Tuesday, 22 April 2025
แบนบุหรี่ไฟฟ้า

นายกฯ สั่ง 4 หน่วยงานพิจารณาข้อมูลการแบนบุหรี่ไฟฟ้า ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าย้ำต้องฟังเสียงประชาชน

ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเฮ! หลังนายกฯ สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง และกรมสรรพสามิต ทบทวนประเด็นการห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแลกเปลี่ยนข้อมูลและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างกัน

นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ผู้แทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มลาขาดควันยาสูบ “ECST” และแอดมินเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 1 แสนรายเผยภายหลังได้รับหนังสือตอบกลับจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2565 ว่า “ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนคนไทย โดยเฉพาะผู้สูบบุหรี่กว่า 9.9 ล้านคนที่อาจต้องเสียชีวิตถึงปีละกว่า 7 หมื่นคนเพราะควันจากการเผาไหม้ของการสูบบุหรี่ และไม่ทอดทิ้งผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าซึ่งอาจมีจำนวนมากกว่า 5 แสนคนในปัจจุบัน”

“จดหมายสั่งการจากนายกรัฐมนตรีฉบับนี้เป็นสัญญาณอันดีที่แสดงให้เห็นถึงการเปิดรับฟังเสียงของประชาชนอย่างรอบด้านของท่านนายกฯ มากกว่ารับฟังข้อมูลจากนักวิชาการและแพทย์บางกลุ่มฝ่ายเดียว เพราะที่ผ่านมา การแบนบุหรี่ไฟฟ้าเกิดจากการผลักดันของเอ็นจีโอและแพทย์ที่รับทุน จาก สสส. โดยไม่ได้มีการทบทวนผลกระทบและประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งที่ประเทศไทยมีการแบนบุหรี่ไฟฟ้ามาแล้ว 8 ปี แต่คนใช้เพิ่มมากขึ้นกว่า 600% แถมรัฐบาลยังไม่สามารถป้องกันการเข้าถึงของเยาวชนได้จริง ไม่สามารถเก็บภาษีและควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยให้ประชาชนได้ ในขณะที่การลักลอบซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ก็มากขึ้นและยังทำให้เกิดปัญหาการจับกุมรีดไถและการคอรัปชั่น แสดงถึงความล้มเหลวของมาตรการแบนบุหรี่ไฟฟ้า”

รายละเอียดในหนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบข้อมูลและได้สั่งการเรื่องดังกล่าว หลังจากก่อนหน้านี้มีกลุ่มแพทย์นำเสนอข้อมูลแต่เพียงด้านเดียวต่อท่านนายกฯ เพื่อให้คงการแบนบุหรี่ไฟฟ้าไว้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ส่งเรื่องให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง พิจารณาและรายงานผลกราบเรียนนายกรัฐมนตรี
2. มอบหมายสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหน่วยงานประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้แทนกลุ่ม ECST เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างกัน

ชาวเน็ตโวยรมว.อนุทิน แบนบุหรี่ไฟฟ้า แต่กลับหนุนกัญชา

เพจ“มนุษย์ควัน” สวน สธ. อ้างปกป้องสุขภาพประชาชน แต่ทำบุหรี่ไฟฟ้าเถื่อนเกลื่อนตลาด เพราะคนใช้เพิ่มขึ้นกว่า 600% ตั้งคำถามทำไมบุหรี่ไฟฟ้าและยาสูบไร้ควันที่ถูกกฎหมายกว่า 70  กว่าประเทศทั่วโลกกลับถูกประเทศไทยแบน ด้านชาวเน็ตโวย รมว.อนุทิน ย้อนแย้ง แบนบุหรี่ไฟฟ้า แต่กลับหนุนกัญชาเสรี

นายสาริษฏ์ สิทธิเสรีชน เจ้าของเฟซบุ๊กเพจ “มนุษย์ควัน” ซึ่งเป็นเครือข่ายผู้สนับสนุนให้บุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมาย เผยภายหลังที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการะทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาย้ำแบนบุหรี่ไฟฟ้าว่า “รู้สึกผิดหวังที่ รมว.สธ. ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบสุขภาพของประชาชน แต่กลับไม่ศึกษาข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเปิดทางเลือกที่มีสารพิษน้อยกว่าให้กับประชาชน ปัจจุบันคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย มีเอกสารงานวิจัยหรือข่าวจากต่างประเทศจำนวนมากที่ทำให้คนสูบบุหรี่รู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าได้รับการยอมรับในฐานะผลิตภัณฑ์ทดแทนการสูบบุหรี่ แต่กลุ่มหมอที่รณรงค์ต่อต้านบุหรี่ในไทยกลับยัดเยียดข้อมูลเพียงด้านเดียว ให้กับ รมว. อนุทิน และคนในสังคมเพื่อหวังให้มีการแบนบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป”

