Monday, 21 April 2025
แบตเตอรี่

CATL เปิดตัวแบตฯ ใหม่ อายุการใช้งาน 15 ปี รองรับวิ่ง 1.5 ล้านกิโลเมตร เผย!! มีบัสไฟฟ้ารายใหญ่จากจีน เซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรยาว 10 ปี

เมื่อไม่นานมานี้ CATL ได้เปิดตัวแบตเตอรี่ LFP รุ่นใหม่ รองรับการใช้งาน 1.5 ล้านกิโลเมตร อยู่ได้นาน 15 ปี พร้อมการันตีชาร์จ 1,000 รอบโดยไม่เสื่อมสภาพเลย 

CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของจีน เปิดตัวแบตเตอรี่รุ่นใหม่แบบ lithium iron phosphate (LFP) ที่มีอายุการใช้งานยาวนาน รองรับการใช้งานในรถยนต์ 1.5 ล้านกิโลเมตร การันตีอายุการใช้งานนาน 15 ปี โดยการชาร์จ 1,000 รอบแรกจะไม่เสื่อมสภาพเลย (zero degradation)

ลูกค้ารายแรกของ CATL คือ Yutong Bus ผู้ผลิตรถบัสไฟฟ้ารายใหญ่ของจีนที่มีลูกค้าทั่วโลก โดยทั้งสองบริษัทเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรยาวนาน 10 ปี ตั้งแต่ปี 2022

‘โซลาร์เซลล์’ ทนแดดไม่ไหว ไฟลุกพรึบ กลางหมู่บ้าน ชาวเน็ตวิเคราะห์ ‘ตัวชาร์จแบตเตอรี่ไม่ตัด-ความร้อนเกินมาตรฐาน’

(4 พ.ค.67) โซลาร์เซลล์ ทนแดดไม่ไหว ไฟลุกพรึบกลางหมู่บ้าน ชาวเน็ตหวั่นของไม่ได้มาตรฐาน

ผู้ใช้ TikTok ‘seephumeegarage’ โพสต์คลิปวิดีโอความยาวกว่า 30 วินาที ในคลิป เป็นภาพขณะที่ เสาโซลาร์เซลล์ที่ตั้งอยู่กลางแดด แต่แล้วมีควันลอยขึ้นมาจนเกิดไฟไหม้ และท้ายสุดโซลาร์เซลล์ ก็หักและหล่นลงพื้น

ผู้โพสต์คลิป ระบุข้อความว่า “ไม่รู้ว่าจะเกี่ยวกับอากาศร้อนเปล่า อยู่ดี ๆ โซลาร์เซลล์ก็ไฟไหม้เอง”

หลังจากโพสต์ไปไม่นาน มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น และตั้งคำถามจำนวนมาก ว่า เหตุใดโซลาร์เซลล์ ที่ควรจะต้องทนความร้อน ถึงสามารถไฟลุกได้ 

หรือจะมาจากส่วนอื่นที่ไม่ใช่ 'โซลาร์เซลล์' เช่นแบต หรือตัวเชื่อมแผงวงจรอื่นๆ กันแน่

อย่างไรก็ตาม คนก็เข้ามาแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย เช่น

“แล้วที่ติดตั้งตามหลังคาบ้านล่ะ ไม่อยากจะคิดเลย”

“1 ร้อนเกิน 2 ชาร์จเกิน ไม่แน่ใจว่ามีBMSไหมน่ะครับ”

“ความคิดส่วนตัวผมว่าการรับแสงเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงาน ยิ่งแดดแรงๆ วัสดุต้องรับความร้อนเป็นอย่างมาก วัสดุจึงทนความร้อนไม่ไหวจึงทำให้ติดไฟ มั่วเอาครับ”

“ไหม้อยู่แล้วเพราะแผงโซลาเซลล์ บนตัวรับแสงมีเนื้อกระจกบางๆ เพราะรับความร้อนเกินมาตรฐานที่กำหนด”

“แบตเตอรี่ไม่ตัดชาร์จตลอดเต็มก็ไม่ตัด”

“แบตลิเธียม ทนความร้อนไม่ไหว”

“แดดดีจัดชาร์ทเต็มอัตราจนแบตบอกไม่ไหวแล้วน้องพลีชีพเลย”

สหรัฐฯ เล็งขึ้นภาษีนำเข้ารถ EV จากจีน 4 เท่าตัว เพิ่มจาก 25% เป็น 100% ขวางทางโต EV ขั้นสุด

