (Organizational) ด้านการพัฒนาศักยภาพ (Capacity Development) และด้านความร่วมมือ Cooperation) 

“ผลคะแนนในดัชนีนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการพัฒนาและเสริมสร้างมาตรการความปลอดภัยไซเบอร์ในหลาย ๆ ด้าน โดยผลคะแนนที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานต่าง ๆ ทุกภาคส่วน ร่วมผลักดันงานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ทั้งในระดับบุคคล องค์กร ภาคส่วน และในระดับประเทศ ตลอดจนพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม รายงานอาจแสดงถึงจุดที่ประเทศไทยยังต้องพัฒนาเพิ่มเติม เช่น การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Child Online Protection หรือการเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคนิคในการรับมือภัยคุกคามที่ทันสมัยขึ้นต่อไป” นายประเสริฐ กล่าว 

ขณะที่ พลอากาศตรีอมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวเสริมว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการยกระดับด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มาอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย 1.การยกระดับด้านกฎหมาย (Legal) ประเทศไทยมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับด้านดิจิทัลหลายฉบับเช่น การกระทำผิดเกี่ยวกับข้อมูลคอมพิวเตอร์  เช่น การเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการเผยแพร่ข้อมูลเท็จพระราชบัญญัติข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนและกำหนดหลักเกณฑ์ในการเก็บ ใช้ และเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึง พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่เน้นการสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ 

2.การยกระดับด้านเทคนิค (Technical) มีการจัดตั้งศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ThaiCERT) และการจัดตั้งศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์สำหรับหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ หรือ Sectoral CERT รวมถึงยังมีการดำเนินการทางเทคนิคด้านอื่น ๆ ได้แก่ การขึ้นทะเบียน ThaiCERT กับองค์กร CERT ระดับสากล ได้แก่ First.org และ The Asia Pacific Computer Emergency Response Team (APCERT) การฝึกเพื่อทดสอบขีดความสามารถทางไซเบอร์ในระดับประเทศ (Thailand’s National Cyber Exercise) และระดับภาคส่วน การจัดตั้งระบบแพลตฟอร์มสำหรับการแบ่งปันข้อมูลภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Malware Information Sharing Platform : MISP) และการแจ้งเตือนภัยคุกคามทางไซเบอร์และช่องโหว่ของระบบ
.
3. การยกระดับด้านหน่วยงาน/นโยบาย (Organizational) โดยมีการจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (พ.ศ. 2565 - 2570) เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ โดยมี สกมช. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมีการจัดตั้งประชาคมไซเบอร์แห่งชาติ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และแนวคิดให้เกิดการปฏิบัติตามนโยบายและแผนปฏิบัติการฯ รวมถึงนโยบายการบริหารจัดการ ประมวลแนวทางปฏิบัติและกรอบมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

4.การยกระดับด้านการพัฒนาศักยภาพ (Capacity Development) สกมช. ได้ดำเนินโครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Intensive Cybersecurity Capacity Building Program) ระยะที่ 1 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ทั้งนี้ สามารถพัฒนาบุคลากรได้มากกว่า 5,000 คน การจัดกิจกรรม Thailand Cyber Top Talent เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2021 - 2023 ซึ่งเป็นการแข่งขันด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ มีนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ที่เข้าร่วมการแข่งขัน มากกว่า 6,000 คน  การจัดกิจกรรม Thailand National Cyber Week เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2021 - 2023 การจัดตั้งสถาบันวิชาการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ตลอดจนประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย โดยที่ผ่านมาได้มีการสร้างการตระหนักรู้ ให้ประชาชนไปแล้วมากว่า 1,000,000 คน

5. การยกระดับด้านความร่วมมือ (Cooperation) สกมช. มีการทำ MOU กับหน่วยงานทั้งภายในและต่างประเทศ ร่วมแล้วมากกว่า 34 ฉบับ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน อิสราเอล Microsoft Fortinet Huawei Gogolook AIS กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมสุขภาพจิต สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เป็นต้น การขับเคลื่อน ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre ร่วมกับประเทศญี่ปุ่น มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2561 ถึงปัจจุบัน เพื่อพัฒนาบุคลากรในอาเซียน ตลอดจนการริเริ่มแคมเปญเพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์กลุ่มเด็กหรือเยาวชน ในการผลักดันการปกป้องเด็กบนโลกออนไลน์ (Child Online Protection) โดยออกมารูปแบบของโครงการมากมาย

นอกจากนี้ การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน ส่งผลให้ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับนานาชาติอย่างสม่ำเสมอ เช่น ASEAN Cyber Coordinating Committee (ASEAN Cyber – CC) และ ASEAN-EU Statement on Cybersecurity Cooperation เป็นต้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top