Monday, 21 April 2025
เหยื่อค้ามนุษย์

'ปวีณา' พาเหยื่อค้ามนุษย์ไปพบ รอง ผบ.ตร.

รายที่  1.สาวไทย 4 ราย ถูกหลอกไปค้าประเวณีที่ดูไบ 3 ราย -บาห์เรน 1 ราย ขอช่วยดำเนินคดีกับขบวนการค้ามนุษย์ รายที่ 2.ตัวแทนญาติเหยื่อ 24 ราย ถูกหลอกไปบังคับให้ทำงานคอลเซ็นเตอร์ หลอกคนไทยให้ลงทุน ถูกกักขัง ทำร้าย ที่เมืองเล้าไก่ ประเทศเมียนมา ขอช่วยลูกหลานและคนที่รักกลับไทย รายที่ 3.แม่ของสาวไทยวัย 23 ปี ไปญี่ปุ่น 2 วัน ตกตึกเสียชีวิตขอช่วยคลี่ปมสาเหตุการตาย วันนี้เเม่นำโทรศัพท์มือถือลูกสาว ให้ ปวีณา มอบบิ๊กโจ๊ก เพื่อกู้ข้อมูลหาหลักฐาน ใคร? พูดกับลูกเป็นคนสุดท้ายก่อนตกตึกตาย

พร้อมกันนี้ “ปวีณา” ยังได้พา นรต. ปี 3 รุ่น 78 จำนวน 30 นาย ที่ศึกษาดูงานมูลนิธิปวีณาฯ ไปศึกษาดูงานกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. อีกด้วย   

วันที่ 12 ก.ย.66 เวลา 10.00 น. ที่สโมสรตำรวจ เคสที่ 1. นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี พา 4 สาวไทยซึ่งถูกหลอกไปค้าประเวณีที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 3 ราย และประเทศบาห์เรน 1 ราย ไปพบ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เพื่อขอความช่วยเหลือดำเนินคดีกับขบวนการค้ามนุษย์ หลังบางรายเกือบเอาชีวิตไม่รอดในต่างแดน ต้องสูญเงินจำนวนมากเพื่อไถ่ตัว บางรายหลังกลับมาไทยยังถูกขู่ฆ่าทำร้าย ซึ่งเคสทั้ง 4 ราย ร้องทุกข์มูลนิธิปวีณาฯ และได้รับการช่วยเหลือกลับไทย   

ผู้เสียหายทั้ง 4 คน ให้ข้อมูลว่า ถูกคนรู้จักชักชวนไปทำงานนวดแผนไทยที่ดูไบ และบาห์เรน บอกว่ารายได้ดี เดือนละ 4-5 หมื่นบาท มีที่พัก อาหารฟรี โดยทุกคนหวังว่าจะได้มีเงินส่งมาให้ครอบครัวไม่ลำบาก แต่เมื่อไปถึงที่ร้านกลับถูกยึดพลาสปอร์ต และบังคับให้ค้าประเวณีใช้หนี้นับแสนบาท ถูกกักขังทำร้ายเหมือนตกนรกทั้งเป็น ทั้งหมดจึงได้ร้องทุกข์มายังมูลนิธิปวีณาฯ โดยนางปวีณา ได้ประสาน นายรุธ ธรรมมงคล อธิบดีกรมการกงสุล ประสานช่วยเหลือกลับไทย ซึ่งแต่ละคนถูกขบวนการค้ามนุษย์ข่มขู่ฆ่าเกรงจะไม่ปลอดภัย

เคสที่ 2. นางปวีณา พาญาติเหยื่อถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกไปทำงานที่เมืองเล้าไก่ ประเทศเมียนมา ไปพบ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. พร้อมนำข้อมูลคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานที่ดังกล่าวรวม 24 คน ซึ่งร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือมายังมูลนิธิปวีณาฯ ไปมอบให้ เพื่อขอความช่วยเหลือให้ช่วยกลับไทย เนื่องจากแต่ละคนถูกบังคับให้ทำงานหลอกคนไทยลงทุน ถูกกักขังพร้อมคนไทยอีก 200-300 คนอยู่ในตึกที่มีชายฉกรรจ?เเต่งตัวคล้ายทหารถือปืนคอยคุม ถ้าทำยอดไม่ได้ก็จะถูกเรียกค่าไถ่และขายต่อไปที่อื่น    