(11 พ.ค.67) TechHangout รายงานว่า สหรัฐฯ กำลังจะประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนหลายประเภท รวมถึงสินค้ารักษ์โลกต่าง ๆ เช่น แผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่ เวชภัณฑ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ผลิตในจีน จาก 25% เป็น 100%

ปัจจุบัน รถยนต์ที่ผลิตในจีนทั้งหมดต้องเสียภาษีนำเข้า 25% เมื่อนำเข้ามายังสหรัฐฯ นอกเหนือจากภาษีรถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศอีก 2.5% ซึ่งรวมเป็น 27.5% ภาษีที่สูงนี้ส่งผลกระทบต่อการนำเข้ารถยนต์จีนเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากการส่งออกไปยังประเทศที่มีภาษีต่ำกว่าเป็นเรื่องง่ายกว่า

อย่างไรก็ตาม ด้วยรถยนต์ไฟฟ้าจีนที่มีราคาไม่แพง แม้จะมีภาษี 25% ราคาก็ยังคงแข่งขันได้ ด้วยเหตุนี้ จึงคาดว่า ไม่ว่าอย่างไร รถยนต์ไฟฟ้าจีนก็อาจเข้ามาทำตลาดในสหรัฐฯ อยู่ดี

ทางการสหรัฐฯ จึงมองว่าภาษี 25% ไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าจีน ดังนั้นจึงตัดสินใจที่จะขึ้นเป็น 100% ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าจีนจะมีราคาขายเพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อนำเข้ามาสหรัฐฯ 

ทั้งนี้ นโยบายนี้ยังไม่ถูกประกาศอย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าจะมีการประกาศเกี่ยวกับภาษีใหม่ในวันอังคารนี้ (14 พ.ค.67)

ย้อนกลับไปเมื่อไม่นานมานี้ ผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ และยุโรป หลายรายเรียกร้องให้มีการขึ้นภาษี เนื่องจากการผลิต รถยนต์ไฟฟ้าจีน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

โดยในปี 2015 ส่วนแบ่งการตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าของจีนอยู่ที่เพียง 0.84% ซึ่งใกล้เคียงกับส่วนแบ่งการตลาดของสหรัฐฯ ที่ 0.66% แต่ในปี 2023 แม้ส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นเป็นเพียง 7.6% แต่ส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของจีนกลับพุ่งสูงไปถึง 37% แซงหน้าหลายประเทศในอุตสาหกรรมนี้

ปัจจุบันภายใต้ความนิยมรถยนต์ไฟฟ้าจีนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้การผลิตยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีรถล้นตลาดและพอที่จะทำให้มีรถเหลือเฟือสำหรับการส่งออก และผู้ผลิตรถจีนก็ได้เริ่มส่งออกไปยังยุโรปจำนวนมาก จนถึงขั้นเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถหาเรือขนส่งได้เพียงพอ

ฉะนั้นเพื่อไม่ให้โอกาสการขยายตัวของรถไฟฟ้าจีนเพิ่มไปกว่านี้ การขึ้นภาษีรถไฟฟ้าจีนที่จะเข้ามาในสหรัฐฯ จึงเป็นเกมกีดกันการค้าที่ดุเอาเรื่อง และนั่นก็จะส่งผลให้ผู้บริโภคในสหรัฐฯ มีโอกาสได้สัมผัสรถยนต์ไฟฟ้าจีนราคาประหยัดและเทคโนโลยีล้ำสมัยน้อยลงด้วยไปโดยปริยาย

ผู้บริโภคโวยลั่น!! จอด ‘รถไฟฟ้า’ ตากฝนแค่ 20 นาที แบตเตอรี่พัง โชว์รูมแจง ‘ค่าซ่อมเกือบ 1.1 ล้านบาท’ เตรียมเดินหน้าร้อง ‘สคบ.’

เมื่อวานนี้ (7 มิ.ย.67) ในเพจกลุ่ม ‘พวกเราคือผู้บริโภค’ มีเจ้าของรถรายหนึ่งร้องเรียนถึงรถไฟฟ้าจอดตากฝนแค่ 20 นาที ปรากฏว่าแบตเตอรี่พัง ค่าซ่อมล้านกว่าบาท

รายละเอียดในเพจที่เขียนไว้ว่า ขอแจ้งเตือนให้ข้อมูลเพื่อนำความปรารถนาดีต่อผู้บริโภคด้วยกันนะคะ แค่จอดรถหน้าบ้านขณะฝนตกสัก 15-20 นาที แบตเตอรี่ก็พังแล้ว โชว์รูมเขาบอกมา เสนอราคาค่าซ่อมเปลี่ยนแบตเตอรี่รวมอื่น ๆ ต่าง ๆ นานา บอกมาเกือบ 1.1 ล้านเชียวนะคะ

