Tuesday, 22 April 2025
โจรออนไลน์

รองโฆษก ตร. เตือน ปชช. ระวังโจรออนไลน์ หลอกให้โหลดแอปควบคุมมือถือ ก่อนฉกเงินหนี

วันนี้ (5 ม.ค. 66) ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณ ปัญญา รองโฆษก ตร. เปิดเผยกรณี มีผู้เสียหาย ถูกคนร้ายส่งข้อความ “ขอขอบคุณที่ใช้บริการ จะมอบคูปองฟรีให้ 1 ใบ” ตามลิงก์ที่คนร้ายส่งให้ ผู้เสียหายกดลิงก์แอดไลน์ คนร้ายขอให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน ไลอ้อนแอร์ แล้วพิมพ์ชื่อ นามสกุล ภาษาอังกฤษ และเบอร์โทรศัพท์ จากนั้น คนร้ายบอกว่าให้รอห้ามวางสาย ต่อมาปรากฎว่ามีเงินหายไปหมดบัญชี คนร้ายยังกดเงินจากบัตรเครดิตซึ่งผูกกับ แอปพลิเคชันธนาคารออนไลน์ สูญเงินทั้งสิ้นกว่า 2 แสนบาท

รองโฆษก ตร. กล่าวว่า กรณีดังกล่าวคนร้ายแอบอ้างบริษัทเอกชน ที่มีชื่อเสียงต่างๆส่ง sms แจ้งเหยื่อว่าจะได้รับของรางวัล หากหลงเชื่อจะหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันที่สามารถควบคุมมือถือระยะไกล โดยปกติจะมีขั้นตอนของมันเล็กน้อย คนร้ายอาจจะบอกให้เรากรอก ตัวเลข หรือ ตัวอักษรสักชุด หรือไม่ คนร้ายก็หลอกถามเอาตัวเลขชุดนั้นจากเรา เมื่อคนร้ายได้รหัสหรือตัวเลขบางอย่างจากเครื่องของเรา คนร้ายจะนำรหัสไปใช้ในการควบคุมเครื่องของเราได้ทันที สามารถใช้งานบังคับ ทุกอย่างได้ เปรียบเสมือนเป็นเจ้าของเครื่อง ขณะหลอกให้รอห้ามวางสาย ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นช่วงดูดข้อมูล จากนั้นคนร้ายจะขอเปลี่ยนรหัสเข้าบัญชีเอง เพราะมีเลข OTP ส่งจากธนาคารมาที่โทรศัพท์ผู้เสียหาย แต่คนร้ายสามารถเห็นได้ที่หน้าจอคนร้ายเอง และจะทำการโอนเงินไปสู่บัญชีเป้าหมายด้วยตนเอง ไม่จำเป็นต้องให้เหยื่อโอนเงินให้เหมือนวิธีเดิมๆ ทำให้เหยื่อสูญเงินออกจากบัญชี

พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณฯ จึงขอประชาสัมพันธ์ วิธีป้องกันตนเองต่อภัยโจรออนไลน์ในหลากหลายรูปแบบ ในกรณีนี้ สามารถป้องกันได้โดย

1. มีสติ ตรวจสอบข้อความที่ได้รับอย่างระมัดระวัง หากมีเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานใดติดต่อหรือแสดงตัว ไม่ว่าเรื่องใด ๆ ให้โทรสอบถามจากเบอร์กลางของหน่วยงานที่ถูกอ้างถึงนั้น ๆ ทุกครั้ง

2. ห้ามกดลิงก์หรือติดตั้งแอปที่ไม่ทราบที่มาที่ไป รวมถึงไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวใด ๆ เมื่อรับสายจากต้นทางที่ไม่ทราบที่มาที่ไปชัดเจน

‘ดีอี’ จับมือหน่วยงานพันธมิตร เร่งปราบ ‘โจรออนไลน์’ ระยะที่ 2 ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี กวาดล้างบัญชีม้าไปแล้ว 1 แสนบัญชีต่อเดือน พร้อมเร่งรัดหาวิธีคืนเงินผู้เสียหายให้เร็วที่สุด

วันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงความคืบหน้าปราบโจรออนไลน์ตามข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีว่า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้ประชุมร่วมกับ ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดีอี และ พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พร้อมด้วยผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อหารือเรื่องการกวาดล้างบัญชีม้าและเร่งรัดการคืนเงินให้ผู้เสียหาย ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบหมายให้กระทรวงดีอี ร่วมกับตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์เป็นระยะที่ 2 ต่อเนื่องจากระยะแรก 30 วัน (1-30 เมษายน 2567) โดยผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้ 

1. การเร่งรัดกวาดล้างบัญชีม้า : ปปง. ธปท. สมาคมธนาคาร กสทช. สมาคมโทรคมนาคมฯ และ ดีอี ได้ร่วมกันดำเนินการขยายผลกวาดล้างบัญชีม้า จากการใช้ข้อมูลรายชื่อเจ้าของบัญชีม้า และรายชื่อผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทำการปิดบัญชีธนาคารทุกธนาคาร จากชื่อบุคคลดังกล่าว โดยตั้งเป้าระงับ/ปิด บัญชีม้ามากกว่า 12,000 คนต่อเดือน หรือ 100,000 บัญชีต่อเดือน พร้อมทั้งกำหนดมาตรการและเงื่อนไขการเปิดบัญชีใหม่ เพื่อป้องกันการนำไปกระทำความผิดโดยเพิ่มกระบวนการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง Customer Due Diligence หรือ CDD โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง ธนาคารต้องตรวจสอบให้เคร่งครัดมากขึ้นก่อนอนุมัติเปิดบัญชี โดยทาง ธปท.จะมีการออกประกาศภายในเดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งปัจจุบันบางธนาคารได้มีการดำเนินการแล้ว โดยได้มีการเชื่อมระบบข้อมูลของธนาคารทุกธนาคาร มอบหมายให้ กสทช. เป็นผู้ดำเนินการจัดทำระบบรวบรวมข้อมูล ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ภายใน 2 สัปดาห์ สำหรับการกวาดล้างบัญชีม้า และซิมม้าในระบบ mobile banking ที่ประชุมมอบหมายให้ กสทช.เร่งรัดตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์ที่ผูกกับระบบ mobile banking จำนวนประมาณ 106 ล้านเลขหมาย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 120 วัน 

