Wednesday, 23 April 2025
30บาทรักษาทุกที่

1 พ.ค.นี้ ปชช. อีก 33 จังหวัดเตรียมพร้อม นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เดินเครื่อง เฟส 3 ครอบคลุม 45 จังหวัด หมอชลน่านยันสิ้นปีขยายได้ทั้งประเทศ

น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง เปิดเผยถึงความก้าวหน้าของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ที่น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามเร่งรัดว่า ขณะนี้การดำเนินการจะเข้าสู่ระยะที่ 3 หรือเฟส 3 ในวันที่ 1พฤษภาคมที่จะถึงนี้ การให้บริการจะครอบคลุมทุกเฟสจำนวน 45 จังหวัด โดยเพิ่มจาก 12 จังหวัดเพิ่มอีก 33 จังหวัด ครอบคลุมอีก 16 เขตสุขภาพ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร พิจิตร ชัยนาท อุทัยธานี สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก  พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย  บึงกาฬ ชัยภูมิ  บุรีรัมย์ สุรินทร์ สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา 

น.ส.ตรีชฎา กล่าวว่า กระทรวงสธ.มีความมั่นใจว่า การขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสินในเฟส 3 จะสามารถยกระดับการบริการ อำนวยความสะดวกประชาชน ไม่ต้องรอคิว รอรับยา ตรวจเสร็จรับยาที่บ้าน Health Rider เหมือนที่เริ่มมาแล้วในเฟส 1 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 นำร่อง 4 จังหวัด ต่อมาเฟส 2 นำร่องอีก 8 จังหวัด เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ทั้ง 2 เฟส ประชาชนพอใจการได้รับบริการเกือบ 100 % การให้บริการได้เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคลของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสธ.ครบทุกแห่งและทุกกองทุนสุขภาพ ปัจจุบันมีหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสธ. 893 แห่ง จาก 902 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 99.7 ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการพัฒนาโครงสร้างเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ มีการเชื่อมต่อแอพพลิเคชั่นและไลน์หมอพร้อมทั่วประเทศแล้่วกว่า 40 ล้านคน มีการนัดหมายและดำเนินการบริการระบบการแพทย์ทางไกล 55,446 ครั้ง ออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล 81,317ใบ มีการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์โดย Health Rider 55,376 ออร์เดอร์ ซึ่งกว่าร้อยละ 90 ของผู้รับบริการมีความพึงพอใจดีมาก เนื่องจากได้รับบริการที่รวดเร็ว เจ้าหน้าที่ส่งยาพูดจาสุภาพ ความสมบูรณ์ของพัสดุ ลดระยะเวลาการรอคอย ช่วยลดความแออัดในการรอรับยาที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ในระยะเฟส 4 จะขยายครอบคลุมทั้งประเทศภายในปี 2567 อย่างแน่นอน

โฆษกกระทรวง สธ.ฝ่ายการเมืองกล่าวทิ้งท้ายว่า จากการสรุปข้อมูลล่าสุดวันที่ 24 เมษายน 2567 พบความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการ รับ - ส่งยา ( Health Rider) ดังนี้ จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ 39 จังหวัด หน่วยบริการที่เข้าร่วม 301 แห่ง 3. อสม.และบุคลากรสาธารณสุขที่เข้าร่วมโครงการฯแล้ว 5,258 คน วิ่งจัดส่งยาแล้วทั้งประเทศ 85,217 ออร์เดอร์ และมีรายได้ของ Health Rider เป็นความภาคภูมิใจของบุคลากรของกระทรวงสธ. และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ร่วมมือกันเต็มที่และดียิ่งเพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล

'เพื่อไทย' เดินหน้า '30 บาทรักษาทุกที่' มั่นใจครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ ธ.ค.นี้

(3 พ.ค.67) ในงาน ‘10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10’ ของพรรคเพื่อไทย (พท.) งานแสดงวิสัยทัศน์ และความคืบหน้าในนโยบายต่าง ๆ พร้อมประกาศเป้าหมายการทำงานในอนาคต

