Monday, 21 April 2025
ไฟฟ้า

‘กฟผ.’ เตรียมแผนรับมือ หลังไฟไหม้ถังเก็บสารเคมีมาบตาพุด ขอให้ ปชช.มั่นใจ ยัน!! ไม่กระทบต่อระบบไฟฟ้าของประเทศ

(9 พ.ค. 67) นายณัฐวุฒิ ผลประเสริฐ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบไฟฟ้าของประเทศไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เพลิงไหม้บริษัทมาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด 

โดยเบื้องต้น กฟผ. ได้จัดตั้งทีมเฉพาะกิจเพื่อติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมระบบไฟฟ้ารองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยสั่งเพิ่มการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์ด้วยเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันตก โรงไฟฟ้ากัลฟ์อุทัยด้วยเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติตะวันออก เพื่อเตรียมการเปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นน้ำมันดีเซล และเพิ่มการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำต่างประเทศ พร้อมทั้งประสานโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติตะวันออกทั้งหมดให้เตรียมความพร้อมหากมีความจำเป็นต้องเดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซล 

สำหรับการเตรียมความพร้อมด้านเชื้อเพลิง ขณะนี้มีน้ำมันสำรองเพียงพอรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินทดแทนก๊าซธรรมชาติจึงไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า

“กฟผ. พร้อมร่วมมือกับทุกหน่วยงานรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของประชาชนและทุกภาคส่วนอย่างเต็มความสามารถ” รองผู้ว่าการระบบส่งกล่าวทิ้งท้าย

‘รัดเกล้า’ เผยมาตรการ อนุญาตให้ ‘เอกชน-เอกชน’ ซื้อขายไฟฟ้ากันได้ ชี้!! นโยบายนี้กระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยพัฒนาระบบพลังงาน เพื่อคนไทยทุกคน 

(13 ก.ค.67) เนเน่ รัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์คลิป อธิบายถึง ‘Direct PPA’ โดยได้ระบุว่า ...

Direct PPA ย่อมาจาก Direct Power Purchase agreement 

ซึ่งก็คือ การอนุญาตให้เอกชนและเอกชนซื้อขายไฟฟ้ากันได้

รัฐบาลมีแนวคิดอยู่ 2 แนวทาง

ประการแรกก็คือการส่งเสริมการลงทุนจากทางภาคเอกชน โดยให้เอกชนมีทางเลือกในการซื้อไฟฟ้า โดยสามารถซื้อไฟฟ้าจากเอกชนด้วยกันได้

ประการที่ 2 ก็คือ ลดการผูกขาดค่าราคาไฟฟ้า ซึ่งในส่วนนี้ระยะยาวจะช่วยให้มีการแข่งขันกันเกิดขึ้น ซึ่งราคาค่าไฟฟ้าก็จะถูกลง และมีความเป็นธรรมต่อประชาชนมากขึ้น

มาตรการนี้นอกจากจะช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการเปิดประตูไปสู่การพัฒนาระบบไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงพลังงานสะอาดอีกด้วย

อัพเดทล่าสุดจาก คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้เห็นชอบ โครงการที่ดีมีประโยชน์ดีแล้ว ทั้งนี้ก็ได้ดำเนินการผ่านระบบวงการไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่ 3 โดยโครงการนี้จะอนุญาตให้ บริษัทชั้นนำของโลก ที่รัฐบาลได้เชิญชวนไว้ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ซึ่งจากนี้เป็นต้นไปก็ต้องมีการศึกษาถึงผลกระทบ แล้วจะทำค่าบริการให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้

ทำเพื่อคนไทยทุกคน

‘พีระพันธุ์’ ลุยชงครม. ‘ตรึงค่าไฟฟ้า’ ถึงปลายปีนี้ หลังเคาะเหลือ 4.18 บาทต่อหน่วย ช่วยเหลือปชช.

