Monday, 21 April 2025
CIA

CIA ชี้!! จีนหวังกองทัพพร้อมลุย หากต้องบุกยึดไต้หวัน แม้ปักกิ่งจะต้องการรวมชาติกับเกาะแห่งนี้ด้วยสันติวิธี

เดวิด โคเฮน รองผู้อำนวยสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) เผยว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ต้องการให้กองทัพของเขามีแสนยานุภาพพร้อมสำหรับบุกยึดไต้หวันภายในปี 2027 จากคำกล่าวอ้างของผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น อย่างไรก็ตาม โคเฮน เชื่อว่าปักกิ่งยังคงต้องการรวมชาติกับเกาะแห่งนี้ด้วยสันติวิธี

เคที โบ ลิลิส ผู้สื่อข่าวของซีเอ็นเอ็นเป็นผู้รายงานความคิดเห็นดังกล่าวของ โคเฮน ในขณะที่เธอระบุด้วยว่า สี ไม่ได้กำลังเตรียมการสำหรับรุกรานไต้หวันเร็วๆ นี้ แต่เขาอยากให้กองทัพมีแสนยานุภาพเพียงพอสำหรับการเข้าควบคุมไต้หวันโดยการใช้กำลัง

"เขายังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะทำเช่นนั้น แต่ขอให้กองทัพวางสถานะของเขาอยู่ในจุดๆ หนึ่ง ซึ่งหากว่าเขาต้องการทำเช่นนั้น เขาจะสามารถดำเนินการได้" ลิลิส อ้างคำพูดของโคเฮน "จากการประเมินของประชาคมข่าวกรองทั้งหมด ยังคงเชื่อว่า สี ให้ความสนใจเข้าควบคุมไต้หวันผ่านหนทางที่ไม่ใช่วิถีทางด้านการทหาร"

ปักกิ่งเน้นย้ำอย่างเปิดเผยว่ามีความตั้งใจผนวกไต้หวันเข้ากับจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยสันติวิธี และในสมุดปกขาวที่เผยแพร่ในเดือนสิงหาคม รัฐบาลจีนเน้นย้ำความตั้งใจไม่ใช้หนทางด้านการทหาร แต่ขอสงวนไว้ซึ่ง 'ทางเลือกของการใช้ทุกมาตรการที่มีความจำเป็น'

ไต้หวันปฏิเสธสูตร '1 ประเทศ 2 ระบบ' ที่ระบุอยู่ในสมุดปกขาวดังกล่าว โดยไทเปยืนกรานว่ามีเพียงประชาชนชาวไต้หวันเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสินใจอนาคตของตนเอง

‘Project Azorian’ ปฏิบัติการ ‘ลวง-ลับ-พราง’ ของสหรัฐอเมริกา ใช้ CIA แฝงตัวกู้ซากเรือดำน้ำ K-129 หวังล้วงข้อมูลขีปนาวุธโซเวียต

Project Azorian (โครงการอะโซเรียน) เป็นโครงการของสำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (CIA) เพื่อการกู้ซากเรือดำน้ำ K-129 ของโซเวียตที่จมจากพื้นมหาสมุทรแปซิฟิกในปี 1975 โดยเรือ Hughes Glomar Explorer ที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะ เรือดำน้ำ K-129 จมในปี 1968 ที่ประมาณ 1,600 ไมล์ (2,600 กม.) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของฮาวาย โดย Project Azorian เป็นหนึ่งในปฏิบัติการข่าวกรองที่ซับซ้อน ราคาแพง และเป็นความลับที่สุดในห้วงสงครามเย็น โดยมีมูลค่าราว 800 ล้านดอลลาร์หรือกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน


(เรือดำน้ำ K-129)

เรือดำน้ำ K-129 หรือที่กองทัพเรือโซเวียตเรียกเรือชั้นนี้ว่า Project 629 แต่สหรัฐฯ และกองทัพนาโต้เรียกว่า ‘Golf’ ด้วยระหว่างขับน้ำ 2,700 ตัน ความยาว 100 เมตร ความกว้าง 8.5 เมตร เป็นเรือดำน้ำใช้เครื่องยนต์ดีเซล 3 เครื่อง และมอเตอร์ไฟฟ้าอีก 3 เครื่อง สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 17 นอต (31 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ปฏิบัติงานในทะเลได้ 70 วัน และมีลูกเรือ 83 นาย เรือดำน้ำชั้นนี้ติดตั้งขีปนาวุธนำวิถี (Ballistic Missile Submarine) โดยมีท่อยิงขีปนาวุธ 3 ท่อ สามารถติดตั้งขีปนาวุธทางยุทธวิธี (Tactical Ballistic Missiles) แบบ R11 FM หรือ ‘Scud’

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 1968 กัปตัน Vladimir I. Kobzar และลูกเรือดำน้ำ K-129 นำเรือดำน้ำ K-129 ปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนครั้งที่ 3 ของเรือลำนี้ รายงานจากเรือส่งกลับมาว่า การแล่นตามทิศทางที่กำหนดเป็นไปด้วยความราบรื่น แต่เมื่อเรือดำน้ำ K-129 ข้ามเส้นรุ้งที่ 180 (180th meridian) ก็ขาดการติดต่อ แม้จะมีความพยายามติดต่อกับเรือจากฐานทัพเรือ Kamchatka แต่ไม่มีการตอบรับใด ๆ จากเรือลำนี้ กระทั่งเวลาล่วงเลยไปจนถึงกลางเดือนมีนาคม กองทัพเรือโซเวียตจึงประกาศว่าเรือลำนี้สูญหาย การค้นหาและกู้ภัยทางอากาศบนพื้นผิวมหาสมุทรและใต้ทะเล จากทางแปซิฟิกเหนือบริเวณตั้งแต่ Kamchatka ไปจนถึง Vladivostok จึงเริ่มขึ้น เมษายน 1968 กองเรือภาคพื้นแปซิฟิกของสหภาพโซเวียต และอากาศยานถูกสังเกตว่า มีการเคลื่อนย้ายกำลังไปยังตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการค้นหาที่มีความผิดปกติบางอย่าง สำนักงานข่าวกรองทางเรือสหรัฐอเมริกา (ONI) ประเมินว่า เป็นปฏิกิริยาที่น่าจะเกิดขึ้นจากการสูญเสียเรือดำน้ำของโซเวียต การค้นหาด้วยเรือผิวน้ำของโซเวียตมีศูนย์กลางอยู่บริเวณซึ่งทราบว่า เกี่ยวข้องกับเส้นทางลาดตระเวนเรือดำน้ำดีเซลติดขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ ชั้น ‘Golf’ II (SSB) ของโซเวียต เรือดำน้ำแบบนี้บรรทุกขีปนาวุธนิวเคลียร์ 3 ลูกในเรือ และประจำการในระยะยิงขีปนาวุธไปยังชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ หลังจากการค้นหาหลายสัปดาห์โซเวียตก็ยังไม่สามารถค้นหาเรือแม้แต่ร่องรอยหรือซากเรือที่จมได้ และปฏิบัติการของกองเรือแปซิฟิกของโซเวียตก็จึงค่อย ๆ กลับคืนสู่สภาวะปกติ 