ทันตแพทย์หญิง ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สส.บัญชีรายชื่อและรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงนโยบาย ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ ว่า ในวันที่ 1 เมษายน 2544 รัฐบาลไทยรักไทย ทำฝันที่ไม่มีใครกล้าฝัน ทำสิ่งที่ทุกคนปรามาสว่าเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ โดยการนำร่อง ‘บัตรทอง’ หรือ ‘บัตร 30 บาท รักษาทุกโรค’ ใน 6 จังหวัด แล้วขยายครอบคลุมทั้งประเทศในเวลาไม่ถึง 1 ปี ทำให้ชีวิตประชาชนเปลี่ยนไปในวันเดียว คนไทยได้รับการรักษาเท่าเทียมกันด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรา ‘คิดใหญ่ ทำเป็น’ ทำนโยบายสำเร็จ แม้ในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีเทคโนโลยี แต่รัฐบาลไทยรักไทยต้องการสร้างระบบข้อมูลคนไข้ทั้งระบบ เชื่อมโยงกันในระบบคอมพิวเตอร์ ระบบจองนัดคิว เลือกวัน เวลา ได้ ‘เลือกหมอ’ ได้ ทำให้ในปัจจุบัน ‘การเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพในระบบสาธารณสุข’ เกิดขึ้นจริง 30 บาท รักษาทุกที่ เป็นจริงใน 137 วันแรก ของการจัดตั้งรัฐบาล

โดยภายในเดือนมกราคม 2567 30 บาทรักษาทุกที่ นำร่อง 4 จังหวัดแรกสำเร็จ ได้แก่ แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และ นราธิวาส , มีนาคม 2567 นำร่องเพิ่ม 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ นครราชสีมา สิงห์บุรี สระแก้ว พังงา , เดือนพฤษภาคม 2567 นำร่องเพิ่ม 33 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร พิจิตร ชัยนาท อุทัยธานี สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย บึงกาฬ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา ทั้งหมดรวม 45 จังหวัด และภายในเดือนธันวาคม 2567 โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ จะดำเนินการได้ครบ 77 จังหวัดทั้งประเทศ ถือเป็นการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี เป็นการ ‘ทำต่อ’ จากที่เราเคยทำเอาไว้เมื่อ 23 ปีที่ผ่านแล้ว

สำหรับสิทธิประโยชน์ของ 30 บาทรักษาทุกที่ ได้แก่ เจ็บป่วยเล็กน้อย รับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน , ตรวจเลือดที่แล็ปใกล้บ้าน ข้อมูลปรากฏที่โรงพยาบาลในวันรุ่งขึ้น , รักษาที่โรงพยาบาล กลับไปรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านได้ , เลือกโรงพยาบาลได้ โดยไม่ต้องกังวลค่าใช้จ่าย เพราะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะดูแลทั้งหมด ด้วยการทำงานหนักของทีมสาธารณสุขไทย รวมถึงนโยบายฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งของผู้หญิงไทย โดย ณ วันที่ 24 เมษายน 2567 กระทรวงสาธารณสุข ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก ในผู้หญิงอายุ 11 - 25 ปี แล้ว 1,668,000 ล้านโดส (ชนิด 2 เข็ม : 1.2 ล้านเข็ม , ชนิด 1 เข็ม : 4 แสนเข็ม ) จากเป้าหมาย 5 ล้านคน ภายในปี 2568 พร้อมวางเป้าหมายจะลดอัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงจำนวน 2,400 คนต่อปี

นอกจากนี้ จะดำเนินการสานต่อนโยบาย 50 เขต 50 โรงพยาบาล โดยปีนี้ เปิดโรงพยาบาลเขตแล้ว 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลนพรัตนธานี คุ้มเกล้า (มีนบุรี) และโรงพยาบาลพระมงคลเทพมุนี พร้อมมีแผนขยายเพิ่ม โรงพยาบาลประจำเขตอย่างน้อย 10 แห่ง ภายในปี 2570 โดยจะเพิ่มโรงพยาบาลเขตภาษีเจริญ เขตคลองสามวา เขตทุ่งครุ เขตสายไหม วางแผนยกระดับโรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) กรมการแพทย์ทหารอากาศ เป็น โรงพยาบาลเขตดอนเมืองขนาด 120 เตียง รวมทั้งสถานชีวาภิบาล สถานที่ให้บริการผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยในระยะเวลา 10 เดือนที่ไม่รอ ได้สร้างสถานชีวาภิบาลในชุมชนไปแล้วกว่า 166 แห่งทั่วประเทศ โดยความร่วมมือกับคณะสงฆ์ และภายในปี 2570 ทุกตำบล จะต้องมีสถานชีวาภิบาลตำบลละ 1 แห่งให้ได้

