Sunday, 20 April 2025
เรื่องเล่าจากเครมลิน

เปิด!! สนธิสัญญาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม ข้อตกลงความร่วมมือของ ‘รัสเซีย - เกาหลีเหนือ’

(20 ต.ค. 67) ข้อตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมระหว่างเกาหลีเหนือและรัสเซีย

เป็นข่าวสะเทือนวงการการเมืองระหว่างประเทศอีกครั้งเมื่อวันจันทร์ที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมาประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินได้ยื่นข้อตกลงทางทหารฉบับใหม่กับเกาหลีเหนือเพื่อขอการรับรองต่อรัฐสภารัสเซียโดยผลักดันให้มีการยอมรับอย่างเป็นทางการต่อข้อตกลงป้องกันร่วมกันที่เขาได้จัดทำกับผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน เมื่อเดือนมิถุนายน 2024 เมื่อครั้งไปเยือนเกาหลีเหนือปูติน ซึ่งถือเป็นการเยือนเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 24 ปี ซึ่งข้อตกลงนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อทั้งสองประเทศแลกเปลี่ยนเอกสารการให้สัตยาบัน

แม้ว่าข้อตกลงนี้จะเรียกว่า ‘สนธิสัญญาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม’ ( ‘Treaty on Comprehensive Strategic Partnership’) แต่เงื่อนไขของสนธิสัญญานี้ที่ให้ความช่วยเหลือทางทหารซึ่งกันและกันระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือนั้นโดยพื้นฐานแล้วถือเป็นสนธิสัญญาพันธมิตรทางการทหารและการเมือง โดยข้อตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นและการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในภูมิรัฐศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและสถานการณ์โลกในปัจจุบันโดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ข้อตกลงยืนยันว่าทั้งสองประเทศมี ‘ความปรารถนาที่จะปกป้องความยุติธรรมระหว่างประเทศจากความทะเยอทะยานที่จะมีอำนาจเหนือผู้อื่นและความพยายามที่จะกำหนดระเบียบโลกขั้วเดียว’ และ ‘เพื่อสร้างระบบระหว่างประเทศหลายขั้วบนพื้นฐานของความร่วมมือโดยสุจริตของรัฐ การเคารพซึ่งกันและกันในผลประโยชน์ การแก้ไขปัญหาในระดับนานาชาติร่วมกัน ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและอารยธรรม อำนาจสูงสุดของกฎหมายระหว่างประเทศในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความพยายามร่วมกันเพื่อต่อต้านความท้าทายใดๆ ที่คุกคามการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ’

แม้ว่าสนธิสัญญามีเนื้อหาไม่มากเพียงแค่ 23 มาตราเท่านั้นแต่มีข้อกำหนดที่น่าสนใจประการหนึ่ง โดยระบุว่า ในกรณีที่มีภัยคุกคามจากการโจมตีโดยอำนาจที่สาม ผู้ลงนาม ‘จะตกลงกันเกี่ยวกับมาตรการความร่วมมือตามคำขอของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และรับรองความร่วมมือในการกำจัดภัยคุกคามนั้น’ ส่วนอื่นระบุว่า ‘หากฝ่ายหนึ่งพบว่าตนเองอยู่ในภาวะสงครามอันเนื่องมาจากการโจมตีด้วยอาวุธโดยประเทศหนึ่งหรือหลายประเทศ อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ฝ่ายนั้นทันทีด้วยวิธีการทั้งหมดที่มี’

ซึ่งระบุเอาไว้ในมาตรา 4 ของข้อตกลงระบุว่า หากรัสเซียหรือเกาหลีเหนือถูกโจมตีและเข้าสู่ภาวะสงคราม อีกฝ่ายจะให้ความช่วยเหลือทางทหารและความช่วยเหลืออื่น ๆ โดยใช้ทุกวิถีทางที่มีอยู่ ตามมาตรา 51 ของกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายของทั้งสองประเทศ

นอกจากนี้ สนธิสัญญายังกำหนดให้ทั้งสองประเทศ “สร้างกลไกสำหรับกิจกรรมร่วมกันเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกันประเทศเพื่อประโยชน์ในการป้องกันสงครามและรับรองสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคและระหว่างประเทศ” และโต้ตอบกันเพื่อ “ร่วมกันเผชิญหน้ากับความท้าทายและภัยคุกคามที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ รวมถึงความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การดูแลสุขภาพและห่วงโซ่อุปทาน” รวมถึงการก่อการร้าย อาชญากรรมที่เป็นองค์กร การค้ามนุษย์ และการอพยพที่ผิดกฎหมาย

ในด้านเศรษฐกิจ ข้อตกลงหุ้นส่วนเรียกร้องให้มีการ ‘ขยายและพัฒนาความร่วมมือในด้านการค้า เศรษฐกิจ การลงทุน วิทยาศาสตร์และเทคนิค” ตั้งแต่ความพยายามในการเร่งความร่วมมือด้านการค้าและเทคโนโลยี และการส่งเสริม “การวิจัยร่วมกันในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงสาขาต่างๆ เช่น อวกาศ ชีววิทยา พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติภาพ ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และอื่นๆ’

ข้อตกลงความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือจัดทำขึ้นเป็นพิเศษและสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากขึ้นระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือ เพราะสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวที่อยู่นอกอดีตสหภาพโซเวียตที่รัสเซียได้ร่างข้อตกลงดังกล่าวด้วย (จนถึงขณะนี้มีเพียงเบลารุส ซึ่งเป็นพันธมิตรของรัฐสหภาพของรัสเซียและสมาชิกองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (CSTO) เท่านั้นที่ได้รับการรับประกันความมั่นคงในลักษณะเดียวกัน) 

ในสถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบัน ข้อตกลงดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญมากระหว่างทั้ง 2 ประเทศ เพราะทั้ง 2 ประเทศมีภาระผูกพันซึ่งกันและกัน โดยรัสเซียจะมีภาระผูกพันในการปกป้องพันธมิตรใหม่ของตนอย่างเกาหลีเหนือ หากมีการรุกรานเกิดขึ้น และในทางกลับกันเกาหลีเหนือจะมีภาระผูกพันที่จะให้การสนับสนุนเราทุกรูปแบบ รวมถึงการสนับสนุนทางทหาร หากมีการรุกรานรัสเซีย

ข้อตกลงดังกล่าวจะเกิดประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศและช่วยลดความเสี่ยงของสงครามบนคาบสมุทรเกาหลี 

ซึ่งปัจจุบันเราเห็นได้จากการใช้ถ้อยคำและการกระทำที่ยั่วยุมากขึ้นของโซล ประกอบกับความพยายามที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านการป้องกันของเกาหลีใต้กับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซ้อมรบร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ซี่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหม่ได้

รัสเซียซึ่งเคยเป็นและยังคงเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางการทหารชั้นนำของโลกและเป็นมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์ นั่นหมายความว่า หากเกาหลีเหนือถูกโจมตีจากเกาหลีใต้ รัสเซียจะถูกร้องขอให้ปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญานี้และเข้ามาช่วยเหลือเกาหลีเหนือต่อต้านเกาหลีใต้ (เพราะสถานการณ์ที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือความขัดแย้งด้วยอาวุธระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้) โซลและพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ จะต้องไม่เพียงแค่จัดการกับเกาหลีเหนือเท่านั้นแต่ยังรวมถึงเกาหลีเหนือและรัสเซียด้วย 

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่สงครามระหว่างเปียงยางและโซลมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเนื่องมาจากการยั่วยุของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้มาอย่างยาวนาน ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือจึงถือเป็น "ก้าวหนึ่งสู่การรักษาเสถียรภาพและการรักษาสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ" เนื่องจากสร้างสมดุลทางทหารซึ่งจะช่วยแก้ไข "ความไม่สมดุลของกองกำลังทหาร" ที่เพิ่มมากขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลีระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้และพันธมิตร 

ในสายตาของเกาหลีเหนือสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) กำลังกลายเป็นมหาอำนาจทางทหารที่แข็งแกร่ง สามารถผลิตอาวุธสมัยใหม่ทุกประเภท ตั้งแต่อาวุธขนาดเล็กไปจนถึงเรือดำน้ำและเครื่องบินขับไล่ ปล่อยดาวเทียมตรวจการณ์ของตนเอง แต่สิ่งเดียวที่เกาหลีใต้ไม่มีคืออาวุธนิวเคลียร์ แต่การได้มาซึ่งอาวุธดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องของการตัดสินใจทางการเมืองและอาจใช้เวลาไม่มากนัก ศักยภาพทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของเกาหลีเหนือเพียงลำพังไม่อาจแข่งขันกับเพื่อนบ้านที่ติดอาวุธครบครันและเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ทรงพลังที่สุดในโลก ร่วมกับญี่ปุ่นได้ ซึ่งหากเกาหลีเหนือยืนหยัดต่อสู้กับภัยคุกคามเหล่านี้เพียงลำพัง ก็มีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของการรุกรานของเกาหลีใต้และพันธมิตร

ในขณะเดียวกันในฝั่งของรัสเซียข้อตกลงดังกล่าวสามารถสร้างความชอบธรรมให้แก่เกาหลีเหนือในการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และทหารเพื่อทำสงครามกับยูเครนอย่างเปิดเผยและต้องคิดถึงการสนับสนุนจากพันธมิตรของรัสเซีย ซึ่งจะเป็นการสร้างความกังวลใจให้กับยูเครนและพันธมิตรนาโต้ในความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนในปัจจุบัน 

ดังนั้นข้อตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมระหว่างเกาหลีเหนือและรัสเซียจึงเป็นข้อตกลงที่เราควรให้ความสำคัญ และจับตามองว่าจะช่วยป้องปรามและลดความขัดแย้งในพื้นที่สำคัญของโลกได้หรือไม่

‘รัสเซีย’ เปิดตัว!! เครื่องบินรบรุ่นใหม่ ในงาน Airshow China 2024 เมืองจูไห่

งานนิทรรศการการบินและอวกาศนานาชาติแห่งประเทศจีน หรือที่เรียกอีกอย่างว่า Airshow China หรือ Zhuhai Airshow เป็นนิทรรศการการค้าการบินและอวกาศที่สำคัญของจีน มีกำหนดจัดขึ้นทุกๆ สองปีในเมืองจูไห่ มณฑลกวางตุ้ง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 ถือเป็นงานแสดงทางอากาศที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน โดยปี ค.ศ. 2024 นี้ เป็นงานแสดงทางอากาศครั้งที่ 15 ซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-17 พฤศจิกายน 2567 นี้ โดยมีผู้ร่วมแสดงสินค้าจากต่างประเทศจาก 47 ประเทศ ราว 150 ราย โดยร่วมนำเสนอเครื่องบินทางทหารและพลเรือน เทคโนโลยีอวกาศ อาวุธ ระบบป้องกันภัยทางอากาศ และสงครามอิเล็กทรอนิกส์ โดยไฮไลต์สำคัญของงานนี้คือเครื่องบินรบจากฝั่งรัสเซีย 

โดยเมื่อวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา รัสเซียได้เปิดตัวเครื่องบินรบสเตลท์รุ่นที่ 5 รุ่นใหม่ซึ่งเป็น เครื่องบินความเร็วเหนือเสียงที่มีความคล่องตัวสูงรุ่น SU-57E [รุ่นส่งออก] ในงาน Airshow China 2024 ณ เมืองจูไห่ของจีน โดยเครื่องบินลำนี้ได้แสดงการบินผาดโผนโดยเซอร์เกย์ บ็อกดาน (Sergey Bogdan) นักบินทดสอบฝีมือดีชาวรัสเซีย ทั้งนี้เครื่องบินขับไล่หลายบทบาท Su-57 ได้รับการออกแบบมาให้หลบเลี่ยงเรดาร์และโจมตีเป้าหมายทางอากาศและภาคพื้นดินรวมถึงฐานป้องกันภัยทางอากาศ เครื่องบินดังกล่าวพัฒนาขึ้นโดยบริษัท Sukhoi «Компания „Сухой“» โดยผสมผสานความสามารถในการพรางตัว ความคล่องตัวสูง การบินแบบซูเปอร์ครูซ ระบบอากาศยานแบบบูรณาการ และความจุในการบรรทุกขนาดใหญ่ โดยเครื่องบิน Su-57 ลำแรกเข้าประจำการในกองกำลังอวกาศของรัสเซีย ในปี ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้นายวาดิม บาเดคกา (Vadim Badekha) ซีอีโอของบริษัท United Aircraft Corporation (UAC) เผยว่า "เครื่องบิน Su-57 ถือเป็นเครื่องบินรุ่นที่ 5 ที่ดีที่สุดในโลก และด้วยคุณลักษณะหลายประการทำให้เครื่องบินรุ่นนี้ไม่มีใครเทียบได้" เขายังกล่าวเสริมว่า "เครื่องบินรุ่นนี้ได้รับความสนใจจากพันธมิตรระยะยาวเป็นเวลานานแล้ว" และ “มีหลายคนต่อคิวรอซื้อเครื่องบินรุ่นนี้อยู่” บริษัทรัสเทค (Rostec) ซึ่งเป็นบริษัทด้านการป้องกันประเทศของรัฐบาลรัสเซีย กล่าวถึงเครื่องบิน Su-57E ว่าเป็นดาวเด่นของงานนิทรรศการที่จัดขึ้นในประเทศจีน โดยระบุว่าเครื่องบินรุ่นนี้สามารถใช้กับอาวุธนำวิถีที่มีความแม่นยำสูงได้และอุปกรณ์ตรวจจับไม่สามารถตรวจจับได้อย่างชัดเจน ท่ามกลางความขัดแย้งในยูเครน ในปี  ค.ศ. 2022 บริษัทรัสเทคได้ประกาศแผนที่จะเพิ่มการผลิตเครื่องบินขับไล่ Su-57 โดยระบุว่ากองทัพอากาศรัสเซียจะได้รับเครื่องบิน Su-57 ใหม่นี้

นอกจากเครื่องบินรบ Su-57 แล้ว หน่วยงานรัสอบารอนเอ็กพอร์ต (Rosoboronexport) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลรัสเซียที่ดูแลการค้าอาวุธระหว่างประเทศซึ่งเป็นผู้ร่วมจัดงานแสดงอาวุธร่วมของรัสเซียในงานนี้ยังจัดแสดงอาวุธ ยิงจากอากาศรุ่นล่าสุด เฮลิคอปเตอร์หลากหลายรุ่น และระบบป้องกันภัยทางอากาศอีกด้วย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีขีปนาวุธร่อน X-69 ซึ่งเป็นขีปนาวุธร่อน โจมตีจากอากาศสู่พื้นแบบสเตลท์อเนกประสงค์รุ่นใหม่ รวมถึงขีปนาวุธนำวิถียิงจากอากาศ Grom-E1 ระเบิดทางอากาศที่แก้ไขแล้ว K08BE และระเบิดทางอากาศร่อนนำวิถี UPAB-1500B-E ในงานนี้ทางรัสเซียยังได้เปิดตัวเครื่องยนต์ AL51 รุ่นที่ 5 ที่ใช้ขับเคลื่อนเครื่องบิน Su-57 รุ่นใหม่อีกด้วย ซึ่งเป็นพระเอกของงาน โดยเครื่องยนต์ AL-51 ถือเป็นความสำเร็จด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศขั้นสูงที่สุดของรัสเซียที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 5 เช่น Su-57

บอยโก้ นิโคลอฟ (Boyko Nikolov ) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการบินจาก BulgarianMilitary.com ให้ความเห็นเกี่ยวกับเครื่องยนต์ AL51 เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า เครื่องยนต์นี้ไม่เพียงแต่เป็นเครื่องยนต์หลักเท่านั้นแต่ยังเป็นหัวใจสำคัญของ Su-57 ในฐานะเครื่องบินขับไล่ที่ทรงพลัง คล่องแคล่ว และล่องหนได้ เป็นเครื่องบินที่ท้าทายอำนาจทางอากาศของชาติตะวันตก ในปัจจุบันได้ AL-51 ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงวิศวกรรมการบินของรัสเซียและทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในศักยภาพการปฏิบัติภารกิจโดยรวมของเครื่องบิน Su-57

เมื่อมองจากภายนอก เครื่องยนต์ AL-51 แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนที่สะท้อนถึงประสิทธิภาพการทำงานที่หลากหลาย โครงสร้างที่มีระบบภายนอกและท่อต่าง ๆ มากมาย แสดงให้เห็นถึงการออกแบบที่จัดวางอย่างพิถีพิถันและเชื่อมโยงกัน ส่วนประกอบทุกชิ้นได้รับการออกแบบมาให้รับมือกับการจัดการความร้อนได้อย่างเหมาะสมที่สุด แรงขับ และประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 5 ที่คาดว่าจะทำงานในสภาพแวดล้อมที่หลากหลายและภายใต้สภาวะกดดันสูง การออกแบบเครื่องยนต์สะท้อนถึงความสมดุลระหว่างกำลัง ประสิทธิภาพ และความน่าเชื่อถือ ซึ่งแต่ละส่วนมีความจำเป็นต่อการตอบสนองความต้องการของการรบสมัยใหม่

คุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดของเครื่องยนต์ AL-51 ประการหนึ่ง คือความสามารถในการควบคุมทิศทางแรงขับ เทคโนโลยีนี้ช่วยให้นักบินสามารถควบคุมเครื่องบินให้บินไปในทิศทางที่เกินขีดจำกัดของอากาศพลศาสตร์ทั่วไปได้ โดยเปลี่ยนทิศทางแรงขับที่เกิดจากเครื่องยนต์ คุณสมบัตินี้ทำให้ Su-57 มีข้อได้เปรียบที่ไม่มีใครเทียบได้ในการต่อสู้ทางอากาศ ช่วยให้สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเต็มที่ หลบหลีกขีปนาวุธ หลบการยิงของศัตรู และได้รับความได้เปรียบในตำแหน่งในการต่อสู้แบบประชิดตัว โดยการกำหนดทิศทางแรงขับของ AL-51 ถูกควบคุมโดยชุดการเชื่อมโยงไฮดรอลิกและกลไกที่มองเห็นได้รอบพื้นที่หัวฉีด แสดงให้เห็นถึงวิศวกรรมแม่นยำที่จำเป็นในการทำงานได้อย่างน่าเชื่อถือภายใต้สภาวะอุณหภูมิสูงและความเค้นมหาศาล

เค้าโครงภายนอกของเครื่องยนต์ยังแสดงให้เห็นระบบระบายความร้อนและระบายความร้อนที่ซับซ้อนอีกด้วย ที่ระดับความสูงและความเร็วสูงเครื่องยนต์จะต้องเผชิญกับความเครียดจากความร้อนอย่างรุนแรงโดยเฉพาะในโหมดการเผาไหม้ต่อเนื่อง ซึ่งอุณหภูมิอาจสูงเกินหลายพันองศาฟาเรนไฮต์ เครื่องยนต์ AL-51 ใช้วัสดุขั้นสูงและสารเคลือบทนความร้อนเพื่อทนต่ออุณหภูมิดังกล่าวร่วมกับเครือข่ายท่อระบายความร้อนและวาล์วที่ซับซ้อนซึ่งควบคุมอุณหภูมิภายใน ซึ่งระบบจัดการความร้อนนี้มีความจำเป็นต่อการรักษาประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ตลอดอายุการใช้งานที่ยาวนาน ซึ่งเป็นข้อกำหนดสำหรับเครื่องบินรบสมัยใหม่ที่ต้องพร้อมสำหรับภารกิจหลายครั้ง โดยต้องบำรุงรักษาน้อยที่สุด AL-51 ซึ่งเป็นจุดเด่นของเครื่องยนต์รุ่นที่ 5 ได้รับการออกแบบมาเพื่อลดสัญญาณอินฟราเรด [IR] ลง ซึ่งการลดการปล่อยอินฟราเรดถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับปฏิบัติการล่องหน เนื่องจากความร้อนเป็นหนึ่งในวิธีหลักที่เซ็นเซอร์ของศัตรูใช้ในการตรวจจับเครื่องบิน โดยการใช้วัสดุพิเศษและแผ่นกันความร้อน รวมถึงการปรับการไหลของไอเสียให้เหมาะสมผ่านระบบระบายความร้อนและการผสมภายใน AL-51 ช่วยลดสัญญาณความร้อนของ Su-57 ทำให้เครื่องบินมีความสามารถในการเอาตัวรอดในสภาพแวดล้อมที่มีการสู้รบซึ่งกองกำลังของศัตรูอาจใช้ขีปนาวุธติดตามอินฟราเรดขั้นสูง