นายประเสริฐ กล่าวว่า สำหรับผลการกวาดล้างบัญชีม้าถึง 30 เมษายน 2567 ได้ระงับบัญชีม้าแล้วกว่า 700,000 บัญชี แบ่งเป็น ธนาคารระงับเอง 300,000 บัญชี AOC ระงับ 101,375 บัญชี ปปง.ปิด 325,586 บัญชี ในส่วนของตำรวจดำเนินการการจับกุมคดี บัญชีม้า-ซิมม้า เม.ย. 67 มีจำนวน 361 คน เพิ่มขึ้น 1.9 เท่า เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 187 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม - มีนาคม 2567

2. การแก้กฎหมายพิเศษเป็นการเร่งด่วน : เพื่อให้การปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ตลอดจนช่วยเหลือคืนเงินให้ผู้เสียหาย ได้มีการหารือเรื่องการแก้กฎหมายในประเด็น ดังนี้ 2.1 การเร่งรัดคืนเงินให้ผู้เสียหาย โดยที่ผ่านมาการคืนเงินให้ผู้เสียหายจากคดีออนไลน์ ต้องใช้เวลานาน หลายๆ กรณีใช้เวลาหลายปี กว่าจะสามารถคืนเงินให้ผู้เสียหายได้ ประกอบกับ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ทาง AOC 1441 โดย ดีอี ตำรวจ สมาคมธนาคาร ได้ร่วมมือ เร่งการระงับ/อายัด บัญชีม้าได้รวดเร็วเฉลี่ยภายใน 10 นาที และมีเงินที่ถูกอายัดได้จำนวนมาก ซึ่งในวันนี้จึงได้ประชุมพิจารณาถึงการหาวิธีคืนเงินให้รวดเร็วขึ้น โดยพิจารณาการออกกฎหมายพิเศษเพื่อเร่งการคืนเงิน 

2.2 การเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล โดยถือว่าการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล เป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชน เศรษฐกิจ และสังคมในวงกว้าง จึงต้องมีการกำหนดบทลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องและคนร้ายในอัตราโทษจำคุกเพิ่มขึ้นจาก 1 ปี เป็น 5 ปี  นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงการป้องกันการโอนเงินแบบผิดกฎหมายของคนร้ายโดยการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะที่เป็นแพลทฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศที่ผิดกฏหมาย 

“วันนี้เราประชุมเพื่อหามาตรการเร่งรัดกวาดล้างบัญชีม้า และ หาวิธีคืนเงินให้ผู้เสียหายรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยที่ประชุมได้หารือถึงการออกพระราชกำหนด เป็นกฎหมายพิเศษเพื่อเร่งคืนเงินให้ผู้เสียหายและเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูล ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งการปราบปรามจับกุมคนร้าย กวาดล้างบัญชีม้า ซิมม้า ปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวงต่อเนื่อง แก้ปัญหาหลอกลวงซื้อขายออนไลน์ และช่วยลดความเดือนร้อนของประชาชน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าว 

“ดีอี” เปิดผลงานปราบ “โจรออนไลน์” เฟส 2 ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์- หลอกลวงข้ามชาติ-เครือข่ายพนันออนไลน์ อื้อ พร้อมเดินหน้าปราบซิมม้า-บัญชีม้า เด็ดขาด  

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทางเทคโนโลยี ที่มี ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวง ดีอี เป็นรองประธานกรรมการ นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวง ดีอี เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ และผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมหารือกัน เพื่อดำเนินงานตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ใน ระยะที่ 2 

สำหรับมาตรการและผลการดำเนินงาน ระยะที่ 2  ตั้งแต่วันที่ 1-31 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา มี  8 เรื่องที่สำคัญ ประกอบด้วย 

1.การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ ในเดือนพฤษภาคม (ข้อมูล ตร.)

- การจับกุมคดีออนไลน์รวมทุกประเภท เดือนพฤษภาคม 2567 มีจำนวน 2,295 ราย ลดลง ร้อยละ 8 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 2,495 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม - มีนาคม 2567 

- การจับกุมคดีเว็บพนันออนไลน์ เดือนพฤษภาคม 2567มีจำนวน 991 ราย ลดลง ร้อยละ 7 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 1,064 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม - มีนาคม 2567 

- การจับกุมคดีซิมม้า บัญชีม้า มีจำนวน 199 ราย ลดลง ร้อยละ 17 เทียบกับ การจับกุมเฉลี่ย 240 คนต่อเดือน ช่วงมกราคม - มีนาคม 2567 

ทั้งนี้ตำรวจมีการจับกุมครั้งสำคัญ ในเดือนพฤษภาคม 2567 อาทิ 

1) จับกุมคดีพนันออนไลน์ เว็บไซต์ .บ้านหวย.com   โดยจับกุมผู้ต้องหาได้ 9 ราย เงินหมุนเวียนประมาณ 80 ล้านบาทต่อเดือน โดยสามารถยึดทรัพย์เพื่อตรวจสอบมูลค่าประมาณ 70 ล้านบาท 

2) ปฏิบัติการ HANG UP บุกทลายเว็บพนันใหญ่ ‘หวานเจี๊ยบ’ มีเงินหมุนเวียนหนึ่งพันล้านบาทต่อเดือน 

3) ปฏิบัติการ แก๊ง Call Center หลอกลวงข้ามชาติ เมืองโอเสม็ด กัมพูชา โดยได้ดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาแล้ว 12 ราย โดยมีการกำหนดเป้าหมายว่าในรอบ 1 สัปดาห์ ต้องหลอกผู้เสียหายให้ได้ขั้นต่ำ 20 ล้านบาท รายได้หมุนเวียนต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 80 ล้านบาท 