"เวลาไม่รอใคร และเราจะไม่รอ ขอทำงานต่อเพื่อพี่น้องประชาชน" ทันตแพทย์หญิง ศรีญาดา กล่าว

โฆษก สธ. เผย อีก 42 จังหวัดลงประกาศราชกิจจา อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม ให้บริการตามนโยบาย '30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว' หลังนำร่องไปแล้ว 4 จังหวัด

นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง กล่าวว่า การขับเคลื่อนให้บริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว หลังจากนำร่องไปแล้วเฟสแรก 4 จังหวัดและคิกออฟไปแล้วเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 และเฟสสอง เฟสสามตามลำดับ ยังต้องใช้เวลาในการเตรียมการอยู่อีกหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นไปตามแผนการขับเคลื่อนของรัฐบาลที่ได้แบ่งจังหวัดในการเริ่มนโนบายเป็น 4 ระยะ โดยขณะนี้เป็นการเตรียมความพร้อมดำเนินการระยะที่ 4 ใน ซึ่งนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ จะครอบคลุมทั้งประเทศภายในปี 2567 ตามที่รัฐบาลประกาศไว้ 

“การขับเคลื่อนที่ได้มีการประกาศราชกิจจานุเบกษาฯ นั้น การเริ่มให้บริการขึ้นอยู่กับความพร้อมแต่ละจังหวัด ซึ่งจะมีการประกาศให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบอีกครั้ง แต่ทั้งนี้จะเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ คือจะครอบคลุมทั้งประเทศภายในปีนี้ สำหรับในส่วนของพื้นที่ กทม. นั้น ด้วยเป็นพื้นที่มีประชาชนอาศัยหนาแน่ รวมถึงจำนวนหน่วยบริการที่มีจำกัด ไม่มีเพียงพอ ดังนั้นการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ใน กทม. จึงกำหนดเป็นนโยบาย“บัตรประชาชนใบเดียว ไปปฐมภูมิได้ทุกแห่ง” ที่ประชาชนเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยให้เริ่มต้นไปรับบริการที่หน่วยนวัตกรรมบริการสาธารณสุขที่สะดวกก่อน แต่หากไม่ดีขึ้นก็ให้เข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำของท่าน แต่หากเกิดขีดความสามารถในการดูแลโดยหน่วยบริการประจำ ก็จะมีระบบส่งต่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพต่อไป โดยประชาชนสามาถสังเกตป้ายคลินิกปฐมภูมิ 7 วิชาชีพได้แก่ คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่นคลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพชุมชนอบอุ่นและร้านยา

ขณะนี้ สปสช.เขต 13 กทม. ได้ร่วมมือกับสภาวิชาชีพทางการแพทย์ ในการเชิญชวนสถานพยาบาล คลินิกเอกชน และร้านยา เข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบเพื่อให้บริการประชาชนตามนโยบาย โดยจากข้อมูล ล่าสุดมีหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยนวัตกรรมบริการสาธารณสุขใน กทม. จำนวน 1,135 แห่งแล้ว ประกอบด้วย คลินิกชุมชนอบอุ่น 134 แห่ง คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น 38 แห่ง คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น 89 แห่ง คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น 20 แห่ง คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น 12 แห่ง ร้านยาชุมชนอบอุ่น 830 แห่ง และคลินิกการพยาบาลชุมชนอบอุ่น 13 แห่ง โดยประชาชนในต่างจังหวัดสามารถเข้าไปดูรายละเอียดหน่วยบริการเอกชนได้ที่ลิ้งค์ของสปสช. https://www.nhso.go.th/page/Innovative-services-pilot-provinces 