(23 ก.ค. 67) รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันนี้ (23 ก.ค.) โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญหลายเรื่องโดยในส่วนแรกนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน จะรายงานให้ที่ประชุม ครม.รับทราบถึงการตรึงค่าไฟฟ้างวดปลายปี 2567 (ก.ย.-ธ.ค.) ที่อัตรา 4.18 บาทต่อหน่วย หลังจากที่ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานทำมาตรการในการดูแลค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน และเมื่อสัปดาห์ก่อนนายพีระพันธุ์ได้หารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับการตรึงค่าไฟฟ้าไว้ในอัตราดังกล่าวแล้ว

นอกจากนั้นในการประชุม ครม.วันนี้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเสนอให้ครม.พิจารณายกระดับการกำจัดปลาหมอคางดำที่กำลังระบาดอย่างรวดเร็วในแหล่งน้ำหลายจังหวัดเป็นวาระแห่งชาติ รวมทั้งพิจารณาจัดตั้งเป็นจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ โดยการันตีราคารับซื้อที่กิโลกรัมละ 15 บาท โดยจะเริ่มรับซื้อตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้

ด้าน กระทรวงคมนาคม เสนอ รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรภูฏาน

ด้าน คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เสนอ ขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ และโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่ - มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด - มุกดาหาร - นครพนม ของการรถไฟแห่งประเทศไทยในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ด้าน กระทรวงการคลัง เสนอ โครงการสลากการกุศลเพิ่มเติม 

ด้าน กระทรวงการคลัง เสนอ ร่างกฎกระทรวงกำหนดกรณีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

>> MOU ส่งแรงงานไปเกาหลี

ด้าน กระทรวงแรงงาน เสนอ การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไทยไปสาธารณรัฐ เกาหลีภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ และขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรี Abu Dhabi Dalogue ครั้งที่ 7 (Abu Dhabi Dailogue Seventh Ministerial Dectaration)

ด้าน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เสนอ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

>> ชงเลิกประกาศ คสช.

ด้าน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอ ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับที่หมดความจำเป็นและไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน พ.ศ. ....

ด้าน กระทรวงคมนาคม เสนอ การลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อบริหารจัดการโครงการฝึกอบรมสำหรับประเทศกำลังพัฒนา

ด้าน กระทรวงกลาโหม เสนอ ขอโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567ในแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเงินราชการลับ

ด้าน คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เสนอ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าก่อสร้าง อาคารที่พักอาศัยส่วนกลาง ขนาด 68 ครอบครัว จำนวน 2 อาคาร และอาคารที่จอดรถ สูง 8 ชั้น จำนวน 1 หลัง แขวงสามเสนใน เขตพญาไทกรุงเทพมหานคร

ด้าน กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ ขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 57 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

ด้าน กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ การจัดทำเอกสาร National Commitment สําหรับการประชุมสุดยอดว่าด้วยกีฬาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sport for Sustainable Development Surnmit: S45D Summit) ในห้วงการแข่งขันก็หาโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

ด้าน กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ การรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือ ลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 15 การประชุมรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ ครั้งที่ 3 และการรับตำแหน่งประธานร่วมของหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง - สหรัฐฯ ในปี 2568

สำหรับวาระเพื่อรับทราบ กระทรวงพลังงาน เสนอ ร่างกฎกระทรวงระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ พ.ศ. ....

ด้าน กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอ ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนเคลือบ อะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนต้องเป็นไปตามมาตรฐาน

ด้าน กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอ ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....และเสนอ ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอ ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันและปราบปราม การค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ

>> ชงเสนอไม้พะยูงเป็นสินค้าต้องห้าม

ด้าน กระทรวงพาณิชย์ เสนอ ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ไม้พะยูงเป็นสินค้าที่ต้องห้าม ให้ไม้ท่อน ไม้แปรรูป และไม้ล้อมบางชนิด เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต และให้สิ่งประดิษฐ์ของไม้และถ่านไม้เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรอง ในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ด้าน สภาผู้แทนราษฎร เสนอ รายงานผลการศึกษา เรื่อง รายงานผลการดำเนินการของคณะกรรมาธิการรายไตรมาสที่ 1 (ตุลาคม - ธันวาคม) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ

ด้าน กระทรวงการต่างประเทศ เสนอรายงานประเทศมองโกเลียขอเปิดสถานกงสลกิตติมศักดิ์มองโวเสีย ณ จังหวัดชลบุรี และแต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์มองโกเลีย ณ จังหวัดชลบุรี (นายนิธิวัชร์ เรืองฉัตรศรีกุล)

