Monday, 21 April 2025
โซลาร์เซลล์

‘สนค.’ เผย ‘ตลาดโซลาร์เซลล์’ กำลังขยาย ทั่วโลกหันไปใช้ ‘พลังงานแสงอาทิตย์’ ชี้!! ไทยมีโอกาสก้าวขึ้นไปเป็น 1 ใน 3 ประเทศส่งออกโซลาร์เซลล์สูงสุดของโลก

(1 มิ.ย.67) สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า ปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานสะอาด หรือ พลังงานทดแทน กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยที่เร่งให้ทั่วโลกลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและเกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานโลก (Energy Transition) อาทิ สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน 

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น เห็นได้จาก กำลังการผลิตพลังงานทดแทนของโลกเพิ่มขึ้น โดยในปี 2023 อยู่ที่ 507 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 จากปี 2022 โดยเป็นสัดส่วนจากพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 3 ใน 4 ของการผลิตพลังงานทดแทนทั้งหมด และคาดการณ์ว่าในปี 2025 สัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทนจะคิดเป็นร้อยละ 35 ของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลก โดยมีจีนเป็นผู้นำด้านกำลังการผลิตโซลาร์เซลล์ของโลก ซึ่งในปี 2023 มีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 450 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ถึงร้อยละ 116 และมีแผนที่จะขยายการลงทุนโรงงานโซลาร์เซลล์ไปยังเวียดนามกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายการผลิตให้มากขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2025 

ข้อมูลจากบริษัทวิจัยการตลาด Zion Market Research เปิดเผยว่า ในปี 2022 ตลาดโซลาร์เซลล์ทั่วโลกมีมูลค่า 90,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตเป็น 215,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030 ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 11.5 สำหรับด้านการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ รายงาน S&P Global Market Intelligence แสดงให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่นำเข้าแผงโซลาร์เซลล์สูงสุดของโลก ในปี 2023 โดยนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์มากถึง 54 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 82 จากปี 2022 โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทย

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับประเทศไทย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี คาดการณ์ว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นและการทำงานรูปแบบ Work From Home จะส่งผลให้มูลค่าตลาดโซลาร์เซลล์ในไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2022-2025 จะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 22 ต่อปี จนมีมูลค่า 67,268 ล้านบาท ในปี 2025 นอกจากนี้ มูลค่าการผลิตโซลาร์เซลล์ในไทย ปี 2023 อยู่ที่ 6,147.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต ร้อยละ 184.35 จากปี 2022 (2,161.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมูลค่าการส่งออกโซลาร์เซลล์ของไทย ปี 2023 อยู่ที่ 4,433.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตร้อยละ 80.87 จากปี 2022 (2,451.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) มูลค่าการส่งออกของไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 ของการส่งออกโซลาร์เซลล์ในตลาดโลก

ซึ่งไทยครองส่วนแบ่งอันดับที่ 4 ของโลก รองจากจีน (55,857.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 63) เนเธอร์แลนด์ (9,752.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 11) และมาเลเซีย (5,319.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 6) โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทย คือ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 3,223 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 75) เวียดนาม มูลค่า 495 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 11) อินเดีย มูลค่า 232 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 5) และจีน มูลค่า 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 4) โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่มีการเติบโตมากถึงร้อยละ 144.35 จากปี 2022

นอกจากภาคการผลิตและการค้าแผงโซลาร์เซลล์ที่กำลังเติบโตแล้ว ไทยยังมีนโยบายกระตุ้นตลาดภายในประเทศ ที่ส่งเสริมให้เกิดการใช้แผงโซลาร์เซลล์ทั้งในภาคธุรกิจและครัวเรือนมากขึ้น อาทิ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านที่อยู่อาศัย หรือ โครงการ Solar ภาคประชาชน ส่งเสริมให้ครัวเรือนสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองภายในบ้านได้ และไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากที่ใช้งาน การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะรับซื้อ 2.20 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี 