โครงสร้างภายในของเครื่องยนต์ประกอบด้วยโลหะผสมที่มีความแข็งแรงสูงและวัสดุผสม ซึ่งช่วยให้เครื่องยนต์มีความทนทานในขณะที่ยังคงรักษาน้ำหนักให้เหมาะสมได้ โครงสร้างน้ำหนักเบาโดยไม่ลดทอนความแข็งแกร่งเป็นคุณลักษณะเฉพาะของเครื่องยนต์รุ่นที่ 5 ช่วยให้ Su-57 ทำความเร็วได้สูงขึ้นและประหยัดเชื้อเพลิงได้มากขึ้น ซึ่งองค์ประกอบของ AL-51 จะช่วยลดน้ำหนักโดยรวมของเครื่องบิน ซึ่งหมายความว่าเครื่องบินสามารถบรรทุกเชื้อเพลิง อาวุธ หรืออุปกรณ์สำคัญอื่นๆ ได้มากขึ้นโดยไม่กระทบต่อประสิทธิภาพ ประสิทธิภาพนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับภารกิจระยะไกล ซึ่งน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นทุกปอนด์ล้วนมีความสำคัญในแง่ของการประหยัดเชื้อเพลิงและความจุของน้ำหนักบรรทุก

ข้อได้เปรียบที่สำคัญของ AL-51 คือ การผสมผสานรวมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บนเครื่องบินที่ทันสมัยและระบบควบคุมเครื่องยนต์แบบดิจิทัล เครื่องยนต์ใช้หน่วยควบคุมดิจิทัลขั้นสูงซึ่งตรวจสอบพารามิเตอร์ต่างๆ เช่น การไหลของเชื้อเพลิง ปริมาณอากาศเข้า และอุณหภูมิไอเสียอย่างต่อเนื่อง

ระบบควบคุมแบบดิจิทัลนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแบบเรียลไทม์ ทำให้เครื่องยนต์สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพการบินที่เปลี่ยนแปลงได้ทันที ถือเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับนักบินที่ต้องการการควบคุมที่แม่นยำในสถานการณ์การสู้รบ นอกจากนี้ ระบบนี้ยังช่วยให้สามารถวินิจฉัยและบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ได้ ลดระยะเวลาหยุดทำงานและทำให้ Su-57 พร้อมสำหรับภารกิจ

อย่างไรก็ตามความซับซ้อนของ AL-51 ทำให้มีปัญหาบางประการ แม้ว่าเครือข่ายท่อและข้อต่อภายนอกที่หนาแน่นจะบ่งบอกถึงความซับซ้อนของเครื่องยนต์ แต่ก็ทำให้ต้องมีการบำรุงรักษามาก ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ห่างไกลหรือท้าทาย เครื่องยนต์เหล่านี้อาจต้องใช้อุปกรณ์สนับสนุนเฉพาะทางและบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งอาจจำกัดความสามารถในการใช้งานเมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ที่เรียบง่ายกว่า

ในแง่ของการพรางตัว แม้ว่า AL-51 จะมีคุณสมบัติในการลดอินฟราเรดบางประการ แต่ก็อาจไม่ถึงระดับการลดอินฟราเรดที่พบในเครื่องยนต์รุ่นที่ห้าของตะวันตก เช่น F135 ที่ใช้ใน F-35 สิ่งนี้อาจทำให้ Su-57 ถูกตรวจจับได้ง่ายขึ้นในบางสถานการณ์ อย่างไรก็ตามปรัชญาการออกแบบของรัสเซียมักให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพและความทนทานมากกว่าความสามารถในการพรางตัวเพียงอย่างเดียว โดยสร้างสมดุลระหว่างความสามารถในการตรวจจับกับความคล่องตัวในการใช้งานที่แข็งแกร่ง

ส่วนประกอบที่โดดเด่นอย่างหนึ่งที่มองเห็นได้ใน AL-51 คือส่วนเผาไหม้ท้าย เครื่องยนต์เผาไหม้ท้ายช่วยเพิ่มแรงขับอย่างมาก ทำให้ Su-57 สามารถบินด้วยความเร็วเหนือเสียงได้โดยไม่ต้องพึ่งเครื่องยนต์แบบดั้งเดิม ทำให้สามารถบินแบบ “ซูเปอร์ครูซ” ได้ ซูเปอร์ครูซเป็นคุณสมบัติเฉพาะของเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 5 เนื่องจากช่วยให้บินด้วยความเร็วสูงได้โดยไม่ต้องเสียเชื้อเพลิงจำนวนมากจากการใช้ระบบเผาไหม้ท้าย

แม้ว่า AL-51 จะทำได้เพียงบางส่วน แต่รายงานบางฉบับระบุว่าเครื่องยนต์อาจไม่ประหยัดเชื้อเพลิงเท่าเครื่องยนต์ในเครื่องบินบางรุ่นของชาติตะวันตก ซึ่งอาจจำกัดความทนทานในภารกิจบางรูปแบบ

นอกจากนี้ การออกแบบเครื่องยนต์ยังรวมถึงการทำงานซ้ำซ้อนเพื่อเพิ่มความทนทานในสถานการณ์การรบ ระบบควบคุมซ้ำซ้อนและส่วนประกอบที่ทนทานต่อความผิดพลาดหมายความว่าหากระบบใดระบบหนึ่งเสียหาย เครื่องยนต์จะยังคงทำงานต่อไป ทำให้เครื่องบินสามารถกลับฐานได้ คุณสมบัตินี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาความอยู่รอดของเครื่องบินในสภาพแวดล้อมที่มีภัยคุกคามสูงซึ่งอาจเกิดความเสียหายได้

บทบาทของ AL-51 ในการเสริมศักยภาพการปฏิบัติการของ Su-57 นั้นไม่สามารถพูดเกินจริงได้ โดยเครื่องยนต์นี้รองรับความเก่งกาจของ Su-57 ในบทบาทต่างๆ ตั้งแต่ความเหนือกว่าทางอากาศและการสกัดกั้น ไปจนถึงการโจมตีภาคพื้นดินและการลาดตระเวน การผสมผสานระหว่างความเร็ว ความคล่องตัว และความสามารถในการพรางตัวของ Su-57 ทำให้ Su-57 สามารถตอบสนองภารกิจต่าง ๆ ได้หลากหลาย ซึ่งแต่ละอย่างต้องใช้คุณลักษณะเฉพาะที่ AL-51 มอบให้

โดยสรุปแล้ว เครื่องยนต์ AL-51 ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรบของ Su-57 อย่างมาก โดยทำให้ Su-57 เทียบเท่ากับเครื่องบินรบรุ่นล่าสุด แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทาย เช่น ความต้องการในการบำรุงรักษาที่สูงขึ้นและความสามารถในการตรวจจับอินฟราเรดที่สูงขึ้น แต่ก็มีคุณสมบัติด้านประสิทธิภาพอันทรงพลังที่ช่วยเพิ่มความคล่องตัว ความเร็ว และความยืดหยุ่นในการปฏิบัติภารกิจของ Su-57

เครื่องยนต์ AL-51 ช่วยให้ Su-57 ปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพในน่านฟ้าที่มีการสู้รบ โดยมอบตัวเลือกการรบทางอากาศขั้นสูงให้กับกองทัพอากาศรัสเซีย ในขณะที่ Su-57 ยังคงพัฒนาต่อไป เทคโนโลยีในเครื่องยนต์ เช่น AL-51 ก็จะพัฒนาตามไปด้วย โดยสัญญาว่าจะมีความสามารถที่มากขึ้นสำหรับการปฏิบัติการทางอากาศของรัสเซียในอนาคต

การพัฒนาเครื่องยนต์ AL-51 สำหรับเครื่องบินขับไล่ Su-57 รุ่นที่ 5 ของรัสเซียเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนซึ่งเต็มไปด้วยความท้าทายทางเทคนิคและทางการเงิน ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษปี 2000 เป็นต้นมา วิศวกรชาวรัสเซียต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายในการสร้างเครื่องยนต์ที่สามารถเร่งความเร็วได้เร็วและควบคุมแรงขับขั้นสูงได้ในขณะเดียวกันก็ต้องลดอินฟราเรดของเครื่องบินเพื่อความสามารถในการพรางตัว การบรรลุข้อกำหนดเหล่านี้ต้องใช้วัสดุทนอุณหภูมิสูงแบบใหม่และวิศวกรรมที่ล้ำสมัย ซึ่งทำได้ยากเนื่องจากงบประมาณของรัสเซียมีจำกัดและไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงบางอย่างได้ เส้นทางสู่การสร้าง AL-51 นั้นจึงดำเนินไปอย่างช้าๆ โดยระยะเวลาของเครื่องยนต์ขยายออกไปเนื่องจากวิศวกรต้องจัดการกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความทนทาน การจัดการความร้อน และประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิง

ข้อจำกัดทางการเงินเป็นอุปสรรคสำคัญ เนื่องจากงบประมาณด้านการป้องกันประเทศของรัสเซียถูกขยายออกไปสำหรับโครงการอื่นๆ หลายโครงการ ทำให้เงินทุนสำหรับการพัฒนาเครื่องยนต์ AL-51 ไม่คงที่ โดยบางครั้งการพัฒนาก็ช้าลงจนแทบจะหยุดนิ่ง ทำให้ความสามารถในการควบคุมแรงขับของเครื่องยนต์ ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญต่อความคล่องตัวของเครื่องบิน Su-57 ก่อให้เกิดความท้าทายทางเทคนิคที่สำคัญ เนื่องจากรุ่นก่อนๆ ไม่สามารถทำงานได้อย่างน่าเชื่อถือภายใต้สภาวะกดดันสูง

ปัญหาเหล่านี้ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก เมื่อชาติตะวันตกคว่ำบาตร ทำให้การเข้าถึงวัสดุและอุปกรณ์เฉพาะทางมีจำกัด ส่งผลให้วิศวกรของรัสเซียต้องหาทางเลือกในประเทศ ซึ่งเพิ่มเวลาและความซับซ้อนให้กับโครงการ

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 2010 ในที่สุด AL-51 ก็พร้อมสำหรับการผลิตในจำนวนจำกัด แม้ว่าจะยังคงเผชิญกับความท้าทายในการใช้งาน เช่น ความทนทานที่ลดลงและประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงที่ลดลงเมื่อเทียบกับเครื่องบินของชาติตะวันตก แม้ว่าจะมีฟังก์ชันการทำงานและทรงพลัง แต่ AL-51 ก็สะท้อนถึงการประนีประนอมหลายประการอันเนื่องมาจากข้อจำกัดด้านงบประมาณและภูมิรัฐศาสตร์

ในปัจจุบันเครื่องยนต์ AL-51 ยังคงได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องจากวิศวกรของรัสเซียที่พยายามจะลดช่องว่างด้านประสิทธิภาพกับคู่แข่งในระดับนานาชาติ โดยเครื่องยนต์ AL-51 ได้แสดงออกถึงความเพียรพยายามของรัสเซียในการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านอวกาศในการสร้างเครื่องยนต์เครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 5 ที่สามารถแข่งขันกับตะวันตกภายใต้เงื่อนไขที่ท้าทายได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่รับประกันต่อความมั่นคงของรัสเซียท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและตะวันตกทั้งในปัจจุบันและอนาคต 

‘ปูติน’ ลั่น!! ไม่ยอมให้ ‘ยูเครน’ มีอาวุธนิวเคลียร์ แม้นักวิชาการตะวันตก จะออกมาให้การสนับสนุน

(18 พ.ย. 67) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวจากทางฝากยูเครนว่าเจ้าหน้าที่บางคนในเคียฟของยูเครนกำลังคิดใคร่ครวญในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์มาเพื่อต่อกรกับทางรัสเซีย สถานการณ์ดังกล่าวเริ่มจากความเสี่ยงที่โดนัลด์ ทรัมป์ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯอาจยุติการสนับสนุนของวอชิงตันต่อยูเครน ส่งผลให้ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีต้องดิ้นรนหาทางออกในการป้องปรามรัสเซียด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งนี้แนวโน้มของสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเดือนก่อนประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีกล่าวในเดือนตุลาคมว่าเขาได้บอกกับทรัมป์ระหว่างการประชุมเมื่อเดือนกันยายนที่นิวยอร์กว่ายูเครนจะเข้าร่วมกับ NATO หรือไม่ก็พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งเซเลนสกีอ้างว่าทรัมป์ได้ยินเขาแล้ว และกล่าวว่า ‘เป็นการตอบโต้ที่ยุติธรรม’ อย่างไรก็ตาม คำแถลงของเซเลนสกีทำให้เกิดการคาดเดาว่าโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของยูเครนจะเป็นไปได้จริงหรือไม่จากมุมมองทางเทคโนโลยีและการเมือง จากการที่ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนมาอย่างยาวนาน วันนี้ผมจะมาไขข้อสงสัยข้อนี้ให้ทุกท่านได้ทราบกัน

หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ.1991 ยูเครนได้รับมรดกจากคลังแสงนิวเคลียร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก อย่างไรก็ตามภายใต้บันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์ปี ค.ศ. 1994 เคียฟยอมจำนนต่อตะวันตกโดยยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ของตนเพื่อแลกกับการรับประกันความปลอดภัยจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและรัสเซีย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาบันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์ถูกโจมตีเนื่องจากรัสเซียละเมิดโดยการรุกรานยูเครนอย่างเปิดเผยโดยที่สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรไม่สามารถรับประกันความมั่นคงของยูเครนได้ แม้ว่าพวกเขาได้จัดหาอาวุธจำนวนมหาศาลให้กับเคียฟ หลังจากการรุกรานเต็มรูปแบบของรัสเซียเริ่มขึ้นในต้นปี ค.ศ. 2022 ในทางการเมืองเคียฟจะต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างมากหากตัดสินใจผลิตอาวุธนิวเคลียร์เพื่อใช้เป็นเครื่องป้องปรามรัสเซีย โดยอาจต้องเผชิญหน้ากับการตอบโต้ครั้งใหญ่จากพันธมิตรตะวันตกที่กองทัพยูเครนต้องพึ่งพาอาวุธธรรมดาเพื่อต่อสู้กับการรุกรานเต็มรูปแบบของรัสเซียซึ่งขณะนี้เข้าสู่ปีที่สามแล้ว 

นักวิชาการตะวันตกหลายคนออกมาสนับสนุนยูเครนให้มีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อป้องปรามการรุกรานจากรัสเซีย ยกตัวอย่างเช่น คลอส มาธีเซน (Claus Mathiesen) อาจารย์ประจำสถาบันกลาโหมแห่งเดนมาร์กและอดีตผู้ช่วยทูตทหารประจำยูเครน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “เห็นได้ชัดว่าอาวุธนิวเคลียร์ก่อนหน้านี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการป้องปราม แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นเครื่องมือที่น่ารังเกียจ โดยรัสเซียยึดครองดินแดนยูเครนได้ประมาณ 100,000 ตารางกิโลเมตร และกำลังขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตียูเครน หากดินแดนเหล่านี้ถูกยึดไป ความเป็นไปได้ประการหนึ่งสำหรับยูเครน คือการตอบโต้การป้องปราม โดยการจัดหาอาวุธนิวเคลียร์ด้วยตัวเอง” ดร.เจนนี มาเทอร์ส (Jenny Mathers) อาจารย์ด้านการเมืองระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยอาเบอริสต์วิธในสหราชอาณาจักร กล่าวว่าเซเลนสกี "แสดงเหตุผลที่ดีว่าทำไมรัฐต่างๆ มากมายจึงพยายามแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์ ... เพราะอาวุธนิวเคลียร์ถูกมองว่าเป็นผู้รับประกันความปลอดภัยขั้นสูงสุดจากการโจมตีโดยตรงโดยรัฐที่มีอำนาจมากกว่า แม้ว่าอาวุธนิวเคลียร์จะมีประโยชน์เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในสนามรบ และไม่ได้ป้องกันรัฐที่ครอบครองอาวุธเหล่านั้นจากการพ่ายแพ้ทางทหารด้วยน้ำมือของฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์” เจริ ลาวิไคเนน (Jyri Lavikainen) ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์ที่สถาบันกิจการระหว่างประเทศแห่งฟินแลนด์ เชื่อว่า “ยูเครนจำเป็นต้องมีการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์เพื่อประกันความมั่นคงที่ยั่งยืน ...การตัดสินใจของรัสเซียที่จะโจมตียูเครนและใช้มาตรการบังคับทางนิวเคลียร์นับตั้งแต่วันแรกของการรุกราน ได้เผยให้เห็นถึงอันตรายของการถูกทิ้งไว้นอกร่มนิวเคลียร์ ...การป้องปรามด้วยนิวเคลียร์เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อตอบโต้การบังคับขู่เข็ญด้วยนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม อกาสที่ดีที่สุดสำหรับยูเครนที่จะได้รับผลประโยชน์จากการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์คือการเข้ารับเป็นสมาชิกของ NATO โดยเร็วที่สุด”

แม้ว่าในปัจจุบันยูเครนจะไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ แต่ก็ไม่ใช่มือใหม่ในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ในสมัยสหภาพโซเวียต โรงงานพิฟเดนมาช (Pivdenmash) ในเมืองดนีโปร (Dnipro) ของยูเครนผลิตขีปนาวุธที่สามารถบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ได้ในขณะที่โรงงานเคมีปรีดนิพรอฟสกี้ (Prydniprovsky Chemical Plant) ในเมืองคาเมียนสค์ (Kamianske) แคว้นดนีโปรเปตรอฟสค์เป็นหนึ่งในกระบวนการแปรรูปแร่ยูเรเนียมสำหรับโครงการนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียต โดยเป็นผู้เตรียมเยลโลว์เค้กซึ่งเป็นขั้นตอนกลางในการแปรรูปแร่ยูเรเนียม นอกจากนี้ยังมีแหล่งสะสมยูเรเนียมในโชฟติ โวดี (Zhovti Vody) ในแคว้นดนีโปรเปตรอฟสค์อีกด้วย ยูเครนยังมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สี่แห่งในแคว้นซาโปริซเซีย, ริฟเน, คเมลนีตสกี และแคว้นมิโคลายิฟ แม้ว่าปัจจุบันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในแคว้นซาโปริซเซียอยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย

