Tuesday, 22 April 2025
Alibaba

'แจ็ก หม่า' ย่องดูงานใน ม.เนเธอร์แลนด์ เรียนรู้เกษตรยุคใหม่ ปลุกไฟในวัย 57

ห่างหายจากหน้าสื่อไปนาน สำหรับ 'แจ็ก หม่า' อภิมหาเศรษฐีจีนชื่อดัง ผู้ก่อตั้ง Alibaba แม้วันนี้เขาจะเกษียณตัวเองออกจากตำแหน่งประธานผู้บริหารสูงสุด เพื่ออุทิศตนทำงานการกุศลเพื่อสังคมเต็มตัวแล้วก็ตาม แต่แจ็ก หม่า ในวัย 57 ปี ก็ยังไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้ศาสตร์ และวิทยาการใหม่ ๆ อยู่เสมอ

และล่าสุด แจ็ก หม่า ได้ติดต่อขอเข้าไปศึกษาดูงานไกลถึง Wageningen University & Research (WUR) ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงด้านงานวิจัยทางการเกษตรมาก

โดยแจ็ก หม่า มีความสนใจด้านการพัฒนาอาหาร และการเกษตรแบบยั่งยืน ซึ่งที่มหาวิทยาลัย WUR แห่งนี้มีทั้งระบบการเพาะปลูกเรือนกระจกแบบไฮ-เทค และศูนย์ศึกษาลักษณะพันธุกรรมของพืชที่ล้ำสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในเนเธอร์แลนด์

ที่ทางสถาบัน WUR ตอบรับคำขอของแจ็ก หม่า ที่ต้องการมาดูงานวิจัยในมหาวิทยาลัย เพราะเห็นความตั้งใจของแจ็ก หม่า ที่ได้ก่อตั้งมูลนิธิภายใต้ชื่อของตนเอง และต้องการยกระดับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม ด้วยความรู้เรื่องการทำฟาร์มปศุสัตว์ ประมง และการเกษตรแบบยั่งยืน เพื่อความมั่นคงด้านอาหารในทุกพื้นที่ รวมถึงในเขตทะเลทรายโกบีด้วย

แจ็ก หม่า ตั้งใจที่จะทำให้วิชาด้านเกษตรกรรม กลายเป็นศาสตร์ที่น่าสนใจสำหรับคนหนุ่ม-สาวรุ่นใหม่ และวางแผนที่จะทำงานร่วมกับสถาบัน WUR ในอนาคตอีกด้วย

Alibaba จัดแข่งคณิตศาสตร์ระดับโลก ใช้ AI ได้ แต่ผลลัพธ์ คนใช้ AI กลับตกรอบทั้งหมด

(21 มิ.ย. 67) Business Tomorrow รายงานการจัดการแข่งขัน Alibaba Global Math Competition 2024 ของ Alibaba โดยเป็นการแข่งขันคณิตศาสตร์ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2018 

สำหรับในปีนี้พิเศษตรงที่ Alibaba ท้าให้ AI สามารถเข้ามาแข่งขันได้ด้วย แต่ดูเหมือนว่าทีมที่ใช้ AI ตกรอบตั้งแต่รอบคัดเลือกทั้งหมด

การแข่งขันของ Alibaba ในรอบคัดเลือกต้องการคะแนนขั้นต่ำที่ 45 คะแนน แต่ทีมที่ใช้ AI สามารถทำคะแนนสูงสุดได้เพียง 34 คะแนนเท่านั้น โดยเฉลี่ยทีมที่ใช้ AI ได้คะแนนไป 18 คะแนน โดยAI ที่ทำคะแนนสูงสุดสร้างโดย Tu Jinhao จากโรงเรียนมัธยม Jianping ในเซี่ยงไฮ้ โดยอาศัยการเถียงกับตัวเองและตรวจคำตอบของตัวเองไปหลายๆ รอบ

ทั้งนี้ ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดสามารถทำคะแนนได้สูงถึง 113 คะแนน จากข้อสอบทั้งหมด 7 ข้อ มีทั้งแบบตัวเลือกและแบบแสดงวิธีทำ