ขณะเดียวกันกองทัพเรืออเมริกันก็ได้เริ่มค้นหาจากเครือข่ายของระบบเฝ้าระวังเสียง ( SOSUS ) ซึ่งเป็นระบบโซนาร์แบบพาสซีฟที่พัฒนาโดยกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาเพื่อติดตามเรือดำน้ำของโซเวียต ระบบดังกล่าวที่อยู่ทางตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกได้ทำการตรวจสอบการบันทึก โดยหวังว่าจะตรวจพบการระเบิดที่เกี่ยวข้องกับการสูญหายของเรือดำน้ำ K-129 ลำดังกล่าว กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูล Acoustic (คลื่นเสียงที่เดินทางผ่านตัวกลาง

ต่าง ๆ) จากที่ตั้ง AFTAC 4 แห่ง และ Array ณ สถานีทหารเรือ Adak มลรัฐ Alaska ใช้ SOSUS ค้นหาซากเรือดำน้ำภายใน 5 ไมล์ทะเล ซึ่งสถานที่นี้อยู่ห่างจากพื้นที่ค้นหาของกองทัพเรือโซเวียตหลายร้อยไมล์ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกทางเรือ (NAVFAC) Point Sur ทางตอนใต้ของเมือง Monterrey มลรัฐ California สามารถแยกลายเซ็นโซนิคในการบันทึก Array ความถี่ต่ำของเหตุการณ์การระเบิดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 1968 โดยใช้วันที่และเวลาของเหตุการณ์จาก NavFac Point Sur NavFac Adak และ US West Coast NAVFAC ก็สามารถแยกเหตุการณ์ Acoustic ได้เช่นกัน ด้วย SOSUS 5 เส้น ในที่สุดหน่วยสืบราชการลับของกองทัพเรือสหรัฐฯก็สามารถก็กำหนดพิกัดที่แน่นอนของซากเรือดำน้ำ K-129 โดยระบุตำแหน่งว่า อยู่ใกล้กับละติจูด 40.1 ° N และลองจิจูด 179.9 ° E (ใกล้เคียงกับเส้นวันที่ระหว่างประเทศ) 

(ซากเรือดำน้ำ K-129 ถ่ายด้วยกล้องควบคุมระยะไกลของหุ่นยนต์ของเรือ USS Halibut)

ทั้งนี้ กรกฎาคม 1968 กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้เริ่ม ‘ปฏิบัติการ Sand Dollar’ ด้วยเรือดำน้ำ USS Halibut จากฐานทัพเรือ Pearl Harbor ไปยังจุดจมของซากเรือดำน้ำ K-129 วัตถุประสงค์ของปฏิบัติการ Sand Dollar คือ การค้นหาและถ่ายภาพซากเรือดำน้ำ K-129 โดย USS Halibut เป็นเรือดำน้ำที่สามารถใช้อุปกรณ์ค้นหาใต้น้ำลึกซึ่ง และเป็นเรือดำน้ำที่มีอุปกรณ์พิเศษเพียงชนิดเดียวของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในขณะนั้น โดย USS Halibut พบซากเรือดำน้ำ K-129 หลังจากการค้นหา 3 สัปดาห์ โดยการใช้กล้องควบคุมระยะไกลของหุ่นยนต์ (แต่ต้องใช้เวลาค้นหาเกือบห้าเดือนกว่าจะพบซากเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ USS Scorpion ในมหาสมุทรแอตแลนติกในปี 1968 เช่นกัน) USS Halibut ใช้เวลาหลายสัปดาห์ต่อมาในการถ่ายภาพแบบ Closed up กว่า 20,000 ภาพในทุกแง่มุมของซาก K-129 ซึ่งเป็นข้อมูลลับที่ USS Halibut ได้ถูกหน่วยงานพิเศษของประธานาธิบดีใช้อ้างอิง ซึ่งลงนามโดยประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson ในปี 1968

ต่อมาในปี 1970 จากการถ่ายภาพชุดนี้ Melvin Laird และ Henry Kissinger ซึ่งในขณะนั้นเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติได้เสนอแผนลับในการกู้ซาก K-129 เพื่อให้สหรัฐฯ สามารถศึกษาเทคโนโลยีขีปนาวุธนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียต และอาจกู้คืนวัสดุที่ใช้ในการเข้ารหัส ข้อเสนอนี้ได้รับการยอมรับจากประธานาธิบดี Richard Nixon และ CIA ได้รับมอบภารกิจในการกู้ซาก K-129 ด้วยโครงการ Project Azorian อันเป็นชื่อปฏิบัติการกู้เรือในครั้งนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการลับสุดยอดที่ปฏิบัติการในช่วงสงครามเย็นของสหรัฐอเมริกา เป็นปฏิบัติการที่มีค่าใช้จ่ายมากที่สุดตลอดช่วงสงครามเย็น ต้องใช้เวลาถึง 6 ปี ในการเตรียมการ ภายหลังจากการจมของเรือดำน้ำ K-129 ในปี 1968 ฝ่ายสหรัฐฯ จำต้องรอเวลาและวางแผนให้ปฏิบัติการนี้