คำถามที่ว่ายูเครนสามารถผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้หรือไม่นั้น ปัจจุบันยูเครนไม่ได้ผลิตขีปนาวุธนิวเคลียร์แต่มันก็เป็นเรื่องง่ายสำหรับเคียฟที่จะสร้างมันขึ้นมา โรเบิร์ต เคลลี่ (Robert Kelley) วิศวกรที่มีประสบการณ์มากกว่า 35 ปีในศูนย์อาวุธนิวเคลียร์ของกระทรวงพลังงานกล่าวว่า “เป็นไปได้ที่ยูเครนจะสร้างระเบิดฟิชชันยูเรเนียมแบบดั้งเดิมภายในห้าปี..มันค่อนข้างง่ายที่จะทำในศตวรรษที่ 21 การสร้างระเบิดฟิชชันพลูโทเนียมของยูเครนจะยากกว่า และมันจะยากต่อการซ่อนด้วย โดยจะใช้เวลาห้าถึง 10 ปีในการสร้างเครื่องปฏิกรณ์พลูโตเนียม” เขายังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ยูเครนอาจจะสามารถสร้างอุปกรณ์นิวเคลียร์ที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการพัฒนาใดๆ โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศอื่น สำหรับอาวุธนิวเคลียร์ที่ซับซ้อนกว่านี้ จะต้องซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียและผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ชาวยูเครนต่างยืนยันว่ายูเครนมีความสามารถในการผลิตระเบิดนิวเคลียร์ โดยเสริมว่าอาจต้องใช้เวลาหลายปี” เจริ ลาวิไคเนน (Jyri Lavikainen) กล่าวว่า“ยูเครนจะมีความรู้และทรัพยากรที่จะกลายเป็นรัฐอาวุธนิวเคลียร์อย่างแน่นอน หากยูเครนตัดสินใจทำเช่นนั้น”เทคโนโลยีที่ต้องการนั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมสำหรับหลายประเทศ และแน่นอนว่าไม่ใช่สำหรับยูเครน เนื่องจากเป็นที่ตั้งองค์ประกอบสำคัญของศูนย์อาวุธนิวเคลียร์ของโซเวียต ตอนที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต” “...ยูเครนสามารถพัฒนาทั้งหัวรบนิวเคลียร์และยานพาหนะบรรทุกได้ เนื่องจากมีอุตสาหกรรมทางทหาร แหล่งสะสมยูเรเนียม และภาคพลังงานนิวเคลียร์ที่จำเป็น” 

นิโคไล โซคอฟ (Nikolai Sokov) เจ้าหน้าที่อาวุโสของศูนย์การลดอาวุธและการไม่แพร่ขยายแห่งกรุงเวียนนา (the Vienna Center for Disarmament and Non-Proliferation) ให้ความเห็นว่า สำหรับยูเครนการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ "ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้แต่จะต้องใช้เวลาหลายปี เงินจำนวนมาก และมีแนวโน้มว่าจะต้องได้รับการสนับสนุนจากภายนอก อย่างน้อยก็ในด้านอุปกรณ์"” “ยูเครนไม่มีความสามารถทางอุตสาหกรรมในการผลิตและบำรุงรักษาคลังแสงนิวเคลียร์ ไม่มีวัสดุฟิสไซล์ ความสามารถในการเสริมสมรรถนะ การผลิตพลูโตเนียม และองค์ประกอบส่วนใหญ่ที่นำไปใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์” ในขณะที่ลิวิว โฮโรวิตซ์ (Liviu Horovitz) ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องปรามนิวเคลียร์แห่งสถาบันกิจการระหว่างประเทศและความมั่นคงแห่งเยอรมนี (the German Institute for International and Security Affairs) กล่าวด้วยว่ายูเครนจะต้องเผชิญกับความท้าทายหากตัดสินใจสร้างระเบิดนิวเคลียร์ เพราะโครงการอาวุธนิวเคลียร์ดังกล่าวอาจมีต้นทุนหลายพันล้านดอลลาร์ โดยโครงการระเบิดนิวเคลียร์แบบดั้งเดิมที่สุดที่เน้นไปที่เครื่องหมุนเหวี่ยงยูเรเนียมอาจมีราคาประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ โครงการระเบิดพลูโตเนียมจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์)

ในขณะเดียวกันการโจมตีทางอากาศของรัสเซียเป็นภัยคุกคามต่อโรงงานนิวเคลียร์ของยูเครน รัสเซียซึ่งมีคลังแสงมากมายทั้งขีปนาวุธธรรมดาและขีปนาวุธแบบธรรมดา สามารถโจมตีโรงงานใดๆ ของยูเครนที่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่ยูเครนจะสามารถดำเนินโครงการนี้สำเร็จได้ตราบใดที่สงครามยังดำเนินต่อไป โดยรัสเซียจะดำเนินการโจมตีสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธนิวเคลียร์โดยเร็วที่สุดเท่าที่สามารถระบุได้เพื่อขัดขวางโครงการนิวเคลียร์รวมถึงการก่อวินาศกรรมและการลอบสังหารด้วย ซึ่งคล้ายกับการขัดขวางโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านโดยการลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ชาวอิหร่าน 5 คน ระหว่างปีค.ศ. 2010 – 2020 โดยอิสราเอล

นอกจากนี้การสร้างระเบิดนิวเคลียร์อาจส่งผลกระทบทางการเมืองของยูเครน โดยยูเครนเป็นผู้ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และการถอนตัวออกจากสนธิสัญญาจะทำให้เกิดการตอบโต้จากทั้งสหรัฐฯ และพันธมิตรในยุโรปของยูเครน สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์เป็นรากฐานสำคัญของนโยบายนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ และพันธมิตรอื่นๆ ทุกรายของยูเครน โครงการอาวุธนิวเคลียร์จะเป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนชาวตะวันตกของยูเครน ดังนั้นพันธมิตรของยูเครนจึงมีแนวโน้มที่จะกดดันให้ยุติโครงการทันทีที่ถูกค้นพบ สหรัฐอเมริกา ตะวันตก และประชาคมระหว่างประเทศส่วนใหญ่จะต่อต้านยูเครนหรือรัฐอื่นๆ ที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์หากแสวงหาเพื่อครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และจะตอบโต้โดยการคว่ำบาตรยูเครนทั้งทางการฑูตและเศรษฐกิจเช่นเดียวกันกับกรณีของอิหร่าน 

นอกจากนี้นักวิเคราะห์ชาวตะวันตกยังมีแนวโน้มในการตีความการดำเนินโครงการนิวเคลียร์ของยูเครนว่าเป็นการยกระดับสงครามครั้งใหญ่ โดยมองว่าโครงการนิวเคลียร์ของยูเครนจะยิ่งนำไปสู่ความไม่มั่นคง และเพิ่มความเสี่ยงที่จะขยายสงครามไปสู่ระดับการทำลายล้างที่มากยิ่งขึ้น พันธมิตรตะวันตกอาจจะหยุดให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน หากยูเครนเริ่มพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เพราะมันขัดต่อความคิดเห็นของสาธารณชนภายในประเทศ

มิคาอิล โปโดเลียกที่ปรึกษาระดับสูงของเซเลนสกีกล่าวอย่างชัดเจนว่าแม้จะติดอาวุธปรมาณู เคียฟก็ไม่สามารถขัดขวางรัสเซียได้ อาวุธนิวเคลียร์ในคลังแสงของยูเครนจะไม่มีอำนาจที่จะหยุดยั้งรัสเซีย ซึ่งมีข้อได้เปรียบทางการทหารอย่างท่วมท้น เขาโพสต์ลงบนทเลแกรมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมา “...แม้ว่ายูเครนจะต้องสร้างอาวุธนิวเคลียร์ในอนาคตอันใกล้นี้ ..แต่ก็ไม่สามารถขัดขวางจักรวรรดิรัสเซียที่มีคลังแสงนิวเคลียร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกได้...” 

ตามเอกสารของสถาบัน think tank ของยูเครนซึ่งร่วมเขียนโดยโอเล็กซี ยิจฮัก (Oleksii Yizhak) เจ้าหน้าที่จากสถาบันการศึกษายุทธศาสตร์แห่งชาติของยูเครน เชื่อว่าพวกเขาจะสามารถสร้างระเบิดปรมาณูที่ใช้พลูโทเนียมได้ภายในไม่กี่เดือน คล้ายกับระเบิดปรมาณูที่สหรัฐฯ ทิ้งที่นางาซากิในปี ค.ศ. 1945 โดยใช้พลูโทเนียมจากแท่งเครื่องปฏิกรณ์เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้ว เอกสารดังกล่าวซึ่งอ้างโดยหนังสือพิมพ์ The Times ของอังกฤษ ระบุว่าเคียฟสามารถควบคุมเครื่องปฏิกรณ์ที่ปฏิบัติการได้ 9 เครื่องและสิ่งนี้จะทำให้ยูเครนสามารถเรียกพลูโตเนียมได้เจ็ดตัน ซึ่งสามารถสร้างหัวรบที่มีน้ำหนักทางยุทธวิธีหลายกิโลตัน ยูเครนสามารถใช้อาวุธดังกล่าวทำลายฐานทัพอากาศรัสเซียทั้งหมด หรือสถานที่ปฏิบัติงานนอกชายฝั่งทางทหาร อุตสาหกรรมหรือโลจิสติกส์” อย่างไรก็ตาม กีออร์จี้ ทีคี (Heorhii Tykhyi) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศยูเครน ตอบโต้คำกล่าวอ้างที่ว่าเคียฟสามารถพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ได้ภายในไม่กี่เดือน “...เราไม่ได้ครอบครอง พัฒนา หรือตั้งใจที่จะรับอาวุธนิวเคลียร์ ยูเครนทำงานอย่างใกล้ชิดกับ IAEA และมีความโปร่งใสในการตรวจสอบ ซึ่งห้ามการใช้วัสดุนิวเคลียร์เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร” 

ท้ายที่สุดแล้วประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซียคงไม่ยอมให้ยูเครนมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง โดยเขากล่าว่า “การสร้างอาวุธนิวเคลียร์ในโลกสมัยใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องยาก ...ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม มอสโกจะไม่ยอมให้ยูเครนมีอาวุธนิวเคลียร์” ความเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตามของยูเครนเพื่อให้ได้อาวุธนิวเคลียร์ไม่สามารถปกปิดได้และจะได้รับการตอบโต้ที่เหมาะสมจากรัสเซีย

เปิดหลักการพื้นฐานของ ‘สหพันธรัฐรัสเซีย’ ว่าด้วยการป้องปราม ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ฉบับใหม่

ถือว่าโลกได้ขยับเข้าใกล้สงครามโลกครั้งที่ 3 อีกครั้งเมื่อประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียได้ลงนามในกฤษฎีกาเมื่อวันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ.2024 ที่ผ่านมา เพื่อรับรองหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ฉบับปรับปรุงของประเทศ ซึ่งมีชื่อว่า ‘หลักการพื้นฐานของนโยบายรัฐของสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์’ (the Basic Principles of State Policy of the Russian Federation on Nuclear Deterrence) สาเหตุที่ทางรัสเซียจำเป็นต้องอัปเดตเอกสารหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์นี้ ทางเครมลินอธิบายว่าเนื่องจาก ‘สถานการณ์ปัจจุบัน’ เกี่ยวกับปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครนและการเผชิญหน้าที่รุนแรงระหว่างรัสเซียและตะวันตก โดยคำนึงถึงการตัดสินใจของ เจ้าหน้าที่รัฐบาลในสหรัฐอเมริกาตัดสินใจให้ยูเครนใช้อาวุธซึ่งเป็นอาวุธที่ผลิตในอเมริกาเพื่อต่อต้านสหพันธรัฐรัสเซีย นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของสถานการณ์ใหม่ทั่วประเทศของเรา และทำให้จำเป็นต้องปรับปรุงแนวคิดนี้” 

โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ.2024 สื่ออเมริกันรายงานว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ “อนุญาต” ให้ยูเครนยิงขีปนาวุธ ATACMS ของอเมริกาลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย ซึ่งต่อมานายไบรอัน นิโคลส์ (Brian Nichols) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการซีกโลกตะวันตก ได้ออกมายืนยันข้อมูลนี้ เมื่อวันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ.2024 กระทรวงกลาโหมรัสเซียรายงานว่ากองทัพยูเครนทำการโจมตีด้วยขีปนาวุธ ATACMS จำนวน 6 ลูกต่อสถานที่ทางทหารแห่งหนึ่งในภูมิภาคเบรียนสค์ ซึ่งห้าลูกถูกยิงตก หนึ่งลูกได้รับความเสียหายจากทีมต่อสู้ของระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 และระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศแพนซีร์ จากเหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลให้นายดมิทรี เปซคอฟ (Dmitry Peskov) โฆษกเครมลินเรียกร้องให้ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซียลงนามในหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ที่ได้รับการปรับปรุงซึ่งเป็น "เอกสารที่สำคัญอย่างยิ่ง" ในเวลาที่เหมาะสม เขากล่าวว่าการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์มีจุดมุ่งหมาย “เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่อาจเป็นปฏิปักษ์จะเข้าใจถึงการตอบโต้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในกรณีที่มีการรุกรานสหพันธรัฐรัสเซียและ/หรือพันธมิตรของรัสเซีย”

ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียที่ได้รับการปรับปรุงนี้ยังคงเหมือนเดิม ซึ่งเกี่ยวข้องกับพื้นฐานของรัฐของสหพันธรัฐรัสเซียในด้านการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับกฤษฎีกาปี ค.ศ.2020 โดยรัสเซีย “ถือว่าอาวุธนิวเคลียร์เป็นวิธีการป้องปราม การใช้อาวุธดังกล่าวเป็นมาตรการที่รุนแรงและบังคับ และกำลังใช้ความพยายามที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อลดภัยคุกคามทางนิวเคลียร์และป้องกันความรุนแรงของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่อาจกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง ความขัดแย้งทางการทหาร รวมถึงความขัดแย้งทางนิวเคลียร์ด้วย” ในปีค.ศ. 2020 ทางการรัสเซียพิจารณาอาวุธนิวเคลียร์ “เป็นเพียงวิธีการป้องปรามเท่านั้น” เช่นเดียวกับในปีค.ศ. 2020 “การรับประกันการป้องปรามศัตรูที่อาจเกิดขึ้นจากการรุกรานรัสเซียและ (หรือ) พันธมิตร” ถือเป็น “หนึ่งในลำดับความสำคัญสูงสุดของรัฐบาล” จะต้องได้รับการรับรองโดย “กำลังทหารทั้งหมดของสหพันธรัฐรัสเซียรวมถึงอาวุธนิวเคลียร์” ในเวลาเดียวกัน ทั้งเอกสารเก่าและเอกสารใหม่กล่าวว่า "นโยบายของรัฐในด้านการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์มีลักษณะเป็นการป้องกัน" 

ก่อนหน้าที่ผมจะกล่าวถึงหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียฉบับใหม่ผมขอเล่าถึงความเป็นมาของหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียตรัสเซียมีหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์มาแล้ว 5 ฉบับด้วยกัน โดยในสมัยสหภาพโซเวียตไม่มีหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์สาธารณะ ยกเว้นเอกสาร "เกี่ยวกับหลักคำสอนทางทหารของรัฐในสนธิสัญญาวอร์ซอ" ที่นำมาใช้ในปี ค.ศ. 1987 ซึ่งรับรองว่าพวกเขา "จะไม่ใช่คนแรกที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์" ผมขอเรียกเอกสารฉบับนี้ว่าหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียฉบับที่ 1  

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ.1993 ประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซินได้ลงนามในกฤษฎีกา "ในบทบัญญัติหลักของหลักคำสอนทางทหารของสหพันธรัฐรัสเซีย" แต่ไม่มีการเผยแพร่เนื้อหาของบทบัญญัติดังกล่าว ถือว่าเอกสารฉบับนี้เป็นฉบับที่ 2  

ถัดมาเมื่อวันที่ 21 เมษายน ค.ศ.2000 ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้อนุมัติหลักคำสอนทางทหารสาธารณะฉบับแรกของสหพันธรัฐรัสเซีย โดยระบุว่ารัสเซียขอสงวนสิทธิ์ในการใช้การโจมตีด้วยนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้การใช้อาวุธทำลายล้างสูงต่อรัสเซียและ/หรือพันธมิตร เช่นเดียวกับ “เพื่อตอบสนองต่อการโจมตีขนาดใหญ่โดยใช้อาวุธธรรมดาในสถานการณ์ที่วิกฤตต่อความมั่นคงของชาติ ” ในปีเดียวกันนั้นมีการนำ "นโยบายพื้นฐานของรัฐในด้านการป้องปรามนิวเคลียร์" ซึ่งมีผลบังคับใช้จนถึงปี ค.ศ.2010 ฉบับนี้ผมให้เป็นฉบับที่ 3 

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2010 ประธานาธิบดีดมิทรี เมดเวเดฟ อนุมัติหลักคำสอนทางทหารใหม่ของสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งรวมถึงประโยคเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อตอบสนองต่อ "การรุกรานต่อสหพันธรัฐรัสเซียโดยใช้อาวุธธรรมดา เมื่อรัฐดำรงอยู่จริงตกอยู่ในความเสี่ยง” ฉบับนี้เป็นฉบับที่ 4 ต่อมาประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูตินได้ปรับปรุงหลักคำสอนทางทหารในปี ค.ศ. 2014 แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลักการเกี่ยวกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์
.
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2020 ประธานาธิบดีดวลาดิมีร์ ปูตินได้ลงนามในกฤษฎีกา “เกี่ยวกับพื้นฐานของนโยบายของรัฐในด้านการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์” เอกสารระบุเหตุผลอีกสองประการที่ทำให้รัสเซียใช้กองกำลังนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ ได้แก่ การโจมตีด้วยขีปนาวุธและผลกระทบต่อสิ่งอำนวยความสะดวกที่ 'สำคัญอย่างยิ่ง' ซึ่ง "จะนำไปสู่การหยุดชะงักในการดำเนินการตอบโต้ของกองกำลังนิวเคลียร์" ซึ่งผมถือว่าเป็นฉบับที่ 5 

เอกสารหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ฉบับใหม่ที่ประธานาธิบดีดวลาดิมีร์ ปูตินเพิ่งลงนามไปเมื่อวันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ.2024 มีทั้งหมดด้วยกันทั้งสิ้น 4 หมวด 26 มาตรา สรุปถึงเงื่อนไขการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ภัยคุกคามที่ถือว่าร้ายแรงเพียงพอสำหรับการใช้งาน ลำดับการเปิดใช้งานแผนการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ผู้มีอำนาจตัดสินใจ การดำเนินการเพื่อรักษากองกำลังนิวเคลียร์ให้พร้อมในการรบ และนโยบายสำหรับ 'การป้องปรามด้วยนิวเคลียร์'—แผนสำหรับป้องกันการโจมตีด้วยนิวเคลียร์โดยรับรองว่า “การรุกรานทางนิวเคลียร์ใดๆ จะส่งผลให้เกิดการตอบโต้อย่างร้ายแรง” ทั้งนี้ผมขอสรุปประเด็นต่าง ๆ ให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้

เงื่อนไขการใช้อาวุธนิวเคลียร์

ในหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ครั้งก่อนหลักคำสอนระบุว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์จะถูกกระตุ้นโดยการรุกรานที่คุกคามการดำรงอยู่ของรัฐ อย่างไรก็ตาม เวอร์ชันอัปเดตให้ความชัดเจนมากขึ้น โดยระบุว่ารัสเซียอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้การรุกรานที่คุกคามอธิปไตยของรัสเซียและ/หรือบูรณภาพแห่งดินแดนโดยตรง

