Sunday, 20 April 2025
เยอรมนี

'เยอรมนี' เตรียมออกกฎหมายเกณฑ์ทหารเพิ่ม เพื่อสู้ศึกกับรัสเซีย เล็งคนอายุ 18 ปีทั้งหมด ส่วนจะทั้ง 'ชาย-หญิง' หรือไม่? ต้องรอลุ้น!!

ไม่นานมานี้ เยอรมนีกำลังพิจารณาทางเลือกที่เป็นไปได้ในการออกกฎหมายเกณฑ์ทหารเพิ่มสามแนวทาง คือ...

ประการแรกการพยายามเพิ่มการสมัคร โดยให้เข้าเป็นทหารแบบสมัครใจ ด้วยการส่งแคมเปญข้อมูลไปยังเด็กอายุ 18 ปี 

ประการที่สอง กฎหมายนี้จะใช้กับผู้ชายอายุ 18 ปีเท่านั้น โดยกฎหมายกำหนดให้พวกเขาต้องลงทะเบียนในแบบฟอร์มออนไลน์ จากนั้นจึงอาจได้รับเลือกเข้าเป็นทหาร

ทางเลือกที่สาม จะต้องรับราชการทหารเป็นเวลาหนึ่งปีสำหรับชายหนุ่มและหญิงสาวทุกคน เมื่ออายุครบ 18 ปี

นายบอริส พิสโตเรียส รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนี เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า กองทัพเยอรมันหรือบุนเดสแวร์ จะต้อง ‘พร้อมทำสงคราม’ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นจากรัสเซีย เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐมนตรีกลาโหมของเยอรมนีกล่าวว่าประเทศสามารถเพิ่มการใช้จ่ายทางทหารได้มากถึง 3.5% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจ

เยอรมนีได้ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มขนาดกองทัพจากประมาณ 180,000 นายในปัจจุบันเป็นมากกว่า 200,000 นาย

'มิโรสลาฟ โคลเซ่' เผย!! ความคิดของ 'เด็กรุ่นใหม่' ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เขาต้องหันหลังให้ 'ฟุตบอล'

จากบทความโดย 'Mansion Sports' ได้นำเสนอเรื่องราวของ 'มิโรสลาฟ โคลเซ่' อดีตกองหน้าทีมชาติ เยอรมนี ถึงมุมมองความคิดต่อ 'เด็กรุ่นใหม่' ที่มีส่วนสำคัญทำให้เขาต้องหันหลังให้อาชีพ 'ฟุตบอล' ในที่สุด ว่า...

"ผมเลิกเล่นฟุตบอล เพราะว่าผมไม่รู้จักมันอีกต่อไป ทุกวันนี้ เหล่าผู้เล่นดาวรุ่งเอาแต่คิดถึงเรื่องอื่น ๆ"

"สมัยที่ผมยังเด็ก ผมคิดอยู่อย่างเดียวว่านั่นก็คือ การฝึกซ้อม และการได้กลายเป็นใครสักคนในกีฬาที่ผมรักเสมอมา ทั้งตอนที่อยู่ ลาซิโอ้ หรือกับ ทีมชาติเยอรมนี"

โคลเซ่ เล่าอีกว่า "หลังจากซ้อมเสร็จ ผมเอาตัวเองไปแช่ในอ่างที่เต็มไปด้วยน้ำแข็งเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาอาการบาดเจ็บ แต่พวกดาวรุ่งในทีมเลือกปฏิเสธที่จะทำแบบนั้น”

เขาเล่าต่อด้วยว่า "ตอนนั้นพวกเขาเห็นผมหยิบถุงใส่ลูกบอลและเก็บอุปกรณ์ต่าง ๆ หลังจบการฝึกซ้อม พวกเขาก็ถามผมว่า 'ใครเป็นคนบอกให้คุณทำแบบนั้น?'"

"ณ ตอนนั้นผมบอกกับตัวเองว่า ‘เอ็งอายุ 20 ปีแล้วนะ เอ็งไม่คิดจะช่วยเหลือคนงานอายุ 60 ปีกันเลยเหรอวะ?'"

"ดาวรุ่งเหล่านี้สนใจว่ารองเท้าสตั๊ดที่ใส่จะเข้ากับถุงเท้าของทีมหรือไม่ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมเลิกเล่น นี่ไม่ใช่ฟุตบอลที่ผมรู้จักอีกต่อไปแล้ว" โคลเซ่ กล่าวและว่า...

"นักเตะอายุน้อยในปัจจุบันต่างก็คิดถึงเรื่องการมีรถขับเป็นอันดับแรก, สัญญาส่วนตัวกับสปอนเซอร์ และ รองเท้าคู่ใหม่ นี่คือเรื่องทั้งหมดที่พวกเขาสนใจก่อนจะมาถึงเรื่องฟุตบอล ... สำหรับพวกเขาภาพลักษณ์คือ สิ่งที่สำคัญที่สุด แต่สำหรับผมสิ่งที่สำคัญที่สุดเสมอก็คือ 'ฟุตบอล' ในรูปแบบที่บริสุทธิ์ที่สุด"