และ 4) การจับกุมและขยายผลกระบวนการหลอกลงทุนคริปโต 530 ล้านบาท ซึ่งมีการเชื่อมโยงกับการพนันออนไลน์จำนวน 2 เครือข่าย โดยมียอดเงินหมุนเวียนกว่า 13,000 ล้านบาท จับกุม 25 ราย โดยยึดทรัพย์สินกว่า 125 ล้าน

ขณะที่ดีเอสไอ มีการจับกุมที่สำคัญในเดือนพฤษภาคม 2567 ได้แก่ คดีเว็บพนันออนไลน์เครือข่าย (แม่มนต์)  เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 โดยมีวงเงินหมุนเวียน ในบัญชีกว่า 150 ล้านบาท

2. การปิดโซเชียลมีเดีย เว็บผิดกฎหมาย และเว็บพนัน

- ปิดโซเชียลมีเดีย และเว็บผิดกฎหมายทุกประเภท เดือนพฤษภาคม 2567 จำนวน 15,758 รายการ เพิ่มขึ้น  9.3 เท่า จากเดือน จากเดือนพฤษภาคม 2566 ที่มีจำนวน 1,687 รายการ

- ปิดเว็บพนันเดือนพฤษภาคม 2567 จำนวน 6,459 รายการ เพิ่มขึ้น 82.8 เท่า จาก เดือนพฤษภาคม 2566 ที่มีจำนวน 78 รายการ

3. การแก้ปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัด ตัดตอนการโอนเงิน ผลการดำเนินงานที่สำคัญถึง 31 พฤษภาคม 2567 มีดังนี้
 
- ระงับบัญชีม้าแล้วกว่า 800,000 บัญชี แบ่งเป็น ปปง.ปิด 344,079 บัญชี ธนาคารระงับเอง 300,000 บัญชี และ AOC ระงับ 171,794 บัญชี 

- กำหนดมาตรการและเงื่อนไขการเปิดบัญชีใหม่ เพื่อป้องกันการนำไปกระทำความผิด โดยเพิ่มกระบวนการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง Customer Due Diligence หรือ CDD โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง ธนาคารต้องตรวจสอบให้เคร่งครัดมากขึ้นก่อนอนุมัติเปิดบัญชีใหม่ โดย ธปท. ได้ดำเนินการออกหนังสือเวียนแล้ว เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 

- กวาดล้างบัญชีม้าจากการใช้รายชื่อเจ้าของบัญชีม้า และรายชื่อผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทำการปิดบัญชีธนาคารทุกธนาคาร จากชื่อบุคคลดังกล่าว โดยตั้งเป้าระงับ/ปิด บัญชีม้ามากกว่า 12,000 คนต่อเดือน หรือ 100,000 บัญชีต่อเดือน

4.การแก้ไขปัญหาซิมม้าและ ซิมที่ผูกกับ Mobile Banking มีผลการดำเนินงานที่สำคัญถึง 26 พฤษภาคม 2567 มีดังนี้
 
- การระงับหมายเลขโทรออกเกิน 100 ครั้ง/วัน แล้ว 42,298 หมายเลข มีผู้มายืนยันตัวตน 372 เลขหมาย ไม่มายืนยันตัวตน 41,926 เลขหมาย  

- การกวาดล้างซิมม้าและซิมต้องสงสัย โดย สำนักงาน กสทช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตน และผลการดำเนินงาน มีดังนี้

 1)กลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ดมากกว่า 100 ซิม โดยมีเลขหมายที่เข้าข่าย 5.0 ล้านเลขหมาย ซึ่งครบกำหนดการยืนยันตัวตนเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 มีผู้มายืนยันตัวตนแล้ว จำนวน 2.6 ล้านเลขหมาย และยังไม่มายืนยันตัวตน จำนวน 2.4 ล้านเลขหมาย โดยในกลุ่มที่ยังไม่มายืนยันตัวตน ถูกระงับซิมชั่วคราวไปแล้วทั้งสิ้น 2.3 ล้านเลขหมาย

 2)กลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ดตั้งแต่ 6-100 เลขหมายต่อค่ายมือถือ จะต้องยืนยันตัวตนภายในวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 ซึ่งมีเลขหมายที่เข้าข่าย 4.0 ล้านเลขหมาย มีผู้มายืนยันตัวตนแล้ว 1 ล้านเลขหมาย และยังไม่มายืนยันตัวตน จำนวน 3 ล้านเลขหมาย 
 
- การตรวจสอบซิมที่ใช้กับโมบายแบงกิ้ง โดยกระบวนการตรวจสอบดังกล่าว คาดว่าจะแล้วเสร็จในระยะเวลา 120 วัน หรือประมาณเดือนตุลาคม 2567 ทั้งนี้ ในระหว่างดำเนินการ ประชาชนยังสามารถใช้งานโมบายแบงก์กิ้งได้ตามปกติ ในส่วนของข้อยกเว้นต่างๆ ที่ปรากฏตามสื่อยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชน และจะมีการแจ้งรายละเอียดให้ประชาชนทราบโดยเร็ว เมื่อมีการตรวจสอบข้อมูลเรียบร้อย ภายใน 120 วัน

- การเข้มงวดในการเปิดใช้ ซิมใหม่ ให้เป็นไปตาม หลักเกณฑ์ การลงทะเบียนและยืนยันตัวตนของ กสทช. เพื่อป้องกัน การนำซิมไปใช้กระทำผิดกฎหมาย

5. การดำเนินการเรื่องเสาโทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน 

- สำนักงาน กสทช. ได้มีหนังสือให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตตรวจสอบการให้บริการโทรคมนาคมบริเวณชายแดนที่มีความเสี่ยง และทำการรื้อถอน ปรับทิศทาง หรือลดกำลังส่งสายอากาศ เพื่อให้มีพื้นที่การให้บริการครอบคลุมเฉพาะภายในประเทศ ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก อ.แม่สาย อ.เชียงของ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี อ.เมือง จ.ระนอง โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 19 มิถุนายน 2567