หลักคำสอนที่ได้รับการปรับปรุงได้กำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนสำหรับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงสถานการณ์ที่การรุกรานจากประเทศที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ได้รับการสนับสนุนจากรัฐนิวเคลียร์ นี่จะถือเป็นการโจมตีร่วมกัน และแม้แต่อาวุธทั่วไปที่เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่ออธิปไตยของรัสเซียก็อาจกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองทางนิวเคลียร์จากรัสเซียเช่นกัน

โดยรัสเซียได้เน้นไปที่เบลารุสพันธมิตรของตนเป็นพิเศษ ซึ่งการรุกรานใด ๆ ต่อเบลารุสก็ถือเป็นการโจมตีรัสเซีย ซึ่งก็จะถูกตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ด้วย

เอกสารดังกล่าวยังเน้นย้ำถึงภัยคุกคามทางทหารต่อรัสเซียที่อาจเกิดขึ้น เช่น ระบบต่อต้านขีปนาวุธ การสะสมกำลังทหารใกล้ชายแดนรัสเซีย และอาวุธนิวเคลียร์ที่ประจำการอยู่ในรัฐที่ไม่ใช่นิวเคลียร์

ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดคำว่า ‘ศัตรูที่มีศักยภาพ’ ซึ่งครอบคลุมรัฐหรือพันธมิตรทางทหารที่มองว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคามและมีอำนาจทางทหารที่สำคัญ 

การป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์

รัสเซียดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่องโดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกัน ‘รัฐที่ไม่เป็นมิตร’ และพันธมิตรทางทหารจากการโจมตีและการกระทำที่ไม่เป็นมิตรในช่วงเวลาสงบ ระดับภัยคุกคามที่เพิ่มสูงขึ้น และในช่วงสงคราม ขึ้นอยู่กับศักยภาพในการใช้อาวุธนิวเคลียร์

การป้องปรามรวมถึงการจัดตั้งและรักษากองกำลังนิวเคลียร์ที่ทันสมัยซึ่งสามารถส่ง “ความเสียหายที่รับประกันว่าไม่อาจยอมรับได้” ให้กับฝ่ายตรงข้าม ควบคู่ไปกับการทำให้แน่ใจว่าพวกเขาทั้งหมดไม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับความพร้อมของมอสโก และตัดสินใจที่จะมีส่วนร่วมกับพวกเขาหากจำเป็น

หากผู้รุกรานโจมตีรัสเซียหรือพันธมิตร พวกเขาจะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการตอบโต้ ตามหลักคำสอนดังกล่าว

การป้องปรามด้วยนิวเคลียร์มุ่งเป้าไปที่รัฐและพันธมิตรทางทหารที่มองว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคาม รวมถึงการจัดหาทรัพยากรหรือดินแดนสำหรับการรุกราน

การรุกรานโดยรัฐที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐนิวเคลียร์จะถือเป็นการโจมตีร่วมกัน ในขณะที่การรุกรานของกลุ่มพันธมิตรทางทหารใดๆ จะถูกมองว่าเป็นการกระทำร่วมกันของกลุ่มนี้ 

ภัยคุกคาม

รายการภัยคุกคามทางทหารที่รัสเซียจะตอบโต้ด้วยการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ประกอบด้วยอันตรายหลัก 10 ประการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาเอกสารฉบับปีค.ศ.2020 ที่มี 6 ประการ โดยที่น่าสังเกตมากที่สุดคือการมีอยู่ของศัตรูที่อาจติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์หรืออาวุธทำลายล้างสูงอื่นๆ

นอกจากนี้ยังรวมถึงการติดตั้งระบบขั้นสูง เช่น การป้องกันขีปนาวุธร่อนระยะกลางและระยะสั้น (medium- and short-range cruise missile) ขีปนาวุธนำวิถี ระยะกลางและระยะสั้น (medium- and short-range ballistic missiles) อาวุธที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ที่มีความแม่นยำสูง (high-precision non-nuclear) และอาวุธความเร็วเหนือเสียง (hypersonic weapon) และการโจมตีด้วยโดรน

การสะสมกำลังของต่างชาติ รวมถึงวิธีการจัดส่งนิวเคลียร์หรือโครงสร้างพื้นฐานทางทหารที่เกี่ยวข้อง ใกล้กับชายแดนรัสเซียก็ถูกกำหนดให้เป็นภัยคุกคามที่สำคัญเช่นกัน

นอกจากนี้ การติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ, ระบบต่อต้านดาวเทียม, และอาวุธนิวเคลียร์ในดินแดนของรัฐที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ถูกมองว่าเป็นอันตราย

รวมไปถึงการขยายพันธมิตรทางทหารและแนวทางโครงสร้างพื้นฐานไปยังชายแดนรัสเซียถือเป็นภัยคุกคามที่ชัดเจน ควบคู่ไปกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น เช่น การแยกดินแดน การทำลายสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นอันตราย การซ้อมรบขนาดใหญ่ใกล้ชายแดน และการแพร่กระจายของอาวุธทำลายล้างสูงอย่างไม่มีการตรวจสอบ

การตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์

การตัดสินใจในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียนั้นสามารถพิจารณาได้จากเงื่อนไขหลายประการ รวมถึงการยิงขีปนาวุธใส่รัสเซียหรือพันธมิตร การใช้อาวุธทำลายล้างสูงต่อรัสเซียหรือดินแดนพันธมิตร และการโจมตีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สำคัญของรัฐหรือทางทหาร ที่จะขัดขวางการตอบสนองทางนิวเคลียร์ 

นอกจากนี้ยังรวมถึงการรุกรานตามแบบแผนที่คุกคามอธิปไตยต่อรัสเซียหรือเบลารุส เช่นเดียวกับการโจมตีด้วยเครื่องบินขนาดใหญ่และขีปนาวุธข้ามพรมแดนรัสเซีย ถือเป็นเกณฑ์หนึ่งในการเปิดใช้งานการตอบสนองทางนิวเคลียร์

ประธานาธิบดีรัสเซียเป็นผู้ทำการตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับการใช้นิวเคลียร์ นอกจากนี้เขายังอาจแจ้งให้ประเทศอื่นๆ หรือหน่วยงานระหว่างประเทศทราบเกี่ยวกับความพร้อมหรือการใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นจริง

เซอร์เกย์ มาร์คอฟ (Sergey Markov) อดีตที่ปรึกษาของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินกล่าวว่าหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียฉบับใหม่นี้ “ทำให้เงื่อนไขการใช้นิวเคลียร์ของรัสเซียเท่าเทียมกันกับสหรัฐฯ” เนื่องจากเกณฑ์การใช้อาวุธนิวเคลียร์ในประเทศตะวันตกต่ำกว่าในรัสเซีย โดยหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ อนุญาตให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องพันธมิตรของตน ซึ่งจนถึงขณะนี้รัสเซียยังไม่ได้พิจารณาการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อปกป้องพันธมิตรของตน โดยประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินได้ประกาศการเปลี่ยนแปลงหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ครั้งแรกในการปราศรัยของเขาเมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 2024 ในการประชุมป้องปรามด้วยนิวเคลียร์โดยอ้างถึง “ภูมิทัศน์ทางการทหารและการเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” 

ซึ่งนายเซอร์เกร์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศรัสเซียออกมาแสดงความเห็นว่าชาติตะวันตกจะศึกษาหลักคำสอนทางนิวเคลียร์ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ของรัสเซียอย่างรอบคอบ ในขณะที่นายดมิมิทรี เมดเวเดฟ รองประธานสภาความมั่นคงรัสเซียได้ออกมาเตือนว่าชาติตะวันตกจะรับฟังสัญญาณจากมอสโกอย่างจริงจังและได้โพสต์ลงในช่อง Telegram ของเขาเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการตัดสินใจโจมตีขีปนาวุธของชาติตะวันตกที่ลึกเข้าไปในรัสเซียกับหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ฉบับใหม่ “การใช้ขีปนาวุธพันธมิตร (NATO) ในลักษณะนี้สามารถเข้าข่ายเป็นการโจมตีโดยกลุ่มประเทศในรัสเซียได้แล้ว ในกรณีนี้ มีสิทธิ์ที่จะโจมตีกลับด้วยอาวุธทำลายล้างสูงต่อเคียฟและฐานปฏิบัติการหลักของ NATO ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ใดก็ตาม และนี่คือสงครามโลกครั้งที่สามแล้ว

ซึ่งเราต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่าหลักคำสอนด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียฉบับใหม่นี้จะทำให้ฉากทัศน์สงครามระหว่างรัสเซียยูเครนจบลงหรือขยายความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับพันธมิตรนาโตต่อไปในอนาคต

‘เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ’ รมต.ต่างประเทศรัสเซีย เผยกับ ‘นักข่าวอเมริกัน’ เงื่อนไขที่สำคัญที่สุด 4 ประการในการยุติ!! สงครามยูเครน

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2024 มีการเผยแพร่บทสัมภาษณ์ระหว่างนายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียกับนายทัคเกอร์ คาร์ลสันนักข่าวชาวอเมริกัน ที่เคยสัมภาษณ์ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ที่ผ่านมาโดยได้พูดคุยกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินเกี่ยวกับสาเหตุของการเริ่มปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครนและความสัมพันธ์กับตะวันตก ครั้งนี้นักข่าวชาวอเมริกันรายนี้เดินทางกลับมายังมอสโกเพื่อพูดคุยกับนายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย การสัมภาษณ์ของนายทัคเกอร์ คาร์ลสันครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่การทูตเกี่ยวกับการหยุดยิงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นนับตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งและในขณะที่รัสเซียยังคงเดินหน้าในสนามรบทางตะวันออกของยูเครน การสัมภาษณ์ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ภายใน 3 ชั่วโมง มีผู้เข้าชมเกือบ 2.3 ล้านครั้ง โดยรัฐมนตรีเซอร์เกย์ ลาฟรอฟได้ตอบคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและสหรัฐอเมริกา ความขัดแย้งในยูเครน และเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศรัสเซียในการยุติปัญหานี้ โดยสามารถสรุปประเด็นการสัมภาษณ์ดังกล่าวที่สำคัญได้ 4 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐอเมริกา
- รัสเซียต้องการมีความสัมพันธ์ตามปกติกับทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศที่ยิ่งใหญ่เช่นสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแสดงความเคารพต่อชาวอเมริกันและความสำเร็จของพวกเขาหลายครั้ง เราไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมรัสเซียและสหรัฐอเมริกาจึงไม่สามารถร่วมมือกันได้
- สำหรับมอสโกสิ่งสำคัญคือการหลีกเลี่ยงสงครามกับสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสงครามอาจลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ได้
- โดนัลด์ ทรัมป์เป็นมิตร แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะโปรรัสเซีย
- สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยูเครนถูกเรียกว่าสงครามลูกผสม ยูเครนจะไม่สามารถทำสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ด้วยอาวุธสมัยใหม่ที่มีพิสัยไกลได้เลยหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ซึ่งมีบทบาทอย่างแข็งขันในการจัดหาอาวุธให้กับทางเคียฟ 
โดยเขากล่าวว่า “ผมจะไม่พูดว่าในวันนี้รัสเซียและสหรัฐอเมริกากำลังทำสงครามกัน เราไม่ได้ทำสงครามอย่างเป็นทางการ และนี่ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ เราอยากจะมีความสัมพันธ์ตามปกติกับทุกประเทศ”

ประเด็นที่สอง ความเสี่ยงจากสงครามนิวเคลียร์
- ทางการรัสเซียมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่สงครามนิวเคลียร์จะลุกลาม
- หลักคำสอนทางทหารของเรากล่าวว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการหลีกเลี่ยงสงครามนิวเคลียร์
- แนวคิดของชาติตะวันตกที่มองว่ารัสเซียไม่มี ‘เส้นแดง’ นั้นถือเป็นความผิดพลาดร้ายแรง หลายครั้งที่ตะวันตกประกาศเส้นแดงเองและเปลี่ยนเส้นแดงนั้นไปมา โดยเขากล่าวว่า “นี่เป็นเกมที่อันตรายมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ทางตะวันตกมีการเรียกร้องภายในเพนตากอนและ NATO ให้ชิงโจมตีก่อนโดยมองว่าการโจมตีเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด รวมถึงการโจมตีด้วยนิวเคลียร์อย่างจำกัด ซึ่งเป็นการก่อให้เกิดหายนะที่เราไม่ต้องการ

ประเด็นที่สาม การทดสอบขีปนาวุธ ‘Oreshnik’
- รัสเซียไม่ต้องการให้สถานการณ์เลวร้ายลง แต่เนื่องจากขีปนาวุธ ATACMS และอาวุธระยะไกลอื่น ๆ ถูกใช้กับแผ่นดินรัสเซีย ทางการรัสเซียหวังว่าการทดสอบขีปนาวุธ 'โอเรชนิก' จะเป็นการส่งสัญญาณไปยังสหรัฐฯ เพื่อให้ได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง
- รัสเซียจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องผลประโยชน์อันชอบธรรมของตน สหรัฐอเมริกาและผู้ที่จัดหาอาวุธพิสัยไกลให้กับเคียฟต้องเข้าใจว่าเราจะพร้อมที่จะใช้วิธีการใด ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ชาติตะวันตกประสบความสำเร็จในการสร้าง ‘ความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์’ ให้กับเรา 

ประเด็นสุดท้าย ปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน
- เราไม่ได้เริ่มสงคราม ในทางตรงกันข้าม เราได้เปิดปฏิบัติการพิเศษทางทหารเพื่อยุติสงครามที่ระบอบการปกครองของเคียฟได้ปลดปล่อยต่อประชาชนใน Donbass ซึ่งสิทธิมนุษยชนของประชากรรัสเซียและที่พูดภาษารัสเซียในยูเครนถูกละเมิดอย่างร้ายแรงรัสเซียเริ่มปฏิบัติการพิเศษทางทหารเพื่อยุติสงครามที่ระบอบเคียฟกำลังดำเนินการกับประชาชนของตนเองในพื้นที่ดอนบาส 
- ชาวตะวันตกกำลังต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจของตนในโลก แต่เรากำลังต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ด้านความปลอดภัยที่ถูกต้องตามกฎหมายและต่อสู้เพื่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนเหล่านี้
- เราไม่มีเจตนาที่จะทำลายชาวยูเครน พวกเขาเป็นพี่น้องกันกับชาวรัสเซีย
- รัสเซียเรียกร้องหลายครั้งในปี 2014 และ 2017 ให้ในระดับข้อตกลงอนุญาตให้บางส่วนของ Donbass และ Novorossiya พูดและเรียนเป็นภาษารัสเซียได้ ประการแรกมีข้อตกลงมินสค์ซึ่งกำหนดไว้เพื่อบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนยกเว้นไครเมียแต่ข้อตกลงเหล่านี้ถูกทำลายตั้งแต่เริ่มแรก และเราถูกบังคับให้เปิดปฏิบัติการพิเศษทางทหาร จากนั้นข้อตกลงอิสตันบูลในปี 2022 พูดถึงการที่ยูเครนไม่เข้าสู่ NATO เพื่อแลกกับการรับประกันความปลอดภัย แต่ถูกล้มหลังจากการมาถึงของนายบอริส จอห์นสันนายกรัฐมนตรีอังกฤษ 
- อย่าคิดว่ารัสเซียและสหรัฐฯ กำลังตัดสินใจประเด็นของยูเครนแทนทุกคนเพราะนี่ไม่ใช่สไตล์ของมอสโก
- เมืองหลวงบางแห่งเบื่อหน่ายกับความขัดแย้งในยูเครน มีการพูดคุยกันว่าสหรัฐฯ ต้องการปล่อยให้เรื่องนี้ตกเป็นหน้าที่ของยุโรป
- รัสเซียพร้อมสำหรับสถานการณ์ต่าง ๆ แต่ต้องการการเจรจาอย่างสันติ โดยตั้งใจที่จะดำเนินการเจรจาตามหลักการที่ตกลงกันในอิสตันบูล และต้องคำนึงถึงพื้นฐานความเป็นจริงที่ว่าขณะนี้มีสาธารณรัฐใหม่สี่แห่งในรัสเซีย แต่ข้อตกลงเหล่านี้ถูกตะวันตกปฏิเสธ

โดยรัฐมนตรีเซอร์เกย์ ลาฟรอฟกล่าวว่า ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีสั่งห้ามการเจรจากับรัสเซีย และทางรัสเซียก็พร้อมสำหรับการเจรจา หากคำนึงถึงความสมดุลทางผลประโยชน์ 

ซึ่งทั้ง 4 ประเด็น ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากบรรดานักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ถึงท่าทีและการส่งสัญญาณของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียต่อทางสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตะวันตกผ่านทางนายทัคเกอร์ คาร์ลสันซึ่งผู้กำหนดนโยบายจากชาติตะวันตกจำเป็นจะต้องศึกษาและถอดความหมายจากการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ต่อไป

เลือกตั้งโรมาเนีย กับสงครามรัสเซีย – ยูเครน ‘คาลิน จอร์เจสคู’ ผู้ต่อต้านนาโต มาเป็นที่หนึ่ง

การเลือกตั้งประธานาธิบดีโรมาเนียรอบแรกเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมามนายคาลิน จอร์เจสคู (Calin Georgescu) ผู้สมัครอิสระที่ต่อต้านนาโตและชื่นชอบรัสเซีย ได้รับการเลือกตั้งขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในการลงคะแนนเสียงประธานาธิบดี ด้วยคะแนนเกือบ 23% ซึ่งถือเป็นผลลัพธ์ที่น่าตกใจ ซึ่งขัดแย้งกับการสำรวจความคิดเห็นก่อนหน้านี้ ในขณะที่การเลือกตั้งรัฐสภาเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2024 พรรคชาตินิยมไม่สามารถคว้าเสียงข้างมากแต่กลับกันสมาชิกฝ่ายขวาจัดกลับได้รับเลือกมากกว่าสามเท่าในสภานิติบัญญัติของโรมาเนีย

นายคาลิน จอร์เจสคูเป็นนักการเมืองผู้ชื่นชอบทฤษฎีสมคบคิดซึ่งยกย่องประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียและไออน อันโตเนสคู (Ion Antonescu) เผด็จการชาวโรมาเนียที่สนับสนุนนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยคาดว่านายคาลิน จอร์เจสคูจะต้องแข่งขันกับนางเอเลน่า ลาสโคนี (Elena Lasconi) ที่สนับสนุนสหภาพยุโรปในการเลือกตั้งรอบสองในวันที่ 8 ธันวาคม 2024 นี้ การที่นายนายคาลิน จอร์เจสคูผู้สมัครที่เป็นมิตรกับรัสเซียได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากประชาชนชาวโรมาเนียนั้นเป็นสัญญาณที่น่ากังวลสำหรับยูเครน 

แม้จะยังห่างไกลจากชัยชนะอย่างสมบูรณ์แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าวในประเทศที่รัฐบาลสนับสนุนเพื่อนบ้านยูเครนอย่างแข็งขันเน้นย้ำถึงความเหนื่อยล้าที่เพิ่มมากขึ้นในยุโรป นอกจากนี้ยังเผยให้เห็นถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์การสนับสนุนยูเครนของยุโรป โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาของโรมาเนียครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงผลงานที่แข็งแกร่งของกลุ่มชาตินิยมที่เป็นมิตรกับรัสเซียในการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาของโรมาเนียเน้น

ในช่วงแรกนายคาลิน จอร์เจสคูนักการเมืองหัวรุนแรงอนุรักษ์นิยมซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้สมัครที่มีโอกาสชนะน้อยมากสามารถพลิกกลับมาประสบความสำเร็จได้ด้วยการมีตัวตนบนโซเชียลมีเดียซึ่งช่วยให้เขาได้คะแนนเสียงจากผู้ที่ต่อต้านรัฐบาล ในการนับคะแนนรอบแรกนายคาลิน จอร์เจสคูถูกกล่าวหาว่า TikTok มีอคติให้การสนับสนุนจอร์เชสคูและการโจมตีทางไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องกับรัสเซีย ทำให้ต้องนับคะแนนใหม่และต้องได้รับการรับรองโดยศาลรัฐธรรมนูญ