ตอนนี้ยังจอดสนิทอยู่ที่โชว์รูมเป็นซากรถมาเกือบ 30 วันแล้วค่ะ ดิฉันยังไม่ได้รับการติดต่อหรือให้การบริการรถสำรอง เยียวยาใด ๆ ทั้งสิ้นจากโชว์รูม หรือจากประกันชั้นหนึ่งเลยค่ะ ความเสียหายอันแสนเป็นบทเรียนของการตัดสินใจซื้อรถยี่ห้อ ไร้คุณภาพและบริการคันนี้นะคะ ทำให้ตอนนี้คือแจ้งความกับ สคบ. และแต่งตั้งทนายดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายและออกสื่อต่อไปคะ ทุกๆ ทางคะ

อย่างไรเรื่องนี้ ต้องรอ ทาง เรเว่ ออโตโมทีฟ ผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า BYD ออกมาชี้แจง แก้ไขปัญหาในเคสนี้

สำหรับรุ่นนี้ เป็นรถ BYD SEAL ราคาเริ่ม 1,325,000 -1,599.000 บาท 

Nyobolt พัฒนาแบตฯ ชาร์จเต็ม 100% ได้ภายใน 6 นาที  เร็วกว่าสองเท่าของการเติมน้ำมันในรถยนต์ที่ใช้เบนซิน

(4 ก.ค.67) เพจ ‘Salika’ ได้เผยแพร่บทความที่น่าสนใจเกี่ยวการพัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ที่สามารถชาร์จได้เต็ม 100% ภายในเวลา 6 นาที โดยระบุว่า… 

หนึ่งในข้อร้องเรียนที่พบบ่อยที่สุดเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าคือเวลาในการชาร์จที่นานเกินไป ในบางกรณี อาจใช้เวลานานถึง 40 ชั่วโมง หากชาร์จที่บ้าน และแม้แต่การใช้ Tesla Supercharger ก็จะใช้เวลาประมาณ 20 นาทีโดยเฉลี่ย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ EV ยังไม่สามารถกินรวบตลาดรถยนต์ได้

อย่างไรก็ตาม Nyobolt สตาร์ทอัปที่ตั้งอยู่ในเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2562 กล่าวว่าได้พัฒนาแบตเตอรี่ที่สามารถชาร์จได้เต็ม 100% ภายในเวลา 6 นาที เร็วกว่าความเร็วของยานพาหนะที่ชาร์จเร็วที่สุดบนท้องถนนสองถนน หรือประมาณสองเท่าของระยะเวลาที่ใช้ในการเติมน้ำมันในรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน

Nyobolt ที่ชูจุดขาย “พลังมากขึ้นในเวลาที่น้อยลง แบตเตอรี่กำลังสูงพิเศษพร้อมเวลาในการชาร์จที่รวดเร็วเป็นพิเศษ” กล่าวว่าได้พัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนขนาด 35kWh ซึ่งสามารถชาร์จจาก 10% เป็น 80% ในเวลาเพียงสี่นาทีครึ่งเท่านั้น และชาร์จเต็ม 100% ภายใน 6 นาที นอกจากนี้ ระบุว่าแบตเตอรี่ไม่แสดงการเสื่อมสภาพของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแต่อย่างใด

บริษัทกล่าวว่าแบตเตอรี่ดังกล่าวอ้างถึงการทดสอบโดย OEM อิสระ (แม้ว่าบริษัทจะไม่ได้ระบุว่าใครเป็นผู้ทำการทดสอบ) สามารถชาร์จได้เร็วมากกว่า 4,000 รอบ ซึ่งครอบคลุมระยะทางประมาณ 600,000 ไมล์ (965,604 กิโลเมตร) โดยรักษาความจุของแบตเตอรี่ได้มากกว่า 80%

“การวิจัยอย่างกว้างขวางของเราในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาได้ปลดล็อกเทคโนโลยีแบตเตอรี่ใหม่ที่มีความพร้อมและสามารถปรับขนาดได้ในขณะนี้” ดร. Sai Shivareddy ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Nyobolt กล่าวในแถลงการณ์ “เรากำลังทำให้ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปไม่ได้”

