Tuesday, 22 April 2025
แผงโซลาร์เซลล์

‘GULF-AIS’ ลุย ‘ติดแผงโซลาร์-ต่อเสาสื่อสาร’ ให้ชุมชนห่างไกล หวังเพิ่มโอกาส ‘ทางการศึกษา-การเข้าถึงบริการสาธารณสุข’

(21 ธ.ค. 66) นายธนญ ตันติสุนทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจระบบโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ AIS ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ในโครงการ GULF X AIS SOLAR SYNERGY: A SPARK OF GREEN ENERGY NETWORK ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ผลิตพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ให้แสงสว่างแก่ชุมชนพร้อมติดตั้งระบบสื่อสารจากสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้แก่ชุมชนห่างไกล นำร่องที่บ้านดอกไม้สด ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ

GULF จะส่งมอบระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ให้แก่ชุมชนแต่ละแห่งตามสภาพปัญหาของชุมชนนั้นๆ เช่น ปัญหาด้านสาธารณสุข รวมทั้งการป้องกันและรักษาโรคในเบื้องต้น ระบบไฟฟ้าเพื่อการเรียนการสอน ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบกรองน้ำดื่ม ระบบสูบน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค เป็นต้น รวมไปถึงการให้ความรู้พื้นฐานเรื่องพลังงานสะอาด การบำรุงรักษาแผงโซลาร์เซลล์ และการดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ส่วน AIS จะนำระบบสื่อสารโทรคมนาคมด้วยพลังงานโซลาร์เซลล์ เพื่อให้ชุมชนนั้นๆ ได้ใช้ประโยชน์ด้านการติดต่อสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ การเรียนรู้จากแหล่งข้อมูลความรู้ต่างๆ บนโลกออนไลน์ พร้อมเติมเต็มโอกาสในการเข้าถึงระบบการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพแบบ ‘แพทย์ทางไกล’ ผ่านเทคโนโลยี Telemedicine รวมทั้งใช้เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ชุมชนผ่านเครือข่ายออนไลน์ ซึ่งจะช่วยสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้ โดยได้เริ่มโครงการนำร่องแห่งแรกที่บ้านดอกไม้สด ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่บนภูเขา ขาดแคลนไฟฟ้า มีประชากรประมาณ 700 คน รวม 160 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรทำไร่ข้าวโพด

แม้บ้านดอกไม้สดจะอยู่ห่างจากตัวอำเภอท่าสองยางเพียง 40 กิโลเมตร แต่ด้วยสภาพเส้นทางดินลูกรังและเส้นทางภูเขาที่คดเคี้ยว ส่งผลให้การเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบาก ใช้เวลาเดินทางเข้าสู่พื้นที่กว่า 3 ชั่วโมง ยิ่งในช่วงฤดูฝน เส้นทางสัญจรแทบจะถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ประชาชนในพื้นที่จึงไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภค และระบบการสื่อสารต่างๆ ยังรวมถึงการเจ็บป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที เราจึงเลือกที่นี่เป็นพื้นที่นำร่อง ก่อนที่จะขยายผลไปในพื้นที่อื่นๆ ทุกภาคทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง

“เพราะเราทั้งสององค์กรต่างตระหนักดีว่า ระบบไฟฟ้า และระบบสื่อสาร คือ สาธารณูปโภคที่จำเป็นและสำคัญยิ่ง ดังนั้นประชาชนในทุกพื้นที่ ควรได้รับโอกาสในการเข้าถึงอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม จึงถือเป็นแรงบันดาลใจที่ส่งต่อมาสู่พนักงานทุกคนที่ต่างสนับสนุนภารกิจนี้อย่างเต็มที่ ภายใต้บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในแต่ละส่วนงาน โดยโครงการนี้ยังถือว่าสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาด้านความยั่งยืน ที่เกิดจากการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนและการพัฒนาโครงข่ายพร้อมบริการดิจิทัล ซึ่งสามารถสร้างประโยชน์ ครอบคลุมทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Economy) สังคม (Social) และการยืนหยัดเพื่อสิ่งแวดล้อม (Environment) นั่นเอง”

ด้านนางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ร่วมกันกล่าวว่า เป้าหมายสูงสุดในการทำงานของ GULF และ AIS คือ ใช้ขีดความสามารถทางธุรกิจของแต่ละบริษัท ในการยกระดับการใช้ชีวิตของคนไทย ให้เท่าเทียมและทั่วถึง พร้อมสนับสนุนภารกิจของภาครัฐในการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการประสานความร่วมมือกัน โดยใช้องค์ความรู้และประสบการณ์จาก GULF ที่เชี่ยวชาญการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจากเทคโนโลยีทันสมัย และ AIS ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสื่อสารและดิจิทัล ส่งมอบโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและสื่อสาร อย่างระบบไฟฟ้าและสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้แก่คนไทยในพื้นที่ซึ่งยากแก่การที่สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจะเข้าถึง

