เมื่อก่อนหน้าไม่นานมานี้นัก มีข่าวครึกโครมเรื่องที่แรงงานพม่า โปรไฟล์สวยหรู เรียนจบปริญญาด้านวิศวกรรมศาสตร์ แต่ขอเรียกเงินเดือนแค่ 12,000 บาท ทั้ง ๆ ที่เคยทำงานโปรเจกต์สร้างตึก Yoma Central ตึกขนาดใหญ่ย่านใจกลางกรุงย่างกุ้งมาแล้ว
วันนี้ เอย่า จะมาวิเคราะห์ และบอกกล่าวอีกด้านหนึ่งให้ทราบกัน รวมถึงสิ่งที่ต้องรู้ต้องเตรียมตัว หากจะรับพนักงานต่างชาติมาให้ทราบโดยทั่วกัน
การจ้างลูกจ้างต่างชาติที่ไม่ใช่แรงงานในไทย มีข้อปฏิบัติที่บริษัทในไทยต้องคำนึงอยู่ไม่น้อย โดยจะขอแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มกิจการเพื่อให้ง่ายต่อการอธิบาย...
1. บริษัทที่จดทะเบียนเป็น BOI หรือ ส่งเสริมการลงทุน ซึ่งกลุ่มนี้จะมีข้อกำหนดในการที่จะรับคนต่างชาติเข้าทำงานชัดเจนคือ...
• บริษัทที่จะรับคนต่างชาติต้องเป็นกิจการที่อยู่ในขั้นตอนขอรับการส่งเสริมฯ หรือได้รับบัตรส่งเสริมฯ แล้ว
• คนต่างชาติที่จะรับต้องเป็นช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการ
• มีเหตุผลและความจำเป็นต้องจ้างทำงานในกิจการ BOI
• คนต่างชาติที่จะทำงานต้องได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว คือ Non-B ประเภทธุรกิจ หรือ Non-IB ประเภทการลงทุนภายใต้กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมลงทุน โดยชาวต่างชาติที่ต้องการทำงานกับบริษัทใน BOI ต้องมีอายุ วุฒิการศึกษา และประสบการณ์ในข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้...
>> ประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 2 ปี ในกรณีที่วุฒิการศึกษาตรงกับตำแหน่งงานในระดับทั่วไป และมีอายุไม่ต่ำกว่า 22 ปี นับถึงวันที่ยื่นบรรจุตัว
>> ประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 5 ปี ในกรณีที่วุฒิการศึกษาไม่ตรงกับตำแหน่งงาน หรือในกรณีที่มีตำแหน่งในระดับผู้จัดการ และมีอายุไม่ต่ำกว่า 27 ปี นับถึงวันที่ยื่นบรรจุตัว
2. บริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนกับ BOI จะมีเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับหน่วยงานที่สามารถรับชาวต่างชาติเข้ามาทำงานได้ ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท และมีพนักงานคนไทย 4 คน ต่อพนักงานต่างชาติ 1 คน รวมถึงบริษัทจะต้องเป็นผู้ขออนุญาตทำ Work Permit ให้แก่พนักงานดังกล่าว รวมถึง Visa ที่จะต้องเปลี่ยนจาก Tourist Visa เป็น Non-B visa ที่สามารถพักอาศัยในไทยได้เป็นเวลา 1 ปี
กลับมาที่ประเด็นจั่วหัวเริ่มต้น ถามว่าทำไมคนเมียนมาโปรไฟล์ดี ๆ ถึงมาเรียกเงินเดือนไม่สูงในประเทศไทย?
เอย่า ขอหยิบยกสิ่งที่เป็นคำกล่าวจากชาวต่างชาติที่ประกอบธุรกิจในเมียนมาและสิ่งที่เป็นพื้นฐานการศึกษาของประเทศเมียนมาอธิบายเพื่อให้เข้าใจกัน ดังนี้...