โดยสรุปแล้ว สิ่งที่ทำให้ยอดตำนานอย่าง มิโรสลาฟ โคลเซ่ เลือกปิดฉากเส้นทางค้าแข้งกับ ลาซิโอ้ เมื่อปี 2016 ไม่ใช่อายุอานามที่แตะหลัก 36-37 และไม่ใช่ความอิ่มตัวบนเส้นทางอาชีพกว่า 17 ปี แต่เป็นความคิดความหมกมุ่นของเด็กคนใหม่ที่ทำให้ฟุตบอลที่เขารัก กลายเป็นสิ่งที่ไม่รู้จักอีกต่อไป

แม้ มิโรสลาฟ โคลเซ่ จะไม่ใช่กองหน้าระดับหัวแถวในยุคสมัยของเขา เพราะมีทั้งช่วงเวลาที่ดีและไม่ดีในทุกๆ ที่ๆ เขาไป ไม่ว่าจะทั้งที่ ไกเซอร์สเลาเทิร์น, แวร์เดอร์ เบรเมน, บาเยิร์น มิวนิค ตลอดจนกับ ลาซิโอ้ แต่แน่นอนว่าไม่มีใครไม่รู้จักเขา หรือตั้งข้อกังขาในฝีเท้าของเขาอย่างแน่นอน

ยิ่งกับทีมชาติเยอรมนีด้วยแล้ว เขาคือ ดาวยิงระดับตำนาน โดยเป็นเจ้าของสถิติผู้เล่นที่ทำประตูได้มากที่สุดตลอดกาลบนเวทีระดับ 'ฟุตบอลโลก'

...และทั้งหมดทั้งมวลที่ทำให้ มิโรสลาฟ โคลเซ่ ก้าวมาอยู่ในจุดๆ นั้นได้ ก็มาจากสิ่งที่เขาให้ความสำคัญมากที่สุด นั่นก็คือ การมีวินัยกับตัวเอง และมองว่า 'ฟุตบอล' นั้นสำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด

‘เยอรมนี’ เผย!! จำนวน ‘ผู้แปลงสัญชาติ’ พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ หลังรัฐเอื้อ ‘แรงงานย้ายถิ่น’ ช่วยเคลื่อน ศก. ในยามสูงวัยเกลื่อน

เมื่อวานนี้ (30 พ.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สำนักงานสถิติกลางแห่งเยอรมนี เปิดเผยจำนวนผู้ที่แปลงสัญชาติในเยอรมนีอยู่ที่ราว 200,100 คน ในปี 2023 ซึ่งถือเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่มีการเริ่มบันทึกในปี 2000

จำนวนการแปลงสัญชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นแล้วร้อยละ 28 จากในปี 2022 โดยมีผู้คนจาก 157 ประเทศได้รับสัญชาติเป็นพลเมืองเยอรมัน

สำนักงานฯ ระบุว่าพลเมืองที่ได้รับสัญชาติมีอายุเฉลี่ย 29.3 ปี ซึ่งอายุน้อยกว่าอายุของประชากรโดยรวมที่ 44.6 ปีอย่างมีนัยสำคัญ และส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย

อนึ่ง เยอรมนีเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป โดยปัจจุบันมีจำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น และจำเป็นต้องพึ่งพากลุ่มแรงงานย้ายถิ่นฐาน

เยอรมนียังเผชิญกับการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเป็นอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลกำลังแก้ไขโดยการแก้ไขกฎหมายการย้ายถิ่นฐานของผู้มีทักษะความสามารถของเยอรมนี (The Skilled Immigration Act) เพื่อให้แรงงานที่มีคุณสมบัติจากต่างประเทศนอกสหภาพยุโรปสามารถหางานทำในเยอรมนีได้ง่ายขึ้น

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บุนเดสรัต (Bundesrat) หรือสภาสูงของรัฐสภาเยอรมนี อนุมัติการปรับแก้กฎหมายสัญชาติของเยอรมนีให้เป็นสมัยใหม่ โดยปัจจุบันพลเมืองสามารถมีสองสัญชาติได้ และการแปลงสัญชาติอาจใช้เวลาดำเนินการเพียง 3 - 5 ปี หากการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมเป็นไปด้วยดี

แนนซี ฟาเซอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในของเยอรมนี กล่าวหลังการมีมติของสภาสูงว่ารัฐบาลตระหนักถึงประวัติศาสตร์และความสำเร็จของผู้คนจำนวนมากที่โยกย้ายมาและมีส่วนร่วมในประเทศนี้มาเป็นเวลานานแล้ว

'เยอรมนี' วางแผนจะนำรูปแบบการเกณฑ์ทหารกลับมาใช้ใหม่ ภายใต้แรงกดดันจากกรณีสงคราม 'ยูเครน-รัสเซีย'

เมื่อวานนี้ (12 มิ.ย. 67) บอริส พิสโทริอุส รัฐมนตรีกลาโหมของเยอรมนี เข้าร่วมแถลงข่าวเรื่องการปฏิรูปการรับราชการทหารในเยอรมนี โดยระบุว่า เยอรมนีกำลังวางแผนปรับรูปแบบการรับราชการทหารใหม่ เนื่องจากประเทศต้องการปรับปรุงกองทัพภายหลังการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

