Friday, 5 July 2024
BCGModel

‘อลงกรณ์’ ไอเดียกระฉูด!! มุ่งพัฒนาเกษตรวิถีเมือง สอดรับ BCG Model ช่วยยกระดับเศรษฐกิจสีเขียว

วันนี้ (7 ธันวาคม 2565) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้เกียรติบรรยาย ในหัวข้อเรื่อง ‘เกษตรอินทรีย์วิถีในเมือง สู่ BCG Model’ ในงานสัมมนาออนไลน์ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนวิถีในเมือง ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting ซึ่งจัดขึ้นโดย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาตระหนักถึงนโยบายและความสำคัญของเกษตรกรรมยั่งยืนโดยเฉพาะพื้นที่ในเมืองที่สร้างความมั่นคงทางอาหารของคนเมือง รวมถึงสนับสนุนการสร้างพื้นที่เกษตรกรรมในเมืองให้เป็นแหล่งผลิตอาหาร ส่งเสริมคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจชุมชนมีรายได้ด้วยเศรษฐกิจสีเขียว

นายอลงกรณ์ ได้กล่าวถึง 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางในการกำหนดแผนแม่บทเพื่อการพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมสู่ความยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยเป็นครัวของโลกมีศักยภาพและเป้าหมายในการเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกเกษตรปลอดภัย และอาหารปลอดภัยท็อปเทนของโลก โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ ยุทธศาสตร์ 3 s (Safety-Security-Sustainability )เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง และเกษตรยั่งยืน 

โดยยกตัวอย่างการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการทำเกษตรกรรมยั่งยืนในประเทศ ๆ เช่น จีน สวีเดน สิงคโปร์ อัลบาเนีย เกาหลี ญี่ปุ่นที่สามารถนำมาเป็นแนวทางในการปรับพื้นที่สีเขียวในเมืองให้เข้ากับพื้นที่ในประเทศไทย

ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้วางหมุดหมายการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนทั้ง 5 สาขา คือ เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร เกษตรธรรมชาติ เกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรผสมผสานครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและทำการเกษตร เป็นการพัฒนาแบบคู่ขนานทั้งในเมืองและชนบท

‘รัดเกล้า’ เผย!! ‘ก.อุตสาหกรรม’ มุ่งแก้ปัญหา PM2.5 ยั่งยืน ผุดมาตรการ ‘คุม รับ รุก’ สร้าง ‘อุตฯ สีเขียว’ สอดรับ BCG Model

(9 ต.ค. 66) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รับทราบและไม่ได้นิ่งนอนใจในความกังวลใจของชาวภูเก็ตเรื่องมลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรม จึงได้เดินหน้าสั่งการอุตสาหกรรมจังหวัด ทำการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด และกำกับติดตามดูแลตามมาตรการระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทันที

นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังย้ำอีกว่ารัฐบาลให้ความสำคัญ และเดินหน้าแก้ไขปัญหา PM2.5 ด้วยมาตรการ ‘คุม รับ รุก’ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้วางวาระ PM2.5 เป็น 1 ใน 5 วาระเร่งด่วน ยกระดับสู่อุตสาหกรรมยั่งยืน รองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่ม อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และสอดคล้องกับนโยบาย BCG Model

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า มาตรการ ‘คุม รับ รุก’ ได้แก่ 

1.คุม ควบคุมการระบายอากาศเสียจากโรงงาน โดยใช้อำนาจตาม พรบ. โรงงาน แก้กฎหมาย 
2.รับ การรับและรวบรวมข้อมูลด้านมลพิษอากาศจากโรงงานอย่าง Real-time 
3.รุก การตรวจโรงงานเชิงรุก กทม. ปริมณฑล เหนือ

โดย กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ดำเนินมาตรการควบคุมและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองการเชิงรุกกับโรงงานทั่วประเทศที่จำนวนกว่า 7 หมื่นโรงงาน ทั้งการตรวจโรงงานเชิงรุกในพื้นที่ กทม. และ ปริมณฑล ของโรงงานในกลุ่มเสี่ยงแล้วกว่า 896 โรงงาน (กทม. 260 โรงงาน ปริมณฑล 636 โรงงาน) ดำเนินการตรวจโรงงานเชิงรุกในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือจำนวน 668 โรงงาน

รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ควบคุมการผลิต และตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ ออกกฎหมายควบคุมด้านมลพิษอากาศ ออกกฎหมายกำหนดให้โรงงานบางประเภทที่อาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ให้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง (CEMS) ตลอดจนการจัดระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษระยะไกล (Pollution Online Monitoring System) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาติดตามและตรวจสอบ

“รัฐบาลเร่งยกระดับอุตสาหกรรมไทยสอดรับ BCG Model มุ่งสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มและอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) พัฒนาพาอุตสาหกรรมไทยให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มุ่งไปสู่ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงต้องร่วมกับผู้ประกอบการและฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ปรับตัวตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ” นางรัดเกล้าฯ กล่าว

