Sunday, 20 April 2025
Chevron

'สหรัฐฯ' เตรียมยื่นข้อเสนอให้ 'เวเนซูเอลา' หลุดพ้นมาตรการคว่ำบาตร แลกบ่อน้ำมันให้ Chevron

สำนักข่าว Wall Street Journal รายงานว่า รัฐบาลของโจ ไบเดน ประกาศพร้อมที่จะผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่อเวเนซูเอลา หากรัฐบาลเวเนซูเอลาเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศ โดยที่ประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร ต้องเจรจาสมานฉันท์กับฝ่ายค้าน และจัดการเลือกตั้งใหม่ภายในปี 2024 

แต่ทั้งนี้ สื่อต่างชาติมองว่า การที่รัฐบาลไบเดน ยื่นข้อเสนอในการปลดล็อกมาตรการคว่ำบาตรต่อเวเนซูเอลา เพราะต้องการเปิดทางให้ Chevron บริษัทน้ำมันของสหรัฐฯ ที่มีสัมปทานบ่อน้ำในเวเนซูเอลา สามารถส่งออกน้ำมันสู่ตลาดโลกได้อีกครั้ง ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรธุรกิจน้ำมันของรัสเซีย

สำหรับต้นเหตุของมาตรการคว่ำบาตรรอบล่าสุดต่อเวเนซูเอลาของสหรัฐฯ เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งใหญ่ของเวเนซูเอลาในปี 2018 ซึ่ง ประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร สามารถคว้าชัยชนะได้เป็นสมัยที่ 2 แต่กลับถูกสภานิติบัญญัติกล่าวหาว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรม มีการโกงการเลือกตั้ง และซื้อสิทธิ์ขายเสียง จนนำไปสู่การประท้วงให้ นิโคลัส มาดูโร ลาออก 

ต่อมา ฮวน กุยโด ประธานสภา และผู้นำฝ่ายค้านได้ออกมาประกาศตัวเป็นผู้นำเวเนซูเอลาแทน นิโคลัส มาดูโร ซึ่งได้รับการรับรองโดย โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตผู้นำสหรัฐฯ ในปี 2019 

แต่ทว่า ด้าน ประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร ยังคงได้รับการสนับสนุนจากอีกหลายชาติ ทั้งจีน, เม็กซิโก, คิวบา, ตุรเคีย ด้วยเหตุผลว่า นิโคลัส มาดูโร เป็นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง จึงทำให้มาดูโร ยังคงรักษาฐานอำนาจในเวเนซูเอลาได้ และนั่นจึงเป็นที่มาของการคว่ำบาตรเวเนซูเอลาอีกครั้งในสมัยของประธานาธิบดีทรัมป์ ส่งผลให้ Chevron ที่ทำสัมปทานขุดเจาะน้ำมันอยู่ในเวเนซูเอลาไม่สามารถส่งออกน้ำมันได้จนถึงตอนนี้ 

แต่ในวันนี้ รัฐบาลไบเดนเล็งเห็นว่า สมควรแก่เวลาที่จะเริ่มปลดล็อกมาตรการคว่ำบาตรเวเนซูเอลาได้แล้ว ท่ามกลางวิกฤติพลังงานโลกที่เป็นผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งคาดว่า ในช่วงฤดูหนาวปีนี้ ประเทศในแถบซีกโลกเหนืออาจต้องเผชิญปัญหาการขาดแคลนพลังงานอย่างหนัก 

อีกทั้งกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันอย่าง OPEC+ เพิ่งประกาศลดปริมาณการผลิตน้ำมันอีก 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้ว่าทางสหรัฐฯ จะพยายามกดดันให้มีการเพิ่มการผลิตน้ำมันก็ตาม

เวเนซูเอลา มีแหล่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดอีกแห่งของโลก และมีศักยภาพการผลิตได้สูงสุดถึง 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่เจอการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ทำให้ทุกวันนี้เวเนซูเอลาจำกัดการผลิตน้ำมันอยู่ที่ 5 แสนบาร์เรลต่อวันเท่านั้น 

Chevron โอนหุ้นโครงการท่อก๊าซยาดานาให้ ปตท.ก่อนถอนตัวออกจากพม่า ส่ง ปตท.ผู้ถือหุ้นใหญ่ ด้วยสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 62.96%

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (8 เม.ย.67) Chevron บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศถอนตัวออกจากโครงการสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานาในประเทศพม่าแล้ว หลังจากที่บริษัทแสดงจุดยืนประณามความรุนแรง และ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่ามานานกว่า 2 ปี