สำหรับการแข่งขันนี้ เปิดให้ผู้เข้าแข่งจากทั่วโลก แต่ผู้เข้าแข่งส่วนใหญ่จะมาจากจีน

บัณฑิตจีน สิ้นหวัง เกษียณกลับบ้านเกิด ด้วยความท้อแท้ เหตุ!! อุตสาหกรรมทรุดตัว บริษัทเลิกจ้าง แรงงานล้นตลาด

(14 ต.ค. 67) หากคิดว่าหางานใน ‘ไทย’ ยากแล้ว ใน ‘จีน’ กลับยิ่งหางานยากกว่ามาก แม้มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก แต่หนุ่มสาวจบใหม่ในจีนตอนนี้กลับหางานลำบากยิ่งนัก โดยอัตราว่างงานของหนุ่มสาวจีนในเดือนสิงหาคม “ทำสถิติใหม่” ที่ 18.8% ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มใช้ระบบบันทึกสถิติใหม่ในเดือนธันวาคม โดยเพิ่มขึ้นจาก 17.1% ในเดือนกรกฎาคม

มีเรื่องราวของสาวจีนที่จบการศึกษามาไม่นาน เธอชื่อ สวี่อวี่ (Xu Yu) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในฮ่องกง และใช้เวลาหางานเป็นเวลา 5 เดือนแล้ว

แม้เธอจะมีผลการเรียนดีเยี่ยมและประสบการณ์ฝึกงานถึงสามครั้ง สวี่อวี่ก็ยังคงต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อแข่งขันในตลาดงานที่ดุเดือด เธอลงทุนเงินกว่า 20,000 หยวน หรือราว 90,000 บาทเพื่อเข้าฝึกอบรมเทคนิคการสัมภาษณ์ แต่กลับต้องเผชิญกับความผิดหวังเมื่อได้รับจดหมายปฏิเสธจากบริษัทชั้นนำหลายแห่ง เช่น Tencent Holdings และ JD.com

ส่วนอีกคนหนึ่งชื่อ ถังฮุ่ย (Tang Hui) เธอได้รับข้อเสนองานด้านบัญชีจากผู้ผลิตรถพลังงานใหม่ชั้นนำก่อนจบการศึกษา แต่ต่อมาบริษัทได้ยกเลิกข้อเสนอทั้งหมดให้กับผู้จบใหม่ ถังฮุ่ยได้รับเงินชดเชยเป็นค่าแรงหนึ่งเดือน แต่หลังจากนั้น แม้ว่าเธอจะสมัครงานไปกว่า 50 บริษัทแล้วก็ตาม ก็ยังไม่ได้รับข้อเสนอใด ๆ กลับมา เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากของบัณฑิตใหม่จีนหลังจบการศึกษา

ในปีนี้ เหล่าบัณฑิตจีนที่จบออกมามีจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 11.8 ล้านคน และกำลังก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานที่อ่อนแอที่สุดที่จีนเคยเผชิญมาหลายปี จากการที่บรรดาบริษัทด้านอินเทอร์เน็ต การศึกษา และอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมกระดูกสันหลังของจีน ตัดสินใจลดจำนวนพนักงานลง 

ยกตัวอย่าง ‘เหล่าบริษัทเทคโนโลยี’ อย่าง  Alibaba, Tencent และ Baidu ก่อนหน้านี้เคยขยายการจ้างงาน แต่ปัจจุบันตัดสินใจลดจำนวนพนักงานลง โดย Alibaba ตัดพนักงานลงมากกว่า 13%

ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่ ‘ธุรกิจกวดวิชา’ ที่เคยเป็นดาวรุ่ง ก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร รัฐบาลออกระเบียบลดภาระการบ้านและการติวหลังเลิกเรียน อีกทั้ง ‘ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์’ ที่เคยเป็นตัวขับเคลื่อนจีดีพีจีนก็ยังคงซบเซา จนทำให้มากกว่าครึ่งหนึ่งของงานทั้งหมดในอุตสาหกรรมนี้ได้หายไปในปีนี้