ในการเลือกตั้งรัฐสภาพรรคพันธมิตรเพื่อสหภาพโรมาเนีย (AUR) ซึ่งนายจอร์จ ซีมิออน (George Simion) หัวหน้าพรรคถูกห้ามไม่ให้เข้ายูเครนได้คะแนนเสียงเป็นอันดับสอง 18% ตามหลังพรรคโซเชียลเดโมแครตซึ่งเป็นพรรครัฐบาลที่ได้เพียงแค่ 22% พรรคการเมืองขวาจัดอีกสองพรรคได้แก่ พรรค SOS Romania ของส.ส. ไดอานา โซโซอาคา (Diana Șoșoacă) ที่นิยมรัสเซียและพรรคเยาวชน (Party of Young People -POT) ที่เกี่ยวข้องกับนายคาลิน จอร์เจสคูได้รับคะแนนเสียงประมาณ 7.4% และ 6.5% ตามลำดับ ในขณะที่พรรคการเมืองสายกลางที่นิยมตะวันตกได้รับคะแนนเสียงมากขึ้นในการเลือกตั้งรัฐสภา การชนะของพรรคชาตินิยมและโอกาสของจอร์เจสคูในการชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้เพิ่มความรู้สึกนิยมรัสเซียในยุโรปให้เพิ่มมากขึ้นไปอีก

ผลการเลือกตั้งที่ประชาชนชาวโรมาเนียให้การสนับสนุนนายคาลิน จอร์เจสคูอย่างมากส่งผลให้สหรัฐฯ ตอบโต้อย่างรวดเร็วด้วยการออกมาขู่กรรโชก โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่าวอชิงตันกำลังจับตาดูการเลือกตั้งประธานาธิบดีของโรมาเนียอย่างใกล้ชิดและเตือนโรมาเนียไม่ให้ละทิ้งแนวทางที่สนับสนุนยุโรปถึงขนาดออกมาขู่ว่าจะระงับความร่วมมือด้านความมั่นคงและการลงทุนเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทางสหรัฐฯ ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับรายงานของสภาสูงสุดแห่งโรมาเนียด้านการป้องกันประเทศ ซึ่งกล่าวหาว่ารัสเซียมีกิจกรรมทางไซเบอร์เกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้งของประเทศ ในขณะที่นายคาลิน จอร์เจสคูกล่าวว่าเขายินดีที่สหรัฐฯ ให้ความสนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศโรมาเนีย แต่เน้นย้ำว่าความพยายามใดๆ ที่จะแทรกแซงจากภายนอกนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

โดยเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2024 เจ้าหน้าที่โรมาเนียได้เปิดเผยหลักฐานที่เป็นความลับเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าแคมเปญโซเชียลมีเดียที่ "มีการจัดอย่างเป็นระบบ" และได้รับการสนับสนุนจาก ‘หน่วยงานของรัฐ’ เพื่อสนับสนุนนายคาลิน จอร์เจสคูผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่สนับสนุนรัสเซียในการลงคะแนนเสียง ในขณะที่หน่วยข่าวกรองต่างประเทศของโรมาเนีย (The Romanian foreign intelligence agency - SIE) ชี้ให้เห็นถึง ‘การโจมตีแบบผสมผสานของรัสเซียที่ก้าวร้าว รวมถึงการโจมตีทางไซเบอร์ การรั่วไหลของข้อมูล และการก่อวินาศกรรม’ ที่กำหนดเป้าหมายคือโรมาเนีย รายงานฉบับหนึ่งซึ่งถูกเปิดเผยโดยประธานาธิบดี เคลาส์ อิโอฮานิส (Klaus Iohannis) ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง ระบุว่านายคาลิน จอร์เจสคูได้รับการสนับสนุนจากแคมเปญที่ประสานงานโดยผู้ดำเนินการของรัฐบนแพลตฟอร์ม TikTok ของจีน แคมเปญดังกล่าวเริ่มต้นจากบัญชีประมาณ 25,000 บัญชีที่มีการใช้งานสูงในช่วงก่อนการเลือกตั้ง แม้ว่าผู้สมัครจะอ้างว่าไม่ได้ใช้เงินจากงบประมาณการรณรงค์หาเสียงแต่หน่วยข่าวกรองระบุว่ามีบัญชี TikTok บัญชีหนึ่งที่จ่ายเงิน 381,000 ดอลลาร์ให้กับผู้ใช้ที่สนับสนุนนายคาลิน จอร์เจสคู นอกจากนี้หน่วยงานฯ ยังรายงานด้วยว่ามีการโจมตีทาง ไซเบอร์ 85,000 ครั้งเพื่อเข้าถึงและแทรกแซงข้อมูลการเลือกตั้งโดยใช้วิธีการขั้นสูงที่บ่งชี้ว่า "ผู้ดำเนินการได้รับการสนับสนุนจากรัฐ" กระทรวงมหาดไทยของโรมาเนียยังออกมาระบุว่าแคมเปญดังกล่าวใช้ผู้มีอิทธิพลบนโซเชียลมีเดียซึ่งมีผู้ติดตามรวมกันกว่า 8 ล้านคนเพื่อโน้มน้าวความคิดเห็นของประชาชนในลักษณะเดียวกับแคมเปญข้อมูลของรัสเซียในยูเครนก่อนที่รัสเซียจะรุกราน

การที่สหรัฐออกมาข่มขู่ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีโรมาเนียครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของโรมาเนียต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และสงครามรัสเซีย - ยูเครน โดยสามารถวิเคราะห์ความสำคัญของโรมาเนียต่อสงครามรัสเซียยูเครนและยุทธศาสตร์การต่อต้านรัสเซียของสหรัฐฯและพันธมิตรได้ดังนี้

ความสำคัญของการสนับสนุนของโรมาเนียต่อยูเครน
- โรมาเนียได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นพันธมิตรที่มั่นคงของยูเครน โดยให้การสนับสนุนด้านการทหาร เศรษฐกิจ และมนุษยธรรมที่สำคัญ โรมาเนียซึ่งมีพรมแดนติดกับยูเครนยาว 613 กิโลเมตร (380 ไมล์) ถูกคุกคามจากโดรนของรัสเซียที่ตกลงมาในดินแดนของตนระหว่างการโจมตียูเครนในเวลากลางคืน
- ประเทศนี้เป็นหนึ่งในพันธมิตรไม่กี่รายที่จัดหาระบบป้องกันภัยทางอากาศแพทริออตให้กับยูเครน นอกเหนือไปจากรายการอุปกรณ์ลับส่วนใหญ่ที่รายงานว่ารวมถึงระบบจรวดหลายลำกล้อง APRA-40 หรือยานเกราะ TAB-71
- นักบินยูเครนกำลังเรียนรู้การบินเครื่องบินรบ F-16 ที่ศูนย์ฝึกอบรมของพันธมิตรในฐานทัพอากาศ Fetesti ทางตะวันออกเฉียงใต้ของโรมาเนีย ขณะที่ฐานทัพอีกแห่งมีกำหนดจะเป็นสถานที่ฝึกอบรมสำหรับนาวิกโยธินยูเครน

- ในฐานะเพื่อนบ้านของยูเครน โรมาเนียจึงมีความสำคัญต่อการขนส่งสินค้าเกษตรของยูเครนที่มุ่งหน้าสู่ตลาดโลก ท่ามกลางความพยายามของรัสเซียในการปิดกั้นเส้นทางการค้าในทะเลดำ
- แม้ว่าความสำคัญของเส้นทางโรมาเนียจะลดลงเนื่องจากยูเครนเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่ แต่ท่าเรือคอนสแตนตาของโรมาเนียยังคงคิดเป็นสัดส่วนหนึ่งในสี่ของการส่งออกเกษตรของยูเครนจนถึงปลายปี 2024
- ในฐานะส่วนหนึ่งของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประเทศที่ถูกปิดล้อม โรมาเนียได้ให้การต้อนรับผู้ลี้ภัยมากกว่า 170,000 คนและสนับสนุนความพยายามในการกำจัดทุ่นระเบิดระหว่างประเทศ
- บูคาเรสต์ยังเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลเคียฟและการเข้าร่วมนาโตและสหภาพยุโรปบนเวทีระหว่างประเทศอีกด้วย ความร่วมมือระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้านได้แข็งแกร่งขึ้นด้วยสนธิสัญญาความมั่นคงระยะเวลา 10 ปีที่ลงนามเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2024

ความสำคัญของโรมาเนียต่อยุทธศาสตร์การต่อต้านรัสเซียของสหรัฐฯและพันธมิตร
- โรมาเนียซึ่งเคยเป็นสมาชิกของสนธิสัญญาวอร์ซอ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของปีกตะวันออกของ NATO และยืนหยัดอยู่แนวหน้าในการพยายามคุกคามรัสเซียของกลุ่มประเทศสมาชิก
- ชายฝั่งทะเลดำของโรมาเนียทำให้โรมาเนียเป็นเส้นทางที่สะดวกสำหรับการขนส่งอาวุธไปยังเคียฟ
- โครงสร้างพื้นฐานทางทหารของ NATO ในโรมาเนียทำหน้าที่เป็นฐานในการยิงโดรน เช่น MQ-9 Reaper เพื่อสอดส่องกิจกรรมของรัสเซียจากน่านฟ้าเป็นกลางเหนือทะเลดำ และอาจช่วยประสานงานการโจมตีของยูเครนต่อดินแดนของรัสเซียได้
- สถานะของโรมาเนียในฐานะประเทศในทะเลดำช่วยให้ NATO สามารถพิสูจน์การมีฐานทัพเรือในส่วนนั้นของโลกได้
- ชายแดนระหว่างโรมาเนียกับมอลโดวาทำให้ NATO สามารถคุกคามทรานส์นีสเตรีย ซึ่งเป็นดินแดนแยกตัวของมอลโดวาที่อยู่ระหว่างมอลโดวาและยูเครน โดยมีกองกำลังรักษาสันติภาพของรัสเซียประจำการอยู่
- ฐานทัพอากาศ Mihail Kogalniceanu ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับคอนสแตนตากำลังขยายตัวและคาดว่าจะกลายเป็นฐานทัพทหารที่ใหญ่ที่สุดของ NATO ในยุโรป การขยายตัวนี้ส่งผลให้โรมาเนียกลายเป็น 'เรือบรรทุกเครื่องบินที่ไม่มีวันจม' ที่อยู่หน้าประตูบ้านของรัสเซีย
- ฐานทัพทหาร Deveselu ใกล้กับคาราคัลเป็นที่ตั้งของระบบป้องกันขีปนาวุธพิสัยไกล Aegis Ashore ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจใช้เครื่องยิง Mk 41 เพื่อยิงขีปนาวุธ (เช่น ขีปนาวุธร่อน Tomahawk) ใส่รัสเซีย

หากนายคาลิน จอร์เจสคู ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นครั้งที่สอง ‘เขาจะมีความชอบธรรมในสายตาประชาชนในฐานะประธานาธิบดี’ ซึ่งระบบการเมืองของโรมาเนียเปิดโอกาสให้ประธานาธิบดีสามารถหยุดยั้งแนวทางที่สนับสนุนยูเครนของประเทศได้ โดยประมุขแห่งรัฐของโรมาเนียเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ของกองทัพ เป็นประธานสภากลาโหม และเป็นตัวแทนของประเทศในระดับนานาชาติ รวมถึงในสภายุโรปและการประชุมสุดยอดนาโตด้วย ซึ่งหากนายคาลิน จอร์เจสคูได้รับเลือกโอกาสที่โรมาเนียจะหยุดให้การสนับสนุนยูเครนก็จะเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐฯและพันธมิตรยอมไม่ได้เห็นได้จากการที่เขาหาเสียงด้วยการออกมาพูดต่อต้านความช่วยเหลือทางทหารสำหรับเคียฟและโจมตีฐานทัพนาโตในประเทศว่าเป็น ‘แหล่งน่าละอาย’ ของชาติ 

ซึ่งบทสรุปอนาคตของโรมาเนียชาวโรมาเนียต้องเป็นผู้ตัดสินใจ ว่าโรมาเนียจะพอกับการให้การสนับสนุนสงครามในยูเครนต่อไปหรือไม่ ซึ่งเราต้องติดตามผลการลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีของโรมาเนียที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 ธันวาคม 2024 นี้อย่างใกล้ชิด

เปิดปมปลิดชีพ 'อิกอร์ คิริลลอฟ' นายพลรัสเซีย ผู้แฉตะวันตกหนุนยูเครนใช้อาวุธชีวภาพ

(19 ธ.ค. 67) เป็นข่าวน่าสนใจอีกครั้งในรัสเซียเมื่อพลโทอิกอร์ คิริลลอฟ (генерал-лейтенант Игорь Кириллов) หัวหน้ากองกำลังป้องกันรังสี เคมี และชีวภาพ (РХБЗ) ของกองทัพรัสเซีย พร้อมด้วยนายอิลยา โปลิการ์ปอฟ (Илья Поликарпов) ลูกน้องคนสนิทถูกลอบสังหารจากเหตุระเบิดในเช้าวันที่ 17 ธันวาคม 2024 ที่ผ่านมาด้วยระเบิดในเขตของอาคารที่พักอาศัยบริเวณถนนเรียซานสกี้ โพรสเปคทางตะวันออกเฉียงใต้ของมอสโก โดยอุปกรณ์ระเบิดถูกติดตั้งไว้ในสกู๊ตเตอร์ที่จอดอยู่บริเวณทางเข้าอพาร์ทเมนท์แห่งหนึ่ง โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นเวลาประมาณ 6 นาฬิกา พลังของอุปกรณ์ระเบิดแบบทำเองนั้นมีพลังของ TNT ประมาณ 300 กรัม เป็นไปได้มากว่าระเบิดดังกล่าวจะเปิดใช้งานด้วยสัญญาณวิทยุหรือการโทรจากโทรศัพท์มือถือ การสืบสวนของทางการรัสเซียสงสัยว่าหน่วยข่าวกรองหลักของกระทรวงกลาโหมหรือหน่วยรักษาความปลอดภัยของยูเครนเป็นผู้จัดวางระเบิด หลายคนถามว่าทำไมพลโทอิกอร์ คิริลลอฟ จึงเป็นเป้าหมายการลอบสังหารของทางหน่วยรักษาความปลอดภัยของประเทศยูเครน ผมพิจารณาแล้วพบว่าเหตุผลการลอบสังหารพลโทอิกอร์ คิริลลอฟมีเหตุผลสำคัญ 2 เหตุผลดังนี้

1) พลโทอิกอร์ คิริลลอฟ เป็นนายทหารชั้นสูงของรัสเซียที่เกี่ยวข้องกับสงครามรัสเซีย – ยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อาวุธทำลายล้างสูง จากประวัติพลโทอิกอร์ คิริลลอฟ เกิดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 1970 ในเมืองโคสโตรม (Kostroma) ซึ่งเขาได้รับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่นั่น เขารับราชการในกองทัพสหภาพโซเวียตตั้งแต่ปี 1987 ในปี 1991 เขาสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกองบัญชาการทหารระดับสูงด้านการป้องกันสารเคมีในโคสโตรมา ตั้งแต่ปี 1991 เขารับราชการในเยอรมนีในกลุ่มกองกำลังตะวันตก หลังจากกลับจากเยอรมนีในปี 1994 เขาก็รับราชการในเขตทหารมอสโก คิริลลอฟเริ่มรับราชการในกองกำลังป้องกันรังสี เคมี และชีวภาพ (РХБЗ) ในปี 1995 โดยเริ่มจากผู้บังคับหมวด ในปี 2007 เขาจบการศึกษาจากสถาบันการทหารป้องกันรังสี เคมี และชีวภาพ ตั้งชื่อตามจอมพลทิโมเชนโก ในปี 2014 เขาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าสถาบันการศึกษาแห่งนี้ และในปี 2017 ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้ากองกำลังฯ ทำให้เขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการใช้อาวุธรังสี เคมี และชีวภาพคนสำคัญของทางรัสเซีย

โดยกองกำลังป้องกันรังสี เคมี และชีวภาพ (РХБЗ) เป็นกองกำลังพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องประชากรทหารและพลเรือนจากการปนเปื้อนของรังสี สารเคมี หรือชีวภาพ ผลที่ตามมาของการใช้อาวุธทำลายล้างสูง และภัยคุกคามอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังภาคพื้นดิน ภารกิจหลักของกองกำลังป้องกันรังสี เคมี และชีวภาพ มีอยู่ด้วยกัน 4 ภารกิจ ได้แก่ การประเมินสถานการณ์ทางรังสี เคมี และชีวภาพ ตลอดจนขนาดและผลที่ตามมาของการทำลายรังสี วัตถุอันตรายทางเคมี และชีวภาพ การป้องกันการผลกระทบของอาวุธทำลายล้างสูง การทำความสะอาดผลที่ตามมาจากอุบัติเหตุที่โรงงานรังสีเคมีและชีวภาพที่เป็นอันตราย การสร้างความเสียหายแก่ศัตรูโดยใช้เครื่องพ่นไฟและเพลิงไหม้ กองกำลังป้องกันรังสี เคมี และชีวภาพ เป็นกองกำลังที่มีวัตถุประสงค์สองวัตถุประสงค์ 1) พวกเขาสามารถแก้ไขปัญหาทางทหารและ 2) มีส่วนร่วมในการกำจัดผลที่ตามมาจากอุบัติเหตุและภัยพิบัติในยามสงบ กองกำลังนี้มีบทบาทสำคัญเข้าร่วมในการทำความสะอาดผลที่ตามมาจากอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล และหลังจากการระบาดใหญ่กองกำลังป้องกันรังสี เคมี และชีวภาพ มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการต่อสู้กับการแพร่กระจายของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเขามีส่วนร่วมในการฆ่าเชื้อในศูนย์การแพทย์ต่าง ๆ ของรัสเซีย 2) พลโทอิกอร์ คิริลลอฟเป็นผู้เปิดเผยแผนการใช้อาวุธเคมีและชีวภาพของสหรัฐฯ และยูเครนต่อชาวโลก โดยพบว่าหลังจากสงครามเต็มรูปแบบปะทุขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 พลโทอิกอร์ คิริลลอฟเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการออกมาเปิดโปงและกล่าวหาสหรัฐฯ และยูเครนว่าใช้อาวุธชีวภาพที่สร้างขึ้นในห้องปฏิบัติการชีวภาพบางแห่งในเคียฟ 

