Wednesday, 23 April 2025
CircularEconomy

‘การบินไทย’ ชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งเป้าสู่ ‘Net Zero 2050’ ยก 3 หลักสำคัญ บริหารทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ไม่กระทบแผนฟื้นฟูองค์กร

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 66 นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ‘TG’ เปิดเผยว่า การบินไทยกำลังเดินหน้าปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะ ภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050)

ภายใต้แนวคิด ‘Zero Waste Living’ ซึ่งประกอบด้วย หลักการหลัก 3 ประการได้แก่ FROM PLANES TO PLANET-การบินเพื่อสิ่งแวดล้อม, FROM WASTE TO WEALTH-การพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และ FROM PURPLE TO PURPOSE-จากใจสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า การเดินหน้าแผนธุรกิจด้านความยั่งยืน จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น เทียบง่าย ๆ แค่การเปลี่ยนขวดนํ้าพลาสติก PET สู่วัสดุที่รีไซเคิลได้ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นราว 20% แล้ว เพราะฉะนั้น การทำงานของการบินไทย ต้องเดินหน้าภายใต้กรอบจำกัดเรื่องของแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยด้วย

“ถ้าเอาเงินมาใส่ตรงนี้ทั้งหมด มันไม่ได้ เราจะทำในสิ่งที่ไม่มีผลกระทบต่อบริษัท แต่ถ้าต้นทุนเพิ่มอย่างมีนัยยะสำคัญ เราต้องทบทวนก่อน มิฉะนั้นจะกระทบกับแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย” นายชาย กล่าว

จากแผนธุรกิจของการบินไทยปี พ.ศ. 2566-2570 ที่ประกาศไปล่าสุดว่า จะเดินหน้าลุยหาเงิน 1.2 แสนล้านบาท คืนเจ้าหนี้ทุกรายครบภายใน 8 ปี โดยมั่นใจว่า 2566 จะสามารถทำกำไรได้ 2 หมื่นล้านบาท มีเงินสดในมือ 50,000 ล้านบาท โดยครึ่งปีแรกสิ้นสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 การบินไทยมีเงินสดสะสมแล้ว 51,153 ล้านบาท และทำกำไรสุทธิได้ 14,795 ล้านบาท

- ชูแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืน หลายอย่างการบินไทยได้ดำเนินการมานานแล้ว เช่น การบริหารจัดการขยะอาหารและขยะพลาสติก ที่เดินเน้นการคัดแยกแล้วส่งต่อให้ผู้รับซื้อ แต่ปัจจุบันการบินไทยเริ่มนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากร ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากนัก

ล่าสุด ได้พัฒนาเครื่องแบบชุดไทยเรือนต้นของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิง ที่ผลิตมาจากวัสดุเหลือใช้ขวดนํ้าพลาสติกที่ให้บริการผู้โดยสารบนเครื่องบิน เข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นเส้นใยพลาสติกผสมผสานกับเส้นใยไหมธรรมชาติในอัตรา 70:30 ซึ่งเครื่องแบบดังกล่าวใช้ขวด PET จำนวน 54 ขวด ต่อการผลิตชุดไทย 1 ชุด เริ่มใช้ 1 มกราคม 2567 กับพนักงานต้อนรับหญิงที่รับเข้ามาใหม่ และคาดว่าประมาณกลางปี 2567 จะปรับเปลี่ยนได้ครบทั้งหมด ซึ่งชุดเครื่องแบบใหม่นี้ นอกจากมีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลแล้ว ยังมีความคงทน และไม่ต้องซักแห้งเหมือนชุดผ้าไหม ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายเพิ่มได้อีก

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดรับชุดยูนิฟอร์มเก่าจากพนักงานในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ได้ยูิฟอร์มเก่ามาเกือบ 10 ตัน จากเบื้องต้นตั้งเป้าเพียง 2 ตัน ทำให้สามารถนำไปปันเป็นเส้นใยใหม่ ผลิตเป็นยูนิฟอร์มใหม่ได้อีก โดยเสื้อ 1 ตัว ใช้ผ้าเก่า 2 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน ได้เสื้อยูนิฟอร์มใหม่ 500 ตัว ซึ่งนำไปแจกจ่ายให้กับพนักงานการบินไทยทุกคน และอนาคตมีแผนที่จะต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ เพื่อลดขยะบนเครื่องบินให้ได้มากที่สุด

