‘ประชาไท’ กับการแทรกแซงสถาบันฯ โดยไร้ความเข้าใจ อ้างทำหน้าที่ตรวจสอบ แต่แท้จริงกลับแฝง ‘วาระซ่อนเร้น’
นับเป็นอีกครั้งที่ 'ประชาไท' ก้าวล้ำเส้นแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ จนกลายเป็นการแทรกแซงพระราชอำนาจอย่างไม่เหมาะสม ภายใต้หน้ากากสื่อเสรีนิยม ที่อ้างตนว่าทำหน้าที่ตรวจสอบ แต่แท้จริงแล้วกลับละเมิดหลักการพื้นฐานของกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เสียเอง
กรณีการนำเสนอข่าวพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศทางทหารแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมตั้งข้อสงสัยถึงความถูกต้องชอบธรรม เพราะไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้น เป็นตัวอย่างชัดเจนของความเขลาในกฎหมาย หรืออาจมากกว่านั้นคือเจตนาเบี่ยงเบนประเด็นสู่การลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของพระราชอำนาจ
ในเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้แบ่งแยกอำนาจไว้อย่างชัดเจนว่า 'ราชการแผ่นดิน' (government affair) ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการตามมาตรา 182 แต่ 'ราชการส่วนพระองค์' (royal affair) ซึ่งรวมถึงการพระราชทานยศ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือการแต่งตั้งในพระบรมราชสำนัก ตามมาตรา 15 ไม่จำเป็นต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
การที่ประชาไทนำเรื่องนี้มาวิพากษ์วิจารณ์ จึงไม่ใช่เพียงความผิดพลาดทางข้อเท็จจริง แต่ยังสะท้อนท่าทีอันอันตรายของ 'วาระซ่อนเร้น' ในการบ่อนเซาะความมั่นคงของสถาบันหลักของประเทศด้วยการสร้างความสับสนแก่ประชาชน เสมือนจงใจปลูกฝังความเข้าใจผิดว่า สถาบันฯ กระทำสิ่งใดโดยปราศจากกลไกตรวจสอบ ทั้งที่ในความเป็นจริง กลไกต่าง ๆ ถูกออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างรัดกุมและแยบยล
คำถามคือ... หากประชาไทมีความเข้าใจในรัฐธรรมนูญจริง เหตุใดจึงเสนอข่าวในลักษณะที่บิดเบือน? หรือแท้จริงแล้วนี่คือแผนปฏิบัติการ 'ทำลายศรัทธา' ผ่านเครื่องมือสื่อ โดยการใช้วาทกรรมกึ่งกฎหมายมาห่มคลุมเจตนาทางการเมือง
และท้ายที่สุด การกระทำเช่นนี้ ย่อมไม่ใช่เสรีภาพในการสื่อสาร หากแต่เป็นการใช้เสรีภาพอย่างเกินขอบเขต จนกลายเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยและมั่นคงของชาติ
บางครั้งการ 'ไม่รู้' อาจให้อภัยได้ แต่การ 'แกล้งไม่รู้' เพื่อละเมิด...สังคมย่อมต้องพิจารณาอย่างจริงจังว่า ยังควรปล่อยผ่านหรือไม่