ในเดือนมีนาคม 2022 เขากล่าวหาสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรว่าพยายามสร้าง "สารชีวภาพที่สามารถเลือกแพร่เชื้อไปยังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ" โดยเฉพาะชาวสลาฟ และย้อนกลับไปในปี 2021 กระทรวงกลาโหมยูเครนได้มีคำสั่งให้นักวิทยาศาสตร์ชาวยูเครนรวบรวมเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคสูง ซึ่งสามารถข้ามกำแพงสายพันธุ์ได้ ทำให้เกิดการระบาดของไข้หวัดนกและการตายของนกจำนวนมากในภูมิภาค Kherson สิ่งนี้ทำให้เกิดความกังวลในหมู่กระทรวงกลาโหมรัสเซียเกี่ยวกับอุบัติการณ์ของโรคไข้หวัดนกที่เพิ่มขึ้นในรัสเซีย และในการบรรยายสรุปครั้งแรกซึ่งจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2022 พลโทอิกอร์ คิริลลอฟได้กล่าวหาสหรัฐอเมริกาว่ากำลังพัฒนาโครงการชีววิทยาการทหารในดินแดนของยูเครนโดยกำลังศึกษาไวรัสที่สามารถแพร่เชื้อโดยยุงที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ไข้ซิกาและไข้เหลือง ตามข้อมูลของพลโทอิกอร์ คิริลลอฟ กล่าวว่าสหรัฐฯ วางแผนที่จะใช้โดรนเพื่อส่งยุงที่ติดเชื้อไปยังพื้นที่ที่ต้องการและปล่อยยุงออกจากภาชนะเพื่อแพร่เชื้อให้กับกองทัพรัสเซีย ในเดือนสิงหาคม 2023 พลโทอิกอร์ คิริลลอฟ ได้ออกมากล่าวหาสหรัฐฯ ว่าได้สร้าง "แผนกเตรียมรับมือกับการแพร่ระบาด" และกำลังเตรียมการแพร่ระบาดใหญ่ครั้งใหม่ "ด้วยการกลายพันธุ์ของไวรัส" ในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน คิริลลอฟระบุว่าพบเอกสารใหม่ในห้องทดลองของยูเครนในเมือง Rubezhnoye, Severodonetsk และ Kherson ที่ "บ่งบอกถึงลักษณะที่เป็นอันตรายของกิจกรรมทางชีวภาพของเพนตากอน" และยืนยันว่าพนักงานของเขตสงวนชีวมณฑลยูเครนกำลังศึกษาสายพันธุ์ของไข้หวัดนกอยู่ 

นอกจากนี้พลโทอิกอร์ คิริลลอฟยังกล่าวหาว่ายูเครนมีความตั้งใจที่จะสร้าง "Dirty Bomb" และรับรองว่าเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้วสามารถนำมาใช้สำหรับสิ่งนี้ได้ ซึ่งถูกกล่าวหาว่านำเข้าจากยุโรปมาในประเทศเพื่อกำจัด และโครงการนี้ได้รับการดูแลเป็นการส่วนตัวโดยนายอังเดร เออร์มัค (Андрей Ермак) หัวหน้าสำนักงานประธานาธิบดีแห่งยูเครน แหล่งข่าวภายในกระทรวงกลาโหมฯ ของรัสเซียยังระบุว่าในวันที่เกิดการฆาตกรรมพลโทอิกอร์ คิริลลอฟจะจัดให้มีการบรรยายสรุปอีกครั้งแต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นหัวข้อใด

ในเดือนตุลาคม 2024 คิริลลอฟกล่าวหากองทัพยูเครนว่าใช้อาวุธเคมีของตะวันตกในเมือง Sudzha ภูมิภาคเคิร์สต์ ส่งผลให้ทหารรัสเซียมากกว่า 20 นายได้รับบาดเจ็บ “สาเหตุของการบาดเจ็บต่อบุคลากรคือการเข้าไปในร่างกายผ่านทางทางเดินหายใจของละอองลอยที่มีคลอรีนจำนวนมาก รวมถึงสารพิษที่ทำให้หายใจไม่ออก” หนึ่งวันก่อนการลอบสังหารหน่วยรักษาความปลอดภัยของประเทศยูเครน (SBU) ได้ออกมาตั้งข้อหานายพลอิกอร์ คิริลลอฟของรัสเซียว่าเป็นผู้ "สั่งการใช้อาวุธเคมี" จำนวนมหาศาลต่อกองทัพยูเครนและอ้างว่าข้อเท็จจริงของการใช้อาวุธดังกล่าวได้รับการยืนยันจากห้องปฏิบัติการอิสระสองแห่งขององค์กรเพื่อการห้ามใช้อาวุธเคมี (OPCW) นายพลคิริลลอฟยังถูกสงสัยในการกระทำผิดทางอาญาเกี่ยวกับอาชญากรรมสงคราม แหล่งข่าวทางตะวันตกและยูเครนหลายสำนัก เช่น “Ukrainian Pravda”, “BBC Russian Service” และ Reuters กล่าวว่าการสังหารคิริลลอฟเป็นปฏิบัติการพิเศษของ SBU “คิริลลอฟเป็นอาชญากรสงครามและเป็นเป้าหมายที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเขาสั่งให้ใช้อาวุธเคมีต้องห้ามกับกองทัพยูเครน” ทำให้พลโทอิกอร์ คิริลลอฟยังได้ถูกมาตรการคว่ำบาตรจากทางยูเครนและสหราชอาณาจักร แต่สหรัฐอเมริกาไม่ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อพลโทอิกอร์ คิริลลอฟ นายมิคาอิล โปโดลยัคที่ปรึกษาหัวหน้าสำนักงานประธานาธิบดีแห่งยูเครน ออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว โดยกล่าวว่ายูเครนมุ่งเน้นการทำงานในทิศทางทางกฎหมาย และยังกล่าวว่ายูเครนไม่ได้ใช้ “วิธีการก่อการร้าย” “การตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือนายพลนั้นจะเกิดขึ้นในสนามรบ ไม่ใช่ที่อื่น” เขาเชื่อว่า "ความขัดแย้งที่สะสมภายใน" นำไปสู่การฆาตกรรมของนายพลคิริลลอฟ 

นายแมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่าสหรัฐฯ ไม่ทราบเกี่ยวกับการลอบสังหารนายพลคิริลลอฟที่กำลังจะเกิดขึ้น “ผมไม่มีข้อมูลการระเบิดครั้งนี้ ผมสามารถพูดได้ว่าสหรัฐฯ ไม่ได้ทราบเรื่องนี้ล่วงหน้าและไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง” เมื่อถูกถามว่าคิริลลอฟเป็นเป้าหมายที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ นายแมทธิว มิลเลอร์ ตอบว่านายพลรายนี้เกี่ยวข้องกับ “ความโหดร้ายหลายประการ” รวมถึงการใช้อาวุธเคมีต่อกองทัพยูเครน มาเรีย ซาคาโรวาโฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ให้ความเห็นว่า “พลโท อิกอร์ คิริลลอฟเปิดเผยอาชญากรรมของแองโกล – แอกซอนอย่างเป็นระบบเป็นเวลาหลายปีและมีข้อเท็จจริงต่าง ๆ อยู่ในมือ เขาทำงานเพื่อมาตุภูมิ เพื่อความจริงอย่างไม่เกรงกลัวต่อการยั่วยุของ NATO ด้วยอาวุธเคมีในซีเรีย การจัดการกับสารเคมีต้องห้ามของอังกฤษ และการยั่วยุในซอลส์บรีและเอมส์เบอรี กิจกรรมที่อันตรายถึงชีวิตในห้องปฏิบัติการทางชีววิทยาของอเมริกาในยูเครน และอื่นๆ อีกมากมาย เขาเปิดหน้าชก ไม่ได้ซ่อนอยู่หลังคนอื่น...” รองประธานสภาความมั่นคงรัสเซีย ดมิทรี เมดเวเดฟ กล่าวว่า “การโจมตีของผู้ก่อการร้ายครั้งนี้เป็นความเจ็บปวดของระบอบการปกครองบันเดรา ด้วยความแข็งแกร่งสุดท้ายของเขาเขาพยายามที่จะพิสูจน์การดำรงอยู่อันไร้ค่าของเขาต่อชาวตะวันตเพื่อยืดเวลาสงครามและความตาย เพื่อพิสูจน์สถานการณ์หายนะในแนวหน้า เมื่อเขาตระหนักถึงความพ่ายแพ้ทางทหารของเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เขาจึงโจมตีเมืองที่สงบสุขอย่างขี้ขลาดและเลวทราม” นายเวียเชสลาฟ โวโลดิน ประธานสภาดูมา กล่าวว่า “ เรารู้จัก พลโทอิกอร์ คิริลลอฟ เป็นอย่างดีจากการทำงานร่วมกันของเราในระหว่างการสอบสวนของรัฐสภาในห้องปฏิบัติการทางชีววิทยาของยูเครน หลังจากงานเสร็จสิ้น ปฏิสัมพันธ์ยังคงดำเนินต่อไปภายในกรอบการทำงานของคณะทำงานดูมาเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพ อิกอร์ อนาโตลีเยวิชซึ่งเป็นทหารอาชีพ ผู้รอบรู้ ผู้รักชาติรัสเซียได้ทำอะไรมากมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกองทหารป้องกันรังสี เคมี และชีวภาพ เพื่อให้มั่นใจในความมั่นคงและอธิปไตยของประเทศของเรา” นายอันเดรย์ คาร์ตาโปลอฟ หัวหน้าคณะกรรมาธิการกลาโหมดูมาแห่งรัฐกล่าวว่า “ผู้จัดให้มีการก่อการร้ายและผู้กระทำความผิดจะถูกพบและลงโทษ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใครและอยู่ที่ไหนก็ตาม”

นายอเล็กซานเดอร์ โซโคลอฟผู้ว่าการภูมิภาคคิรอฟ กล่าวว่า“เราเป็นเพื่อนบ้านในโคสโตรมามาเป็นเวลานาน อิกอร์เป็นเจ้าหน้าที่ที่ซื่อสัตย์และเหมาะสมมาโดยตลอด ผมยังจำวันที่เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ากองกำลังป้องกันรังสี เคมี และชีวภาพของกองทัพรัสเซีย หน่วยของเขาได้ทำอะไรมากมายเพื่อต่อสู้กับไวรัสโคโรนา เขาอยู่ในที่ที่มาตุภูมิต้องการเขาเสมอ เขาเปิดเผยการปฏิบัติงานของสายลับพิเศษต่างประเทศในซีเรียและยูเครน” นับตั้งแต่เริ่มสงครามมีการระเบิดหลายครั้งในรัสเซียโดยมีเป้าหมายคือบุคลากรทางทหารหรือบุคคลสาธารณะที่สนับสนุนสงคราม เช่นในเดือนเมษายน ปี 2023 แม็กซิม โฟมิน “นักข่าวทหาร” หรือที่รู้จักในชื่อวลาดเลน ทาทาร์สกี ถูกสังหารในเหตุระเบิดในร้านกาแฟแห่งหนึ่งในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กโดยดาเรีย เตรโปวาผู้อาศัยในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กถูกกล่าวหาว่าฆาตกรรมซึ่งตามการสืบสวนเขาได้ปฏิบัติตามคำสั่งของหน่วยบริการพิเศษของยูเครน ในเดือนกรกฎาคม 2024 รถยนต์คันหนึ่งเกิดระเบิดในมอสโกทำให้นายอังเดร ทอร์กาชอฟ เจ้าหน้าที่เสนาธิการกองทัพรัสเซียได้รับบาดเจ็บ ในเดือนพฤศจิกายน 2022 การระเบิดของรถ SUV ในโดเนตสค์ได้คร่าชีวิตนายเซอร์เกย์ เอฟซูคอฟ (Sergei Evsyukov) อดีตหัวหน้าเรือนจำโอเลฟนิกา ในสาธารณรัฐประชาชนโดเนสต์ที่ประกาศตัวเองเป็นเอกราช และกรณีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดกรณีหนึ่งคือการเสียชีวิตของนางดาเรีย ดูกินาลูกสาวของนายอเล็กซานเดอร์ ดูกิน นักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์ทางการเมือง ในเดือนสิงหาคม 2022 จากเหตุระเบิดในรถยนต์โดยเคียฟปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมดูจินาและเหตุระเบิดอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน เราต้องจับตาดูว่าทางรัสเซียจะตอบโต้การเสียชีวิตของ67

กุญแจสู่พลังอำนาจและความมั่งคั่งในอนาคต ประเทศไหนครองแร่แรร์เอิร์ธมากที่สุด คือผู้กุมชะตาโลก

(14 ม.ค. 68) ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.กฤษฎา พรหมเวค คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลและธุรกิจพลังงานสะอาดกำลังขับเคลื่อนโลก แร่ชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Rare Earth “แรร์เอิร์ธ” ได้กลายเป็นทรัพยากรล้ำค่า ประเทศใดที่ได้ครอบครองแร่แรร์เอิร์ธมากที่สุด ย่อมหมายถึงการเข้าใกล้กุญแจสำคัญสู่อำนาจ และความมั่งคั่งของโลกอนาคต

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับแร่แรร์เอิร์ธ ก่อน แร่แรร์เอิร์ธ หรือชื่อเต็มคือ (Rare-Earth Element – REE) ภาษารัสเซียเรียกว่า Редкоземельные металлы (РЗМ) เป็นสินแร่ชนิดโลหะธาตุ เรียกว่า กลุ่มธาตุแลนทาไนด์ (Lanthanide) ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายโลหะแต่ไม่ได้เอามาผลิตเป็นโลหะโดยตรง ที่เรียกว่าเป็นแร่หายากไม่ได้เป็นเพราะว่าแร่เหล่านี้มีน้อยแต่เป็นเพราะสินแร่เหล่านี้ที่พบในบริเวณเปลือกโลกมักจะไม่รวมกลุ่มอยู่ในที่เดียวกัน การสกัดแร่ชนิดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายทำให้ยากต่อการสร้างเหมืองเพื่อขุดเจาะทำเหมืองแร่ชนิดนี้ แร่แรร์เอิร์ธเหล่านี้มีจำนวน 17 ชนิดได้แก่ แลนทานัม ซีเรียม ปราซีโอดีเมียม ยูโรเพียม แกโดลิเนียม เทอร์เบียม ดิสโพรเซียม โฮลเมียม เออร์เบียม ทูเลียม อิตเทอร์เบียม  ลูเทเทียม สแกนเดียม อิตเทียม นีโอไดเมียม ซาแมเรียม โพรมีเทียม โดยวิธีการถลุงแร่แรร์เอิร์ธแบบคร่าวๆ คือต้องถลุงและสกัดเอาสารบริสุทธิ์จากแร่เพื่อให้ได้สิ่งที่เรียกว่า “ออกไซด์ของโลหะ” ก่อนที่จะเอาออกไซด์มาบดเป็นผงและแยกออกมาเป็นชนิดต่างๆ กัน แล้วนำไปจำหน่ายในอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ แร่หายากเหล่านี้ถูกนำไปใช้ผลิตสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวันมากมายตั้งแต่อาวุธยุทโธปกรณ์ อุปกรณ์ทางทหาร อุปกรณ์สื่อสาร เช่นโทรศัพท์มือถือ ยานพาหนะไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ โดยแร่แรร์เอิร์ธที่สำคัญได้แก่

– โพรมีเทียม ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่พลังงานนิวเคลียร์
– แลนทานัม ใช้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และกล้องถ่ายภาพ เช่น กระจกเลนส์ ไฟถ่ายภาพยนตร์
– อิตเทียม ใช้ในการผลิตหลอดภาพของทีวีสี เตาไมโครเวฟ
– นีโอไดเมียม ใช้ในการผลิตแม่เหล็กที่ใช้ในการผลิตลำโพงและฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์
– ปราซีโอดีเมียม ใช้ในการผลิตใยแก้วนำแสงและเครื่องยนต์ของเครื่องบิน

ราคาของโลหะหายากมีความแตกต่างกันอย่างมากเนื่องจากโลหะเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน ตามข้อมูลของตลาดโลหะเซี่ยงไฮ้ REE ที่ถูกที่สุดในปัจจุบันคือแลนทานัมซึ่งใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาต่างๆ สำหรับการแตกตัวของน้ำมันในฟอสเฟอร์และเป็นส่วนประกอบของโลหะผสมที่ทนต่อการกัดกร่อนและทนความร้อน รวมทั้งซีเรียมซึ่งใช้ในการผลิตแหล่งกำเนิดแสง ตัวเร่งปฏิกิริยา วัสดุทนไฟ เทอร์โมอิเล็กทริก และวัสดุขัดถู ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 25,000 หยวน (ประมาณ 3,400 เหรียญสหรัฐ) ต่อตัน โดยโลหะหายากที่มีราคาแพงที่สุดคือสแกนเดียม โดยโลหะผสมอะลูมิเนียม-สแกนเดียมเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ สารประกอบสแกนเดียมยังใช้ในการผลิตเลเซอร์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแมกนีโตไฮโดรไดนามิกสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แบตเตอรี่พลังงานแสงอาทิตย์ และกระจกเอกซเรย์ ราคาขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์โดยตกอยู่ที่ 26,500 – 33,500 หยวน (3,600 – 4,600 เหรียญสหรัฐ) ต่อกิโลกรัม ที่ผ่านมาจีนเป็นผู้ผลิตและส่งออกแร่แรร์เอิร์ธรายใหญ่ที่สุดของโลกคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของการผลิตทั้งหมดทั่วโลกรวมถึงเป็นซัพพายเออร์รายใหญ่ของโลกด้วย อย่างไรก็ตามความตึงเครียดระหว่าง 2 ขั้วอำนาจโลก สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินมาอย่างยืดเยื้อ หลายมาตรการที่ทั้งสองประเทศนำมาใช้ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกำแพงภาษีการนำเข้าจากทั้งสองประเทศ การที่สหรัฐอเมริกาสั่งห้ามการใช้งานอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีและการสื่อสารจากบริษัทที่ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าหมายถึงบริษัทเทคโนโลยีการสื่อสารจากประเทศจีน

รวมถึงการกลับมาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในปีนี้มีแนวโน้มจะทำให้สงครามการค้ารุนแรงขึ้น โดยจีนส่งสัญญาณออกมาให้เห็นเป็นระยะที่จะจำกัดการส่งออกแร่โลหะหายากไปยังสหรัฐฯ ซึ่งหากจีนจำกัดการส่งออกแร่โลหะหายากให้สหรัฐฯ จริงก็อาจจะส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมสำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ล้วนต้องพึ่งพาแร่โลหะหายากทั้งสิ้น การผูกขาดของจีนก็เริ่มสร้างความกังวลให้กับประเทศอื่นๆ รวมถึงรัสเซียด้วย ทำให้รัสเซียต้องหาทางออกในการผลิตแร่แรร์เอิร์ธของตนเองเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว

จากสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์โลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามรัสเซียน – ยูเครนซึ่งอาจขยายตัวไปเป็นสงครามระหว่างรัสเซียกับนาโตในอนาคต รัสเซียมีความต้องการแร่ธาตุหายากสำหรับอุตสาหกรรมนิวเคลียร์และภาคการป้องกันประเทศ อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ (ซึ่งบริโภคแลนทานัม อิตเทรียม และแร่ธาตุอื่นๆ ไป 830 ตันในปี 2023) พลังงานหมุนเวียน (200 ตัน) อุตสาหกรรมแก้วและอุปกรณ์ออปติก (100 ตัน) และอิเล็กทรอนิกส์ (100 ตัน)

ท่ามกลางการแข่งขันด้านแร่ธาตุเทคโนโลยีเชิงยุทธศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น หากพิจารณาจากทรัพยากรแล้วรัสเซียมีธาตุต่าง ๆ ตามตารางธาตุครบสมบูรณ์ รัสเซียมีฐานวัตถุดิบแร่ธาตุหายากที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แม้ว่าจะไม่มีการประมาณการปริมาณที่แน่นอนก็ตาม ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2017 รัสเซียมีสำรอง REE อยู่ 26.9 ล้านตัน (โดยคำนึงถึงไตรออกไซด์ของโลหะหายากด้วย) ซึ่งทำให้ประเทศนี้ครองอันดับสองของโลก รองจากจีนเท่านั้น ในปี 2024 หน่วยงานจัดการทรัพยากรใต้ดินของรัฐบาลกลางรัสเซีย 