และการดำเนินงานแก้ไขกฎหมาย ให้ภาคธุรกิจสามารถติดตั้ง Solar Rooftop ที่มีกำลังการผลิตเกินกว่า 1,000 กิโลวัตต์ได้ โดยไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า เพื่อปลดล็อกให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ศูนย์การค้า โรงแรม และภาคบริการ สามารถใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานว่า การติดตั้งโซลาร์เซลล์ 10 แผง (1 กิโลวัตต์) เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ประมาณ 101 ต้น ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 901.3 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์

จากบริบทการเติบโตของภาคพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถขยายส่วนแบ่งในตลาดโลก และก้าวขึ้นไปเป็น 1 ใน 3 ของประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกโซลาร์เซลล์สูงสุดของโลก โดยผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญต่อการศึกษากฎระเบียบ ข้อกำหนด มาตรการของประเทศคู่ค้า ยกระดับคุณภาพสินค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ระดับสากล และขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่สามารถผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนพลังงาน และยกระดับระบบพลังงานไฟฟ้าไทยให้มีความเสถียรในระยะยาว ทั้งนี้ หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถบูรณาการความร่วมมือกัน ทั้งด้านการสนับสนุนข้อมูลการค้าและแนวโน้มเศรษฐกิจ ที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ การรักษาตลาดเดิมและเพิ่มตลาดใหม่ การหาแหล่งเงินทุน และการจัดหาเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยในการผลิต เพื่อส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ท่ามกลางบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป 

‘พีระพันธุ์’ จ่อออกกฎหมายลดความยุ่งยากติดตั้ง-ขออนุญาต ‘โซลาร์รูฟท็อป’ หนุน ‘เงิน-ลดภาษี’ ช่วยคนไทยหลุดพ้นภาระค่าไฟหลักที่ต้องปรับทุก 4 เดือน

เมื่อวานนี้ (2 ก.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อที่จะกํากับดูแลให้การติดตั้งระบบโซลาร์บนหลังคาบ้าน เพื่อติดตั้งได้สะดวกและง่ายขึ้น และมีมาตรการสนับสนุนเงินทุนในการติดตั้ง การหักค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษี  

ทั้งนี้ คาดว่าจะเสร็จพร้อมกับกฎหมายน้ำมันภายในปลายปี 2567 นี้ เพื่อมีส่วนช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากภาระค่าไฟหลักที่ต้องปรับทุก 4 เดือน

รวมถึงเตรียมสนับสนุนการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีและอุปกรณ์สำหรับการติดตั้งระบบ Solar Rooftop แบตเตอรี่สำหรับกักเก็บพลังงานไว้ใช้ในเวลากลางคืนในราคาถูก

ซึ่งอยู่ระหว่างการทดลอง เบื้องต้นก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยระบบดังกล่าวนี้สามารถใช้กับเครื่องแอร์ได้ 3 เครื่อง ตู้เย็น 1 เครื่อง ประกอบด้วยแผงโซลาร์ เครื่องอินเวอร์เตอร์ และแบตเตอรี่ ทั้งหมดจะอยู่ในวงเงินประมาณ 30,000 บาท

โดยจะเป็นราคาต้นทุนการผลิตไม่รวมค่าบริหารจัดการ สามารถใช้ไฟได้ทั้งกลางวันและกลางคืน 

“เชื่อว่าในรอบปีที่ 2 จะมีผลิตภัณฑ์เหล่านี้ออกมาจำหน่ายในราคาถูก ซึ่งจะลดภาระให้ประชาชนหลุดพ้นจากปัญหาค่าไฟแพงได้"

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า การดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงค่าไฟที่ถูกลงโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้จากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา และขจัดปัญหาความยุ่งยากในการติดตั้งและการขออนุญาต

‘พีระพันธุ์’ ถก ‘เอกนัฏ’ ประสานความร่วมมือ ‘พลังงาน-อุตสาหกรรม’ แก้ช่องโหว่กฎหมายเอื้อโซลาร์ทั่วถึง-ดันนิคมฯ SME ช่วยรายย่อย