บอริส พิสโทริอุส แสดงความต้องการฟื้นฟูการขึ้นทะเบียนของผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้ารับราชการทหารซึ่งเคยถูกระงับไปเมื่อ 13 ปีที่แล้วสำหรับรูปแบบการเกณฑ์ทหารใหม่ นอกจากนี้นักการเมืองสังกัดพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD) ยังใช้มาตรการบังคับให้ชายหนุ่มแจ้งข้อมูลในแบบสอบถามเกี่ยวกับความเต็มใจและความสามารถในการรับใช้ราชการทหารของพวกเขาด้วย

ข้อเสนอของนักการเมืองพรรค SPD ถือเป็นก้าวแรกสู่ความเป็นไปได้ในการนำมาตรการรับราชการทหารภาคบังคับกลับมาใช้ใหม่ ขณะเดียวกันพิสโทริอุสต้องการดำเนินการตามขั้นตอนที่ดูเหมือนจะเป็นไปได้จริงในช่วงระยะเวลาของกฎหมายนี้จากข้อมูลของสื่อเยอรมัน แผนการของพิสโทริอุสจำเป็นต้องมีการขยายกรอบกฎหมายการเกณฑ์ทหารสำหรับชายหนุ่ม

นักวางแผนทางทหารประเมินว่า ในแต่ละปีจะต้องมีคน 400,000 คนกรอกแบบสอบถาม และคาดการณ์ว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนนั้นอาจแสดงความสนใจ โดยมีแผนจะสั่งผู้สมัคร 40,000 คนเพื่อทำการทดสอบ ขณะนี้ทางกองทัพมีความสามารถในการฝึกอบรมทหารเกณฑ์ได้ 5,000-7,000 คน แต่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น และการฝึกอบรมจะใช้เวลาหกหรือสิบสองเดือน

บอริส พิสโทริอุส รายงานข้อเสนอเกี่ยวกับแผนการของเขาให้คณะกรรมการรัฐสภากลาโหมทราบในเช้าวันพุธ (12 มิ.ย.) และในช่วงบ่ายเขาได้เปิดเผยเรื่องนี้ต่อสาธารณะ

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการคัดค้านอย่างชัดเจนต่อแผนการรื้อฟื้นการรับราชการทหารภาคบังคับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางส่วนของพรรค SPD เอง ‘ลาร์ส คลิงไบล์’ หัวหน้าพรรค SPD กล่าวยืนยันว่าเขายังสนับสนุนการสรรหาบุคลากรทางทหารโดยสมัครใจต่อไป 

“ผมคิดว่าแนวทางการสรรหาด้วยความสมัครใจจะทำให้บุนเดสแวร์ (กองทัพเยอรมัน) น่าดึงดูดใจมากกว่า” 

ส่วน ‘โอมิด นูริปูร์’ หัวหน้าพรรคกรีน กล่าวอย่างชัดเจนเมื่อช่วงปลายปีที่แล้วว่า “ผมไม่เชื่อว่าเราจำเป็นต้องมีการเกณฑ์ทหาร” นอกจากนี้ยังมีเสียงคัดค้านการคัดเลือกกำลังพลภาคบังคับจากพรรคเสรีประชาธิปไตยเยอรมนี (FDP) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยเช่นกัน

ตามแบบจำลองของพิสโทริอุส ทุกคนจะต้องตอบแบบสอบถามและเข้ารับการทดสอบเมื่อถูกเรียกตัว มีรายงานว่าเขาเห็นชอบที่จะเปิดทางสำหรับการรับราชการทหารภาคบังคับ แม้ในยามสงบ หากไม่สามารถสรรหาทหารเกณฑ์ได้เพียงพอ

การรับราชการทหารภาคบังคับในเยอรมนีเคยถูกระงับไปเมื่อปี 2011 ภายใต้รัฐมนตรีกลาโหม ‘คาร์ล-เทโอดอร์ ซู กุตเทนแบร์ก’ (สังกัดพรรค CSU ซึ่งเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากในขณะนั้น) ซึ่งเท่ากับเป็นการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และทำให้โครงสร้างการรับราชการทหารภาคบังคับเกือบทั้งหมดสลายไปด้วย

แม้จะขาดแคลนกำลังพล แต่ในปีที่แล้วบุนเดสแวร์ก็ลดจำนวนทหารลงเหลือ 181,500 นาย บอริส พิสโทริอุสจึงรื้อฟื้นแบบจำลองการรับราชการทหารภาคบังคับมาตรวจสอบอีกครั้ง ภายใต้แรงกดดันจากสงครามรุกรานของรัสเซียต่อยูเครน เขาได้ชี้แจงอย่างชัดเจนในกระทู้ของรัฐบาลว่า เขาไม่หวังจะพึ่งพาความสมัครใจเพียงอย่างเดียว

‘อินทรีเหล็ก’ เยอรมนี ประเดิมสนามถล่ม สกอตแลนด์ ที่เหลือผู้เล่น 10 คน ชนะขาดลอย 5-1 ศึกยูโร 2024 รอบแบ่งกลุ่ม สาย A ศึกยูโร 2024

(15 มิ.ย.67) ศึกยูโร 2024 รอบแบ่งกลุ่ม สาย A ศึกยูโร 2024 เมื่อคืนที่ผ่านมา ‘อินทรีเหล็ก’ เยอรมนี ค่อย ๆ ลำเลียงบอลหาช่องกระทั่งนาที 10 ฟลอเรียน เวียร์ตซ ยิงลูกเรียดด้วยขวานอกเขตแบบไม่จับ แองกัส กันน์ นายทวาร ปัดไม่พ้น ขึ้นนำ 1-0 กลายเป็นนักเตะเยอรมันยิงประตูอายุน้อยสุด (21 ปี 42 วัน) เฉพาะรายการนี้ ถัดมานาที 19 ไค ฮาเวิร์ตซ แปะคืนให้ จามาล มูเซียลา ตะบันด้วยขวาเต็มแรง หนีไปเป็น 2-0