ต้องทำให้ดูเหมือนเป็นงานของพลเรือนมากกว่าจะเป็นงานด้านการทหาร การจะเคลื่อนสรรพกำลังไปยังจุดที่เรือดำน้ำโซเวียตจมอยู่ก็เป็นความท้าทายแรก และความท้าทายอย่างต่อมาคือการนำเรือดำน้ำขนาด 2,700 ตัน ขึ้นมาจากใต้ทะเลโดยมิให้พวกโซเวียตล่วงรู้ เป็นอีกความท้าทายที่ยากลำบากของฝ่ายอเมริกัน

(เรือ GSF Explorer)

ทั้งนี้ เรือ GSF Explorer เดิมคือ เรือ USNS Hughes Glomar Explorer (T-AG-193) ต่อโดย Global Marine Development Inc. หน่วยงานวิจัยและพัฒนาของ Global Marine Inc. ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการขุดเจาะนอกชายฝั่งน้ำลึกได้รับสัญญาให้ออกแบบและสร้าง Hughes Glomar Explorer เพื่อกู้เรือดำน้ำโซเวียตที่จมอย่างลับ ๆ เรือถูกสร้างขึ้นที่อู่ต่อเรือ Sun ใกล้เมือง Chester มลรัฐ Pennsylvania โดย Howard Hughes มหาเศรษฐีนักธุรกิจซึ่งมี บริษัทต่าง ๆ มากมาย และเป็นผู้รับเหมาเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร เครื่องบิน และสัญญาดาวเทียมหลายประเภทของสหรัฐฯ ตกลงที่จะให้ชื่อของเขาโดยอ้างว่า เป็นโครงการเรือขุดแมงกานีสจากพื้นมหาสมุทร แต่ Hughes และบริษัทของเขาไม่มีส่วนร่วมในโครงการเลย โดยมีการจัดฉากเซ็นสัญญาว่าจ้างอย่างเป็นทางการให้บริษัทของเขา ออกแบบสร้างเรือขุดเจาะลำนี้ขึ้นมา ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 1972 เรือก็ถูกปล่อยลงน้ำ ด้วยระวางขับน้ำ 57,000 ตัน ยาว 619 ฟุต (189 ม.) ในชื่อ เรือ Hughes Glomar Explorer (HGE) มีความยาว 189 เมตร กว้าง 35 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซลไฟฟ้า โดยมีความเร็วสูงสุด 10 นอต (19 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ลูกเรือประจำ 160 นาย 

หากมองเรือลำนี้จากภายนอก จะเห็นเป็นเรือขุดเจาะธรรมดาทั่วไปที่มีแท่นขุดเจาะขนาดใหญ่อยู่กลางลำเรือและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ดูแล้วสมกับงานที่กำลังจะไปทำ แต่ทว่าภายในลำตัวเรือ HGE มีช่องเปิดขนาดใหญ่ที่สามารถนำเรือดำน้ำขนาดเล็กและขนาดใหญ่เข้ามาภายในได้ รวมทั้งยังมีปั้นจั่นขนาดใหญ่ที่เหมือนกับแขนมหึมา สามารถดำลงไปหยิบจับสิ่งอยู่ใต้ทะเลเข้ามาตรงช่องเปิดขนาดใหญ่ที่มีอยู่บริเวณกลางลำตัวเรือได้ อุปกรณ์กู้มีลักษณะเป็นกรงเล็บจักรกลขนาดใหญ่ ซึ่ง Lockheed สร้างมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘Capture Vehicle’ แต่เรียกกันติดปากว่า Clementine ยานจับได้รับการออกแบบให้ลดระดับลงสู่พื้นมหาสมุทรจับลำตัวเรือดำน้ำเป้าหมาย จากนั้นก็ดึงส่วนนั้นขึ้นในที่ยึด ข้อกำหนดประการหนึ่งของเทคโนโลยีนี้คือ การรักษาฐานลอยน้ำให้มั่นคง และอยู่ในตำแหน่งเหนือจุดคงที่พอดี คือ 16,000 ฟุต (4,900 ม.) ใต้พื้นผิวมหาสมุทร ตัวยานจับจะถูกลดระดับ และยกขึ้นบนท่อร้อยสายแบบเดียวกับที่ใช้กับแท่นขุดเจาะน้ำมัน ท่อเหล็กยาว 30 ฟุต (9.1 ม.) แต่ละส่วนถูกร้อยเข้าด้วยกันเป็นก้ามปูผ่านรูตรงกลางเรือ โครงแบบนี้ออกแบบโดย Western Gear Corp. จากเมือง Everett มลรัฐ Washington เมื่อกรงเล็บจับได้สำเร็จ ‘วัตถุเป้าหมาย’ จะถูกดึงขึ้นเข้าไปในตัวเรือ HGE กระบวนการกู้ซากทั้งหมดเกิดขึ้นใต้น้ำห่างจากการมองเห็นของเรือลำอื่น เครื่องบิน หรือดาวเทียมสอดแนม

จุดเก็บกู้ของ K-129 โดยอาศัยจุดตัดของวงกลมสามวงที่ทำเครื่องหมายระยะทางไปยัง Long Beach, CA, Pearl Harbor, HI และ Petropavlovsk, Kamchatka ซากเรือดำน้ำ K-129 จมที่ความลึกกว่า 16,000 ฟุต (4,900 ม.) และด้วยเหตุนี้ปฏิบัติการกู้ซากเรือจึงอยู่เลยระดับความลึกของปฏิบัติการกู้เรือใด ๆ ที่เคยพยายามมาก่อน เรือ Hughes Glomar Explorer เดินทาง 3,008 ไมล์ทะเล (5,571 กม.) จากเมือง Long beach มลรัฐ California เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 1974 มาถึงสถานที่กู้ซากเรือดำน้ำ K-129 ในวันที่ 4 กรกฎาคม 1974 และใช้เวลากู้ซากเรือดำน้ำ K-129 นานกว่าหนึ่งเดือน ในช่วงเวลานี้มีเรือรบของกองทัพเรือโซเวียตอย่างน้อยสองลำเข้ามาสำรวจตรวจสอบพื้นที่ปฏิบัติงานของเรือ Hughes Glomar Explorer ได้แก่เรือลากจูงในมหาสมุทร SB-10 และเรือตรวจวัดระยะขีปนาวุธของโซเวียต Chazma 