‘Eco-Friendly Event’ เทรนด์อีเวนต์ยุคใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมทุกมิติ ด้วยแนวคิด ‘BCG’ ใช้พลังงานหมุนเวียน-ลดมลพิษ-ลดขยะอย่างยั่งยืน

(18 ต.ค. 66) รู้จัก ‘ธุรกิจไมซ์’ (MICE) เป็นหนึ่งในสาขาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากธุรกิจไมซ์ (MICE) เป็นธุรกิจการเดินทางท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพ และมีค่าใช้จ่ายตอบแทนหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลแต่ละทริป ในอัตราที่ค่อนข้างสูงกว่าการท่องเที่ยวประเภทอื่น ด้วยเหตุนี้ ในแต่ละประเทศ จึงค่อนข้างให้ความสำคัญกับธุรกิจนี้เป็นอย่างมาก เพื่อที่จะยกระดับประเทศตนเองให้เป็นมาตรฐาน ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในการเป็นเจ้าภาพจัดงานกิจกรรมที่สำคัญ ๆ ของภูมิภาค และเพื่อเป็นจุดหมายปลายทางของการจัดประชุมนานาทวีป เช่น ยุโรป อเมริกา เป็นต้น

‘ธุรกิจไมซ์’ (MICE) คือ ธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดประชุม การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล และการจัดแสดงสินค้าเข้าด้วยกัน โดยมีการจัดการอย่างมืออาชีพ ประกอบด้วยธุรกิจต่าง ๆ คือ Meetings, Incentives, Conventions (หรือ Conferencing), และ Exhibitions ซึ่งแต่ละธุรกิจมีความหมาย ดังนี้

M : Meeting คือ ‘การประชุมของกลุ่มบุคคล’ ผู้แทนจากบริษัทเดียวกัน หรือบริษัทในเครือเดียวกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งอันจะนำไปสู่ผลประโยชน์ทางสังคมและธุรกิจร่วมกัน

I : Incentive Travel คือ ‘การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล’ เป็นการจัดนำเที่ยวเป็นหมู่คณะให้กับพนักงาน เพื่อตอบแทนที่ทำงานได้ตามเป้าหมายของบริษัท โดยบริษัทผู้ให้รางวัลจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว

C : Convention หรือ ‘Conferencing’ คือ การประชุมที่มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การมุ่งให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมงาน มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าร่วมงานที่มีการอภิปราย การเข้าสังคม ส่วนใหญ่เป็นการจัดโดยสมาคมระดับนานาชาติ ซึ่งอาจจัดแบบหมุนเวียนตามประเทศสมาชิก หรือประมูล เพื่อเป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดงาน

E : Exhibition คือ ‘การจัดงานแสดงสินค้า’ หรือนิทรรศการนานาชาติ การแสดงผลงาน สินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือกิจกรรมให้กลุ่มเป้าหมายชม โดยการจัดแสดงงานสินค้า มีวัตถุประสงค์หลักเชิงพาณิชย์ในการก่อให้เกิดการติดต่อซื้อขายระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ

‘ธุรกิจไมซ์’ มีความสำคัญอย่างไร?
ประเทศไทย นอกจากจะมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายแห่งที่น่าสนใจแล้ว ยังมีจุดเด่นที่สร้างความประทับใจให้กับชาวต่างชาติ เช่น ประเพณีและวัฒนธรรม อาหารไทย สถานที่จัดประชุม สถานที่รับรองที่ได้มาตรฐาน ที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ทำให้ประเทศไทยเป็นที่ต้องการของตลาดธุรกิจไมซ์จากหลายประเทศ และในอนาคต คาดว่าจะมีการผลักดันให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

นอกจากธุรกิจไมซ์ จะส่งผลโดยตรงกับธุรกิจท่องเที่ยวแล้ว ยังช่วยกระจายรายได้ไปยังธุรกิจอื่น เช่น หน่วยงานการเที่ยว องค์กรรับจัดงานอิเวนต์ ศูนย์จัดการประชุม โรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งความน่าสนใจ คือ เมื่อธุรกิจไมซ์ มีการขยายตัวและเติบโตมากขึ้น ความต้องการของตลาดแรงงานจะสูงขึ้น เนื่องจากงานที่เกี่ยวข้องกับองค์กรธุรกิจไมซ์มีความหลากหลาย

อุตสาหกรรม MICE ลดโลกร้อนได้อย่างไร?
อุตสาหกรรมไมซ์ ได้ตั้งเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization Pathways) โดยครอบคลุมการลดและเลี่ยงการปล่อยคาร์บอนที่เกิดจากการจัดงาน (Carbon Reduction and Avoidance) อันจะนำไปสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission)