6. การแก้กฎหมายเร่งด่วน

6.1 การแก้ไขกฎหมายพิเศษแบบเร่งด่วน ใน 3 ประเด็น คือ (1) เร่งรัดการคืนเงินให้ผู้เสียหาย (2) การเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล และ (3) การป้องกันการโอนเงินแบบผิดกฎหมายของคนร้ายโดยการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล

6.2 มาตรการปรับปรุงกฎระเบียบ/แนวปฏิบัติเพื่อการป้องกันการโอนเงินแบบผิดกฎหมายของคนร้าย โดยการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะที่เป็นแพลตฟอร์มซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย ดังนี้ 
(1) ก.ล.ต. ร่วมกับ ปปง. ผลักดันให้มีการยกระดับหลักเกณฑ์ด้านการฟอกเงินของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้านการฟอกเงินของ Financial Action Task Force (FATF) 

(2) สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDO) ได้จัดทำแนวทางปฏิบัติงาน เรื่องการพิจารณาบัญชีต้องสงสัยว่าถูกใช้ในการกระทำผิด เพื่อเป็นแนวปฏิบัติ (guideline) สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในการพิจารณาคัดกรองการเปิดบัญชีและการทำธุรกรรมที่ต้องสงสัยว่าถูกใช้ในการกระทำความผิด

6.3 การแก้ไขปัญหาการซื้อขายสินค้าหรือบริการออนไลน์แบบใช้บริการเก็บเงินปลายทาง (COD)  โดยเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้จัดรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. .... 

7. การเพิ่มบทบาท ความรับผิดชอบให้ ผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และธนาคาร โดย กระทรวงดีอี ได้หารือแนวทางร่วมกันกับ บริษัท ไลน์ประเทศไทย แพลตฟอร์ม Meta และ X เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาภัยออนไลน์เชิงรุก ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ และการปิดกั้น URL ที่ผิดกฎหมาย แบบเชิงรุก 

8. การบูรณาการข้อมูล โดยศูนย์ AOC 1441 โดยเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 กระทรวงดีอี โดยศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center: AOC) ร่วมกับ  กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

นายประเสริฐ กล่าวว่า ในภาพรวมของการดำเนินงานอย่างบูรณาการ เร่งรัดจับกุมคนร้าย กวาดล้างบัญชีม้าและซิมม้า เร่งการอายัดบัญชีธนาคาร ตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวงผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์ มีผลงานชัดเจน เป็นตัวเลขที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากในเดือนเมษายน 2567 อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งการปราบปรามจับกุมคนร้าย กวาดล้างบัญชีม้า ซิมม้า ปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวงต่อเนื่อง แก้ปัญหาหลอกลวงซื้อขายออนไลน์ เพื่อให้จำนวนผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายจากคดีออนไลน์ลดลงโดยเร็ว ช่วยลดความเดือนร้อนของประชาชน

‘ดีอี’ แจ้งเตือนพี่น้องประชาชนลงทะเบียน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ผ่าน ‘แอปทางรัฐ’ เท่านั้น ระมัดระวังอย่าหลงเชื่อโจรออนไลน์ ฉวยโอกาสส่งลิงก์ปลอมหลอกลวงประชาชน

(25 ก.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า รัฐบาลโดย กระทรวงการคลัง ได้แถลงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการลงทะเบียนของประชาชน ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567  โดยจะมีการเปิดให้มีการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการอย่างเป็นทางการ ตามกำหนดเวลา ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นได้ ซึ่งแยกกลุ่มผู้ลงทะเบียนเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่  1.ประชาชนกลุ่มที่มีสมาร์ตโฟน เริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 15 กันยายน 2567 , 2.ประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ตโฟน สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน – 15 ตุลาคม 2567 , 3.ร้านค้า เบื้องต้นเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป และจะเริ่มใช้จ่ายสินค้าด้วยเงินดิจิทัลได้ภายในไตรมาส 4 ของปี 2567

สำหรับคุณสมบัติของประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการ มีดังนี้ 
- สัญชาติไทย มีชื่อและที่อยู่ในทะเบียนบ้าน 
- อายุ 16 ปีขึ้นไป ณ วันที่ปิดรับลงทะเบียน (15 กันยายน 2567) 
- เป็นผู้มีรายได้ไม่เกิน 840,000 บาท/ปี (นับตามปีภาษี 2566) 
- เงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท เป็นเงินฝาก ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 
- ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ 
- ไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ 
- ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ 

ทั้งนี้ประชาชนกลุ่มที่มีสมาร์ตโฟน สามารถดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” โดยไม่มีการจำกัดจำนวน ซึ่งรัฐบาลได้ประมาณการประชาชนเข้าร่วมโครงการไว้จำนวน 45 - 50 ล้านคน ขณะเดียวกันประชาชนสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” พร้อมลงทะเบียนยืนยันตัวตน สมัครใช้งานแอปพลิเคชันได้ก่อนล่วงหน้า เพื่อความสะดวก และรวดเร็ว ก่อนที่จะลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต ในวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ต่อไป โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ได้โดยตรงจากแอปพลิเคชัน “App Store” สำหรับระบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS) และแอปพลิเคชัน “Google Play” สำหรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) บนโทรศัพท์สมาร์ตโฟน

สำหรับประชาชนที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเตรียมการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.digitalwallet.go.th หรือ www.กระเป๋าเงินดิจิทัล.รัฐบาล.ไทย และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (Call Center) สายด่วน โทร. GCC 1111 พร้อมให้บริการและคำแนะนำปรึกษาแก่ประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง  