ส่วนอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เช่น พลังงานทดแทนและเซมิคอนดักเตอร์ ยังไม่สามารถทดแทนด้านการจ้างงานได้ เพราะการสรรหาบุคลากรเหล่านี้ ‘ต้องการความสามารถเฉพาะทาง’ ซึ่งมักมีวุฒิขั้นสูง เช่น BYD ผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้า ในปีนี้ได้ลดการรับสมัครนักศึกษาลงมากกว่าครึ่งจาก 30,000 คนในปี 2023

หลายคนอาจมีค่านิยมว่า จบจากมหาวิทยาลัยดังมีชัยไปกว่าครึ่ง แต่ปัจจุบันนี้อาจไม่ได้สำคัญขนาดนั้นอีกต่อไป หลายบริษัทต้องการคนมีประสบการณ์และเคยผ่านงานด้านนั้นมากกว่า  

จากที่เคยเป็นเพียงส่วนเสริม ‘ประสบการณ์การฝึกงานที่ผ่านมา’ ได้กลายเป็นปัจจัยชี้ขาดโอกาสในการทำงาน หลิว จื่อเฉา (Liu Zichao) บัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จบจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงน้อยกว่า ได้แสดงให้เห็นถึงความจริงข้อนี้ เมื่อเขาคว้าตำแหน่งงานเทคโนโลยีมาครองได้สำเร็จหลังจากฝึกงานที่ ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok 

เรื่องราวของเขาสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่การฝึกงานเฉพาะทาง กำลังกลายเป็นตัวชี้วัดความสามารถที่สำคัญยิ่งกว่าวุฒิการศึกษา

นอกจากปัจจัยเศรษฐกิจจีนอันซบเซาแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งคือ บัณฑิตจบใหม่หลายคนกำลังเผชิญปัญหาการหางานที่ไม่ตรงกับความสามารถของตนเอง โดยมีคุณสมบัติเกินกว่างานระดับล่าง แต่ขาดประสบการณ์สำหรับงานระดับสูง

ยิ่งไปกว่านั้น ความคาดหวังด้านอาชีพที่สูงขึ้นของบัณฑิตในปัจจุบัน กำลังทำให้ความไม่ลงรอยกันในตลาดแรงงานของจีนเพิ่มขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลหลายคนรายงานว่า ความทะเยอทะยานที่เกิดจากโซเชียลมีเดียสำหรับงานเทคโนโลยีที่มีรายได้สูงได้นำไปสู่การเรียกร้องเงินเดือนที่สูงเกินจริง ทำให้บัณฑิตจำนวนมากไม่พอใจกับตำแหน่งงานที่มีอยู่

จาง (Zhang) ผู้จัดการทรัพยากรบุคคลกล่าวว่า บัณฑิตที่สอบข้าราชการไม่ผ่านมักเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยไม่พร้อม และเรียกร้องเงินเดือนสูงกว่ามาตรฐานอุตสาหกรรมมาก

ในทำนองเดียวกัน หยาง เจียน (Yang Jian) ซึ่งทำงานด้านการสรรหาบุคลากรสำหรับบริษัทอัตโนมัติขนาดเล็กกล่าวว่า ความคาดหวังที่ไม่สมจริงของบัณฑิตจบใหม่ และความลังเลในการยอมรับงานที่มีรายได้ต่ำกว่า ทำให้บริษัทของเธอหยุดรับสมัครบัณฑิตใหม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันมามองดูมุมมองของเหล่าบัณฑิต ผู้หางานรุ่นใหม่รู้สึกไร้อำนาจในตลาดแรงงาน สวัสดิการพื้นฐานเช่น วันทำงานแปดชั่วโมงและประกันสังคมที่ได้รับกลับถูกมองว่าเป็นสิ่งหรูหรา โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเหรินหมินของจีนพบว่า พนักงานรุ่นใหม่ทำงานหนักเกินมาตรฐาน ซึ่งเป็นการทำงานเฉลี่ย 251.9 ชั่วโมงต่อเดือน และมีความคุ้มครองด้านประกันสังคมที่ต่ำจากนายจ้าง