เรือดำน้ำขนาดเล็กและนักประดาน้ำในชุดดำน้ำลึกที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ เรือดำน้ำขนาดเล็กดำลงไปยังซากเรือมรณะของโซเวียตลำนี้ ทีมกู้ซากเรือติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะนำเรือดำน้ำลำนี้เข้าไปภายในช่องที่อยู่ภายในลำตัวเรือ Hughes Glomar Explorer ปั้นจั่นขนาดใหญ่ ถูกหย่อนลงไปในน้ำ ดำดิ่งลงไปหาเรือดำน้ำโซเวียตที่จอดสงบนิ่งอยู่ใต้ทะเล มือของมันหยิบเรือดำน้ำโซเวียตราวกับมือของมนุษย์ที่หยิบจับสิ่งของ ค่อย ๆ ดึงขึ้นมาอย่างช้า ๆ แต่ในขณะที่เหลือระยะทางอีกเพียงครึ่งหนึ่งก่อนที่ซากเรือดำน้ำโซเวียตจะไปถึงช่องภายในลำตัวเรือ Hughes Glomar Explorer หนึ่งในแขนเหล็กขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่ล็อกลำตัวเรือดำน้ำ K-129 เอาไว้เกิดขัดข้องขึ้น มันหยุดทำงานและทำให้ลำตัวเรือดำน้ำโซเวียตเอียงตะแคงข้าง ส่งผลให้ประตูท่อยิงขีปนาวุธเปิดออกพร้อมกับขีปนาวุธที่ค่อย ๆ ไหลออกมาจากท่อ โดยโผล่ออกมาจากท่ออย่างช้า ๆ ซึ่งทีมกู้ซากเรือไม่สามารถทำอะไรได้เลย พวกเขาต่างพากันสวดภาวนาไม่ให้เกิดหายนะร้ายแรงขึ้น เพราะขีปนาวุธเหล่านี้เมื่อมันหล่นลงไปกระแทกกับพื้นทะเลอาจเกิดการระเบิดขึ้นได้ และชีวิตทุกคนที่อยู่ในบริเวณนี้จะต้องตายเพราะแรงระเบิด เมื่อขีปนาวุธโผล่พ้นท่อยิงออกมา มันจึงร่วงหล่นลงไปสู่จุดที่เรือดำน้ำ K-129 เคยจมอยู่อย่างรวดเร็ว ทุกคนบนเรือต่างกลั้นหายใจและพากันหาที่ยึดจับบนตัวเรือเอาไว้ เมื่อเสียงของการกระแทกดังขึ้นและเงียบหายไป จึงทำให้ทุกคนโล่งอกหลังจากลุ้นกันจนตัวโก่งกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเช่นนี้

แต่เมื่อซากเรือดำน้ำ K-129 เกิดเอียงตะแคงข้างเช่นนี้ เลยส่งผลให้น้ำหนักของลำตัวเรือกดทับไปที่อีกด้านหนึ่งของแขนเหล็กขนาดใหญ่ที่ล็อกลำตัวเรือเอาไว้ ส่งผลให้รับน้ำหนักไม่ไหว และทำให้หักพร้อมกับลำตัวเรือดำน้ำที่ฉีกขาด วินาทีนั้นทุกคนบนเรือ Hughes Glomar Explorer ต้องลุ้นระทึกอีกครั้ง เพราะลำตัวทั้งลำอาจจะหล่นลงไปกระแทกเข้ากับขีปนาวุธที่หล่นลงไปก่อนหน้านี้ และอาจทำให้เกิดการระเบิดขึ้นได้ เสียงสวดมนต์และร้องเรียกหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของลูกเรือดังขึ้นอีกครั้ง คราวนี้ทุกคนต่างคิดว่า ไม่รอดแน่แล้ว จนกระทั่งเวลาผ่านไปหลายนาที เมื่อไม่มีการระเบิดเกิดขึ้นหรือมีสัญญาณอันตรายใด ๆ จึงทำให้รู้ว่าปลอดภัยแล้ว แต่ผลก็คือ เรือ HGE ต้องประสบความล้มเหลวขั้นวิกฤตส่งผลให้ส่วนข้างหน้าแตกออกเป็นสองส่วน ชิ้นส่วนที่มีพื้นที่การเดินเรือที่สำคัญและส่วนตรงกลางตกลงสู่พื้นมหาสมุทร ดังนั้นพื้นที่แล่นเรือตรงกลางและส่วนหลังของ K-129 จึงถือว่า การกู้เรือดำน้ำ K-129 ไม่สำเร็จ สิ่งที่ถูกดึงขึ้นมาอย่างแน่นอนจัดอยู่ในประเภท Secret Noforn หรือ Top Secret แต่โซเวียตสันนิษฐานว่า สหรัฐฯ สามารถกู้ตอร์ปิโดหัวรบนิวเคลียร์ คู่มือปฏิบัติการ สมุดรหัส และเครื่องเข้ารหัสได้

นอกจากนี้ แหล่งข่าว (ไม่เป็นทางการ) อีกราย ระบุว่า สหรัฐฯ สามารถกู้ส่วนหัวเรือได้ซึ่งบรรจุตอร์ปิโดนิวเคลียร์ 2 ลูก แต่ไม่มีอุปกรณ์เข้ารหัสหรือสมุดรหัส Seymour Hersh จาก The New York Times ได้เปิดเผยรายละเอียดบางส่วนของ Project Azorian ในปี 1974 แต่ไม่ได้รับการตีพิมพ์เพราะด้วยแรงกดดัน William Colby จากผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลาง (CIA) หลายเดือนหลังจากปฏิบัติการกอบกู้เสร็จสิ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 1975 LA Times ได้ออกข่าวสั้น ๆ เกี่ยวกับปฏิบัติการนี้ ทำให้ The New York Times ต้องเผยแพร่เรื่องนี้ที่เขียนโดย Seymour Hersh และ Jack Anderson เล่นเรื่องนี้ต่อในรายการโทรทัศน์เมื่อเดือนมีนาคม 1975 สื่อเรียกโครงการนี้ว่า Project Jennifer ซึ่งในปี 2010 ได้รับการเปิดเผยว่า ชื่อนี้ไม่ถูกต้องเนื่องจาก Project Jennifer เป็นชื่อเรียกระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล Project Azorian

รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศว่า ในส่วนที่กู้ขึ้นมาได้นั้นเป็นศพของลูกเรือหกคน แต่เนื่องจากมีการปนเปื้อนของกัมมันตภาพรังสี ศพจึงถูกฝังในทะเลในตู้เหล็กเมื่อกันยายน 1974 โดยจัดพิธีอย่างสมเกียรติยศทางทหารบริเวณประมาณ 90 ไมล์ทะเล (167 กิโลเมตร) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฮาวาย วิดีโอเทปของพิธีนั้นถูกมอบให้กับรัสเซียโดย Robert Gates ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ ขณะเยือนกรุงมอสโกในเดือนตุลาคม 1992 และที่สุดแล้วบรรดาญาติของลูกเรือก็ได้ชมวิดีโอนี้ในอีกไม่กี่ปีต่อมา การกู้ซากเรือดำน้ำ K-129 ถูกระบุว่า ประสบความล้มเหลวโดยสามารถกู้คืนชิ้นส่วนที่ไม่สำคัญของเรือดำน้ำได้เพียงเล็กน้อย แต่ CIA โต้แย้งในคดีเสรีภาพในการให้ข้อมูลข่าวสารว่า อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวต้องถูกเก็บเป็นความลับเนื่องจาก "การรับทราบอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ จะเป็นการเปิดเผยลักษณะและวัตถุประสงค์ของโครงการ" คำตอบนี้ได้เข้าสู่ศัพท์เฉพาะทางกฎหมายอันเป็นคำตอบในลักษณะ Glomar หรือ Glomarization คือ ‘ไม่ยืนยันหรือปฏิเสธ’

(การจัดพิธีศพลูกเรือประจำเรือดำน้ำ K-129 แบบทหารเรืออย่างเต็มรูปแบบและส่งร่างของพวกเขากลับคืนสู่ท้องทะเลอีกครั้ง)

ในปี 2018 ไฟล์ภาพถ่ายวิดีโอเทปและหลักฐานเอกสารอื่น ๆ ยังคงถูกปกปิดต่อสาธารณะ ภาพไม่กี่ภาพปรากฏในสารคดีปี 2010 แสดงให้เห็นซากเรือดำน้ำ K-129 ได้แก่ ส่วนหัวเรือโดยที่ช่องเก็บขีปนาวุธได้รับความเสียหายอย่างหนัก แสดงให้เห็นตัวท่อขีปนาวุธเพียงท่อเดียวที่ติดอยู่กับลำตัว สรุปแล้วเวลาและงบประมาณมหาศาลที่ถูกทุ่มเทเพื่อกู้ซากเรือดำน้ำลำนี้ให้ได้ทั้งลำ กลายเป็นได้มาเพียงส่วนหัวของเรือดำน้ำ ความยาว 11.5 เมตรเท่านั้น ที่สามารถดึงขึ้นไปจนถึงช่องเก็บภายในลำตัวเรือ Hughes Glomar Explorer สิ่งที่หวังว่าจะได้พบทั้ง ขีปนาวุธ เครื่องยนต์ของเรือ และสมุดรหัสของโซเวียต กลายเป็นการคว้าน้ำเหลว แต่ชิ้นส่วนของหัวเรือดำน้ำที่ถูกกู้ขึ้นมาได้ ทีมกู้ซากเรือทำการตรวจสอบภายในพบว่า มีศพของลูกเรืออยู่ภายในนั้นจำนวน 6 ศพที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี แม้ฝ่ายอเมริกันจะเป็นผู้ที่ตั้งใจที่ลักลอบกู้เรือลำนี้กลับไปเพื่อศึกษา แต่ก็ยังให้เกียรติผู้วายชนม์ทุกศพที่พบ ด้วยการจัดพิธีศพแบบทหารเรืออย่างเต็มรูปแบบ และส่งร่างของพวกเขากลับคืนสู่ท้องทะเลอีกครั้ง

อนึ่งสำหรับจุดที่เรือรบของกองทัพเรือสหรัฐฯ เองจม กองทัพเรือสหรัฐฯ จะประสานกองทัพเรือหรือรัฐบาลเจ้าของพื้นที่บริเวณนั้นให้กันเขตเป็นอนุสรณ์สถาน หรือ สุสานสงครามทางทะเล War Grave โดยห้ามไม่ให้ผู้ใดเข้าไปรวบกวนหรือเข้าใกล้บริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวา เรื่องของการประกาศพื้นที่เป็น อนุสรณ์สถาน หรือ สุสานสงครามทางทะเล War Grave และสามารถใช้ พ.ร.บ.ในการประกาศเป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุทางทะเล ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทั่วโลกรับรู้ โดยเฉพาะชาวเรือทุกประเทศจะรักษา จรรยาบรรณในเรื่องการประกาศเขตอนุสรณ์สถาน หรือ สุสานสงครามทางทะเล War Grave เป็นอย่างดี โดยจะไม่มีการเข้าไปรบกวนอย่างเด็ดขาด 

‘CIA’ ใช้!! ‘ยูเครน’ เป็นฐานข่าวกรอง เปลี่ยนเกมยุทธศาสตร์ NATO ในยุโรป

(19 ม.ค. 68) จากรายงานของ Sputnik International (18 ม.ค. 2025) ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เริ่มต้นจาก "ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร" เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2022 ได้เน้นถึงบทบาทสำคัญของ NATO และสหรัฐฯ ในการสร้างเครือข่ายข่าวกรองและขยายอำนาจทางทหารในยุโรป

การเริ่มต้นปฏิบัติการในยูเครน

รัสเซียอ้างว่าการปฏิบัติการในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อปลดปล่อยภูมิภาคดอนบาส หลังประชาชนในพื้นที่โดเนตสค์และลูกันสค์เผชิญการโจมตีจากกองกำลังของยูเครนอย่างต่อเนื่อง โดยความขัดแย้งนี้มีรากฐานมาจากเหตุการณ์รัฐประหาร Euromaidan ในปี 2014 ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลยูเครนมีแนวโน้มสนับสนุนตะวันตกอย่างชัดเจน

