Wednesday, 23 April 2025
โรงเรียนนานาชาติ

รู้จัก 'เวลลิงตัน คอลเลจ' โรงเรียนนานาชาติสุดคูล สภาพแวดล้อมสุขใจ ที่ 'พ่อแม่คนดัง' พร้อมใจเลือกให้คุณหนูๆ

พ่อแม่ยุคใหม่ตระหนักดีว่า การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างแท้จริงนั้นไม่ได้หมายถึงการมุ่งสร้างทักษะทางวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการปลูกฝังทักษะชีวิตที่จำเป็นผ่านประสบการณ์ที่หล่อหลอมให้เด็ก ๆ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีอิสระ และมีความมั่นใจในแบบของตัวเอง

ช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ที่โรงเรียนนั้นมีบทบาทสําคัญในชีวิตของเด็ก พ่อแม่ทุกคนจึงอยากมีส่วนร่วม!!

ในประสบการณ์อันมีค่านี้ เพื่อให้มั่นใจว่าบุตรหลานอันเป็นที่รักได้รับการเติมเต็มประสบการณ์อย่างดีที่สุดและมีความสุขอย่างแท้จริง ดังนั้นสิ่งที่ผู้ปกครองคาดหวังจึงมีมากกว่า “สิ่งอํานวยความสะดวกระดับเวิลด์คลาส” ผู้ปกครองของเด็กเล็กส่วนใหญ่อาจมองหาสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและส่งเสริมพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของลูกน้อยผ่านการเล่นอย่างสนุกสนาน ในขณะที่ผู้ปกครองของบุตรหลานวัยมัธยม มองหาแนวทางที่สนับสนุน “การคิดนอกกรอบ” ที่เอื้อต่อการศึกษาที่ครอบคลุม ทันสมัย มีความหลากหลาย ให้เด็ก ๆ ได้ค้นพบตัวตน เรียนรู้ความชอบ สร้างจุดแข็ง และสามารถกําหนดเส้นทางอนาคตของตนเองได้ในวันหน้า

พ่อแม่และผู้ปกครองย่อมคาดหวังให้ช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ที่โรงเรียน เป็นช่วงเวลาที่บุตรหลานได้รับประสบการณ์อันหลากหลายทั้งในและนอกห้องเรียน แล้วสภาพแวดล้อมแบบไหนที่จะให้พ่อแม่คนดังจะสามารถไว้วางใจ อุ่นใจสบายใจ ว่าจะทำให้ลูก ๆ เรียนรู้ได้อย่างมีความสุข และการเฝ้ามองบุตรหลานที่ต้องเรียนออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมานั้น ทำให้มุมมองเปลี่ยนไปหรือไม่ ลองมาฟังความคิดเห็นของพ่อแม่คนดัง ที่ตบเท้ากันมาร่วมกิจกรรม “Senior School Special Private Viewing” ซึ่งโรงเรียนนานาชาติเวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพฯ เปิดบ้านต้อนรับผู้ปกครองของนักเรียนระดับซีเนียร์แบบเอ็กซคลูซีฟ เข้าเยี่ยมชมและแนะนำอาคารเรียนใหม่สำหรับนักเรียนระดับเยียร์ 7 ขึ้นไป ที่ผสมผสานระหว่างพื้นที่การเรียนรู้และการใช้ชีวิต (Learning & Living Space) ไว้ในพื้นที่เดียวกันอย่างลงตัว ซึ่งมีเหล่าพ่อแม่คนดังตบเท้าเข้าร่วมงานอย่างอบอุ่น

นท-นทชาติ จินตกานนท์ ผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) คุณพ่อของน้องน็อบบี้ นักเรียนระดับชั้นซีเนียร์ บอกว่า “ถ้าเราพูดในมุมทั่วไป สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ดีคือที่ที่ทำให้เด็กรู้สึก “สบาย” ได้ใช้ชีวิตสนุก ๆ ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ ทำให้เขาเกิดความอยากรู้อยากเรียนไปโดยธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้ความรู้ที่ได้มานั้นดีที่สุด อย่างอาคารเรียนระดับชั้นซีเนียร์ (Senior School) ของที่เวลลิงตัน คอลเลจ กรุงเทพฯ ก็จะเต็มไปด้วยพื้นที่ที่เดินเข้ามาแล้วรู้สึกสบายและมีการเรียนรู้แฝงอยู่ในทุกซอกมุม ซึ่งผมเชื่อว่าสภาพแวดล้อมที่ดีจะช่วยดึงสิ่งที่ดีที่สุดในตัวเด็กแต่ละคน ถ้าคุณมีศักยภาพเด่นตรงไหน โรงเรียนจะสามารถดึงสิ่งนั้นออกมาได้  ยิ่งวิกฤต COVID-19 ที่ทำให้ต้องเรียนออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมา ก็ยิ่งทำให้ตระหนักว่าสังคมเป็นสิ่งที่ยังสำคัญมาก ถึงแม้เทคโนโลยีจะทำให้เรามีทางเลือกในการเรียนรู้เพิ่มขึ้น แต่การที่ลูกเราได้มาเรียน มาเจอเพื่อน ๆ มาอยู่สภาพแวดล้อมที่ดีในโรงเรียนนั้นยังคงสำคัญมาก”