ทีมของ สตีฟ คลาร์ก อาการน่าเป็นห่วงนาที 44 ไรอัน ปอร์ตีอุส สไลด์ยันข้อเท้า อิลคาย กุนโดกัน ผู้ตัดสินตรวจสอบภาพรีเพลย์ (VAR) แล้วเป่าจุดโทษพร้อมชักใบแดงโดยตรง ไค ฮาเวิร์ตซ รับหน้าที่สังหาร ตามหลัง 0-3

แชมป์ 3 สมัย เล่นแบบไร้ความกดดัน นาที 68 อิลคาย กุนโดกัน สะดุดบอลแล้วกลายเป็นตั้งให้ นิคลาส ฟูลล์ครูก กองหน้าสำรอง ยิงด้วยขวาตาข่ายแทบขาด ทิ้งห่าง 4-0

‘ตาร์ตัน’ ได้รางวัลปลอบใจนาที 87 แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน กัปตันทีม เปิดฟรีคิกด้านซ้ายมาเสาสอง สก็อตต์ แม็คเคนนา ตัวสำรอง โหม่งแฉลบศีรษะ อันโตนิโอ รูดิเกอร์ ไล่มาเป็น 1-4 อย่างไรก็ตาม ทีมของ จูเลียน นาเกลสมันน์ ตอบโต้นาที 90+3 เอ็มเร ชาน ปั่นด้วยขวานอกเขต เสียบมุมสุดสวย ปิดกล่อง 5-1 จบเกม เยอรมนี เก็บ 3 แต้ม จาก 1 นัด ขณะที่ สกอตแลนด์ ไม่มีคะแนน

รายชื่อ 11 ผู้เล่นตัวจริง
เยอรมนี (4-2-3-1) : มานูเอล นอยเออร์, โจนาธาน ทาห์, อันโตนิโอ รูดิเกอร์, มักซิมิเลียน มิตเทลสตัดท์, โจชัว คิมมิช, อิลคาย กุนโดกัน, โทนี โครส, โรเบิร์ต อันดริช, ไค ฮาเวิร์ตซ, ฟลอเรียน เวียร์ตซ, จามาล มูเซียลา

สกอตแลนด์ (5-4-1) : แองกัส กันน์, แจ็ค เฮนดรี, คีแรน เทียร์นีย์, ไรอัน ปอร์ตีอุส, คัลลัม แม็คเกรเกอร์, สก็อตต์ แม็คโทมิเนย์, แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน, แอนโธนี รัลสตัน, เช อดัมส์, จอห์น แม็คกินน์, ไรอัน คริสตี

‘แฟนบอล’ แห่ลงชื่อให้ ‘เยอรมนี-สเปน’ แข่งศึกยูโรใหม่ หลังมองการตัดสินของแมตช์ดังกล่าวไม่ยุติธรรม

(8 ก.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แฟนบอลเกิน 30,000 รายได้ลงชื่อบนเว็บไซต์ 'Change.org' ภายหลังจากเยอรมนีในฐานะเจ้าภาพต้องจบเส้นทางของฟุตบอลยูโร 2024 ไว้ที่รอบ 8 ทีมสุดท้าย หลังพ่ายต่อสเปนในช่วงต่อเวลาพิเศษ 1-2 เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้มีการเตะกันใหม่อีกครั้ง

เนื่องจาก ในเกมดังกล่าวเกิดจังหวะปัญหาขึ้นเมื่อ ‘แอนโธนี เทย์เลอร์’ ผู้ตัดสินชาวอังกฤษ ไม่เป่าให้เยอรมนีได้ลูกโทษในจังหวะที่ลูกยิงของ ‘จามาล มูเซียลา’ ไปโดนมือของ ‘มาร์ก กูกูเรยา’ กองหลังสเปนในกรอบเขตโทษช่วงต่อเวลาพิเศษ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าลูกนี้เป็นการแฮนด์บอลชัดเจน

ล่าสุดมีแฟนบอลเกิน 30,000 ราย ได้ลงชื่อบนเว็บไซต์ 'Change.org' ในการเรียกร้องให้แมตช์ดังกล่าวกลับมาเตะใหม่กันอีกครั้ง เนื่องจากมองว่าการตัดสินของ ‘แอนโธนี เทย์เลอร์’ นั้นไม่ยุติธรรม

ทั้งนี้ ‘โรแบร์โต โรเซ็ตติ’ หัวหน้าผู้ตัดสินของ ยูฟ่า ระบุถึงจังหวะปัญหาดังกล่าวว่า เขาไม่ต้องการเห็นจุดโทษที่ได้รับจากเหตุการณ์ที่แขนของกองหลังอยู่ใกล้ลำตัว

‘เยอรมนี’ เล็งลดงบช่วยเหลือทางทหาร ‘ยูเครน’ ครึ่งหนึ่ง ขีดเส้น ปี 68 ท่ามกลางแนวโน้ม 'ทรัมป์' หวนเก้าอี้สมัย 2