1. ในแง่ของการศึกษาในเมียนมาส่วนใหญ่ไม่ได้มีการฝึกงานจากสถานประกอบการก่อนเรียนจบ จะมีแค่เพียงการไปดูงานเท่านั้น ดังนั้นคุณภาพคนที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีในเมียนมาส่วนใหญ่จะเก่งแต่วิชาการ แต่ไม่ใช่การปฏิบัติงานจริง หลายครั้งจากปากของผู้ประกอบการในเมียนมาเองกล่าวว่า คนเมียนมาเป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งที่ดี แต่ไม่สามารถ Generate job หรือ Problem solving ได้ในกรณีที่เกิดปัญหา ฉะนั้นในหลายบริษัทใหญ่ ๆ ในเมียนมา จึงมีการจ้างชาวต่างชาติเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาจุดนี้
2. คนเมียนมามีทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษดีกว่าคนไทย เพราะตามประสบการณ์แล้ว คนเมียนมาส่วนใหญ่จะต้องทำงานใกล้ชิดกับชาวต่างชาติไม่ว่าจะเป็น ยุโรป, อเมริกา, อินเดีย, จีน หรือไทยเองก็ตาม และภาษาอังกฤษก็ถือว่าเป็นภาษากลางที่ใช้ในการสื่อสาร ยกเว้นในบางบริษัทที่ลงทุนจ้างล่ามมาเพื่อช่วยในการสื่อสารระหว่างระดับปฏิบัติการกับผู้บริหารระดับกลางที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้
3. โปรเจกต์ใหญ่ ๆ ในเมียนมานั้น คนเมียนมาส่วนใหญ่คือ ระดับปฏิบัติการหรือตรวจหน้างานเท่านั้น ส่วนคนที่อนุมัติแบบ ตัดสินใจโปรเจกต์และลงนามตรวจรับงาน ถ้าไม่ใช่คนเมียนมาที่มีดีกรีจบจากต่างประเทศมาก็จะเป็นชาวต่างชาติไปเลย
ในปัจจุบันชาวเมียนมาที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี จะหนีเข้ามาในประเทศไทยทางเครื่องบิน โดยถือวีซ่าท่องเที่ยว หรือ วีซ่าเพื่อการศึกษา เข้ามาในประเทศไทย หลังจากนั้นคนเหล่านี้ก็พยายามที่จะเข้าหางานในไทย เพื่อปรับสถานะวีซ่าของตนจากวีซ่าท่องเที่ยวหรือวีซ่าการศึกษามาเป็น 'วีซ่าทำงาน' เพื่อให้อยู่ในไทยได้อย่างปกติสุข
นี่ไม่รวมถึงสวัสดิการอื่นที่จะได้จากบริษัท ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคม ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต รวมถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนะ!!
เอาจริง ๆ เอย่า คงไม่สามารถปิดกั้นบริษัทใด ๆ ไม่ให้รับคนกลุ่มนี้มาทำงาน แต่อย่าลืมว่าการที่บริษัทใด ๆ บริษัทหนึ่งที่คิดจะลงทุนจ้างชาวต่างชาติเข้ามาทำงานให้ ก็มักจะมีหลายความคาดหวังที่บริษัทต้องการ โดยเฉพาะเรื่องของความคาดหวังในผลงานจากพนักงานคนนั้น ๆ
เอย่า ก็แค่อยากบอกให้คิดและตรึกตรองให้ดี ยิ่งกับเรื่องวีซ่าที่คนเหล่านี้ถือก่อนรับเข้ามาทำงาน หากเป็นกลุ่มที่มีครอบครัวอยู่ในไทย บริษัทจ้างคนกลุ่มนี้ไว้ก็คงไม่เดือดร้อนแน่นอน เพราะพวกที่มีครอบครัวในประเทศไทยเขาไม่ได้เดือดร้อนในการไม่มีที่อยู่ที่อาศัย แต่ถ้าเป็นวีซ่าอื่น ๆ หากเขาอยู่เกินข้อกำหนดของวีซ่าเขาก็ต้องกลับและเดินทางกลับมาใหม่หรือไม่ก็หนีเป็นผีน้อยในไทยในที่สุด
สุดท้ายอย่าลืมว่าหลายอาชีพเป็นอาชีพต้องห้ามที่ไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติทำ ไม่ว่าจะเป็นงานเสมียนหรือเลขานุการ, งานมัคคุเทศก์, งานให้บริการทางกฎหมายหรืออรรถคดี ยกเว้นงานปฏิบัติหน้าที่อนุญาโตตุลาการและงานให้ความช่วยเหลือหรือทำการแทนในการดำเนินกระบวนพิจารณา ชั้นอนุญาโตตุลาการ ในกรณีที่กฎหมาย ซึ่งใช้บังคับแก่ข้อพิพาทที่พิจารณาโดยอนุญาโตตุลาการนั้นมิใช่กฎหมายไทย
ส่วนงานที่ให้คนต่างด้าวทำ โดยมีเงื่อนไขที่ให้คนต่างด้าวทำงานได้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ หรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพันภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย คือ งานให้บริการทางบัญชี, งานวิชาชีพในสาขาวิศวกรรม และงานทางสถาปัตยกรรม ซึ่งทั้ง 3 งานนี้คนต่างด้าวหรือต่างชาติที่จะทำ ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ หรือยกเว้นเป็นผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าวตามข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียน หรือ ASEAN Sectoral Mutual Recognition Arrangement (MRAs) ซึ่งมีหลักเกณฑ์แยกย่อยไปอีก (หากใครอยากทราบลองไปหาข้อมูลกันดูนะคะ)
อยากเลือกต่างชาติมาทำงาน ก็เลือกคนที่ทำถูกกฎหมาย จงมองความซื่อสัตย์ของพนักงาน ไม่ใช่มองแค่ค่าจ้างที่ถูกแสนถูกเพียงอย่างเดียว
เพราะในโลกนี้ไม่มีของดีราคาถูกหรอกค่ะ