เช่นเดียวกับ นัท-ชิณทัต ศิริชนะชัย และออม-นวดี โมกขะเวส คุณพ่อคุณแม่น้องมังกร วัย 11 ปี ต่างก็ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า รู้สึกดีที่โรงเรียนที่เลือกให้ลูกนั้นมีการทุ่มเทให้กับสภาพแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ ให้ความรู้สึกที่ไม่ใช่แค่โรงเรียน หากแต่เป็น “เมือง ๆ หนึ่ง” ที่เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ได้อย่างไร้ขอบเขต ไปอยู่มุมไหนก็เกิดไอเดียได้ มากกว่าสมัยก่อนที่ครูต้องเป็นศูนย์กลางในการเรียนการสอน  

“พอได้เรียนในที่ที่ให้ความอิสระ คล่องตัวมากขึ้น ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กก็จะตามมาด้วย เป็นโลกที่พวกเขาจะได้คิดได้ใช้พื้นที่อย่างเต็มที่ อย่างเมื่อก่อนลูกผมจะไม่ได้ชอบวิทยาศาสตร์ แต่พอมาอยู่ในสถานที่ที่มันเอื้อ บรรยากาศมันได้ มองไปนอกหน้าต่างก็มีต้นไม้  ในห้องก็มีครู มีเพื่อน ๆ มีอุปกรณ์ครบถ้วน ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงกลายเป็นกลับบ้านทุกวันมาเขาพูดถึงวิชาวิทย์ฯ ว่าสนุกขึ้น ตอนนี้อยากไปห้องแล็บที่สุด” คุณนัทเล่าพร้อมรอยยิ้มแห่งความภูมิใจที่ส่งผ่านแมสก์ออกมา

 

 

'ศูนย์วิจัยกสิกรไทย' มอง!! ตัวแปรโรงเรียนนานาชาติผุดเป็นดอกเห็ด หลักสูตรทันสมัย-คนมีเงินระดับ 30 ล้านบาทขึ้นไป จ่อเพิ่มขึ้นถึง 24%

(6 ก.ย.67) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในปี 2567 ตลาดโรงเรียนนานาชาติจะเติบโต 13% จากปีก่อนหน้า และมีมูลค่ามากกว่า 8 หมื่นล้านบาท จากจำนวนนักเรียนและโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าเล่าเรียนที่มีการปรับตัวสูงขึ้น โรงเรียนนานาชาติยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวไปสู่นอกกรุงเทพฯ มากขึ้น เนื่องจากพื้นที่ที่จำกัดในเมืองหลวง และการแข่งขันของจำนวนโรงเรียนในกรุงเทพฯ ที่หนาแน่น

แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของนักเรียนโรงเรียนนานาชาติในไทยเกิดจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือ การเพิ่มขึ้นของนักเรียนต่างชาติที่สอดคล้องกับจำนวนชาวต่างชาติในตำแหน่งผู้บริหารที่เข้ามาทำงานในไทย ที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 0.6% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ ความนิยมในหลักสูตรการศึกษาต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยและทันการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเมื่อเทียบกับหลักสูตรไทย รวมไปถึงศักยภาพการลงทุนด้านการศึกษาของผู้ปกครองที่สูงขึ้น สะท้อนจากคาดการณ์จำนวนคนที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ฯ ในไทยจะเพิ่มขึ้น 24% ระหว่างปี 2566-2571 ยังเป็นปัจจัยหลักที่หนุนการเติบโตของจำนวนนักเรียน โรงเรียนนานาชาติ

แนวโน้มธุรกิจโรงเรียนนานาชาตินั้น การแข่งขันของโรงเรียนนานาชาติ พบว่า โรงเรียนนานาชาติมีแนวโน้มขยายตัวสู่นอกกรุงเทพฯ มากขึ้น ในช่วงปี 2555-2567 อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี ของจำนวนนักเรียนและจำนวนโรงเรียนนานาชาติที่ตั้งในภูมิภาคอื่นจะสูงกว่าของกรุงเทพฯ ถึง 4.3% และ 6.3% ตามลำดับ โดยพบว่า ด้านจำนวนนักเรียนนานาชาติมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในกรุงเทพอยู่ที่ 5.3% ขณะที่ตามต่างจังหวัดอยู่ที่ 9.6% สอดคล้องกับจำนวนโรงเรียนนานาชาติ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยในกรุงเทพอยู่ที่ 2.4% ขณะที่ตามต่างจังหวัดอยู่ที่ 8.7%