“ขณะที่ประเทศไทยยอมรับมาตรฐานของ อย.สหรัฐอเมริกาในเรื่องวัคซีนโควิด หรือเรื่องยา แต่กลับมีจุดยืนสวนทางกับอย. สหรัฐอเมริกา กระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษและนิวซีแลนด์ และอีกหลายประเทศที่สรุปตรงกันว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ จึงอนุญาตให้ขายได้แบบมีการควบคุม ซึ่งช่วยให้ลดอัตราการสูบบุหรี่ของคนในประเทศได้จริง และไม่มีปัญหาการใช้ในเด็กและตลาดใต้ดิน เช่นในอังกฤษ บุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นเครื่องมือที่คนสูบบุหรี่นิยมใช้มากที่สุดเพื่อช่วยเลิกบุหรี่ ขณะที่อัตราการสูบบุหรี่ในนิวซีแลนด์ลดลงจาก 13.7% เหลือเพียง 10.9% ภายหลังที่มีการสนับสนุนให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าภายใต้นโยบายสร้างประเทศปลอดควันในปี 2025”

เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าโต้หมอ กัญชาไทยไร้กฎหมายควบคุม แต่กลับแบนบุหรี่ไฟฟ้า ชี้เห็นด้วยกับก้องห้วยไร่ แนะผู้ใช้เคารพสิทธิคนอื่น หนุนรัฐเร่งออกกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า

เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ากลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST) โต้กลับกรณีกรมควบคุมโรคแจงบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงพฤติกรรมเสพติดกัญชา โวยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมควบคุมโรคและกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงเครือข่ายแพทย์ควรรื้อตรรกะใหม่ ยันไทยเป็นประเทศเดียวที่ปล่อยให้กัญชาไร้กฎหมายควบคุม ขายเกลื่อนเมือง แต่กลับแบนบุหรี่ไฟฟ้ายาวนานถึงเก้าปี ชี้เห็นด้วยนักร้องดัง ก้องห้วยไร่ ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าควรเคารพสิทธิผู้อื่น ใช้ให้เป็นที่เป็นทาง แนะรัฐถึงเวลาออกกฎหมายควบคุมแล้ว

หลังกรมควบคุมโรคอ้าง “การสูบบุหรี่ไฟฟ้า” เพิ่มความเสี่ยงต่อการใช้ “กัญชา” สูง 4 เท่า เพจเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “ECST บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร?” ที่มีผู้ติดตามกว่าแสนราย ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวผ่านโพสต์ใจความว่า “บอกบุหรี่ไฟฟ้านำไปสู่สารเสพติดอื่น อ้าว ไปไงมาไง มาคิดถึงกูหล่ะเนี่ย” โดยโพสต์ดังกล่าวมีผู้ถูกใจกว่าสี่ร้อยราย

นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนจากเพจลาขาดควันยาสูบ เปิดเผยว่า “เรื่องของบุหรี่ไฟฟ้ากับกัญชานั้นถูกโยงมาพักใหญ่ ซึ่งเรามองว่าเป็นเรื่องที่สะท้อนความบิดเบี้ยวของตรรกะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงเครือข่ายแพทย์ที่ออกมาโจมตีผู้บริโภคด้วย ไม่มีหรอกครับประเทศไหนที่จะให้กัญชาขายเกลื่อนไร้การควบคุม เปิดหน้าร้านค้าขายกันยิ่งใหญ่ แต่กลับแบนบุหรี่ไฟฟ้ายาวนานเกือบสิบปี”

“จริงๆ หากจะให้ลองคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการใช้กัญชาได้อย่างไร ก็คงต้องย้อนกลับไปเรื่องการแบน พอบุหรี่ไฟฟ้าถูกแบน การซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าเกิดขึ้นผ่านตลาดใต้ดินที่ผิดกฎหมาย ก็ยากที่จะรู้ว่าผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในมือผู้บริโภคตอนนี้มีมาตรฐานอย่างไร ส่วนประกอบมีอะไรบ้าง อย่างที่เคยออกข่าวว่ามีการระบาดของน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าที่มีส่วนผสมของน้ำมันกัญชา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคปอด EVALI” นายมาริษเสริม

“ล่าสุดมีดราม่านักร้องดังขอให้หยุดใช้บุหรี่ไฟฟ้าในคอนเสิร์ต ซึ่งผมเชื่อว่าผู้ใช้ควรให้ความร่วมมือ เคารพสิทธิผู้อื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกเพจของเราช่วยกันรณรงค์อยู่แล้ว แต่พอไม่มีกฎหมายมาควบคุม ผลที่ออกมาเลยเป็นอย่างนี้ ปัจจุบันมีการจัดตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯ เพื่อศึกษาถึงประโยชน์ของการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เราในฐานะตัวแทนผู้บริโภคก็คาดหวังว่าคณะกรรมการวิสามัญฯนี้จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง และวอนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้มองโลกผ่านความเป็นจริงให้มากขึ้น”

นอกจากนี้ นายมาริษยังได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบัน อายุเฉลี่ยของเด็กและเยาวชนที่พบว่าใช้บุหรี่ไฟฟ้านั้นเด็กลงเรื่อยๆ จนแม้กระทั่งเด็กประถมก็ยังถูกพบว่าใช้บุหรี่ไฟฟ้าเถื่อน ซึ่งหาซื้อได้ง่ายผ่านช่องทางที่หลากหลาย จึงเป็นเรื่องที่ทางเครือข่ายฯดำเนินการเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีอำนาจในหน่วยงานสาธารณสุข และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้ามาดำเนินการเพื่อมอบทางเลือกให้แก่ผู้สูบบุหรี่ไทยกว่า 9.9 ล้านคน รวมถึงคนในสังคมที่ได้รับผลกระทบจากบุหรี่ไฟฟ้าที่ไร้ซึ่งการควบคุมของรัฐ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top