“สปสช.เขต 13 กทม. อยู่ระหว่างการประชาสัมพันธ์และเชิญชวนให้สถานพยาบาล คลินิกเอกชน และร้านยา ที่กระจายอยู่ในเขตต่างๆ มาร่วมสมัครเพื่อให้บริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ กับ สปสช. ซึ่งทันทีที่ได้จำนวนตามเป้าหมายแล้ว จะมีการเปิดตัวการให้บริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ให้ประชาชนรับทราบต่อไป” โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

'รัฐ' ปลื้ม!! '30 บาทรักษาทุกที่-ร้านยาชุมชนอบอุ่น' ช่วยคนเจ็บป่วยนับล้าน เข้าถึง 'สิทธิ-บริการ' ได้จริง

(12 ก.ค. 67) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า 'นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่' บริการที่ 'ร้านยาคุณภาพ' ในการร่วมดูแลประชาชนผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ภายใต้โครงการ 'ร้านยาดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ' (common illnesses) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 'หน่วยนวัตกรรมบริการสาธารณสุข' ที่ผ่านมาจากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ขับเคลื่อนร่วมกับสภาเภสัชกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ผลปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างมากในพื้นที่ 45 จังหวัดที่เริ่มนโยบายนี้ 

นายคารม กล่าวว่า จากข้อมูลในระบบ AMED ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ใช้เป็นระบบปฏิบัติการในการเบิกจ่าย เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 พบว่า ขณะนี้มีร้านยาชุมชนอบอุ่นในระบบ จำนวน 2,151แห่ง มีประชาชนเข้ารับบริการแล้วจำนวน 1,125,253 คน เป็นการรับบริการจำนวน 2,849,528 ครั้ง โดยช่วงอายุ 45-64 ปี เป็นกลุ่มประชากรที่เข้ารับบริการมากที่สุดจำนวน 429,907 คน สำหรับกลุ่มอาการในการเข้ารับบริการ พบว่า ไข้ ไอ เจ็บคอ เป็นกลุ่มอาการที่มีการเข้ารับบริการมากที่สุด จำนวน 1,191,643 ครั้ง หรือร้อยละ 47 ของการเข้ารับบริการ กลุ่มอาการรองลงมาได้แก่ ปวดข้อ เจ็บกล้ามเนื้อ จำนวน 597,737 ครั้ง อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน จำนวน 339,846 ครั้ง ปวดท้อง จำนวน 239,967 ครั้ง ความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตา จำนวน 145,591 ครั้ง ปวดหัว จำนวน 117,091 ครั้ง และบาดแผล จำนวน 114,809 ครั้ง เป็นต้น

“จากข้อมูลที่ปรากฏนี้สะท้อนให้เห็นว่า 30 บาทรักษาทุกที่ รับบริการที่ร้านยาชุมชนอบอุ่น ได้ช่วยดูแลประชาชนที่มีภาวะเจ็บป่วยเล็กน้อย ซึ่งอยู่ใน 16 กลุ่มอาการ ได้เข้าถึงการรักษาโดยใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ การบริการที่ร้านยาชุมชนอบอุ่นนี้ เป็นส่วนสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ เป็นบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการดูแลจากเภสัชกรที่เป็นหนึ่งในวิชาชีพระบบสุขภาพ และให้คำปรึกษาหรือแนะนำการกินยา สำหรับการเข้ารับบริการขอให้ประชาชนสังเกตสติกเกอร์ 'ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย' โดยมีวิธีรับบริการ 2 รูปแบบ ไม่เสียค่าใช้จ่าย คือ 1. โทร.สายด่วน สปสช. 1330 จะมีเจ้าหน้าที่แนะนำให้รับบริการที่ร้านยาชุมชนอบอุ่นใกล้บ้าน หรือ 2. ดูรายชื่อร้านยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์ สปสช. https://www.nhso.go.th/page/List_of_retail_pharmacies หรือสังเกตสติกเกอร์ติดหน้าร้านยา ภายใต้ชื่อ ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย” นายคารม กล่าว