ด้าน กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ การสิ้นสุดหน้าที่ของกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐฟินแลนด์ ณ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และการแต่งตั้งกงสุลกิดติมศักดิ์ที่สาธารณรัฐฟินแลนด์ ณ จังหวัดชลบุรี (นายฤทธิกร ศิริประเสริฐโชค)

ด้าน กระทรวงพาณิชย์ เสนอ รายงานผลการเดินทางเยือนสาธารณ์รัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาวของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย)

ด้าน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอ รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะกรณีการป้องกันภาวะความพิการแต่กำเนิด

ด้าน สภาเกษตรกรแห่งชาติ เสนอ (ร่าง) ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก (ไก่งวง) ในประเทศไทย

ด้าน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เสนอ การดำเนินการเกี่ยวกับการเปิด การขยายเวลา และการปิดผ่านแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

ด้าน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง

ด้าน กระทรวงการคลัง เสนอ การแต่งตั้งผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

ด้าน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เสนอ แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ด้าน กระทรวงสาธารณสุข เสนอ การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

ด้าน กระทรวงยุติธรรม เสนอ รายงานประจำปีคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

ด้าน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งเเวดล้อม เสนอ รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.ศ. 2566 และรายงานผลการติดตาม การดำเนินงานตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในรายงานสถามการณ์คุณภาพ สิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2564

ด้าน กระทรวงการคลัง เสนอ รายงานผลการดำเนินการของสถาบันการเงินประชาชนประจำปี 2566

‘พีระพันธุ์’ จ่อออกกฎหมายลดความยุ่งยากติดตั้ง-ขออนุญาต ‘โซลาร์รูฟท็อป’ หนุน ‘เงิน-ลดภาษี’ ช่วยคนไทยหลุดพ้นภาระค่าไฟหลักที่ต้องปรับทุก 4 เดือน

เมื่อวานนี้ (2 ก.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อที่จะกํากับดูแลให้การติดตั้งระบบโซลาร์บนหลังคาบ้าน เพื่อติดตั้งได้สะดวกและง่ายขึ้น และมีมาตรการสนับสนุนเงินทุนในการติดตั้ง การหักค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษี  

ทั้งนี้ คาดว่าจะเสร็จพร้อมกับกฎหมายน้ำมันภายในปลายปี 2567 นี้ เพื่อมีส่วนช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากภาระค่าไฟหลักที่ต้องปรับทุก 4 เดือน

รวมถึงเตรียมสนับสนุนการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีและอุปกรณ์สำหรับการติดตั้งระบบ Solar Rooftop แบตเตอรี่สำหรับกักเก็บพลังงานไว้ใช้ในเวลากลางคืนในราคาถูก

ซึ่งอยู่ระหว่างการทดลอง เบื้องต้นก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยระบบดังกล่าวนี้สามารถใช้กับเครื่องแอร์ได้ 3 เครื่อง ตู้เย็น 1 เครื่อง ประกอบด้วยแผงโซลาร์ เครื่องอินเวอร์เตอร์ และแบตเตอรี่ ทั้งหมดจะอยู่ในวงเงินประมาณ 30,000 บาท

โดยจะเป็นราคาต้นทุนการผลิตไม่รวมค่าบริหารจัดการ สามารถใช้ไฟได้ทั้งกลางวันและกลางคืน 

“เชื่อว่าในรอบปีที่ 2 จะมีผลิตภัณฑ์เหล่านี้ออกมาจำหน่ายในราคาถูก ซึ่งจะลดภาระให้ประชาชนหลุดพ้นจากปัญหาค่าไฟแพงได้"

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า การดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงค่าไฟที่ถูกลงโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้จากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา และขจัดปัญหาความยุ่งยากในการติดตั้งและการขออนุญาต

‘พลังงาน’ เล็งเสนอ กพช. ต่ออายุ ‘โครงการรับซื้อไฟฟ้าฯ’ อีก 2 ปี พร้อมปรับราคารับซื้อ จูงใจโรงงาน-อาคารธุรกิจขายไฟฟ้าเข้าระบบมากขึ้น