‘การประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน’ (Circular Economy) หนึ่งในกลไกของโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) มาผสานเข้ากับแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และปรับรูปแบบกิจกรรมในการจัดงานไมซ์ ให้เกิดการลดการใช้ (Reduce) ชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) ด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization)

ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการจัดงานไมซ์อย่างใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าของงานอีเวนต์ (Value Added Event) อีกด้วยขณะเดียวกัน ผู้จัดงานไมซ์ทั่วโลก เริ่มนำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนและคอนเซ็ปต์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้ในการจัดงาน โดยแนวคิดนี้ ไม่เพียงแต่จะสามารถสร้างภาพลักษณ์ในเชิงบวก แต่ยังช่วยลดต้นทุนการจัดงานได้อีกทางหนึ่ง

ตัวอย่างการจัดงานที่ลดคาร์บอน และนำหลักการ ‘BCG Model’ มาใช้
เมื่อธุรกิจไมซ์ นำแนวคิดรักษ์โลกมาใช้ยกระดับสถานที่จัดงานให้เป็น Green Venue ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการประหยัดพลังงานภายในงาน และใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำเรื่อง ‘Eco-Friendly’ มาเป็นคอนเซ็ปต์หลักของงาน รวมถึงการจัดการและลดปริมาณขยะ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ช่วยสร้างรากฐานความยั่งยืน (Sustainability) ให้แก่โลก อีกทั้งเพิ่มภาพลักษณ์ให้กับองค์กร ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังตัวอย่างต่อไปนี้

‘โอลิมปิกเกมส์ 2020 กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น’ อีเวนต์ระดับโลก ที่เชื่อมโยง BCG Model ครบทุกมิติ แบบ ‘Eco-Friendly Event’ อย่าง มหกรรมโอลิมปิกเกมส์ 2020 กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นงานที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก มีการวางแผนที่ดีในหลากหลายมิติ ตั้งแต่ กระแสไฟฟ้าที่ใช้ในสถานที่แข่งขัน มาจากแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียน โดยไฟฟ้ามาจากพลังงานชีวมวลจากไม้ที่เหลือจากการก่อสร้าง หรือการตัดไม้ และจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยบางส่วนมาจากการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ และสึนามิ เมื่อปี 2011 ระบบการขนส่งใช้รถยนต์ไฟฟ้า ไฟที่ถูกจุดในกระถางคบเพลิงและตลอดการวิ่งคบเพลิงทั่วญี่ปุ่น ก็ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน รวมถึงแหล่งพลังงานบางส่วนในหมู่บ้านนักกีฬา มาจากพลังงานไฮโดรเจนเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่เหรียญรางวัลและโพเดียมที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล ไปจนถึงการสร้างหมู่บ้านนักกีฬาที่เมื่อรื้อถอนแล้ว วัสดุก่อสร้างจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่

ซึ่งหากการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกใช้วิธีการจัดงานแบบเดิม จะสร้างคาร์บอนฟุตพรินต์มากถึง 3,010,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (t-CO2) แต่ด้วยความพยายามลด และหลีกเลี่ยงการปล่อยคาร์บอนด้วยวิธีต่าง ๆ ทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 280,000 ตัน หรือเทียบเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานต่อปีมากกว่า 30,000 ครัวเรือน ถือเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจ ให้กับผู้จัดงานที่ต้องการจัดอีเวนต์แบบรักษ์โลก

‘ศูนย์ประชุมนานาชาติบาร์เซโลนา’ ที่สามารถลดและควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีการผลิตพลังงานและพลังงานชีวภาพทดแทนแทนการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 175 ตันต่อปี

‘งาน Expo CIHAC ที่ประเทศเม็กซิโก’ ที่สร้างโดยใช้วัสดุต้นทุนต่ำ และใช้แนวคิดการแปรรูปวัสดุเหลือใช้ให้มีมูลค่าเพิ่มแบบ Upcycling ด้วยการนำลังใส่น้ำอัดลมกว่า 5,000 ลัง มาสร้างเป็นบูธแสดงงาน ใช้ต้นทุนต่ำและไม่สร้างขยะเพิ่มเติมหลังจบงาน ทั้งยังสามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้อีกด้วย