‘นายกฯ’ กดปุ่ม ‘30 บาทรักษาทุกที่’ ตั้งเป้าปีนี้ครอบคลุมทั่วประเทศ ย้อนความช่วง ‘ทักษิณ’ นั่งนายกฯ ชาวบ้านปลื้มผ่าตัดโรคหัวใจฟรี

(27 ก.ย. 67) ที่ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า กรุงเทพมหานคร และกล่าวปาฐกถา หัวข้อ ‘จาก 30 บาทรักษาทุกโรค สู่ 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า’

ทั้งนี้ มีนายภูมิธรรม เวชชัยรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี), นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข, นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง, พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม, น.ส. ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย, น.ส.จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นพ. พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมด้วย

นายชัชชาติ กล่าวว่า ในนามของกรุงเทพมหานครดีใจที่รัฐบาลมาสานต่อนโยบาย ‘30 บาทรักษาทุกที่’ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้าในพื้นที่กรุงเทพฯ เพราะเรื่องสุขภาพเป็นหัวใจของการลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากหากประชาชน เจ็บป่วยก็ไม่สามารถทำงานหารายได้ได้ ก็จะเป็นวงจรให้เกิดความเหลื่อมล้ำ 

ทั้งนี้ กทม.มีโรงพยาบาลชั้นดีจำนวนมาก แต่ก็มีประชากรแฝงถึง 10 ล้านคน ขณะที่ ปัญหาสาธารณสุขไม่ได้น้อยกว่าจังหวัดอื่น หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ ดังนั้นโครงการนี้สำคัญมาก ๆ โดยมี 3 ปัจจัยหลักที่สำคัญ คือ 

1. ใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมโยง 
2. การเชื่อมโยงข้อมูลโรงพยาบาล
3. ระบบปฐมภูมิที่เข้มแข็ง อาทิ มีหน่วยสาธารณสุขนวัตกรรม ร้านขายยาที่ใกล้บ้าน ทำให้ประชาชนไม่ต้องตื่นมาตี 3 ตี 4 เพื่อไปรอคิวการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลใหญ่ นี่คือหัวใจของ 30 บาทซึ่งที่ผ่านมาก็มีการพัฒนาร่วมกันอย่างเข้มแข็ง เป็นหัวใจที่จะสร้างความมั่นคง ความสะดวกและประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน นี่คือหัวใจพื้นฐาน ถ้าประชาชนมีสุขภาพดีจะช่วยกันในการพัฒนาประเทศต่อไป 

ขณะที่นายสมศักดิ์ กล่าวว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่มีเป้าหมายยกระดับบริการสุขภาพภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้คนไทยได้รับบริการที่ดีครอบคลุมมีคุณภาพมีมาตรฐานที่ดีขึ้นการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวแบ่งออกเป็น 4 ระยะ โดยระยะแรกเดือนม.ค.2567 นำร่อง 4 จังหวัดระยะที่ 2 เดือนมี.ค.2567 เพิ่มเติม 8 จังหวัดและระยะที่ 3 เดือนพ.ค. 2567 เพิ่มเติมอีก 33 จังหวัดและวันนี้กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่ 46 ที่จะเริ่มนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ 

โดยกระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายที่จะขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัดภายในปีนี้เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยทั้งประเทศการคิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่  เพื่อช่วยให้ประชาชนในกรุงเทพฯไม่ว่าจะมีสิทธิ์บัตรทองที่จังหวัดใดเพียงใช้บัตรประชาชนใบเดียวก็สามารถเข้าถึงการรับบริการสุขภาพได้ทั้งที่หน่วยบริการประจำตามเขตและหน่วยบริการระดับปฐมภูมิทุกแห่ง ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 19 แห่งศูนย์บริการสาธารณสุขสาขา 77 แห่งคลินิกชุมชนอีก 280 แห่ง รวมถึงสามารถเข้ารับบริการได้ที่หน่วยบริการนวัตกรรมปฐมภูมิที่มีตราสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่

สำหรับหน่วยบริการนวัตกรรมปฐมภูมิ ได้แก่ ร้านยาคุณภาพคลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรมอบอุ่น คลินิกพยาบาลอบอุ่น เทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น