บริษัทกล่าวว่าแบตเตอรี่ใหม่ได้รับการทดสอบในต้นแบบ Nyobolt EV ซึ่งเป็นรถสปอร์ต EV ที่มีน้ำหนักเพียง 2,755 ปอนด์ (ราว 1,250 กิโลกรัม)ทำให้ไม่เพียงแต่สามารถปรับปรุงการควบคุมได้เท่านั้น แต่ยานพาหนะที่เบากว่าและแบตเตอรี่ขนาดเล็กกว่าจะมีราคาถูกกว่าในการสร้างและมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง

“ชุดแบตเตอรี่ขนาด 35kWh ในรถต้นแบบ Nyobolt EV ไม่เพียงแต่เพิ่มระยะทางได้เร็วขึ้นเท่านั้น แต่ขนาดแบตเตอรี่ขนาดกะทัดรัดยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตรถยนต์และผู้ขับขี่ ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าประหยัดพลังงานมีราคาถูกกว่าและใช้ทรัพยากรในการผลิตน้อยลงอย่างมาก” Nyobolt ระบุในแถลงการณ์

มีรายงานว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ใหม่นี้จะเดินทางได้ประมาณ 155 ไมล์ (ราว 250 กิโลเมตร) ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง และสามารถเพิ่มระยะทางได้ 120 ไมล์ หรือราว 193 กิโลเมตรในเวลาเพียง 4 นาที

Nyobolt กล่าวว่ากำลังเจรจากับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 8 ราย เกี่ยวกับการขายนวัตกรรมแบตเตอรี่ของตน แต่ยังไม่น่าจะส่งออกไปที่สหรัฐอเมริกาได้ในระยะสั้น เนื่องจากแบตเตอรี่ขนาด 35 kWh นั้นเล็กกว่าแบตเตอรี่ขนาด 85 kWh ที่ใช้ในรถ EV ส่วนใหญ่ของอเมริกาอย่างเห็นได้ชัด กระนั้นความก้าวหน้าครั้งนี้อาจเป็นส่วนสำคัญสำหรับการพัฒนาแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ในอนาคต

“Nyobolt EV แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นด้วยเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ชาร์จเร็วและมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น ช่วยให้ความจุมีขนาดที่เหมาะสม ในขณะที่ยังคงให้ประสิทธิภาพตามที่ต้องการ เรากำลังขจัดอุปสรรคในการชาร์จที่ช้าและไม่สะดวก ทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้าน่าดึงดูดและเข้าถึงได้สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาในการชาร์จเป็นเวลานานหรือไม่มีพื้นที่สำหรับติดตั้งเครื่องชาร์จที่บ้าน” Shane Davies ผู้อำนวยการฝ่ายระบบแบตเตอรี่รถยนต์ของ Nyobolt กล่าว

บริษัทอ้างว่าได้เตรียมพร้อมสำหรับการผลิตแล้ว โดยกล่าวว่าอาจมีการผลิตในปริมาณน้อยภายใน 1 ปี นับจากนี้ โดยจะเพิ่มเป็น 1,000 แพ็กในปี 2568 และด้วยรูปแบบการผลิตที่ยืดหยุ่นของ Nyobolt ทำให้ผลิตเซลล์แบตเตอรี่ได้มากถึง 2 ล้านเซลล์ต่อปี และแบตเตอรี่ของ Nyobolt จะปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านกฎระเบียบแบตเตอรี่ของสหภาพยุโรปเมื่อมีการผลิตจริงจัง

นอกจากนี้ สถาปัตยกรรมของ Nyobolt EV ยังเน้นย้ำถึงวิธีการดัดแปลงเข้ากับแพลตฟอร์ม EV ที่มีอยู่ ส่งผลให้เวลาในการชาร์จและอายุการหมุนเวียนของแบตเตอรี่เพิ่มขึ้นอีกขั้นหนึ่ง โมดูลแบตเตอรี่ของ Nyobolt EV ถูกระบายความร้อนด้วยแผ่นเย็นที่มีส่วนผสมของน้ำ/ไกลคอล วงจรแบตเตอรี่ใช้คอมเพรสเซอร์และคอนเดนเซอร์ AC และเครื่องทำความเย็นแบตเตอรี่ ซึ่งเข้ากันได้กับยานพาหนะสมรรถนะสูงอื่นๆ และส่งผลให้ได้โมดูลและชุดแบตเตอรี่ที่มีคุณภาพใกล้เคียงมาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญคือ แบตเตอรี่ของ Nyobolt ขึ้นอยู่กับไนโอเบียม (โลหะที่มีความเหนียวและมันวาวซึ่งสามารถต้านทานการกัดกร่อนและรักษาคุณสมบัติทางกายภาพทั้งหมดไว้เมื่อสัมผัสกับอุณหภูมิที่สูงมาก) ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการขุดค้นมากนัก เมื่อเทียบกับระดับการผลิตของวัสดุที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน

ทั้งนี้ Nyobolt เป็นเพียงหนึ่งในหลายบริษัทที่ทำงานอย่างขะมักเขม้นเพื่อปรับปรุงแบตเตอรี่ EV เมื่อเดือนที่แล้ว บริษัทชื่อ 24M ได้จัดแสดงแบตเตอรี่ที่ออกแบบมาให้มีระยะทางไกลถึง 1,000 ไมล์(ราว 1,609 กิโลเมตร) ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง แบตเตอรี่นั้นใช้โลหะลิเทียมมากกว่าลิเทียมไอออน ซึ่ง 24M เป็นสปินเอาท์ของ MIT กล่าวว่าให้ความหนาแน่นของพลังงานมากกว่า อย่างไรก็ตาม อาจใช้เวลา 5 ปีก่อนที่เทคโนโลยีดังกล่าวจะออกสู่ท้องถนน

ขณะเดียวกัน เมื่อต้นปีที่ผ่านมา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลกล่าวว่าพวกเขาได้สร้างแบตเตอรี่ลิเทียมที่มีความเสถียร ซึ่งสามารถชาร์จได้ในเวลาไม่ถึง 5 นาที และเมื่อปีที่แล้ว บริษัทชื่อ Gravity กล่าวว่าเครื่องชาร์จของบริษัทสามารถจ่ายไฟให้กับรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับการเดินทางระยะทาง 200 ไมล์ (ราว 322 กิโลเมตร) ได้ภายในเวลาเพียง 5 นาที แต่ปัญหาคือ EV บางตัวไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับพลังงานของเครื่องชาร์จที่ทรงประสิทธิภาพเหล่านี้

'ซัมซุง' โชว์แบตฯ EV ตัวใหม่ ชาร์จ 9 นาที วิ่งได้ระยะ 'กรุงเทพฯ-ภูเก็ต' คาด!! นำมาตอบโจทย์ในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าระดับซูเปอร์พรีเมียม

บริษัทซัมซุง เอสดีไอ (Samsung SDI) ซึ่งเป็นบริษัทสำหรับการผลิตระบบกักเก็บพลังงานโดยเฉพาะ ในเครือของบริษัทเทคยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้อย่างซัมซุง (Samsung) แสดงความก้าวหน้าล่าสุดของเทคโนโลยีแบตเตอรี่โซลิดสเตต ซึ่งอ้างว่าสามารถชาร์จ 9 นาทีและวิ่งได้ระยะทาง 600 ไมล์ หรือประมาณ 965 กิโลเมตร เทียบเท่าวิ่งจากกรุงเทพฯ ไปภูเก็ตได้โดยยังเหลือแบตเตอรี่อีกจำนวนหนึ่ง ที่สำคัญคือมีอายุการใช้งานแบตยืนยาวประมาณ 20 ปี

เทคโนโลยีแบตเตอรี่โซลิดสเตตออกไซด์ของซัมซุง มีความหนาแน่นของพลังงาน 500 วัตต์ชั่วโมงต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่ามากกว่าแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าทั่วไปประมาณ 2 เท่า ซึ่งมีความหนาแน่นประมาณ 270 วัตต์ชั่วโมงต่อกิโลกรัม ความหนาแน่นที่เพิ่มขึ้น อาจจะช่วยเพิ่มระยะทางในการเดินทางของรถยนต์ไฟฟ้าได้มากกว่ารถยนต์ปัจจุบันได้เป็น 2 เท่า ทั้งนี้ข้อมูลการชาร์จ 9 นาทีนั้น เว็บไซต์ Interesting Engineering ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นการชาร์จจากร้อยละ 10 หรือ 20 ไปเป็นร้อยละ 80 มากกว่าที่จะเป็นจาก 0 ถึงเต็ม 100 เนื่องมาจากถือว่าเป็นแนวทางของอุตสาหกรรม ที่การชาร์จแบตเกินร้อยละ 80 จะช้าลงอย่างมาก เพื่อปกป้องสุขภาพและอายุการใช้งานของแบตเตอรี่