การแข่งขันในธุรกิจโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มขึ้น และพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่จำกัดทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติต้องสำรวจตลาดใหม่ๆ ในหัวเมืองหลัก เช่น เชียงใหม่, ระยอง และภูเก็ต เป็นต้น ทั้งนี้ เศรษฐกิจใน 21 เมืองหลักได้เติบโตในอัตราที่สูงกว่ากรุงเทพฯ โดยในปี 2565 อัตราการเติบโต GDP ต่อหัวของ 21 เมืองหลักสูงกว่ากรุงเทพฯ ถึง 2% ซึ่งทำให้ตลาดนอกกรุงเทพฯ ดูน่าสนใจมากขึ้น

แนวโน้มนี้แสดงให้เห็นโอกาสขยายธุรกิจโรงเรียนนานาชาติไปยังพื้นที่นอกกรุงเทพฯ โดยเฉพาะภาคกลางและตะวันออก ซึ่งน่าจะเป็นตลาดศักยภาพ เพราะมีจำนวนวนครัวเรือนรายได้เกิน 100,000 บาทต่อเดือน รองจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยจำนวนครัวเรือนมีรายได้มากกว่า 100,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป พบว่า กรุงเทพ-ปริมณฑล 201,649 บาท ภาคกลาง-ตะวันออก 113,082 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) 65,590 บาท ภาคใต้ 64,863 บาท และภาคเหนือ 63,005 บาท อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจำนวนครัวเรือนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในแต่ละภูมิภาคมีจำนวนน้อยกว่ากรุงเทพฯ ทำให้ผู้ประกอบการอาจจะต้องปรับลดค่าเล่าเรียนให้สอดคล้องกับรายได้ผู้ปกครองที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่

ตลาดโรงเรียนนานาชาติในไทยนั้น คาดว่าในปี 2567 มูลค่าตลาดโรงเรียนนานาชาติไทยจะเติบโตราวร้อยละ 13 จากปี 2566 แตะ 8.7 หมื่นล้านบาท โดยมีการเติบโตตั้งแต่ปี 2563 ที่ 57,000 ล้าน ปี 2564 ที่ 60,000 ล้าน ปี 2565 ที่ 66,000 ล้าน ปี 2566 ที่ 77,000 ล้าน รวมเติบโต 4 ปีติดกันก่อนถึงปีนี้ 

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของกิจการโรงเรียนนานาชาติ ก็มีอยู่ด้วยเช่นกัน ดังนี้...

- การเพิ่มขึ้นของค่าเล่าเรียนโรงเรียนนานาชาติ อาจทำให้ผู้ปกครองพิจารณาส่งบุตรหลานไปศึกษาในต่างประเทศแทน เนื่องจากช่องว่างระหว่างค่าเล่าเรียนเริ่มลดลง ในปีการศึกษา 2567 ค่าเล่าเรียนเฉลี่ยต่อปีของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยอยู่ที่ 764,484 บาท ในขณะที่ค่าเล่าเรียนเฉลี่ยต่อปีของโรงเรียนประจำในนิวซีแลนด์อยู่ที่ประมาณ 1,150,208 บาท

- โรงเรียนนานาชาติ อาจเผชิญกับความท้าทายจากการแข่งขันกับโรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทยที่พัฒนาคุณภาพและมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า ผู้ปกครองอาจตัดสินใจเปลี่ยนไปเลือกโรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทยที่มีการเปิดสอนโปรแกรมภาษาอังกฤษ และสอนหลายภาษา เช่น ไทย อังกฤษ และจีน เป็นต้น ซึ่งท้าทายจุดแข็งของโรงเรียนนานาชาติในด้านภาษา

- การพัฒนาทางเทคโนโลยีทำให้การเรียนโฮมสคูลง่ายขึ้น และเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเรียนโฮมสคูลต่ำกว่าการเรียนในโรงเรียนนานาชาติ จึงอาจส่งผลกระทบต่อจำนวนนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติได้ โดยค่าใช้จ่ายในการสอบ GED (เทียบวุฒิมัธยมปลายของสหรัฐฯ) รวมกับค่ากวดวิชาแบบเรียนตัวต่อตัว 100 ชั่วโมง จะอยู่ที่ประมาณ 160,800 บาท