“กระทรวง ดีอี ขอแจ้งเตือนไปยังพี่น้องประชาชน ผู้มีสมาร์ตโฟนที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมผ่านแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ เท่านั้น อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพ หลอกลวงส่งลิงก์ หรือแพลตฟอร์มปลอมต่างๆ โดยอ้างว่าเป็นช่องทางการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งอาจส่งผลกระทบทำให้เกิดการหลุดรอดของข้อมูลส่วนบุคคล หรือสูญเสียทรัพย์สินได้ หรือหากมีการส่งต่อ แชร์ลิงก์ปลอมดังกล่าวไป อาจส่งผลให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อประชาชนในสังคม” นายประเสริฐ กล่าว

‘ดีอี’ จับมือ 10 หน่วยงานพันธมิตร คิกออฟ ‘Digital Vaccine’ จุดพลุ สร้างภูมิคุ้มกันคนไทยปลอดภัยจาก ‘โจรออนไลน์’

เมื่อวานนี้ (9 ส.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการจัดทำพร้อมทั้งเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ ภายใต้โครงการ ‘Digital Vaccine’ โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับ พลตำรวจโท อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ตช.) , พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) , นางสาวอรัญญา เกตุแก้ว รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ , นางสาวดวงพร รอดเพ็งสังคหะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) , ร้อยตำรวจเอก ไพรัตน์ เทศพานิช ที่ปรึกษาด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) , นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) , พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (สกมช.) , นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย , นายสืบศักดิ์ สืบภักดี เลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ ห้องประชุม NT Auditorium ชั้น 2 อาคารสโมสร สำนักงานใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) 

นายประเสริฐ กล่าวว่า ปัจจุบันการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือภัยออนไลน์ ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการปราบปรามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการหลอกลวงซื้อขายสินค้า การหลอกลวงโอนเงิน การหลอกลวงให้เผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล ผ่านการใช้แอปพลิเคชัน และแพลตฟอร์มต่างๆ ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ ด้วยการอ้างเป็นหน่วยงานรัฐต่าง ๆ หรือหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ แล้วหลอกให้กดลิงก์ หรือดาวน์โหลดติดตั้งแอปพลิเคชันขโมยเงิน ทำให้สูญเสียทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล 

รวมถึงปัญหาบัญชีม้า การเปิดบัญชีเงินฝาก การลงทะเบียนหมายเลขโทรศัพท์แล้วให้คนอื่นนำไปใช้ โดยบัญชีม้า เป็นช่องทางที่มิจฉาชีพใช้รับเงินจากผู้เสียหาย เพื่อปกปิดหรือหลบเลี่ยงไม่ให้การสืบสวนไปถึงตัวผู้กระทำความผิดตัวจริงได้

นอกจากนี้ล่าสุดยังพบการสร้างแพลตฟอร์มปลอมในรูปแบบต่างๆในช่องทางสังคมออนไลน์ เพื่อสร้างข่าวปลอม ข้อมูลบิดเบือน ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ โครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ซึ่งเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาล เพื่อหลอกลวงประชาชน ทำให้สูญเสียทรัพย์และข้อมูลส่วนบุคคล

ทั้งนี้การก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีดังกล่าว ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็น เยาวชน ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่อยู่ในภูมิภาค ซึ่งถูกหลอกลวงเป็นจำนวนมาก มีมูลค่าความเสียหายสูง ถือเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง และเป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ 

ดังนั้น ทั้ง 11 หน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วย
1) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
2) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
3) กรมสอบสวนคดีพิเศษ 
4) กรมประชาสัมพันธ์ 
5) ธนาคารแห่งประเทศไทย 
6) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
7) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
8) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 
9) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ 
10) สมาคมธนาคารไทย
11) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 

จึงเห็นร่วมกันว่า จำเป็นจะต้องร่วมกันดำเนินการจัดทำโครงการ “Digital Vaccine” เพื่อร่วมบูรณาการข้อมูลของแต่ละหน่วยงานนำมาจัดทำเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่างๆ ของหน่วยงานพันธมิตรทั้งหมด เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบภัยออนไลน์ วิธีป้องกัน และแนวทางรับมือที่ถูกต้อง เพิ่มทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ลดความเสี่ยง ลดโอกาสที่ประชาชนจะตกเป็นเหยื่อของภัยออนไลน์ รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสาร ความน่าเชื่อถือของข้อมูล และตอบสนองนโยบายของรัฐบาล สอดคล้องกับนโยบายด้านความมั่นคงปลอดภัยทางดิจิทัลของประเทศ 

“อย่างไรก็ตาม กระทรวงดีอี พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตร ได้เร่งปราบปรามปัญหาอาชญากรรมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการรุกสร้างความรู้ โดยการบูรณาการข้อมูลของทุกหน่วยงานร่วมกัน ผ่านโครงการ “Digital Vaccine” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันด้านภัยออนไลน์ให้กับประชาชน สามารถใช้ป้องกันตัวและคนในครอบครัวจากโจไซเบอร์ ช่วยลดผลกระทบและความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับประชาชนในสังคมวงกว้าง” นายประเสริฐ กล่าว

หากพี่น้องประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการระงับ อายัดบัญชี AOC 1441
สอบถามข้อมูลข่าวสารโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ โทรสายด่วน Digital Wallet 1111 (24 ชั่วโมง) แจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชั่วโมง.)  ที่  Line ID: @antifakenewscenter และเว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com 

'ประเสริฐ' เผย 2 เดือน 'ดีอี' ปิดแพลตฟอร์ม 'ปลอมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท' ได้แล้วถึง 312 บัญชี เร่งกวาดล้าง 'โจรออนไลน์' สร้างข้อมูลเท็จ หลอกลวงประชาชน  

เมื่อวานนี้ (4 ต.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (Anti Fake New Center หรือ AFNC) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินสถานการณ์การกระทำที่เข้าข่ายการก่ออาชญากรรมออนไลน์ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม - 30 กันยายน 2567 ได้ดำเนินการประสานปิดกั้นแพลตฟอร์ม 'ทางรัฐ' และ 'โครงการเติมเงิน 10,000 บาท' ปลอม แล้ว 312 บัญชี  โดยแบ่งเป็น บัญชี Facebook จำนวน 297 บัญชี และบัญชี Tiktok จำนวน 15 บัญชี  พร้อมเฝ้าระวังการกระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง 