ความร่วมมือระหว่าง CIA และยูเครน

หลังรัฐประหารในปี 2014 หน่วยข่าวกรองของยูเครนกลายเป็นพันธมิตรสำคัญของ CIA รายงานเผยว่ามีการส่งมอบเอกสารลับของรัสเซียให้กับ CIA อย่างต่อเนื่อง รวมถึงข้อมูลอาวุธลับ เทคโนโลยีสงครามอิเล็กทรอนิกส์ และแผนการตัดสินใจทางการทหาร

CIA ได้สร้างฐานปฏิบัติการลับ 12 แห่งใกล้ชายแดนรัสเซีย และจัดตั้งโครงการฝึกอบรมหน่วยพิเศษยูเครนในชื่อ ‘Operation Goldfish’ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติการต่อต้านรัสเซีย

อดีตเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เปิดเผยว่าข้อมูลเหล่านี้มีมูลค่าสูงถึง "หลายร้อยล้านดอลลาร์" โดยมีความสำคัญต่อการพัฒนายุทธวิธีของ NATO

การติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ B61-12 ในยุโรป

สหรัฐฯ ได้เริ่มติดตั้งระเบิดนิวเคลียร์รุ่น B61-12 ซึ่งเป็นรุ่นปรับปรุงล่าสุดในฐานทัพยุโรป โดยได้รับการอนุมัติให้ใช้งานภายใต้โครงการ "การแบ่งปันนิวเคลียร์" ของ NATO ระเบิดรุ่นนี้สามารถปรับพิสัยการทำลายล้างได้ตั้งแต่ 0.3-50 กิโลตัน

Jill Hruby หัวหน้าหน่วยงานความมั่นคงนิวเคลียร์แห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวว่าการติดตั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณไปยังรัสเซียว่า NATO พร้อมรับมือทุกภัยคุกคาม

ความคิดเห็นนักวิเคราะห์

Michael Maloof อดีตนักวิเคราะห์กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ วิจารณ์ว่า NATO กำลังเปลี่ยนจากพันธมิตรป้องกันตัวเป็นองค์กรเชิงรุก และการติดตั้งอาวุธนี้ทำให้ยุโรปมีความเสี่ยงต่อความขัดแย้งทางนิวเคลียร์มากขึ้น

Maloof ระบุว่าการเคลื่อนไหวของ NATO อาจกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งที่ยากต่อการควบคุม โดยยุโรปอาจกลายเป็นเป้าหมายสำคัญหากความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและตะวันตกเพิ่มสูงขึ้น

บทสรุป

รายงานจาก Sputnik International ชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนเป็นมากกว่าการต่อสู้ในพื้นที่ แต่ยังเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ระดับโลกของ NATO และสหรัฐฯ ที่อาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงในระยะยาว

CIA มีแผนจ้างออกล็อตใหญ่ ลดพนักงานและค่าใช้จ่ายตามนโยบายทรัมป์

(6 ก.พ. 68)สำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (CIA) กำลังวางแผนปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ โดยมีแนวทางจ่ายเงินก้อนโตเพื่อจูงใจให้พนักงานลาออกโดยสมัครใจ แนวทางนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการปรับเปลี่ยนทิศทางการบริหารงานของ CIA ให้สอดคล้องกับนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะในประเด็นด้านความมั่นคงแห่งชาติ

แม้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนพนักงานที่อาจได้รับผลกระทบและงบประมาณที่เกี่ยวข้องยังคงเป็นความลับ แต่แหล่งข่าวระบุว่า การปรับโครงสร้างครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรให้ตอบสนองต่อนโยบายหลักของทรัมป์ได้อย่างเต็มที่ เช่น การต่อสู้กับกลุ่มค้ายาเสพติด การจัดการปัญหาการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย และการดำเนินยุทธศาสตร์ด้านสงครามการค้า

ปัจจุบัน CIA อยู่ภายใต้การนำของ จอห์น แรตคลิฟฟ์ ผู้อำนวยการคนใหม่ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากทรัมป์และรับรองโดยวุฒิสภาเมื่อปลายปีที่แล้ว คาดว่าแรตคลิฟฟ์จะเดินหน้าปรับโครงสร้างองค์กรตามนโยบายของทรัมป์ โดยมุ่งลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน

ทั้งนี้ แผนการจูงใจให้พนักงานลาออกของ CIA สอดคล้องกับแนวทางที่ทรัมป์เคยเสนอให้กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลกว่า 2 ล้านคน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเปิดโอกาสให้ลาออกโดยสมัครใจภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยยังคงได้รับค่าจ้างและสวัสดิการจนถึงวันที่ 30 กันยายนนี้ อย่างไรก็ตาม มีเพียง 20,000 คนเท่านั้นที่ตอบรับข้อเสนอดังกล่าว ขณะที่สหภาพแรงงานเจ้าหน้าที่รัฐได้ยื่นฟ้องคัดค้านแผนการนี้ โดยเห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อพนักงาน

การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของ CIA นับเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญภายใต้การบริหารของทรัมป์ ที่มุ่งเปลี่ยนแปลงระบบราชการและหน่วยงานความมั่นคงให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดี แม้จะยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียด แต่การเปลี่ยนแปลงนี้อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการทำงานของ CIA ในอนาคต

เปิดเบื้องหลังสายลับจอเงิน ฮีโร่จริง หรือแค่โฆษณาชวนเชื่อ

(7 ก.พ.68) นับตั้งแต่การเข้ามามีบทบาทอีลอน มัสก์ ในฐานะผู้นำหน่วยงาน DOGE ประสิทธิภาพของรัฐบาลภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มมีการออกมาพูดถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของหน่วยสืบราชการลับสหรัฐ (CIA) ในการเข้าไปมีบทบาทในหลายแวดวงการ ตั้งแต่การออกมาแฉเบื้องหลังของสำนักข่าว Politico จนถึง การออกมาพูดถึงประเด็นผู้อพยพ

ล่าสุดมีการพูดถึงวงการภาพยนตร์สหรัฐฯ และเหล่าดาราฮอลลีวูด ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ของหน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (CIA) ให้ดูเป็นฮีโร่ผู้เสียสละ ซึ่งบางครั้งต้องใช้มาตรการรุนแรงเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