ต่างชาติ แห่ส่งลูกเรียน!! ‘โรงเรียนนานาชาติในไทย’ มากขึ้น ดันมูลค่าตลาดใกล้แตะแสนล้าน ชี้!! มีมาตรฐาน - ค่าเทอมไม่สูง

(23 ต.ค. 67) นายณพงศ์ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ โอเชี่ยน กรุ๊ป กลุ่มธุรกิจของไทยสมุทรประกันชีวิต เปิดเผยว่า ภายในเดือนสิงหาคม 2568 โรงเรียนนานาชาติเซนต์สตีเฟ่นส์ บนถนนวิภาวดีรังสิต เป็นแคมปัสใหม่ ซึ่งบริษัทใช้เงินลงทุนไป 1,000 ล้านบาท จะเปิดสอนอย่างเป็นทางการ ในหลักสูตรตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงเกรด 13 โดย 80-90% เป็นนักเรียนไทย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีเนื้อที่ 10 ไร่ เป็นอาคารสูง 6-7 ชั้น จำนวน 3 อาคาร

อยู่ด้านหลังโรงเรียนนานาชาติเซนต์สตีเฟ่นส์เดิม เนื่องจากพื้นที่เดิมไม่สามารถขยายได้อีก และเต็มความจุ 400-500 คน รวมถึงเปิดสอนมา 20-30 ปีแล้ว ส่วนพื้นที่ใหม่จะรองรับได้สูงสุด 1,200-1,400 คน ส่วนค่าเทอมอยู่ที่ 600,000 บาทต่อปี ในอนาคตมีแผนจะนำโรงเรียนเดิมอยู่ด้านหน้าทุบและนำที่ดินพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียมและสำนักงาน รองรับผู้ปกครองนักเรียน

โดยมองว่าต่อไปอาจจะมีต่างชาติเข้ามาเรียน หลังเห็นสัญญาณชาวต่างชาติส่งลูกมาเรียนโรงเรียนนานาชาติในไทยมากขึ้น ในย่านกรุงเทพกรีฑาตัดใหม่หรือภูเก็ต โดยเฉพาะชาวจีน ที่มาซื้อบ้านหรูอยู่ใกล้โรงเรียน และระยะหลังก็เริ่มมีชาวเมียนมาเข้ามามากขึ้น ซึ่งต่างชาติมองว่าโรงเรียนนานาชาติในไทยนั้นได้มาตรการฐานและค่าเทอมก็ไม่สูงมาก เขาสามารถจ่ายได้ปีละ 1 ล้านบาท

ขณะที่คนไทยก็นิยมส่งลูกเรียน โรงเรียนนานาชาติ หรือโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนสองภาษา เพราะมองว่าถูกกว่าส่งไปเรียนที่ต่างประเทศ ประกอบกับนักเรียนในระบบเริ่มลดลงด้วย จึงทำให้ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติเติบโตและเป็นธุรกิจขาขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีนี้ที่เกิดโควิด โตปีละ 10% หรือปีละ 10,000 ล้านบาท คาดอีก 3 ปี ข้างหน้ามูลค่าตลาดรวมน่าจะแตะ 100,000 ล้านบาท จากปีนี้คาดมูลค่าตลาดอยู่ที่กว่า 80,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างชาติเป็นกองทุนก็มีความสนใจจะซื้อกิจการโรงเรียนนานาชาติในไทย รวมถึงของเราด้วย แต่เราไม่ขาย นายณพงศ์กล่าว

นายณพงศ์ ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันบริษัทมีโรงเรียนนานาชาติ 3 แห่ง อยู่ที่กรุงเทพ 2 แห่ง และเขาใหญ่ 1 แห่ง โดยสร้างรายได้ให้บริษัทประมาณ 800 ล้านบาท ปี ประกอบด้วย โรงเรียนนานาชาติไบรท์ตันคอลเลจ ถนนกรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ มีนักเรียน 700 คน ค่าเทอมประมาณ 6 แสนถึง 1 ล้านบาทต่อปี , โรงเรียนนานาชาติเซนต์สตีเฟ่นส์ บนถนนวิภาวดีรังสิต มีนักเรียน 400-500 คน ค่าเทอมประมาณ 5-7 แสนบาทต่อปี และโรงเรียนนานาชาติเซนต์สตีเฟ่นส์เขาใหญ่ มีนักเรียนกว่า 100 คน ค่าเทอมประมาณ 5-7 แสนบาทต่อปี โดยนักเรียนทั้งหมดมีนักเรียนชาวไทยประมาณ 60% และต่างชาติประมาณ 40% และในนี้มีนักเรียนชาวจีน 10%


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top