(17 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการหารือกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน วานนี้ (16 ก.ย.67) ว่า รองนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมหารือการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับบริการที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ลดขั้นตอน สร้างความสะดวก คล่องตัวให้กับประชาชน 

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมเป็นกำลังหลักที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่เราต้องส่งเสริม สร้างโอกาส ให้ความสะดวก เติมทุนหนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อยกระดับธุรกิจให้เติบโต สร้างงานสร้างรายได้ เพื่อให้สามารถเดินต่อและแข่งขันได้อย่างมั่นคง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาพรวมอีกด้วย 

รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ ยังกล่าวต่อว่า ยังมีแนวคิดที่จะทำนิคมอุตสาหกรรมเพื่อธุรกิจขนาดเล็กขึ้น (นิคมฯ SME) เพื่อช่วยลดต้นทุน สามารถส่งต่อวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมได้ ทำให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีทำได้สะดวกขึ้น รวมทั้งการเร่งแก้กฎระเบียบ กฎหมาย เพื่อให้สอดรับกับการดำเนินงานในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย 

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญในการผลักดันการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานสีเขียว โดยได้มีการแก้กฎหมายในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน จากเดิมที่กำหนดว่าหากมีกำลังผลิตเกินกว่า 1 เมกะวัตต์ เข้าข่ายเป็นโรงงานต้องขอรับใบอนุญาต โดยการแก้กฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันให้ทุกภาคส่วนใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อยกระดับพลังงานไทยให้มีความเสถียร ยั่งยืน เป็นพลังงานสะอาด และราคาถูก ตอบสนองกติกาสากล ทั้งนี้ คาดว่าการปลดล็อกกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในปี พ.ศ. 2567 

รมว.เอกนัฏ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรม จะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย ตอบโจทย์การประกอบการและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย โดยการปรับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ ซึ่งจะมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน การเพิ่มโทษอาญา พร้อมวางแนวทางในการปรับกฎหมายและภารกิจเข้าสู่ภาครัฐดิจิทัล สร้าง Ease of Doing Business (ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ) โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎหมายแก้ช่องโหว่ในการส่งเสริมการประกอบการที่ดี การมีระบบ Digital แบบ One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนให้กับผู้ประกอบการ และการจัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมสู่อนาคต สร้างความยั่งยืนและฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดจากการประกอบการ ให้สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นการเพิ่มเครื่องมือหนึ่งในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา เพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม

'พีระพันธุ์' ตอกย้ำ!! กฎหมายสำคัญด้านพลังงาน 3 ฉบับ เดินหน้า!! แก้ปัญหาโครงสร้างพลังงานไทยสะสมยาวนานได้อย่างยั่งยืน

‘พีระพันธุ์’ ร่วมงานเสวนา ‘สามย่านคาเฟ่’ ครั้งที่ 2 ย้ำชัด จะเดินหน้านโยบาย 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' พลังงานไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมเผยกฎหมายสำคัญด้านพลังงาน 3 ฉบับ ทั้งกฎหมายคุมกิจการค้าน้ำมัน กฎหมายส่งเสริมการติดตั้ง โซลาร์เซลล์ และกฎหมายตั้งคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ จะยกร่างเสร็จภายในปีนี้ ก่อนจะยื่นเสนอสภาพิจารณาต่อ เชื่อจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างยั่งยืน

ไม่นานมานี้ (22 ก.ย.67) สำนักข่าวออนไลน์ UTN TODAY ได้จัดงานเสวนา จัดงานเสวนาอินฟลูฯ 'สามย่านคาเฟ่' แลกเปลี่ยน เรียนรู้ โลกออนไลน์ ซึ่งครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ณ KliqueXSomyan ชั้น 3 I'm Park สามย่าน โดยภายในงานได้รับเกียรติจากนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับผู้ร่วมงาน พร้อมตอบคำถามเรื่องพลังงานในหลายประเด็น โดยเฉพาะในเรื่องโครงสร้างพลังงาน การติดตั้งโซลาร์เซลล์ และการจัดตั้งระบบน้ำมันสำรอง การจัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ (SPR)

นายพีระพันธุ์ ได้ย้ำถึงแนวทางการทำงานตามนโยบาย 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน พร้อมลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนและประเทศชาติ ผ่านการออกกฎหมายด้านพลังงานฉบับใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฎหมายสำคัญ 3 ฉบับ ประกอบด้วย...