สำนักข่าวสปุตนิกของรัสเซีย ตั้งข้อสังเกตว่า หนึ่งในดาราสาวชื่อดังอย่าง แองเจลินา โจลี นักแสดงชื่อดังเคยเดินทางไปยังสำนักงานใหญ่ของ CIA เพื่อรับคำปรึกษาสำหรับบทบาทของเธอในภาพยนตร์สายลับ Salt (2010) อย่างไรก็ตาม ด้วยบทบาทนักเคลื่อนไหวระดับโลกของเธอ ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเธอกับหน่วยงานดังกล่าว

ไม่เพียงแค่นั้น นักแสดงสาวอย่าง เจนนิเฟอร์ การ์เนอร์ จากซีรีส์ Alias ซึ่งรับบทเป็นสายลับ CIA เคยได้รับเชิญไปยังสำนักงานใหญ่ของ CIA ในเมืองแลงลีย์ และในปี 2004 เธอยังได้ร่วมแสดงในวิดีโอรับสมัครงานของหน่วยข่าวกรองนี้ด้วย

ขณะที่ ฌอน เพนน์ หลังจากที่เขาได้สัมภาษณ์เจ้าพ่อค้ายาเสพติดชาวเม็กซิกัน "เอล ชาโป" (วาคีน กุซมาน) ซึ่งไม่นานต่อมาถูกจับกุม ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเพนน์อาจเป็นหนึ่งในทรัพย์สินของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ

ส่วน เบน แอฟเฟล็ก นักแสดงและผู้กำกับชื่อดังเคยรับบทเป็นรองผู้อำนวยการ CIA แจ็ค ไรอัน ในภาพยนตร์ The Sum of All Fears (2002) นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้อำนวยการสร้างและนักแสดงนำใน Argo (2012) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ยกย่องภารกิจช่วยเหลือนักการทูตสหรัฐฯ ระหว่างวิกฤติการณ์ตัวประกันในอิหร่าน

สื่อรัสเซียยังระบุว่า มีข้อกล่าวอ้างว่าวอลต์ ดิสนีย์เคยร่วมมือกับ CIA ในการสนับสนุนแผนต่อต้านคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น นอกจากนี้ ในช่วงปี 1990 CIA ได้จัดตั้งสำนักงานประสานงานเพื่อสร้างความร่วมมือกับผู้สร้างภาพยนตร์และนักเขียนบทในฮอลลีวูด เพื่อมีอิทธิพลต่อการนำเสนอภาพลักษณ์ของหน่วยงานข่าวกรองในสื่อบันเทิง

โดยตัวอย่างภาพยนตร์และซีรีส์ที่ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ของ CIA อาทิ 

Zero Dark Thirty (2012) ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวการตามล่าตัวโอซามา บิน ลาเดน ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการทรมานผู้ต้องสงสัยของ CIA

ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากนิยายของทอม แคลนซี เช่น The Sum of All Fears และ Clear and Present Danger ซึ่ง The Atlantic เคยระบุว่าเป็น "หัวใจสำคัญของโฆษณาชวนเชื่อของ CIA ในช่วงทศวรรษ 1990"

Homeland ซีรีส์ที่เล่าเรื่องราวของ CIA ในการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมแต่ก็ถูกวิจารณ์ว่าช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้กับหน่วยข่าวกรองแห่งนี้

การมีส่วนร่วมของ CIA กับฮอลลีวูดยังคงเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถาม ว่าภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นบนจอเงินนั้นสะท้อนความเป็นจริง หรือเป็นเพียงเครื่องมือประชาสัมพันธ์ที่ช่วยขับเคลื่อนอิทธิพลของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ กันแน่

เปิดโปงความเชื่อมโยง!! ‘USAID – CIA - UNHCR’ ปฏิบัติการลับ!! แทรกแซงทางการเมือง ในต่างประเทศ

หนังสือพิมพ์ The Express Tribune ได้เผยแพร่บทความเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2025 ซึ่งเขียนโดย อิมเตียซ กุล หัวหน้าศูนย์วิจัยด้านความมั่นคงแห่งอิสลามาบัด โดยบทความดังกล่าวตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง USAID (องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ), CIA (หน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐฯ) และ UNHCR (สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ) โดยระบุว่าองค์กรเหล่านี้อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือแฝงสำหรับปฏิบัติการข่าวกรองและแทรกแซงทางการเมืองในต่างประเทศ

ข้อกล่าวหาต่อ USAID และ CIA

ตามรายงานของ The Express Tribune บทบาทของ USAID ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่ยังเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของ CIA ในการดำเนินปฏิบัติการลับ โดยอ้างถึง ไมค์ เบนซ์ อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่เปิดเผยว่า USAID ใช้งบประมาณกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี และบางส่วนถูกนำไปใช้ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับข่าวกรอง

บทความยังยกตัวอย่างกรณีของ โครงการ Population Profiling Vulnerability and Response (PPVR) ที่ได้รับเงินทุนจาก USAID ผ่านองค์กร BEFARe ในปากีสถาน ซึ่งเริ่มต้นในปี 2009 เพื่อสำรวจประชากรอัฟกันในพื้นที่ชายแดน แต่ภายหลังถูกปรับเปลี่ยนเป็น โครงการ PPV ในปี 2011 โดยขยายขอบเขตการเก็บข้อมูลไปยังพื้นที่สำคัญ เช่น อับบอตตาบัด ชิตรัล และสวัต ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ โอซามา บิน ลาเดน ถูกลอบสังหารในปีเดียวกัน

มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่สำรวจได้ เก็บพิกัด GPS ของประชากรในพื้นที่ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และทำให้เกิดข้อสงสัยว่าโครงการนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการข่าวกรองของ CIA โดยบทความตั้งข้อสังเกตว่า ข้อมูลที่ถูกเก็บรวบรวมโดย UNHCR ในโครงการนี้ ไม่ได้ถูกแบ่งปันให้กับรัฐบาลปากีสถานอย่างโปร่งใส

