Monday, 21 April 2025
Airbnb

‘นายกฯ’ ปลื้มสัญญาณบวกท่องเที่ยวไทยแรง หลังต่างชาติค้นหาที่พัก Airbnb ในไทยพุ่ง 180%

‘นายกฯ’ พอใจตัวเลขนักเดินทางต่างชาติค้นหาที่พัก Airbnb ในไทยเพิ่มขึ้น 180% ผลจากความเชื่อมั่นในการผ่อนคลายมาตรการของรัฐ ผลักดันการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง พร้อมวางเป้าหมายท่องเที่ยว 3 ซีนาริโอ ปี 2566

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ Airbnb ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มจองที่พักระดับโลก พบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติมีการค้นหาที่พักเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวมายังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นกว่า 180% เมื่อเปรียบเทียบระหว่างไตรมาส 1 ของปี 2564 กับปี 2565 อันเป็นผลสะท้อนสอดรับกับการที่รัฐบาลผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ด้านการเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรียินดีอย่างยิ่งที่ประเทศไทยยังคงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมทั้งชื่นชมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยว ผ่านการประกาศ “ปีส่งเสริมท่องเที่ยวไทย 2565-2566” หรือ Visit Thailand Year 2022-2023 เพื่อกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยมากขึ้น 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบจากการเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมในการทำงานทางไกลและมีจำนวนของ Digital Nomad เพิ่มมากขึ้น ทำให้การเข้าพักระยะยาวเพิ่มสูงขึ้น (การเข้าพัก 28 วันหรือมากกว่า) โดยจากข้อมูลล่าสุดของ Airbnb 5 จุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา (ชลบุรี) เชียงใหม่ และเกาะสมุย (สุราษฎร์ธานี) 

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวมีความสนใจอยากออกไปสำรวจสถานที่ใหม่ ๆ มากขึ้น อาทิ เกาะลันตา (กระบี่) ตราด ปาย (แม่ฮ่องสอน) และชะอำ (เพชรบุรี) โดยนักท่องเที่ยวที่มีการค้นหาเพื่อเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากที่สุด ได้แก่ นักท่องท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเยอรมนี ตามลำดับ 

นายธนกร กล่าวว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยแล้วกว่า 2.7 ล้านคน โดยคาดหมายว่าตลอดปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ตามเป้าที่ตั้งไว้ และสำหรับในปี 2566 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) วางเป้าหมายพลิกฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสู่หมุดหมายการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นคุณค่าและความยั่งยืน มีรายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งเที่ยวในประเทศและต่างชาติเที่ยวไทยอยู่ที่ระหว่าง 1.25-2.38 ล้านล้านบาท ผ่านการวางเป้าหมายเชิงเศรษฐกิจ 3 ซีนาริโอ ได้แก่

ไทยทะยานขึ้นอันดับ 1 ของแอปฯ จองที่พักระดับโลก ‘Airbnb’ เผย!! ปี 65 นทท. แห่เที่ยว กรุงเทพฯ, พัทยา, เชียงใหม่ และภูเก็ต

‘Airbnb’ แพลตฟอร์มจองที่พักออนไลน์ระดับโลก เผยนักท่องเที่ยวพุ่ง กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต ปลายทางสุดฮอต ปี 65 ทัวริสต์เยือนไทยอันดับ 1

(19 เม.ย.66) นายเนธาน เบลชาร์ซิค ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ของ แอร์บีเอ็นบี (Airbnb) แพลตฟอร์มจองที่พักออนไลน์ระดับโลก เปิดเผยว่า ปัจจุบันการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากภูมิภาคนี้ได้รับความนิยมจากนักเดินทางทั่วโลกมาโดยตลอด

ซึ่งประเทศไทยติดอันดับ 1 ของประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุดบนแอร์บีเอ็นบี ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2565 โดยเมืองยอดนิยม ได้แก่ กรุงเทพฯ, พัทยา, เชียงใหม่ และภูเก็ต

สำหรับประเทศสหรัฐอเมริการั้งอันดับ 1 ของนักเดินทางต่างชาติที่เยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2565 ตามด้วยประเทศออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร เยอรมนี และเกาหลีใต้ ซึ่งการเดินทางแบบกลุ่มกำลังได้รับความนิยม เป็นผลมาจากการที่ครอบครัวจำนวนมากเลือกจองที่พักบน แอร์บีเอ็นบี เพิ่มขึ้น 60% ในปีที่แล้วเปรียบเทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากมีความคุ้มค่าและสเปซของที่พัก

‘พงษ์ภาณุ’ ชี้!! รายได้ท่องเที่ยวไทยยังกระจุกตัว แนะใช้แพลตฟอร์มระดับโลก หนุนเที่ยว ‘เมืองรอง’

(14 พ.ค. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจของไทย ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 66 โดยระบุว่า...

แม้ประเทศไทยจะเผชิญกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในระดับสูง แต่การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยว ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวนับเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ซึ่งในอดีตช่วงที่การท่องเที่ยวประเทศไทยเติบโตสุดขีด เคยสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 2 ล้านล้านบาท และจากคนไทยเที่ยวไทยอีกราว 1 ล้านล้านบาท รวมเป็น 3 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็น 20% ของจีดีพี ขณะเดียวกัน ก็มีการจ้างงานถึง 10 ล้านคน แต่หลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ในส่วนนี้หายไปเกือบหมด ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก

นายพงษ์ภาณุ ระบุว่า ภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย เชื่อว่า การท่องเที่ยวไทยจะกลับมาคึกคัก และสร้างรายได้เข้าประเทศได้เช่นในอดีต พร้อมทั้งเป็นปัจจัยหนุนหลักให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ และ ส่งผลดีต่อไปยังตลาดแรงงาน รวมถึงเศรษฐกิจระดับรากหญ้า ที่จะได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยว เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่เงินไหลตรงไปยังกลุ่มรากหญ้าจริงๆ ซึ่งจะแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ

แต่ทว่า ในปัจจุบัน การท่องเที่ยวไทยกระจุกตัวอยู่เพียง 7 จังหวัดเท่านั้น ประกอบด้วย กรุงเทพฯ, ภูเก็ต, ชลบุรี, เชียงใหม่, ประจวบคีรีขันธ์, สุราษฎร์ธานี และกระบี่ โดยจังหวัดเหล่านี้มีครองสัดส่วนรายได้ถึง 80% ส่วนอีก 20% กระจายไปยังอีก 70 จังหวัดที่เหลือ

อย่างไรก็ตาม จากการท่องเที่ยวที่กระจุกตัวอยู่เพียงในเมืองหลัก แม้ว่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของจังหวัดนั้นๆ แต่ก็มีผลเสียและปัญหามากมายเช่นกัน ทั้งด้านความแออัด ด้านการกระจายรายได้ที่ไม่สมดุล ด้านการจราจรที่ติดขัด และด้านความปลอดภัย

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลพยายามกระจายการท่องเที่ยว ผ่านนโยบายที่เรียกว่า ‘การท่องเที่ยวเมืองรอง’ ทั้งการไปสร้างแหล่งท่องเที่ยว การมอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยว แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร 

“จากการที่ได้คุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวของจีน พบว่า นักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเที่ยวประเทศไทยนั้น เขากังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะฉะนั้น หากรัฐบาลต้องการกระจายการท่องเที่ยวไปยังเมืองรอง สิ่งที่ต้องเข้ามาดูแลข้อแรก คือ เรื่องความปลอดภัย ข้อสอง ความสะดวกในการเดินทาง และข้อสาม เรื่องการตลาดที่ต้องโปรโมตสถานที่ท่องเที่ยว อาหารและกิจกรรมที่รองรับนักท่องเที่ยว ผ่านระบบดิจิทัลที่เข้าถึงได้ง่าย เป็นต้นว่า การนำข้อมูลบ้านพักในภาคอีสานของไทย เข้าไปอยู่ใน Air BNB แพลตฟอร์มท่องเที่ยวระดับโลก พร้อมกับการรับรองความปลอดภัย ความสะอาด และการต้อนรับที่อบอุ่นจากเจ้าของบ้าน หากข้อมูลข่าวสารพวกนี้เข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มระดับโลกได้ เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้การท่องเที่ยวเมืองรองเกิดได้” นายพงษ์ภาณุ กล่าว

‘โฆษกรัฐบาล’ เผย ‘นทท.อินเดีย’ จองเที่ยวไทยบนแพลต์ฟอร์ม Airbnb เพิ่มขึ้นกว่า 60%  ชี้!! เป็นผลจากมาตรการขยายระยะเวลา Visa Free ของนายกฯ ที่ขยายออกไปอีก 6 เดือน 