ขณะเดียวกันยังพบว่า มิจฉาชีพใช้วิธีการหลอกลวงประชาชน ส่งข่าวปลอม และข้อมูลอันเป็นเท็จ และบิดเบือน โดยแอบอ้างโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ของรัฐบาล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเติมเงินให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และบัตรประจำตัวผู้พิการ อยู่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบกรณีข่าวปลอม ที่ได้รับความสนใจ และมีการส่งต่อข้อมูลเป็นจำนวนมาก อาทิ “ผู้พิการที่ทำบัตรผู้พิการหลัง 31 สิงหาคม 2567 จะไม่ได้รับสิทธิ์เงินดิจิทัล 10,000 บาท” และ “รัฐบาลเปิดให้ลงทะเบียนเงินดิจิทัลวอลเล็ตใหม่ สำหรับคนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนสามารถลงทะเบียนได้ที่ ธ.ออมสิน ธกส. และกรุงไทย” เป็นต้น

สำหรับข่าวปลอมดังกล่าวข้างต้น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่าทั้งหมดเป็น “ข้อมูลเท็จ” โดยประเด็นเรื่องของสิทธิ์ผู้พิการในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ขยายเวลาลงทะเบียนให้กับคนพิการทุกคนทั่วประเทศ จนถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2567 โดยเพื่อที่จะให้ผู้พิการทุกคนได้รับสิทธิ์ในการรับเงิน 10,000 บาท 

ในส่วนการเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทะเบียนใหม่ในโครงการลงทะเบียนเงินดิจิทัลวอลเล็ต ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้มีการเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มเติมผ่านธนาคารของรัฐแต่อย่างใด

"กระทรวงดีอีได้ดำเนินมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ดำเนินคดีร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้ที่นำข้อมูลเท็จ ข้อมูลบดเบือน ไม่เป็นความจริง เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ข่าวปลอมเรื่อง 'ประกาศยกเลิกการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท แล้ว' โดยดำเนินการประสานข้อมูลร่วมกับกระทรวงการคลัง และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)  , 2.ข่าวปลอมเรื่อง 'การโหลดแอปพลิเคชันยืนยันตัวตนรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้ถูกดูดเงินหมดบัญชี และเรื่องมีการติดต่อจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวนมาก หลังจากที่ลงทะเบียนแอปพลิเคชันทางรัฐ' โดยดำเนินการประสานข้อมูลร่วมกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA  , 3.ข่าวปลอมเรื่อง 'มีการติดต่อจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวนมาก หลังจากที่ลงทะเบียนแอปพลิเคชันทางรัฐ' ซึ่งได้มีการพิจารณาดำเนินคดี โดยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เพื่อดำเนินการต่อไป" นายประเสริฐ กล่าว

นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอีห่วงใยพี่น้องประชาชนต่ออันตราย และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโจรออนไลน์ ซึ่งได้อาศัยการเผยแพร่ข่าวปลอมและข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวข้องกับ 'โครงการเติมเงิน 10,000 บาท' และการใช้งานแอปพลิเคชัน 'ทางรัฐ' ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯ ได้ทำการปิดกั้นแพลตฟอร์มปลอม พร้อมกับการตรวจสอบข่าวปลอม และข้อมูลบิดเบือนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับดำเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด โดยถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรง เนื่องจากส่งผลกระทบต่อ ประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง และขอให้ประชาชน ยึด 'หลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน' พร้อมกับไม่แชร์ข้อมูลที่บิดเบือนในทุกช่องทางสังคมออนไลน์

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ สั่งเดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์ม ‘DE fence’ เร่งสกัด ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์-โจรออนไลน์’ ป้องกัน ‘โทร-SMS’ หลอกลวงประชาชน

 

เมื่อวานนี้ (18 พ.ย.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอี ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการป้องกันและปราบปรามการก่ออาชญาการรมทางเทคโนโลยี ผ่านการร่วมดำเนินโครงการ ‘DE-fence platform’ (หรือ แพลตฟอร์มกันลวง) เพื่อป้องกัน “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” โทรหลอกลวงประชาชน 

นายประเสริฐ กล่าวว่า จากสถิติของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 - 30 ก.ย. 2567 (12 เดือน) พบว่า มีการรับแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จำนวนทั้งสิ้น 3.3 แสนคดี หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นความเสียหายรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชน และปัจจุบันยังคงเกิดการหลอกลวงโดย 'แก๊งคอลเซ็นเตอร์' อยู่อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการที่มิจฉาชีพได้พัฒนาการก่อเหตุโดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และปรับเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการหลอกลวงผ่านการโทรศัพท์และส่ง SMS ถึงผู้เสียหาย 

ทั้งนี้จากการหารือแนวทางการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ระหว่างกระทรวงดีอี กสทช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ  สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นชอบในการจัดตั้งโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง 'DE-fence platform' เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง รวมทั้ง ส่ง SMS หลอกลวง เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ในการแจ้งเตือนประชาชน ช่วยในการคัดกรองสายเรียกเข้า และข้อความสั้น ของคนร้าย รวมถึงช่วยยืนยันเบอร์จากหน่วยงานสำคัญ เช่น ตำรวจ หรือ สถาบันการเงิน เป็นต้น ภายใต้ชื่อ 'DE-fence platform' (หรือ แพลตฟอร์มกันลวง) ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการใช้งานป้องกันปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับ DE-fence platform เป็นการบูรณาการการทำงานผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ทั้งกลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคม กสทช ผู้บังคับใช้กฎหมาย อาทิ ตำรวจ และ กระทรวงดีอี เพื่อสอดรับกับนโยบายภาครัฐที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาแก๊งคอลเตอร์ และข้อความสั้น (SMS) หลอกลวง 