'รมว.ปุ้ย' เตือน!! แผงโซลาร์เซลล์ ไม่มี มอก.ไม่มีมาตรฐาน เสี่ยงไฟไหม้ ย้ำ!! ต้องเลือกที่มี มอก.เท่านั้น เพราะผ่านทดสอบการลุกไหม้มาแล้ว

(9 พ.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการส่งเสริมการผลิตและใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ โดยที่ผ่านมามีการสนับสนุนภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนติดตั้ง Solar Rooftop ซึ่งนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแล้ว ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถือเป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญของรัฐบาลในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาวของประเทศ ซึ่งมีสถานประกอบการและประชาชนให้ความสนใจติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อช่วยประหยัดค่าไฟฟ้ามากขึ้น

"แต่เนื่องจากแผงโซลาร์เซลล์มีหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าจ่ายให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน หากนำแผงโซลาร์เซลล์ที่ไม่มีมาตรฐาน และไม่ได้ติดตั้งตามมาตรฐานจากผู้เชี่ยวชาญ อาจจะเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้แผงโซลาร์เซลล์ตามที่มีการแชร์คลิปในโลกออนไลน์อยู่ในขณะนี้ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ดิฉันจึงได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐานของสินค้า ให้เร่งชี้แจงทำความเข้าใจและให้ความรู้กับประชาชนในการเลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นอีก"

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุการเกิดไฟไหม้แผงโซลาร์เซลล์นั้นมีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักคือ กระแสไฟฟ้าไหลได้ไม่สะดวก เนื่องจากมีการต่อแผงเข้าด้วยกันหลาย ๆ แผง หากแผงใดเกิดมีปัญหา จะทำให้แรงดันไฟฟ้าจากหลาย ๆ ที่ไหลไปรวมตัวกันที่แผงดังกล่าว จนทำให้เกิดความร้อนสะสม เมื่อความร้อนเกินกว่าศักยภาพที่แผงโซลาร์เซลล์นั้นจะรับได้ ก็จะเกิดกระแสไฟลุกไหม้ตัวแผงนั้นขึ้นมา จนลุกลามกระจายไปยังแผงอื่น ๆ 

ดังนั้นแนวทางที่ปลอดภัยที่สุด คือ ควรเลือกใช้แผงโซลาร์เซลล์ที่ได้มาตรฐานมี มอก. รับรอง เพราะผ่านการทดสอบการทนความร้อน การลุกไหม้ และการลามไฟมาแล้ว 

"สมอ. มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์แผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจ จำนวน 2 มาตรฐาน ได้แก่ มอก. 61215 เล่ม 1(1) - 2561 เป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่แสดงประสิทธิภาพและความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าของแผงโซลาร์เซลล์ และ มอก. 2580 เล่ม 2-2562 เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัย ซึ่งมีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการทนความร้อน การตัดไฟ การใช้งานในอุณหภูมิสูง การป้องกันไฟรั่ว การลามไฟ และมีระบบป้องกันไม่ให้เกิดความร้อน จนเกิดการลุกไหม้ในจุดที่ถูกบดบังการรับแสง ไม่ว่าจะเกิดจากเงาเมฆ มีใบไม้มาบัง หรือแผงเกิดความสกปรก แผงโซลาร์เซลล์นั้นก็จะยังคงสามารถทำงานได้ตามปกติ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าแผงโซลาร์เซลล์ที่มีมาตรฐาน จะมีความปลอดภัยขั้นพื้นฐานและป้องกันอันตรายจากไฟไหม้ได้" นายวันชัย กล่าว

ปัจจุบัน มีผู้ผลิตภายในประเทศที่ได้รับใบอนุญาต มอก. 61215 เล่ม 1 (1) - 2561 และ มอก. 2580 เล่ม 2-2562 จาก สมอ. แล้ว จำนวน 7 ราย ได้แก่ 1. บริษัท เทลซัน เทคโนโลยี (ไทยแลนด์) จำกัด 2. บริษัท ฟูโซล่าร์ จำกัด  3. บริษัท โซล่าเพาเวอร์ เทคโนโลยี จำกัด 4. บริษัท โซลาร์ พีพีเอ็ม จำกัด 5. บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) 6.บริษัท รันเนอร์จี พีวี เทคโนโลยี (ไทยแลนด์) จำกัด และ 7. บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) จึงขอฝากถึงประชาชนให้เลือกซื้อแผงโซลาร์เซลล์ที่ได้มาตรฐาน มอก. และมีเครื่องหมายรับรอง เพื่อความปลอดภัย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top