Федеральное агентство по недропользованию (Роснедра) หรือ Rosnedra ประมาณการว่ารัสเซียมีแร่ธาตุหายากมากถึง 28.7 ล้านตัน รวมถึงแหล่งแร่สำคัญ 18 แห่ง เป็นรองเพียงจีนที่มีมากถึง 44 ล้านตันและคิดเป็นมากกว่า 20% ของปริมาณสำรอง 130 ล้านตันของโลก และมีแนวโน้มว่าแหล่งสำรองแร่ธาตุหายากของรัสเซียจะถูกค้นพบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ไซบีเรียที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ และสำนักงานธรณีวิทยาแห่งรัฐก็ค้นพบแหล่งแร่ธาตุเชิงยุทธศาสตร์แห่งใหม่หลายสิบแห่งทุกปี ในสมัยสหภาพโซเวียตรัสเซียมีอุตสาหกรรมแร่ธาตุหายากที่ทรงพลังโดยมีเหมืองแร่และโรงงานต่างๆ ตั้งอยู่ในสาธารณรัฐต่างๆ เช่น ในเอสโตเนีย คีร์กีซสถาน และคาซัคสถาน หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตความสัมพันธ์ความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ ก็ล่มสลายอย่างรวดเร็ว โรงงานในคาซัคสถานหยุดทำงานแต่โรงงานในเอสโตเนียยังคงผลิตออกไซด์ของ REE ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้มีชื่อว่า NPM Silmet และกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม Canadian Neo Performance Materials และมีกำลังการผลิตแร่ธาตุหายาก 3,200 ตัน 

ในความเป็นจริงปัจจุบันในรัสเซียมีเพียงโรงงานขุดและแปรรูป Lovozero (Ловозерский ГОК) ในภูมิภาคมูร์มันสค์ (Murmansk) และโรงงานแมกนีเซียม Solikamski (SMZ) Соликамский магниевый завод (СМЗ) ในภูมิภาคเปอร์ม (Perm) เท่านั้นที่ยังคงความยิ่งใหญ่เช่นเดิม โดยโรงงานทำเหมืองและแปรรูป Lovozero สกัดแร่จากแหล่งแร่ Lovozero และเสริมสมรรถนะจนผลิตสิ่งที่เรียกว่าแร่เข้มข้นโลปาไรต์ ปริมาณออกไซด์ของธาตุหายากในแร่ที่แหล่งแร่มีการประเมินไว้ที่ 2.6 ล้านตัน กำลังการผลิตของโรงงานขุดและแปรรูปอยู่ที่ประมาณ 8,000 ตันต่อปี แต่คาดว่าจะเพิ่มเป็น 10,000 – 12,000 ตัน รายได้ของ Lovozersky GOK LLC » ในปี 2023 มีจำนวน 2.5 พันล้านรูเบิล จากนั้นสารเข้มข้นของโลพาไรต์จะถูกส่งไปยัง SMZ ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ คาร์บอเนตของแลนทานัม นีโอดิเมียม ซีเรียม โพรมีเทียม แกโดลิเนียม และยูโรเพียม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 SMZ ผลิตคาร์บอเนตของโลหะหายากได้ 962 ตัน รายได้ของ JSC SZM ในปี 2022 มีจำนวน 13 พันล้านรูเบิล ในปี 2023 มีจำนวน 12.4 พันล้านรูเบิล

นอกจากนี้รัสเซียยังมีแหล่งแร่สำคัญอื่นๆ ที่มีแร่ธาตุหายากและมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ได้แก่ แหล่งแร่ Tomtorskoye ในสาธารณรัฐยาคูเทีย (Yakutia) ที่ค้นพบเมื่อปี 1977 ซึ่งมีออกไซด์ประมาณ 3.2 ล้านตัน แหล่งแร่ Kolmozerskoye ในภูมิภาคมูร์มันสค์ (Murmansk) ซึ่งค้นพบเมื่อทศวรรษ 1950 มีลิเธียมออกไซด์และแร่อื่นๆ มากถึง 844,000 ตัน แหล่งแร่อื่นๆ มีความเข้มข้นของแร่ธาตุหลัก ได้แก่ แหล่งแร่ Zashikhinskoye แหล่งก๊าซ Kovytka ที่รัสเซียยังไม่ได้แตะต้อง แหล่งน้ำมัน Yaraktinskoye ซึ่งทั้งหมดอยู่ในเมืองเอียร์คุตซ์ (Irkutsk) แหล่งลิเธียม Polmostundrovskoye ในเมืองมูร์มันสค์ แหล่ง Zavitinskoye ในภูมิภาคทรานส์ไบคาล (Transbaikal) แหล่งแร่ Tyrnyauz ในสาธารณรัฐคาบาร์ดิโน - บัลคาเรีย (Kabardino-Balkaria) แหล่งแร่ Kongor-Chrome ในเขตปกครองตนเองยามาเลีย (Yamalia) และแหล่งแร่ Saranovskoye ในเมือง (Perm) เป็นต้น

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมารัสเซียพยายามเข้าสู่ตลาด REE แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความสำเร็จ ปัจจุบันสัดส่วนการผลิตแร่ธาตุหายากของรัสเซียในโลกมีน้อยมาก คือ น้อยกว่า 1% ดังนั้นเพื่อกระตุ้นการผลิต ในปี 2020 มีการอนุมัติมาตรการลดหย่อนภาษีการทำเหมืองแร่หายากจาก 8% เหลือ 4.8%

‘โอเดสซา’ เป้าหมายสำคัญ!! ทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ส่งผลต่อพลังอำนาจ คุมเมืองนี้ได้!! หมายถึง การปิดล้อมยูเครน จากทะเลโดยสมบูรณ์

(7 เม.ย. 68) เมืองโอเดสซา (Odesa) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของยูเครนริมฝั่งทะเลดำ เป็นหนึ่งในเมืองยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน เนื่องจากบทบาททั้งทางเศรษฐกิจ การทหาร และประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า หากโอเดสซาถูกยึดครองโดยรัสเซีย ความมั่นคงของยูเครนและโครงสร้างพลังงาน-การค้าของยุโรปจะถูกเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง

เราสามารถเห็นตลอดสงครามที่ผ่านมาโอเดสซาเป็นเป้าหมายสำคัญของการการโจมตีของฝั่งรัสเซียมาโดยตลอด เมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่าโอเดสซามีความสำคัญ 5 ด้านด้วยกัน

1) โอเดสซาเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลและการค้าโลก
โอเดสซา (Odessa หรือ Odesa) ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลดำในตอนใต้ของยูเครน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลก ทำเลของโอเดสซาเอื้อให้เมืองนี้ทำหน้าที่เป็น “ประตู” สำคัญของยูเครนในการเชื่อมต่อกับภูมิภาคอื่นๆ ได้แก่ ยุโรปตอนใต้ (ผ่านช่องแคบบอสฟอรัส) ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (ผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียน) รวมถึงเครือรัฐเอกราช (CIS) และตลาดยูเรเซียน ในแง่นี้ โอเดสซาทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ และ จุดผ่านส่งออกสินค้าเกษตร พลังงาน และสินค้าอุตสาหกรรมของยูเครน โดยเฉพาะธัญพืช เช่น ข้าวโพดและข้าวสาลี ซึ่งยูเครนถือเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก

ท่าเรือโอเดสซา (Odesa Port) เป็นหนึ่งในท่าเรือเชิงพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดของทะเลดำ โดยมีโครงสร้างพื้นฐานครบครันทั้งสำหรับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ สินค้าเหลว สินค้าเทกอง และเรือโดยสารรองรับการขนส่งมากกว่า 40 ล้านตันต่อปี เป็นศูนย์กลางของเครือข่ายรางและถนนที่เชื่อมต่อกับยุโรปตะวันออก มีเขตปลอดภาษีและเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ เมื่อเทียบกับท่าเรืออื่น ๆ เช่น มิโคลาอีฟ(Mykolaiv) หรือ โครโนมอรสก์ Chornomorsk โอเดสซามีบทบาทสำคัญกว่าทั้งในแง่ของขนาด ความสามารถในการรองรับเรือขนาดใหญ่และการเป็นศูนย์ควบคุมด้านการค้า

โอเดสซาจึงเป็นท่าเรือใหญ่ที่สุดของยูเครนและมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจ เป็นท่าเรือส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด และน้ำมันพืช ไปยังตลาดโลก โดยเฉพาะในแอฟริกาและตะวันออกกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีบทบาทสำคัญใน "ข้อตกลงธัญพืช" (Black Sea Grain Initiative) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างยูเครน–ตุรกี–สหประชาชาติ–รัสเซีย เพื่อให้การส่งออกผ่านทะเลดำดำเนินต่อไปได้แม้ในช่วงสงคราม หากโอเดสซาถูกปิดล้อมหรือยึดโดยรัสเซียจะทำให้ระบบส่งออกของยูเครนล่มสลาย และตลาดอาหารโลกเกิดความปั่นป่วน แสดงให้เห็นว่าโอเดสซาไม่ได้มีความสำคัญเพียงสำหรับยูเครนหรือรัสเซียเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อ เสถียรภาพทางอาหารของโลกโดยตรงอีกด้วย

2) โอเดสซาเป็นจุดเชื่อมสำคัญของ NATO และตะวันตก
โอเดสซาอยู่ใกล้พรมแดนมอลโดวาและอยู่ไม่ไกลจากกลุ่มประเทศ NATO ในยุโรปตะวันออก เช่น โรมาเนียและบัลแกเรีย ดังนั้นโอเดสซาจึงมีบทบาทเป็นแนวหน้าในการต้านการขยายอิทธิพลของรัสเซียทางทะเล การควบคุมโอเดสซาจะทำให้รัสเซียสามารถคุกคามน่านน้ำของ NATO ได้มากขึ้น และอาจกลายเป็นจุดตัดเส้นทางการขนส่งยุทโธปกรณ์และความช่วยเหลือจากตะวันตกผ่านทะเลดำ

3) การเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ "Land Bridge" สู่ทรานส์นิสเตรีย
ทรานส์นีสเตรีย (หรือ “ПМР” – Приднестровская Молдавская Республика) เป็นดินแดนที่ประกาศเอกราชจากมอลโดวาในช่วงหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย และยังคงมีทหารรัสเซียประจำการอยู่ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 โดยไม่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ทรานส์นิสเตรียมีประชากรเชื้อสายรัสเซียและยูเครนจำนวนมาก มีรัฐบาลเฉพาะกิจและนโยบายที่ใกล้ชิดกับเครมลิน มีกองกำลังรัสเซียจำนวน1,500 นายประจำการในนาม “กองกำลังรักษาสันติภาพ” ดังนั้น ทรานส์นีสเตรียจึงเป็น “ด่านหน้าของรัสเซีย” ในยุโรปตะวันออก และอาจกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำหรับการขยายอิทธิพลไปยังมอลโดวาและคาบสมุทรบอลข่าน

ในบริบทของสงครามรัสเซีย–ยูเครน แนวคิด “Land Bridge” หมายถึงการสร้างแนวต่อเนื่องของพื้นที่ควบคุมทางบกของรัสเซียจากดอนบาส ผ่านแคว้นเคอร์ซอน–ซาปอริซเซีย–ไครเมีย และลงมาทางโอเดสซา จนไปถึง ทรานส์นีสเตรีย (Transnistria) — ดินแดนที่รัสเซียให้การสนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการในมอลโดวาตะวันออก หากรัสเซียสามารถควบคุมดินแดนนี้ได้ทั้งหมด จะทำให้เกิด “โค้งอิทธิพล” เชิงพื้นที่ที่เชื่อมรัสเซียกับดินแดนมอลโดวาตะวันออกโดยไม่ขาดตอน สามารถเสริมเส้นทางส่งกำลังทหาร/ข่าวกรอง/ทรัพยากร ระหว่างรัสเซีย–ไครเมีย–ทรานส์นีสเตรีย โดยไม่พึ่งทางอากาศหรือทะเลที่เสี่ยงต่อการถูกโจมตี ซึ่งถือเป็นชัยชนะเชิงภูมิรัฐศาสตร์สำคัญ สามารถเชื่อมอิทธิพลทางทหารจากทะเลดำเข้าสู่ยุโรปตะวันออกตอนล่างและปิดกั้นทางออกทะเลของยูเครนอย่างสมบูรณ์ นี่จึงเป็นหนึ่งใน “Grand Strategy” ของรัสเซีย ที่ไม่ได้หยุดแค่ดอนบาสหรือไครเมีย แต่ครอบคลุมถึงการสร้าง “แนวต่อเนื่องแห่งอิทธิพล” บนแผ่นดินยุโรปตะวันออก

ซึ่งเห็นได้ชัดจากคำกล่าวของ พลโทรุสตัม มินเนคาเยฟ (Rustam Minnekayev) รองผู้บัญชาการกองทัพภาคกลางของรัสเซีย ที่กล่าวต่อสาธารณะในปี 2022 ว่า “เป้าหมายประการหนึ่งของปฏิบัติการทางทหารพิเศษคือการสร้างการควบคุมอย่างเต็มรูปแบบเหนือพื้นที่ทางใต้ของยูเครน ซึ่งจะช่วยให้มีทางออกอื่นสำหรับทรานส์นีสเตรีย” แสดงให้เห็นว่า "Land Bridge" ไม่ใช่แนวคิดสมมุติ แต่เป็น เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่อยู่ในการพิจารณาของกองทัพรัสเซีย

4) ความหมายเชิงประวัติศาสตร์และสัญลักษณ์
โอเดสซาเป็นเมืองที่มีความสำคัญในสมัยจักรวรรดิรัสเซียและสหภาพโซเวียต มีประชากรรัสเซียจำนวนมากในอดีต แม้ว่ายูเครนจะเป็นรัฐอธิปไตยตั้งแต่ปี 1991 แต่โอเดสซายังคงมีประชากรจำนวนมากที่ใช้ภาษารัสเซียเป็นหลัก และมีประวัติของการสนับสนุนแนวคิดนิยมรัสเซียในบางช่วงเวลา หลังการปฏิวัติยูโรไมดานในปี 2014 และการผนวกไครเมียโดยรัสเซีย มีความตึงเครียดในโอเดสซาระหว่างกลุ่มสนับสนุนยูเครนกับกลุ่มนิยมรัสเซีย เช่นเหตุการณ์ไฟไหม้อาคารสหภาพแรงงานในเดือนพฤษภาคม 2014 ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 40 ราย เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่รัสเซียใช้เพื่อชี้ถึงการ “ปราบปรามชาวรัสเซีย” ในยูเครน

นอกจากนี้เป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม การค้า และการทหารที่เคยเป็นของจักรวรรดิรัสเซียตั้งแต่ศตวรรษที่ 18  โอเดสซาก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1794 โดยคำสั่งของจักรพรรดินีแคเธอรีนมหาราชา หลังจากรัสเซียได้ดินแดนจากอาณาจักรออตโตมันผ่านสงคราม ในช่วงศตวรรษที่ 19 เมืองนี้กลายเป็นท่าเรือสำคัญและเมืองพหุวัฒนธรรมภายใต้จักรวรรดิรัสเซีย มีบทบาทโดดเด่นในระบบเศรษฐกิจของจักรวรรดิและในเวลาต่อมาของสหภาพโซเวียต โดยมีประชากรพูดภาษารัสเซียจำนวนมาก สถาปัตยกรรม วรรณกรรม และชีวิตทางวัฒนธรรมของโอเดสซาสะท้อนอัตลักษณ์รัสเซียอย่างลึกซึ้ง โอเดสซายังเป็นบ้านของนักเขียนชื่อดัง เช่น อิสฮัก บาเบล (Isaac Babel) ซึ่งสะท้อนภาพเมืองในฐานะศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของรัสเซียทางตอนใต้

ดังนั้นโอเดสซาจึงเป็นเป้าหมายสำคัญใน “นโยบายรวมชาติชาวรัสเซีย” (русский мир) หรือ “Russian World” ของเครมลินซึ่งเป็นแนวคิดเชิงภูมิรัฐศาสตร์-วัฒนธรรมที่กลายมาเป็นรากฐานสำคัญของนโยบายต่างประเทศของรัสเซียภายใต้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 2000 เป็นต้นมา แนวคิดนี้เสนอว่ารัสเซียมีหน้าที่และสิทธิในการปกป้อง “โลกของชาวรัสเซีย” ซึ่งหมายถึงประชาชนเชื้อสายรัสเซีย ชาวสลาฟอีสเทิร์น-ออร์โธดอกซ์ และผู้ใช้ภาษารัสเซียในประเทศอื่น ๆ ของอดีตสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะในยูเครน เบลารุส คาซัคสถาน และประเทศในคอเคซัสและบอลติก ภายใต้นโยบาย (русский мир) โอเดสซาไม่ได้ถูกมองเพียงในมิติภูมิรัฐศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นการ “กู้คืน” เมืองประวัติศาสตร์ที่ถูก “แยก” ออกจากโลกของรัสเซียโดยความผิดพลาดของประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในมุมมองของผู้นำรัสเซียซึ่งเชื่อว่าการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเป็น “โศกนาฏกรรม” ทางภูมิรัฐศาสตร์ ในปี 2021 ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินได้เขียนบทความชื่อว่า “On the Historical Unity of Russians and Ukrainians” ซึ่งกล่าวถึงยูเครนว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “โลกเดียวกัน” กับรัสเซีย เมืองอย่างโอเดสซาจึงถูกตีความว่าเป็น “เมืองรัสเซียโดยธรรมชาติ” ที่ควรกลับคืนสู่โลกของรัสเซีย

5) สถานการณ์ทางทหารและการโจมตี
ตั้งแต่เริ่มสงครามในปี 2022 โอเดสซาเป็นเป้าหมายของขีปนาวุธจากรัสเซียซ้ำแล้วซ้ำเล่า โครงสร้างพื้นฐานพลังงานและท่าเรือถูกโจมตีหลายครั้งมีความพยายามในการใช้โดรนโจมตีท่าเรือและโกดังธัญพืชอย่างต่อเนื่องเป็นจุดที่ยูเครนพยายามตั้งระบบป้องกันทางอากาศอย่างเข้มข้น 

โดยเหตุการณ์การโจมตีที่สำคัญมีดังนี้

6 มีนาคม 2024: ขีปนาวุธของรัสเซียระเบิดใกล้กับสถานที่ที่ประธานาธิบดียูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี และนายกรัฐมนตรีกรีซ คีเรียกอส มิตโซตากิส กำลังประชุมกันในโอเดสซา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน

17 พฤศจิกายน 2024: รัสเซียเปิดฉากการโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2024 โดยยิงขีปนาวุธประมาณ 120 ลูกและโดรน 90 ลำ ไปยังเมืองต่าง ๆ ทั่วยูเครน รวมถึงโอเดสซา การโจมตีครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คนในโอเดสซา และตัดการจ่ายน้ำและไฟฟ้าในเมือง 

18 พฤศจิกายน 2024: ขีปนาวุธของรัสเซียโจมตีโอเดสซา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 คน และบาดเจ็บ 44 คน โดยผู้เสียชีวิตรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ 7 นาย เจ้าหน้าที่การแพทย์ 1 คน และพลเรือน 2 คน 

31 มกราคม 2025: รัสเซียยิงขีปนาวุธใส่ศูนย์กลางประวัติศาสตร์ของโอเดสซา ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลกของยูเนสโก ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 7 คน และสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่ออาคารประวัติศาสตร์ 

11 มีนาคม 2025: การโจมตีด้วยขีปนาวุธของรัสเซียทำให้เรือบรรทุกสินค้าธัญพืชในท่าเรือโอเดสซาได้รับความเสียหาย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน 