แบตเตอรี่โซลิดสเตตเหล่านี้คาดว่าจะมีขนาดเล็ก เบา และปลอดภัยกว่าแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ใช้ในยานพาหนะไฟฟ้าส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น แปลว่ามันจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ EV ซึ่งบริษัทเปิดเผยว่าหากนำไปใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า มันก็จะทำให้ใช้พื้นที่ในการจัดเก็บแบตเตอรี่น้อยกว่า ส่งผลให้น้ำหนักรถโดยรวมเบาลงไปด้วย ซึ่งยังมีต้นทุนในการผลิตที่สูง ดังนั้นจึงคาดว่ามันจะถูกนำไปใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าระดับซูเปอร์พรีเมียมเท่านั้น ซึ่งซูเปอร์พรีเมียมในที่นี้หมายถึง รถยนต์ไฟฟ้าที่มีระยะทางการขับขี่ประมาณ 965 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง 

Samsung SDI ได้จัดแสดงเทคโนโลยีนี้ในงานแสดงสินค้าที่เน้นเทคโนโลยีแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน SNE Battery Day 2024 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 23 - 24 กรกฎาคม 2024 ที่ผ่านมา บริษัทเปิดเผยว่าตอนนี้ได้นำร่องเปิดสายการผลิตแบตเตอรี่โซลิดสเตตอย่างเต็มรูปแบบ ยิ่งไปกว่านั้น แบตเตอรี่ชุดแรกได้ถูกส่งไปยังผู้ผลิต EV เพื่อทำการทดสอบแล้ว พร้อมกับกล่าวเพิ่มเติมว่า “เราจัดส่งตัวอย่างให้กับลูกค้าตั้งแต่ปลายปีที่แล้วถึงต้นปีนี้ และได้รับการตอบรับเชิงบวก” และภายในปี 2026 จะมีการผลิตออกมาจำนวนมาก

นอกเหนือจากการพัฒนาแบตเตอรี่โซลิดสเตตแล้ว Samsung SDI ยังพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนฟอสเฟต (LFP) และแบตเตอรี่ลิเทียมโคบอลต์ที่ราคาถูกลง รวมถึงวิธีการผลิตอิเล็กโทรดแห้ง หรือก็คือแบตเตอรี่อิเล็กโทรดที่ไม่ต้องใช้ตัวทำละลายของเหลว เพื่อลดต้นทุนด้วย

อย่างไรก็ตาม Interesting Engineering รายงานว่าเรื่องการชาร์จเร็วเป็นหนึ่งในสิ่งที่หลาย ๆ บริษัทกำลังพัฒนา แต่แนวทางที่ผู้ผลิตแบตเตอรี่เกือบทุกรายให้ความสำคัญและกำลังพัฒนาควบคู่ไปด้วยก็คือการเพิ่มอายุการใช้งานแบตเตอรี่ให้ยาวนานขึ้น อย่างเช่นบริษัทผู้ผลิตระบบกักเก็บพลังงานสัญชาติจีน ซีเอทีแอล (CATL) และผู้ผลิตแบตเตอรี่รายอื่น ๆ ได้ประกาศเปิดตัวแบตเตอรี่ที่มีอายุการใช้งาน 20 ปี ซึ่งมักเรียกกันว่าแบตเตอรี่ล้านไมล์ (Million-Mile Batteries) ดังนั้นวิสัยทัศน์ของซัมซุงที่จะ "ยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่เป็น 20 ปี" จึงสอดคล้องกับแนวโน้มตลาดโดยรวม

ประเมินสถานการณ์ 'EV' ปีหน้าจะเริ่มถูกกว่ารถสันดาปในหลายรุ่น หลังราคาแบตฯ รถยนต์ไฟฟ้ากำลังลดลงอย่างรวดเร็วถึง 90%

(18 ส.ค.67) Business Tomorrow เปิดเผยว่า ราคารถยนต์ไฟฟ้า EV กำลังเริ่มใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาป โดยการเปลี่ยนแปลงนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้รถยนต์ไฟฟ้ากลายเป็นตัวเลือกหลักของผู้บริโภคในอนาคตอันใกล้ จากปัจจัยดังนี้...

1) ราคาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้ทยอยปรับตัวลดลงถึง -90% ตั้งแต่ปี 2008 ถึง 2023 (รายงานจาก Department of Energy สหรัฐฯ)

2) ปัจจุบันราคาแบตเตอรี่ EV อยู่ที่ประมาณ 130 ยูโรต่อ kWh ลดลงจาก 1,319 ยูโรต่อ kWh ในปี 2008

3) การลดลงของราคาแบตเตอรี่ EV เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเพิ่มการยอมรับรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก

4) ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นอาจเท่ากับรถยนต์สันดาปได้เร็วที่สุดในปี 2025

5) ค่าเชื้อเพลิงและค่าบำรุงรักษาที่ต่ำลงทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นตัวเลือกที่น่าดึงดูดสำหรับผู้บริโภคมากขึ้น