เคสที่ 3. นางปวีณา พา นางสาวสมพร ศิริโสภณ อายุ 48 ปี เเม่นำโทรศัพท์มือถือของนางสาวธนพร ลูกสาว อายุ 23 ปี ที่เสียชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่น ให้ปวีณา มอบให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์ว่ามีการติดต่อพูดคุยกับใครบ้างหลังเดินทางไปทำงานถึงประเทศญี่ปุ่นวันที่ 23 ก.ค.66 ใคร? พูดกับลูกเป็นคนสุดท้ายก่อนกลายเป็นศพเสียชีวิตอยู่ในซอกตึกอาคารที่พัก ในพื้นที่เขตอ.อิเซซากิ จ.คานากาวะ 

ซึ่งตำรวจญี่ปุ่นแจ้งสาเหตุการเสียชีวิตกับแม่ว่า ตกจากที่สูงชั้น 8 จากการฆ่าตัวตาย เนื่องจากตรวจสอบบริเวณช่องสุดทางเดินชั้น 8 ไม่พบร่องรอยการต่อสู้และไม่พบลายนิ้วมือหรือรอยเท้าผู้อื่นนอกจากผู้เสียชีวิตคนเดียว แต่แม่ยังไม่ปักใจเชื่อเพราะไม่มีสาเหตุหรือแรงจูงใจที่จะให้ลูกสาวคิดสั้นฆ่าตัวตาย จึงขอให้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ช่วยตรวจสอบหาความจริงให้ด้วย  

ขณะที่วันนี้ นางปวีณา ได้พานักเรียนนายร้อยตำรวจ ชั้นปีที่ 3 รุ่นที่ 78 จำนวน 30 นาย ที่เข้าศึกษาดูงานมูลนิธิปวีณาฯ ระหว่างวันที่ 29 ส.ค. – 12 ก.ย.66 ตามโครงการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ หลักสูตรสัมผัสปัญหาชุมชน รุ่นที่ 27 ปีการศึกษา 2566 ไปศึกษาดูงานกับพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เพื่อเก็บประสบการณ์นำไปปรับใช้หลังเรียนจบไปเป็นตำรวจรับใช้ประชาชนต่อไป 

นางปวีณา กล่าวว่า ขอขอบคุณ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ที่ประสานการช่วยเหลือร่วมกับมูลนิธิปวีณาฯ ด้วยดีเสมอมา ที่ผ่านมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ร่วมกับมูลนิธิปวีณาฯ ช่วยเหลือเหยื่อและผู้เสียหายได้จำนวนมาก พร้อมจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้อยากฝากเตือนคนไทยอย่าหลงเชื่ออะไรง่ายๆ หากจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศควรตรวจสอบกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศให้ดี เพราะอาจตกเป็นเหยื่อได้ และเจ้าหน้าที่ก็อาจจะช่วยไม่ได้ทุกคน

สถิติรับเรื่องราวร้องทุกข์ มูลนิธิปวีณาฯ ประจำปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. – 23 ธ.ค. 2565 รวมทั้งสิ้น  6,745 ราย เป็นเรื่องค้ามนุษย์/ค้าประเวณี จำนวน 255 ราย สถิติรับเรื่องราวร้องทุกข์ มูลนิธิปวีณาฯ ประจำปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. – 8 ก.ย. 2566 รวมทั้งสิ้น  4,491 ราย เป็นเรื่องค้ามนุษย์/ค้าประเวณี จำนวน 181 ราย

'แรงงานนอกระบบ' เสี่ยงเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในไทย บนความสบายใจของคนไทยที่รักสบายจนเคยตัว

อย่างที่เราทราบกันว่าตอนนี้มีแรงงานผิดกฎหมายเดินทางเข้ามายังประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งกลุ่ม NGO ทั้งหลายก็พยายามผลักดันและกดดันให้ไทยรับแรงงานเหล่านี้เข้าระบบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของไทยเลย  

จากการเรียกร้องของกลุ่ม NGO โดยเฉพาะฝั่งพม่าที่พยายามผลักดันมากเสียจนดูน่าสงสัยไปหมด เมื่อไปตามดูสายสัมพันธ์ของคนเหล่านี้จะพบว่าคนเหล่านี้มีสายสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ในไทยทั้งในระดับปฏิบัติการและระดับนโยบายถึงขั้นพยายามผลักดันนโยบายอะไรบางอย่างในไทยได้ 

เพราะล่าสุดเห็นระบบการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวในไทย ระบบใหม่มีภาษาต่างชาติทั้งอังกฤษ, พม่า, ลาว, เวียดนาม และภาษาเขมร โดยเหมือนตั้งใจที่จะให้แรงงานสามารถแจ้งเองได้เลย ซึ่งจะต่างจากในอดีตที่จะให้นายจ้างไทยเป็นคนแจ้งออก

ถามว่าการทำแบบนี้ใครเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ นายจ้างชาวไทย? หรือ แรงงานข้ามชาติ? 