(18 ก.ค.67) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เยอรมนี ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป วางแผนที่จะปรับลดการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนลงครึ่งหนึ่งในปีหน้า ท่ามกลางความวิตกกังวลในขณะนี้ว่าความสนับสนุนของสหรัฐต่อยูเครนอาจลดลง หากโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปลายปีนี้

ตามร่างงบประมาณประจำปี 2025 ของเยอรมนีที่รอยเตอร์เห็น เยอรมนีได้ปรับลดประมาณช่วยเหลือยูเครนลงเหลือ 4,000 ล้านยูโรในปี 2025 จากที่ให้อยู่ราว 8,000 ล้านยูโรในปี 2024

เยอรมนีหวังว่ายูเครนจะสามารถจัดหาความต้องการทางทหารส่วนใหญ่ได้จากเงินกู้ยืมมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ที่ผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ชาติ หรือ จี7 อนุมัติให้นำมาใช้จากสิ้นทรัพย์ของรัสเซียที่ถูกยึดเอาไว้ ซึ่งจะทำให้เงินอุดหนุนเพื่อนำไปใช้ในการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์อาจไม่ถูกนำไปใช้อย่างเต็มที่

ด้าน คริสเตียน ลินด์เนอร์ รัฐมนตรีคลังเยอรมนี กล่าวระหว่างแถลงข่าวว่า การจัดหาเงินทุนให้กับยูเครนสำหรับอนาคตอันใกล้ถือได้ว่ามีความมั่นคงแล้ว ซึ่งต้องขอบคุณการดำเนินการของชาติในยุโรปและเงินกู้จากจี7

เจ้าหน้าที่ระบุว่า ผู้นำอียูเห็นพ้องกับแนวคิดในการจัดเงินกู้ยืมดังกล่าวให้กับยูเครน เพราะมองว่ามันจะทำให้โอกาสที่ยูเครนจะขาดเงินสนับสนุนในการทำสงครามกับรัสเซียลดน้อยลง หากทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้ง

ความหวั่นวิตกเกี่ยวกับท่าทีและจุดยืนของทรัมป์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือยูเครนของสหรัฐในอนาคต ถูกปลุกให้พุ่งสูงขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ทรัมป์ได้ประกาศให้นายเจดี แวนซ์ ซึ่งมีจุดยืนคัดค้านการให้ความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐต่อยูเครน พร้อมกับเตือนยุโรปว่าควรจะต้องพึ่งพาสหรัฐน้อยลงในการปกป้องภูมิภาคของตน

‘Volkswagen’ อาจต้องปิดโรงงานในเยอรมนีเป็นครั้งแรกตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท หลังสภาพเศรษฐกิจฝืดเคือง-คู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาชิงส่วนแบ่งมากขึ้น

ทีมผู้บริหาร Volkswagen ออกมายอมรับสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในวันนี้ กำลังตกอยู่ในสภาวะยากลำบากมาก ที่อาจทำให้หนึ่งในค่ายรถยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเยอรมนีแห่งนี้ ต้องตัดสินใจปิดโรงงาน 2 แห่งในบ้านเกิดตัวเองเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาในปี 1937

โดยบอร์ดผู้บริหาร ที่นำโดย โอลิเวอร์ บลูม CEO คนปัจจุบันของ Volkswagen ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ (2 กันยายน 67) ที่ผ่านมาว่า ทางบริษัท ไม่สามารถตัดทางเลือกในการปิดโรงงานในเยอรมันออกไปได้ และได้พิจารณามาตรการอื่น ๆ เพื่อรองรับอนาคตไว้แล้ว นั่นรวมถึงความพยายามในการเจรจายุติข้อตกลงคุ้มครองการจ้างงานกับสหภาพแรงงาน ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 1994

โอลิเวอร์ บลูม กล่าวว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ของยุโรปกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตลาดมีความต้องการที่จริงจัง และ ยากลำบากมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ในขณะเดียวกัน สภาพเศรษฐกิจฝืดเคือง และมีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาชิงส่วนแบ่งในตลาดยุโรปมากขึ้น ทำให้เยอรมัน ในฐานะฐานการผลิตรถยนต์กำลังเสียเปรียบในเรื่องความสามารถในการแข่งขัน  

ผู้บริหาร Volkswagen ยอมรับด้วยว่า VW กำลังสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในจีนให้กับแบรนด์รถยนต์ EV เจ้าถิ่นอย่าง BYD จนทำให้ยอดขายลดลงในช่วงครึ่งปีแรก 7% ส่งผลต่อกำไรที่ลดลง 11.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และนอกจากผลประกอบการในตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของ Volkswagen จะไม่ดีแล้ว ยังถูกแบรนด์รถยนต์สัญชาติจีนข้ามมาตีตลาดในยุโรปอีกด้วย 

ปัจจัยเหล่านี้ บีบให้ทีมบริหารของ Volkswagen จำเป็นต้องลดต้นทุน และได้เริ่มกระบวนการลดต้นทุนถึง 1 หมื่นล้านยูโรไปเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา และตอนนี้กำลังจะกลายเป็นแนวทางหลักในการกอบกู้ผลประกอบการโดยรวมของบริษัท ซึ่งแผนการลดต้นทุน จะรวมถึงการลดค่าใช้จ่ายด้านโรงงาน ห่วงโซ่อุปทาน และค่าจ้างแรงงาน 