6) Gartner ที่ปรึกษาระดับโลกคาดการณ์ว่าภายในปี 2027 ต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะถูกกว่ารถยนต์ 

7) การศึกษาของ JD Power พบว่าต้นทุนรวมในการเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าในระยะเวลา 5 ปีนั้น ต่ำกว่าการเป็นเจ้าของรถยนต์ ICE ใน 48 จาก 50 รัฐของสหรัฐฯ

8) แม้ว่าต้นทุนแบตเตอรี่จะลดลง แต่การเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้ายังต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จ เพิ่มขึ้นอีกด้วย

#อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในอนาคตอันใกล้ รถยนต์ไฟฟ้า EV กำลังจะมีราคาถูกกว่ารถยนต์สันดาปมากขึ้นไปเรื่อย ๆ จากต้นทุนแบตเตอรี่ที่ทยอยปรับตัวลดลง ซึ่งจะกลายเป็นอนาคตที่น่าติดตาม 

‘GWM’ ดัน!! ‘ไทย’ สู่ศูนย์กลางการผลิตระดับโลก วางแผนเติบโต ในระยะยาว เพิ่มกำลังการผลิต!! ขยายตลาด เร่งส่งออก ‘อาเซียน – ลาตินอเมริกา - ออสเตรเลีย’

(19 เม.ย. 68) GWM (Thailand) ยกระดับสู่การเป็นแบรนด์รถยนต์ที่มีผลิตภัณฑ์ครอบคลุมทุกประเภทพลังงานที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานทั่วทุกมุมโลก ด้วยแนวคิด “ครอบคลุมทุกการใช้งาน (All Scenarios) ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมทุกพลังงาน (All Powertrains) สู่การตอบสนองทุกกลุ่มผู้ใช้งานอย่างแท้จริง (All Users)” 

ล่าสุด เดินหน้าขับเคลื่อนแผนการผลิตรถยนต์หลากหลายรุ่นครอบคลุมทุกประเภทพลังงานจากโรงงานอัจฉริยะ (GWM Smart Factory) ในจังหวัดระยอง เพื่อขยายการส่งออกสู่ตลาดโลก โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2568 นี้ GWM (Thailand) เตรียมเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อส่งออกไปยังกลุ่มประเทศต่าง ๆ ทั้งในอาเซียน ออสเตรเลีย และลาตินอเมริกา โดยจะส่งรถยนต์เอสยูวีระดับพรีเมียม GWM TANK 500 HEV ไปยังประเทศมาเลเซีย ในขณะที่จะยังคงส่งออกรถยนต์ GWM TANK 300 HEV สู่ประเทศอินโดนีเซีย และ GWM HAVAL H6 HEV รวมถึงเจ้าสิงโตอารมณ์ดี GWM HAVAL JOLION HEV ไปรุกตลาดในประเทศเวียดนามอย่างต่อเนื่อง 

ยิ่งไปกว่านั้น ในเดือนเมษายนนี้ GWM (Thailand) เตรียมส่งออกเจ้าเหมียวไฟฟ้า NEW GWM ORA Good Cat รถยนต์ไฟฟ้า 100% รุ่นแรกที่ผลิตในประเทศไทยสู่ตลาดโลกเป็นครั้งแรก โดยจะส่งออกไปยังประเทศบราซิล ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์อีกด้วย ก่อนหน้านี้ GWM (Thailand) ได้มีการส่งออกรถยนต์เอสยูวีไปยังประเทศอินโดนีเซียและเวียดนามมาแล้ว โดยได้ส่งออกรถยนต์รุ่น GWM TANK 300 HEV, GWM TANK 500 HEV และ GWM HAVAL H6 HEV ไปยังประเทศอินโดนีเซีย ในขณะที่ประเทศเวียดนาม ได้ส่งออกรถยนต์ทั้งหมด 2 รุ่น ได้แก่ GWM HAVAL H6 HEV และ GWM HAVAL JOLION HEV ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากประเทศดังกล่าว ทั้งหมดนี้ คือ การสะท้อนความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจของ GWM (Thailand) ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการผลิตและส่งออกรถยนต์ที่ครอบคลุมทุกพลังงานสู่ตลาดโลก สร้างงาน สร้างรายได้ และนำความภาคภูมิใจกลับมาสู่คนไทย ด้วยการผลิตรถยนต์คุณภาพที่เปี่ยมด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าที่ผลิตในประเทศไทย โดยคนไทย สู่การมอบประสบการณ์เพื่อการเดินทางที่ 'เหนือกว่า' ให้แก่ผู้ใช้งานทั่วทุกมุมโลก ผ่านกลยุทธ์ 'GWM Go With More'