ด้านนายกฯ กล่าวว่า พูดถึง 30 บาทรักษาทุกโรคก็ทำให้เกิดภาพมากมาย ตนได้ยินนโยบายนี้มาตั้งแต่อายุประมาณ 8-9 ขวบและไม่ว่าจะไปที่ไหน ๆ ผ่านมาแล้วเป็นสิบ ๆ ปี ก็ยังมีคนขอบคุณและพูดถึงนโยบายนี้เสมอ ซึ่งดิฉันเองมีประสบการณ์ดี ๆ หลายอย่าง ขอยกตัวอย่างสั้น ๆ วันหนึ่งคุณพ่อตอนนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้กลับมาที่บ้านทานข้าวเย็นกันปกติ คุณพ่อบอกว่าไปต่างจังหวัดมามีผู้ชายคนหนึ่งวิ่งมาหาและเปิดเสื้อมีแผลยาวตั้งแต่ด้านบน ถึงช่วงท้อง และบอกว่าได้ผ่าตัดหัวใจมาด้วยบัตร 30 บาทซึ่งคุณพ่อเล่าด้วยความภาคภูมิใจอย่างมาก ซึ่งวันนั้นคุณพ่อเป็นหัวหน้ารัฐบาลเป็นนายกรัฐมนตรี

“แต่เบื้องหลังการทำงานยังมีคนอื่นอีกมากมายที่ทำให้นโยบายนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ รวมถึงให้พี่น้องประชาชนได้ใช้ 30 บาท ไม่ต้องล้มละลาย ไม่ต้องจ่ายเงินมากมาย กู้หนี้ยืมสินมาตั้งแต่ที่พรรคไทยเป็นรัฐบาลในวันนั้น จนมาถึงรัฐบาลเพื่อไทยในวันนี้ เรามีความภูมิใจอย่างมากกับนโยบายที่สร้างความภาคภูมิใจอย่างที่สุดให้กับเรา ฉะนั้นมาถึงวันนี้ถึงเวลาแล้วเราจะต่อยอด 30 บาทรักษาทุกโรคให้เป็น 30 บาทรักษาทุกที่” นายยกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวต่อว่า เวลาผ่านไปมีนวัตกรรมต่าง ๆ มากขึ้น เราได้เก็บตัวอย่างทั้งข้อดีและข้อเสียพร้อมที่จะปรับปรุง อย่างที่บอกผ่านมาแล้วตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ 23 ปีวันนี้ 30 บาทรักษาทุกที่มาถึงกรุงเทพฯ ต้องลองถามพี่น้องคนกรุงเทพฯ เวลาเจ็บป่วยไปหาหมอที่ไหนกันบ้าง เวลาเจ็บป่วยเอาแค่ตัวร้อน ปวดท้องบางทีต้องเสียเวลาทั้งวันไปรอในโรงพยาบาลรัฐใหญ่ ๆ ถ้าพูดถึงบางคนที่มีทุนทรัพย์ไม่อยากไปรอทั้งวันก็ไปโรงพยาบาลเอกชนทั้งนี้ เรื่องสาธารณสุขสำคัญมาก คนที่มากรุงเทพฯไม่มีทางเลือก ไปที่ไหนก็ต้องไปโรงพยาบาลที่ต้องรอนาน บางทีไม่ได้รอ แค่ตัวเองคนเดียวญาติหรือคนที่พามาจะต้องเสียเวลาไปด้วยทั้งวัน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราเห็นและพร้อมที่จะแก้ไขในโรงพยาบาลส่งเสริมในจังหวัดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ ให้มีสาธารณสุขที่ได้ปรับปรุง ไปถึงจุดที่ค่อนข้างมากไม่ต้องมีโรงพยาบาลใหญ่เป็นทางเลือกเท่านั้น แต่สามารถจะไปลงโรงพยาบาลที่ส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลได้ตามต่างจังหวัดที่มีถึง 7,000 แห่งและมีโรงพยาบาลประจำชุมชนและอำเภอมากกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ 