บางที เอย่า ก็สงสัยจุดประสงค์ของกรมแรงงาน ว่าต้องการให้ไทยพัฒนาไปได้ในทิศทางที่ถูกต้องหรือต้องการแค่ใครก็ได้ที่มาทำแล้วผลักงานให้พ้นตัวไป?

มาอีกเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ไม่นานมานี้ เอย่า ได้รับรายงานมาว่า สนามกอล์ฟแห่งหนึ่งมีสาขาที่จังหวัดท่องเที่ยวในประเทศไทย มีเจ้าของเป็นคนไทย ประกาศรับแคดดี้ชาวพม่าเป็นผู้หญิงอายุระหว่าง 18-25 ปี โดยต้องมีทักษะพูดภาษาต่างประเทศได้ เช่น จีน, เกาหลี โดยจะได้รับเงินเดือน 12,000 บาท พร้อมสวัสดิการชุดพนักงาน ที่พักและอาหารฟรี

นอกจากนี้ ผู้สมัครจะต้องผ่านการทดสอบทักษะทางภาษาก่อน หากได้งานต้องทำงานไปก่อน 6 เดือน หลังพ้นระยะทดลองงาน 6 เดือนถึงจะทำบัตรชมพูให้ และในช่วงดังกล่าวพนักงานต้องห้ามเดินทางออกนอกสถานที่เด็ดขาด โดยการทำงานนี้มีสัญญาจ้าง 2 ปี ถ้าลาออกก่อนหรือทำงานไม่ครบสัญญาจะถูกปรับเป็นเงิน 300,000 บาท

หากมองว่าเป็นงานถูกกฎหมาย ก็น่าจะไม่ผิดกฎหมาย แต่การรับสมัครงานแบบนี้ไม่ถูกต้องไปตามการจ้างแรงงานต่างด้าว และบริษัทน่าจะรู้ดีว่าการจ้างต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารเป็นความผิด เพราะนายจ้างจะต้องไปขึ้นทะเบียนจ้างคนต่างด้าวก่อน จึงจะสามารถรับคนงานได้ 

ในส่วนของลูกจ้างที่ควรจะคำนึงคือ การที่ต้องไปทำงานในที่ใดที่หนึ่งไม่สามารถเดินทางออกไปไหนได้เลยไม่ต่างอะไรกับการถูกหลอกไปทำงานในเขตจีนเทา เขาจะทำอะไรกับคุณก็ได้ เพราะคุณอยู่ในอาณาเขตของเขา อีกอย่างหากถูกลวนลามจากนักกอล์ฟจะสามารถหาทางเอาตัวรอดได้หรือไม่ อย่างไรกัน เพราะไม่สามารถเดินทางออกไปไหนได้เลย แม้ทางรีสอร์ตจะเสนอว่าหากทำครบ 1 ปีแล้วสามารถขอลาได้ 15 วัน และมีรถรับส่งไปยังชายแดนหรือสนามบินก็ตาม

ปัจจุบันนี้แรงงานที่หนีเข้าประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายคงไม่มีทางเลือกมากนัก แต่ถึงกระนั้นขบวนการฟอกขาวที่นำโดยกลุ่มที่มาก่อนถึง แม้บางคนจะได้สัญชาติไทยไปแล้ว ก็ยังพยายามที่จะทำให้คนเหล่านั้นเข้ามาในระบบอย่างไม่ถูกต้อง โดยพยายามเรียกร้องว่า ไม่จำเป็นต้องมีการพิสูจน์สัญชาติหรือประวัติอาชญากรรม 

ประเด็นคือ ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานพวกนี้จริงหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วคือ เรารักสบายจนเคยตัว และใช้เงินแก้ปัญหาจนเคยชิน โดยที่ไม่เคยสนใจว่าสิ่งที่เราก่อขึ้นจะส่งผลอะไรกลับมาบ้างในประเทศของเรา ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว  

หากทุกท่านยังไม่เข้าใจ อาจจะต้องลองไปถามคนไทยในแม่สอดดูว่า เขารู้สึกอย่างไรที่พม่าเข้าเมืองผิดกฎหมาย เข้ามาอาศัยเพิ่มมากขึ้น

รรท.รอง ผบ.ตร. ขับเคลื่อนงานพิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง ยกระดับกระบวนการคัดกรองบุคคลกลุ่มเสี่ยงเหยื่อค้ามนุษย์