และแน่นอนว่า แผนการลดต้นทุนของ Volkswagen ถูกต่อต้านอย่างหนักจากตัวแทนสหภาพแรงงาน ซึ่งครองที่นั่งเกือบครึ่งหนึ่งในคณะกรรมการกำกับดูแลของบริษัท 

โดยกลุ่ม IG Metall หนึ่งในสหภาพที่ทรงอิทธิพลที่สุดของเยอรมนี โจมตีการบริหารจัดการที่ผิดพลาดทีมผู้บริหาร Volkswagen จนอาจนำไปสู่แผนการปิดโรงงาน และเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก ว่าเป็นการตัดสินใจที่ขาดความรับผิดชอบ ไร้วิสัยทัศน์ สั่นคลอนรากฐานของ Volkswagen ที่จะส่งผลกระทบต่อระดับการจ้างงาน และ เขตอุตสาหกรรมที่ตั้งโรงงานอย่างรุนแรง พร้อมยืนยันจะต่อสู้เพื่อปกป้องตำแหน่งงานของชาวสหภาพอย่างสุดกำลัง

Volkswagen ถือเป็นหนึ่งผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก ที่มีพนักงานเกือบ 683,000 คนทั่วโลก เฉพาะในเยอรมนี ก็มีการจ้างงานถึง 295,000 ตำแหน่ง ซึ่งนอกเหนือจากแบรนด์ Volkswagen แล้ว ทางบริษัทยังผลิตรถยนต์แบรนด์อื่น ๆ อีก อาทิ Audi, Porsche, Seat, Škoda และอื่น ๆ 

แต่ด้วยสภาพการแข่งขันสูงในตลาดรถยนต์ และอุปสรรคหลายประการของการเปลี่ยนแปลงจากผู้ผลิตรถยนต์สันดาปแบบดั้งเดิมที่มีกำไรมากกว่า ไปสู่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดแต่กำไรน้อยกว่ามาก แถมยังต้องต่อสู้แข่งขันเรื่องราคากับรถยนต์ EV จากจีน ทำให้ Volkswagen กำลังประสบปัญหาเรื่องยอดขายและผลประกอบการที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

นั่นจึงเป็นที่มาของแผนลดต้นทุน และการประกาศจะปิดโรงงาน Audi ในเบลเยียม และล่าสุดอาจต้องถึงขั้นปิดโรงงานอย่างน้อย 1 แห่งในบ้านเกิดตนเองในเยอรมัน เป็นครั้งแรกในรอบ 87 ปี ของการก่อตั้งบริษัท 

ไม่เฉพาะแค่ Volkswagen เท่านั้น ค่ายรถยนต์ทั้งในสหรัฐอเมริกา และ ยุโรปต่างประสบปัญหาเดียวกัน จนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เช่น Ford ได้ประกาศยกเลิกแผนการพัฒนารถยนต์ SUV ไฟฟ้ารุ่นใหม่ และเลื่อนการเปิดตัวรถกระบะไฟฟ้าออกไป รวมทั้งค่ายรถยนต์ General Motors, Mercedes-Benz และ Bentley ต่างก็เลื่อนแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกไปเช่นกัน ในขณะที่ Tesla ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกรถยนต์ไฟฟ้าก็กำลังเผชิญหน้ากับปัญหายอดขายตกต่ำทั้งในตลาดที่สหรัฐอเมริกา และต่างประเทศ

ถึงแม้ว่ารัฐบาลของสหภาพยุโรป, สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ต่างออกมาร่วมด้วยช่วยกันใช้มาตรการขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้า และสินค้าจากจีน สกัดการไหลบ่าของสินค้าจีนเข้าประเทศ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ แต่ทว่ามาตรการทางภาษีของรัฐบาลจะได้ผลเร็วพอที่จะยับยั้งแผนการปิดโรงงานของ Volkswagen ได้ทันหรือเปล่าเท่านั้นเอง     

'เยอรมนี' แจ้งอียูจะไม่เปิดรับเพิ่ม 'ผู้ลี้ภัย' หลังสิ้นทรัพยากรดูแลไปมากยอมรับ!! ไม่มีประเทศไหนในโลกพร้อมอุ้มผู้ลี้ภัยได้แบบไร้ขีดจำกัด

(24 ก.ย. 67) เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ แถลงว่าเยอรมนีจะเริ่มตรวจเช็กพาสปอร์ตตามแนวชายแดนทางบกอีกครั้ง เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน โดยไม่คำนึงถึงข้อตกลงเชงเก้น

ต่อมา หนังสือพิมพ์ แดร์ ชปีเกล รายงานว่า พวกเขาเข้าถึงหนังสือฉบับหนึ่งในวันพุธที่ 11 กันยายน ซึ่งเป็นจดหมายที่ เฟรเซอร์ เขียนถึงคณะกรรมาธิการยุโรป มีใจความว่า "ไม่มีประเทศไหนในโลกที่สามารถอ้าแขนรับพวกผู้ลี้ภัยในจำนวนที่ไม่มีขีดจำกัด"

