Wednesday, 23 April 2025
เยาวชนคนเก่ง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ทรงพระราชทาน ‘เข้าเฝ้า-รับรางวัล’ แก่เยาวชนคนเก่ง ภายในงานการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2566

เมื่อไม่นานนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยัง อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ทรงเปิดการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 ถึง 31 มีนาคม 2566 ภายใต้แนวคิด ‘สวทช. : ขุมพลังหลัก วทน. เร่งการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่ความยั่งยืน’ ตามนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG Economy Model เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานของบุคลากรด้านงานวิจัยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเรียนรู้จากเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล มั่นคง และยั่งยืน

โอกาสนี้ มีพระราชดำรัสเปิดการประชุมและทรงตัดแถบแพรเปิด ‘นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย’ และ ‘นิทรรศการความก้าวหน้าทางงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี’ ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

สำหรับนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ จัดแสดงโครงการต่างๆ อาทิ นิทรรศการ ‘18 ปี ภาคีวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย’ ที่เน้นการสร้างผลงานไปสู่การใช้ประโยชน์ เช่น การพัฒนาเข็มขนาดไมโครเมตรสำหรับการรักษาและตรวจวินิจฉัยโรค ที่ช่วยให้การแพร่กระจายของยาหรือสารชีววัตถุเข้าสู่ผิวหนังดีขึ้น ชุดทดสอบประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อในหม้อนึ่งความดันไอน้ำ ช่วยลดต้นทุนการผลิต ใช้งานง่ายและอ่านผลได้ด้วยตาเปล่า

‘โครงการภาคีโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติด้าน e-Science’ เป็นโครงการตามพระราชดำริ ในด้านการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม และสนับสนุนความร่วมมือด้านฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูงระหว่างประเทศไทยและสภาวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรปอันสามารถยกระดับงานวิจัยของประเทศไทยให้เท่าเทียมงานวิจัยระดับนานาชาติ

‘โครงการฝึกทักษะถอดความเสียงพูด เพื่อจัดทำคำบรรยายแทนเสียง สำหรับผู้มีปัญหาทางการได้ยิน’ ซึ่ง สวทช.ร่วมกับมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงปทุมธานี จัดทำขึ้น เพื่อพัฒนาทักษะด้านการพิมพ์สัมผัสและถอดความเสียงพูดแก่ผู้ต้องขัง ซึ่งจะสามารถพัฒนาเป็นอาชีพภายหลังพ้นโทษได้ และ ‘NSTDA core business’ ซึ่งเป็นการแสดงผลงานการวิจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่ สวทช. มุ่งพัฒนาและขับเคลื่อนในยุค NSTDA 6.0 ในปี 2566 ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการนำงานวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ 4 เรื่องคือ แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมือง แพลตฟอร์มบริการทางการแพทย์ดิจิทัล แพลตฟอร์มให้บริการผลิตอาหารแห่งอนาคต ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์กลุ่มสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ ในรูปแบบ One stop service และแพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0

เวลา 14.31 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำคณะผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เฝ้าทูลละอองพระบาท ถวายพระพรชัยมงคลและทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 2 เมษายน 2566

‘รติวรรธน์ หงส์พนัส’ เยาวชนคนเก่งจาก สาธิต มศว ปทุมวัน รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ ด้วยผลงาน ‘Meso Go Around’

เมื่อวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก กรุงเทพฯ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี

ในการนี้มีนักเรียนของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน (สาธิต มศว ปทุมวัน) ได้เข้ารับประกาศนียบัตรจากการเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยในงาน “The 48th International Exhibition of Inventions Geneva” ระหว่างวันที่ 26 – 30 เมษายน พ.ศ. 2566 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ด้วยผลงาน "บอร์ดเกมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ Meso Go Around เจาะเวลา ค้นหาอารยธรรมเมโสโปเตเมีย" ซึ่งเป็น 1 ใน 23 ผลงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมการประกวด และได้รับรางวัลเหรียญทองแดงจากการเข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้ คือ นายรติวรรธน์ หงส์พนัส นักเรียนจากชั้น ม.5/151 

THE STATES TIMES ขอแสดงความยินดีกับเยาวชนคนเก่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย

‘น้องธีด้า’ ควงคุณแม่แชร์เคล็ดลับให้ลูกเรียนเก่ง - ได้ภาษา สานฝันจากลูกแม่ค้าขายยาคูลท์สู่การเป็นนักศึกษาแพทย์มหิดล