ด้วยภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจ และรู้สึกสิ้นหวังในตลาดแรงงาน ชาวจีนรุ่นใหม่จึงถอยกลับไปยังชนบท โดยหลังจากประกาศว่าตนถูกเลิกจ้าง ลาออก หรือว่างงาน ชาวจีนเจน Z และ Y ก็บันทึกชีวิตประจำวันแบบ ‘เกษียณอายุ’ ในชนบทของตนบนโซเชียลมีเดีย  

เมื่อปีที่แล้ว ผู้เกษียณอายุที่ประกาศตนเองวัย 22 ปี ซึ่งใช้ชื่อแฝงว่า เหวินจือ ต้าต้า (Wenzi Dada) ได้ตั้งถิ่นฐานในกระท่อมไม้ไผ่ริมหน้าผาในมณฑลกุ้ยโจวของจีน เหวินจือ ซึ่งเคยทำงานในหลากหลายสาขา เช่น ซ่อมรถยนต์ ก่อสร้าง และการผลิต บอกกับสื่อท้องถิ่นว่าเขารู้สึกเหนื่อยกับการต้องจัดการกับเครื่องจักรทุกวัน จึงลาออกเพื่อกลับบ้านเกิด

นอกจากนี้ บัณฑิตบางคนหันไปทำงานอิสระ เช่น เป็นคนขับส่งของหรือพี่เลี้ยงเด็ก ในขณะที่อีกหลายคนก็เลื่อนการเข้าสู่ตลาดแรงงาน

‘Apple’ เลือกใช้ AI ของ 'อาลีบาบา' หวังเพิ่มทางรอดธุรกิจ ในสมรภูมิ!! 'สงครามการค้า' ระหว่าง ‘สหรัฐฯ - จีน’

(16 ก.พ. 68) แอปเปิล (Apple) กำลังพยายามปรับโฉมใน “จีน” ครั้งใหญ่ด้วย เทคโนโลยี AI ที่จะเปิดตัวภายในกลางปี 2568 เพื่อเพิ่มยอดขายใจตลาดสำคัญ เดิมพันครั้งใหญ่ในการเพิ่มยอดขาย แต่ Apple ต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญในการเปิดตัวฟีเจอร์ดังกล่าวในประเทศจีน เนื่องจากกฎระเบียบของรัฐบาลจีนไม่อนุญาตให้ Apple นำความร่วมมือกับ OpenAI ผู้ผลิต ChatGPT เข้ามาในประเทศได้

เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา “โจ ไช่” ประธานของอาลีบาบา (Alibaba) เปิดเผยว่า บริษัทจะร่วมมือกับ Apple ในด้านเทคโนโลยี AI สำหรับ iPhone ที่จำหน่ายในประเทศจีน 

ถึงแม้ความร่วมมือกับ Alibaba จะช่วยให้ Apple เข้าใกล้เป้าหมายการเปิดตัว Apple Intelligence ในประเทศจีนมากขึ้น แต่ก็ยังมีอุปสรรคด้านกฎระเบียบบางประการที่ต้องก้าวผ่านไปให้ได้ อาจเป็นเหตุผลให้ Apple Intelligence ซึ่งเป็น AI ที่บริษัทได้พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2566 จึงยังไม่ได้เปิดตัวสู่ตลาดต่างประเทศที่สำคัญที่สุดของ Apple

ก่อนหน้านี้ Apple ทดสอบโมเดลและหารือถึงความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำด้าน AI ของจีนหลายราย เช่น Baidu, ByteDance, Moonshot, Zhipu และ Tencent รวมถึงทดสอบโมเดลของ DeepSeek ด้วยเช่นกัน  

หลังจากที่ประธานาธิบดี “โดนัล ทรัมป์” ได้ประกาศมาตรการเก็บภาษีศุลกากรรอบใหม่กับจีน 10% ซึ่งเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของ Apple ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่า Apple จะได้รับการยกเว้นจากภาษีศุลกากรครั้งนี้หรือไม่ ในขณะเดียวกันทางการจีนกำลังดำเนินการตรวจสอบค่าธรรมเนียมและนโยบายการดำเนินงานต่างๆ ของ App Store