อีกหนึ่งแนวคิด เป็นการต่อยอดเศรษฐกิจหมุนเวียนของการบินไทย คือ การจับมือกับจิม ทอมป์สัน จัดทำ ‘Travel Kit Bag’ ที่นำอุปกรณ์ของใช้บนเครื่องบินทำมาจากวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ (Biodegradable) ผลิตออกมาเป็นกระเป๋าผ้าพิมพ์ลายไทยพิเศษ 6 ลาย และในกระเป๋า ยังบรรจุอุปกรณ์เครื่องใช้ที่ทำจากวัสดุที่ย่อยสลายได้เช่นกัน อาทิ แปรงสีฟัน ถุงเท้า ลูกกลิ้งนํ้ามันหอมระเหย ลิปบาล์ม โลชั่นทามือ ยาสีฟัน ผ้าปิดตา และไม้ช้อนรองเท้า

นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ของใช้บนเครื่องบินอื่น ๆ ที่คำนึงถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น ช้อนส้อมอะลูมิเนียม ใช้ทดแทนช้อนส้อมพลาสติก แก้วนํ้า ถาดใส่อาหาร และอื่น ๆ

- ลุยเชื้อเพลิง SAF ปี 2030
ส่วนทางด้านการบิน ได้เปลี่ยนมาใช้รถบัสไฟฟ้าในการขนส่งพนักงานหรือลูกเรือจากศูนย์ปฏิบัติการไปยังสนามบิน รวมทั้งมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดภายใน 5 ปี และอีกหนึ่งโครการที่การบินไทยดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้วและมีผลเป็นที่น่าพอใจคือ การใช้นํ้ามันอย่างมีประสิทธิภาพ หลักการคือ ใช้วิธีการรวบรวมข้อมูล จากสถิติเก่า ๆ นำมาวิเคราะห์ จะได้ค่าตัวหนึ่ง ที่นำมาใช้งาน ไปใช้เป็นส่วนประกอบการวางแผนการบิน วางแผนการใช้นํ้ามัน และจัดเส้นทางการบิน เพื่อให้ใช้นํ้ามมันอย่างแม่นยำไม่น้อยหรือมากเกินไป

“เรื่องของวิธีการบิน เทคนิคการบิน เช่น เครื่องบินแลนดิ้ง เข้าหลุมจอด ไม่จำเป็นต้องติดเครื่องยนต์ทั้ง 2 เครื่อง เป็นการลดใช้นํ้ามันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการใช้เครื่องบินรุ่นใหม่ๆ และเครื่องยนต์ยุคใหม่ ที่ใช้นํ้ามันลดลง”

ส่วนนํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) การบินไทยมีแผนที่จะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการภายในปี ค.ศ. 2030 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในเครื่องบืนของการบินไทย ได้มีการใช้นํ้ามัน SAF อยู่บ้าง จากการบินเข้ายุโรป ที่เริ่มบังคับใช้กับผู้ผลิตและบริษัทนํ้ามันแล้ว

“การใช้นํ้ามัน SAF ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 3-4 เท่า เราต้องมีการผลักดันในหลาย ๆ ภาคส่วน จะให้ผู้ใช้เป็นคนผลักดันฝั่งเดียวเกิดได้ยาก นโยบายการใช้ SAF ผู้คุมนโยบาย ผู้ใช้ ผู้ผลิต ก็ต้องมาคุยกัน มันไม่ใช่แค่การบินไทยบอกอยากจะใช้ มันต้องกลับไปดูถึงซัพพลายเชนว่า วัตถุดิบในการผลิต SAF มาจากไหน จะบริหารจัดการกันอย่างไร มีนโยบายอย่างไร”

‘ซีอีโอ SCG’ ฉายภาพธุรกิจแห่งความยั่งยืน ชี้!! ไทยต้องพัฒนา Circular Economy ไม่ให้แพ้ยุโรป

(8 ต.ค.67) ไทยเป็นประเทศแรกที่รายงานใน COP ว่าอุตสาหกรรมซีเมนต์จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ Net Zero แต่ยังสอบไม่ผ่านในเรื่องของ Circular Economy เพราะยังแพ้ยุโรป ที่สามารถสร้าง Business Model โลว์คาร์บอนได้ โดยรีไซเคิลพลาสติกมีอัตราการเติบโตต่อปีสูงกว่าพลาสติกธรรมดาทั่วไป 2-3 เท่า