ในจดหมายระบุต่อว่า "เยอรมนีกำลังถึงขีดจำกัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแง่ของความสามารถในการรองรับ อำนวยความสะดวกและดูแลผู้ลี้ภัย" พร้อมเน้นว่าพวกเขาสูญทรัพยากรทั้งในระดับรัฐบาลกลางและระดับรัฐ "ไปจนแทบหมดสิ้น" และมีความเสี่ยงอย่างแท้จริงที่ระบบสวัสดิการทั่วไปจะแบกรับไม่ไหว

เนื้อหาในจดหมายระบุว่าปริมาณผู้ลี้ภัยขาเข้าประเทศที่มากผิดปกติเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ และเยอรมนีมีความกังวลอย่างยิ่งต่อจำนวนผู้ลี้ภัยที่แตะระดับ 50,000 คน ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2024

เฟรเซอร์ ยังอ้างว่า ด้วยภัยคุกคามที่มีต่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน มันจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องกลับมากำหนดมาตรการควบคุมชายแดนอีกครั้ง โดยชี้ถึงเหตุการณ์ใช้มีดไล่แทงผู้คนและอาชญากรรมรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดจากฝีมือพวกผู้ลี้ภัย ในนั้นรวมถึงกรณีที่มีผู้เสียชีวิต 3 รายและบาดเจ็บ 8 คน เมื่อเดือนที่แล้ว ในเหตุไล่แทงผู้คนในงานเทศกาลหนึ่งในเมืองโซลิงเกน ซึ่งผู้ต้องสงสัยเป็นชาวซีเรีย 26 ปี ที่มีข่าวว่าได้ยื่นขอลี้ภัยในปี 2022

รัฐมนตรีหญิงรายนี้เขียนในจดหมายว่า เยอรมนีความกังวลอย่างยิ่ง "ต่อระเบียบดับลินที่ทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์นัก" อ้างถึงกฎเกณฑ์ของอียู ที่ระบุให้ประเทศแรกที่ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยเดินทางมาถึงต้องรับและดำเนินการกับคำขอลี้ภัย

เวลานี้ เบอร์ลิน กำลังหาทางส่งผู้ลี้ภัยไปยังประเทศต่าง ๆ ในอียูที่อยู่รอบนอก อย่างเช่น บัลแกเรีย กรีซ อิตาลี และโรมาเนีย แต่พวกผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่จากบรรดาชาติรอบนอกต่างต้องการมาลงเอยในเยอรมนี สืบเนื่องจากสิทธิประโยชน์สวัสดิการที่เอื้อเฟื้ออารีของประเทศแห่งนี้

แม้พันธมิตรของนายกรัฐมนตรีโชลซ์ ไม่ต้องการปิดช่องทางทั้งหมดสำหรับผู้ลี้ภัย อ้างถึงความกังวลทางกฎหมาย แต่หนึ่งในพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดได้แสดงจุดยืนสนับสนุนแนวทางดังกล่าว โดยชี้ว่า "มันทั้งได้รับอนุญาตทางกฎหมาย และมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน แม้กระทั่งความจำเป็นทางการเมืองที่ต้องปิดชายแดน" เฟรดริช เมอร์ซ ผู้นำพรรคซีดียู กล่าวเมื่อวันพุธที่ 11 กันยายน

‘โฟล์คสวาเกน’ เตรียมปิด 3 โรงงานในบ้านเกิดเยอรมนี หลังไม่เคยปิดโรงงานกว่า 30 ปี รับแรงกระแทก EV จีน

(29 ต.ค. 67) Volkswagen ยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์ของเยอรมนีมีแผนจะปิดโรงงานอย่างน้อย 3 แห่งในเยอรมนี สภาแรงงานของบริษัทกล่าวเมื่อวันจันทร์

แผนการปิดโรงงานที่รายงานนี้เป็นมาตรการที่ Volkswagen กล่าวเมื่อไม่นานนี้ว่าไม่สามารถตัดทิ้งได้ท่ามกลางยอดขายที่ลดลง

สำนักข่าว Reuters อ้างคำพูดของ Daniela Cavallo หัวหน้าสภาแรงงานของ Volkswagen ที่บอกกับพนักงานหลายร้อยคนในเมือง Wolfsburg ว่า "ฝ่ายบริหารจริงจังกับเรื่องนี้มาก นี่ไม่ใช่การขู่เข็ญในการเจรจาต่อรองร่วมกัน"

"นี่คือแผนการของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนีที่จะเริ่มการขายกิจการในประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิด" Cavallo กล่าวเสริมโดยไม่ได้ระบุว่าโรงงานใดจะได้รับผลกระทบ หรือพนักงานของบริษัทเกือบ 300,000 คนในเยอรมนีอาจถูกเลิกจ้างกี่คน

"โรงงาน Volkswagen ในเยอรมนีทั้งหมดได้รับผลกระทบจากแผนเหล่านี้ ไม่มีแห่งใดปลอดภัย" Cavallo กล่าวขณะที่เธอพูดคุยกับพนักงานของ VW ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทในเมือง Wolfsburg Cavallo กล่าวว่าฝ่ายบริหารของ VW ยังเรียกร้องให้ลดเงินเดือนร้อยละ 10 และไม่มีการขึ้นเงินเดือนอื่นๆ ในอีกสองปีข้างหน้า Cavallo และผู้นำแรงงานคนอื่นๆ ใน VW ให้คำมั่นว่าจะต่อต้านการลดเงินเดือนอย่างแข็งกร้าว โดยผู้นำแรงงานของ VW กล่าวว่าบริษัทอยู่ใน "จุดตัดสินใจ" ในประวัติศาสตร์