เมื่อวานนี้ (26 ก.ย. 67) แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่ากรณีมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน และแบบทุ่นลอยน้ำ ด้วยอัตรารับซื้อไฟฟ้า 1 บาทต่อหน่วย สำหรับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ โดยมีกำหนดระยะเวลารับซื้อ ไม่เกิน 2 ปี (เริ่มต้นวันที่ 1 ม.ค. 2568 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2569)

โดยระบุเหตุผลมาจากเมื่อปี 2565 เกิดปัญหาวิกฤติราคาพลังงาน เนื่องจากผลกระทบของสงครามระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน ประกอบกับเป็นช่วงที่แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณยังผลิตก๊าซฯ เข้าระบบไม่เต็มที่ตามสัญญา ทำให้ไทยได้รับผลกระทบด้านเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าทั้งด้านราคาและปริมาณ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในช่วงนั้นเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ในการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่เหลือใช้ของผู้ประกอบการ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า และลดปัญหาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ช่วงนั้นมีราคาแพงมาก

จากนั้นคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศโครงการ “รับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน ทั้งจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีสัญญาและไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า” ในปี 2565 ต่อมา กพช. ได้ขยายเวลาโครงการดังกล่าวต่อไปอีก ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2567 นี้

โดยที่ผ่านมาผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 64 เมกะวัตต์ ตามข้อกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าดังนี้ เชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพและขยะ ที่ราคา 2.20 บาทต่อหน่วย และโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน แบบทุ่นลอยน้ำ และพลังงานลม กำหนดอัตรารับซื้อไว้ที่ 0.50 บาทต่อหน่วย ซึ่งอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มนี้จะไม่เกินกว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าในสัญญาเดิม โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จะเป็นแบบไม่บังคับปริมาณซื้อขายไฟฟ้า (Non-Firm)

อย่างไรก็ตามล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมานี้ กบง.ได้เห็นชอบตามที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เสนอต่ออายุโครงการดังกล่าวออกไปอีก 2 ปี ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2568- 31 ธ.ค. 2569 โดยเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จาก 50 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 1 บาทต่อหน่วย เพื่อจูงใจผู้ประกอบการโรงงาน และอาคารธุรกิจให้ร่วมขายไฟฟ้าเข้าระบบมากขึ้น

ทั้งนี้เนื่องจากทางกระทรวงพลังงานพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้อยู่ในช่วงของวิกฤตพลังงาน แต่โครงการดังกล่าวถือว่ามีประโยชน์ เนื่องจากราคารับซื้อไฟฟ้าไม่แพง ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดค่าไฟฟ้าลงได้ และลดการนำเข้า LNG ลงได้ประมาณ 1 ลำเรือ หรือประมาณ 60,000 ตัน 

นอกจากนี้ยังได้สอบถามความเห็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนก็พบว่า ยังมีความสนใจขายไฟฟ้าส่วนเกินดังกล่าวให้ภาครัฐเป็นจำนวนมาก ซึ่งคาดว่า 2 ปีจากนี้ น่าจะรับซื้อได้ประมาณเกือบ 100 เมกะวัตต์  

โดยการปรับราคารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จำเป็นต้องเสนอ กบง. ในครั้งนี้ก่อน จากนั้นจะนำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาอนุมัติขยายโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนส่วนเกินที่เหลือจากการใช้งานในทุกประเภทเชื้อเพลิง ไปอีก 2 ปี ซึ่งไฟฟ้าส่วนที่ไม่ใช่โซลาร์เซลล์จะยังคงใช้อัตรารับซื้อไฟฟ้าเดิม ส่วนไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์จะปรับเพิ่มการรับซื้อเป็น 1 บาทต่อหน่วย โดยจะไม่มีการกำหนดปริมาณรับซื้อโดยรวมไว้

อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ ทาง กกพ. จะต้องไปออกระเบียบหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว และออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าอย่างเป็นทางการต่อไป ซึ่งคาดว่าการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนดังกล่าว จะเปิดรับซื้อพร้อมกันทุกประเภทในวันที่ 1 ม.ค. 2568 เป็นต้นไป

ส่อง! ความเห็น ‘สภาพัฒน์’ ต่อโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าฯ แนะ เร่งปรับปรุงกฎ รับยุคประชาชนผลิตไฟฟ้าได้เองที่บ้าน