UNHCR กับบทบาทที่ถูกตั้งคำถาม

The Express Tribune ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับบทบาทของ UNHCR โดยระบุว่าองค์กรนี้ได้รับงบประมาณจำนวนมากจาก USAID และอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับ การเก็บรวบรวมข้อมูลประชากรในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยข่าวกรอง ตัวอย่างเช่น ในกรณีของปากีสถาน UNHCR ได้ดำเนินโครงการร่วมกับ BEFARe เพื่อสำรวจประชากร แต่ข้อมูลบางส่วนกลับ ถูกปิดกั้นจากรัฐบาลปากีสถาน ขณะที่ CIA อาจเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ บทความยังยกตัวอย่างกรณีของ โครงการฉีดวัคซีนปลอมของ Dr. Shakeel Afridi ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นปฏิบัติการของ CIA ซึ่งใช้เครือข่ายด้านสาธารณสุขในการ รวบรวมข้อมูล DNA ของประชากรในพื้นที่ชนเผ่า (FATA) เพื่อติดตามเครือข่ายของโอซามา บิน ลาเดน โดยกรณีนี้สร้างความไม่ไว้วางใจต่อองค์กรช่วยเหลือต่างชาติในปากีสถาน

บทบาทของทรัมป์และอีลอน มัสก์ในการเปิดโปงเครือข่ายนี้

The Express Tribune รายงานว่า โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ อีลอน มัสก์ ซีอีโอของ SpaceX และ X (Twitter) ได้มีบทบาทสำคัญในการเปิดโปงความสัมพันธ์ระหว่าง USAID และ CIA โดยเฉพาะการแฉว่า USAID ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนปฏิบัติการข่าวกรองและการแทรกแซงการเมือง

ล่าสุด มีรายงานว่า โครงการของ USAID หลายโครงการถูกยุติ หรือถูกลดงบประมาณอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงการระงับเงินทุนของสื่อบางสำนัก เช่น BBC, Reuters และ Politico ที่เคยได้รับเงินสนับสนุนจาก USAID

บทสรุปของรายงาน 

บทความของ The Express Tribune ชี้ให้เห็นว่า

1. USAID อาจมีบทบาทมากกว่าการเป็นองค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของ CIA

2. UNHCR อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยข่าวกรอง โดยเฉพาะในประเทศเป้าหมายที่สหรัฐฯ มีผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์

3. CIA ใช้โครงการช่วยเหลือเป็นฉากบังหน้าในการดำเนินปฏิบัติการลับ ซึ่งรวมถึงการเก็บข้อมูลประชากร การแทรกแซงทางการเมือง และการติดตามบุคคลเป้าหมาย

4. โดนัลด์ ทรัมป์ และอีลอน มัสก์ เป็นบุคคลสำคัญที่เปิดโปงความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรเหล่านี้ นำไปสู่การลดบทบาทของ USAID ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ

ข้อกล่าวหาเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า องค์กรที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลอย่าง USAID และ UNHCR เป็นเพียงองค์กรด้านมนุษยธรรมหรือเป็นเครื่องมือทางการเมืองของสหรัฐฯ กันแน่?

อดีตเสนาธิการทหารสมัย ปธน.จอร์จ ดับเบิลยู บุช ออกมาแฉ CIA เคยยุยงชาวอุยกูร์ในซินเจียง เพื่อสั่นคลอนเสถียรภาพจีน

(12 มี.ค. 68) พ.อ.ลอว์เรนซ์ วิลเกอร์สัน (Lawrence Wilkerson) อดีตหัวหน้าเสนาธิการทหารของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในยุคอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เปิดเผยว่า CIA เคยได้รับคำสั่งให้เข้าไปปลุกปั่นชาว อุยกูร์ ที่ไม่พอใจรัฐบาลจีนในมณฑล ซินเจียง เพื่อทำให้เกิดความไม่สงบและสั่นคลอนเสถียรภาพของจีน

คำกล่าวของวิลเกอร์สันเกิดขึ้นเมื่อ 7 ปีก่อน ในงานสัมมนาเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ โดยเขาระบุว่า เป้าหมายของปฏิบัติการดังกล่าวคือการกดดันจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งด้านเชื้อชาติ เช่น มณฑลซินเจียง ซึ่งเป็นบ้านของชาวอุยกูร์ที่มีวัฒนธรรม ศาสนา และภาษาแตกต่างจากชาวฮั่นที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของจีน

“หากเราต้องการทำให้จีนหวั่นไหว เราควรใช้ CIA เข้าไปกระตุ้นให้ชาวอุยกูร์ที่ไม่พอใจลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลปักกิ่ง” วิลเกอร์สัน กล่าวในเวลานั้นพร้อมเสริมว่า “การสร้างความไม่สงบในซินเจียงจะช่วยกดดันจีนในเวทีระหว่างประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯ ใช้ในการรับมือกับอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวถูกนำกลับมาจนกลายเป็นที่สนใจอีกครั้งในปัจจุบัน ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยเฉพาะประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในซินเจียง ซึ่งจีนกล่าวหาสหรัฐฯ มาตลอดว่าพยายามใช้ประเด็นอุยกูร์เพื่อแทรกแซงกิจการภายในของตน

นักวิเคราะห์บางรายมองว่า การเปิดเผยของวิลเกอร์สันสะท้อนให้เห็นถึงแนวทางของสหรัฐฯ ในการใช้ปฏิบัติการลับเพื่อบ่อนทำลายเสถียรภาพของประเทศคู่แข่ง ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนมองว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพทางศาสนาในจีน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนยังไม่ได้ออกมาแสดงท่าทีต่อคำกล่าวนี้อย่างเป็นทางการ แต่ก่อนหน้านี้ ปักกิ่งเคยกล่าวหาสหรัฐฯ ว่า ให้การสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในซินเจียง และใช้ประเด็นอุยกูร์เป็นเครื่องมือทางการเมืองมาโดยตลอด

ส่วนเรื่องการเปิดเผยดังกล่าวจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนอย่างไร ยังต้องจับตาดูกันต่อไป โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ทั้งสองประเทศมีความขัดแย้งในหลายประเด็น ตั้งแต่เศรษฐกิจ เทคโนโลยี ไปจนถึงภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ทั้งนี้ ยังไม่พบแหล่งข้อมูลจากสำนักข่าวต่างประเทศที่ยืนยันข้อมูลดังกล่าว ดังนั้นควรใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลและตรวจสอบจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้เพิ่มเติม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top