(1) กฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง 
(2) กฎหมายที่อนุญาตส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ และ 
(3) กฎหมายการจัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve)

นายพีระพันธุ์ ระบุว่า กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ จะเข้ามาตอบโจทย์และไขปัญหาโครงสร้างพลังงานของประเทศไทยที่สะสมมาเป็นเวลายาวนาน พร้อมทั้งช่วยแก้ปัญหาราคาพลังงานได้อย่างยั่งยืน

โดยกฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะเน้นในเรื่องการคำนวณราคาน้ำมันตามต้นทุนจริงแทนการอิงราคาน้ำมันจากต่างประเทศ และการดึงอำนาจด้านกำหนดเพดานภาษีน้ำมันกลับคืนมา เพื่อดูแลราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ที่สำคัญจะไม่ให้ราคาน้ำมันขึ้นลงรายวันตามอำเภอใจอีกต่อไป ขณะเดียวกันกฎหมายฯ ยังจะครอบคลุมไปถึงโครงสร้างการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมัน ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน เพราะปัจจุบันถูกเรียกเก็บภาษีหลายต่อ ทั้งภาษีการค้าน้ำมัน, ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีท้องถิ่น ไม่เพียงเท่านั้นยังเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งล้วนส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศไทยแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง ๆ ที่เนื้อน้ำมันที่กลั่นแล้วราคาอยู่ที่ 20-21 บาทต่อลิตรเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของภาษี อาจจะไม่สามารถลดได้อย่างเต็มที่ เพราะจะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของประเทศ แต่จะเปิดโอกาสให้ภาคการเกษตร ธุรกิจขนส่ง และผู้มีรายได้น้อย ที่สามารถจัดหาน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศเข้ามาใช้แทนการซื้อภายในประเทศ เพื่อทางออกในการลดต้นทุนทางภาษี ซึ่งเป็นไปตามนโยบายเปิดนำเข้าน้ำมันเสรี โดยไม่ผ่านคนกลาง ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างให้คณะทำงานตรวจสอบความเรียบร้อย

ส่วนในค่าไฟฟ้าแพง ที่เป็นปัญหาต่อประชาชนชาวไทยทั้งประเทศนั้น นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า แม้ว่าจะไม่สามารถลดราคาค่าไฟลงได้ แต่จะพยายามไม่ให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้ เพราะต้องยอมรับว่า ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าของประเทศมีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะราคาก๊าซที่เป็นต้นทุนหลักยังมีราคาสูง เพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยไม่เพียงพอ 

แต่ปัญหาค่าไฟแพงจะสามารถแก้ไขได้อย่างยั่งยืน ด้วยการหันมาติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ใช้ในครัวเรือน ซึ่งประเทศไทยมีแสงอาทิตย์เพียงพอ แต่ในขณะนี้ ต้องยอมรับว่า การขออนุญาตในการติดตั้งโซลาร์เซลล์มีความยุ่งยาก เพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และไม่มีกฎหมายในด้านนี้โดยเฉพาะ ดังนั้น กฎหมายที่อนุญาตส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ขึ้นมา เพื่อให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์ทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งร่างกฎหมายอยู่ระหว่างปรับปรุงเพิ่มเติม