วันนี้ ที่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.(มค) เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาล ที่ตระหนักและให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการกระทำผิดเกี่ยวกับเด็ก สตรี ครอบครัว และภาคประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ พร้อมกับการนำประเทศไทยไปสู่ระดับ Tier 1 โดยมุ่งหวังให้ ตร. มีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้นำนโยบายรัฐบาล มาสู่การปฏิบัติ โดยจัดตั้งศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) และมอบหมายให้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.(มค) เป็น ผอ.ศพดส.ตร. เพื่อขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดังกล่าว 

พล.ต.ท.ประจวบฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกระบวนการคัดกรองบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ ณ ฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองขาเข้าและฝ่ายพิธีการเข้าเมือง ชั้น 2 อาคารผู้โดยสารขาเข้า (โซน 1) และฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองขาออก ชั้น 4 อาคารผู้โดยสารขาออก (โซน 2) ด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จว.สมุทรปราการ โดยมี ผู้แทน บก.ตม.2 และ ผกก.ในสังกัด ที่ปฏิบัติหน้าที่ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เข้าร่วม โดยได้กำชับให้ยึดถือขั้นตอนการปฏิบัติตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ หรือ NRM (National Referral Mechanism) ยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง (Victim-Centered Approach) คำนึงถึงบาดแผลทางใจของผู้เสียหาย(Trauma Informed Care) และเน้นย้ำไม่ให้เจ้าหน้าที่ทุกนาย เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ผิดกฎหมายโดยเด็ดขาด           

พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวว่า พฤติกรรมที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ที่อาจพบได้ในสนามบิน มีหลายประการ เช่น การถูกหลอกลวงไปทำงาน การถูกหลอกลวงไปค้าประเวณี การเดินทางเข้ามาเป็นขอทานในประเทศไทย การถูกหลอกลวงโดยแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ การถูกหลอกลวงเรียกค่าไถ่เสมือนหรือถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังเพื่อเรียกค่าไถ่โดยตรง โดยมีกระบวนการขึ้น Watch List และควบคุมแรงงานไทยที่เคยเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ คือ กต.ส่งข้อมูลแรงงานไทยที่เคยขอความช่วยเหลือกลับประเทศไทย เนื่องจากตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ให้กับ สตม. ตรวจสอบข้อมูลเปรียบเทียบกับข้อมูลผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์ เมื่อพบว่าเคยเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์มาก่อน จะดำเนินการขึ้น Watch List เมื่อฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองขาออก หรือด่าน ตม.ทอ.พบบุคคลตาม Watch List จะแจ้ง ฝ่ายสืบสวน ด่าน ตม.ทอ. นั้นๆ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนหางานทำการคัดกรอง ขั้นตอนของกระบวนการคัดกรองต่างๆ เป็นไปตามขั้นตอนที่เข้มงวด โดยมีจุดประสงค์ในการแก้ไขปัญหา เป็นทางผ่านของกลุ่มบุคคลที่จะเดินทางออกไปยังประเทศที่สาม ที่จะไปประกอบอาชีพผิดกฎหมายหรือเข้าข่ายเรื่องของการค้ามนุษย์ ซึ่งกระบวนการคัดกรองเข้า-ออกราชณาจักรอย่างเข้มงวดถูกปฏิบัติมาแล้วอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว นอกจากนี้ยังพบว่าในพื้นที่ชายแดนประเทศไทย โดยเฉพาะในจุดด่านพรมแดน อ.แม่สอด จว.แม่ฮ่องสอน ก็เป็นพื้นที่ที่พบว่าเป็นจุดทางออกยอดนิยม ของบุคคลที่ต้องการเดินทางออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งคาดว่าจะไปก่ออาชญากรรมข้ามชาติ แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ และการค้ายาเสพติด ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้สั่งการอย่างเข้มงวดกวดขันในการตรวจสอบ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนกว่า 6,000 กิโลเมตร ที่ติดกับอีก 4 ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวคู่ขนานกับการคัดกรองเข้มงวดในพื้นที่ต้นทาง เช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

พล.ต.ท.ประจวบฯ รรท.รอง ผบ.ตร. กล่าวทิ้งท้ายว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความมุ่งหวังว่าการระดมสรรพกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทุกภาคส่วน ในการเร่งรัดปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับเด็ก สตรี ครอบครัว การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมงจะประสบผลสำเร็จ ตอบสนองนโยบายรัฐบาล เสริมสร้างความเสมอภาค เท่าเทียม และรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ภายใต้กรอบของกฎหมาย ประชาชนและสังคมมีความสงบเรียบร้อยสืบไป   