โดยสัดส่วนหุ้นของ Chevron จำนวน 41.1% จะถูกโอนไปให้กับผู้ถือหุ้นที่เหลืออยู่ในโครงการนี้ ได้แก่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. และ และวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซเมียนมา หรือ MOGE ที่ตอนนี้อยู่ภายในการดูแลของรัฐบาลทหารพม่า 

และจากการจัดสรรหุ้นใหม่หลังจากที่ Chevron ถอนตัวไป จะทำให้ ปตท. กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของโครงการยาดานาไปในทันที ด้วยสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 62.96% 

โฆษกของ Chevron กล่าวว่า การถอนธุรกิจออกจากพม่าเป็นความตั้งใจของบริษัทอยู่แล้ว หลังจากเหตุการณ์รัฐประหารในพม่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ที่ก่อให้เกิดจลาจล การลุกฮือของประชาชนและชนกลุ่มน้อย และการปราบปรามอย่างรุนแรง ทำให้พม่าต้องเผชิญกับวิกฤติด้านมนุษยธรรมอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ทางบริษัทจึงขอถอนธุรกิจออกจากพม่าอย่างเป็นระเบียบตามขั้นตอนที่ควบคุมได้

โครงการสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานา แต่เริ่มเดิมทีเป็นการร่วมทุนของบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ 2 บริษัท ได้แก่ Total Energies ของฝรั่งเศส และ Chevron ของสหรัฐอเมริกา ร่วมกับ ปตท. สผ. ของไทย และ MOGE ของรัฐบาลพม่า ในสัดส่วนผู้ถือหุ้น Total Energies (31.2%), Chevron (28.3%), ปตท (25.5%) และ MOGE (15%) ตามลำดับ 

แหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานา สามารถผลิตก๊าซได้ราว 6 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และในปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ 70% ส่งขายในประเทศไทย ส่วนอีก 30% เป็นของ MOGE ในการจัดจำหน่ายพลังงานในประเทศ 

แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในพม่าเมื่อปีพ.ศ. 2564 คณะรัฐประหารที่นำโดย ผู้นำทหารสูงสุด มิน อ่อง หล่าย ได้เข้าควบคุมกิจการ MOGE อันเป็นสาเหตุให้บริษัทพลังงานจากชาติตะวันตกถูกกดดันให้ถอนทุนออกจากธุรกิจพลังงานในพม่า เนื่องจาก MOGE กลายเป็นแหล่งรายได้หลักที่หล่อเลี้ยงรัฐบาลทหารพม่า และต่อมา โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ได้ออกคำสั่งห้ามบริษัทเอกชนของอเมริกันทำธุรกรรมทางการเงินใด ๆ กับ MOGE เพื่อตัดวงจรท่อน้ำเลี้ยงของกองทัพพม่า

ด้วยเหตุนี้ Total Energies จึงตัดสินใจถอนทุนออกจากโครงการยาดานา ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 โดย ปตท.สผ. ก็เป็นผู้รับช่วงถือครองหุ้น ของ Total Energies ในเวลาต่อมา 

ด้าน Chevron ก็ได้ประกาศแผนถอนทุนออกจากกิจการพลังงานในพม่าเช่นเดียวกัน และตัดสินใจที่จะโอนหุ้นให้กับผู้ร่วมทุนที่ยังเหลืออยู่ คือ ปตท.สผ. และ MOGE

ล่าสุด มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สํารวจและผลิตปิโตรเลียม จํากัด (มหาชน) ได้ส่งจดหมายถึงประธานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แจ้งเรื่องการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการยานาดา ที่เป็นผลจากบริษัทในเครือ Chevron ตัดสินใจถอนการลงทุน และประสงค์ที่จะโอนหุ้นให้กับผู้ร่วมทุนที่เหลืออยู่ ทำให้ ปตท.สผ. จะมีสัดส่วนการลงทุนที่ร้อยละ 62.9630 ในโครงการยาดานา มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป

ด้านกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ไม่ขอออกความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับการตัดสินใจถอนทุนของบริษัท Chevron พม่า และสถานการณ์ของบริษัทเอกชนแต่ละแห่งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในพม่า แต่ยังคงจุดยืนแน่วแน่ในการกดดันรัฐบาลพม่า รวมถึงกิจการภายใต้การควบคุมของรัฐให้อ่อนแอลง และสนับสนุนการต่อสู้ของรัฐบาลพลเรือนในพม่า 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top