Chechen VS Chechen เปิดสมรภูมิรบ Ukraine แต่นักรบ Chechen ต้องมารบราฆ่าฟันกันเอง
สำหรับวันนี้อยากชวนทุกท่านไปรู้จักเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับกระแสโลกอย่างสงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ กัน
ธงของสาธารณรัฐเชเชนในปัจจุบัน
เรื่องของชาว Chechen ซึ่งเป็นประชากรของสาธารณรัฐเชเชน (Chechen Republic) หรือ เชชเนีย (Chechnya) ซึ่งเป็นสาธารณรัฐหนึ่งของประเทศรัสเซีย
เชชเนีย ตั้งอยู่ในเขตคอเคซัสเหนือ อันเป็นส่วนใต้สุดของยุโรปตะวันออก และอยู่ในรัศมี 100 กิโลเมตรจากทะเลแคสเปียน มีเมืองหลวงคือ กรุงกรอซนีย์ ซึ่งในปี พ.ศ. 2553 ระบุว่า มีประชากรชาวเชชเนียราว 1,268,989 คน โดยส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ โดยตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของรัสเซีย บริเวณเทือกเขาคอเคซัส มีอาณาเขตติดต่อกับจอร์เจีย
ธงของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตปกครองตัวเองเชเชน-อินกุช (Chechen-Ingush ASSR)
ภายหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายใน พ.ศ. 2534 ขบวนการชาตินิยมกลุ่มมุสลิมหัวใหม่ในรัสเซียต้องการที่จะผนวกดินแดน 4 สาธารณรัฐคือ สาธารณรัฐอิงกูเชเตีย, คาร์บาดีโน-บัลคาเรีย, ดาเกสถาน และนอร์ทออสซีเชีย เข้าด้วยกัน เรียกว่า "สหพันธรัฐอิสลามคาลีฟัด (Islamic Caliphate)" ภายใต้การสนับสนุนจากประเทศในตะวันออกกลาง และสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตปกครองตัวเองเชเชน-อินกุช (Chechen-Ingush ASSR) แบ่งออกเป็นสองสาธารณรัฐ คือ สาธารณรัฐอินกูเชเตียและสาธารณรัฐเชเชน
ธงของสาธารณรัฐอินกูเชเตียเชเชน
สาธารณรัฐเชเชนได้รับการประกาศเป็นสาธารณรัฐอินกูเชเตียเชเชน ซึ่งต้องการเป็นเอกราช หลังสงครามเชเชนครั้งที่หนึ่งกับรัสเซีย เชชเนียได้รับเอกราชโดยพฤตินัยเป็นสาธารณรัฐอินกูเชเตียเชเชน ระบอบการควบคุมจากส่วนกลางของรัสเซียได้รับการฟื้นฟูระหว่างสงครามเชเชนครั้งที่สอง ปัจจุบันยังมีการสู้รบประปรายไปในเขตภูเขาและทางใต้ของเชชเนีย
นายพลโซคคาร์ ดูดาเยฟ (ประธานาธิบดีเชชเนียคนแรก ผู้ซึ่งประกาศให้สาธารณรัฐเชชเนียเป็นเอกราช)
ปัญหาของเชชเนียเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2535 เมื่อนายพลโซคคาร์ ดูดาเยฟ ประธานาธิบดีเชชเนีย ประกาศให้สาธารณรัฐเป็นเอกราช แต่รัสเซียยอมไม่ได้ที่จะปล่อยให้ดินแดนในปกครองเป็นอิสระ ด้วยเป็นแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของรัสเซียอีกด้วย จึงได้มีการส่งทหารจำนวน 40,000 นาย เข้าไปยังเชชเนีย เพื่อปราบปรามการแบ่งแยกดินแดน ทำให้เกิดการสู้รบยืดเยื้อเป็นเวลาเกือบ 2 ปี (พ.ศ. 2537-2539) แต่ได้สิ้นสุดลง เมื่อรัสเซียตกลงให้สิทธิปกครองตนเองชั่วคราวแก่กลุ่มกบฏ และยอมถอนทหารออกจากเชชเนียทั้งหมด และสนับสนุนให้ อัสลาน มาสคาดอฟ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเชชเนียในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2540 สืบแทนประธานาธิบดีดูคาเยฟที่เสียชีวิตไปในช่วงสงคราม
อัสลาน มาสคาดอฟ อดีตประธานาธิบดีเชชเนีย ผู้ซึ่งถูกหน่วย FSB สังหาร
ต่อมาอำนาจของประธานาธิบดีมาสคาดอฟได้ลดลงเป็นลำดับ เนื่องจากอดีตหัวหน้ากลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดน ซึ่งกระจายอยู่ตามดินแดนส่วนต่างๆ ของเชชเนีย เริ่มตั้งตนขึ้นมามีอำนาจอย่างเป็นเอกเทศ และจากการที่ประธานาธิบดีมาสคาดอฟ ได้ดำเนินนโยบายแยกตัวเป็นเอกราชจากรัสเซียในภายหลัง ทำให้รัฐบาลรัสเซียต้องการจับกุมตัวประธานาธิบดีมาสคาดอฟ ในฐานะหัวหน้ากลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดน ขณะที่สุดท้ายประธานาธิบดีมาสคาดอฟ เสียชีวิตด้วยฝีมือของหน่วย FSB ขณะเข้าทำการจับกุมเมื่อ 8 มีนาคม พ.ศ. 2548
นายพลชามิล บาซาเยฟ (อดีตหัวหน้ากลุ่มกบฏเชชเนีย)
อย่างไรก็ตาม สงครามเชชเนียครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2542) ก็ได้เริ่มขึ้น เมื่อนายพลชามิล บาซาเยฟ หัวหน้ากลุ่มกบฏเชชเนีย ซึ่งมีอำนาจมากที่สุด นำกำลังเข้ายึดสาธารณรัฐดาเกสถานทางตะวันออกของเชชเนีย พร้อมประกาศจะปลดปล่อยดินแดนทางตอนเหนือของเทือกเขาคอเคซัสออกจากรัสเซีย และเปลี่ยนให้เป็นรัฐอิสลามทั้งหมด ทำให้รัสเซียต้องส่งทหารเข้าโจมตีที่ตั้งของนายพลบาซาเยฟในเชชเนียตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2542 โดยสามารถยึดพื้นที่ไว้ได้ทั้งหมด รวมทั้งกรุงกรอซนีย์เมืองหลวงของเชชเนีย เหลือแต่เพียงบริเวณเทือกเขาตามแนวชายแดนเท่านั้น ที่มักเกิดการสู้รบกับกลุ่มกบฏในลักษณะการซุ่มโจมตี และต่อมา อัคมัด คาดีรอฟ ซึ่งย้ายข้างมาสนับสนุนรัสเซียได้ขึ้นเป็นผู้นำเชชเนีย และถูกลอบสังหารเมื่อ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 และปัจจุบัน รัมซาม คาดีรอฟ บุตรชายของ อัคมัด คาดีรอฟ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐเชเชน ภายใต้สหพันธรัฐรัสเซียซึ่งมี ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เป็นผู้นำ