'ไทย' เปิด 'ศูนย์คัดแยกและส่งต่อระดับชาติเหยื่อค้ามนุษย์' หวังยกระดับขึ้น Tier 1

(24 ก.ย.67) เวลา 10.00 น. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (คณะกรรมการ ปกค.) ได้มอบหมายให้ พลตำรวจโท ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธานเปิดศูนย์คัดแยกและส่งต่อผู้เสียหายระดับชาติ (Thailand Victim Identification and Referral Center) อย่างเป็นทางการ ณ ถนนเชิดวุฒากาศ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง 

โดยมี พลตำรวจโท อภิชาติ สุริบุญญา
ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี/หัวหน้าชุดปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (TATIP) พลตำรวจตรี ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย รองจเรตำรวจ (สบ 7)/หัวหน้าชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) และผู้แทนจากหน่วยงานราชการอันประกอบด้วยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคดีค้ามนุษย์ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรุงเทพมหานคร สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลต่าง ๆ ประจำประเทศไทย รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคม(NGOs) ได้ร่วมกันเป็นสักขีพยานและแสดงความยินดีต่อพิธีเปิดครั้งนี้       

พลตำรวจโท ประจวบ วงศ์สุข ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์และประกาศเป็นวาระแห่งชาติมาอย่างยาวนานต่อเนื่อง 
และเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 ก็มีความคืบหน้าที่สำคัญในเรื่องนี้ นั่นคือ คณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ได้ให้ความเห็นชอบต่อแผนปฏิบัติการ
ว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่ที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งแผนปฏิบัติการดังกล่าวยึดแนวทาง 'ผู้เสียหาย
เป็นศูนย์กลาง' หรือ 'victim-centric approach' และยังได้นำเอากลไกการส่งต่อระดับชาติ
ที่ใช้แพร่หลายในระหว่างประเทศมาปรับใช้ ทั้งนี้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทยให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องต่อหลักสิทธิมนุษยชน และกติกาสากลระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น

พลตำรวจโท ประจวบฯ อธิบายต่อว่า กลไกการส่งต่อระดับชาติ หรือ National Referral Mechanism: NRM ที่กล่าวไปนั้น เป็นกลไกที่ออกแบบมาเพื่อให้เกิดความสะดวกในการปฏิบัติงาน
ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประสานความร่วมมือ การแบ่งปันข้อมูล การส่งต่อความช่วยเหลือคุ้มครองบุคคลที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จากการบังคับใช้แรงงาน
หรือบริการ เพื่อช่วยให้บุคคลเหล่านี้สามารถเข้าถึงบริการการช่วยเหลือในเบื้องต้นได้

แนวคิดที่สำคัญของกลไกนี้ มีเรื่องของการกำหนดระยะเวลาการฟื้นฟูไตร่ตรอง (reflection period) โดยเป็นช่วงเวลาที่ให้ผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ได้มีโอกาสผ่อนคลาย ทบทวนประสบการณ์ที่ผ่านมาในสถานที่ที่เหมาะสม อันจะนำไปสู่การพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีขั้นตอนการปฏิบัติงานที่สำคัญตามแผนปฏิบัติการได้แก่ 1) การรับแจ้งเหตุ 2) การคัดกรอง 3) การคัดแยก และ 4) การคุ้มครอง โดยการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ ในต่างจังหวัดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรับผิดชอบในการกำหนดสถานที่และบริหารจัดการให้เป็นไปตามแผน ส่วนในเขตกรุงเทพมหานคร และส่วนกลาง ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงแรงงาน รับผิดชอบในการกำหนดสถานที่ และบริหารจัดการให้เป็นไปตามแผน

ในส่วนของกรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานหลักทั้ง 3 หน่วย ตามที่ได้กล่าวไปนั้น ได้ดำเนินการและปรับปรุงอาคารศูนย์ฝึกอบรมสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาอย่างต่อเนื่อง
และจัดตั้งเป็น “ศูนย์คัดแยกและส่งต่อผู้เสียหายระดับชาติ (Thailand Victim Identification and Referral Center)” เพื่อให้เป็นไปตามแผน ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติเห็นชอบอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

พลตำรวจโท ประจวบฯ แสดงความเชื่อมั่นว่า ศูนย์คัดแยกและส่งต่อผู้เสียหายระดับชาติแห่งนี้ จะเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินงานตามแผนการปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่รัฐบาลได้เห็นชอบให้มีประสิทธิภาพ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศที่มีต่อการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลไทย
มีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะยกระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ Tier 2 ก้าวขึ้นสู่ระดับ Tier 1 ต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top