เจมส์ หยาง รองประธาน GWM ตลาดต่างประเทศ กล่าวว่า “GWM และทีมงานชาวไทยทุกคนล้วนภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมสร้างการเติบโตให้แก่เศรษฐกิจประเทศไทยด้วยการผลิตและส่งออกรถยนต์ GWM หลากหลายรุ่น ครอบคลุมทุกประเภทพลังงานสู่ผู้ใช้งานทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และลาตินอเมริกา ตอกย้ำศักยภาพของประเทศไทยในฐานะที่เป็นฐานการผลิตประจำภูมิภาคอาเซียน โดยการส่งออกรถยนต์ GWM ในไตรมาส 2/2568 นี้ สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพการผลิตและมาตรฐานระดับโลกของโรงงานของเราที่จังหวัดระยอง โดยผลิตภัณฑ์ภายใต้ GWM TANK ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภคในประเทศอินโดนีเซีย ส่วน GWM HAVAL ก็ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากประเทศเวียดนาม ที่สำคัญในปีนี้จะเป็นครั้งแรกที่เราจะส่งออก NEW GWM ORA Good Cat ซึ่งถือเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจจากโรงงานผลิตขนาดใหญ่ของเรา โดยโรงงานที่จังหวัดระยองถือเป็นโรงงานการผลิตเต็มรูปแบบแห่งที่ 2 ของ GWM นอกประเทศจีน (ถัดจากประเทศรัสเซีย) ทั้งนี้ GWM จะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์ระดับโลกของ GWM เราพร้อมเติบโตไปในระยะยาวกับลูกค้ารวมถึงพาร์ทเนอร์ชาวไทย และสังคมไทยอย่างยั่งยืน”

ปัจจุบัน โรงงานอัจฉริยะของ GWM ในจังหวัดระยองสามารถรองรับกำลังการผลิตสูงสุดถึง 80,000 คันต่อปี โดย GWM (Thailand) ได้เพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับการจำหน่ายในประเทศและการส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยรถยนต์ทุกรุ่นและทุกคันที่จำหน่ายในประเทศไทยล้วนผลิตจากโรงงานในประเทศไทยโดยฝีมือคนไทยทั้งสิ้น (ยกเว้นรุ่น GWM ORA 07 ที่นำเข้าจากประเทศจีน) โดยล่าสุด ALL NEW GWM HAVAL H6 ทั้งรุ่นไฮบริด และปลั๊กอิน-ไฮบริด และ NEW GWM TANK 300 DIESEL ที่เพิ่งเปิดตัวที่งานมอเตอร์โชว์ 2025 เมื่อปลายเดือนมีนาคม ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากแฟน ๆ ชาวไทยและเริ่มส่งมอบให้กับลูกค้าชาวไทยไปแล้วนั้น ก็ผลิตจากสายการผลิตที่โรงงาน GWM จังหวัดระยองเช่นเดียวกัน โดยมีพนักงานผู้มีความเชี่ยวชาญกว่า 1,100 คน ซึ่งปฏิบัติงานภายใต้มาตรฐานการผลิตระดับสากล พร้อมทั้งใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ (Local Content) ในสัดส่วนประมาณ 45 – 50% 

ซึ่งในอนาคต GWM (Thailand) ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการบริหารจัดการซัพพลายเชน รวมถึงการบริหารจัดการอะไหล่สำหรับการบริการหลังการขายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ลูกค้าทั่วทุกมุมโลกได้สามารถเข้าถึงยนตรกรรมอัจฉริยะในทุกรูปแบบพลังงานของ GWM ได้ง่ายขึ้น คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น พร้อมรับประสบการณ์การเดินทางที่เหนือกว่าในทุกด้านอย่างแท้จริง GWM (Thailand) เดินหน้าอย่างมั่นคงและต่อเนื่องในการผลิตรถยนต์ที่ครอบคลุมทุกพลังงานในหลากหลายเซกเมนต์จากหลากหลายตระกูล ครอบคลุม GWM TANK, GWM HAVAL และ GWM ORA เพื่อจำหน่ายในประเทศไทยและส่งออกสู่ตลาดโลก และจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์อย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านดีไซน์ สมรรถนะ และระบบขับเคลื่อนที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั่วโลก และส่งมอบประสบการณ์การขับขี่ที่เหนือกว่า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่เวทีระดับโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top