ขณะที่กฎหมายฉบับที่ 3 จัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve) นั้น อยู่ระหว่างการยกร่าง โดยนายพีระพันธุ์ ย้ำว่า กฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญ ที่จะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านน้ำมัน เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีการสำรองน้ำมันของประเทศเลย มีเพียงการสำรองเชิงพาณิชย์ของผู้ค้าน้ำมัน และมีปริมาณสำรองเพียง 20 กว่าวันเท่านั้น หากเกิดวิกฤตน้ำมันเหมือนเมื่อปี 1973 ประเทศไทยจะไม่สามารถรับมือได้เลย

ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีคลังจัดเก็บน้ำมันสำรองในเบื้องต้น 90 วัน หรือประมาณ 9,000 ล้านลิตร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่รัฐบาลสามารถควบคุมราคาได้เอง ขณะเดียวกันหลักการของกฎหมายนี้คือจะนำน้ำมันสำรองนี้มาดูแลปัญหาราคาน้ำมันแทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเปลี่ยนการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน มาเป็นเก็บน้ำมันเข้าคลังน้ำมันของรัฐบาลแทน และแน่นอนว่า จะทำให้กองทุนน้ำมันที่เคยเป็นหนี้สิน กลายเป็นทรัพย์สินของประเทศประมาณ 1.8 แสนล้านบาททันที

“กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ มีความคืบหน้าอย่างมาก และในฐานะนักกฎหมายต้องบอกว่า เป็นการยกร่างกฎหมายที่เร็วมาก และคาดว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการยกร่างกฎหมายทั้งหมดภายในปีนี้ โดย 2 ฉบับแรก อาจจะเข้าสภาได้ทันภายในปี 2567 ส่วนฉบับที่ 3 การสํารองน้ำมันของประเทศ คาดว่า จะเข้าสภาได้ปี 2568 และเชื่อมั่นว่ากฎหมายทั้ง 3 ฉบับ จะได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา เพราะเป็นกฎหมายที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชน รวมถึงสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืนอีกด้วย” นายพีระพันธุ์ กล่าว

ส่อง! ความเห็น ‘สภาพัฒน์’ ต่อโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าฯ แนะ เร่งปรับปรุงกฎ รับยุคประชาชนผลิตไฟฟ้าได้เองที่บ้าน

เมื่อวานนี้ (13 ต.ค. 67) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ มีความเห็นต่อ โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร วงเงินลงทุน 38,500 ล้านบาท

เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า (โครงการ TIEC) ระยะที่ 3.1 (ภายใต้โครงการ TIEC ระยะที่ 3) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประกอบความเห็นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 8 ต.ค. 2567 ซึ่งได้เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน เสนอ

ทั้งนี้ เดิมสภาพัฒน์ ได้เห็นชอบต่อโครงการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า กรอบวงเงินลงทุน 44,040 ล้านบาท ตามมติครม. 14 ก.ค. 2558

เพื่อปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ในการรองรับการรับซื้อไฟฟ้า จากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกรายพื้นที่ตามแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1

และการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศตามมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อ 5 พ.ค. 2565 และ 8 มี.ค. 2566 รวมทั้งเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าให้สามารถส่งพลังงานไฟฟ้าไปยังภาคกลาง และเขตนครหลวง ซึ่งเป็นศูนย์กลางความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในปัจจุบันได้อย่างมีเสถียรภาพ

สภาพัฒน์ เห็นว่า สําหรับการดําเนินโครงการในส่วนที่เหลือภายใต้โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า ระยะที่ 3

ได้แก่ การก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้า 500 kV อุบลราชธานี 3 - นครราชสีมา 3 วงจรคู่ ระยะทาง ประมาณ 355 กิโลเมตร ซึ่งมีกรอบวงเงินคงเหลือตามมติคณะรัฐมนตรีประมาณ 16,850 ล้านบาท เห็นควรให้ กฟผ. พิจารณาดําเนินการตามหลักการตามมติครม. 14 ก.ค. 2558

โดยพิจารณาปรับแผนการลงทุนให้เป็นปัจจุบันให้สอดคล้องกับปริมาณ การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร

และการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ เพื่อนําเสนอคณะกรรมการ กฟภ. (บอร์ด กฟผ.) พิจารณาอนุมัติ และนำเสนอกระทรวงพลังงานเพื่อพิจารณา ให้ความเห็นชอบ พร้อมทั้งรายงานให้ สภาพัฒน์ และคณะรัฐมนตรีทราบ

ทั้งนี้ กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลง ในสาระสําคัญของโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า

อาทิ กรอบวงเงินลงทุนเพิ่มขึ้น เห็นควรให้ กฟผ.เสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน

ทั้งนี้ ปัจจุบันภาครัฐมีนโยบายและเปิดรับการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือกและการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับกระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างจัดทําแผนพลังงานชาติ

ซึ่งรวมถึงแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: PDP) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ (Alternative Energy Development Plan: AEDP) ฉบับใหม่

ที่ให้ความสําคัญกับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประเทศตามข้อตกลงของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (COP 28)

ดังนั้น เมื่อแผนดังกล่าวมีความชัดเจนแล้ว เห็นควรมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและ กฟผ. เร่งศึกษาแนวทางการลงทุนพัฒนาศักยภาพของระบบส่งไฟฟ้าของประเทศในระยะต่อไป

เพื่อให้สามารถลงทุนพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า ให้มีศักยภาพรองรับปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก และการรับซื้อไฟฟ้า จากต่างประเทศที่จะเข้าสู่ระบบไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สภาพัฒน์ ยังเสนอให้คณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดําเนินการจัดทําข้อกําหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Code: TPA Code) และปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ

รวมถึงพิจารณากําหนดอัตราค่าบริการใช้ หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Wheeling Charge) ที่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง โดยคํานึงถึงผลตอบแทน ที่เหมาะสมของการลงทุนในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ และไม่เป็นภาระแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนรวม

เพื่อเป็นหลักเกณฑ์และแนวทางในการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้ากับโครงข่ายไฟฟ้าของ 3 การไฟฟ้า ( กฟผ. กฟน. และ กฟภ.) ซึ่งจะมีส่วนสําคัญในการรองรับ ทิศทางตลาดพลังงานที่เอกชนและประชาชนหันมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกใช้เอง

รวมถึงซื้อ/ขายไฟฟ้าโดยตรงกับผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจน ดึงดูดให้บริษัทอุตสาหกรรมต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้มากขึ้นต่อไป

‘อรรถวิชช์’ เผย!! กฎหมายส่งเสริม การใช้ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ทะลุ!! ทุกขั้นตอน แจ้งที่เดียว วิศวกรเซ็นรับรอง ติดตั้งได้เลย

(11 ม.ค. 68) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะผู้ยกร่างกฎหมายส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เปิดเผยว่า

ร่างกฎหมายฉบับนี้มีที่มาจากการขออนุญาตติดตั้งโซลาร์เซลล์ค่อนข้างลำบากเนื่องจากต้องขออนุญาตหลายหน่วยงาน ถือถ้าเกิน 1,000 เมกะวัตต์จะต้องขออนุญาตมากถึง 5 หน่วยงาน ซึ่งใช้ระยะเวลาเกือบ 1 ปีถึงจะได้รับอนุญาต

ดังนั้นกฎหมายส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะทะลุขั้นตอนการขออนุญาตหมดเลย เพียงแค่แจ้งที่เดียว และให้วิศวกรเซ็นรับรอง ซึ่งจะทำให้ความล่าช้าทั้งหมดหายไปทันที

ในขณะเดียวกันกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างพัฒนาตัว Inverter ขนาด 5 กิโลวัตต์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการทดสอบมาตรฐานซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย และเมื่อมีการผลิตมาวางจำหน่ายราคาจะลดลงครึ่งนึงจากสินค้าที่วางจำหน่ายในตลาด 

เมื่อราคาถูก ประกอบกับการขออนุญาตติดตั้งง่ายขึ้น ประชาชนก็จะมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์มากยิ่งขึ้น เป็นช่วงกลางวันใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วงกลางคืนเชื่อมต่อกับไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top