นายกฯ กล่าวอีกว่า วันนี้ถือว่ากรุงเทพฯ ยังขาดแคลนในเรื่องของบริการสาธารณสุขระดับต้นและระดับกลางมากกว่าต่างจังหวัด ซึ่งตอนนี้กรุงเทพฯ ควรมีศูนย์บริการสาธารณสุข 500 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชน 50 แห่ง หากเราป่วยขั้นพื้นฐานและสามารถเข้าในคลินิกหรือร้านขายยาควรที่จะได้รับการรักษาในแบบเดียวกัน นั่นคือการได้รับยาที่มีคุณภาพ เพื่อที่สามารถดูแลตัวเองและเฝ้าระวังระยะการป่วยที่บ้าน ไม่ต้องเสียเวลาที่โรงพยาบาลใหญ่ และบุคลากรทางการแพทย์ก็ต้องทำงานหนักขึ้น เมื่อเวลาที่เราป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ดูแลทั้งหมดเท่ากัน เพราะโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เองเหมาะสำหรับโรคที่เป็นเฉพาะทางและโรคที่ร้ายแรงอย่างเช่นโรคมะเร็ง หัวใจ หรือไต ต่อไปนี้คนเจ็บป่วยเล็กน้อยในกรุงเทพฯสามารถไปร้านขายยาใกล้บ้าน คลินิกเวชกรรมใกล้บ้าน ทันตกรรมใกล้บ้าน รถโมบายตรวจเลือดที่บางครั้งอาจจะมีการเข้าไปถึงชุมชน และเวลาขอเบิกยาหมอสามารถออนไลน์ถามอาการได้ เพื่อให้ได้ยาที่มีคุณภาพกลับบ้านเช่นกัน 30 บาทรักษาทุกที่ให้บริการในทันที ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย 

ทั้งนี้การดำเนินงานตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา 30 บาทรักษาทุกที่ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากและมีผลงาน 1 ใน 4 ของผู้ป่วยเลือกใช้บริการที่คลินิกเอกชนใกล้บ้านแทนการมาโรงพยาบาล เพื่อลดความแออัดลดระยะเวลาการรอตรวจ ลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ที่สำคัญลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงพยาบาล โดยเฉลี่ย 160 บาทต่อครั้งลดระยะเวลาในการรอถึง 50% จากเฉลี่ย 2 ชั่วโมงเหลือประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อรักษาใกล้บ้านก็จะลดภาระการขาดงานของผู้ป่วยและญาติที่มาด้วยกัน

“ที่สำคัญพี่น้องประชาชนผู้เข้ารับบริการกว่า 98% พึงพอใจกับนโยบายนี้อย่างมาก 30 บาทรักษาทุกที่เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยตอนแรกเริ่มใน 4 จังหวัดนำร่องและขยายนโยบายครอบคลุมเพิ่มเติมไปอีก 41 จังหวัดรวมทั้งสิ้น 45 จังหวัดและวันเดียวกันนี้ จะเป็นอีกวันประวัติศาสตร์ทางด้านสาธารณสุขไทยที่ต้องบันทึกไว้ว่าเราทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐและรัฐบาลสภาวิชาชีพทางการแพทย์ หน่วยบริการภาคเอกชนและประชาชน ได้ร่วมมือกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทำให้กรุงเทพฯอยู่ในโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่” น.ส.แพทองธาร กล่าว

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า สุขภาพดีเริ่มที่ใกล้บ้านได้สำเร็จ ทำให้ 30 บาทรักษาทุกที่ ขยายเป็น 46 จังหวัดเรียบร้อย อยากขอให้พี่น้องประชาชนคนไทยมั่นใจได้ว่าภายในปี 2567 รัฐบาลจะสามารถขยาย 30 บาทรักษาทุกที่ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทุกตารางนิ้วบนประเทศไทย เพื่อให้คนไทยเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ดูแลและขอย้ำอีกครั้ง สำหรับคนกรุงเทพฯ สามารถดูสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่และเข้าไปใช้บริการได้ทันที

จากนั้นนายกฯเยี่ยมชมบูธเกี่ยวกับสุขภาพ ภายในงาน โดยนายกฯ เน้นย้ำขอให้ดูแลกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษในพื้นที่น้ำท่วม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top