ในการตอบสนองต่อคำขอความคิดเห็นจาก VW บริษัทกล่าวว่า "ไม่ได้มีส่วนร่วมในการคาดเดาเกี่ยวกับการเจรจาเป็นความลับ" กับสหภาพแรงงาน IG Metall ซึ่งเป็นตัวแทนของพนักงานส่วนใหญ่ของบริษัท

"Volkswagen อยู่ในจุดตัดสินใจในประวัติศาสตร์องค์กร สถานการณ์ร้ายแรง และความรับผิดชอบของพันธมิตรในการเจรจาก็มหาศาล" บริษัทกล่าวเสริม

"หากไม่มีมาตรการที่ครอบคลุมเพื่อฟื้นฟูความสามารถในการแข่งขันของเรา เราจะไม่สามารถลงทุนในอนาคตที่จำเป็นได้" แถลงการณ์ดังกล่าวอ้างคำพูดของ Gunnar Kilian เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล “เหตุผลประการหนึ่งในการปรับโครงสร้างใหม่ที่จำเป็นคือข้อเท็จจริงที่ว่าตลาดรถยนต์ในยุโรปหดตัวลงสองล้านคันตั้งแต่ปี 2020 ตลาดกำลังซบเซาและจะไม่สามารถฟื้นตัวได้ในอนาคตอันใกล้นี้ Volkswagen มีส่วนแบ่งประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ในตลาดนี้ นั่นหมายความว่าบริษัทขาดรถยนต์ประมาณ 500,000 คัน” VW กล่าวในแถลงการณ์ทางอีเมล
สหภาพแรงงานแสดงความไม่พอใจ

สหภาพแรงงาน IG Metall ออกมาประณามข่าวนี้

“นี่เป็นการแทงลึกเข้าไปในหัวใจของพนักงาน VW ที่ทำงานหนัก” สำนักข่าว DPA ของเยอรมนีอ้างคำพูดของ Thorsten Gröger ผู้จัดการเขต IG Metall กล่าว

“เราคาดหวังว่า Volkswagen และคณะกรรมการบริหารจะสรุปแนวคิดที่เป็นไปได้สำหรับอนาคตที่โต๊ะเจรจา แทนที่จะเพ้อฝันถึงการลดค่าใช้จ่าย ซึ่งจนถึงขณะนี้ฝ่ายนายจ้างเสนอเพียงคำพูดที่ว่างเปล่า”

Thomas Schäfer ซีอีโอของ VW กล่าวในแถลงการณ์ว่าต้นทุนของโรงงานในเยอรมนีสูงขึ้นเป็นพิเศษ “เราไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้เหมือนอย่างเดิม” นายเชเฟอร์กล่าว “เราไม่มีผลิตภาพเพียงพอที่โรงงานของเราในเยอรมนี และต้นทุนของโรงงานของเราในปัจจุบันสูงกว่าที่เราได้วางแผนไว้ 25% ถึง 50% ซึ่งหมายความว่าโรงงานแต่ละแห่งในเยอรมนีมีราคาแพงกว่าคู่แข่งถึงสองเท่า”

ผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปกำลังเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกของจีน
VW รายงานว่ากำไรสุทธิลดลง 14% ในช่วงครึ่งแรกของปี และถูกบังคับให้ยกเลิกข้อตกลงด้านความมั่นคงในการทำงานกับสหภาพแรงงานในเยอรมนีซึ่งทำกันมาหลายสิบปี

>>>รัฐบาลเยอรมนีมีปฏิกิริยาอย่างไร

วูล์ฟกัง บึชเนอร์ โฆษกรัฐบาลเยอรมนีกล่าวว่าเบอร์ลินทราบถึงความท้าทายของ VW และได้ติดต่อสื่อสารกับบริษัทและตัวแทนคนงานอย่างใกล้ชิด

“อย่างไรก็ตาม จุดยืนของนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้ชัดเจน นั่นคือ การตัดสินใจที่ผิดพลาดของฝ่ายบริหารที่อาจเกิดขึ้นในอดีตไม่ควรส่งผลเสียต่อพนักงาน เป้าหมายในปัจจุบันคือการรักษาและรักษาตำแหน่งงาน” โฆษกกล่าวในการบรรยายสรุปตามปกติ 

ยังไม่ชัดเจนในทันทีว่า Büchner กำลังหมายถึงเรื่องอื้อฉาวที่เรียกว่า dieselgate ที่กลายเป็นคดีอาญาหรือไม่ ซึ่ง Martin Winterkorn อดีต CEO ของ VW ถูกกล่าวหาว่าให้การเท็จ ปั่นราคาตลาด และฉ้อโกงทางการค้า

VW ดำเนินการโรงงานทั้งหมด 10 แห่งในเยอรมนี โดย 6 แห่งตั้งอยู่ใน Lower Saxony 3 แห่งอยู่ในรัฐ Saxony ทางตะวันออก และ 1 แห่งอยู่ในรัฐ Hesse ทางตะวันตก Volkswagen ไม่เคยปิดโรงงานในเยอรมนี และไม่เคยปิดโรงงานที่ใดในโลกเลยมานานกว่าสามทศวรรษ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top