“มาตรการนี้เป็นการป้องกัน ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ ที่ใช้การโทรและ ส่ง SMS หลอกลวงประชาชน ควบคู่กับมาตรการลงทะเบียนผู้ให้บริการส่ง SMS ใหม่ทั้งระบบ ภายในปี 2567 นี้ และต้องมีการลงทะเบียนทุกๆ ปี เพื่อให้สามารถระบุว่า ผู้ให้บริการ และ ผู้ส่ง SMS คือใคร รวมทั้งการลงทะเบียนการส่ง SMS แนบลิงก์ จะต้องระบุรายละเอียดของข้อความ และลิงก์ เพื่อให้ผู้ให้บริการเครือข่าย ตรวจสอบลิงก์ ก่อนที่จะส่ง SMS ไปยังผู้ใช้บริการ (End user)” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว 

ด้านนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ ในฐานะรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) ได้กล่าวว่า เมื่อสิ้นเดือน ตุลาคม 2567 รองนายกฯ ประเสริฐ ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) เร่งพัฒนา DE-fence platform ให้พร้อมใช้ในต้นปี 2568 

สำหรับจุดเด่น ของ DE-fence platform คือ การเชื่อมต่อฐานข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการโทรคมนาคม เพื่อให้ได้ข้อมูลเลขหมายที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด รวมถึงการเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของ ตร. สำนักงาน ปปง. ศูนย์ AOC 1441 และ กระทรวงดีอี เพื่อใช้ในการเตือนประชาชน ทำให้ประชาชนทราบข้อมูลของผู้โทรเข้าว่า เป็นมิจฉาชีพหรือไม่ ความเสี่ยงของเบอร์โทรอยู่ระดับใด ก่อนรับสายหรืออ่านข้อความ SMS รวมถึงสามารถตรวจหาความผิดปกติของ Link ที่แนบมากับ SMS ได้ เมื่อผู้รับต้องการตรวจสอบ นอกจากนี้ยังมีระบบการแจ้งความออนไลน์ และการแจ้งอายัดบัญชีคนร้าย ผ่านโทรสายด่วน AOC 1441 พร้อมระบบการยืนยันตัวตนของผู้ใช้งาน เพื่อส่งข้อมูลให้กับ ตร. ดำเนินการปราบปรามการกระทำผิดของมิจฉาชีพได้ทันที 

DE-fence platform จะใช้หลักการในการแบ่งสายโทรเข้า รวมถึง SMS ที่ได้รับ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มสี คือ 1) Blacklist หรือ สีดำ ซึ่งเป็นหมายเลขการติดต่อจากคนร้ายที่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และแนะนำให้ผู้ใช้บริการเลือก Block หรือ ปิดกั้นแบบอัตโนมัติ , 2) Greylist หรือ สีเทา เป็นการติดต่อจากหมายเลขที่ต้องสงสัย ซึ่งติดต่อจากต่างประเทศ หรือ ติดต่อจากอินเตอร์เน็ต โดยระบบจะแจ้งเตือนให้ผู้ใช้บริการได้รู้ถึงระดับความเสี่ยงของสายโทรเข้า หรือ SMS ดังกล่าว , 3) Whitelist หรือ สีขาว เป็นหมายเลขที่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเป็นหมายเลขของหน่วยงานรัฐ หรือ หมายเลขหน่วยงานที่ลงทะเบียนถูกต้อง รวมถึงเป็นหมายเลขที่ผู้ใช้บริการ platform ยืนยันว่าเป็นหมายเลขที่ต้องการรับสาย หรือ ยินยอมรับข้อความ
ทั้งนี้ ระบบ จะมีการทำงานแบบ Real time เพื่อเป็นข้อมูลให้กับ ตร. และ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ในการวิเคราะห์ และวางแผนในการปราบปรามและป้องกันการหลอกลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตามการพัฒนา DE-fence platform ในระยะแรกจะเน้นที่เบอร์โทร และ SMS ก่อน โดยเฉพาะ whitelist ที่เป็นของหน่วยงานรัฐ ที่คนร้ายชอบใช้ก่อน และในระยะต่อไปจะขยาย whitelist ให้ครอบคลุมมากขึ้น พร้อมทั้งขยายการป้องกันและแจ้งเตือนสำหรับการติดต่อทางโซเชียลมีเดีย

ภาค 2 กดดันหนักตัดวงจรโจรออนไลน์ ซีลชายแดนอรัญฯ ช่วยล่าม – หญิงไทยถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์บอสจีน ขัง ซ้อมทรมาน พบอีก 'ช่องทางลับ' ขนบัญชีม้า - แอดมินเว็บพนันข้ามแดน บุกบ้าน 'เจ๊ ม.' คิดค่าหัวผ่านทางเปิดบ้านพาเลาะไปปอยเปต

(1 ก.พ.68) พล.ต.ท.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 (ผบช.ภ.2) เปิดเผยความคืบหน้า ยุทธการ 'อรัญฯ 68 SEAL BORDER' ตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มิจฉาชีพออนไลน์ โดยหลังจาก กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 2 (บก.สส.ภ.2) นำกำลังสืบสวนเกาะติดเส้นทางชายแดนไทย - กัมพูชา ฝั่งอำเภออรัญประเทศอย่างเข้มข้นตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม ที่ผ่านมา ได้ทำการสืบสวนสอบสวนจับกุมผู้กระทำผิดได้หลายราย อาทิ จับกุมชายชาวกัมพูชาที่ลักลอบขนโทรศัพท์มือถือจำนวนมากจากไทยข้ามแดน ได้ช่วยเหลือล่ามภาษาจีนที่ถูกซ้อมทรมาน และช่วยคนไทยที่ถูกพาข้ามช่องทางธรรมชาติ ไปเป็นบัญชีม้าสแกนหน้า และถูกขังอยู่ฝั่งปอยเปต ส่วนอีกรายสืบภาค 2 ได้แฝงตัวรับงานแอดมินเว็บพนัน ทำให้จับกุมขบวนการนำพาข้ามแดนทางช่องทางธรรมชาติ ผ่านบ้าน 'เจ๊ ม. - ตา ท.' ซึ่งจากการสืบสวนพบว่าคิดค่าหัวเปิดช่องข้ามแดน หัวละ 7,000 บาท และพบช่องลับที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์นำพาบัญชีม้า และแอดมินหลอกลวงไปทำงานให้บอสคนจีน