สิ่งที่สร้างความยุ่งยากมากกว่านั้นคือ การที่ Apple ถูกดึงเข้ามาอยู่ในสถานะผู้ต่อรองในสงครามการค้าโดยไม่เต็มใจ โดยมีรายงานว่า Apple ถูกรวมอยู่ในรายชื่อบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ที่อาจถูกจับตามองจากทางการจีน ในฐานะส่วนหนึ่งของการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลทรัมป์

หลังจากที่สหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนในอัตรา 10% ไม่นาน ปักกิ่งได้ตอบโต้ด้วยการเปิดการสอบสวน Google ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Alphabet Inc. แม้การสอบสวนดังกล่าวจะถือเป็นเพียงการส่งสัญญาณเตือนเท่านั้น เนื่องจาก Google มีธุรกิจในจีนเหลืออยู่น้อยมาก แต่ในกรณีของ Apple นั้นแตกต่างออกไป เพราะบริษัทยังคงพึ่งพารายได้ส่วนใหญ่จากตลาดผู้บริโภคในจีน

เมื่อปีที่แล้ว หน่วยงานกำกับดูแลชั้นนำของจีนได้ระบุกับ Financial Times ว่า Apple จำเป็นต้องร่วมมือกับบริษัทจีนเพื่อให้สามารถผ่านขั้นตอนการอนุมัติได้ง่ายยิ่งขึ้น 

การผนึกกำลังด้าน AI ระหว่าง Alibaba และ Apple เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับ Apple ซึ่งกำลังเผชิญกับยอดขาย iPhone ที่ลดลงในประเทศจีน ท่ามกลางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากคู่แข่งท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Huawei

นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมชี้ให้เห็นว่า การขาดคุณสมบัติ AI ขั้นสูง ซึ่งเป็นจุดขายที่สำคัญของสมาร์ตโฟนรุ่นล่าสุด เป็นจุดอ่อนที่สำคัญสำหรับ Apple ในตลาดจีน

Apple สูญเสียตำแหน่งผู้นำในตลาดสมาร์ตโฟนจีนให้กับผู้ผลิตในประเทศ แสดงให้เห็นถึงการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดจีน และความท้าทายที่ Apple กำลังเผชิญอยู่ โดย Canalys พบว่ายอดขาย iPhone ในประเทศจีนลดลงถึง 17% ในปี 2024 

อีกหนึ่งความท้าทายที่ Apple เผชิญคือ การที่ฟีเจอร์ AI ใหม่ ๆ จะสามารถกระตุ้นให้ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินซื้อผลิตภัณฑ์ของ Apple หรือไม่ เนื่องจากผู้บริโภคในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

นักวิเคราะห์บางคนคาดการณ์ว่า Apple Intelligence จะช่วยส่งเสริมให้บริษัทประสบความสำเร็จในประเทศจีนในช่วงที่ยอดขายสมาร์ทโฟนของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ผลิตสมาร์ทโฟนในประเทศ เช่น Huawei, Xiaomi และ Vivo

Ethan Qi รองผู้อำนวยการบริษัท Counterpoint กล่าวว่า ตลาดสมาร์ทโฟนของจีนมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี 2024 โดยยอดขายโดยรวมลดลง 3.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากผู้บริโภค “ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น” และหลังจากมีข่าวลือเกี่ยวกับข้อตกลงระหว่าง Apple และ Alibaba นักวิเคราะห์จาก Jefferies ระบุว่า ข้อตกลงนี้ไม่น่าจะช่วยกระตุ้นยอดขาย iPhone 17 ในประเทศจีนได้

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช้ครั้งแรกที่ทั้ง 2 บริษัททำธุรกิจร่วมกัน ในปี 2557 ทิม คุก CEO ของ Apple ได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการ "แต่งงาน" ระหว่าง Apple Pay และแพลตฟอร์มการชำระเงินของ Alibaba อย่าง Alipay โดยแสดงความชื่นชมต่อผู้ก่อตั้งบริษัทอย่าง Jack Ma เขาบอกว่าเขาชอบทำงานร่วมกับ "คนที่ผลักดันเรา และเราก็ชอบผลักดันพวกเขา"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top