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ได้เข้าร่วมเวทีเสวนา CEO Panel ภายในงาน SX2024 หรือ Sustainability Expo 2024 ซึ่งเป็นมหกรรมความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยในครั้งนี้ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ "วิสัยทัศน์ 2030: พลังความร่วมมือ สู่อนาคตยั่งยืน" เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการร่วมมือกันในทุกภาคส่วนเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

'ธรรมศักดิ์' กล่าวว่า ประเทศไทยมีโครงการแฟล็กชิพหลายโครงการที่สามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตยั่งยืน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ผมมองควรมุ่งไปในสองเรื่อง หนึ่ง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยตามเป้าของ Paris Agreement สอง เรื่องที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ competitiveness ไทยต้องเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันไปพร้อม ๆ กัน ถึงจะยั่งยืน

"เมื่อเร็ว ๆ นี้ เอสซีจีจัด Symposium เป็นการรายงานผล 1 ปี ของการทำสระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ ซึ่งเป้าหมายคือการทำให้เป็นจังหวัดต้นแบบโลว์คาร์บอน หนึ่งปีที่ผ่านมามีความคืบหน้าอย่างมาก และผมเชื่อว่า ถ้าเราผลักดันสระบุรีเป็น Net Zero ได้ พื้นที่อื่นอย่าง เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือ กทม. ทำต้องทำได้แน่"

นอกจากนั้น 'ธรรมศักดิ์' พูดถึงการปรับอุตสาหกรรมซีเมนต์ให้เป็นโลว์คาร์บอนซีเมนต์ ที่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะประเทศไทยใช้ซีเมนต์จำนวนมาก ซึ่งประเทศไทยควรต้องปรับมาตรฐานการใช้โลว์คาร์บอนซีเมนต์ให้ได้

“ปีที่ผ่านมายอดขายซีเมนต์ของเอสซีจี 70% เป็นซีเมนต์โลว์คาร์บอน และปีนี้ตั้งเป้า 80-100% จะเห็นว่าคนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพิ่มขึ้น ดังนั้น เราต้องรวมพลังผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จ

การผลักดันครอบคลุมไปถึงเทคโนโลยีการผลิต การบริหารต้นทุนการผลิต ซัพพลายเชน การปรับกฎกติกามาตรฐานการก่อสร้างไปเป็นโลว์คาร์บอน ซึ่งผมมองว่าไทยสอบผ่าน ซึ่งเราเป็นประเทศแรกที่รายงานใน COP ว่าอุตสาหกรรมซีเมนต์จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ Net Zero แต่ไทยยังสอบไม่ผ่านในเรื่องของ Circular Economy เรายังแพ้ยุโรป ที่เขาสามารถสร้าง Business Model โลว์คาร์บอนได้ และมีการเติบโตสูง โดยการรีไซเคิลพลาสติกมีอัตราการเติบโตต่อปีสูงกว่าพลาสติกธรรมดาทั่วไป 2-3 เท่า เป็นธุรกิจที่กำลังโต

เอสซีจีได้จัดทำการระดมสมองรับฟังความคิดเห็นกว่า 3,500 คน ในเรื่อง Circular Economy พบว่า หลายคนเห็นตรงกันว่าไทยยังขาดเรื่องแผนแม่บทด้านการรีไซเคิล และยังขาดจิตสำนึกในระดับบุคคลเรื่องการแยกขยะ

ไทยควรผลักดันเรื่องเศรษฐกิจรีไซเคิลอย่างจริงจัง เพราะเรื่องนี้จะสร้างการเติบโตให้กับประเทศไทย รวมทั้งบริษัทต่าง ๆ ทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก

ส่วนเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เราต้องเปรียบเทียบกับจีน เพราะจีนทำเรื่องโซลาร์เยอะมาก ถ้าเราทำเรื่องนี้ได้เพิ่มขึ้น ก็จะสร้างศักยภาพการแข่งขันได้แน่นอน

เวทีเสวนา CEO Panel นี้ ยังมีผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำอีก 3 องค์กรขึ้นเวทีร่วมแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ในการนำแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนมาปรับใช้ในภาคธุรกิจ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนอย่างแท้จริง ได้แก่ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ SCG ฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ ธีรพงศ์ จัน ศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย ยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top