21 มีนาคม 2025: รัสเซียเปิดฉากการโจมตีด้วยโดรนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งต่อโอเดสซา ทำให้เกิดไฟไหม้ขนาดใหญ่และมีผู้บาดเจ็บ 3 คน
การโจมตีต่อเมืองนี้สะท้อนถึงความพยายามของรัสเซียในการควบคุมเส้นทางการค้าและตัดยูเครนออกจากการเข้าถึงทางทะเล

สรุป โอเดสซาไม่ได้เป็นเพียงเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจของยูเครนเท่านั้น แต่คือ "จุดยุทธศาสตร์" ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อโครงสร้างพลังอำนาจในทะเลดำและยูเรเซีย เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อทั้ง การทหาร เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมือง ในสงครามรัสเซีย–ยูเครน การควบคุมเมืองนี้จะทำให้รัสเซียได้เปรียบเชิงโครงสร้างทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ การยึดครองโอเดสซาอาจหมายถึงการปิดล้อมยูเครนจากทะเลโดยสมบูรณ์ และการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในสมดุลอำนาจระหว่างรัสเซียกับตะวันตก ขณะที่สำหรับยูเครน การรักษาโอเดสซาไว้ได้ คือการคงไว้ซึ่งเส้นทางสู่ทะเลดำและความอยู่รอดในระดับชาติ

การเจรจาข้อตกลงแร่ธาตุสำคัญ!! ระหว่าง ‘ยูเครน – สหรัฐอเมริกา’ ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงคราม และการปะทะเชิงภูมิรัฐศาสตร์

เมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 2025 ที่ผ่านมายูเครนและสหรัฐอเมริกาได้ประกาศความคืบหน้าในการเจรจาความร่วมมือด้านแร่ธาตุสำคัญ (critical minerals) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและส่งออกแร่เชิงยุทธศาสตร์ เช่น ลิเธียม, นิกเกิล, โคบอลต์, และกราไฟต์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในเทคโนโลยีแบตเตอรี่ พลังงานสะอาด และระบบอาวุธขั้นสูง การเจรจานี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนเชิงยุทธศาสตร์ในความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ ข้อตกลงดังกล่าวมิได้เป็นเพียงการลงทุนทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังแฝงนัยสำคัญด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความมั่นคง และการฟื้นฟูยูเครนหลังจากสงครามที่ดำเนินมายาวนานกับรัสเซีย ทำให้การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสหรัฐอเมริกาและยูเครนว่าด้วยความร่วมมือด้านแร่ธาตุได้กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากนานาชาติโดยเฉพาะจากฝ่ายรัสเซียซึ่งมองว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้มิได้เป็นเพียงข้อตกลงทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่เป็นยุทธศาสตร์การแผ่อิทธิพลของตะวันตกในพื้นที่ยุโรปตะวันออกอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ยูเครนถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแหล่งแร่หายากที่อาจกลายเป็นฐานอุตสาหกรรมใหม่ของตะวันตก ในขณะที่รัสเซียมองว่าการแทรกซึมของสหรัฐฯ เข้าสู่ภาคทรัพยากรธรรมชาติของยูเครนเป็นการคุกคามต่ออิทธิพลของมอสโกในพื้นที่ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียและสหภาพโซเวียต ในบริบทนี้ นักคิด นักวิเคราะห์ และสื่อรัสเซียจำนวนมากจึงพยายามให้ภาพข้อตกลงดังกล่าวในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่สหรัฐฯ กำลังใช้ทรัพยากรของยูเครนเป็นเครื่องมือต่อรองทางยุทธศาสตร์มากกว่าการพัฒนาเพื่อผลประโยชน์ของชาวยูเครนโดยตรง โดยสาระสำคัญของข้อตกลง มีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่องประกอบด้วย

1) การจัดตั้งกองทุนร่วมเพื่อการฟื้นฟู (Joint Investment Fund) โดยยูเครนจะนำรายได้ 50% จากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติของรัฐ เช่น แร่ธาตุ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เข้ากองทุนร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อใช้ในการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน และอุตสาหกรรมภายในยูเครน การจัดตั้งกองทุนดังกล่าวสะท้อนถึงความพยายามในการผสมผสานผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพันธมิตรกับเป้าหมายการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่ถูกทำลายจากสงคราม
2) การลดข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ: สหรัฐฯ ได้ลดข้อเรียกร้องในการชดเชยความช่วยเหลือจาก $300 พันล้าน เหลือ $100 พันล้าน เพื่อให้ข้อตกลงเป็นที่ยอมรับของยูเครนมากขึ้น ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ เคยแสดงความคาดหวังว่ายูเครนควรจะให้สิทธิหรือผลประโยชน์บางอย่างเพื่อแลกกับการสนับสนุนทางการทหาร การเงิน และเทคโนโลยี โดยมีข่าวว่ามีการคาดการณ์มูลค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากฝั่งยูเครนสูงถึง $300 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่อาจเชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่อง reconstruction bonds หรือการ “แปรค่า” ทรัพยากรเพื่อใช้หนี้หรือเป็นหลักประกันการฟื้นฟูหลังสงคราม การลดข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ครั้งนี้เป็นผลจาก 1) แรงกดดันภายในสหรัฐฯ เห็นได้จากความลังเลของรัฐสภาและกระแสต่อต้านการช่วยเหลือยูเครนที่เพิ่มขึ้นในหมู่ประชาชน ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้อง “ปรับท่าที” ให้มีลักษณะของ win-win deal มากขึ้น 2) แรงต้านจากยูเครน ซึ่งมีเสียงวิจารณ์ว่าข้อเรียกร้องที่มากเกินไปอาจละเมิดอธิปไตยทางเศรษฐกิจของยูเคร และกลายเป็นกับดักการพึ่งพิงระยะยาว และ 3) บริบทระหว่างประเทศ เมื่อจีนและรัสเซียเริ่มเคลื่อนไหวสร้างกรอบความร่วมมือด้านพลังงาน-แร่ธาตุกับประเทศกำลังพัฒนา สหรัฐฯ จึงต้อง ลดแรงกดดัน และ ปรับกลยุทธ์เพื่อไม่ให้สูญเสียพันธมิตร การลดข้อเรียกร้องของสหรัฐฯลงเหลือ $100 พันล้าน สื่อถึงความพยายามสร้าง “ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์” มากกว่าการเอาเปรียบ การเปลี่ยนผ่านจาก “ความช่วยเหลือเพื่อความอยู่รอด” สู่ “ความร่วมมือเพื่อการลงทุนและฟื้นฟู” รวมถึงอาจมีข้อตกลงที่ไม่เป็นทางการแฝงอยู่ เช่น สหรัฐฯ ได้สิทธิพิเศษในการเข้าถึงแร่สำคัญอย่างลิเทียม แรร์เอิร์ธ หรือยูเรเนียมในภูมิภาคของยูเครน
3) การเข้าถึงแหล่งแร่ธาตุสำคัญ ข้อตกลงนี้จะเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ เข้าถึงแหล่งแร่ธาตุสำคัญของยูเครน ซึ่งจำเป็นต่ออุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เทคโนโลยีขั้นสูง และความมั่นคงด้านอุตสาหกรรม

ในแง่เศรษฐกิจ ข้อตกลงนี้ถือเป็นกลไกสำคัญในการระดมทุนเพื่อฟื้นฟูประเทศในระยะกลางและยาว โดยไม่ต้องพึ่งพาการบริจาคโดยตรงจากภายนอก ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการเข้าถึงแหล่งแร่ธาตุสำคัญของยูเครน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เทคโนโลยีขั้นสูง และความมั่นคงด้านอุตสาหกรรม

ในทางความมั่นคง ข้อตกลงดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของสหรัฐฯ ที่จะสานต่อการมีบทบาทในภูมิภาคยุโรปตะวันออก แม้จะไม่มีการให้หลักประกันด้านความมั่นคงอย่างเป็นทางการ แต่ก็สื่อถึง “พันธสัญญาแฝง” (implicit commitment) ในการสนับสนุนยูเครนทั้งในเชิงเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์

ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ข้อตกลงนี้ไม่ใช่เพียงเรื่อง “ทรัพยากร” แต่เป็นการล็อกพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ในระยะยาว โดยอาศัยทรัพยากรธรรมชาติเป็นตัวประกัน สหรัฐฯ พยายามลดข้อขัดแย้งเพื่อสร้าง “เสถียรภาพความร่วมมือ” ในระยะยาว และกันไม่ให้ยูเครนเปิดดีลทางเลือกกับจีนหรือกลุ่ม BRICS ในทางกลับกันรัสเซียมองว่าการทำข้อตกลงเช่นนี้คือ การบ่อนทำลายภูมิรัฐศาสตร์พลังงานในยูเรเซียที่รัสเซียเคยครองอิทธิพลอยู่

นัยทางภูมิรัฐศาสตร์และการแข่งขันกับรัสเซีย ในบริบทของสงครามรัสเซีย–ยูเครน ความตกลงนี้มีนัยที่ลึกซึ้งในระดับโครงสร้าง กล่าวคือสหรัฐฯ ไม่เพียงแต่สนับสนุนยูเครนในเชิงทหารเท่านั้นแต่ยังวางรากฐานความร่วมมือเชิงโครงสร้าง (structural alignment) ที่อาจเปลี่ยนแปลงสถานะของยูเครนในระบบระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับรัสเซีย

ในมุมของรัสเซีย ความร่วมมือระหว่างยูเครนและสหรัฐฯ ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการ “ครอบงำยูเรเชีย” ของตะวันตกและเป็นการท้าทายต่ออิทธิพลของรัสเซียในอดีตพื้นที่หลังโซเวียต ข้อตกลงนี้จึงอาจถูกตีความว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “สงครามตัวแทนทางเศรษฐกิจ” (economic proxy conflict) โดยสามารถแยกประเด็นในการวิเคราะห์ออกเป็นด้านต่างๆ ได้ดังนี้
1) การมองว่าข้อตกลงฯดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่ออิทธิพลของรัสเซียในยูเครน นักวิเคราะห์รัสเซียหลายคนมองว่าข้อตกลงนี้เป็นความพยายามของสหรัฐฯ ในการลดอิทธิพลของรัสเซียในยูเครน โดยการเข้าถึงทรัพยากรแร่ธาตุสำคัญของยูเครน ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถของรัสเซียในการควบคุมภูมิภาคนี้ในระยะยาว
2) ข้อเสนอของรัสเซียในการร่วมมือด้านแร่ธาตุกับสหรัฐฯ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้แสดงความพร้อมที่จะเสนอความร่วมมือด้านแร่ธาตุหายากและอลูมิเนียมแก่สหรัฐฯ โดยเน้นว่ารัสเซียมีทรัพยากรเหล่านี้มากกว่ายูเครนและสามารถเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่น่าเชื่อถือได้ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินยังได้แสดงความพร้อมที่จะเสนอความร่วมมือด้านแร่ธาตุหายากและอลูมิเนียมแก่สหรัฐฯ โดยเน้นว่ารัสเซียมีทรัพยากรเหล่านี้มากกว่ายูเครนและสามารถเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่น่าเชื่อถือได้ เห็นได้จากการที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินได้กล่าวต่อสาธารณะหลายครั้งว่า รัสเซียมีศักยภาพในการเป็นแหล่งจัดหาทรัพยากรแร่หายาก (rare earth elements) และโลหะอุตสาหกรรม เช่น อลูมิเนียม ไทเทเนียม และนิกเกิล ที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์ พลังงานสะอาด และเทคโนโลยีขั้นสูง  เมื่อวิเคราะห์ในประเด็นนี้รัสเซียมีข้อได้เปรียบด้านทรัพยากร เพราะมีแหล่งแร่ธาตุหายากจำนวนมาก โดยเฉพาะในไซบีเรียและตะวันออกไกล เช่น Yttrium, Neodymium, Dysprosium เป็นผู้ส่งออกอลูมิเนียมรายใหญ่ ผ่านบริษัท Rusal ซึ่งเคยเป็นผู้จัดหาสำคัญให้กับสหรัฐฯ รวมถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานการผลิตครบวงจร ตั้งแต่เหมือง การแปรรูป ไปจนถึงโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ (โดยเฉพาะทางรถไฟและทะเล) เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วรัสเซียยังคงมีจุดแข็งที่เหนือกว่ายูเครน เนื่องจาก ปริมาณทรัพยากรแร่และโลหะหายากมากกว่า โครงสร้างอุตสาหกรรมพร้อมกว่า และเสถียรภาพในบางภูมิภาคของรัสเซีย (เช่น ไครเมียตอนนี้) อาจมากกว่ายูเครนที่ยังมีความไม่แน่นอนด้านความมั่นคง 
แม้ในเชิงเศรษฐกิจข้อเสนอของรัสเซียจะดูน่าสนใจ แต่ในเชิงการเมืองระหว่างประเทศ มีอุปสรรคสำคัญดังนี้ 1) ข้อจำกัดเชิงนโยบาย สหรัฐฯ มีนโยบายลดการพึ่งพาทรัพยากรจากประเทศ “ศัตรูเชิงยุทธศาสตร์” มีมาตรการกีดกันต่อบริษัทรัสเซียหลายแห่งในภาคเหมืองแร่และโลหะ เช่น Rusal, Norilsk Nickel นอกจากนี้การทำข้อตกลงกับรัสเซียอาจถูกวิพากษ์อย่างรุนแรงจากพันธมิตร NATO และ EU ในขณะที่การเลือกยูเครนนั้นเป็นการสร้างโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ โดยสหรัฐฯ ต้องการลงทุนระยะยาวในประเทศที่สามารถควบคุมเชิงระบบได้มากกว่าและยูเครนถูกมองว่าเป็น “รัฐในกระบวนการสถาปนาใหม่” ที่สามารถสร้าง dependency model ได้ง่าย
3) การเน้นย้ำถึงความไม่แน่นอนของทรัพยากรในยูเครน แม้ว่ายูเครนจะถูกกล่าวขานว่าเป็นประเทศที่ “อุดมด้วยทรัพยากรใต้ดิน” โดยเฉพาะในภาคตะวันออกและตอนใต้ แต่ในทางวิชาการและอุตสาหกรรม ยังมีข้อจำกัดหลายประการ นักวิชาการรัสเซียบางคนชี้ให้เห็นว่าทรัพยากรแร่ธาตุในยูเครนอาจไม่มีปริมาณหรือคุณภาพที่เพียงพอสำหรับการลงทุนระยะยาว โดยอ้างถึงข้อมูลที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับปริมาณสำรองของแร่ธาตุหายากในยูเครน แหล่งข้อมูลหลักเกี่ยวกับ REEs (rare earth elements) ของยูเครนจำนวนมากยังอยู่ในขั้น “preliminary estimates” (การประเมินเบื้องต้น) โดยไม่มีการสำรวจทางธรณีวิทยาเชิงลึก (deep exploration drilling) หรือ การประเมินเชิงปริมาณ (proven reserves) ที่ได้รับการรับรองในระดับสากลข้อมูลที่ปรากฏในสื่อยูเครนจำนวนมาก เช่น การกล่าวว่า “ยูเครนมีแร่หายาก 117 ชนิด” นั้น ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างเป็นทางการ และไม่ปรากฏในฐานข้อมูลของ USGS หรือ IAEA แม้บางแหล่งจะมี REEs แต่หากระดับความเข้มข้นต่ำ (low-grade ores) การสกัดจึงต้องใช้ต้นทุนสูงและอาจไม่คุ้มกับการลงทุนระยะยาว

นอกจากนี้มีรายงานจากนักธรณีวิทยาท้องถิ่นยูเครนว่าแหล่งแร่บางแห่งใน Zhytomyr และ Kirovohrad มีปัญหาเรื่องสารปนเปื้อน (impurities) เช่น thorium และ uranium ทำให้ต้องใช้กระบวนการแยกที่ซับซ้อนและแพง ยูเครนยังขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านเหมืองแร่และการแปรรูป ยูเครนไม่มีโรงงาน separation plant สำหรับแร่หายาก ซึ่งจำเป็นในการแยกธาตุเฉพาะออกจากแร่ดิบ การขนส่งโลจิสติกส์ในบางพื้นที่ยังไม่พร้อม โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้เขตความขัดแย้งทางทหาร (Donbas, Kharkiv) พื้นที่ที่อ้างว่ามีศักยภาพแร่ เช่น Donetsk, Luhansk, Zaporozhzhia ล้วนอยู่ในเขตความขัดแย้งที่ยังไม่สงบ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความไม่แน่นอนทางความมั่นคง ปัญหาคอร์รัปชัน และข้อจำกัดด้านกฎหมายในยูเครน แม้จะได้รับการสนับสนุนทางการเมืองจากสหรัฐฯ
ข้อตกลงฯดังกล่าวยังคงมีข้อกังวลและประเด็นที่ยังต้องเจรจาอีกในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ 
1) การควบคุมท่อส่งก๊าซ สหรัฐฯ มีข้อเสนอให้ควบคุมท่อส่งก๊าซสำคัญที่ผ่านยูเครน ซึ่งเป็นประเด็นที่ยูเครนยังไม่เห็นด้วย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับอธิปไตยและผลประโยชน์ของประเทศ
2) การให้หลักประกันด้านความมั่นคง แม้ข้อตกลงจะไม่มีการให้หลักประกันด้านความมั่นคงโดยตรง แต่ยูเครนหวังว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจนี้จะนำไปสู่การมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ในการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศในระยะยาว
3) การให้สัตยาบันโดยรัฐสภายูเครน ข้อตกลงนี้ยังต้องได้รับการให้สัตยาบันจากรัฐสภายูเครนก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ 
แม้ข้อตกลงนี้จะเป็นเพียงกรอบเบื้องต้น แต่หากได้รับการให้สัตยาบันและดำเนินการจริง อาจเป็นต้นแบบของการฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นทุน และเป็นกรณีศึกษาสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ–การเมืองระหว่างประเทศขนาดกลางกับมหาอำนาจในโลกหลังความขัดแย้งในขณะเดียวกัน ยูเครนจะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้ข้อตกลงนี้ขัดแย้งกับพันธะสัญญาต่อสหภาพยุโรป หรือเงื่อนไขของ IMF ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรของรัฐ

บทสรุป การลงนามข้อตกลงแร่ธาตุระหว่างยูเครนกับสหรัฐฯ ถูกจับตามองจากรัสเซียอย่างใกล้ชิด โดยนักวิเคราะห์รัสเซียมองว่าข้อตกลงนี้เป็นการขยายอิทธิพลของสหรัฐฯ เข้ามาในภูมิภาคที่มีความละเอียดอ่อนทั้งด้านประวัติศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งยังสะท้อนถึงการใช้ยูเครนในฐานะเครื่องมือทางภูมิยุทธศาสตร์ของตะวันตกเพื่อสกัดกั้นรัสเซียในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน โลจิสติกส์ หรือทรัพยากรแร่ธาตุ แม้ว่ารัสเซียจะพยายามเสนอความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านเดียวกันเพื่อรักษาฐานอำนาจของตน แต่พลวัตของภูมิภาคยุโรปตะวันออกกลับเคลื่อนตัวอย่างต่อเนื่องไปสู่การจัดระเบียบใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องเอื้อประโยชน์ต่อมอสโกอีกต่อไป บทวิเคราะห์เหล่านี้สะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านเชิงอำนาจในศตวรรษที่ 21 ที่รัสเซียจำเป็นต้องเผชิญหน้าและปรับตัว ทั้งในแง่ยุทธศาสตร์และวาทกรรม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top