เมื่อวานนี้ (13 ต.ค. 67) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ มีความเห็นต่อ โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร วงเงินลงทุน 38,500 ล้านบาท

เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า (โครงการ TIEC) ระยะที่ 3.1 (ภายใต้โครงการ TIEC ระยะที่ 3) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประกอบความเห็นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 8 ต.ค. 2567 ซึ่งได้เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน เสนอ

ทั้งนี้ เดิมสภาพัฒน์ ได้เห็นชอบต่อโครงการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า กรอบวงเงินลงทุน 44,040 ล้านบาท ตามมติครม. 14 ก.ค. 2558

เพื่อปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ในการรองรับการรับซื้อไฟฟ้า จากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกรายพื้นที่ตามแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1

และการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศตามมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อ 5 พ.ค. 2565 และ 8 มี.ค. 2566 รวมทั้งเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าให้สามารถส่งพลังงานไฟฟ้าไปยังภาคกลาง และเขตนครหลวง ซึ่งเป็นศูนย์กลางความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในปัจจุบันได้อย่างมีเสถียรภาพ

สภาพัฒน์ เห็นว่า สําหรับการดําเนินโครงการในส่วนที่เหลือภายใต้โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า ระยะที่ 3

ได้แก่ การก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้า 500 kV อุบลราชธานี 3 - นครราชสีมา 3 วงจรคู่ ระยะทาง ประมาณ 355 กิโลเมตร ซึ่งมีกรอบวงเงินคงเหลือตามมติคณะรัฐมนตรีประมาณ 16,850 ล้านบาท เห็นควรให้ กฟผ. พิจารณาดําเนินการตามหลักการตามมติครม. 14 ก.ค. 2558

โดยพิจารณาปรับแผนการลงทุนให้เป็นปัจจุบันให้สอดคล้องกับปริมาณ การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร

และการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ เพื่อนําเสนอคณะกรรมการ กฟภ. (บอร์ด กฟผ.) พิจารณาอนุมัติ และนำเสนอกระทรวงพลังงานเพื่อพิจารณา ให้ความเห็นชอบ พร้อมทั้งรายงานให้ สภาพัฒน์ และคณะรัฐมนตรีทราบ

ทั้งนี้ กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลง ในสาระสําคัญของโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า

อาทิ กรอบวงเงินลงทุนเพิ่มขึ้น เห็นควรให้ กฟผ.เสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน

ทั้งนี้ ปัจจุบันภาครัฐมีนโยบายและเปิดรับการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือกและการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับกระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างจัดทําแผนพลังงานชาติ

ซึ่งรวมถึงแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: PDP) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ (Alternative Energy Development Plan: AEDP) ฉบับใหม่

ที่ให้ความสําคัญกับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประเทศตามข้อตกลงของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (COP 28)

ดังนั้น เมื่อแผนดังกล่าวมีความชัดเจนแล้ว เห็นควรมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและ กฟผ. เร่งศึกษาแนวทางการลงทุนพัฒนาศักยภาพของระบบส่งไฟฟ้าของประเทศในระยะต่อไป

เพื่อให้สามารถลงทุนพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า ให้มีศักยภาพรองรับปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก และการรับซื้อไฟฟ้า จากต่างประเทศที่จะเข้าสู่ระบบไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สภาพัฒน์ ยังเสนอให้คณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดําเนินการจัดทําข้อกําหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Code: TPA Code) และปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ

รวมถึงพิจารณากําหนดอัตราค่าบริการใช้ หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Wheeling Charge) ที่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง โดยคํานึงถึงผลตอบแทน ที่เหมาะสมของการลงทุนในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ และไม่เป็นภาระแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนรวม

เพื่อเป็นหลักเกณฑ์และแนวทางในการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้ากับโครงข่ายไฟฟ้าของ 3 การไฟฟ้า ( กฟผ. กฟน. และ กฟภ.) ซึ่งจะมีส่วนสําคัญในการรองรับ ทิศทางตลาดพลังงานที่เอกชนและประชาชนหันมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกใช้เอง

รวมถึงซื้อ/ขายไฟฟ้าโดยตรงกับผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจน ดึงดูดให้บริษัทอุตสาหกรรมต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้มากขึ้นต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top