(2 มิ.ย.67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงผลสำเร็จของนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการขยายระยะเวลาการยกเว้นการตรวจลงตรา หรือ Visa Free ให้แก่นักท่องเที่ยวชาวอินเดียเป็นการชั่วคราวออกไปอีก 6 เดือน ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม - 11 พฤศจิกายน 2567 นั้น ล่าสุด แพลตฟอร์ม Airbnb ได้เปิดเผยข้อมูลการจองที่พักในช่วงปี 2565 - 2566 พบว่า นักท่องเที่ยวชาวอินเดียจองที่พักในประเทศไทยเพิ่มขึ้นกว่า 60% โดยในปี 2567 ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาว เช่น เทศกาลโฮลี (Holi Festival) และเทศกาลอีสเตอร์ (Easter) มีชาวอินเดียค้นหาที่พักในประเทศไทยบนแพลตฟอร์ม Airbnb เพิ่มขึ้นมากกว่า 200% โดยมีจุดหมายปลายทางยอดนิยม 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯภูเก็ต เชียงใหม่ กระบี่ และเกาะสมุย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าจากข้อมูล Airbnb พบว่าชาวอินเดียมีความชื่นชอบและสนใจที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดย Airbnb อธิบายว่า เทรนด์การท่องเที่ยวไทยของชาวอินเดียส่วนใหญ่มาจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ (New Gen) โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z และ Gen Y ที่จองที่พักบน Airbnb มากถึง 80% ของนักท่องเที่ยวชาวอินเดียทั้งหมด เนื่องจากอินเดียมีประชากรกลุ่ม Gen Z และ Gen Y มากที่สุดในโลก โดยจุดหมายปลายทางยอดนิยมในประเทศไทยของนักเดินทาง Airbnb ชาวอินเดีย 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ กระบี่ และเกาะสมุย ส่วนประเภทที่พัก Airbnb ในไทยที่มีนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเลือกจองมากที่สุด ได้แก่ สระว่ายน้ำ เขตร้อน ชายหาด อุทยานแห่งชาติ และเมืองดัง อีกทั้งนักท่องเที่ยวชาวอินเดียที่เดินทางแบบกลุ่มขนาดเล็ก (3 - 5 คน) และกลุ่มขนาดกลาง (5 คนขึ้นไป) มีการเติบโตเร็วที่สุด โดยนักท่องเที่ยวแบบกลุ่มขนาดเล็ก เดินทางเพิ่มขึ้น 67% และนักท่องเที่ยวแบบกลุ่มขนาดกลาง เดินทางเพิ่มขึ้น 68% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันจากปีก่อน

นอกจากนี้ นายอมันพรีท บาจาจ ผู้จัดการทั่วไปประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย ฮ่องกง และไต้หวัน ของ Airbnb เปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวชาวอินเดียเริ่มให้ความสนใจในการเดินทางไปยังสถานที่ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ซึ่งนับเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมมากขึ้น และยังเป็นการช่วยกระจายเศรษฐกิจไปยังชุมชนต่างๆ ไม่เพียงแค่เมืองใหญ่เท่านั้น

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการเเละเเนวทางการตรวจลงตรา ทั้งหมด 3 ระยะ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมีมาตรการที่สำคัญเเละจะเริ่มใช้ต่อเนื่องในเดือนมิถุนายน 2567 นี้ เช่น

- การให้สิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Free) สามารถพำนักในประเทศไทย ไม่เกิน 60 วัน เพื่อการท่องเที่ยว การติดต่อธุรกิจ และการทำงานระยะสั้น จำนวน รวม 93 ประเทศ/ดินแดน ประกอบด้วย (1) ประเทศที่ได้รับสิทธิ ผ.30 เดิม 57 ประเทศ/ดินแดน และ (2) เพิ่มประเทศที่ได้รับสิทธิ ผ.30 ใหม่ 36 ประเทศ/ดินแดน

- การให้สิทธิ Visa on Arrival (VOA) จากเดิม 19 ประเทศ เพิ่มรวมเป็น 31 ประเทศ

- การเพิ่มการตรวจลงตราประเภทใหม่ Destination Thailand Visa (DTV) เพื่อให้คนต่างด้าวที่มีทักษะและทำงานทางไกลผ่านระบบดิจิทัล (Remote worker หรือ Digital nomad) ที่ประสงค์จะพำนักในประเทศไทย สามารถมาทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมกันได้ เป็นต้น

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นการดำเนินมาตรการเชิงรุกของไทยในเรื่องของการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ การยกเว้นการตรวจลงตรา หรือ Visa Free สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ประกอบกับมาตรการสนับสนุนอื่นๆ ของรัฐบาล ทั้งนี้ เห็นได้ชัดจากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอีกกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” นายชัย กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top