‘Tote Bag Music Festival เทศกาลดนตรีรักษ์โลกของเมืองไทย’ ผู้จัดงาน ธุรกิจไมซ์ หลายราย เริ่มหันมาใช้ BCG Model เป็นแนวทางในการจัดงาน เช่น แผนคอนเสิร์ตรักษ์โลก จัดโดย ‘กรีนเวฟ’ ใช้คอนเซ็ปต์รักษ์โลกอย่างเต็มรูปแบบ เป็นคอนเสิร์ตแรกในไทยที่วางแผนการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ รวมทั้งลดพลังงานสิ้นเปลืองภายในงาน ไม่ว่าจะเป็น เครื่องปั่นไฟพลังงานทางเลือกแทนน้ำมันดีเซล การให้ผู้ร่วมงานพกถุงผ้า แก้ว จาน ช้อน ส้อม มากันเอง เพื่อช่วยลดปริมาณขยะ รวมทั้งการใช้ของทุกอย่างที่สามารถนำมาใช้ซ้ำ หรือนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด เช่น หลังคาจากเวทีคอนเสิร์ต หลังจบงานจะถูกส่งต่อเพื่อไปทำหลังคาให้กับโรงเรียนในจังหวัดเชียงราย นับเป็นเทศกาลดนตรีในคอนเซ็ปต์ ‘ZERO WASTE’ อย่างแท้จริง

‘ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์’ ได้นํานวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการด้านความยั่งยืน ตั้งแต่สถานที่ตั้งและการเดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดิน และใกล้กับป้ายรถประจำทาง ทำให้ผู้เข้าร่วมสามารถเดินทางด้วยบริการขนส่งสาธารณะ เป็นการช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในการเดินทาง ตลอดจน มีบริการที่ชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

ขณะที่อาคาร ลดการใช้แสงจากหลอดไฟ โดยเพิ่มแสงธรรมชาติและระบบไหลเวียนอากาศจากธรรมชาติทั่วอาคาร และติดตั้งอุปกรณ์และใช้สุขภัณฑ์แบบประหยัดน้ำทั่วทั้งอาคาร ใช้ระบบน้ำหยดและนำน้ำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ทำให้ลดการใช้น้ำได้ถึง 45%

รวมถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีการคำนวณการใช้พลังงานแบบเรียลไทม์ และติดตามการใช้งาน รวมทั้งใช้ระบบบริหารจัดการและควบคุมอาคารอัตโนมัติ ผนวกกับการตรวจสอบและการควบคุมอาคารอัจฉริยะ มีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 5,400 ตารางเมตร บนชั้นดาดฟ้าของอาคารเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียน ติดตั้งไฟ LED ในห้องจัดแสดงนิทรรศการทั้งหมด เพื่อลดการใช้พลังงาน และปรับความสว่างในบริเวณ Lobby และพื้นที่ร้านค้าให้สอดคล้องกับแสงธรรมชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ ยังมีแนวปฏิบัติการก่อสร้างสีเขียว ประกอบด้วยการควบคุมมลพิษในการก่อสร้าง และแนวทางการจัดการของเสียจากการก่อสร้าง มุ่งเน้นการลดปริมาณขยะจากการก่อสร้างที่ต้องนำไปกำจัด ด้วยการกลบฝังได้มากกว่า 75%

สรุปได้ว่า การจัดงานแบบ ‘Eco-Friendly Event’ รักษ์โลก สามารถทำได้โดยยึดหลักการ 3 ขั้นตอน ได้แก่

1.) Eco-Friendly ตั้งแต่เริ่มเดินทาง ผู้จัดงานควรเลือกสถานที่จัดงาน ที่สามารถเดินทางสะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะ อย่างรถไฟฟ้าหรือรถโดยสารประจำทาง เพื่อลดการใช้รถส่วนตัว

2.) เลือกสถานที่จัดงานที่ใส่ใจในความยั่งยืน ผู้จัดงานควรเลือกสถานที่จัดงานที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (Sustainability) และได้รับการรับรองจากมาตรฐานต่าง ๆ รวมถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของสถานที่ เช่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประหยัดน้ำ-ไฟ มีมาตรฐาน ISO 20121 ในการบริหารการจัดงานอีเวนต์อย่างยั่งยืน

3.) ลดขยะในทุกมิติของงานอีเวนต์ เริ่มจากลงทะเบียน และอัปโหลดข้อมูลต่าง ๆ ลงช่องทางออนไลน์ทั้งหมด เพื่อลดการใช้กระดาษ ส่วนอาหารและของว่างสำหรับผู้เข้าร่วมงาน ควรเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ และของที่ระลึกควรเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน รวมถึงวางแผนลดการสร้างขยะจากอาหาร ด้วยการส่งต่ออาหารที่สั่งมาเกินให้แก่ผู้ขาดแคลน โดยติดต่อมูลนิธิรักษ์อาหาร (SOS Thailand) เพื่อช่วยประสานงานรับอาหารส่วนเกินจากภาคธุรกิจ และส่งต่อให้ผู้ขาดแคลนโดยตรง

ทั้งหมดนี้ คือทิศทางที่ผู้ประกอบการไมซ์กับแนวทาง BCG Model จะเดินไปด้วยกัน เพื่อดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และโลก พร้อมทั้งสร้างจุดแข็งและความแตกต่างให้ขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจร่วมกันอย่างยั่งยืน (Sustainability)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top