ตร.-กรมโรงงานฯ-อย. บุกค้นบริษัทนำเข้าสารเคมี ย่านลาดกระบัง เตรียมตรวจสอบรายชื่อสั่งซื้อ หาจุดเชื่อมโยงคดี ‘แอม ไซยาไนด์’
เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 66 เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมตำรวจกองพิสูจน์หลักฐาน ตำรวจกองบังคับการสืบสวนสอบสวนนครบาล 3 นำหมายค้นศาลอาญามีนบุรี เข้าตรวจค้นห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่ง ลักษณะเป็นอาคารพาณิชย์ 2 คูหา สูง 4 ชั้น ประกอบธุรกิจจำหน่ายวัสดุและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ ตั้งอยู่บนถนนเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ
โดยการตรวจค้นครั้งนี้ ตำรวจได้ข้อมูลมาจากการเก็บหลักฐานขวดไซยาไนด์ ที่พบในถุงดำที่ แอม ว่าจ้างให้นายตะวัน หลานของนายแด้ นำถุงดังกล่าวไปทิ้ง โดยเมื่อตรวจสอบหมายเลขการผลิตข้างขวดไซยาไนด์ดังกล่าว พบว่าตรงกับหมายเลขการผลิตที่บริษัทนี้ได้ทำการจำหน่าย
จึงนำกำลังเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน พร้อมด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม และชุดขยายผลของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้ามาตรวจค้น หาพยานหลักฐานเพิ่มเติม
สำหรับบริษัทนี้ ลักษณะเป็นอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น 2 คูหา ด้านหน้าปิดประตูเหล็กเอาไว้ ส่วนด้านในมีกล่องเก็บผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่แสดงหมายค้น พนักงานที่ดูแลบริษัทก็ได้นำเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจค้นด้านใน แต่ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปถ่ายภาพ
ขณะที่ นายวราวุฒิ พิทักษ์จำนงค์ อายุ 46 ปี เจ้าของร้านฮาร์ดแวร์ ซึ่งอยู่ติดกับบริษัทที่ตำรวจเข้าตรวจค้น บอกว่า บริษัทนี้เปิดมาได้ 3-4 ปีแล้ว เป็นโกดังเก็บสินค้าประเภทสารเคมี และอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ ตนรู้จักกับเจ้าของ แต่ไม่ได้คุยกันลึก ๆ ก่อนหน้านี้ โกดังไม่ปิดประตูด้านหน้า แต่ที่ปิด เพราะฝุ่นเยอะ เจ้าของกลัวของจะเสียหาย ซึ่งมีพนักงาน 3-4 คน คอยดูแลแพ็กของอยู่ แต่ถ้ามีลูกค้ามารับของก็จะเปิดโกดังและปิดทันที และเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ตนเห็นว่าตำรวจสอบสวนกลาง เข้ามาตรวจค้นแล้ว ประมาณ 2 ครั้ง
ด้าน พ.ต.อ.ภาคภูมิ พิศมัย คณะทำงานชุดคลี่คลายคดี เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจค้น แต่เบื้องต้นไม่พบสารไซยาไนด์ และมีข้อมูลว่า มีการจำหน่ายจริง ซึ่งทางบริษัทให้การว่า บริษัทจะรับสารไซยาไนด์ต่อมาจากบริษัทที่นำเข้ามาอีกทีหนึ่ง แล้วนำมาจำหน่ายให้กับผู้ซื้อ ซึ่งไม่ได้มีการสต็อกสินค้า แต่จะต้องให้ผู้ซื้อสั่งสินค้าเข้ามาแล้ว จึงจะสั่งจากบริษัทนำเข้ามาแล้วส่งให้ผู้ซื้อทันที
สำหรับการซื้อขายสารไซยาไนด์ ในปริมาณไม่เกิน 1,000 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน ไม่ต้องมีใบอนุญาต โดยยอมรับว่า จุดนี้เป็นช่องโหว่ให้บุคคลทั่วไปสามารถครอบครอง และซื้อขายสารดังกล่าวได้ โดยหลังจากนี้ จะดำเนินการตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่ซื้อสารไซยาไนด์จากบริษัทนี้ทุกราย เพื่อหาความเชื่อมโยงกับคดีของแอม เพราะยังไม่มีข้อมูลว่า แอม ซื้อสารไซยาไนด์จากบริษัทนี้โดยตรงหรือไม่ แต่เบื้องต้นพบว่า เลขการผลิตตรงกันกับขวดที่เป็นหลักฐานที่พบในคดี
ทั้งนี้ กรณีนางสรารัตน์ รังสิวุฒาพรณ์ หรือ ‘แอม ไซยาไนด์’ ก่อเหตุวางต่อเนื่อง ตำรวจยังคงเดินหน้ารวบรวมพยานหลักฐาน ออกหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มเติมอีกรายคดี โดยทางสำนักข่าวได้รวบรวมหมายจับทั้งหมด เป็นข้อมูล ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 มีรายละเอียด ดังนี้