(7 มี.ค.68) นางสาวขวัญชนก จุ้ยสกุล หรือน้องธีด้า เยาวชนคนเก่งจากโรงเรียนชลกัลยานุกูล จ.ชลบุรี ลูกสาวแม่ค้าขายยาคูลท์ ซึ่งกำลังจะเข้าเป็นนักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์คลิปผ่าน Tiktok : thida.himawari พร้อมคุณแม่ ร่วมแชร์วิธีการสอนลูกให้เป็นคนเก่งและมีความรับผิดชอบ โดยเริ่มต้นจากคำถามแรกที่ว่า แม่สอนภาษาอังกฤษให้น้องธีด้ายังไง

โดยคุณแม่ ได้ตอบว่า ได้เริ่มสอนตั้งแต่เด็กตัวเล็กๆ ที่เริ่มหัดพูด ด้วยประโยคง่าย ๆ สำหรับเด็ก พร้อม ๆ กับสร้างสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ เช่น การให้ดูการ์ตูนภาษาอังกฤษ แล้วก็พาไปดูหนังในโรงที่เป็นซาวด์แทร็กอย่างเดียว ในขณะเดียวกัน เวลาออกไปข้างนอกก็จะสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ ด้วยประโยคง่าย ๆ เพราะตัวคุณแม่เองก็ได้เก่งภาษาอังกฤษ จากนั้นพออายุประมาณ 4 – 5 ขวบ เมื่อถึงวัยเข้าเรียน ก็ให้เรียนหลักสูตร English Program ซึ่งก็ทำให้มีการพัฒนาที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ช่วงที่อยู่ประมาณ ป.1 ก็ให้เรียนโฟนิกส์ (Phonics) หรือ วิธีการออกเสียงตัวอักษรภาษาอังกฤษ ซึ่งมองว่าเป็นสิ่งสำคัญในการที่ช่วยในเรื่องของการอ่านได้ดี และเพิ่มทักษะการอ่านด้วย

ขณะที่ คำถามต่อมา น้องธีด้า ถามว่า คุณแม่อยากให้หนูเป็นหมอตั้งแต่เด็กหรือไม่
ซึ่งคุณแม่ได้ตอบว่า ไม่ใช่เลย เพราะหากย้อนไปเทรนด์ในสมัยนั้น อยากให้ลูกเป็น แอร์โฮสเตส เพราะมองว่า การเป็นแอร์โฮสเตสได้เที่ยว และสมัยก่อนนั้น คนที่เป็นแอร์ฯ ดูดีมาก และคิดว่ารายได้สูงน่าจะสูงด้วย จึงอยากให้ลูกเป็นแอร์ แต่เมื่อวันหนึ่งลูกอยากเป็นหมอ ก็แล้วแต่ลูกจะเลือกและไม่ได้ห้าม

และเมื่อลูกมาบอกว่าอยากเป็นแพทย์ ก็ได้แต่บอกว่า มันยากนะ จะทำได้หรือ เพราะก่อนหน้านี้ไม่ใช่เด็กแนววิชาการที่มีผลงาน และไม่ค่อยได้เรียนพิเศษด้วย ดังนั้น จะมาหวังในรอบ 3 จึงมองว่าเป็นเรื่องยาก สำหรับคนที่ไม่ได้เตรียมตัวมาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อลูกอยากจะเรียนหมอ ทางแม่ก็ไม่ห้ามและผลักดันและให้การสนับสนุนในทุกด้าน

สำหรับการสนับสนุนให้ลูกสาวได้เป็นนักศึกษาแพทย์จนสำเร็จนั้น ทางคุณแม่ บอกว่า ได้ช่วยหางานและกิจกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ พร้อมกับหาข้อมูลในรอบพอร์ตฟอลิโอ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ของแพทย์โดยตรง โดยไปดูว่า เขาไปทํากิจกรรมไหนมาบ้าง เพื่อเป็นตัวเสริม และไม่จําเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการแพทย์ทุกอย่างก็ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคุณแม่จะไม่ห้าม และไม่อยากให้หยุดฝัน แต่ก็มีแอบกังวลอยู่บ้าง กลัวว่าลูกจะทำไม่ได้ พร้อมกับบอกว่าให้ลองวิชาชีพอื่นก่อนไหม กระทั่งพูดบ่อย ๆ  เข้าตัวน้องก็บอกว่า ตัวเขาเองยังไม่ละความพยายามเลย หลังจากนั้นเลิกกังวล พร้อมเฝ้ามองถึงความตั้งใจได้เห็นถึงความพยายาม และถึงวันนี้ยอมรับและภูมิใจในสิ่งที่น้องทำได้สำเร็จเป็นนักศึกษาแพทย์ตามที่ฝันไว้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top