ผบช.ภ.2 กล่าวว่า จากการเปิดยุทธการที่ผ่านมาตรวจพบคนจีนเดินทางเข้าไทย ผ่านช่องทางธรรมชาติ ที่ อ.ตาพระยา อ.อรัญประเทศ จว.สระแก้ว ปลายทางต้องการไปทำงานเป็นพนักงานคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมา โดยผ่านทางชายแดนอีกฝั่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังคุมตัวล่ามแปลให้คนจีน หนีข้ามแดนเข้าทาง อ.โคกสูง จว.สระแก้ว หลังถูกซ้อมทรมานจนหลบหนีออกมา 

พล.ต.ท.ยิ่งยศ กล่าวอีกว่า ขณะที่ตำรวจสืบภาค 2 เปิดยุทธการ อรัญฯ 68 SEAL BORDER  พบหญิงบัญชีม้ารายหนึ่งขอความช่วยเหลือหลังถูกกักขัง อยู่ในออฟฟิศคอลเซ็นเตอร์ฝั่งปอยเปต จึงประสานงานทางการฝั่งปอยเปตช่วยเหลือมาได้ มาสอบสวนอย่างละเอียด พบข้อมูลออฟฟิศบัญชีม้าสแกนหน้า และช่องทางลับขบวนการพาคนข้ามแดนทำงานให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ 

ด้าน พล.ต.ต.ธีระชัย ชำนาญหมอ ผบก.สส.ภ.2 กล่าวเพิ่มเติมว่า มีหญิงสาวรายหนึ่ง อยู่ กทม. พบว่าถูกชวนไปทำงานให้เช่าบัญชี เพื่อทำเว็บพนันโดยแจ้งว่าทำงานในตลาดโรงเกลือในฝั่งไทย มีขบวนการมารับจาก กทม. พาไปเปิดบัญชีในห้างดังย่านลาดพร้าว  ก่อนนำพาไป จว.สระแก้ว แต่พอหลวมตัวเข้าไปทำงาน กลับพาข้ามแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านผ่านช่องทางลับ เป็นช่องทางธรรมชาติใกล้ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง มีขบวนการนำพาเป็นทอด ๆ มีคนกัมพูชามารับพาไป ส่งให้คนอินเดียที่ฝั่งปอยเปต อยู่ระหว่างการขยายผลดำเนินคดี จากการสืบสวนสอบสวนพบว่าเมื่อไปถึงฝั่งเพื่อนบ้านจะพาไปที่ออฟฟิศพักคอย พาไปเปิดบัญชีคริปโต พาไปเป็นม้าสแกนหน้า และถูกกักขัง เมื่อบัญชีถูกนำไปก่อเหตุ หลังถูกผู้เสียหายแจ้งความทำให้บัญชีถูกบล็อก ต้องถูกปล่อยกลับ แต่ขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลับไม่ปล่อยให้กลับ จนต้องขอความช่วยเหลือ โดยบัญชีม้ารายนี้ได้เงินตอบแทนกลับมาเพียง 10,000 บาท แต่ต้องเปิดบัญชีม้าถึง 4 บัญชี  

ผบก.สส.ภ.2 กล่าวว่า อีกรายพบขบวนการพาพนักงานออฟฟิศไปทำงาน โดยอ้างว่าเป็นแอดมินเว็บพนัน จึงส่งสายลับชุดสืบสวน บูรพา 491 บก.สส.ภ.2 เข้าไป พร้อมกำลังตำรวจสืบสวนติดตาม พบว่ามีขบวนการนำพาช่องทางลับอีกหนึ่งจุด จุดนัดพบใกล้ห้างสรรพสินค้าอีกแห่งหนึ่ง ใน อ.อรัญประเทศ เมื่อพาไปใกล้หน้าด่านพรมแดนคลองลึก จะมีรถเก๋งมารับขับพาไปตามถนนเลาะแนวชายแดนไทย-กัมพูชา แล้วพาผ่านด่านทหารพรานเข้าไป มาถึงบ้านเจ๊ ม. และ ตา ท. ที่มีพฤติการณ์เปิดช่องทางธรรมชาติให้คนข้าม โดยคิดค่าผ่านทาง หัวละ 7,000 บาท เมื่อเข้าไปจะมีคนเปิดประตูให้ พาเข้าถนนลูกรังมุ่งหน้าทางคลองพรมโหดซึ่งเป็นคลองที่กั้นเขตแดนระหว่างไทย - กัมพูชา ตำรวจภาค 2 จึงบุกเข้าจับกุมได้ทั้งหมด คุมตัวเจ๊ ม. และ ตา ท. ทำประวัติ เพื่อขยายผลต่อไป

“จากการสอบสวนกรณีนี้พบคนขับรถที่พาไปเป็นชายไทย ชาวอำเภออรัญประเทศ จว.สระแก้ว จากการซักถามยอมรับว่า ได้รับว่าจ้างจากชาวกัมพูชา ให้มารับคนพาข้ามแดนที่บริเวณดังกล่าว โดยได้ค่าจ้างหัวละ 50 บาท  บก.สส.ภ.2 อยู่ระหว่างสืบสวนสอบสวนขยายผลหารายละเอียดและผู้เกี่ยวข้องกับขบวนการดังกล่าว อย่างไรก็ตามตำรวจภูธรภาค 2 จะปฏิบัติการนี้อย่างเข้มข้นร่วมกับทุกหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อจับกุมและขยายผลอย่างเด็ดขาด รวมถึงกดดันและตรวจตราช่องทางธรรมชาติ ไม่ให้เอื้อต่อการลักลอบข้ามแดนไปเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และเว็บพนันต่าง ๆ” ผบก.สส.ภ.2 กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top